| ย้อนกลับ |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

มรดกของพระพุทธศาสนา

พระพุทธไสยาสน์

            พระพุทธไสยาสน์  ชาวบ้านเรียกว่า พ่อท่านบรรทม องค์พระวัดจากพระเกศถึงพระบาทยาว ๘๑ ฟุต พระบาทซ้อนกัน สูง ๑๐ ฟุต รอบองค์พระประมาณ ๓๕ ฟุต พระพุทธไสยาสน์องค์นี้ต่างกับองค์อื่นอยู่บ้างก็คือ มีพญานาคทอดตัวอยู่เหนือองค์พระ และแผ่พังพานปกอยู่เหนือเศียร พระกรขวาทอดข้อศอกออกไปข้างหน้า ตามแบบอินเดีย ส่วนองค์อื่น ๆ ที่พบเห็นโดยทั่วไปมักจะทำหักข้อศอกตั้งฉากและพระหัตถ์จะยันรับพระเศียรไว้
            พระพุทธไสยาสน์องค์ที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน เป็นองค์ที่ได้มีการบูรณะทับองค์เดิมไว้ ปูนโบกทับภายนอกปิดบังส่วนที่เป็นลวดลายต่าง ๆ  องค์เดิมปั้นขึ้นด้วยดินดิบ โครงไม้ไผ่ขัดสานเป็นตะแกรง ภายในองค์พระกลวง เดินได้ตลอด  เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๖๕ พระพุทธไสยาสน์ถูกน้ำจากเพดานถ้ำ หยดลงถูกพระอุระเบื้องหน้า จนทะลุเป็นรูลึก จึงได้มีการเอาเหล็กมาผูกประสานไว้แล้วเอาปูนโบกทับภายนอก ส่วนข้างในคือ องค์พระเดิมที่เป็นดินเหนียว ปั้นเป็นรูปลวดลายสังวาลย์ต่าง ๆ นั้นให้เก็บบรรจุไว้ภายในองค์พระ
พระพิมพ์ดินดิบ

            พระพิมพ์ดินดิบ  นิยมสร้างในพุทธศาสนาฝ่ายมหายานในสมัยโบราณโดยเฉพาะสมัยศรีวิชัย สร้างขึ้นเพื่อเป็นสิ่งเคารพบูชาแทนองค์พระศาสดา  บ้างก็เชื่อว่าสร้างขึ้นเมื่อพระผู้ใหญ่มรณภาพลง เมื่อเผาแล้วก็เอาอัฐิธาตุโขลกผสมดินทำเป็นพระพิมพ์เพื่อบูชา
            พระพิมพ์ดินดิบที่พบในบริเวณนี้ส่วนใหญ่พบในถ้ำต่าง ๆ ที่ภูเขากำปั่นและภูเขาวัดถ้ำ แต่เดิมชาวบ้านบริเวณนี้รู้จักพระพิมพ์ในชื่อของ พระผีทำและถ้ำผีทำ อันนี้มีที่มาจากตำนานที่เล่าสืบต่อกันมา จนถึงปี พ.ศ.๒๕๐๐ มีชาวบ้านไปพบพระพุทธรูปสำริดเก้าองค์ในถ้ำคนโท ซึ่งเป็นถ้ำใหญ่ และสวยงามที่สุดในภูเขากำปั่น พระพุทธรูปดังกล่าวเป็นพระพุทธรูปแบบสุโขทัยและแบบอยุธยา มีบางองค์เชื่อว่าเป็นแบบศรีวิชัย เมื่อขุดลงไปในพื้นถ้ำก็พบพระพิมพ์ดินดิบวางซ้อนกันอยู่เป็นชั้น ๆ เป็นแนวตั้งบ้าง เป็นแนวนอนบ้างทุกองค์มีลักษณะเปียกชื้นติดกันไปหมด ต้องนำออกมาผึ่งแดดผึ่งลมจนแห้งจึงแกะออกจากกันได้ ได้พระพุทธรูปมามากกว่าหมื่นองค์
            พระพิมพ์ที่พบจากถ้ำต่าง ๆ มีเนื้อดินและสีไม่เหมือนกัน เช่น พระพิมพ์จากถ้ำคนโทมักมีเนื้อดินสีน้ำตาลแดงหรือสีมันปู จากถ้ำวัว เนื้อดินมักเป็นสีขาว และจากถ้ำศิลป เนื้อดินมักมีสีชมพูอ่อน
            พระพิมพ์ที่พบในครั้งนั้นมีลักษณะเดียวกันกับที่พบตามถ้ำต่าง ๆ ในชุมชนโบราณ ตั้งแต่ไชยาลงไปจนถึงเกาะสุมาตราและเกาะชวา อันเป็นดินแดนที่เชื่อว่า เป็นอาณาจักรศรีวิชัยเมื่อประมาณ พุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๘ พระพิมพ์ที่พบที่ภูเขาทั้งสองลูกมีอยู่สองแบบใหญ่ ๆ ด้วยกัน แบบแรกทำเป็นรูปโพธิ์สัตว์ ส่วนแบบที่สองมักทำเป็นรูปพระพุทธเจ้ามีทั้งประทับนั่งและประทับยืน ที่ประทับยืนมักจะทำพระหัตถ์แสดงธรรม มีพระโพธิ์สัตว์องค์ต่าง ๆ ยืนขนาบซ้ายขวา เบื้องบนมีเทพชุมนุม เบื้องล่างมีพญานาคชูดอกบัวรองพระบาทเป็นปัทมาสน์ ถ้าเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งมักทำเป็นรูปปางประทานพรอยใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ มีพญานาคชูดอกบัวเป็นปัทมาสน์และมีสถูปขนาบซ้ายขวา
            พระพิมพ์ดินดิบเหล่านี้ที่ด้านหลังมีจารึกด้วยอักษรปัลลวะเป็นภาษาสันสกฤต ด้วยข้อความ เย ธมมา ซึ่งเป็นคาถามาจากบทเต็มว่า
            เย ธมมา  เหตุปปราวา    เตส  เหตุ  ตถาคโต  อาห
            เต สญจ โย  นิโรโธ      เอววาที  มหาสมโณ
            ธรรมทั้งหลายมีเหตุเป็นแดนเกิด พระตถาคตได้ตรัสถึงเหตุของธรรมเหล่านั้น
            เมื่อสิ้นเหตุของธรรมเหล่านั้นจึงดับทุกข์ได้ พระมหาสมณะมีวาทะตรัสสอนเช่นนี้
            พระพิมพ์ดินดิบและอักษร เย ธมมา เป็นสัญญลักษณ์อย่างหนึ่งของอาณาจักรศรีวิชัย ตามถ้ำต่าง ๆ ในภูเขาวัดถ้ำและภูเขากำปั่นยังขุดพบสถูปดินดิบขนาดเล็ก สถูปสำริด เม็ดพระศก อิฐฐานพระพุทธรูป พระพุทธรูปสลักหิน พระพุทธรูปสำริดสมัยต่าง ๆ และเครื่องถ้วยอีกจำนวนหนึ่งด้วย
เม็ดพระศก

            เม็ดพระศก และอิฐฐานพระพุทธรูป ที่ถ้ำศิลปมีผู้พบชิ้นส่วนของพระพุทธรูปกระจัดกระจายอยู่เกลื่อนกลาด ได้สูญหายไปหลายชิ้นที่เหลืออยู่ได้แก่เศษปูนปั้น เป็นเส้นขดกลม เป็นชั้น ๆ  มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๕ เซนติเมตร สูง ๓ - ๔ ชั้น ประมาณ ๔ เซนติเมตร สันนิษฐานว่า เป็นส่วนพระศกของพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ที่ถูกทำลายด้วยเหตุอะไรไม่อาจรู้ได้ นอกจากนี้ยังพบก้อนอิฐขนาดต่าง ๆ เป็นแท่งตรงบ้างโค้งบ้าง สันนิษฐานว่า อิฐเหล่านี้คือ อิฐที่ใช้ก่อขึ้นเป็นฐานของพระพุทธรูปองค์ดังกล่าวนั้น
พระพุทธรูป

            พระพุทธรูป  ที่ถ้ำพระนอนได้แก่พระพุทธรูปปางมารวิชัย สูง ๒๗ เซนติเมตร มีอายุอยู่ประมาณครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ ๑๔ พระวรกายค่อนข้างอวบ พระพักตร์กลม พระอุษณีษะนูนสูง ประทับขัดสมาธิเพชรอยู่บนปัทมาสน์ ซึ่งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม ลดหลั่นกันลงมา เบื้องหลังองค์พระมีปภาวลี ซึ่งมีขอบเป็นลายลูกประคำอยู่ภายในกรอบนอกที่มีเปลวไฟ กึ่งกลางของปภาวลีตอนบนเป็นฉัตรและธงทิว เป็นรูปแบบศิลปกรรมสัมพันธ์กับศิลปแบบปาละ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย
            พระพุทธรูปที่พบที่ถ้ำพระนอนอีกองค์หนึ่งเป็นพระพุทธรูปสำริด สูง ๓๐ เซนติเมตร ประทับยืนในท่าตริภังค์ พระวรกายสูงผอม บั้นพระคตคอด พระชงม์ยาว พระพักตร์กลม อุษณีษะรูปทรงกรวย ครองจีวรห่มเฉียงเปิดพระอังสาขวา เบื้องล่างมีขอบจีวรหนาวกขึ้นมาพาดข้อพระหัตถ์ซ้าย ที่ทรงถือชายจีวรไว้แล้วทิ้งให้ตกลงเบื้องล่าง พระหัตถ์ขวาหักหายไป พระพุทธรูปองค์นี้ แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลจากรูปแบบของพระพุทธรูปประทับยืนของอินเดียฝ่ายใต้ มีอายุอยู่ประมาณครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ ๑๕
            ในถ้ำมืดของภูเขาวัดถ้ำ พบรูปพระโพธิ์สัตว์ สำริด สูงประมาณหนึ่งศอก มีสองกร ประทับยืน บนฐานสี่เหลี่ยมลดหลั่นกันลงมา เบื้องหลังองค์พระมีประภาวลีอยู่ภายในกรอบ ส่วนบนปภาวลีเป็นฉัตรและธงทิว
            นอกจากนี้ยังมีเครื่องถ้วยขนาดเล็กจำพวกกระปุกและตลับเคลือบ กระปุกเป็นรูปทรงกลมเคลือบเขียวเซลาคอน ใต้ก้นไม่เคลือบ ส่วนตลับเป็นลายเฟืองรูปกลมแบน เคลือบเขียวเซลาคอน ก้นตลับไม่เคลือบ ลักษณะเช่นนี้ควรจะเป็นเครื่องถ้วยจีน ผลิตจากมณฑลซซีเกียง สมัยราชวงศ์หยวน ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๙ - ๒๐ และมีบางส่วนเป็นเครื่องลายคราม สมัยราชวงศ์หมิงปะปนอยู่บ้าง
สถูป

            สถูป  มีทั้งขนาดใหญ่เป็นอาคาร และขนาดเล็กที่สร้างเพื่อบรรจุอัฐิไว้ในองค์สถูป อย่างที่พบทั่วไปในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี และชุมชนโบราณเมืองยะรัง กับสถูปดินดิบขนาดเล็กสูงประมาณ ๕ - ๑๐ เซนติเมตร
            สถูปที่พบในถ้ำต่าง ๆ ที่ภูเขาวัดถ้ำและภูเขากำปั่น มีสองประเภทคือสถูปสำริดและสถูปดินดิบ
                - สถูปสำริด  พบที่ถ้ำพระนอนในภูเขาวัดถ้ำสูงประมาณ ๑๖ เซนติเมตร ฐานสี่เหลี่ยม มีบันไดขึ้นสี่ด้านแต่ละด้านมีสิงห์โตหมอบอยู่คู่หนึ่ง องค์สถูปตั้งอยู่บนฐานบัวคว่ำบัวหงาย ที่องค์สถูปแต่ละด้าน มีพระชยานิพุทธเจ้าประทับอยู่ เป็นการแสดงว่าพระสถูปนี้เป็นการจำลองจักรวาลในพระพุทธศาสนา สถูปองค์นี้มีอายุอยู่ประมาณครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ ๑๔
                - สถูปดินดิบ  เป็นสถูปขนาดเล็ก มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๕ - ๖ เซนติเมตร สูงประมาณ ๖ - ๙ เซนติเมตร ส่วนใหญ่พบปะปนอยู่กับพระพิมพ์ดินดิบ เนื้อดินมีลักษณะเดียวกับพระพิมพ์ในถ้ำนั้น ๆ องค์สถูปเป็นรูประฆังคว่ำอยู่บนฐานกลม ตรงขอบระฆังมีรูปสถูปองค์เล็ก ๆ ประดับอยู่โดยรอบ ยอดสถูปคงเป็นปล้องไฉน แต่ไม่พบสถูปองค์ใดที่สมบูรณ์เหลืออยู่ ใต้ฐานสถูปมีอักษร เย ธมมา จารึกไว้เช่นเดียวกันกับที่ปรากฎอยู่หลังพระพิมพ์ดินดิบในบริเวณนี้
ถ้ำศิลป

            ถ้ำศิลป  อยู่ในภูเขาวัดถ้ำ พบเมื่อประมาณ ปี พ.ศ.๒๔๖๗ ภายในถ้ำพบอิฐปูนอยู่เกลื่อนกลาด มีภาพเขียนพระพุทธรูประบายสีอยู่ตามผนังถ้ำ รูปยังชัดเจนก็มี ลบเลือนไปก็มี เป็นภาพพระพุทธรูปประทับนั่งเป็นแถว เบื้องซ้ายและเบื้องขวามีสาวกหรืออุบาสิก อุบาสิกา ใต้ลงมามีพระพุทธรูปปางลีลา และมีรูปผู้หญิงยืนเป็นหมู่สามคน
            ภาพเขียนที่ถ้ำศิลปแสดงให้เห็นถึงสกุลช่างท้องถิ่นซึ่งมีศิลปะศรีวิชัยแฝงอยู่  มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๕ วิธีเขียนภาพมีลักษณะพิเศษ โดยเฉพาะเห็นได้จากความกลมของภาพ อันเป็นอิทธิพลมาจากงานปฏิมากรรม ซึ่งเป็นลักษณะตรงข้ามกับจิตรกรรมไทยที่มีเพียงสองมิติ ภาพหมู่พระพุทธรูปซึ่งมีสาวกประนมมือถวายความเคารพอยู่ข้าง ๆ นั้น ทำให้เห็นแบบอย่างพระพุทธรูปจำหลักแบบศิลปะศรีวิชัย
            ภาพผู้หญิงยืนเป็นหมู่สามคน มีที่น่าสังเกตว่า ประการแรกงานจิตรกรรมไทยสมัยแรก หารูปผู้หญิงได้ยาก ส่วนภาพจำหลักที่บรมพุทโธ ที่เกาะชวานั้น มีรูปผู้หญิงปรากฎอยู่ทั่วไป  ประการที่สอง รูปผู้หญิงยืนเป็นหมู่มีวงรัศมีรอบศีรษะเป็นดอกบัวตูม อันเป็นแบบของไทย จึงอาจเป็นได้ว่า ได้มีการซ่อมแซมภาพเขียนนี้ในสมัยอยุธยา
            พระพุทธรูปปางลีลา คล้ายแบบสมัยสุโขทัย แต่ของจังหวัดยะลา อยู่ในท่วงท่าดูเป็นจริงตามธรรมชาติมากกว่าของสุโขทัย ท่าของการวางพระบาท ก็เป็นท่าของคนจริง ๆ อายุของภาพอาจอยู่ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๙ - ๒๐ อันเป็นห้วงเวลาที่พระพุทธศาสนาได้รับการฟื้นฟูขึ้นอีกวาระหนึ่ง เมื่อพระภิกษุจากลังกาเข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในนครศรีธรรมราช
วัดคูหาภิมุข

            วัดคูหาภิมุขหรือวัดถ้ำ เป็นวัดสำคัญและเก่าแก่วัดหนึ่งของจังหวัดยะลา มีพระพุทธไสยาสน์ขนาดใหญ่ซึ่งเป็นศิลปะสมัยศรีวิชัยอยู่ในบริเวณวัดแห่งนี้ อดยู่ในเขตตำบลหน้าถ้ำ อำเภอเมือง ฯ
            วัดคูหาภิมุขเริ่มสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๓๙๐ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้นายเมือง บุตรพระยายะหริ่ง อำเภอยะหริ่ง มณฑลปัจตตานีมาเป็นเจ้าเมืองยะลา ตั้งที่ว่าราชการอยู่ที่บ้านท่าสาป ตำบลท่าสาป อำเภอเมือง ฯ บริเวณนี้เป็นแหล่งอุดมสมบูรณ์มีน้ำท่าเหมาะแก่การทำนา จึงมีราษฎรจำนวนหนึ่งอพยพตามมาอยู่ด้วย มีนายคงทอง เพชรกล้า เป็นหัวหน้าชาวพุทธกลุ่มนี้ ได้พบพระพุทธไสยาสน์ในถ้ำ จึงได้ขออนุญาตเจ้าเมืองสร้างวัดขึ้นไว้ในหมู่บ้านสืบไป เมื่อได้รับอนุญาตจากเจ้าเมืองแล้วจึงได้ประชุมกันตกลงว่าจะสร้างวัดเชิงเขาหน้าพระพุทธไสยาสน์ ในพื้นที่กว้างประมาณ ๒๐ วา ยาว ๘๐ วา พื้นที่เป็นรูปชายธง
            ในปี พ.ศ.๒๔๔๙ พระพิพิธภักดี (เพิ่ม เดชะคุปต์)  เจ้าเมืองยะลาได้พิจารณาเห็นว่าบริเวณวัดเดิมคับแคบ สมควรย้ายไปจากที่เดิมที่ชายเขา ให้ไปอยู่ริมฝั่งสระด้านนอก ชาวบ้านได้ช่วยกันบริจาคที่ดินประมาณ ๒๐ ไร่ เพื่อขยายวัดให้กว้างออก แล้วสร้างอุโบสถ ศาลาการเปรียญ กุฎิ และเสนาสนะ เพิ้มเติม ต่อมาอุโบสถหลังเดิมทรุดโทรมมาก ทางวัดจึงได้เริ่มก่อสร้างอุโบสถหลังใหม่แบบจตุรมุข เป็นแบบของกรมศาสนาโดยให้มีรูปทรงคล้ายกับรูปแบบเดิม วางศิลาฤกษ์เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๙ และกราบบังคมทูลเชิญ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์ ทรงประกอบพิธียกช่อฟ้า เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๘
วัดสิริปุณณาราม

            วัดสิริปุณณาราม (วัดลำพระยา)  อยู่ในเขตตำบลลำพระยา อำเภอเมือง ฯ  สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๕  ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๖๘ ได้มีการพัฒนา และปลูกสร้างเสนาสนะถาวรต่าง ๆ พื้นที่วัดเป็นที่ราบ อุโบสถสร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๗ โครงสร้างก่ออิฐถือปูน ศาลาการเปรียญหลังเก่าสร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๐ โครงสร้างไม้ ศาลาการเปรียญหลังใหม่สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๐ โครงสร้างก่ออิฐถือปูน หอฉันสร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑ โครงสร้างไม้ หอระฆังโครงสร้างก่ออิฐถือปูน
วัดพุทธภูมิ

            วัดพุทธภูมิตั้งอยู่ในย่านใจกลางเมืองยะลา มีพื้นที่ ๓๐ ไร่ เริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๕ เดิมเป็นวัดราษฎร์สามัญผูกพัทธสีมา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๖ และได้รับการสถาปนาเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๓
            ผู้ริเริ่มสร้างวัดพุทธภูมิคือ ขุนขจรโจรแสยง (หลวงอนุกูลประชากิจ) เริ่มด้วยการบริจาคเงินส่วนตัว ๒๐๐ บาท ซื้อที่ดิน ต่อมาได้มีผู้ร่วมบริจาคเพิ่มเติม เมื่อตั้งวัดแล้วพระธรรมวโรดม (เซ่ง) วัดราชาธิวาสวรวิหาร สมัยดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคณะมณฑลภูเก็ต และนครศรีธรรมราช ได้เป็นผู้ขนานนามว่า พุทธภูมิ เพื่อให้เป็นนิมิตรแก่ชาวพุทธในหมู่บ้านนิบง อำเภอเมือง ฯ เพราะหมู่บ้านอื่น ๆ ส่วนมากเป็นคนที่นับถือศาสนาอิสลาม มีคนนับถือศาสนาพุทธไม่มากนัก
            วัดพุทธภูมิ มีเสนาสนะสมบูรณ์ มีพระอุโบสถที่สวยงาม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์ ได้เสด็จมาประกอบพิธียกช่อฟ้า เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๒ ทรงจารึกพระปรมาภิไธยย่อ ภปร. ไว้ในพระอุโบสถด้วย มีศาลาการเปรียญหลังใหม่ชื่อ ธรรมสภาสามัคคีศรีทักษิณ ขนาด ๓๙  x ๑๙ มีกุฎิเจ้าอาวาส กุฎิพระอนุจร กุฎิรองรับสงฆ์ และโรงเรียนปริยัติธรรม สำหรับสอนบาลีและนักธรรม จัดเป็นสำนักที่มีนักศึกษาธรรมมากและมีชื่อเสียงที่สุดของจังหวัดยะลา กำแพงด้านหน้าวัดมีซุ้มปราสาทขนาดใหญ่อยู่ตรงกลาง เป็นซุ้มที่ประดิษฐานพระศรีสุริยมุนี (หลวงพว่อคอหัก) เป็นพระพุทธรูปปางนาคปรก ซึ่งอัญเชิญมาจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๔ เป็นพระพุทธรูปที่ชาวยะลาและผู้คนทั่วไปเคารพนับถือมาก
วัดพุทธาธิวาส

            วัดพุทธาธิวาส  อยู่ในเขตตำบลเบตง อำเภอเบตง มีพื้นที่ประมาณ ๒๔ ไร่ ที่ตั้งวัดเป็นเนินเขาสูง เอียงลาดลงไปทางทิศเหนือ จัดแบ่งพื้นที่วัดออกเป็นชั้นรวมห้าชั้น อุโบสถสร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๘ ขนาด ๘   ๒๒ เมตร หลังคาสามชั้น มุงกระเบื้องดินเผาเคลือบสี พื้นหินขัด ศาลาการเปรียญ ขนาด ๑๒  ๒๐ เมตร สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๖ กุฎิสงฆ์ ๖ หลัง ศาลาเอนกประสงค์ อาคารเรียนพระปริยัติธรรม ศาลาพักผ่อน และวิหารสำหรับปูชนียวัตถุ ในพระอุโบสถมีรูปเหมือนหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด ขนาดเท่าจริง
            วัดพุทธาธิวาส ได้รับอนุญาตให้สร้างเป็นวัด เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ ระยะแรกเรียกว่าวัดเบตง ต่อมาได้รับพระราชทานวิสิงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๖ เขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๔๐ เมตร ยาว ๘๐ เมตร ได้ผูกพัทธสีมา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐

         พระมหาเจดีย์พระพุทธธรรมประกาศ  ตั้งอยู่ที่วัดพุทธาธิวาส สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนพรรษา ๕ รอบ และเพื่อเป็นศูนย์รวมความศรัทธาของพุทธศาสนิกชนในภาคใต้
            การออกแบบได้หม่อมราชวงศ์มิตรารุณ เกษมศรี ได้นำรูปแบบทรงพระบรมธาตุไชยา ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมศรีวิชัย อันเป็นเอกลักษณ์ของทางภาคใต้ มาเป็นต้นเค้า โดยพัฒนารูปทรงและการตกแต่งขึ้นใหม่ให้ต่างจากอดีต ลักษณะเด่นอยู่ที่การประดับโมเสก ภายนอกอาคารซึ่งนำเอาหลักการโบราณที่เรียกว่าเงาทอง เข้ามาใช้ มีการใส่สีจากฐานของพระเจดีย์ขึ้นไปหาส่วนยอดให้แลดูเป็นสีทองทั้งองค์
            รูปแบบของสถาปัตยกรรม  โครงสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ระบบเสาและคานทั้งหลังโดยไม่ต้องใช้เสาเข็ม เพราะตั้งอยู่บนภูเขา และพื้นดินสามารถรับน้ำหนักได้ดี พระเจดีย์องค์พระประธานตั้งอยู่บนฐานสูง รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส องค์พระเจดีย์เป็นรูปทรงกลม มีองค์ระฆังคล้ายกับพระมหาธาตุเจดีย์ ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช รองรับด้วยฐานทรงกลมซ้อนกันสามชั้นที่เรียกว่า มาลัยลูกแก้ว เหนือองค์ระฆังเป็นบัลลังก์รูปแปดเหลี่ยม ต่อด้วยปล้องไฉน ปลี ลูกแก้ว และหยาดน้ำค้าง มีฉัตรห้าชั้น ประดับอยู่ตอนบน

            ด้านการให้แสงสว่าง ได้เลือกรูปแบบหน้าต่างในส่วนชั้นที่สองเป็นรูปโค้งแหลม ภายในติดกระจกสี ส่วนยอดของโค้งแหลม ประดิษฐานพระนามภิไธยย่อ สก. ของสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ล้อมรอบด้วยพระรัศมี ภายใต้พระมหามงกุฎนารี กลางหน้าต่าง เป็นรูปวงกลมบรรจุลายยอดบัวบาน มีรูปดอกบัวตูมพร้อมก้านแยกจากวงกลมเป็นรัศมีโดยรอบ ซึ่งได้อธิบายว่า วงกลมหมายถึงพระจันทร์ซึ่งเป็นนามของพระบิดา (กรมหมื่นจันทรบุรี สุรนาถ) และดอกบัวหมายถึงนามของพระมารดา (หม่องหลวงบัว กิตติยากร)

| ย้อนกลับ | บน |