| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |


บุคคลสำคัญของท้องถิ่น
            จังหวัดยะลามีทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ ประกอบคุณงามความดีและได้สร้างสรรค์พัฒนาสังคมในด้านต่าง ๆ ก่อให้เกิดคุณประโยชน์แก่จังหวัดยะลา ถิ่นกำเนิดและประเทศชาติมากมายจนเป็นที่ยอมรับ ได้รับการยกย่องอยู่ในความสำนึกของชาวจังหวัดยะลา และสังคมทั่วไปตลอดมา

            พระรัฐกิจวิจารณ์ (สวาสดิ์ ณ สงขลา)  เป็นอดีตนายกเทศมนตรีเมืองยะลาและผู้ว่าราชการเมืองยะลา เป็นผู้วางรากฐานผังเมือง
ยะลาจนได้ชื่อว่า เป็นจังหวัดเดียวในประเทศไทยที่มีผังเมืองเป็นระเบียบเรียบร้อยและสวยงามที่สุด นอกจากนั้นยังสร้างความเจริญแก่ตัวเมืองยะลา หรือที่เรียกว่า ตลาดนิบง อีกด้วย ชาวยะลาเรียกท่านสั้น ๆ ว่า พระรัฐ จนติดปาก
            พระรัฐกิจวิจารณ์เกิดที่อำเภอคีรีรัฐนิคม (ท่าขนอม) จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๔  เคยรับราชการเป็นนายอำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง และเคยเป็นนายด่านตรวจคนเข้าเมือง ชีวิตข้าราชการครั้งสุดท้าย ดำรงตำแหน่งข้าหลวงประจำจังหวัดยะลา ระหว่าง พ.ศ.๒๔๕๖ - ๒๔๕๘ เป็นข้าหลวงประจำจังหวัดยะลาคนที่ ๑๐  เมื่อออกจากราชการแล้ว ได้สมัครเลือกตั้งเป็นสมาชิกเทศบาลเมืองยะลา และได้ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีติดต่อกันสองสมัย ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๘๒ - ๒๔๘๘
            ในช่วงที่เป็นนายกเทศมนตรีเมืองยะลา ได้ทุ่มเทกำลังกายกำลังใจสร้างเมืองยะลาอย่างจริงจัง โดยเริ่มตั้งเมืองยะลาที่ตำบลนิบง เริ่มด้วยการวางผังเมืองเป็นวงเวียนหนึ่งวง สองวงและสามวง เตรียมจัดผังสำหรับก่อสร้างสถานที่สำคัญของทางราชการ เช่นศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอเมือง ฯ  ศาลจังหวัด สถานีตำรวจภูธรจังหวัดยะลา
            พระรัฐ ฯ ได้ดำเนินการตัดถนนสายสำคัญ ๆ ได้แก่ ถนนพิพิธภักดี ถนนสุขยางค์ ถนนสิโรรส และได้ตัดถนนย่อยอีกหลายสายได้แก่ ถนนสายยะลา ถนนไชยจรัส ถนนรัฐกิจ ถนนปราจีน ถนนพังงาและถนนรวมมิตร

            ขุนศิลปกรรมพิเศษ (แปลก  เจริญสิน)  เป็นนักการศึกษาและนักวิชาการที่มีความรู้ความสามารถทางด้านมนุษยศาสตร์และอักษรศาสตร์ เป็นที่ยอมรับทั่วไป ได้สร้างคุณประโยชน์แก่สังคมมากมาย
            ขุนศิลปกรรมพิเศษ เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๖ ที่บ้านแหลมทราย ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง ฯ จังหวัดสงขลา ได้เข้ารับราชการเป็นครูที่โรงเรียนมหาวชิราวุธสงขลา ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นขุนศิลปกรรมพิเศษ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๒  ได้เป็นผู้ช่วยธรรมการมณฑลนครศรีธรรมราช เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๔ และได้ไปดำรงตำแหน่งศึกษาธิการจังหวัดยะลา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๖  ได้เป็นผู้รายงานกระทรวงธรรมการทราบถึงการพบถ้ำศิลป จนได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ กรมศิลปากรได้ตั้งชื่อว่าถ้ำศิลป เพื่อเป็นเกียรติแก่ขุนศิลปกรรมพิเศษ และเพื่อให้สอดคล้องกับถ้ำที่มีศิลปะโบราณ
            ขุนศิลปกรรม ฯ ได้ย้ายไปคำรงตำแหน่งธรรมการศึกษาจังหวัดยะลา ในปี พ.ศ.๒๔๘๐ ได้ริเริ่มรวบรวมวัตถุโบราณที่ขุดพบจากอำเภอสทิงพระ อำเภอระโนด จังหวัดยะลา มาเก็บไว้ที่ทำการจังหวัดสงขลา และได้ขออนุญาตกระทรวงศึกษาธิการ จัดตั้งพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติขึ้นเป็นผลสำเร็จ นอกจากนั้นยังได้ก่อตั้งโรงเรียนช่างไม้ (สารพัดช่าง) โรงเรียนทอผ้าและตัดเย็บเสื้อผ้า (โรงเรียนอาชีวศึกษาและโรงเรียนเกษตรกรรม ในจังหวัดสงขลาขึ้นเป็นครั้งแรก)
            ในปี พ.ศ.๒๔๙๗ ได้ไปดูงานศึกษาที่สหรัฐอเมริกา เมื่อกลับมาได้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการศึกษาภาค ๒ ซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ที่จังหวัดยะลา ในขณะดำรงตำแหน่งอยู่นั้นได้จัดระบบการศึกษาให้ชาวไทยอิสลามที่พูดภาษาไทยไม่ได้ ให้พูด อ่าน และเขียนภาษาไทยได้ โดยได้นำความคิดที่ได้รับจากการไปดูงาน ด้านการเรียนการสอนภาษาอังกฤษแก่เด็กที่พูดภาษาสเปน ในรัฐนิวเมกซิโก สหรัฐอเมริกา โดยได้เริ่มวิธีการที่ในปอเนาะก่อน โดยให้เด็กหัดพูดภาษาไทยได้ ๖๐๐ คำก่อน แล้วจึงหัดเขียนทีหลัง ปรากฎว่าประสบความสำเร็จ เด็กอิสลามที่มาเรียนในปอเนาะสามารถพูด อ่าน เขียนภาษาไทยได้ หลังจากนั้นก็ได้จัดทำหลักสูตรขึ้นมาใช้จนประสบผลสำเร็จด้วยดี
            ต่อมาขุนศิลปกรรม ฯ ได้ศึกษาค้นคว้าทางด้านวิชาการอีกหลายเรื่อง เช่น ได้ศึกษาวัฒนธรรม ประเพณีของจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยได้รวบรวมคำพ้องในภาษาไทย และภาษามลายู เรียบเรียงเป็นพจนานุกรมขึ้น ได้ศึกษาค้นคว้าคำในภาษาไทยที่มาจากภาษามลายู ชวา อาหรับ เปอร์เซีย และฮิบคูสตานี เป็นต้น

            พันตำรวจเอก ศิริ คชหิรัญ  เป็นอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เป็นผู้นำสร้างหลักเมืองยะลา โดยขอรับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๔ จังหวัดยะลาได้เปลี่ยนสภาพจากป่าเป็นเมืองได้สมบูรณ์ ได้ประสานติดต่อให้มีการตั้งส่วนราชการระดับภาค และระดับเขตหลายหน่วยงานมาที่จังหวัดยะลา และภายในเวลาเพียง ๑๐ ปี ก็สามารถสร้างยะลาจากความเป็นเมืองป่า ไม่ใคร่มีใครรู้จักให้เป็นเมืองขนาดใหญ่สมบูรณ์แบบ
            พันตำรวจเอก ศิริ ฯ เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๑ ที่ตำบลสะพานสูง อำเภอบางซื่อ กรุงเทพ ฯ เริ่มชีวิตราชการในตำแหน่งนายดาบตำรวจ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๒ และได้เลื่อนยศเป็นร้อยตำรวจตรี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๔ ดำรงตำแหน่งผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ ได้เป็นเลขานุการำรมตำรวจแล้วโอนไปดำรงตำแหน่งผุ้ว่าราชการจังหวัดยะลา จนเกษียนอายุราชการเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๒
            เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๔ ได้เริ่มจัดผังเสาหลักเมืองขึ้น ณ บริเวณวงเวียนหน้าศาลากลางจังหวัด แล้วเสร็จและสมโภชในปี พ.ศ.๒๕๐๕ ทำให้สามารถรวมน้ำใจชาวเมืองทั้งที่นับถือศาสนาพุทธและศาสนาอิสลามให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
            ในปี พ.ศ.๒๕๑๐ ได้พบช้างเผือกเชือกหนึ่งเป็นช้างพลาย เมื่อตรวจสอบตามตำรับพระคชลักษณ์แล้ว ปรากฎกว่าเป็นช้างสำคัญคู่บารมีสมควรขึ้นระวางเป็นช้างต้น จึงได้นำความกราบบังคมทูลและได้จัดพระราชพิธีสมโภชและขึ้นระวางช้างต้น พิธีกรรมทุกอย่างจัดตามโบราณราชประเพณี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยุ่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธาน

            นายแจ้ง  สุขเกื้อ  เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๑ ที่ตำบลเชียรใหญ่ อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช เข้ารับราชการครั้งแรกด้วยการเป็นครูประชาบาล เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๖ จากนั้นได้เลื่อนตำแหน่งเป็นครูใหญ่ แล้วได้เลื่อนเป็นศึกษาธิการอำเภอหลายแห่งในจังหวัดพังงา และจังหวัดตรัง แล้วเลื่อนขึ้นเป็นศึกษาธิการโทและเอก ที่จังหวัดยะลา จากนั้นย้ายไปดำรงตำแหน่งศึกษาธิการจังหวัดสงขลา เลื่อนขึ้นดำรงตำแหน่งศึกษาธิการเขต ๒ ในปี พ.ศ.๒๕๑๙ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๒๔ เมื่อทางราชการยกฐานะของศูนย์ประสานงานปกครองจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปต)  ขึ้นเป็นศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ก็ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองการศึกษา และศาสนสัมพันธ์ และในปี พ.ศ.๒๕๒๗ ได้ดำรงตำแหน่งรองอธิบดีรกรมการศาสนา
            ผลงานที่สำคัญคือ การวางแผนการจัดการศึกษาสำหรับเยาวชนที่นับถือศาสนาอิสลาม นับตั้งแต่การพัฒนาปอเนาะ สถานศึกษาของชาวอิสลาม จนกลายเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม แต่เดิมนั้นชาวอิสลามใช้ปอเนาะเพื่อการศึกษาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เมื่อนายแจ้ง ฯ ดำรงตำแหน่งศึกษาธิการจังหวัดยะลา ได้ทดลองให้โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ ซึ่งเป็นปอเนาะแห่งหนึ่ง เปิดสอนหลักสูตรสามัญขึ้น ปรากฎว่าได้ผลดีแนวความคิดนี้ได้ขยายไปสู่ปอเนาะอื่น ๆ และเปิดสอนกันโดยทั่วไป ปัจจุบันปอเนาะกลายสภาพมาเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามและสอนวิชาสามัญ ซึ่งเปิดสอนถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย และได้รับการพัฒนาจนเป็นโรงเรียนชุมชนเป็นจำนวนมาก ยังผลให้เยาวชนชาวอิสลามได้รับการศึกษาสูงขึ้นเป็นจำนวนปีละมาก ๆ และส่วนหนึ่งได้เข้าศึกษาต่อถึงระดับมหาวิทยาลัย
            งานสำคัญอีกด้านหนึ่งคือ การเตรียมภาษาไทยสำรับเด็กไทยอิสลาม ที่พูดภาษาไทยไม่ได้ ก่อนเข้าวัยเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ งานเริ่มแต่สมัยขุนศิลปกรรมพิเศษเป็นศึกษาธิการเขต ๒ นายแจ้ง ฯ ได้ดำเนินการต่อจนกระทั่งโรงเรียนประถมศึกษา สามารถเปิดชั้นเด็กเล็กได้ทั่วทั้งเขต มีการผลิตหลักสูตรอบรมครูและผลิตคู่มือครู และอบรมครูผู้สอน ทำให้เด็กอิสลามซึ่งพูดไทยไม่ได้มาก่อนและมีปัญหาในการเรียนสามารถฟัง พูดภาษาไทย และเรียนในชั้นเรียนตามปกติได้ ทำให้จำนวนการเรียนต่อของเด็กอิสลามสูงขึ้นเป็นลำดับ
            ด้านการศึกษานอกโรงเรียน นายแจ้ง ฯ ได้มีส่วนสำคัญในการปรับปรุงหลักกสูตรหนังสือเรียนให้เหมาะสมกับท้องถิ่น จัดทำแผนการสอน คู่มือครู เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนที่ยังพูดภาษาไทยไม่ได้สามารถใช้ภาษาไทยได้มากยิ่งขึ้น และยังได้ริเริ่มทำหลักสูตรและอบรมภาษาไทยแก่กำนัน ผู้ใหญ่บ้านอีกด้วย
            ได้มีการจัดให้สอนศาสนาอิสลามในโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ซึ่งมีการดำเนินการตั้งแต่การจัดทำหลักสูตร หนังสือเรียน และการอบรมครู เป็นการสนองความต้องการของท้องถิ่น ทำให้คนไทยที่นับถือศาสนาอิสลามสนใจเข้าเรียนในระบบโรงเรียนมากขึ้น

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |