| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

สิ่งสำคัญคู่บ้านเมือง

            อนุสาวรีย์พลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม  พระองค์ทรงเป็นผู้ทรงริเริ่มก่อตั้งเมืองอุดร ฯ และทรงวางรากฐานการปกครอง และสร้างความเจริญให้แก่จังหวัดอุดร ฯ บรรดาข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน ชาวอุดรจึงได้พร้อมใจกันสร้างอนุสวาวรีย์เป็นพระรูปของพระองค์ ประทับยืนอยู่ในเครื่องแบบนายพลตรีแห่งกองทัพไทย บริเวณฐานอนุสาวรีย์จารึกข้อความเกี่ยวกับประวัติและพระเกียรติคุณโดยสังเขปไว้
            เมื่อสร้างเสร็จแล้วได้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้ที่ทุ่งศรีเมือง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ บรมราชินีนาถ ได้เสด็จมาทรงเปิดอนุสาวรีย์ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๔ และเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๔ ได้อัญเชิญอนุสาวรีย์จากทุ่งศรีเมืองไปประดิษฐานไว้ที่วงเวียนห้าแยก (ห้าแยกน้อย)

            ศาลเจ้าพอ่หลักเมืองอุดร ฯ  ตั้งอยู่บริเวณทุ่งศรีเมือง อำเภอเมือง ฯ ได้เริ่มสร้างเสาหลักเมือง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๒ โดยได้ทำพิธีอัญเชิญดวงพระวิญญาณของ พลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงประจักษ์ ศิลปาคม มาสิงสถิต ณ เสาหลักเมือง ซึ่งทำด้วยไม้คูณ และใต้เสาหลักเมืองมีแผ่นยันต์และมีแก้วแหวน เงิน ทอง ต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ตัวเสาหลักเมืองยาว ๕ เมตร เศษ และฝังลึกลงไป ๓ เมตร
            ใน ปี พ.ศ.๒๕๔๒ ได้มีการสร้างศาลหลักเมืองหลังใหม่แทนหลังเดิมที่ทรุดโทรมไป ตัวอาคารศาลหลักเมืองเป็นแบบสถาปัตยกรรมอีสาน ศาลหลักเมืองหลังใหม่ตั้งอยู่ด้านหน้าของศาลหลักเมืองเดิม ทางจังหวัดอุดร ฯ ได้จัดให้มีงานประจำปีทุ่งศรีเมือง ระหว่างวันที่ ๑ - ๑๕ ธันวาคม ของทุกปี เป็นการเฉลิมฉลองและสักการะเจ้าพ่อหลักเมืองในวาระเดียวกัน

            ศาลเทพารักษ์  สร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๙๐ เดิมเป็นศาลไม้ ตั้งอยู่บนเนินดิน ข้างจวนผู้ว่าราชการจังหวัด (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งพระตำหนักหนองประจักษ์)  โดยได้ประกอบพิะธีอัญเชิญดวงพระวิญญาณของ พลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม มาสิงสถิต ณ ศาลแห่งนี้ เนื่องจากในครั้งนั้นยังไม่มีศาลหลักเมือง
            ต่อมาได้สร้างศาลเทพารักษ์ขึ้นใหม่  ณ บริเวณเดิม มีลักษณะรูปทรงคล้ายปรางค์ของขอมอย่างสวยงาม และได้ประกอบพิธีอัญเชิญดวงพระวิญญาณ พลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ในจังหวัดอุดร  ฯ มาสิงสถิตอยู่ ณ ศาลแห่งนี้
ศิลปหัตถกรรมและงานช่างท้องถิ่น
            ประติมากรรม  งานฝีมือท้องถิ่นได้แก่ งานแกะสลักเทียนพรรษาของคุ้มวัดต่าง ๆ เพื่อเข้าร่วมขบวนแห่เทียนพรรษา ของจังหวัดเป็นประจำทุกปี
                    ธรรมาสน์เก่าแก่ของวัดพระแท่น (บ้านแดง)  อำเภอวิบูลย์รักษ์ เป็นธรรมาสน์ไม้ส้มกบ หรือไม้ก้านเหลือง สร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๔๖  มีฐานรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส กว้างด้านละ ๒ เมตร สูง ๔ เมตร ส่วนถัดจากฐานขึ้นไปเป็นภาพแกะสลัก แสดงพุทธประวัติ มีบันไดรูปพญานาคที่ด้านหลัง หลังคาซ้อนกันหลายชั้น
                    ใบเสมาสลักภาพที่พระพุทธบาทบัวบก  และวัดโนนศิลาอาสนวราราม (วัดหนองกาลืม)  บ้านหนองกาลืม ตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ ส่วนใหญ่แกะสลักลวดลายเป็นภาพบุคคลหลายอิริยาบถ ใบเสมาทั้งสองแห่งนี้บางส่วนมีความคล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะการสลักลายบุคคล (โพธิสัตว์)  ประทับนั่งบนแท่น ตางส่วนกลางของใบเสมา และมีรูปบุคคลอยู่ด้านข้างทั้งสองข้าง องค์ประกอบโดยรวมของภาพคล้ายกับ รูปแบบของภูษาภรณ์และซุ้มเรือนแก้วของใบเสมา ก็มีลักษณะใกล้เคียงกัน
                    ใบเสมาที่พระพุทธบาทบัวบาน  เป็นงานศิลปะที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะเขมร แบบเกาะแกร์  สร้างขึ้นเมื่อประมาณหลังพุทธศตวรรษที่ ๑๕ และน่าจะเป็นการสร้างภาพบุคคล เนื่องในพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท
            จิตรกรรม  งานจิตรกรรมในระยะแรก ก่อนประวัติศาสตร์ของจังหวัดอุดร ฯ ในแหล่งภูพระบาท อำเภอบ้านผือ เป็นภาพเขียนสีตามเพิงต่าง ๆ ๔๕ แห่ง เป็นภาพคน ภาพมือ ภาพรูปทรงเรขาคณิต และภาพสัตว์ต่าง ๆ
            จิตรกรรมการเขียนสีหม้อดินเผาในบ้านเชียง อำเภอหนองหาน ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ยังมีความเหมือนกับจิตรกรรม ที่อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท คือใช้ของแข็งขัดเขียนลาย และนิยมใช้สีแดงเช่นกัน ลายหม้อดินเผาส่วนมากเป็นลายเส้นสวยงาม มีรูปสัตว์ปนอยู่บ้างแต่ไม่มาก
            จิตรกรรมในสมัยต่อมา ส่วนใหญ่เป็นเรื่องทางพระพุทธศาสนา และวรรณคดี ซึ่งสะท้อนให้เห็นวิถีชีวิต และความเป็นอยู่ ของผู้คน การแต่งกาย และเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ งานจิตรกรรมเหล่านี้ปรากฎตามฝาผนังศาสนสถานต่าง ๆ รวมทั้งนิยมเขียนลงผ้าทั้งเป็นแผ่นและเป็นผืน ส่วนใหญ่จะเป็นภาพเวสสันดร ในบุญมหาชาติแต่ละปี สีที่ใช้เดิมมักเป็นสีแดงชาด สีขาว และสีดำ เท่านั้น ต่อมาการใช้สีมีมากขึ้น คือ ใช้สีเบญจรงค์ (เหลือง คราม แดงชาด ขาว และดำ)  ปัจจุบันมีการใช้สีหลากหลายขึ้น
            ในสมัยโบราณภาพจิตรกรรมฝาผนังในจังหวัดอุดร ฯ มีน้อยมาก ในช่วงหลังปี พ.ศ.๒๕๐๐ จึงมีการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังมากขึ้น
            สถาปัตยกรรม  ส่วนใหญ่จะเป็นศาสนสถานในพระพุทธศาสนา มีดังนี้
                สิมหรืออุโบสถ  แบ่งออกเป็นสองลักษณะคือ

                    สิมโปร่ง  ไม่ทำผนังปิดและไม่มีหน้าต่าง นิยมปิดทึบเฉพาะด้านหลังพระประธาน รูปแบบเป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ความยาวนิยมสร้างสามช่วงเสา ด้านกว้าง หนึ่งช่วงเสา ผนังสามด้านเปิดโล่ง สิมบางหลังจะยกพื้นทำเอวชัน บางหลังไม่ยกพื้นก็มี ส่วนหลังคาเป็นจั่วชั้นเดียวก็มี สอง - สาม ชั้นก็มี สิมบางหลังเติมปีกนกยื่นออกมาแทนกันสาด เพื่อป้องกันน้ำฝนสาด เข้าไปภายในอุโบสถ เครื่องมุงในอดีตใช้ดินขอ (กระเบื้องดินเผาไม่เคลือบสี)  หรือแป้นเกล็ด (ใช้ไม้พลวงตอกลิ่มให้เป็นแผ่น)  ตรงปลายหักมุมให้โค้งมน
                    การตกแต่งส่วนหลังคามีช่อฟ้า (โง่ว)  ใบระกา หางหงส์ ที่ทำด้วยไม้ หน้าบันเป็นลายเครือเถา (ลายลาว)  ประดับกระจกในช่วงที่เป็นดอก บางหลังจะมีบราลี ตรงกลางหลังคา ส่วนค้ำยัน หรือคันทวย จะไม่ค่อยพบในสิมโปร่ง
                    สิมโปร่ง แบ่งออกเป็นสองรูปแบบคือ สิมโปร่งแบบไม่มีเสารับปีกนก ลักษณะปีกนกจะคลุมตลอดทั้งสี่ด้าน ส่วนสิมโปร่งแบบมีเสารับปีกนก เพราะต้องใช้เสารับน้ำหนัก เนื่องจากปีกนกค่อนข้างกว้าง มีน้ำหนักต้องใช้เสาช่วยรับน้ำหนักไว้
                    สิมโปร่งที่ยังเหลือไว้ให้ศึกษา ได้แก่ สิมโปร่งวัดโสภณานิการาม บ้านโนนสิมมา ตำบลตูมใต้ อำเภอกุมภวาปี
                    สิมทึบ (สิมแบบมหาอุด)  มีผนังก่ออิฐถือปูน ปิดทั้งสี่ด้าน แต่มีประตูหน้าต่างไม้เป็นบานปิดเปิด และมีประตูเข้าเฉพาะด้านหน้า หน้าต่างเป็นแบบเรียบ ๆ และขนาดของสิมจะพอดีกับการทำศาสนพิธี และสภาพของชุมชน
                    สิมทึบ นิยมตกแต่งมากกว่าสิมโปร่ง นอกจากช่อฟ้า ใบระกา นาคสดุ้ง แล้ว หน้าบันบางแห่งจะตกแต่งด้วยลวดลายประเภทเครือเถา ด้านข้างมีคันทวย หน้าบันยังเพิ่มฮังเพิ่ง (รวงผึ้ง)  ซึ่งจะสลักเป็นลายพื้นบ้าน (ลายลาว)  มีความอ่อนช้อยสวยงาม ฐานเอวชันจะฉาบปูนโดยรอบ
                หอแจก หรือศาลาการเปรียญ  เป็นสถานที่บำเพ็ญกุศลของพุทธศาสนิกชน จะมีทุกวัดขาดเสียมิได้ นอกจากนั้นยังเป็นที่ฉันภัตตาหารเช้า และเพลของพระภิกษุสงฆ์ นิยมสร้างด้วยไม้ มีขนาดพอเหมาะกับชุมชนนั้น ๆ หลังคาเป็นจั่วสูง มุงด้วยกระเบื้องเคลือบ หรือกระเบื้องลอนคู่ สีส้ม สีเขียว พื้นที่แบ่งออกเป็นสองระดับ คือ ที่พระสงฆ์ใช้เป็นที่ฉันภัตตาหาร จะยกพื้นให้สูงพอประมาณ ส่วนพื้นนอกเหนือจากนั้น จะลดระดับให้ต่ำลง
                ธาตุหรือพระธาตุ  หมายถึง สิ่งก่อสร้างเพื่อประดิษฐานพระอัฐิธาตุ ของพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์สาวก รูปแบบของพระธาตุมักได้รับอิทธิพลของพระธาตุพนม คือ ยอดธาตุเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม
                ธาตุเป็นสิ่งก่อสร้างเพื่อบรรจุอัฐิของสามัญชน ในอดีตนิยมก่อด้วยอิฐเป็นรูปสี่เหลี่ยม มียอดแหลม ความสูงพอประมาณ บางหมู่บ้านมักสร้างธาตุไว้ในไร่นาของตัวเอง หรือสร้างไว้ในวัดของหมู่บ้าน
                หอไตร  เป็นอาคารสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นเพื่อเก็บพระไตรปิฎก หนังสือธรรม หนังสือพูด ฯลฯ  ในจังหวัดอุดร ฯ มีหอไตรที่สวยงามทรงคุณค่า ทางสถาปัตยกรรมได้แก่ หอไตรวัดพระแท่น บ้านแดง อำเภอพิบูลย์รักษ์ เป็นหอไตรรูปแปดเหลี่ยม สูง ๓๒ เมตร ฐานแต่ละด้านมีรูปปั้นวานร แปดตัวยืนค้ำยันหอไตร ที่มุมด้านนอกมีรูปสิงห์ยืนตระหง่าน
                หอไตรเหล่านี้ เป็นสถาปัตยกรรมที่สมบูรณ์แบบ ประกอบด้วยจิตรกรรม และประติมากรรมอย่างครบครัน
| ย้อนกลับ | บน | หน้าต่อไป |