| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

พัฒนาการทางประวัติศาสตร์

การตั้งถิ่นฐาน

            ดินแดนเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ นับว่าเป็นดินแดนสวรรค์ของนักมนุษย์วิทยา ในป่าเขาของดินแดนแถบนี้ยังคงมีเผ่าพันธุ์มนุษย์มากมายหลายเผ่า ซึ่งสืบพันธุ์มาจากมนุษย์เผ่าต่าง ๆ ในสมัยต้นประวัติศาสตร์ของมนุษย์ชาติ เช่น พวกเผ่านิกริโตและยังมีเผ่าอื่น ๆ ที่คล้ายบจะเป็นเผ่าอินโดนีเซีย ได้มีการผสมกันมากระหว่างชนพื้นเมืองดั้งเดิม กับชนชาติที่อพยพเข้ามาภายหลัง
            จาการที่ดินแดนแห่งนี้ได้รับแรงกระตุ้นจากอิทธิพลอินเดีย ทำให้ศิลปกรรมและสถาปัตยกรรม มีการพัฒนาสูง ไม่ด้อยกว่าวัฒนธรรมในส่วนอื่น ๆ ของโลก
            บริเวณทางภาคใต้ของไทยที่เรียกว่า คาบสมุทรไทย ซึ่งได้เคยปรากฎแนวโน้มของการเป็นศูนย์กลางที่สำคัญจุดหนึ่ง ที่บรรดาเรือของพวกพ่อค้าได้มาจอดแวะพัก เพื่อขนถ่ายสินค้า เพราะที่ตั้งของภาคใต้ของประเทศไทย ตั้งอยู่เกือบกึ่งกลางของเส้นทางเดินเรือระหว่างจีนกับอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นการเดินทาง โดยเรียบไปตามแนวชายฝั่งทะเล หรือแล่นตัดผ่านอ่าวไทย และรวมไปถึงเส้นทางทางบกเพื่อข้ามคาบสมุทรด้วย และจากการที่บริเวณคาบสมุทรไทย ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง ไปจนถึงจังหวัดสตูล ปัตตานี นราธิวาสและยะลา เป็นบริเวณที่ราบลุ่มเหมาะแก่การตั้งหลักแหล่งชุมชนถาวรให้เป็นบ้านเมือง โดยอาศัยการเพาะปลูกพืชพันธุ์เป็นอาหารหลัก เมื่อมีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศทั้งทางด้านตะวันตก (อินเดีย) ตะวันออกกลางและตะวันออก (จีน) แล้วพัฒนาการเกิดเป็นรัฐ รับวัฒนธรรมภายนอกเข้ามาประสานปรุงแต่งให้เป็นของตนเอง ดังจะเห็นได้จากรูปแบบทางศิลปกรรมของบรรดาโบราณวัตถุ โบราณสถานที่ได้พบซึ่งค่อย ๆ คลี่คลายจากการเลียนแบบมาเป็นลักษณะเฉพาะของท้องถิ่นที่เป็นของตนเอง ทำให้ความแตกต่างของกลุ่มชนในคาบสมุทรไทย กับคาบสมุทรมลายู คือการแพร่หลายของศาสนาอิสลาม โดยศาสนาอิสลามได้แพร่เข้ามาในเขตสี่จังหวัดภาคใต้คือ สตูล ปัตตานี นราธิวาส และยะลา
            คาบสมุทรภาคใต้ของประเทศไทย นับว่าเป็นแหล่งวัฒนธรรมที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ จากการสำรวจได้พบโบราณสถาน โบราณวัตถุต่าง ๆ ที่แสดงร่อยรอยการอยู่อาศัยของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ร่องรอยดังกล่าวกระจายอยู่ทั่วไปทางฝั่งทะเลตะวันออก ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงมาถึงจังหวัดยะลา
            จังหวัดยะลา เป็นดินแดนที่มีความสำคัญทางด้านโบราณคดีแห่งหนึ่ง จากตำนานพื้นเมืองปัตตานีเล่าสืบต่อกันมาว่า เมืองปัตตานีโบราณนั้นมีการโยกย้ายถึงสี่ครั้ง ครั้งแรกเมืองนี้ได้เริ่มก่อตัวขึ้นที่บ้านปาโย หรือบ้านบาโย ซึ่งปัจจุบันได้แก่บริเวณท้องที่ตำบลหน้าถ้ำ ตำบลท่าสาป อำเภอเมืองยะลา บนฝั่งแม่น้ำปัตตานี แม่น้ำปัตตานีตอนที่อยู่ในเขตจังหวัดยะลาก็เรียกกันว่าแม่น้ำยะลาก็มี แม่น้ำท่าสาปก็มี ในเขตนี้พบซากโบราณสถาน และศิลปะโบราณวัตถุจำนวนมาก มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๕ - ๑๗ เป็นส่วนใหญ่
            ตามชายฝั่งแม่น้ำปัตตานีมีร่องรอยว่าเคยมีชุมชนโบราณตั้งเรียงรายกันอยู่หลายแห่ง เฉพาะที่เป็นแหล่งใหญ่แสดงให้เห็นว่าเคยเป็นเมืองมาก่อนนั้น มีอยู่สองแห่งคือบริเวณบ้านเนียง - สนามบิน - วัดคูหาภิมุข และเขากำปั่นในเขตจังหวัดยะลา แห่งหนึ่ง และบริเวณอำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานีอีกแห่งหนึ่ง สำหรับบริเวณบ้านเนียง - วัดคูหาภิมุข นั้นได้พบภาพเขียนก่อนประวัติศาสตร์ ภายในถ้ำในเขตวัดคูหาภิมุข และได้พบเศษชิ้นของวัตถุในบริเวณบ้านสนามบิน แสดงว่าบริเวณดังกล่าวเป็นเมืองขนาดใหญ่มาตั้งแต่สมัยศรีวิชัย (พุทธศตวรรษที่ ๑๓ - ๑๘)

            บริเวณบ้านสนามบิน เดิมเรียกว่า ทุ่งกาโล เป็นป่าละเมาะ  เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๗๒ ชาวบ้านได้ถางป่าและขุดหลุมพบพระพุทธรูป ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๐๐ ทางราชการได้ขุดไถทุ่งกาโล เพื่อปรับพื้นที่สร้างสนามบิน มีผู้พบพระอวโลกิเตศวรสี่กรเนื้อสำริด และพบพระพุทธรูปอีกหลายองค์ รวมทั้งซากอิฐกำแพงเมือง
            บริเวณเขาในเขตตำบลหน้าถ้ำ มีภูเขาวัดถ้ำและภูเขากำปั่น เป็นภูเขาหินปูน มีถ้ำใหญ่น้อยอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะภูเขาวัดถ้ำมีถ้ำสำคัญคือ ถ้ำแจ้ง หรือถ้ำพระนอน มีโบราณวัตถุอยู่เป็นจำนวนมาก รวมทั้งพระพุทธไสยาสน์ และถ้ำศิลป ซึ่งมีจิตรกรรมฝาผนังสมัยศรีวิชัย  พระพุทธไสยาสน์ และจิตรกรรมฝาผนังดังกล่าว กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน และโบราณวัตถุ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๘

            พระพุทธไสยาสน์  ชาวบ้านเรียกว่า พ่อท่านบรรทม องค์พระวัดจากพระเกศถึงพระบาทยาว ๘๑ ฟุต พระบาทซ้อนกัน สูง ๑๐ ฟุต รอบองค์พระประมาณ ๓๕ ฟุต พระพุทธไสยาสน์องค์นี้ต่างกับองค์อื่นอยู่บ้างก็คือ มีพญานาคทอดตัวอยู่เหนือองค์พระ และแผ่พังพานปกอยู่เหนือเศียร พระกรขวาทอดข้อศอกออกไปข้างหน้า ตามแบบอินเดีย ส่วนองค์อื่น ๆ ที่พบเห็นโดยทั่วไปมักจะทำหักข้อศอกตั้งฉากและพระหัตถ์จะยันรับพระเศียรไว้

            พระพิมพ์ดินดิบ  ที่พบในเขตจังหวัดยะลา แบ่งออกเป็นสองแบบใหญ่ ๆ คือแบบแรกเป็นพระพิมพ์ขนาดใหญ่ มีรูปแบบมาทางศิลปะแบบทวาราวดีทางภาคกลาง เช่น พระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาท พระพุทธรูปยืน และพระพุทธรูปนั่งขนาบด้วยพระสถูปทั้งสองด้าน
            อีกแบบหนึ่งเป็นพระพิมพ์ขนาดเล็ก ส่วนใหญ่เป็นรูปพระโพธิสัตว์ลักษณะศิลปะแบบศรีวิชัย คล้ายคลึงกับพระพิมพ์ที่พบในเขตประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย  พระพิมพ์บางองค์ที่ด้านหลังมีจารึกด้วยอักษรปัลลวะเป็นภาษาสันสกฤตข้อความ เย ธมฺมา  พระพิมพ์แบบนี้เป็นสัตตลักษณะอย่างหนึ่งของอาณาจักรศรีวิชัย

            พระพุทธรูป  พระพุทธรูปสำคัญที่ได้จากถ้ำพระนอนได้แก่พระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย สูง ๒๗ เซนติเมตร และพระพุทธรูปยืนในท่าตริภังค์ ครองจีวรห่มเฉียงเปิดพระอังสาขวา เบื้องล่างมีขอบจีวรหนาวกขึ้นมาพาดข้อพระหัตถ์ซ้ายที่ทรงถือชายจีวรไว้ แล้วทิ้งให้ตกลงเบื้องล่าง พระหัตถ์ขวาหักหายไป ลักษณะดังกล่าวนี้เป็นเอกลักษณ์ของพระพุทธรูปประทับยืนแบบอินเดียใต้ องค์พระสูง ๓๐ เซนติเมตร มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๕
            นอกจากนี้ได้พบพระพุทธรูปที่ถ้ำคนโท เป็นพระพุทธรูปสลักในแผ่นหินมีอยู่สามองค์ สลักเป็นรูปนูนต่ำ ปางสมาธิ พระพุทธรูปสำริด ที่พบในถ้ำนี้มีอยู่เป็นจำนวนมาก
            สถูป  มีทั้งขนาดใหญ่เป็นอาคาร และขนาดเล็กที่สร้างเพื่อบรรจุอัฐิไว้ในองค์สถูป อย่างที่พบทั่วไปในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี และชุมชนโบราณเมืองยะรัง กับสถูปดินดิบขนาดเล็กสูงประมาณ ๕ - ๑๐ เซนติเมตร
            สถูปที่พบในถ้ำต่าง ๆ ที่ภูเขาวัดถ้ำและภูเขากำปั่น มีสองประเภทคือสถูปสำริดและสถูปดินดิบ
ยะลาสมัยสุโขทัย - สมัยอยุธยา - สมัยธนบุรี
            ดินแดนอันเป็นที่ตั้งของเมืองยะลา แต่เดิมเป็นท้องที่บริเวณหนึ่งของเมืองปัตตานี ซึ่งมีฐานะเป็นเมืองประเทศราชของไทยมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย
            ในสมัยพระบรมราชาธิราช (พ.ศ.๑๙๑๓-๑๙๓๑ พระองค์ได้ธิดาของมุขมนตรีแห่งปัตตานีคนหนึ่งเป็นสนม ในฐานะที่เป็นเมืองประเทศราช ปัตตานีมีหน้าที่ต้องส่งเครื่องราชบรรณาการเข้ามาถวายทุกกสามปี ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ (พ.ศ.๒๑๙๙ - ๒๒๓๑)  ลาลูแบร์ อัครราชทูตฝรั่งเศส ซึ่งมาที่กรุงศรีอยุธยา ยืนยันว่าปัตตานีต้องส่งต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง อย่างละต้นเข้ามาถวายพระมหากษัตริย์ไทยทุกสามปี
            ปัตตานีเป็นเมืองประเทศราชของไทยตลอดมา จนกระทั่งกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า เมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๐ จึงตั้งตนเป็นอิสระ
            ในสมัยธนบุรี (พ.ศ.๒๓๑๐ - ๒๓๒๕)  เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานีแล้ว ได้เสด็จยกทัพหลวงลงไปปราบหัวเมืองปักษ์ใต้ ที่ตั้งตัวเป็นอิสระคือ เมืองนครศรีธรรมราชเมืองไทรบุรี และเมืองปัตตานี ตีได้ถึงเมืองนครศ่รีธรรมราช แต่เมืองไทรบุรีและเมืองปัตตานียังตั้งตัวเป็นอิสระอยู่
ยะลาสมัยรัตนโกสินทร์
            หลังจากไทยได้ปราบศึกเก้าทัพทางหัวเมืองปักษ์ใต้ได้เรียบร้อยในปี พ.ศ.๒๓๒๘ แล้ว สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ทรงมีพระราชดำริว่า หัวเมืองมลายู ซึ่งรวมทั้งเมืองปัตตานี ไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู เคยเป็นเมืองประเทศราชของไทย จึงโปรดให้มีหนังสือรับสั่งฟถึงบรรดาเจ้าเมืองมลายูเหล่านั้น บรรดาเจ้าเมืองมลายูอื่น ๆ ต่างเข้าอ่อนน้อมยอมเป็นเมืองประเทศราชดังเดิมแต่โดยดี ยกเว้นเจ้าเมืองปัตตานีไม่ยอมเข้าอ่อนน้อม พระองค์จึงมีรับสั่งให้กองทัพเข้าตีเมืองปัตตานี เมื่อตีได้แล้วก็ทรงแต่งตั้งชาวมลายู ผู้สวามิภักดิ์ต่อไทยคนหนึ่ง ให้เป็นเจ้าเมืองปัตตานี แต่ปรากฎว่าในปี พ.ศ.๒๓๓๔ เจ้าเมืองปัตตานีได้คบคิดกับโต๊ะสาหยัด ซึ่งอ้างตนเป็นผู้วิเศษกับพวกสลัดมลายู รวมกำลังกันเข้าโจมตีเมืองสงขลา จนพระยาสงขลา (บุญหุ้ย) และกรมการเมืองต้องหนีไปตั้งหลักที่เมืองพัทลุง และขอกำลังสนับสนุนจากเมืองนครศรีธรรมราชและทัพหลวงลงไปปราบปราม
            หลังจากนั้นสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้ปรับปรุงการปกครองหัวเมืองปัตตานีให้แยกออกเป็นเจ็ดหัวเมือง คือ เมืองปัตตานี  เมืองหนองจิก  เมืองยะลา  เมืองรามัน  เมืองยะหริ่ง  เมืองสายบุรี และเมืองระแงะ โดยให้เมืองสงขลาคอยควบคุมดูแลหัวเมืองทั้งเจ็ด และยกฐานะเมืองสงขลา ขึ้นตรงต่อกรุงเทพ ฯ
            ในรัชสมัยพระบามสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้เกิดเหตุการณ์วุ่นวายในเมืองไทรบุรี โดยในปี พ.ศ.๒๓๗๔ ตนกูเคน หลานชายเจ้าพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) ได้รวบรวมกำลังชาวมลายูเข้าตีเมืองไทรบุรีซึ่งข้าราชการไทยปกครองอยู่ และตีได้สำเร็จ พระยาไทรบุรีและฝ่ายไทยถอยลงมาตั้งมั่นอยู่ที่เมืองพัทลุง ฝ่ายไทยได้ส่งกองทัพมาปราบ โดยขั้นแรกเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ผุ้รับผิดชอบเมืองไทรบุรีได้ส่งพระสุรินทร ซึ่งเป็นข้าหลวงฝ่ายพระราชวังบวร อยู่ ณ เมืองนครศรีธรรมราช ให้ลงไปเกณฑ์กองทัพเมืองสงขลาและเมืองปัตตานี ซึ่งขึ้นอยู่กับเมืองสงขลา พระยาสงขลา (เซ่ง)  ให้พระสุรินทร์ออกไปเกณฑ์กำลังคน ในหัวเมืองปัตตานีเอาเอง ปรากฎว่าชาวมลายูในหัวเมืองทั้งเจ็ดขัดขืนและกลับเข้าร่วมมือกับพวกขบถ โดยก่อการขบถขึ้นทั้งเจ็ดหัวเมือง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้า ฯ ให้ยกทัพบกไปปราบถึงเจ็ดทัพและทัพเรือสองทัพ กองทัพไทยสมทบกันปราบปรามพวกเจ็ดหัวเมืองได้เรียบร้อย ได้ตัวผู้ว่าราชการเมืองที่ไปเข้ากับพวกขบถเกือบหมด
            หลังปราบขบถปัตตานีในปี พ.ศ.๒๓๗๕ แล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ ทรงดำเนินพระบรมราโชบายเข้าควบคุมเมืองปัตตานีมากยิ่งขึ้น โดยโปรดเกล้า ฯ ให้เปลี่ยนตัวเจ้าเมืองที่ไม่ยอมสวามิภักดิ์ทั้งหมด และแต่งตั้งคนไทยหรือคนมลายูที่ภักดีต่อไทยเป็นเจ้าเมืองแทน ดังปรากฎว่าเจ้าเมืองหนองจิก คนเดิมซึ่งเสียชีวิตในการรบก็ได้ตั้งเจ้าเมืองใหม่เป็นคนไทย และเจ้าเมืองยะลาคนเดิมที่ถูกจับตัวได้ก็ได้ตั้งเจ้าเมืองยะลาคนใหม่เป็นคนไทย ส่วนเมืองรามัน เมืองระแงะ และเมืองสายบุรี เจ้าเมืองเดิมยอมมอบตัวต่อกองทัพไทยแต่โดยดี จึงได้รับพระราชทานอภัยโทษและโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นเจ้าเมืองต่อไป สำหรับเจ้าเมืองปัตตานีคนเดิม ที่หนีไปกลันตันนั้น ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ชาวมลายูผู้ภักดีต่อไทยเป็นเจ้าเมืองคนใหม่ และเจ้าเมืองยะหริ่งซึ่งเป็นคนไทยไม่ได้เข้าร่วมกับขบถจึงยังคงเป็นเจ้าเมืองยะหริ่งต่อไป
            ความสัมพันธ์ระหว่างปัตตานีกับไทยหลัง ปี พ.ศ.๒๓๗๕ มีความกระชับและรัดกุมกว่าเดิม เพราะรัฐบาลได้ให้อำนาจในการควบคุม และประสานงานระหว่างรัฐบาล และหัวเมืองเหล่านี้อย่างเต็มที่ ทำให้สามารถรักษาความสงบในเจ็ดหัวเมืองได้ เพราะแม้จะมีเหตุการณ์วุ่นวายขึ้นที่ไทรบุรีอีกใน ปี พ.ศ.๒๓๘๑ พวกขบถได้มาชักกชวนให้เข้าร่วมด้วย แต่ราษฎรส่วนใหญ่ในเจ็ดหัวเมืองก็มิได้เข้าร่วมด้วย และกลับมีบางเมือง เช่น เมืองปัตตานี เมืองยะหริ่ง และเมืองสายบุรี ได้ส่งกำลังเข้าร่วมในการปราบปรามขบถในครั้งนั้นด้วย
            ในรัชสมัยพระบามสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ.๒๓๙๔ - ๒๔๑๑) หัวเมืองทั้งเจ็ดต่างยอมอยู่ใต้อำนาจของไทยในฐานะเมืองประเทศราช ลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับปัตตานีมีความกระชับกันยิ่งขึ้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จไปถึงปัตตานีเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๖ นับเป็นพระมหากษัตริย์องค์แรกที่เสด็จประพาสดินแดนส่วนนี้
            รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้มีการปรับปรุงการปกครองส่วนภูมิภาคโดยดำเนินการปกครองแบบเทศาภิบาล สำหรับบริเวณเจ็ดหัวเมือง ก็ได้ปกระกาศข้อบังคับสำหรับการปกครองบริเวณเจ็ดหัวเมือง ร.ศ.๑๒๐ กำหนดให้บริเวณเจ็ดหัวเมือง มีพระยาเมืองเป็นผู้รักษาราชการเมือง แต่ละเมืองต่างมีหน่วยบริหารราชการเมืองของตนเอง แต่จะมีข้าหลวงใหญ่ประจำบริเวณเป็นผู้ควบคุมการดำเนินงานทั่วไป โดยอยู่ภายใต้การดูแลของ ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช ในปี พ.ศ.๒๔๔๔ พระยาศักดิ์เสนี (หนา บุนนาค) ซึ่งเป็นข้าหลวงใหญ่ประจำบริเวณ ได้แบ่งแต่ละเมืองเป็นอำเภอต่าง ๆ คือ
                - เมืองปัตตานี  แบ่งเป็นสองอำเภอคือ อำเภอกลางเมือง กับอำเภอยะรัง
                - เมืองรามัน  แบ่งเป็นสองอำเภอคือ อำเภอกลางเมือง กับอำเภอเบตง
                - เมืองหนองจิก  แบ่งเป็นสองอำเภอคือ อำเภอกลางเมือง กับอำเภอเมืองเก่า
                - เมืองสายบุรี  แบ่งเป็นสามอำเภอคือ อำเภอกลางเมือง กับอำเภอยี่ง และอำเภอบางนรา
                - เมืองระแงะ  แบ่งเป็นสามอำเภอคือ อำเภอกลางเมือง กับอำเภอโต๊ะโมะ และอำเภอกสุไหงปาดี
                - เมืองยะหริ่ง  แบ่งเป็นสามอำเภอคือ อำเภอกกกลางเมือง กับอำเภอยะหา และอำเภอระเกาะ
                - เมืองยะลา  แบ่งออกเป็นสามอำเภอคือ อำเภอกลางเมือง อำเภอยะหา และอำเภอกะลาพอ
            (ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๕๐ ได้แบ่งเมืองยะลา ออกเป็นสองอำเภอคือ อำเภอเมืองและอำเภอยะหา)
            ในปี พ.ศ.๒๔๔๗ ได้ประกาศตั้งหัวเมืองทั้งเจ็ดเป็นมณฑลปัตตานี โดยยุบเมืองเล็ก ๆ ลงเหลือสี่เมืองคือ รวมเมืองหนองจิก เมืองยะหริ่ง และเมืองปัตตานี เป็นเมืองปัตตานี  รวมเมืองรามันและเมืองยะลา เป็นเมืองยะลา เมืองสายบุรียังคงเป็นเมืองสายบุรี (ภายหลังยุบเป็นตำบลตะลุบัน อำเภอสายบุรี)  ส่วนเมืองระแงะยังคงเป็นเมืองระแงะ (ภายหลังรวมตั้งเป็นจังหวัดนราธิวาส)  โดยมีพระยาศักดิ์เสนี เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลปัตตานี
            สมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง  ในปลายปี พ.ศ.๒๔๗๕ ได้ประกาศยุบเลิกมณฑลปัตตานี เพราะการคมนาคมสะดวกขึ้น การดูแลปกครองบังคับบัญชา ทำได้รัดกุมยิ่งขึ้น และเพื่อประหยัดรายจ่ายเงินแผ่นดิน ต่อมาได้มีการปรับปรุงการปกครองหัวเมือง ตามพระราชบัญญัติระเบียบการบริหารราชอาณาจักรสยาม พ.ศ.๒๔๗๖ จัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาคออกเป็นจังหวัดและอำเภอ
            สำหรับเมืองยะลา เมื่อได้แยกออกจากเมืองปัตตานีแล้วก็มีฐานะเป็นเมือง ๆ หนึ่งมีเจ้าเมืองปกครองอยู่ในความดูแลของเมืองสงขลา ส่วนเจ้าเมืองยะลานั้นในปี พ.ศ.๒๔๖๐ มีต่วนยะลา เป็นพระยายะลา ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลบ้านยะลา เจ้าเมืองคนต่อมาคือ ต่วนบางกอก ซึ่งเป็นบุตรพระยายะลา เป็นเจ้าเมือง ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๓๖๐
            ในปี พ.ศ.๒๓๗๔ พระยายะลา (ต่วนบางกอก) ร่วมกับพระยาปัตตานี (ต่วนสุหลง)  พระยาหนองจิก (ต่วนกะจิ) และพระยา ระแงะ (หนิเดะ) ได้ยกกองทัพเข้าตีเมืองยะหริ่ง เมืองเทพา เมืองจะนะและเมืองสงขลา ทางราชการไทยจับตัวเจ้าเมืองยะลาและเจ้าเมืองอื่น ๆ ได้ และได้ตั้งเจ้าเมืองยะลาคนใหม่ โดยพระยาสงขลาได้ให้หลวงสวัสดิภักดี (ยิ้มซ้าย) ซึ่งเป็นผู้ช่วยราชการเมืองยะหริ่ง ไปรักษาราชการเมืองยะลา หลวงสวัสดิภักดีได้ไปตั้งบ้านเรือนที่บ้านวังตระ แขวงเมืองยะลา
            เมื่อหลวงสวัสดิภักดี (ยิ้มซ้าย) ได้ไปเป็นเจ้าเมืองยะหริ่ง พระยาสงขลาก็ได้นำตัวนายเมืองซึ่งเป็นบุตรพระยายะหริ่ง (พ่าย) เข้ากรุงเทพ ฯ เพื่อกราบบังคมทูลให้เป็นเจ้าเมืองยะลา เป็นพระยายะลาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นที่พระยาณรงค์ฤทธิ์ศรีประเทศวิเศษวังษา (เมือง) เป็นเจ้าเมืองยะลา เมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๐ ได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลท่าสาป ริมแม่น้ำ
            พระยาณรงค์ฤทธิ์ ฯ (เมือง) ว่าราชการอยู่ระยะหนึ่งปรากฏว่าปฏิบัติราชการไม่ได้ผลดี พระยาสงขลาจึงถอดเสียจากราชการ แล้วตั้งให้ตวันบาตูปุเต้ เป็นผู้รักษาราชการเมืองยะลา ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๓๙๔ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อตวันบาตูปุเต้ถึงแก่กรรม ตวันกะจิ ผู้เป็นบุตรได้เป็นผู้ว่าราชการเมืองยะลาต่อมา

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |