สุภาษิตอิศรญาณ

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
loading picture

            สุภาษิตอิศรญาณ เป็นพระนิพนธ์ของหม่อมเจ้าอิศรญาณ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เขียนเป็นคำประพันธ์ประเภทเพลงยาว จึงได้ชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า เพลงยาวเจ้าอิศรญาณ
            เนื้อหาของสุภาษิต มีข้อความที่เป็นที่นิยมแพร่หลาย อยู่มากแห่งด้วยกัน และมีลักษณะของวิถีชีวิตไทย อยู่อย่างเต็มเปี่ยม จึงทันสมัยอยู่แม้ในยุคปัจจุบัน

อิศรญาณชาญกลอนอักษรสาร
เทศนาคำไทยให้เป็นทาน โดยตำนานศุภอรรถสวัสดี
สำหรับคนเจือจิตจริตเขลา ด้วยมัวเมาโมห์มากในซากผี
ต้องหาม้ามโนมัยใหญ่ยาวรี สำหรับขี่เป็นม้าอาชาไนย
ชายข้าวเปลือกหญิงข้าวสารโบราณว่า
น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่าอัชฌาสัย
เราก็จิตคิดดูเล่าเขาก็ใจ รักกันไว้ดีกว่าชังระวังการ
ผู้ใดดีดีต่ออย่าก่อกิจ ผู้ใดผิดผ่อนพักอย่าหักหาญ
สิบดีก็ไม่ถึงกับกึ่งพาล เป็นชายชาญอย่าเพ่อคาดประมาทชาย
รักสั้นนั้นอย่าให้รู้อยู่เพียงสั้น
รักยาวนั้นอย่าให้เยิ่นเกินกฎหมาย
มิใช่ตายแต่เขาเราก็ตาย แหงนดูฟ้าอย่าให้อายแก่เทวดา
อย่าดูถูกบุญกรรมว่าทำน้อย
น้ำตาลย้อยมากเมื่อไรได้หนักหนา
อย่านอนเปล่าเอากระจกยกออกมา ส่องดูหน้าเสียทีหนึ่งแล้วจึงนอน
เห็นตอหลักปักขวางหนทางอยู่
พิเคราะห์ดูควรทึ้งแล้วจึงถอน
เห็นเต็มตาแล้วอย่าอยากทำปากบอน ตรองเสียก่อนจึงค่อยทำกรรมทั้งมวล
ค่อยดำเนินตามไต่ผู้ไปหน้า
ใจความว่าผู้มีคุณอย่าหุนหวน
เอาหลังตากแดดเป็นนิจคิดคำนวณ รู้ถี่ถ้วนจึงสบายเมื่อปลายมือ
เพชรอย่างดีมีค่าราคายิ่ง
ส่งให้ลิงจะรู้ค่าราคาหรือ
ต่อผู้ดีมีปัญญาจึงหารือ ให้เขาลือเสียว่าชายนี้ขายเพชร
ของสิ่งใดเจ้าว่างามต้องตามเจ้า
ใครเลยเล่าจะไม่งามตามเสด็จ
จำไว้ทุกสิ่งจริงหรือเท็จ พริกไทยเม็ดนิดเดียวเคี้ยวยังร้อน
เกิดเป็นคนเชิงดูให้รู้เท่า
ใจของเราไม่สอนใจใครจะสอน
อยากใช้เขาเราต้องก้มประนมกร ใครเลยห่อนจะว่าตัวเป็นวัวมอ
เป็นบ้าจี้นิยมชมว่าเอก
คนโหยกเหยกรักษายากลำบากหนอ
อันยศศักดิ์มิใช่เหล้าเมาแต่พอ ถ้าเขายอเหมือนอย่างเกาให้เราคัน
บ้างโลดเล่นเต้นรำทำเป็นเจ้า
เป็นไรเขาไม่จับผิดคิดดูขัน
ผีมันหลอกช่างผีตามทีมัน คนเหมือนกันหลอกกันเองกลัวเกรงนัก
สูงอย่าให้สูงกว่าฐานนานไปล้ม
จะเรียนคมเรียนเถิดอย่าเปิดฝัก
คนสามขามีปัญญาหาไว้ทัก ที่ไหนหลักแหลมคำจงจำเอา
เดินตามรอยผู้ใหญ่หมาไม่กัด
ไปพูดขัดเขาทำไมขัดใจเขา
ใครทำตึงแล้วหย่อนผ่อนลงเอา นักเลงเก่าเขาไม่หาญราญนักเลง
เป็นผู้หญิงแม่ม่ายที่ไร้ผัว
ชายมักยั่วทำเลียบเทียบข่มเหง
ไฟไหม้ยังไม่เหมือนคนที่จนเอง ทำอวดเก่งกับขื่อคาว่ากระไร
      อันเสาหินแปดศอกตอกเป็นหลัก ไปมาผลักบ่อยเข้าเสายังไหว
จงฟังหูไว้หูคอยดูไป เชื่อน้ำใจดีกว่าอย่าเชื่อยุ
หญิงเรียกแม่ชายเรียกพ่อยอไว้ใช้
มันชอบใจข้างปลอบไม่ชอบดุ
ที่ห่างปิดที่ชิดไชให้ทะลุ คนจักษุเหล่หลิ่วไพล่พลิ้วพลิก
เอาปลาหมอเป็นครูดูปลาหมอ
บนบกหนออุตส่าห์เสือกกระเดือกกระดิก
เขาย่อมว่าฆ่าควายเสียดายพริก รักหยอกหยิกยั บทั้งตัวอย่ากลัวเล็บ
มิใช่เนื้อเอาเป็นเนื้อก็เหลือปล้ำ
แต่หนามตำเข้าสักนิดกรีดยังเจ็บ
อันโลภลาภบาปหนาตัณหาเย็บ เมียรู้เก็บผัวรู้ทำพาจำเริญ
ถึงรู้จริงนิ่งไว้อย่าไขรู้
เต็มที่ครู่เดียวเท่านั้นเขาสรรเสริญ
ไม่ควรกล้ำเกินหน้าก็อย่าเกิน อย่าเพลิดเพลินคนชังนักคนรักน้อย
วาสนาไม่คู่เคียงเถียงเขายาก
ถึงมีปากเสียเปล่าเหมือนเต่าหอย
ผีเรือนตัวไม่ดีผีป่าพลอย พูดพล่อยพล่อยไม่ดีปากขี้ริ้ว
แต่ไม้ไผ่อันหนึ่งตันอันหนึ่งแขวะ
สีแหยะแหยะตอกตะบันเป็นควันฉิว
ช้างถีบอย่าว่าเล่นกระเด็นปลิว แรงหรือหิวชั่งใจดูจะสู้ช้าง
ล้องูเห่าเล่นก็ได้ใจกล้ากล้า
แต่ว่าอย่ายักเยื้องเข้าเบื้องหาง
ต้องว่องไวในทำนองคล่องท่าทาง ตบหัวผางเดียวม้วนจึงควรล้อ
ถึงเพื่อนฝูงที่ชอบพอขอกันได้
ถ้าแม้ให้เสียทุกคนกลัวคนขอ
พ่อแม่เลี้ยงปิดปกเป็นกกกอ จบแล้วหนอเหมือนเปรตเหตุด้วยจน
ถึงบุญมีไม่ประกอบชอบไม่ได้
ต้องอาศัยคิดดีจึงมีผล
บุญหาไม่แล้วอย่าหลงทะนงตน ปุถุชนรักกับชังไม่ยั่งยืน
ฯลฯ
อันคลื่นใหญ่ในมหาชลาสินธุ์ เข้าฝั่งสิ้นสาดเข้าไปที่ในฝั่ง
เสียงกลองดังฟังดูเพียงหูฟัง ปากคนดังอึงจริงยิ่งกว่ากลอง
ถ้าทำดีก็จะดีเป็นศรีศักดิ์ ถ้าทำชั่วชั่วจักตามสนอง
ความชั่วเราลี้ลับอย่ากลับตรอง นอนแล้วมองดูผิดในกิจการ
ฯลฯ
อันความเรื่องเดียวกันสำคัญกล่าว พูดไม่ดีแล้วก็เปล่าไม่แข็งเข้ม
ข้าวต้มร้อนอย่ากระโจมค่อยโลมเล็ม วิสัยเข็มเล่มน้อยร้อยช้าช้า
ถึงโปร่งปรุในอุบายเป็นชายชาติ แม้หลงมาตุคามขาดศาสนา
อันความหลงแม้ไต่ปลงสังขารา แต่ทว่ารู้บ้างค่อยบางเบา
อย่าโอกโขยกอยู่ในโลกสันนิวาส แต่นักปราชญ์ยังรู้พึ่งผู้เขลา
เหมือนเรือช่วงพ่วงลำในสำเภา เรือใหญ่เข้าไม่ได้ใช้เรือเล็ก
ฯลฯ
หลงโลภลาภบาปก็รู้อยู่ว่าบาป กิเลสหยาบยังไม่สุขย่อมทุกขัง
ตัณหาหากชักนำให้กำบัง เอาธรรมตั้งข่มกดให้ปลดร้อน
คนศรัทธาว่าง่ายสบายจิต ไม่เบือนบิดเร่งทำตามคำสอน
คนที่ไม่ศรัทธาอุราคลอน โง่แล้วงอนถึงไม่ฟังก็ยังดึง
หาเงินติดไถ้ไว้อย่าให้ขาด ตำลึงบาทหาไม่คล่องเพียงสองสลึง
ชาติตะปูชาติแข็งต้องแทงตรึง ชาติขี้ผึ้งชาติอ่อนร้อนละลาย
ของสิ่งใดสงสัยให้พิสูจน์ ไม่แกล้งพูดธาตุทั้งสี่ดีใจหาย
ดูดินน้ำลมไฟให้แยบคาย ไล่ระบายเท็จก็แปรแท้ไม่จร
ฯลฯ
คุณกับโทษสองแบ่งแรงข้างไหน คุณถึงใหญ่ให้ผลคนไม่เห็น
โทษสักเท่าหัวเหาเล็กเท่าเล็น ให้ผลเห็นแผ่ซ่านทั่วบ้านเมือง
น้ำใจเอยเห็นกรรมไม่ทำชั่ว บวชตั้งตัวตั้งใจบวชได้เรื่อง
บวชหลบราชการหนักบวชยักเยื้อง บวชหาเฟื้องหาไพบวชไม่ตรง
ฯลฯ
สัตว์ผอมฤษีพีนี้สองสิ่ง สามผู้หญิงรูปดีไม่มีถัน
กับคนจนแต่งอินทรีย์นี้อีกอัน สี่ด้วยกันดูเป็นเห็นไม่งาม
บรรพชาสามปางนางสามผัว ข้าเก่าชั่วเมียชังเขายังห้าม
มักเกิดเงี่ยงเกี่ยงแง่แส่หาความ กาลีลามหยาบช้าอุลามก
ฯลฯ
ถือตำรามากนักขี้มักกรอบ มิเสียชอบขัดสนจนจอนจ่อ
ออกชื่อบาปครางฮือทำมืองอ ไม่นึกฉ้อส่อเสียดเบียดเบียนใคร
จิตดำรงคงธรรมไม่พล้ำเพลี่ยง สู้หลีกเลี่ยงตามภาษาอัชฌาสัย
ถึงบอกลาภบาปแล้วไม่พอใจ มีหาไม่อุตส่าห์รักษากาย
พระพุทธองค์ก็ทรงชมว่าสมปราชญ์ บัณฑิตชาติเมธาปัญญาหลาย
สู่คติเบื้องหน้าถ้าเขาตาย ทางอบายห่างไกลไม่ไปเลย
กระแสพุทธฎีกาว่ากระนี้ เดี๋ยวนี้นี่ไม่กระนั้นนะท่านเอ๋ย
ถ้ายากจนแล้วก็คนมักยิ้มเย้ย ภิปรายเปรยเปรียบเทียบพูดเสียบแทง
ว่าชะชะนักปราชญ์ชาติสถุล วิบากบุญให้ผลจนต่องแต่ง
สวรรค์นรกที่ไหนไม่แจ้งแจง อยู่เขตแขวงธานีบุรีใด
อย่าคบมิตรจิตพาลสันดานชั่ว จะพาตัวให้เสื่อมที่เลื่อมใส
คบนักปราชญ์นั่นแหละดีมีกำไร ท่านย่อมให้ความสบายหลายประตู
ฯลฯ
ชั่วแต่กายวาจาย่อมปรากฏ คนทั้งหมดแม่นแท้เขาแลเห็น
ชั่วในใจบังปิดไว้มิดเม้น สิบห้าเล่มเกวียนเข็นไม่หมดมวล
คดสิ่งอื่นหมื่นแสนแม้นกำหนด โกฏล้านคดซ้อนซับพอนับถ้วน
คดของคนล้นล้ำคดน้ำนวล เหลือกระบวนที่จะจับนับคดค้อม
ฯลฯ
จะผ่าไม้ให้พินิจพิศดูท่า ให้เห็นว่าแสกไหนเหมาะจึงเจาะขวาน
จะเข้าหาคนผู้ดูอาการ ถือโบราณถูกเดาจึงเอาคำ
ฯลฯ
คนแก่มีสี่ประการโบราณว่า แก่ธรรมาพิสมัยใจแห้งเหี่ยว
แก่ยศแก่วาสนาปัญญาเปรียว แต่แก่แดดอย่างเดียวแก่เกเร
ความรู้ท่วมหัวตัวไม่รอด เป็นคำสอดของคนเกเรเกเส
เรียนวิชาไม่แม่นยำคะน้ำคะเน ไปเที่ยวเตร่ประกอบชั่วตัวจึงจน
ทะเลน้อยเท่ารอยโคโผไม่ได้ โดยว่าใจยังกำหนัดขัดมรรคผล
หญิงขมิ้นชายปูนประมูลปน ไหนจะพ้นทะเลแดงตำแหน่งเนื้อ
ฯลฯ
อีกข้อหนึ่งเมืองเราชาวมนุษย์ ย่อมว่าพุทธกับไสยตั้งใจว่า
ถ้อยทีถ้อยอาศัยกันไปมา ทั้งเจรจารำคาญหูดูไม่งาม
พุทธแปลว่าพระเจ้าท่านกล่าวแก้ ไสยนั้นแปลว่าผีนี้ได้ถาม
ผิดหรือถูกไม่ตรึกตราเจรจาตาม มีเนื้อความในคัมภีร์บาลีใด
ถ้าพุทธองค์ไปอาศัยผี ผีไปพึ่งบารมีที่ตรงไหน
ถ้อยทีถ้อยพึ่งกันนั้นอย่างไร ครั้นว่าไล่เข้าก็ซัดลัทธิแรง
เป็นวาจากรรมเปล่าไม่เข้าข้อ รู้แล้วก็นิ่งไว้อย่าได้แถลง
แม้พลั้งปากเสียศีลพลาดตีนแพลง มักระแวงข้างเป็นโทษประโยชน์น้อย
ฯลฯ
จะคบมิตรสนิทนักมักเป็นโทษ เกิดขึ้งโกรธต่างต่างเพราะวางจิต
ทันระวังตัวที่ไหนไม่ทันคิด เหตุสักนิดแล้วก็ได้ขัดใจกัน
ฯลฯ
ผมยาวยุ่งทิ้งไว้ไม่สางหวี สิ้นที่พึ่งแล้วจึงมีคนข่มเหง
อาวุธปากกล่าวดีมีคนเกรง ยิงให้เป้งเดียวถูกทุกทุกคำ
ฯลฯ
ดูตระกูลกิริยาดูอากัป ดูทิศจับเอาที่ผลต้นพฤกษา
ดูฉลาดเล่าก็เห็นที่เจรจา ดูคงคาก็พึงหมายสายอุบล
นกกระจาบเดิมหนักหนามากกว่าแสน ไม่เดือดแค้นสามัคคีย่อมมีผล
ครั้นภายหลังอวดกำลังต่างถือตน พรานก็ขนกระหน่ำมาพากันตาย
ฯลฯ
คืนและวันพลันดับก็ลับล่วง ท่านทั้งปวงจงอุตสาห์หากุศล
พลันชีวิตคิดถึงรำพึงตน อายุคนนั้นไม่ยืนถึงหมื่นปี
อันความมรณาถ้วนหน้าสัตว์ แต่พระตรัสเป็นองค์พระชินศรี
แสนประเสริฐเลิศภพจบธาตรี ยังจรลีเข้าสู่นิพพานเอย ฯ


| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |