| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |


พ.ศ.๒๑๓๓
            หลักจากสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เสด็จขึ้นครองราชย์ได้แปดเดือน พม่าได้ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา โดยมีพระมหาอุปราชาเป็นแม่ทัพใหญ่ พระยาพะสิมและพระยาพุกาม เป็นกองหน้า ยกทัพมาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ สมเด็จพระนเรศวร ฯ และสมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงยกทัพไปรับศึกที่เมืองสุพรรณบุรี ฝ่ายพม่าเสียที พระยาพุกามเสียชีวิต พระยาพะสิม ถูกจับได้ พระมหาอุปราชา บาดเจ็บต้องถอนทัพกลับไป

๒๙ กรกฎาคม ๒๑๓๓
            วันขึ้นครองราชย์ของ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

พ.ศ.๒๑๓๕
            สงครามไทย – พม่า คราวสงครามยุทธหัตถี พระเจ้านันทบุเรง กษัตริย์พม่า ทรงให้พระมหาอุปราชา ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง โดยยกมาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงยกทัพไปรอรับทัพพม่าที่หนองสาหร่าย สมเด็จพระนเรศวร ฯ ทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา ทรงฟันพระมหาอุปราชาด้วยพระแสงของ้าว สิ้นพระชนม์บนคอช้าง พม่าต้องถอยทัพกลับไป พระแสงของ้าวนี้ต่อมามีนามว่า พระแสงของ้าวแสนพลพ่าย

๒๕ มกราคม ๒๑๓๕
            สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงกระทำยุทธหัตถีได้ชัยชนะจาก สมเด็จพระมหาอุปราชา พร้อมกับสมเด็จพระเอกาทศรถ ได้ชัยชนะจากมางจาชะโร ณ พื้นที่ระหว่าง ตำบลตระพังตรุ จังหวัดกาญจนบุรี กับ ตำบลหนองสาหร่าย จังหวัดสุพรรณบุรี ต่อมาทางราชการได้กำหนดให้วันดังกล่าวเป็น วันกองทัพไทย ตั้งแต่ปี ๒๕๒๔ เป็นต้นมา

พ.ศ.๒๑๓๖
            สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงยกกองทัพไปตีเขมร ทรงตีหัวเมืองรายทางไปจนถึงเมืองละแวก เมืองหลวงของเขมร จับนักพระสัตถา กษัตริย์เขมรได้

พ.ศ.๒๑๔๒
            สมเด็จพระเอกาทศรถ เป็นแม่ทัพไปปราบปรามความไม่สงบที่เมืองเชียงใหม่

พ.ศ.๒๑๔๒
            สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงยกทัพบกและทัพเรือ เพื่อไปตีกรุงหงสาวดี ได้ทรงปราบหัวเมืองมอญอยู่สามเดือน แล้วจึงยกทัพไปตีกรุงหงสาวดี แต่ทางพระเจ้าตองอูได้อพยพผู้คน และพระเจ้านันทบุเรง ไปตั้งมั่นอยู่เมืองตองอู พระเจ้ายะไข่ปล้นสดมภ์ และเผาเมืองหงสาวดีหมดสิ้นจนเป็นเมืองร้าง ก่อนที่สมเด็จพระนเศวร ฯ จะยกไปถึง สมเด็จพระนเรศวร ฯ ยกทัพตามไปล้อมเมืองตองอู แต่ตีไม่ได้ เนื่องจากขาดเสบียงต้องยกทัพกลับ

พ.ศ.๒๑๔๗
            สมเด็จพระเอกาทศรถ ยกทัพไปช่วยเมืองแสนหวี แคว้นไทยใหญ่

๑๖ พฤษภาคม ๒๑๔๘
            สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงยกทัพไปตีเมืองอังวะ ขณะที่พระองค์เสด็จไปถึงเมืองหาง (เมืองห้างหลวง ในรัฐฉาน) ซึ่งเป็นเมืองอยู่ชายพระราชอาณาเขต พระองค์ทรงพระประชวร เป็นฝีละลอกขึ้นที่พระพักตร์ กลายเป็นพิษ และสวรรคต เมื่อ ๒๕ เมษายน ๒๑๔๘ เมื่อพระชนมายุได้ ๕๐ พรรษา ครองราชย์อยู่ ๑๕ ปี

๒๒ กันยายน ๒๑๕๑
            สมเด็จพระเอกาทศรถ โปรดให้ทูตานุทูตอัญเชิญพระราชสาส์น และเครื่องราชบรรณาการไปเจริญ ทางพระราชไมตรีกับพระเจ้ามอริสในราชวงศ์ ออเรนซ์ แห่งประเทศฮอลันดา นับเป็นคณะทูตไทยคณะแรกที่เดินทางไปทวีปยุโรป

พ.ศ.๒๑๕๓
            พระเจ้าเจมส์ที่ ๑ แห่งอังกฤษ ได้มีพระราชสาส์นถึงพระเจ้าทรงธรรม เพื่อขอพระบรมราชานุญาตให้พ่อค้าชาวอังกฤษเข้ามาค้าขายกับกรุงศรีอยุธยาได้สะดวก

๒๓ มิถุนายน ๒๑๕
            เรือสำเภาอังกฤษชื่อ โกลบ เดินทางมาถึงปัตตานี นับเป็นเรืออังกฤษลำแรกที่เดินทางมาไทยในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ

๑๗ กันยายน ๒๑๕๕
            พ่อค้าอังกฤษคนแรกซึ่งเดินทางโดยเรือ Globe เข้าเฝ้าสมเด็จพระเอกาทศรถ เพื่อถวายพระราชสาส์นของพระเจ้าเจมส์ที่ ๑ นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย ที่อังกฤษและไทยมีความสัมพันธ์กัน

พ.ศ.๒๑๖๕
            พม่ายกทัพมาตีเมืองทวาย อันเป็นเมืองท่าสำคัญเมืองหนึ่งทางทิศตะวันตกของไทยได้

๑๒ ธันวาคม ๒๑๗๑
            พระเจ้าทรงธรรมสวรรคต เมื่อพระชนม์พรรษาได้ ๓๘ มีพระราชโอรส ๓ องค์ คือ พระเชษฐาธิราชกุมาร พระพันปีศรีศิลป์ และพระอาทิตยวงศ์ แต่จดหมายเหตุ วันวลิตว่ามีราชโอรส ๙ องค์ พระราชธิดา ๘ องค์

พ.ศ.๒๑๗๕
            สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ พร้อมทั้งหมู่พระราชนิเวศน์และวัดชุมพลนิกายารามขึ้นที่บางปะอิน อันเป็นที่ประสูติ ไว้สำหรับเป็นที่แปรพระราชฐาน

พ.ศ.๒๑๘๑
            สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง โปรดเกล้า ฯ ให้จัดพิธีลบศักราช ให้เปลี่ยนจากปีขาลเป็นปีกุน โดยแจ้งให้บรรดาหัวเมืองน้อยใหญ่รวมทั้งประเทศราช ให้ใช้ปีศักราชตามพระนครศรีอยุธยา ทั้งนี้เนื่องจากมีความเชื่อกันว่าจะเกิดเหตุร้ายแรงถึงขั้นกลียุคขึ้น

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |