| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

การละเล่นพื้นบ้าน นาฎศิลปและดนตรี
            การละเล่นพื้นบ้าน  อาจแบ่งการละเล่นพื้นบ้านตามวัย เป็นการละเล่นของเด็ก และการละเล่นของผู้ใหญ่
                การละเล่นของเด็ก  มีทั้งการเล่นกลางแจ้งและในร่ม การละเล่นดังกล่าวพอประมวลได้คือ หมากเก็บ หรือไม้ก๊อกแก๊ก หรือไม้เก็บ เต้นเชือก ขี่ม้าหลังโปก โค้งตีนเกวียน โป้งแปะ ยิงปืนก้านกล้วย ดีดเม็ดมักขามลงหลุม
                การละเล่นของผู้ใหญ่  มีมหรสพ ดนตรี เพลงพื้นบ้าน สำหรับการละเล่นประเภทกีฬามีดังนี้ หัวสะบ้าหรือหัวสิบ้า หมากอี่หรือบักอี่ (ตี่จับ) ขาโกกเกก วิ่งเปี้ยว ดึงหนัง หรือดึงเชือก (ชักเย่อ) กิ่งเกิ๊บหรือก๊บกับ ต่อไก่
            นาฎศิลป์และดนตรี  ได้แก่ หมอลำ ลำภูไท หนังปะโมไทยหรือหนังปลัดตื้อ (หนังตะลุงอีสาน) รำเซิ้ง วิ่งโปงลาง แมวตับเต่า การเล่นมหรสพดังกล่าวมีดนตรีใช้ประกอบการเล่นหลายประเภทเช่น แคน ซอ พิณ ฉิ่ง โหวด กั๊บแก้บ กลองสั้น กลองบาว เป็นต้น
                หมอลำ  เป็นวัฒนธรรมดนตรีและเพลงพื้นบ้านอีสาน ที่ผู้แสดงจะขับร้องและฟ้อนรำคลอไปกับเสียงแคน  โดยมีหมอแคนเป็นคนเป่า หมอลำเกิดขึ้นมารับใช้ชีวิตชาวอีสานทั้งยามทุกข์และสุข สืบเรื่องราวว่า ก่อนปี พ.ศ.๒๔๐๐ จะมีหมอลำผีเข้า มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาโรคภัยไข้เจ็บ
                ปัจจุบันหมอลำแยกออกไปหลายแขนง ลำกลอนของบางคณะได้เพิ่มเครื่องดนตรีเข้าไปเช่น กลองชุด ิกีตาร์เบส เรียกหมอลำประยุกต์แนวนี้ว่าหมอลำซิ่ง
                หมอลำแบ่งลักษณะการลำ หรือการแสดงได้สี่ประเภทคือ
                    หมอลำกลอน  เป็นลักษณะลำแบบโต้กลอนสด ผู้ลำต้องมีความรู้กว้างขวางเกี่ยวกับวัฒนธรรม ประเพณี ศาสนา คติธรรมต่าง ๆ  ฯลฯ
                    หมอลำเรื่อง  มักเป็นนิทานพื้นบ้านเช่น ผาแดง นางไอ่ นางผมหอม หมอลำเรื่อง ยังแบ่งออกเป็นลำห้าชนิดคือหมอลำพื้น หมอลำหมู่หรือลิเกลาว หมอลำเพลิน หมอลำกิ๊บแก๊บ และหมอลำแมงตับเต่า
                    หมอลำผีฟ้า  เป็นการลำเพื่อรักษาผู้ป่วย เริ่มจากลำส่อง เพื่อตรวจหาสาเหตุของการป่วยแล้วจึงลำทรง เพื่อเชิญเทวดาหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ลงมาทรงในตัวหมอลำ
                    หมอลำเบ็ดเตล็ด  ส่วนใหญ่ใช้การลำที่มีสำเนียงและท่วงทำนองเฉพาะถิ่น เช่น ลำพรสวรรค์ ลำภูไท ฯลฯ ส่วนใหญ่เป็นการลำทำนองเกี้ยวพาราสี โต้ตอบกัน
                รำเซิ้ง  เป็นการรำประกอบการเซิ้ง ในพิธีทำบุญบั้งไฟของชาวอีสาน การรำเซิ้งคิดท่ารำจากการทำงานทั้งสิ้น เช่น เซิ้งกระติบข้าว คิดท่ารำจากการที่เด็กหนุ่มสาวสะพายกระติ๊บข้าวมาส่งญาติพี่น้องที่นา เซิ้งสวิง คิดท่ารำจากที่ชาวบ้านถือสวิงและข้องไปดักปลา เซิ้งกระด้ง คิดท่ารำจากการฝัดข้าว
                    รำเซิ้งคิดท่ารำขึ้นจากการทำงานและวิถีชีวิตหลาย ๆ แบบเช่น ท่าถอนกล้า ท่าดำนา ท่ามองหรือท่าอาย ท่าล้างมือ ท่าสลัดมมือ ท่าเช็ดมือ ท่าปั้นข้าว ท่าเตี้ย
                    การรำเซิ้งของชาวจังหวัดอุดร ฯ นิยมในงานเทศกาลต่าง ๆ มีการปรับปรุงท่ารำและเครื่องแต่งกายให้งดงามเหมาะสมกับกาลสมัย
ศาสนา พิธีกรรม ความเชื่อ
            ชาวจังหวัดอุดร ฯ นับถือพระพุทธศาสนา เป็นส่วนมาก ในแต่ละหมู่บ้านมีวัดในพระพุทธศาสนาอยู่ทุกหมู่บ้านและยังมีโบราณสถาน โบราณวัตถุ อันเป็นหลักฐานว่า พระพุทธศาสนาได้ประดิษฐานในจังหวัดอุดร ฯ และเข้าถึงจิตใจของประชาชนมาช้านาน แต่ยังมีชนกลุ่มน้อยบางกลุ่มที่นับถือผีหรือสิ่งที่มีอำนาจเหนือธรรมชาติอยู่บ้าง นอกจากนี้ยังมีผู้นับถือศาสนาคริสต์และศาสนาอิสลามอยู่บ้าง
            ประวัติและพัฒนาการของพระพุทธศาสนาในจังหวัดอุดร ฯ หลังจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ได้ขึ้นครองราชย์ไม่นาน ก็ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าเมืองอุบล ฯ อาราธนาพระอาจารย์ดี (พนฺธุโล) และพระอาจารย์ม้าว (เทวธมฺ มี ม้าว) ออกไปเผยแพร่ธรรมยุตินิกาย และได้สร้างวัดธรรมยุติวัดแรกที่บ้านบุ่งกาแซว ตั้งชื่อว่าวัดสุปัฎถนาราม พระภิกษุสงฆ์ทั้งสองรูปแรกถึงเป็นพระเถระในยุคแรก ได้มีผู้เลื่อมใสศรัทธาขออุปสมบทเป็นจำนวนมาก และได้มีการขยายสาขาธรรมยุตไปในจังหวัดใกล้เคียงอีกห้าวัด ได้ก่อให้เกิดวัดธรรมยุตครั้งแรกในจังหวัดอุดร ฯ คือ วัดจอมศรี อำเภอกุมภวาปี
            พระเถระสองรูปคือพระอริยกวี (ธมฺมรกฺขิโต อ่อน) และพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจจนฺโท จันทร์) มีหน้าที่ควบคุมดูแลพระภิกษุสงฆ์คณะธรรมยุตในมณฑลอีสาน
            การขยายตัวของคณะธรรมยุตมณฑลอีสานในครั้งนั้น ทำให้เกิดการแยกตัวของฝ่ายปฏิบัติออกจากฝ่ายปริยัติธรรม โดยมีพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล ให้การอบรมด้านวิปัสสนากรรมฐานโดยเฉพาะ ผลจากการแยกตัวในครั้งนั้น ทำให้การปฏิบัติจิตภาวนาเป็นที่นิยมกันแพร่หลาย จนเกิดเป็นคณะสงฆ์ฝ่ายวิปัสสนาธุระสายพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ที่มีชื่อเสียงไปทั่วประเทศ
            ศาสนบุคคล  มีอยู่หลายท่านด้วยกันคือ พระเทพวิสุทธาจารย์ (หลวงปู่ดีเนาะ) พระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) พระธรรมบัณฑิต (จันทร์ศรี จนฺททีโป) หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปณฺโณ หลวงปู่พิบูลย์ พระธรรมปริยัติโมลี หลวงปู่เครื่อง ธมฺมจาโร พระอาจารย์ศรีทัตถ์ สุวรรณมาโจ หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ หลวงปู่หล้า เขมปัตโต ฯลฯ
ขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น
             โดยทั่วไปชาวจังหวัดอุดร ฯ มีขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น เหมือนกับชาววอีสานในท้องถิ่นอื่น ๆ เป็นต้นว่าในรอบปีจะมีการทำบุญตามประเพณีสิบสองเดือน ที่เรียกว่า ฮีตสิบสอง อยู่ครบทุกเดือน แต่จะมีการปรับหรือตัดขั้นตอนในการประกอบพิธีกรรมบางส่วน ออกตามสภาพสังคมและเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ปัจจุบัน
            สำหรับขนบธรรมเนียมประเพณีเกี่ยวกับการกินอยู่ การแต่งกาย กิริยามารยาท และประเพณีเกี่ยวกับชีวิต ยังมีวิถีชีวิตที่เป็นแบบเฉพาะของชาวอีสานไว้อย่างชัดเจน
            ประเพณีสิบสองเดือน (ฮีตสิบสอง)  จะพบมากและปฏิบัติกันอย่างเคร่งครัด เฉพาะกลุ่มที่ประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตชนบท ส่วนชุมชนเมืองจะพบเพียงกิจกรรม หรือพิธีเกี่ยวกับศาสนา วันสำคัญของชาติ วันลอยกระทง และวันสงกรานต์เท่านั้น ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าชุมชนเมืองประกอบด้วยชาวต่างชาติและคนไทยเชื้อสายจีน ญวน ซึ่งเป็นกลุ่มชนที่ต่างวัฒนธรรม
            ประเพณีที่คนท้องถิ่นยึดถือปฏิบัติ  เป็นประเพณีที่ชาวจังหวัดอุดร ฯ ปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นเวลาช้านาน ได้แก่
                งานเทศกาลประจำปี  งานทุ่งศรีเมือง ฯ เป็นงานประจำปีที่ทางจังหวัดจัดขึ้นในช่วงวันที่ ๑ - ๑๒ ธันวาคม ของทุกปี ลักษณะคล้าย ๆ กับงานเทศกาลของจังหวัดต่าง ๆ ซึ่งมักจะจัดรวมกับงานกาชาด มีมหรสพความบันเทิงต่าง ๆ หลากหลายประเภท มีการแข่งขันประกวดการผลิต งานหัตถกรรม และการละเล่นพื้นเมืองต่าง ๆ

                งานบุญบั้งไฟกุมภวาปี  จัดที่อำเภอกุมภวาปี ถือเป็นประเพณีเก่าแก่ประเพณีหนึ่งในจำนวนฮีตสิบสองของชาวอีสาน เมื่อถึงเดือนหก ก่อนที่จะลงนาไร่ ปักดำข้าวกล้า จำเป็นต้องประกอบพิธีกรรม เพื่อความเป็นสิริมงคลเสียก่อน เพื่อให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล อีกประการหนึ่งคือ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้คนได้พบปะและสนุกสนานร่วมกันเป็นครั้งสุดท้ายของปี ก่อนที่แต่ละคนจะแยกย้ายกันออกไปปฏิบัติงานในเรือกสวนไร่นา
                ในการจัดงานแต่ละคนจะทำการตกแต่งบั้งไฟที่ชาวบ้านเรียกว่า เอ้ ให้สวยงามวิจิตรตระการตา เพื่อนำออกมาประชันฝีมือกันอย่างเต็มที่ ประกอบกับกุมภวาปีเป็นแหล่งตำนานที่กล่าวถึงเรื่องการกำเนิดบั้งไฟ ในตำนานท้องถิ่นเรื่อง ผาแดง - นางไอ่ ยิ่งทำให้บรรยากาศของการแห่บั้งไฟของอำเภอกุมภวาปี มีชีวิตชีวามากขึ้น
                งานบุญบั้งไฟล้าน  ตำบลบ้านธาตุ อำเภอเพ็ญ  เป็นงานบุญบั้งไฟที่ยิ่งใหญ่ที่จัดทำขึ้นเป็นประจำทุกปี มีการประกวดกระบวนแห่ ประกวดบั้งไฟขึ้นสูง และประเภทสวยงาม เนื่องจากเป็นบั้งไฟล้าน ซึ่งถือว่าเป็นบั้งไฟที่มีขนาดใหญ่ที่สุด
                ประเพณีแข่งเรือลำน้ำปาว  อำเภอกุมภวาปี แหล่งน้ำที่เป็นต้นกำเนิดลำน้ำปาวคือ หนองหานน้อย หรือหนองหานกุมภวาปี เมื่อถึงวันเพ็ญ เดือนสิบเอ็ด อันเป็นช่วงฤดูออกพรรษา ชาวอำเภอกุมภวาปี จะจัดประเพณีการแข่งเรือในลำน้ำปาว หน้าศาลเจ้ากุมภวาปี ของทุกปี
                เทศกาลข้าวหลามมันที่พันดอน  อำเภอกุมภวาปี ช่วงประมาณเดือนตุลาคม จะมีการจัดงานประจำปีไหว้เจ้าปู่ - เจ้าย่า  ในงานจะมีการประกวดข้าวหลามขึ้น จะมีนักปรุงข้าวหลามมีฝีมือจากที่ต่าง ๆ มาร่วมงานประกวดข้าวหลามกัน
เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม
          หัตถกรรมและช่างฝีมือ  ได้แก่ เครื่องปั้นดินเผาสายบ้านเชียง และการทอผ้าขิดไหม

                หม้อดินเผาลายบ้านเชียง  เป็นตัวแทนของมรดกโลกบ้านเชียง เป็นมรดกที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษ

                การทอผ้าขิดไหม  บ้านหนองอ้อ อำเภอหนองวัวซอ ได้มีการแต่งตั้งกลุ่มทอผ้าขิดไหม มาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๕  การทอผ้าขิดนี้ต้องใช้คนทออย่างน้อยสามคน ช่วยกันไม่เหมือนการทอผ้าชนิดอื่น ที่ใช้พอเพียงคนเดียว ได้มีการรวบลายผ้าโบราณและสร้างลายขิดขึ้นมาใหม่ หลายลายคือ ลายดาวประยุกต์ ลายร่มเกล้า ลายนายกประยุกต์ ลายร้อยปี ร.๕ (ลายพระราชทาน)  ลายโบสลับดอกแก้ว ลายกระดุมทอง ลายแมงมุม ลายการฉบา ลายกระติ๊บข้าว ลายมรดกโบราณ ลายดอกจัน ลายห่วง ลายคองโบราณ ลายดอกพิกุล (ลายพระราชทาน)  ลายกุญแจประยุกต์ ลายไทยโบราณ ลายแมลงป่อง ลายคุณหญิง ลายดอกจิก ลายผีเสื้อ ลายดอกแก้ว ลายนาคโบราณ ลายขอหลง
            ขนบธรรมเนียมประเพณี  ที่เป็นเอกลักษณ์มี ดังนี้
                งานบุญบั้งไฟล้าน  จัดขึ้นที่ตำบลบ้านธาตุ อำเภอเพ็ญ เป็นงานใหญ่ระดับประเทศ มีบั้งไฟจากทั่วประเทศ เข้าร่วมแข่งขันเป็นประจำทุกปี
                งานประเพณีสรงน้ำพระมหาธาตุเจดีย์   ชาวบ้านดอนแก้ว และชาวอำเภอกุมภวาปี จะจัดให้มีงานประเพณีสรงน้ำพระมหาธาตุเจดีย์ ในว้นเสาร์-อาทิตย์ แรก หลังวันสงกรานต์ เป็นประจำทุกปี <
| ย้อนกลับ | บน | หน้าต่อไป |