| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |

พ.ศ.๒๐๘๑
            เกิดสงครามระหว่างไทยกับพม่า เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย เมื่อพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ แห่งกรุงหงสาวดี ยกกองทัพมาตีเมืองเชียงครานหรือเชียงกราน หัวเมืองทางทิศตะวันตกของอยุธยา สมเด็จพระไชยราชาธิราช เสด็จยกกองทัพหลวงออกไปรบพม่า ยึดเมืองเชียงกรานกลับคืนมาได้

พ.ศ.๒๐๘๑
            สมเด็จพระไชยราชาธิราช ทรงยกทัพไปถึงเมืองเชียงใหม่ พระมหาเทวีจิระประภา ผู้ครองเมืองเชียงใหม่ ออกมาต้อนรับและขอเป็นไมตรีกับกรุงศรีอยุธยา

พ.ศ.๒๐๘๘
            สมเด็จพระไชยราชาธิราช ทรงยกทัพหลวงไปล้อมเมืองเชียงใหม่ เนื่องจากพระมหาเทวีจิระประภา ผู้ครองเมืองเชียงใหม่ ไปอ่อนน้อมต่อพม่า ระหว่างทางที่ยกทัพไปตีได้เมืองลำปาง นครลำพูน ทางเชียงใหม่ยอมเป็นประเทศราชของกรุงศรีอยุธยา

พ.ศ.๒๐๘๙
            ท้าวศรีสุดาจันทร์ พระราชมารดาสมเด็จพระยอดฟ้า ได้รับทูลเชิญจากเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่ขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการ เนื่องจากสมเด็จพระแก้วฟ้า ทรงพระเยาว์ พระชนมายุเพียง ๑๐ พรรษา นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย ที่ปรากฏว่ามีผู้สำเร็จราชการเป็นสตรี

พ.ศ.๒๐๙๑
            สงครามไทย – พม่า คราวสมเด็จพระสุริโยทัย ขาดคอช้าง ครั้งนั้นพระเจ้าหงสาวดี ตะเบ็งชะเวตี้ กษัตริย์พม่ายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา พระมหาจักรพรรดิ์ ยกทัพออกไปดูกำลังข้าศึก ณ ทุ่งภูเขาทอง สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ชนช้างกับพระเจ้าแปร เกิดเสียที สมเด็จพระสุริโยทัยทรงไสช้างเข้ากันข้าศึกไว้ พระเจ้าแปรจึงใช้พระแสงของ้าวฟันสมเด็จพระสุริโยทัย สิ้นพระชนม์บนคอช้าง

พ.ศ.๒๑๐๖
            พระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์พม่า ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา มีกำลังพล ๒๐๐,๐๐๐ คน จัดเป็นทัพกษัตริย์ถึงหกกองทัพ มีเมืองเชียงใหม่สนับสนุนเสบียงอาหารโดยลำเลียงมาทางเรือ เดินทัพมาทางด่านแม่ละเมา ได้เตรียมทัพเรือพร้อมปืนใหญ่กับจ้างชาวโปรตุเกส อาสาสมัคร ๔๐๐ คน เป็นพลปืนใหญ่ พม่าตีได้เมืองกำแพงเพชร สวรรคโลก สุโขทัย พิชัย และพิษณุโลก ปะทะทัพไทยที่ชัยนาท แล้วเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ ต้องยอมเป็นไมตรี

พ.ศ.๒๑๑๑
            สงครามไทย – พม่า คราวเสียกรุง พระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์พม่า ยกกองทัพใหญ่เจ็ดกองทัพ มีกำลังพล ๕๐๐,๐๐๐ คน ยกทัพมาทางด่านแม่ละเมา เข้าล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้ทั้งสี่ด้าน สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ประชวรและสวรรคต กองทัพพระไชยเชษฐา กษัตริย์ล้านช้างยกมาช่วย แต่ถูกพม่าโจมตีแตกกลับไป

๗ สิงหาคม ๒๑๑๒
            ทัพพม่าล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่นานถึงเก้าเดือน ไทยก็เสียกรุงศรีอยุธยาและเสียเอกราชแก่พม่า เพราะความแตกสามัคคีของคนไทยด้วยกันเองเป็นไส้ศึก และการที่สมเด็จพระมหินทราธิราช ไม่ทรงพระปรีชาสามารถในด้านการศึกสงคราม

พ.ศ.๒๑๑๔
            สมเด็จพระมหาธรรมราชา ขอตัวสมเด็จพระนเรศวรกลับมาจากกรุงหงสาวดี เพื่อช่วยพระองค์ปราบปรามข้าศึกและป้องกันบ้านเมือง และส่งพระสุพรรณกัลยาไปแทน สมเด็จพระนเรศวร พระชนมายุได้ ๑๕ พรรษา ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นพระมหาอุปราช ขึ้นไปปกครองเมืองเหนือ ประทับอยู่ที่เมืองพิษณุโลก

พ.ศ.๒๑๒๓
            สมเด็จพระมหาธรรมราชา ทรงโปรดให้ขุดคูพระนครศรีอยุธยา ด้านตะวันออกหรือคูขื่อหน้า ซึ่งแต่เดิมแคบ ทำให้ข้าศึกข้ามมาถึงตัวพระนครได้สดวกกว่าด้านอื่น กับให้รื้อกำแพงพระนครด้านตะวันออก ไปสร้างใหม่จรดริมฝั่งแม่น้ำเช่นเดียวกับด้านอื่น ๆ

๑๔ เมษายน ๒๑๒๗
            สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงประกาศอิสระภาพที่เมืองแครง ในระหว่างที่ทรงนำทัพไทยไปช่วยพระเจ้านันทบุเรง กษัตริย์พม่าตีเมืองอังวะ แล้วทรงนำทัพมุ่งไปเมืองหงสาวดี กวาดต้อนครอบครัวไทยเป็นจำนวนมากกลับมาด้วย พระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง ได้ชื่อขึ้นในเหตุการณ์ครั้งนี้
 


พ.ศ.๒๑๒๙
            พม่าส่งทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนเรศวรมหาราช นำทัพออกต่อสู้กับพม่าหลายครั้ง ในที่สุดพม่าต้องถอยทัพกลับไป พระแสงดาบคาบค่าย ได้ชื่อในเหตุการณ์ครั้งนี้

๑๘ มิถุนายน ๒๑๓๐
            สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตีค่ายพระเจ้าหงสาวดี นันทบุเรง ที่ป่าโมก

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |