| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | |
อำเภอกันตัง เป็นอำเภอสำคัญของจังหวัดตรัง เคยเป็นที่ตั้งของเมืองตรังมาก่อน
ในต้นสมัยรัตนโกสินทร์ เมืองตรังย้ายมาตั้งที่ "ตำบลควนธานี"
ซึ่งหากไปจาก อ.เมืองตรัง พอถึง กม.๗๙ ก็เลี้ยวขวาไปอีกประมาณ ๑ กม. จะมีหลักเมืองตรังซึ่งได้รับการบูรณะแล้ว
ตั้งอยู่ในสถานที่ที่งดงาม คงมีแต่หลักเมือง ไม่มีซากของโบราณสถาน ที่บ่งบอกว่าเป็นเมืองเก่าเหลือไว้ให้ชมเลย
ศาลหลักเมืองที่ควนธานีนี้ สร้างโดย พระยานคร (น้อย) เมื่อ พ.ศ.๒๓๕๔ และมีการปรับปรุงกันใหม่
เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๕
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ พ.ศ.๒๔๒๑ เมืองตรังถูกโอนจากการอยู่ในกำกับของ นครศรีธรรมราชมาขึ้นตรงกับกรุงเทพ
ฯ
พ.ศ.๒๔๓๓ รัชกาลที่ ๕ เสด็จปประพาสปักษ์ใต้ ทรงเห็นความทรุดโทรมของเมืองตรัง
จึงโปรดเกล้า ฯ ให้พระยารัษฎานุประดิษฐมหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) เจ้าเมืองกระบุรี
(อ.กระบุรี จ.ระนอง) มาเป็นเจ้าเมืองตรัง เพื่อที่จะได้พัฒนาเมืองตรัง
พระยารัษฎา ฯ มุ่งหมายที่จะให้เมืองตรังเป็นเมืองท่าค้าขายที่สำคัญของฝั่งตะวันตก
และเห็นว่า "กันตัง"
ตั้งอยู่ปากอ่าวแม่น้ำตรัง ใกล้ทะเล เรือสินค้าขนาดใหญ่จะเข้ามาได้สะดวก
จึงกราบบังคมทูลขอย้ายเมืองตรังจากควนธานี มาตั้งที่ปากน้ำตรังคือที่ กันตัง
เมืองตรังจึงมาตั้งอยู่ที่กันตัง เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๖
พ.ศ.๒๔๕๘ ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ รัชกาลที่ ๖ เสด็จประพาสเมืองตรัง
มีพระราชดำริว่า ตรังตั้งที่ปากน้ำกันตังจะไม่ปลอดภัยจากศัตรู เพราะอยู่ปากแม่น้ำ
และยังอยู่ในพื้นที่ราบลุ่ม ขยายเมืองได้ยาก ส่วนที่ตำบลทับเที่ยงเหมาะสมกว่า
และมีประชากรอยู่อาศัยหนาแน่น จึงโปปรดเกล้า ฯ ให้ย้ายเมืองตรังจากกันตัง
มาอยู่ที่ตำบลทับเที่ยง ซึ่งก็คือ ที่ตั้งของอำเภอเมืองตรังในปัจจุบันนี้เอง
รัชกาลที่ ๖ มีสายพระเนตรที่ยาวไกล เพราะอีก ๒๖ ปีต่อมา วันที่ ๘ ธันวาคม
พ.ศ.๒๔๘๔ กองทัพญี่ปุ่นก่อสงคราม และได้ยกพลขึ้นบกที่ตรัง มาตั้งค่ายอยู่ที่ตำหนักควนจันทร์
อ.กันตัง หลักฐานคือถ้ำที่ขุดเจาะ เป็นกองบัญชาการยังอยู่จนทุกวันนี้
เส้นทางดั้งเดิม
ที่จะมายังกันตัง คือ มาตามทางหวงแผ่นดินสาย ๔ จนถึงตรัง จากกรุงเทพ ฯ จะผ่าน
ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร (สี่แยกปฐมพร) เลี้ยวขวาไปผ่าน กระบุรี ระนอง ไปผ่านตะกั่วป่า
ท้ายเหมือง โคกกลอย (เลี้ยวขวาไปเกาะภูเก็ต) ตะกั่วทุ่ง พังงา กระบี่
ห้วยยอด ตรัง แยกจากสาย ๔ ไปตามถนน ๔๐๓ ไปกันตัง
เส้นทางที่ ๒
ผ่านชุมพร ตรงไปตามถนนสาย ๔๑ ผ่านหลังสวน พุนพิน (แยกซ้ายเข้าสุราษฎร์ธานี)
เลี้ยวขวาเข้าถนนสาย ๔๐๑ ไปผ่าน อ.บ้านตาขุน แยกเข้าถนน ๔๑๕ วิ่งไปจนบรรจบกับถนนสาย
๔ แล้วเลี้ยวซ้ายผ่านกระบี่ ห้วยยอด ตรัง กันตัง
เส้นทางที่ ๓
ซ้ำกับเส้นทางที่ ๒ แต่พอถึงพุนพินแล้วยังไม่เลี้ยวขวา วิ่งตรงต่อไปตามถนน
๔๑ อีกประมาณ ๒๐ กม.เลี้ยวขวาเข้าถนนสายใหม่อันดามันคือ ถนนสาย ๔๔ ถนนสายนี้ตรง
คดโค้งน้อยและแทบจะไม่ผ่านภูเขาเลย รถจะวิ่งได้เร็วมากตรงลิ่วไปจนบรรจบกับถนนสาย
๔ ที่ อ.อ่าวลึก แล้วเลี้ยวซ้ายไปซ้ำกับเส้นทางที่ ๒
เส้นทางที่ ๔
ไม่เลี้ยวเข้าสาย ๔๔ ตรงต่อไปจนถึงทุ่งสง เลี้ยวขวาเข้าถนนสาย ๔๐๓ ผ่านค่ายเทพสตรีศรีสุนทร
(ผมเป็นผู้ตั้งนามค่าย และสร้างอนุสาวรรีย์ท้าวเทพกระษัตรีย์ท้าวศรีสุนทร
ซึ่งรูปปั้นของท่านท้าวชูดาบประกาศชัยชนะ ที่ภูเก็ตถือดาบออกศึก) ไปผ่าน อ.ห้วยยอด
เลี้ยวซ้ายไปผ่าน ต.ลำภูรา ต้นตำรับของขนมเค้กตรัง ร้านดั้งเดิมที่กินกันมานานคงจะกว่า
๔๐ ปีคือ ร้านเค้กขุมมิ่ง เดี๋ยวนี้มีหลายร้าน
แต่ที่บอกมาทั้ง ๔ เส้นทาง ผมไม่ได้ไปสักเส้นทางเดียว เพราะล่องใต้ไกลก่อนแล้วจึงย้อนกลับมา
ผมมาจากหาดใหญ่ ถึงสี่แยกพัทุลงก็เลี้ยวซ้ายเข้าถนนสาย ๔ ไป ข้ามเขาพับผ้าที่เดี๋ยวนี้ไม่พับแล้ว
เพราะตัดถนนใหม่เข้าสู่ตรัง ไปกันตังต่อ
ผมไม่ได้ไปเที่ยวกันตังนานกว่า ๒๐ ปี กันตังเจริญไปมาก มีถนนสี่เลนไปกันตัง
หากไปจากตัวงเมืองตรัง จะไปผ่านทางแยกขวาเข้าที่ตั้งศาลหลักเมืองที่ กม.๗๙
ยางพาราต้นแรกของประเทศไทย
ยังอยู่ดี เจริอญงอกงาม ไปกันตัง ยางพาราต้นแรกจะอยู่ทางขวา ประมาณ กม.๙๓
มีป้ายปักบอกไว้ (เยื้องกับโลตัส) พระยารัษฎานุประดิษฐ ฯ (คอซิมบี้
ณ ระนอง) นำมาปลูกเพื่อบุกเบิกอาชีพ สวนยางพาราของชาวเมืองตรัง เมื่อ
พ.ศ.๒๔๔๒ โดยนำพันธ์มาจากมลายู
วัดตรังภูมิพุทธาวาส
วัดนี้อยู่เยื้อง ๆ กับยางพาราต้นแรก ริมถนนสาย ๔๐๓ เช่นกัน เดิมชื่อ วัดกันตัง
สร้างมาคู่กับเมืองกันตัง ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๓๖ ชาวพุทธอย่าวิ่งเลยวัดนี้ไป
เพราะหากไปที่โบสถ์เก่าจะได้นมัสการ พระพุทธรูปหินอ่อนจากพม่า ซึ่งพระยารัษฎา
ฯ นำมา องค์พระมีหน้าตักกว้าง ๔๓ นิ้ว สูง ๖๔ นิ้ว วันที่ผมไปโบสถ์ปิด ลองไปถามพระท่านดูว่า
จะขอให้เปิดโบสถ์ได้ไหม โชคดีไปถามเอาพระองค์ที่ถือกุญแจโบสถ์เข้าพอดี ท่านเลยเปิดโบสถ์ให้
ได้เข้าไปนมัสการพระพุทธรูปหินอ่อน
พิพิธภัณฑ์พระยารัษฎา ฯ
หากมาจากในตัวเมืองกันตัง ย้อนกลับออกมาทางจะไปตรัง จะผ่านสี่แยกเทศบาล เลยมาประมาณ
๒๐๐ เมตร มีซอยเลี้ยวเข้าไปนิดเดียว พิพิธภัณฑ์จะตั้งอยู่ทางขวามือ ในพื้นที่ที่ร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ใหญ่
อายุคงจะใกล้ร้อยปี พิพิธภัณฑ์จะเปิดให้เข้าชมในวันอังคาร ถึงวันเสาร์ ตั้งแต่เวลา
๐๘.๐๐ - ๑๖.๐๐
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้คือ บ้านพักของพระยารัษฎานุประดิษฐ์ ฯ (คอซิมบี้ ณ ระนอง)
ในขณะที่ท่านเป็นเจ้าเมืองตรัง และย้ายเมืองตรังมาตั้งที่กันตัง บ้านพักหลังนี้ได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดี
ชาวบ้านเรียกบริเวณนี้ว่า ในควน
โรงเรียนกันตังพิทยา ร่วมกับหน่วยราชการขอใช้สถานที่จากทายาทของท่านพระยารัษฎา
ฯ คือ ท่านดาโต๊ะ เบียนจง ณ ระนอง เพื่อตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ และจัดตั้งเปิดเมื่อ
๑๐ กันยายน พ.ศ.๒๕๓๕
เมื่อผ่านเข้าประตูรั้วเข้าไป เหมือนเดินอยู่ในสวนสาธารณะร่มรื่นไปหมด บ้านพักอยู่ทางขวามือ
ก่อนถึงบ้านพักสัก ๑๐ เมตร มีอนุสาวรีย์พระยารัษฎา ฯ ตั้งอยู่บนแท่นคอนกรีต
หล่อด้วยโลหะในชุดเสื้อ "คอปิด ถือไม้เท้า เต็มตัว มีขนาดสูง ๔๔ ซม. " น่าจะเป็นอนุสาวรีย์ที่เล็กที่สุดในโลก
บ้านพัก หรืออาคารพิพิธภัณฑ์ เป็นเรือนไม้ปั้นหยาสองชั้น ภายในบ้านคงจัดไว้เหมือนเมื่อครั้งท่านพระยา
ยังมีชีวิตอยู่ มีหุ่นขี้ผึ้งของท่านพระยา ฯ นั่งพักผ่อนบนเก้าอี้ มีภาพถ่ายเก่าแก่อายุกว่าร้อยปีประดับไว้
เช่น ภาพการเสด็จประพาสตรัง ของรัชกาลที่ ๖ ภาพเกี่ยวกับต้นตระกูล ณ ระนอง
ห้องครัว ใหญ่มาก หากไปวันที่พิพิธภัณฑ์ปิด ก็ยังมีห้องครัวให้ชม ทหารชมคงไม่แปลกอะไร
เพราะเตาหุงข้าวแบบใช้ฟืน แบบเตาหุงข้าว ทำกับข้าวของทหารสมัยผมรับราชการ
ไม่ทราบว่าเดี๋ยวนี้สูทกรรมทหาร พัฒนาไปใช้เตาแก๊สแล้วหรือยัง ถ้ายุคผมยังเป็นผู้บังคับหน่วย
สูทกรรมยังใช้เตาฟืน และการหุงข้าว หุงด้วยกระทะ ห้องครัวของท่านพระยา ฯ แบบเดียวกันกับ
สูทกรรมทหารคือ หุงหาอาหารด้วยกระทะใหญ่ แสดงว่าในบ้านของท่านต้องมีบริวารมาก
จึงต้องหุงข้าวด้วยกระทะ
สวนสาธารณะควนตำหนักจันทร์
ตั้งอยู่บนควน หากมาจากตัวจังหวัดตรัง ก่อนเข้าชุมชนกันตัง จะมีสามแยก เข้ากันตังหักเลี้ยวขวา
ตรงแยกนี้เป็นที่ตั้งของสวนสาธารณะควนตำหนักจันทร์ ทางเดินขึ้นควน อยู่ตรงแยกพอดี
แต่ผมไม่สมัครใจเดินขึ้นบันไดไปยังยอดควน เลี้ยวขวามาสัก ๒๐ เมตร มีถนนที่ให้รถวิ่งขึ้นไปยังยอดควนได้
ผมเลือกขึ้นวิธีนี้ ควนตำหนักจันทร์
คือ ชื่อของตำหนักที่สร้างขึ้นบนเนินเขาเตี้ย ๆ เพื่อรับเสด็จองค์รัชกาลที่
๖ ที่เสด็จประพาสเมืองตรัง เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๒ เมื่อครั้งยังทรงพระอิสริยศเป็นพระบรมโอรสาธิราช
สยามมงกุฎราชกุมาร ต่อมาภายหลังใช้เป็นเรือนรับรอง หลังสงครามโลกชำรุด ทรุดโทรมไม่เหลือร่องรอย
เวลานี้สร้างเป็นศาลาอยู่บนยอดเนิน รถขึ้นไปจอดที่ลานจอดรถได้ แล้วเดินขึ้นเนินไปสัก
๒๐ เมตร ก็จะถึงศาลา ซึ่งเป็นจุดชมวิวอีกจุดหนึ่ง ของสวนสาธารณะแห่งนี้ ในระหว่างสงคราม
กองกำลังทหารญี่ปุ่น ตั้งกองบัญชาการอยู่บนยอดเนินแห่งนี้ ขุดอุโมงค์เป็นกองบัญชาการ
อุโมงค์ยังอยู่แต่เข้าไปลึกมากไม่ได้แล้ว ปิดปั้นเอาไว้ คงกลัวจะพังลงมา ริมลานจอดรถมีลานชมวิว
จะมองเห็นเมืองกันตัง เห็นสวนป่า เห็นทิวทัศน์ของปากแม่น้ำตรัง
ตึกเก่า
ตั้งแต่สมัยพระยารัษฎา ฯ ยังมีเหลือให้ชม แต่ไม่มากเท่าภูเก็ต และยังถูกตึกสร้างใหม่ปะปนทั่วไปหมด
แต่มองดูก็รู้ว่าเป็นตึกแบบเก่า เพราะสภาพผิดกัน ตึกเก่าส่วนมากยังมีอยู่ที่ต้นถนนค่ายพิทักษ์
ถนนรัษฎา (ตรงข้ามร้านอาหารริมน้ำ ที่จะไปชิมมื้อกลางวันวันนี้ ก็มีตึกเก่าให้ชม)
สถานีรถไฟกันตัง
ไปกันตัง ต้องไปชมสถานีรถไฟกันตังให้ได้ ไปตามถนนรัษฎา ถนนสายเลียบแม่น้ำจนสุดทาง
จะถึงสถานีรถไฟกันตัง ที่ทุกวันจะมีรถไฟเข้าออก ไปสถานีตรังเพียงวันละ ๒ ขบวน
เป็นการวิ่งเพื่อรักษาประวัติศาสตร์เอาไว้ว่า ครั้งหนึ่งมีขบวนรถไฟวิ่งมาจนถึงกันตัง
ทั้ง ๆ ที่ทุกวันนี้เป็นการวิ่งที่ขาดทุน เพราะมารถยนต์จากตรังเพียง ๒๖ กม.
ใช้เวลาสักครึ่งชั่วโมงก็ถึง แต่มารถไฟต้อง ๑ ชั่วโมง แต่ก็ยังมีแม่ค้า นักท่องเที่ยว
ชอบนั่งรถไฟมาเที่ยวกัน นั่งรถไฟมา แต่ให้รถยนต์วิ่งล่วงหน้าไปรอรับที่สถานีกันตัง
จะได้มีรถเที่ยวในกันตัง สถานีเป็นอาคารเก่าแก่ ชั้นเดียว สีเหลือง ประตูบานเฟี้ยมแบบเก่า
เสาอาคารประดับลวดลานฉลุไม้ นายสถานีคงจะชอบต้นไม้มาก ปลูกทุ่งดาวกระจายดอกสีเหลืองสด
เอาไว้ตรงที่ว่างทางขวาของสถานี
รูปแบบของสถานี คงอยู่ในสภาพเดิม เมื่อแรกสร้าง แต่บำรุงรักษาอย่างดี
ถนนรัษฎา ที่เลียบแม่น้ำตรัง จะมีท่าเรือ และแพปลา ท่าเรือนั้นมีแพสำหรับบรรทุกรถยนต์
ข้ามไปยังฝั่งตรงข้ามของแม่น้ำตรัง ฝั่งตรงข้ามคือ บ้านท่าส้ม มีทางรถวิ่งต่อไปยังหาดปากเม็ง
หรือไปลงเรือบ้านเจ้าไหม เพื่อไปยังเกาะลิบง
เกาะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของตรัง มีพื้นที่มากถึง ๒๕,๐๐๐ ไร่ รอบ ๆ เกาะเต็มไปด้วยหญ้าทะเล
และพะยูน สัตว์ทะเลที่เลี้ยงลูกด้วยนมฝูงใหญ่ของประเทศไทย และใกล้สูญพันธุ์เต็มที
พะยูนกินหญ้าทะเลเป็นอาหาร (หญ้าทะเลไทยมี ๑๒ ชนิด) หากหญ้าทะเลสูญพันธุ์เมื่อไร
พะยูนคงจะสูญพันธุ์ตามไปด้วย ลิบงยังเป็นแหล่งรวมของนกหลายชนิด ทั้งนกประจำถิ่นและนกอพยพ
มีให้ชมมากมาย โดยเฉพาะในฤดูหนาว เกาะลิบงได้รับการประกาศเป็นเขตห้ามการล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง
และที่ทำการ ฯ ก็อยู่ที่เกาะนี้ด้วย รอบ ๆ ตัวเกาะมีแหลมและหาดหลายแห่ง เช่า
หาดตูบ แหลมจุโหย แหลมทวด แหลมโต๊ะชัย บริเวณแหลมจุโหยนั้น
เป็นหาดทราย เวลาน้ำลงสามารถเดินไปถึงเกาะตูบได้ ซึ่งจะมีนกทะเล นกชายเลน
ที่หนีหนาวมาอาศัยจำนวนมาก เกาะลิบงได้ชื่อว่า "เป็นแดนสวรรค์ของนักดูนก"
มีหมู่บ้านชาวประมงหลายหมู่บ้านคือ หมู่บ้านบาดูปูเต๊ะ เป็นชุมชนที่ใหญ่ที่สุด
ประกอบอาชีพทำสวนยางพารา และสวนผลไม้ ลึกเข้าไปในเกาะมีหมู่บ้านลิบง หรือบ้านพร้าว
เป็นชุมชนชาวประมง ส่วนด้านหลังเกาะคือ บ้านหลังเขา เป็นแหล่งหาดทรายและปะการังน้ำตื้น
ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม มีท่าเรือขึ้นเกาะได้ ๓ ท่า คือ ท่าเรือบาดูปูเต๊ะ
บ้านหลังเขา และบ้านพร้าว ท่าเรือบ้านพร้าว คึกคักกว่าเพื่อน เพราะอยู่ใกล้ฝั่ง
อีกทั้งท่าเทียบเรือยังเป็นจุดหลบมรสุมได้เป็นอย่างดี นักท่องเที่ยวเช่าเหมาเรือไปเที่ยวชมสถานที่
ท่องเที่ยวต่าง ๆ ได้ อยู่บนเกาะลิบง จะสามารถมองเห็นทิวทัศน์ที่งดงามของเกาะเจ้าไหม
และแหลมเจ้าไหมได้
การเดินทาง ไปเส้นทางถนนตรัง - สิเกา - หาดปากเม็ง - บ้านเจ้าไหม หรือไปทางกันตัง
แล้วเอารถลงแพขนานยนต์ ข้ามฟากไปยังบ้านส้ม เส้นทางนี้สะดวกสั้นกว่าไปทางสิเกา
และยังได้เที่ยว ได้กินที่กันตังด้วย
เรือโดยสาร มีเรือหางยาววิ่งรับส่งผู้โดยสารจากบ้านเจ้าไหม ไปเกาะลิบง ใช้เวลาประมาณ
๒๐ นาที บริการกันตั้งแต่เช้าตรู่ไปจนถึง ๑๘.๐๐ แต่เรือจะรอผู้โดยสารให้ได้
๘ - ๑๐ คน จึงจะออก หากไปกันหลายคนไม่ครบ ๘ คน เหมาลำสะดวกกว่า ค่าเช่าเหมาลำประมาณ
๒๐๐ บาท (ราคานี้ไม่ทราบว่า ยังยืนอยู่ได้หรือเปล่า) เรือจะส่งผู้โดยสารที่ท่าเรือบ้านพร้าว
ซึ่งอยู่ตอนเหนือของเกาะ
เขามุกดาและหมู่บ้านบาดูปูเต๊ะ
ชาวบ้านเรียก เขามุกดา ว่าเขาหินขาว หรือเขาดูเต๊ะ อยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้านบาดูปูเต๊ะ
ลักษณะเป็นภูเขาหินปูน ไม่สูงนัก มีทางเดินขึ้นไปชมทิวทัศน์ของท้องทะเลอันดามันตอนใต้
หมู่บ้านบาดูปูเต๊ะ
เป็นชุมชนมุสลิมขนาดใหญ่ และเก่าแก่มากที่สุดของเกาะลิบง (ตำบลลิบง อำเภอกันตัง)
มีร้านอาหาร และร้านของชำ จากหมู่บ้านนี้สามารถเดินเท้า หรือนั่งรถมอเตอร์ไซด์รับจ้าง
ไปยังบ้านหลังเขา เป็นที่พักที่มีหาดทรายเงียบสงบ ที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่า เกาะลิบง
มีบ้านพัก และจุดกางเต้นท์ (ต้องนำเต้นท์ไปเอง) ร้านอาหารพอมีที่ ท่าเรือบ้านพร้าว
และบ้านบาดูปูเต๊ะ
ร้านอาหารในตัวอำเภอกันตัง อร่อย ๆ มีหลายร้านและอาหารอร่อยอย่างหนึ่ง มีแทบจะทุกร้าน
คือ ราดหน้าซูเปอร์
ร้านริมแม่น้ำตรัง ถนนรัษฎา พอเข้าถนนเลียบริมแม่น้ำ ก็มองทางซ้ายเอาไว้ จะผ่านท่าเรือไปก่อน
มีเรือข้ามฟากแล้วจะถึงร้านริมน้ำ หากวิ่งเลยจะเป็นแพปลา ตรงข้ามเป็นตึกเก่าแก่ของกันตัง
ที่ถูกตึกใหม่เบียด นั่งที่ร้านนี้จะมองเห็นแพขนานยนต์นำรถยนต์ข้ามฟากไปบ้านท่าส้ม
อาหารแนะนำของเขา เช่น เต๋าเต้ยนึ่งบ้วย (แต่ละตัวหนักเกิน กก. ราคาขายขีดละ
๖๐ บาท ) ไม่กล้าสั่งกลัวกินไม่หมด ยังมีอีก กุ้งอบเกลือ ยำปูไข่ดอง ที่สั่งมาชิมกัน
๔ คน คือ
กุ้งแม่น้ำผัดพริกไทยดำ จานนี้ราคา ๔๕๐ บาท อาหารที่กันตัง จานโตมาก จะสั่งหลายอย่าง
อย่าสั่งด้วยความหิว จะกินไม่หมด ห่อกลับโรงแรมก็ไม่รู้จะไปนั่งกินตรงไหน
กุ้งตัวโตมาก ผัดแล้วมีน้ำขลุกขลิก เปรี้ยวอมหวาน เนื้อกุ้งแน่น หนึบ เจอกุ้งเขาจานเดียว
ก็แทบไม่ต้องกินอย่างอื่น
ปูนิ่มทรงเครื่อง ปูนิ่มทอดแล้วราดด้วยยำมะม่วง โรยด้วยมะม่วงหิมพานต์ ปูทอดแล้วเคี้ยวได้ทั้งตัว
มะม่วงหิมพานต์เคี้ยวสนุก จบแล้วเกลี้ยงจาน
ถั่วลันเตาผัดกุ้ง ผัดกับน้ำมันหอย ถั่วลันเตาสด กรอบ
ต้มยำแห้ง ลองสั่งมาชิม ปรากฎว่าน้ำต้มยำแห้งเข้มข้น รสจัด
ปิดท้ายด้วยกาแฟเย็น กลับมานอนที่ตรังอีก ๑ คิน ก่อนเดินทางต่อไปสระมรกต
| ย้อนกลับ | บน | หน้าต่อไป | |