| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา | |
การแต่งกายของชาวไทยอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีวิวัฒนาการมาตามลำดับ การแต่งกายบางแบบก็เลิกใช้แล้วอย่างชุดกระโจมอก เป็นการแต่งกายของหญิงอิสลามในอดีต และเลิกใช้มาประมาณ ๘๐ ปีแล้ว การแต่งกายแบบนี้สมัยก่อน เป็นที่นิยมทั่วไปสำหรับสวมใส่อยู่ในบ้าน หรือออกงานนอกบ้านก็ได้ ประกอบด้วยผ้าสามชิ้น ชิ้นแรกเป็นผ้าโสร่งปาเต๊ะ หรืออาจใช้ผ้าสตือรอ (ผ้าไหม) ก็ได้ ลักษณะเป็นถุงนุ่งยาวกรอมเท้า ชิ้นที่สองเป็นผ้ากระโจมอก มักใช้ผ้าแอแจ๊ะ (เป็นผ้าไหมลายต่าง ๆ ) หรืออาจใช้ผ้าตลือโป๊ะ (ผ้าไหมมลิโป จากจีน) หรือผ้าปาเต๊ะ ผ้าผืนนี้ยาวประมาณ ๕๐ - ๙๐ นิ้ว กว้างประมาณ ๓๐ - ๘๐ นิ้ว วิธีการกระโจมอกคือให้ชายผ้าทั้งสองข้างห้อยอยู่ตรงกลาง ชิ้นที่สามเป็นผ้าคลุมศีรษะ ซึ่งมักใช้ผ้าป่านมีดอกสวยงาม หรือผ้าปลาเงิน (ผ้าแพรชนิดหนึ่ง ทำเป็นดอกดวงโต โดยการใช้ใบตองแห้งย้อมสีพื้นของผ้า ผ้าชนิดนี้ทำในปัตตานีสมัยก่อน) วิธีคลุมก็อาจคลุมโดยปล่อยชายทั้งสองข้างไว้ข้างหน้า หรือจะตลบชายข้างใดข้างหนึ่ง ให้พาดโอบไปข้างหลังก็ได้ ผู้ที่แต่งกายแบบนี้มักนิยมเกล้าผมมวยแบบโบราณ หรือปล่อยสยายลงมาเมื่ออยู่กับบ้าน
ในอดีตเมื่อฝ่ายหญิงแต่งกายกระโจมอกดังกล่าว ฝ่ายชายจะนิยมแต่งกายด้วยชุดปูฌอปอตอง ซึ่งปัจจุบันไม่นิยมแล้ว ประกอบด้วยเสื้อคอกลมสีขาว ผ่าหน้ายาวพอสมควร สวมทางศีรษะได้ ติดกระดุมสามเม็ด แขนสั้น ส่วนผ้าที่นุ่งมีลักษณะเหมือนผ้าขาวม้า ทำด้วยสีสันค่อนข้างฉูดฉาด มักเย็บเป็นถุง ใช้นุ่งทับบนเสื้อ วิธีนุ่งต้องให้ชายทั้งสองข้างห้อยอยู่ตรงกลางเป็นมุมแหลม (ลักษณะเช่นนี้เรียกว่าปูฌอปอตอง) มีผ้ายือแฆ เป็นผ้าจากเมืองจีนคล้ายแพรดอกในตัวหรือไหม เป็นผ้าที่มีขนาดเล็กกว่านุ่งทับบนผ้าปูฌอปอตองอีกชั้นหนึ่ง เสร็จแล้วหน็บกริชหรือหอกด้วยก็ได้ การแต่งกายแบบนี้นิยมใช้สตาแงโพกศีรษะ ภาษามลายูเรียกว่า สตาวัน เป็นผ้าโพกศีรษะที่พับเป็นรูปต่าง ๆ
การแต่งกายของหญิงไทยอิสลามตามประเพณีดั้งเดิม ที่ยังคงความนิยมในปัจจุบันสำหรับทุกวัยคือชุดกุรง ลักษณะเป็นเสื้อคอกลมติดคอ ผ่าหน้าพอสวมศีรษะได้ ติดกระดุมคอ ๑ เม็ด หรือเข็มกลัด ๑ ตัว แขนกระบอกยาวเกือบจรดข้อมมือ หรือต่ำกว่าข้อศอก ใต้รักแร้ ระหว่างตัวเสื้อและแขนต่อด้วยวผ้าสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ตัวเสื้อหลวม ยาวคลุมสะโพก (คล้ายเสื้อของหญิงปากีสถาน) เสื้อกุรงมักสวมเป็นชุดกับผ้าปาเต๊ะหรือจะใช้ผ้าชนิดเดียวกันกับเสื้อ ทำเป็นถุงธรรมดา หรือนุ่งจีบไว้ข้างเดียวที่สะเอว ข้างใดข้างหนึ่ง ตามแบบการนุ่งผ้าของชาวยะโฮร์มาเลเซีย และหากไปงานหรูหราก็อาจนุ่งผ้ายกเงินทองที่เรียกว่า ผ้าซอแก๊ะ การแต่งกายแบบนี้มีผ้าคลุมศีรษะโดยทั่วไป สมัยก่อนหญิงที่แต่งกายแบบนี้มักจะเกล้าผมมวยหรือถักเปีย
การแต่งกายของหญิงในท้องถิ่นอีกแบบหนึ่งคือ เสื้อบายอ
ลักษณะเป็นเสื้อคอวี ผ่าหน้าตลอดกหลัดหด้วยเข็มกลัด นิยมกลัดสามตัว แต่ละตัวมีสายโซ่ต่อกัน
แขนยาวปลายกว้างเล็กน้อย ตัวเสื้อค่อนข้างหลวมยาวคลุมสะโพก ชายเสื้อตรงหรืออาจแหลมเล็กน้อย
เสื้อบายอนี้ใช้กับผ้าถุงธรรมดา ปัจจุบันเสื้อบายอเป็นที่นิยมเฉพาะหญิงไทยอิสลามสูงวัยเท่านั้น
และมักคลุมศีรษะเช่นเดียวกับการแต่งกายชุดกุรง
สำหรับหญิงที่เป็นหะยี หรือฮัจยะห์ นิยมคลุมศีรษะสองผืน ๆ หนึ่งเป็นผ้าสีขาวบาง
ๆ มีลวดลายเล็ก ๆ หรือไม่มีเรียกว่า มือดูวาเราะห์
เป็นผ้าที่ซื้อมาจากซาอุดิอาระเบีย ใช้สำหรับปิดผมให้มิดชิด และอีกผืนหนึ่งเป็นผ้าป่าน
สำรับคลุมตามประพณีท้องถิ่น
ต่อมาการแต่งกายของหญิงไทยอิสลามได้วิวัฒนาการไปอีกขึ้นหนึ่ง เป็นที่นิยมในหมู่หญิงสาวลักษณะคล้ายเสื้อบายอแต่เน้นรูปทรงกว่า
เรียกว่า บานง
(ภาษามลายูกลางเรียกว่า บันดง) เป็นเสื้อที่ได้รับอิทธิพลจากอินโดนิเซีย เสื้อบานงปักตัดเย็บด้วยผ้าค่อนข้างบาง
อาจปักฉลุลวดลายตรงชายเสื้ออย่างสวยงามเป็นเสื้อคอวี ผ่าหน้าและพับริมปกเกยซ้อนไว้ตลอด
กลัดด้วยเข็มกลัดสวย ๆ สามตัว ชายเสื้อด้านหน้าแหลมเสื้อแขนยาวรัดรูปจรดข้อมือ
เสื้อบานงใช้นุ่งทับกับผ้าถุงธรรมดาหรือผ้ายก หรือผ้าพับที่ท้องถิ่นเรียกว่า
กาเฮงบือเละ
ผ้าพันเป็นผ้าลวดลายปาเต๊ะ ยาวประมาณ ๓ เมตร ไม่เย็บเป็นถุง วิธีนุ่งผ้าพันต้องมีเทคนิคเฉพาะเพื่อให้ก้าวขาเดินได้สะดวก
โดยเหน็บชายผ้าตรงกลางสะเอวและนิยมให้ปลายผ้าด้านล่างทะแยงเล็กน้อยด้วย
ต่อมามีการประยุกต์เสื้อบานงเป็นอีกแบบหนึ่ง คือเป็นเสื้อคอวี ปิดทับด้วยลิ้นผ้าสามเหลี่ยมเสื้อแบบนี้เรียกว่า บานงแบแด (ภาษามลายูกลางเรียกว่า บันดงเมดาน) เป็นเสื้อที่ได้รับอิทธิพลจากอินโดนิเซียเช่นกัน นิยมใช้ผ้าลูกไม้ ผ้ากำมะหยี่ ผ้าต่วน และผ้าชีฟอง อาจจุนุ่งกับผ้าถุงธรรมดา ผ้าถุงสำเร็จ ผ้าพันหรือกระโปรงยาวปลายบานก็ได้
การแต่งกายของชายในท้องถิ่น แต่เดิมนิยมสวมเสื้อตือโละปลางอ
ลักษณะเป็นเสื้อคอกลมอาจมีคอตั้งแบบคอจีน หรือไม่ม่ก็ได้ ผ่าหน้าครึ่งหนึ่ง
ติดกระดุมโลหะสามเม็ด สมัยก่อนใช้กระดุมทองคำ แขนเสื้อกกระบอกกว้างยาวจรดข้อมมือ
แต่พับชายขึ้นมาเล็กน้อย เสื้อแบบนี้ได้รับอิทธิพลจากอินโดนิเซียนิยมนุ่งกับผ้า
ปาลิกัต
ซึ่งเป็นผ้าจากอินเดีย (เป็นผ้าบางชนิดเดียวกับที่พวงเบงกาลีใช้นุ่ง แต่ชาวเบงกาลีไม่เย็บเป็นถุง
) ลักษณะเป็นผ้าถุงลายขวาง หรือตาหมากรุก ใช้วิธีนุ่งแบบทบทั้งสองข้างเข้าหากัน
แลัวขมวดไว้กลางลำตัว
การแต่งกายด้วยเสื้อตือโละบลางอ อาจมีผ้าคลุมใหญ่ที่เรียกว่า ตีรแบ
หรือซือแบ (ภาษามลายูเรียกตีรบัน ) ชุดนี้เป็นที่นิยมสำหรับโต๊ะครู ซึ่งเป็นเจ้าของสถานที่ศึกษาศาสนาอิสลาม
และอุตตะห์ หรือครูสอนศาสนา
โต๊ะครูบางคนนิยมสวมเสื้อนอกแบบสากลทับเสื้อตือโละบลางออีกชั้นหนึ่ง ส่วนบางคนสวมเสื้อสีขาวคล้ายเสื้อตือโละบลางอ
แต่ตัวยาวกรอมเท้า และทับด้วยเสื้อนอกก็มี
ปัจจุบันเสื้อตือโละบลางอบางแบบอาจใช้สวมกับกางเกงขายาวแบบสากล แต่ยังคงสวมหมวกซอเก๊าะ
ที่ทำด้วยผ้ากำมะหยี่สีต่าง ๆ (คล้ายหมวกของชนบางกลุ่ม ในปากีสถาน และชาวตะวันออกกลางบางประเทศเช่นตุรกี)
สีที่เป็นที่นิยมกันมากคือ สีดำ หรืออาจสวมหมวกขาว ที่เรียกว่า กูปีเยาะ
เป็นหมวกทรงกลมทำด้วยผ้าปักดกิ้นแวววาว หรือปักด้วยด้ายธรรมดาหรือถักด้วยโครเชด์
ทั้งใบก็มี
ในวันนักขัตฤกษ์ หรือวันสำคัญทางศาสนาอิสลาม เช่นวันตรุษ ชายอิสลามในท้องถิ่นนี้อาจจะแต่งกายอีกแบบหนึ่งที่เรียกว่า สีลแน (ภาษามลายูกลางเรียกว่า เซอรเลนดัง ) ลักษณะเหมือนชุดประจำชาติมาเลเซีย เรียกว่า ชุดเกอบังซาอัน ใช้ในพิธีต่าง ๆ ที่เป็นทางการ ประกอบด้วยเสื้อตือโละบลางอ นุ่งกับกางเกงแบบจีน มีผ้าซอแก๊ะขนาดสั้นกว่า ใช้เป็นผ้านุ่งของผู้หญิง นุ่งทับกางเกงให้ยาวเหนือเข่าอาจเหน็บกริชที่เอว และสวมสตาแงก็ได้
ในวันแต่งงานของชาวไทยอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คู่บ่าวสาวที่มีฐานะนิยมใช้ผ้าสีแวววาว หรือผ้าซอแก๊ะ บ่าวสาวมักใช้ผ้าชนิดเดียวกันทั้งชุด เจ้าสาวนิยมเสื้อบานง หรือแบบประยุกต์อื่น ๆ ยาวคลุมสะโพก นุ่งผ้าถุงแบบธรรมดา หรือถุงสำเร็จหรือกระโปรงยาวกรอมเท้า ประดับดก้วยเครื่องประดับหลายชิ้น มักเกล้ามวยเพื่อให้รับกับดอกไม้ที่ปักเรียงรายเป็นแถวดูสวยงาม เจ้าบ่าวแต่งด้วยชุดสีลแน ใช้ผ้าชนิดเดียวกันทั้งชุดตั้งแต่ตัวเสื้อกางเกง ผ้าทับกางเกงและสตาแง มักมีกริชเหน็บไว้ด้วย
ปัจจุบันมีโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสามที่เรียกว่า โรงเรียนปอเนาะ
เกิดขึ้นทั่วไปในถิ่นนี้ทางโรงเรียนได้กำหนดชุดนักเรียนขึ้น โดยให้นักเรียนชายจะสวมเสื้อเชิร์ตสีขาว
กางเกงขายาวสีดำ หรือสีกกรมท่า สวมซอเกาะหรือกูปิเยาะ ส่วนนักเรียนหญิงจะแต่งกายด้วยชุดดะวะห์
ประกอบด้วยเสื้อกุรงสีขาว
ผ้าถุงสีพื้นจะเป็นสีอะไรก็ได้ อาจเป็นผ้าถุงสำเร็จหรือกระโปรงปลายบานยาวกรอมเท้า
มีผ้าคลุมศีรษะประกอบด้วยผ้าสีดำสำหรับปิดผม แล้วคลุมทับด้วยผ้าขาวหรือดำยาวคลุมไหล่อีกชิ้นหนึ่ง
การแต่งกายชาวไทยอิสลามโดยทั่ว ๆ ไป ในปัจจุบันได้ประยุกต์ การแต่งกายแบบพื้นเมืองและแบบสากลเข้าด้วยกัน
ตามชนบทชายไทยอิสลามมักจะแต่งกายแบบง่าย ๆ เรียบ ๆ ซึ่งจะพบเห็นอยู่ทั่วไป
คือนุ่งผ้าปาลิกัต แบบหยักรั้งตลบชายทั้งสองข้างเข้าด้วยกัน ม้วนชายพกไว้ด้านหน้า
สวมเสื้อเชริ์ต หรือเสื้อยืดหรือไม่สวมเสื้อ นิยมใช้ผ้าขาวม้าหรือผ้าคลุมศีรษะของผู้หญิงพับเป็นแถว
กว้างประมาณ ๔ นิ้ว พันศีรษะคาดไว้ที่หน้าผาก แล้วโพกโอบรอบไปทางท้ายทอยและพับเหน็บไว้
หรืออาจจะใช้ผ้าดังกล่าวคาดเอวไว้ ถ้าเป็นชาวบ้านไปทำไรทำสวนก็มักจะเหน็บพร้าไว้ที่สะเอวด้านหลัง
ส่วนหญิงชาวบ้านยังนุ่งผ้าปาเต๊ะ เสื้อบานงหรือบายอ หรือกุรง
หรือเสื้อประเภทท่อนที่ตัดเย็บแบบสากลหรือเสื้อยืด
ถ้าอยู่กับบ้านมักไม่ใช้ผ้าคลุมศีรษะ เมื่อออกจากบ้านบางครั้งจะคลุมศีรษะ
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับฐานะ วัย และการศึกษา
ในห้วงระยะเวลาไม่นานมานี้ชาวไทยอิสลามได้เดินทางไปต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในตะวันออกลางเพื่อประกอบพิธีฮัจย์
หรือศึกษาหรือทำงานเป็นจำนวนมากขึ้น ทำให้ลักษณะการแต่งกายของชาวไทบอิสลาม
ได้รับอิทธิพลจากประเทศดังกล่าวมากขึ้นตามลำดับ ประกอบกับการเผยแพร่ศาสนาของ
กลุ่มดะวะห์ ทำให้เกิดการแต่งกายเลียนแบบผู้นำดะวะห์
อีกแบบหนึ่งด้วย
การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม ควรคำนึงถึงความเหมาะสมทั้งทางด้านกายภาพ
และประเพณีอันดีงาม ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชาวไทยอิสลาม ในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ที่ได้สืบทอดกันมาแต่โบราณ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเรียบง่าย ไม่ฟุ่มเฟือย
สะอาด และประหยัด ไม่ควรไปตามประเทศอื่น ที่มีสิ่งแวดล้อมไม่เหมือนกัน
| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |