| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

ภาษาและวรรณกรรม
            ภาษา  ในจังหวัดอุดร ฯ มีหลายภาษา แตกต่างกันตามชุมชนที่อาศัยอยู่ เช่น กลุ่มชนชาวโคราช ไทยพวน ภูไท ญวน จีน และกลุ่มชนที่อพยพมาจากจังหวัดใกล้เคียง หรือภาคต่าง ๆ
            กลุ่มชนที่ใช้ภาษาลาวพวน อยู่ที่อำเภอบ้านผือมากที่สุด นอกจากนี้ก็อยู่ที่ บ้านเชียง อำเภอหนองหาน บ้านดอกแก้ว อำเภอกุมภวาปี บ้านถ่อนนาลัย อำเภอบ้านดง บ้านเชียงเพ็ง อำเภอกุดจับ บ้านสามพร้าว อำเภอเมือง ฯ และกระจายอยู่บางส่วนของอำเภอนายูง อำเภอน้ำโสม
            กลุ่มที่ใช้ภาษาภูไท อยู่ที่อำเภอวังสามหมอ อำเภอศรีธาตุ และบางตำบลในอำเภอบ้านดุง
            จารึก  จารึกที่วัดพระธาตุบ้านหนาด อำเภอเพ็ญ มีคุณค่ายิ่งนำไปสู่ความกระจ่างทางประวัติศาสตร์ ศิลาจารึกหลักนี้เป็นศิลาจารึกหินทรายแดง กว้าง ๓๐ - ๔๐ เซนติเมตร สูง ๖๐ - ๗๐ เซนติเมตร ตัวอักษรเลอะเลือนไปบ้าง แต่สันนิษฐานว่า เป็นอักษรธรรมหรืออักษรไทยน้อยโบราณ
            วรรณกรรมพื้นบ้าน  มีอยู่หลายเรื่องด้วยกัน ดังนี้
                ท้าวสะลุ่นกุ้น  เป็นวรรณกรรมพื้นบ้านของชาวอำเภอบ้านผือ มีความว่า ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่งแถบเทือกเขาภูพาน มีผัวเมียคู่หนึ่ง ทำไร่น่า ผัวชื่อ โอบ เมียชื่อ แพง มีลูชายสองคน คือ ท้าวภู และท้าวพัน  เมื่อโตแล้วก็ได้แต่งงาน เมียท้าวภูชื่อ นางหมุน เมียท้าวพันชื่อ นางบัว ท้าวพาเมียไปหากินทางทิศใต้ ท้าวพันกับเมียทำไร่นาอยู่ที่บ้านเกิด นางบัวมีลูกชายร่างกายไม่สมประกอบ แขนขาไม่มี จึงตั้งชื่อลูกว่า สะลุ่นกุ้น เมื่อโตขึ้นส่อแวว่าเป็นเด็กฉลาด ช่างพูดจา มีสำเนียงไพเราะ เป็นที่ชื่นชมของพ่อแม่ และญาติมิตร
                เมื่อถึงฤดูทำนา สะลุ่นกุ้น ก็ออกไปทำนากับพ่อแม่ อยู่มาวันหนึ่ง ท้าวพันผู้เป็นพ่อ เหลือบเห็นพญาแถนขี่ม้ามณีกาบแก้ว วนอยู่กลางอากาศบนหัวของตน พญาแถนได้ถามท้าวพันว่า ไถนาได้กี่แนวกันแล้ว ได้ทำเครื่องหมายจดจำกันไว้หรือไม่ ท้าวพันก็ตอบว่าไม่ได้จดไม่ได้นับไว้เลย พญาแถนก็กลับไป รุ่งขึ้นก็มาถามแบบเดิมอีก ท้าวพันก็ตอบไม่ได้เช่นเคย พญาแถนจึงกล่าวว่าอีกสามวันจะมาใหม่ หากท้าวพันตอบไม่ได้ก็จะตัดหัวท้าวพันเสีย ท้าวพันก็ตกใจแล้วไปปรับทุกข์กับเมีย นางบัวได้ฟังก็ตกใจเสียขวัญ ท้าวสะลุ่นกุ้นผู้เป็นลูกทราบเรื่อง ก็พูดว่าตนจะขอรับอาสาแก้ปัญหานี้เอง เมื่อถึงกำหนดขอให้พ่อพาตนไปด้วย
                พญาแถนเมื่อถึงกำหนดก็ได้มาถามท้าวพันเหมือนเช่นเดิม ท้าวสะลุ่นกุ้น คอยฟังอยู่แล้วจึงได้ตอบกลับไปว่า แล้วท่านพญาแถนขี่ม้าวันละกี่รอบ อ้อมภูอ้อมดอยมากี่รอบแล้ว ได้จดจำบ้างหรือไม่ พญาแถนได้ยินดังนั้นก็รู้สึกพอใจ ด้วยเห็นว่าเป็นคนฉลาด จึงชักม้าลงมารับท้าวสะลุ่นกุ้นนำไปยังสวรรค์ ต่อมาพญาแถนได้เรียกประชุมเหล่าเทวดา ให้ช่วยหาแบบพิมพ์เพื่อแปลงร่างให้ ท้าวสะลุ้นกุ้น มีร่างกายที่สมประกอบเหมือนคนทั่วไป แต่ก็ไม่สามารถจะหาแบบแปลงร่างให้ ท้าวสะลุ้นกุ้นได้พอดี จนในที่สุดเหลืออยู่เพียงแบบเดียวคือ แบบของพญาแถน ท้าวสะลุ่นกุ้นได้รับเมตตาจากพญาแถน และได้อยู่บนสวรรค์อย่างมีความสุข ตั้งแต่นั้นมา
                ฝ่ายท้าวสะลุ่นกุ้น แทนที่จะสำนึกในบุญคุณของพญาแถนกลับลืมตัว และก่อเหตุไม่สมควรขึ้นบนสวรรค์  คือ แอบไปหลงรักนางสุชาดา ซึ่งเป็นชายาของพญาแถนเพียงฝ่ายเดียว ดังนั้นในคืนหนึ่งท้าวสะลุ่นกุ้น จึงได้สวมรอยทำเป็นพญาแถน แล้วลักลอบเข้าไปหานางสุชาดา ครั้นตกดึกพญาแถนได้เข้าไปหาชายาเช่นเคย นางสุชาดาสงสัยจึงถามว่า เหตุใดคืนนี้จึงมาหานางถึงสองครั้ง ซึ่งผิดวิสัยที่เคยปฎิบัติ พญาแถนได้ฟังก็รู้ทันทีว่า เกิดอะไรขึ้น จึงโกรธและผิดหวังในตัวท้าวสะลุ่นกุ้นมาก จึงทำโทษ ท้าวสะลุ่นกุ้นโดยสาปให้ลงไปเกิดในโลกมนุษย์ ที่เมืองพานมีนามว่า พญากงพาน และเป็นเจ้าเมืองพานในเวลาต่อมา ส่วนนางสุชาดาก็ให้จุติไปเกิดในดอกบัว ที่สระข้างอาศรมของฤาษีจันทาชื่อ นางอุสา ส่วนสองนางที่เฝ้ารักษาปราสาท และเฝ้าประตูปราสาทในวิมานนั้น ก็ให้จุติไปเกิดเป็นนางกำนัลในเมืองกงพาน ชื่อ นางพรรณา และนางพรรณราย ทำหน้าที่เป็นพี่เลียงของนางอุสา
                สำหรับพญาแถนได้จุติมาเกิดเป็นโอรสของท้าวมาลัย และพระชายาคำเขื่อนแก้ว ผู้ครองเมืองปะโค แถบลุ่มแม่น้ำโขง ชื่อ ท้าวบารส เพื่อตามไปล้างแค้นท้าวสะลุ่นกุ้น ในเมืองมนุษย์ต่อไป

                อุสาบารส  เป็นวรรณกรรมพื้นบ้านของชาวอำเภอบ้านผือ มีความว่า นานมาแล้วมีเมืองหนึ่งชื่อว่า เมืองพาน มีพระยาพานปกครอง มีโอรสชื่อ ท้าวพานนา และมีธิดาชื่อ นางสมัญญา
                วันหนึ่งพระยาพาน ไปเที่ยวปป่าได้พบกับนางอุสา ซึ่งเป็นเด็กหญิงหน้าตาน่าเอ็นดู จึงได้ขอนางอุสา จากฤาษีผู้นำนางมาเลี้ยงเป็นลูก ท้าวพานนาและสมัญญา ก็รักนางอุสาดุจน้องในไส้
                เมื่อนางอุสาโตเป็นสาว มีความงามเป็นที่เลื่องลือไปทั่วทุกแคว้น พระยาไกรลาสผู้ครองเมืองภูเงิน ทราบข่าวอยากได้นางมาเป็นชายา จึงนำทองคำ และเงินมาถวายพระยาพาน เพื่อของนางอุสาไปเป็นชายา แต่นางอุสาปฎิเสธ
                กล่าวถึงท้าวบารส โอรสพระยากิตติกรนารายณ์สี่มือ เจ้าเมืองปะโค  ชอบการไปเที่ยวป่า วันหนึ่งได้มาถึงต้นไทรใหญ่ จึงได้หยุดพักผ่อนและสั่งให้อำมาตย์ ตั้งเครื่องเซ่นสังเวยเทวดาอารักษ์ บรรดาเทวดาอารักษ์ได้รับเครื่องเซ่นสังเวยแล้ว ก็คิดจะตอบแทนน้ำใจของท้าวบารส จึงได้อุ้มท้าวบารสไปไว้ในหอของนางอุสา เมื่อทั้งสองคนได้พบกันก็มีความพอใจกัน และได้อยู่ร่วมกันเป็นเวลาเจ็ดคืน พอตกดึกของคืนวันที่แปด เทวดาก็ได้อุ้มท้าวบารสกลับไปที่ต้นไทรตามเดิม เมื่อท้าวบารสตื่นขึ้นมา ก็คิดว่าตนฝันไป และคิดถึงนางอุสาตลอดเวลา และกลับไปเมืองปะโค
                ส่วนนางอุสา เมื่อตื่นขึ้นไม่พบท้าวบารส สอบถามก็ไม่มีใครทราบ นางสมัญญาจึงอาสาวาดรูปกษัตริย์เมืองต่าง ๆ มาให้นางอุสาดู จนกระทั่งมาถึงรูปท้าวบารส นางอุสาก็เห็นว่าใช่และดีใจมาก จึงได้เขียนสาสน์ไปยังท้าวบารส เมื่อท้าวบารสได้รับสาสน์ และรู้ว่านางเป็นใครจึงมาหานางทันที เมื่อทั้งสองได้พบกันอีกครั้ง ก็มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ท้าวบารสอยู่ที่หอนางอุสาร่วมหนึ่งเดือน ความทราบถึงพระยาพาน ๆ ก็โกรธ จึงไปจับตัวท้าวบารสไปขังไว้ ร้อนถึงฤาษีเมื่อทราบเรื่อง จึงได้เดินทางมาขอให้พระยาพานปล่อยท้าวบารส แต่ไม่สำเร็จจึงได้เดินทางไปบอก พระยากิตติกรนารายณ์สี่มือ เจ้าเมืองปะโค พระยากิตติกร ฯ จึงมีสาสน์ไปถึงพระยาพาน ให้ปล่อยท้าวบารส แต่พระยาพานไม่ปล่อย และยินดีทำศึกกับเมืองปะโค
                การทำศึกระหว่างสองเมืองเป็นไปอย่างดุเดือด ในที่สุดพระยาพานถูกฆ่าตายในสนามรบ นางอุสาจึงได้ไปอยู่กับท้าวบารส ที่เมืองปะโค  แต่ต้องตรอมใจตลอดเวลา เพราะท้าวบารสไม่เอาใจใส่นางดังเคย ในที่สุดก็ได้หนีกลับไปเมืองพาน และป่วยหนัก ท้าวบารสทราบข่าวก็มาเยี่ยม แต่มาช้าไปนาอุสาสิ้นใจตายเสียก่อน ท้าวพานนาและนางสมัญญาเสียใจที่นาวอุสาตายจากไป จึงตายตามนางอุสาทั้งสองคน ท้าวบารสมาพบสภาพดังกล่าวก็เสียใจและตายตามไปอีกคนหนึ่ง
                ด้วยความรักที่ทุกคนมีต่อกัน อย่างบริสุทธิ์ จึงเป็นผลบุญส่งให้ดวงวิญญาณไปเสวยสุขบนสวรรค์
                ผาแดง - นางไอ่  เป็นวรรณกรรมพื้นบ้านของอำเภอกุมภวาปี มีความว่า มูลเหตุที่ทำให้เกิดหนองหาน ต้นลำน้ำปาว มีเรื่องเกี่ยวกับวรรณคดีของอีสาน เรื่อง ผาแดง - นางไอ่ นิยายรักระหว่างหนึ่งหญิง สองชาย กลายเป็นสงครามทำให้บ้านเมืองถล่มทลาย กลายเป็นหนองน้ำใหญ่ เรื่องนี้เป็นปฐมเหตุของบุญบั้งไฟ ซึ่งเป็นประเพณีขึ้นชื่อของชาวอีสาน
                พระยาขอบ เจ้าเมืองเอกชะธีตา มีธิดาชื่อ นางไอ่คำ เป็นผู้มีรูปร่างงดงาม เป็นที่เลื่องลือ บรรดาเจ้าชายของเมืองต่าง ๆ พากันหมายปองมาเป็นคู่ครองของตน
                ท้าวผาแดง เจ้าเมืองผาโพง หลงใหลในตัวนางมาก จึงวางแผนทอดสัมพันธ์ด้วยการเตรียมแก้วแหวน เงินทอง พร้อมด้วยผ้าเนื้อดีไปฝากนางไอ่ นางไอ่เกิดความสนใจ และฝากเครื่องบรรณาการไปให้ท้าวผาแดง เป็นการตอบแทน และได้เชิญท้าวผาแดงซึ่งตั้งทัพรออยู่นอกเมือง ให้เข้าไปในเมืองขอบเพื่อพบนางด้วย ในที่สุดทั้งสองก็ครองรักกัน
                ฝ่ายท้าวพังคี โอรสของสุทโธนาค ผู้ครองเมืองบาดาล เป็นอีกผู้หนึ่งที่หลงรักนางไอ่ ทั้งนี้เพราะเป็นเรื่องในอดีตชาติ ที่ได้นางไอ่เป็นภรรยา แต่เขาไม่สนใจใยดีมาโดยตลอด จนในที่สุดสามีได้ทิ้งนางไป นางจึงอธิษฐานว่า ชาติหน้าขอให้สามีนอนตายอยู่บนกิ่งไม้ และอย่าได้เป็นสามีภรรยากันอีกเลย ต่อมาในชาตินี้สามีมาเกิดเป็น ท้าวพังคี และนางมาเกิดเป็นนางไอ่
                เมื่อนางไอ่ โตเป็นสาว พระยาขอบผู้เป็นบิดาได้มีใบฎีกาแจ้งไปยังหัวเมืองน้อยใหญ่ ให้จัดบั้งไฟมาจุดแข่งขันกันที่เมืองเอกชะธีตา เพื่อบูชาพญาแถน ให้บันดาลฝนตกลงมาตามฤดูกาล และถ้าบั้งไฟของผู้ใดขึ้นสูงกว่าเพื่อน จะได้นางไอ่เป็นคู่ครอง โดยกำหนดให้วันขึ้นสิบห้าค่ำ เดือนหก เป็นวันงาน ทำให้บรรดาเมืองต่าง ๆ ทำบั้งไฟหมื่น บั้งไฟแสน มาแข่งขันกันเป็นจำนวนมาก
                การแข่งขันบั้งไฟครั้งนี้ บั้งไฟของพระยาขอบ และท้าวผาแดง ต่างไม่ขึ้นด้วยกันทั้งสองบั้ง  คงมีแต่บั้งไฟของพระยาฟ้าแดด เมืองฟ้าแดดสูงยาง และของพระยาเชียงเหียน แห่งเมืองเชียงเหียน เท่านั้นที่ขึ้นสู่ท้องฟ้านานถึง สามวันสามคืน จึงตกลงมา แต่พระยาทั้งสองเป็นอาของนางไอ่ จึงเป็นอันว่าการแข่งขันครั้งนั้นล้มเลิกไป
                เมื่อเสร็จงานบุญบั้งไฟแล้ว ท้าวผาแดง และท้าวพังคี ต่างกลับเมืองของตน ส่วนท้างพังคีได้กลับมาหานางไอ่อีก โดยแปลงตนเป็นกระรอกเผือก ที่คอแขวนกระดิ่งทองไว้ แล้วกระโดดไปเกาะกิ่งไม้ใกล้ห้องนอนของนางไอ่ นางเห็นกระรอกก็อยากได้ จึงให้นายพรานตามจับกระรอกให้ได้ไม่ว่าจะจับเป็นหรือจับตาย นายพรานออกติดตามกระรอก เริ่มตั้งแต่บ้านพันดอน บ้านน้ำฆ้อง จนถึงบ้านนาแบก บ้านดอนเงิน บ้านยาวหล่อ บ้านเหล่าใหญ่ บ้านเมืองพรึก  และบ้านม่วง ในที่สุดผลกรรมตามมาถึง ขณะที่กระรอกมาถึงต้นมะเดื่อ ที่มีผลสุกเต็มต้นจึงได้กินผลมะเดื่อเหล่านั้น นายพรานจึงมีโอกาสยิงด้วยหน้าไม้ ซึ่งมีลูกอาบยาพิษ เมื่อถูกยิงท้าวพังคี รู้ตัวว่าตนต้องตายแน่นอน จึงสั่งบริวารให้นำความไปแจ้งให้บิดาทราบ และอธิษฐานว่า ขอให้เนื้อของตนมีมากมายถึง ๘,๐๐๐ เล่มเกวียน พอเลี้ยงคนทั้งเมืองได้ทั่วถึง
                เมื่อกระรอกตาย นายพรานได้นำไปชำแหละที่บ้านเชียงแหว แบ่งให้ผู้คนทั้งบ้านใกล้ บ้านไกล กินกันโดยทั่วถึง ยกเว้นบ้านดอนแม่หม้ายที่ไม่มีผัว หรือบ้านดอนแก้ว ซึ่งเป็นเกาะอยู่กลางทุ่งหนองหาน ซึ่งรอดพ้นจากการถูกถล่มทลายในครั้งนั้น และยังปรากฎอยู่จนถึงทุกวันนี้
                เมื่อพญานาคบิดาท้าวพังคีทราบเรื่อง ก็โกรธแค้นมากจึงจัดกำลังขึ้นไปโจมตีเมืองพระยาขอบ ใครกินเนื้อลูกชายของตนอย่าได้ไว้ชีวิต
                ขณะที่บ้านเมืองถูกพญานาคถล่มทลายอยู่นั้น ท้าวผาแดงได้ขี่ม้าบักสาม มุ่งหน้าไปหานางไอ่ เห็่นนาคเต็มไปหมด และเล่าเรื่องให้นางไอ่ฟัง แต่นางไม่สนใจ และได้ทำอาหารที่มีกลิ่นหอมเป็นพิเศษมาให้ ท้าวผาแดงกิน เป็นเนื้อกระรอกเผือกที่ถูกนายพรานยิงตาย ท้าวผาแดงรู้ว่าเป็นเนื้อของท้าวพังคี ลูกพญานาคจึงไม่ยอมกิน พอตกกลางคืน ผู้คนกำลังหลับสนิท ก็เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันคือ มีเสียงครืน ๆ ทั่วแผ่นดิน เมืองเอกชะธีตาของพระยาขอบ ถล่มลงไปเป็นหนองหานน้อย ท้าวผาแดงทราบว่าเป็นการกระทำของพญานาค จึงนำนางไอ่ขึ้นหลังม้าควบหนีออกไปจากเมือง แต่เนื่องจากนางไอ่ได้กินเนื้อกระรอกเผือกไปด้วย ดังนั้นแม้นางจะหลบหนีไปทางไหน พวกนาคก็ตามไป แผ่นดินก็ถล่มไปด้วย ท้าวผาแดงมุ่งหน้าไปทางห้วยสามพาด เพื่อหนีไปเมืองผาโพง แต่ไร้ผลในที่สุดนางไอ่ถูกนาคใช้หางฟาดตก จากหลังม้าและจมหายไปในพื้นดิน
                ท้าวผาแดง กลับถึงเมืองผาโพงเกิดตรอมใจตาย เมื่อท้าวผาแดงตายไป มีความอาฆาตต่อพญานาค ครั้นได้โอกาสผีท้าวผาแดงได้นำไพร่พลกองทัพผี ไปรบกับพญานาค เข้าล้อมเมืองบาดาลต่างฝ่ายต่างใช้ฤทธี ต่อสู้กันนานถึงเจ็ดวันเจ็ดคืน ไม่แพ้ชนะกัน ฝ่ายสุทโธนาคเจ้าเมืองบาดาล ซึ่งแก่ชรามากแล้ว ไม่อยากทำบาปกรรมต่อไป จึงไปขอร้องท้าวเวสสุวัณให้มาตัดสินให้ ท้าวเวสสุวัณทราบเรื่องทั้งหมดว่าเป็นเรื่องของกรรมเก่า และทั้งสองฝ่ายมีเหตุผลพอ ๆ กัน
                นางอินทวา  เป็นวรรณกรรมพื้นบ้านของอำเภอวังสามหมอ มีความว่า ที่เมืองเชียงลม เชียงลา สมัยโบราณ เจ้าเมืองมีธิดาที่เลอโฉม และเปี่ยมด้วยเมตตา มีคุณธรรมประจำใจ ชื่อนางอินทวา นางมีความเมตตาต่อสัตว์เลี้ยงวทุกชนิด
                วันหนึ่ง มีลูกจระเข้พลัดหลงเข้ามาบริเวณสระน้ำใกล้อุทยานท้ายวัง นางจึงเอามาเลี้ยงไว้ในตุ่มน้ำ จนจระเข้เชื่อง และมีความผูกพันกับเจ้าหญิงมาก เมื่อจระเข้โตขึ้นนางบจึงนำมาปล่อยไว้ในสระน้ำข้างอุทยาน จนนางมีอายุ ๑๖ ปี จระเข้ก็เติบใหญ่เป็นพญากุมภีล์ ทุกวันนางจะมานั่งวริมสระน้ำเรียกหาจระเข้เพื่อให้อาหาร บางครั้งก็นั่งบนหลังบจระเข้ไปเด็ดดอกบัวในสระ บางครั้งวจระเข้ก็พานางนั่งบนหลังมันเพื่ออาบน้ำ บางวันก็พาขึ้นหลังไปชมปลา และความงามของดอกบัว
                เย็นวันหนึ่ง นางอาบน้ำในสระและขี่หลังบจระเข้ไปกลางสระเหมือนเคย เผอิญหวีของนางตกไปในน้ำ นางพยายามวคว้าหวี เลยเสียหลักตกลงไปในสระ จระเข้เกรงนางจะเป็นอันตรายจึงเข้าช่วย โดยใช้ปากคาบไว้ แต่เนื่องจากจระเข้มีขากรรไกปากด้านบนเพียงด้านเดียว เมื่อคาบอะไรไว้แล้วจะต้องกลืนลงท้องก่อน จึงสามารถอ้าปากได้อีก จระเข้จึงได้กลืนร่างของนางเข้าไปแล้วเห็นว่าเป็นความผิดกลัวอาญาแผ่นดิน จึงหนีออกจากสระในเขตอุทยานเข้าไปในป่าใหญ่ พบหนองน้ำขนาดใหญ่จึงลงไปอาศัยซ่อนตัว
                ฝ่ายเจ้าเมืองเห็นนางหายไป จึงตามไปดูที่สระเหก็นรอยเท้าจระเข้ขึ้นจากสระ หายไปในป่าใหญ่ จึงให้เหล่าเสนาอำมาตย์แกะรอยเท้าจระเข้ไป จนถึงหนองน้ำใหญ่กลางป่าทึบ มีโขดหินสลับชับซ้อน ความลึกของหนองน้ำประมาณสองช่วงลำไม้ไผ่ และมีปลาชุกชุมมาก ก็แน่ใจว่าจระเข้หลบซ่อนตัวอยู่ในหนองน้ำนี้ เจ้าเมืองจึงสั่งให้ไพร่พลปิดล้อมไว้ แล้วป่าวประกาศหาหมอจระเขน้ฝวีมือดีมาล่าพญากุมภีล์
                หมอจระเข้สองยคนแรกเป็นชายบต้องจบชีวิตลงโดยถูกพญากุมภีล์กินเป็นอาหาร ส่วนหมอจระเข้คนที่สามเป็๋นหญิง ใช้ปัญญาและไหวพริบในการปราบจระเข้ โดยได้วทำฉมวกเหล็กกางเขน มีตะขอค้ำเป็นเหล็กง่าม แม้จะถูกจระเข้งับก็ยังไม่ถึงตัว เพราะจะถูกเหล็กค้ำยันไว้ และใช้เชือกขนาดใหญ่ ปลายด้านหนึ่งผูกกับแกนเหล็ก อีกด้านหนึ่งผูกโยงกับต้นประดู่ใหญ่ ให้เสนาอำมาตย์ช่วยกันดึง เมื่อหมอจระเข้สาว ขึ้นไปนั่งบนแะพรไม้ไผ่บริกรรมคาถาอาคมเรียกจระเข้ขึ้นมา ก็เหยียแพไม้ไผ่ให้เอียงแล้วอ้าปากหวังบจะงับเหยื่อ หมอจระเข้สาวจึงพุ่งฉมวกเข้าไปในปากจระเข้ เมื่อจระเข้งับก็ถูกฉมวกแหลมปักติดแน่นทั้งปากบน และปากล่าง ไม่สามารถอ้าปากได้อีก แล้วบรรดาเหล่าเสนาอำมาตย์ก็ช่วยกันสาวเชือกลากจระเข้ขึ้นฝั่ง พอจระเข้เห็นเจ้าเมืองก็รู้สึกสำนึกในความผิด ผงกหัวขึ้นลงเป็นการแสดงความเคารพ พวกเสนาอำมาตย์ก็ช่วยกันทุบตีจนจระเข้ตาย พบศพเจ้าหญิงนางอินทวาถูกย่อยไปบางส่วนเหลืออัฐิและของใช้ของนางเช่นก้องแขน (กำไลข้อมือ) สร้อยพระศอ ผ้าซิ่น เจ้าเมืองได้เห็นก็เสียใจมาก
                จากเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นจึงประกาศตั้งชื่อหนองน้ำดังกล่าวว่า วังสามหมอ อัฐิของเจ้าหญิงนางอินถวา ได้นำไปฝังไว้ข้างวัง ต่อมาบริเวณที่ฝังศพ ได้เกิดมีต้นไม้ชนิดหนึ่งออกดอกสีขาวสวยงาม มีกลิ่นหอม ชาวเมืองเรียกกดอกไม้นี้ตามชื่อของเจ้าหญิงว่า ดอกอินถวา หญิงชาวบ้านนิยมใช้ดอกอินถวามาทัดหู หรือนำไปบูชาพระ ดอกอินถวาได้แพร่พันธุ์ไปอย่างกว้างขวางทั่วอีสาน ภาคกลางและภาคอื่น ๆ ทั่วประเทศ และเรียกดอกชนิดนี้ว่า ดอกพุดซ้อน  ต่อมาเมื่อชาวตะวันตกมาติดต่อค้าขายกับไทย เห็นดอกไม้พันธุ์ดี สวยงามและมีกลิ่นหอม จึงนำไปแพร่พันธุ์ในยุโรปเรียกว่า ดอกการ์ดิเนีย
                เชียงงาม  เป็นวรรณกรรมพื้นบ้านของอำเภอหนองหาน มีความว่า ในระยะเวลาที่เมืองหนองหานกำลังเจริญรุ่งเรือง พวกขอมมีอิทธิพลปกครองพื้นที่แถบนั้น ได้มีครอบครัวชาวลาวอพยพมาจากเมืองเวียงจันทน์ (หนองคันแทเสื้อนำ) หลายครอบครัวมาตั้งถิ่นฐานในเขตหนองหาน พบตะแพงมีพืชไร่นานาพันธุ์ขึ้นหนาแน่น อยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองหนองหาน ประมาณ ๔๐๐ เส้น (แถบบ้านเชียงในปัจจุบัน) ได้สร้างบ้านแปงเมืองอยู่กับมาด้วยความสงบสุข
                มีครอบครัวหนึ่งมีบุตรชายรูปร่างหน้าตางดงามน่ารัก เมื่ออายุได้สิบขวบ พ่อแม่ให้บวชเป็นเณรอยู่ที่วัดชานเมืองหนองหานได้ประมาณ ๕ - ๖ ปี ได้ศึกษาพระธรรมวินัยจนแตกฉาน ทำให้สาว ๆ หลงไหลมาเฝ้าปรนนิบัติไม่เว้นแต่ละวัน จนไม่เป็นอันวทำมาหาากิน เล่าลือกันไปจนถึงในวังของพระยาขอมทั้งหลาย ทำให้พ่อบ้านเดือดร้อน เพราะแม่บ้านแม่เรือนพากันหลั่งไหลไปเฝ้าอยู่แต่วัด จนพระยาขอมทนไม่ได้ จึงขอร้องให้สามเณรลาสิกขา ออกมาเป็นเชียง ชาวบ้านเรียกเชียงงาม หมู่บ้านที่สามเณรบวชอยู่จึงไวด้ชื่อว่า บ้านเชียงงาม มาจนนถึงวทุกวันนี้
                เมื่อเชียงงามสึกจากสามเณรแล้ว กลับยมีคนไปหาเชียงงามมากกว่าเดิม พระยาขอมจึงสั่งให้เชียงงามไปอยู่ที่อื่น เชียงงามจึงเดินทางกลับไปบ้านเกิดคือบ้านเชียงในปัจจุบัน แต่ผู้คนก็ยังมาหาเชียงงามเป็นจำนวนมาก พระยาขอมเห็นว่า ถ้าปล่อยให้เหตุการณ์เป็นอยู่เช่นนั้น ก็จะเกกิดความเสียหายแก่บ้านเมือง จึงให้จับเชียงงงามมาประหารชีวิต  แล้วตัดศีรษะไปฝังไว้ที่ป่าช้าวัดหัวเชียงในปัจจุบัน ส่วนตัวเอาไปฝังไว้ที่วัดศพ ปัจจุบันซากวัดอยู่ในเขตโรงพยาบาลหนองหาน
                ก่อนถูกประหารชีวิต เชียงงามได้ตั้งสัตยาธิษฐานสาปแช่งไว้ว่า ตัวเราไม่ได้มีความผิดอันใดแต่ต้องมาถูกประหาร ไม่เป็นการยุติธรรม ขอให้เมืองหนองหานจงประสบแต่ความวิบัติล่มจม อย่าให้มีความเจริญรุ่งเรืองในอนาคต
                เชียงมัง  เป็นวรรณกรรมพื้นบ้านของอำเภอหนองหาน มีความว่า นายมังเกิดในเมืองหนองหาน พ่อแม่ได้นำมามอบให้เป็นคนรับใช้อยู่ในบ้านกรมการเมืองผู้หนึ่ง เขาเป็นคนรฉลาดเฉลียว มีนิสัยดื้อรั้น ถือตัว ไม่เกรงกลัวใคร ร่างงกายแข็งแรง ชอบการต่อสู้จนติดนิสัย จึงให้บวชเป็นสามาเณร เมื่ออายุได้ ๑๓ ปี บวชอยู่ได้ ๒ ปี ชอบทำอะไรแผลง ๆ สมภารจึงใให้ลาสิกขาออกมาเป็นเชียง เรียกว่าเชียงมัง เขาได้กลับมาอยู่กับผู้ปกครองเก่า ช่วยงานเป็นเด็กเลี้ยงวัวควาย เนื่องจากมีนิสัยชอบเป้นหัวหน้าจึงได้ส้องสุมพวกเเด็กชาวบ้าน ตั้งเป็นชุมนุมที่ชายป่าฝึกหัดมวย และกระบี่กระบอง แบ่งพวกออกรบกันตามประสาเด็กวัยคะนอง
                อยู่มาวันหนึ่งเชียงมัง นำพรรคพวกไปตัดไม้ลำปอมาทำเป็นดาบคู่มือ แล้วสั่งลูกน้องจัดริ้วขบวนล้อมรังต่อรังแตนอยู่ในป่า โดยสมมุติว่าเป็นข้าศึก ในครั้งวนั้นได้มีการลงโทษพรรคพวกที่ขัดคำสั่ง โดยการสมมติว่าตัดคอแต่บังเอิญผู้นั้นคอขาดไปจริง ๆ เชียงมังตกใจกลัวถูกลงโทษจึงหนีออกจากเมืองจนไปพบกองทัพพม่า จึงได้ขออาศัยอยู่ในกองทัพนั้น
                ต่อมาเชียงมังถูกเกลี้ยกล่อมให้นำทัพมาตีหัวเมืองของตน โดยตกลงว่าเมื่อตีเมืองหนองหาน (เมืองเวียง) ได้จะให้เป็นเจ้าเมืองต่อไป เชียงมังจึงคิดออกอุบายให้ทหารพม่า ขุดอุโมงค์ลอดคูกำแพงเมือง เข้าไปในตัวเมืองทางกำแพงเมืองทิศสตะวันตก เอาดินไปกองไว้ที่โนนตูม ดั้นด้นเข้ามาเป็นทางยาวมีชื่อเรียกว่า ร่องพม่า เมื่อมาถึงบริเวณฉางที่หนองบัว และหนองแห้ง ก็จุดไฟเผาฉาง (คลังกระสุนดินดำ) เพื่อให้ฉางระเบิดเกิดไฟไหม้ขึ้นสองแห่ง ประชาชนพากันมาช่วยกันดับไฟ จึงเป็นโอกาสให้ทหารพม่าพังประตูเมือง เข้ามาได้ทั้งสี่ทิศ ฆ่าฟันทหารและชาวเมืองล้มตายเป็นอันมาก
                ฝ่ายพระยาขอม เห็นจวนตัวหนีไปไหนไม่พ้น จึงได้กระโดดลงจากหลังม้าวิ่งเข้าป่าไผ่ ตกลงไปในกอไผ่ติดคาอยู่จนสิ้นใจ (อยู่บริเวณศาลปู่หอคำ)  เมื่อเจ้าเมืองตายการรบก็ยุติ พวกพม่ากวาดต้อนครอบครัวราษฎร และทัรัพย์สินไปเป็นอันมาก แล้วเผาเมืองจนวอดวาย เมืองหนองหานจึงกลายเป็นเมืองร้างอีกครั้งหนึ่ง
                นางเพ็ญ เทวีสันติภาพ  เป็นวรรณกรรมพื้นบ้านของอำเภอเพ็ญ มีความว่า
                ณ ดินแดนอีสานในอดีต ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๓ - ๑๔ ในสมัยทวารวดี บริเวณลุ่มแม่น้ำเพ็ญ ได้มีเชื้อพระวงศ์จากเมืองหลวงพระบาง อาณาจักรล้านช้าง ได้อพยพเหล่าเสนาอำมาตย์ ข้าราชบริพารข้ามฝั่งแม่น้ำโขงมาหาชัยภูมิที่เหมาะสม ในการสร้างเมืองใหม่ โดยพระเจ้าวรปิถา และพระชายาคือ พระนางจันทราเทวี พร้อมนายทหารคู่ใจคือ ท้าวคำสิงห์ และหลวงราชปากดี เมื่อเดินทางมาถึงลำน้ำเพ็ญ หาที่ได้เหมาะแล้วก็สร้างเมืองขึ้นชื่อว่า เมืองวรปิถา ได้สร้างพระอารามหลวงคู่เมืองขึ้น ณ บริเวณตำบลดอนแช (บริเวณหนองหาน หรือบ้านดอนเก่า)
                ต่อมาเกิดเหตุร้าย พญานาคได้มาก่อกวน โดยมาในร่างของปลาดุกค่อม (เผือก)  ขนาดยักษ์ ขวางลำน้ำเพ็ญไว้ พระเจ้าวรปิถาจึงสั่งให้ใช้ช้างมาลากปลาดุกขึ้นบนฝั่ง แต่ลากไม่ขึ้นจนเชือกขาด แล้วปลาดุกก็ดำหายลงไปในลำน้ำเพ็ญ ทันใดนั้นก็ได้เกิดพายุฝนกระหน่ำอย่างหนัก ถึงเจ็ดวันเจ็ดคืน ทำลายเมืองจนยากที่จะบูรณะฟื้นฟู จึงอพยพชาวเมืองไปอยู่บนดอน แล้วสร้างเมืองใหม่ มีกำแพงล้อมรอบมั่นคงแข็งแรง พร้อมทั้งขุดคลอง (คูเมือง)  ล้อมรอบกำแพงเมืองอีกชั้นหนึ่ง (ปัจจุบันคือ วัดเกาะแก้ว บ้านเพ็ญ และฝั่งน้ำสองคอน)  ได้สร้างโรงช้าง โรงม้า เอาไว้ (ปัจจุบันคือ บ้านโฮง)  และสร้างวัดไว้คู่บ้านคู่เมือง คือ วัดโนนยายกาน วัดโนนพอก วัดหนองเป็ด วัดโพธิเรียง
                ระหว่างนั้น พระชายาจันทราเทวี ตั้งครรภ์และประสูติพระธิดา มีนามว่า นางเพ็ง เมื่อสร้างเมืองเสร็จได้ให้ชื่อว่า เมืองเพ็ง (ต่อมาได้เพี้ยนเป็นภาษาภาคกลางว่า เพ็ญ)
                เมื่อนางเพ็ง อายุได้ ๑๘ พรรษา ก็มีสิริโฉมงดงามยากจะหาสาวใดมาเทียบได้ อีกทั้งมีอุปนิสัยดี เฉลียวฉลาด มีคุณธรรมประจำใจ ชาวเมืองต่างชื่นชมยินดี ข่าวความมีสิริโฉมของนางได้แพร่สะพัดออกไป บรรดาโอรสจากหัวเมืองต่าง ๆ ทราบเรื่องก็หมายปองในตัวนาง ได้แก่ ท้าวคำเสาะ โอรสแห่งเมืองพะโค  ท้าวเชียงคำหลวง โอรสแห่งเมืองหนองหาน ท้าวเสนะ โอรสแห่งเมืองภูเงิน ท้าวอินแปง โอรสแห่งเมืองบาง ท้าวบูฐกัง โอรสแห่งเมืองเป็งจาน ท้าววังโส โอรสแห่งเมืองโพนพิสัย ต่างเตรียมขบวนขันหมาก แก้วแหวน เงินทองมาก เพื่อไปสู่ขอนางเพ็ญ พร้อมจัดเตรียมทหารกองเกียรติยศ ไปพร้อมขบวนขันหมาก โดยจัดกองทัพตามแบบเตรียมรบ เป็นเชิงขอร้องแกมขู่บังคับเจ้าเมืองเพ็ง ไปโดยปริยาย
                เมื่อขบวนขันหมากจากบรรดาหัวเมืองต่าง ๆ เดินทางมาถึงเมืองเพ็ญ และเผชิญหน้ากัน พระเจ้าวรปิถา จึงต้องออกมาห้ามทัพ และเชิญบรรดาโอรสจากเมืองต่าง ๆ ไปพำนักในเมืองก่อน และประวิงเวลาในการตัดสินใจ โดยนางเพ็ญได้ใช้นิทานปริศนา เรื่องเจ้าหญิงลุยไฟมาเล่าประกอบ โอรสเจ้าเมืองต่าง ๆ ฟัง สร้างความงุนงงให้บรรดาโอรส มีท่ามีจะก่อให้เกิดความรุนแรง ทำให้นางเพ็ญวิตกกังวลมากขึ้น
                ในที่สุดนางเพ็ญ ได้ตัดสินใจยอมพลีชีพเพื่อแก้ปัญหาบ้านเมือง โดยเขียนจดหมายลาตาย แล้วได้ไปยังบ่อน้ำในอุทยาน แล้วตั้งจิตอธิษฐานต่อเทพยดาฟ้าดินว่า นับแต่นี้ไปขอให้ผู้คนจากเมืองอื่น ๆ ทั่วหล้า จงมองเห็นเมืองเพ็ญเป็นเมืองแห่งความเศร้าหมอง อย่าให้มีผู้ใดมาสนใจใยดี เมืองนี้อีกเลย และขอให้ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินเมืองเพ็ญ จงประสบแต่สันติสุข บริบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์ต่อไปชั่วกาลนาน
                บรรดาโอรสเมืองต่าง ๆ เมื่อทราบว่านางเพ็ญ ยอมสละชีวิตรักษาสันติภาพ ต่างรู้สึกเศร้าสลด สะเทือนใจ จึงได้แยกย้ายกันกลับไป
                พระเจ้าวรปิถา จึงได้นำทรัพย์สินของนางเพ็ญ โยนลงในบ่อน้ำ ให้กลบบ่อ และก่ออิฐสร้างเจดีย์ ครอบบ่อไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์ และนางเพ็ญก็ได้สมญานามว่า เทวีแห่งสันติภาพ ปัจจุบันชาวบ้านเรียกว่า ธาตุนางเพ็ญ ตั้งอยู่ที่วัดเกาะแก้ว อำเภอเพ็ญ


                ศรีธาตุ พยานรัก  เป็นวรรณกรรมพื้นบ้านของอำเภอศรีธาตุ มีความว่า
                นานมาแล้ว มีแมวป่าตัวหนึ่งถือศีล อาศัยอยู่ในป่าใหญ่ ได้เสาะหาผลไม้ในป่ามาถวายท้าวเวสสุวัณ เป็นประจำด้วยความศรัทธา ท้าวเวสสุวัณเห็นคุณงามความดีของนางแมวป่า จึงได้ให้พรให้นางพ้นจากการเป็นแมว ให้กลับร่างเป็นมนุษย์ เป็นหญิงสาวที่มีความงาม ทั้งกาย วาจาและใจ ยากจะหาใครมาเปรียบเทียบได้ พร้อมกับตั้งชื่อให้ใหม่ว่า ศรี
                ในชุมชนบ้านเดื่อ มีชายหนุ่มรูปงามชื่อ จำปี กำพร้าพ่อแม่แต่เด็ก แม้จะยากจนแต่จำปีก็มุ่งมั่นทำคุณงามความดีตลอดมา วันหนึ่งพ่อแม่ของจำปีที่ตายไปแล้ว ได้มาเข้าฝันบอกลาไปเกิดในสวรรค์ และบอกให้ลูกไปขุดใต้โคนมะเดื่อใหญ่ ที่อยู่ในสวนหลังบ้านจะพบ เรือทองคำกายสิทธิ์ ขนาดเล็กมากซุกซ่อนอยู่ภายใน เรือดังกล่าวเป็นของคู่บุญบารมีของผู้มีบุญเท่านั้น เรือลำนี้สามารถขยายให้เป็นเรือลำใหญ่ หรือเล็กลงได้ตามคำอธิษฐาน ของผู้เป็นเจ้าของ และสามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ด้วย เมื่อจำปีไปขุดพบเรือดังกล่าวแล้ว ก็นำไปเก็บรักษาไว้ในย่ามอย่างมิดชิด
                ศรีและจำปี ได้พบกันในวันหนึ่ง ในขณะที่จำปีออกไปหาฟืนและเก็บผลไม้ เขาได้ยินเสียงร้องขอความช่วยเหลือจากผู้หญิง เห็นเสือโคร่งกำลังวิ่งไล่ศรีอยู่ จึงเข้าไปช่วยเหลือฆ่าเสือตาย ตัวเขาเองก็บาดเจ็บ สาหัส ศรีรู้สึกสำนึกในบุญคุณช่วยทำบาดแผลให้จำปี ในที่สุดทั้งสองก็ตัดสินใจเป็นสามีภรรยากัน
                กล่าวถึง ท้าวอุตตะราช ผู้ครองเมืองอุตตะระได้ออกเที่ยวป่า ผ่านมาทางป่ามะเดื่อ ได้พบจำปีและศรี เกิดพอใจในตัวศรี จึงพยายามทุกวิถีทางให้ได้ศรีมาเป็นของตน จนเกิดการต่อสู้ชิงนางขึ้น จำปีสู้ไม่ได้จึงให้ศรีขึ้นเรือทองคำกายสิทธิ์หนีไปก่อน และตัวเองก็ถูกจับเพื่อล่อให้ศรีกลับมาช่วยสามีของนาง ศรีได้ไปของความช่วยเหลือจากท้าวเวสสุวัณ แต่ก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้ บอกว่าเป็นเรื่องของกรรมเก่า ให้อดทนไปก่อนแล้วทุกอย่างจะคลี่คลายไปเอง
                ศรีจึงลาท้าวเวสสุวัณ กลับมาช่วยสามี โดยเสนอเงื่อนไขว่า ให้ปล่อยสามีของนาง แล้วนางจะยอมทำตามความต้องการของท้าวอุตตะราช จำมีเห็นว่าภรรยาของตนจะเสียท่าท้าวอุตตะราช และเห็นว่าตนเองบาดเจ็บสาหัส และคงไม่รอดจึงตัดสินใจเอาศีรษะพุ่งชนกำแพงจนสิ้นใจตาย  ทำให้ศรีเสียใจมากจึงค่อย ๆ ร่อนเรือทองคำลงมาหาศพสามี แล้วเสนอเงื่อนไขแกท้าวอุตตะราช ขอให้จัดการพิธีศพสามีของนางให้เรียบร้อยก่อน โดยขอให้สร้างธาตุขึ้น เพื่อบรรจุวอัฐิของสามีนางก่อน ท้าวอุตตะราชก็ยินยอมตามที่ขอ จึงได้ก่อธาตุจนแล้วเสร็จ ศรีจึงแกล้งทำตามสัญญาคือ ยอมแต่งงานด้วย และได้ชวนให้ท้าวอุตตะราช ขึ้นเรือทองคำกายสิทธิ์ พอได้โอกาสจึงผลักท้าวอุตตะราชตกลงมาถึงแก่ความตาย จากนั้นจึงนำเรือทองคำลงสู่พื้นหน้าธาตุที่เก็บอัฐิสามี อธิษฐานต่อท้าวเวสสุวัณ และเทพยดา ขอยึดมั่นในรักเดียวใจเดียว และขอตายตามสามีเพื่อให้ความรักของนางเป็นอมตะ พออธิษฐานเสร็จนางก็กลั้นใจตายตามสามี แล้วร่างของนางก็กลายเป็นแมวทองคำ เคียงข้างกับเรือทองคำกายสิทธิ์ อยู่ที่พระธาตุปบัญชา ตั้งแต่นั้นมา
                ปัจจุบันพระธาตุปมัญญา อยู่ที่วัดพระธาตุปมัญญา (ป่าแมว) บ้านหนองแวง ตำบลจำปี อำเภอศรีธาตุ เป็นศิลปะแบบล้านช้าง
| ย้อนกลับ | บน | หน้าต่อไป |