| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | |
กระบี่ เมืองน่าอยู่ ผู้คนน่ารัก คือ คำขวัญประจำจังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นอีกจังหวัดหนึ่ง
ที่ติดกับทะเลอันดามัน
กระบี่ เป็นดินแดนเก่าแก่ที่เคยมีมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์อาศัยอยู่ มีการสำรวจพบหลักฐานทางโบราณคดี
แล้วมากกว่า ๒๐ แห่ง เช่น โบราณคดีถ้ำหลังโรงเรียน แหล่งโบราณคดีถ้าหมอเขียว
พบหลักฐานที่มีอายุมากถึง ๒๗,๐๐ - ๓๗,๐๐๐ ปี มาแล้ว จึงนับว่าเป็นแหล่งโบราณคดีที่มีอายุมากที่สุดในประเทศไทย
อีกแห่งที่พบคือ ถ้ำผีหัวโต
เป็นสถานที่พบภาพเขียน สีประวัติศาสตร์ อายุประมาณ ๒,๐๐๐ - ๓,๐๐๐ ปี
จังหวัดกระบี่ แบ่งเขตการปกครองออกเป็น ๘ อำเภอ คือ อ.เมือง อ่าวลึก เขาพนม
ปลายพระยา คลองท่อม ลำทับ เกาะลันตา และอำเภอเหนือคลอง
แหล่งท่องเที่ยว
กระบี่มีแหล่งท่องเที่ยวมากเหลือเกิน ยิ่งนานไป ยิ่งค้นพบแหล่งท่องเที่ยวมากขึ้นทุกที
ค้นพบแหล่งท่องเที่ยวที่อยู่ไม่ไกลจากค่ายทหารทุ่งสง มากมายหลายแห่ง และ ๑
ในนั้น คือ สระมรกต
อำเภอคลองท่อม ที่ผมจะพาไปเที่ยวในวันนี้ แหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ พอเล่าให้ฟังได้บ้าง
เล่าละเอียดคงต้องเขียนกันสัก ๑ ปี
เมืองกระบี่ พัฒนามาจาก เมืองปกาไสย
ชุมชนที่เกิดขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย มาเจริญมั่นคงในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
เมืองปกาไสย อยู่ที่ตำบลปกาไสย อำเภอเหนือคลอง อยู่ริมคลองปกาไสย ห่างจากอำเภอคลองท่อม
เพียง ๑๓ กม. เมืองนี้ได้ชื่อว่า "ช้างดี" คือ มีช้างมาก นครศรีธรรมราช จึงส่งพระปลัดเมือง
มาสร้างเพนียดคล้องช้าง ทำให้เจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว จนเติบใหญ่กลายเป็น เมืองปกาไสย
พ.ศ.๒๔๑๕ รัชกาลที่ ๕ โปรด ฯ ให้ย้ายเมืองปกาไสย มาตั้งที่ปากน้ำกระบี่ เรียกชื่อเมืองว่า
เมืองกระบี่
พ.ศ.๒๔๑๘ แยกการปกครองเมืองกระบี่ ออกจากเมืองนครศรีธรรมราช
พ.ศ.๒๔๓๓ รัชกาลที่ ๕ เสด็จมาเมืองกระบี่
พ.ศ.๒๔๓๙ โอนการปกครองไปขึ้นกับมณฑลภูเก็ต
พ.ศ.๒๔๔๔ พระยารัษฎานุประดิษฐ ฯ (คอซิมบี้ ณ ระนอง) เป็นสมุหเทศา ฯ
เมืองภูเก็ต ได้ย้ายที่ตั้งเมืองมาตั้งอยู่ ณ ที่ตั้งปัจจุบัน
การเดินทางไปกระบี่
ทางอากาศ มีเครื่องบินไปวันละหลายเที่ยว โทร ๐๗๕ ๖๒๒ ๔๓๙ - ๔๑
ทางรถไฟ ไม่มีทางรถไฟตรงไปกระบี่ ต้องไปลงที่สถานีตรัง หรือสุราษฎร์ธานี หรือทุ่งสง
แล้วไปต่อโดยทางรถยนต์
ทางเรือ ไปได้เหมือนกัน ไปเรือจากภูเก็ต
ทางรถยนต์ ไปได้ ๒ เส้นทาง คือ
เส้นทางที่ ๑
ไปตามถนนเพชรเกษม หรือทางหลวงแผ่นดินสาย ๔ ผ่านประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง
ตะกั่วป่า โคกกลอย (เลี้ยวขวาไปภูเก็ต) พังงา กระบี่
เส้นทางที่ ๒
เส้นนี้น่าไปมากกว่าเส้นอื่น คือ พอถึงชุมพร วิ่งตรงต่อไปตามถนนสาย ๔๑ จนถึงพุนพิน
วิ่งต่อไปอีกประมาณ ๒๐ กม. เลี้ยวขวาเข้าถนนสายสู่อันดามันสาย ๔๔ ไปอีกประมาณ
๑๐๐ กม. จะไปบรรจบกับถนนสาย ๔ ที่ อ.อ่าวลึก ไปกระบี่
อุทยานแห่งชาติ
กระบี่มีอุทยานแห่งชาติมากถึง ๔ แห่ง คือ
อุทยานแห่งชาติเขาพนมเบญจา
อยู่ในท้องที่อำเภออ่าวลึก อำเภอเขาพนม และอำเภอเมือง เขาพนมเบญจาเป็นสัญลักษณ์แห่งความงดงาม
ที่โดดเด่นอีกแห่งหนึ่งของกระบี่ มียอดเขาสูงสุด ๑,๓๙๗ เมตร เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำสำคัญคือ
คลองกระบี่ใหญ่ ที่ไหลลงสู่ทะเลอันดามัน ที่ตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองกระบี่
อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา - หมู่เกาะพีพี
อยู่ในท้องที่ อ.เมืองกระบี่ ครอบคลุมพื้นที่บริเวณหาดนพรัตน์ธารา
อ่าวพระนาง สุสานหอย ๗๕ ล้านปี และบริเวณหมู่เกาะพีพี
(มีเกาะสำคัญคือ เกาะพี พีดอน และเกาะพี พีเล) เกาะพี พี วันนี้ต่างกับเกาะพี
พี ที่ผมไปครั้งแรกเมื่อ ๒๐ กว่าปีมาแล้วอย่างมากมาย โดยเฉพาะร้านอาหารอร่อย
ๆ สมัยที่ผมไปครั้งแรก ชาวพื้นเมือง จับกุ้งมังกรมาขายตัวละ ๕๐๐ บาท (เดี๋ยวนี้เป็นพัน
ต่ออาหาร ๑ จาน) ที่พักมีแต่กระท่อม แต่ปัจจุบันมีที่พัก และร้านอาหารอย่างดี
ไปเกาะพี พี ไปเช้าเย็นกลับก็ได้ แต่ไม่คุ้ม ต้องนอนค้างอย่างน้อยสัก ๑ คืน
ไปเกาะพี พี ลงเรือได้จากท่าเรือเจ้าฟ้า ที่ในเมือง หรือจากอ่าวนาง ลองโทรถาม
๐๗๕ ๖๓๗ ๑๕๒ - ๓ หรือไปจากภูเก็ตก็ได้ ลองถาม ๐๗๕ ๖๑๒ ๔๖๓ ว่าลงเรือไปทางไหนดี
อุทยานแห่งชาติเกาะลันตา
อยู่ในท้องที่ อ.เกาะลันตา ประกอบด้วย กลุ่มเกาะรอก
กลุ่มเกาะไหง กลุ่มเกาะห้า หรือตุกนลิมา และกลุ่มเกาะลันตา
ไปอุทยานแห่งนี้ ก็ไปพักที่เกาะลันตาใหญ่ สะดวก สวยที่สุด ผมเคยไปนอนที่เกาะลันตาใหญ่
อยู่ ๒ คืน เอารถลงเรือที่บ้านหัวหิน (แยกขวาที่ กม.๑๐๑๐) ไปขึ้นเกาะลันตาน้อย
แล้ววิ่งรถข้ามเกาะไปอีกฟากหนึ่ง เอารถลงเรือ หรือแพ อีกครั้ง ข้ามไปยังเกาะลันตาใหญ่
ซึ่งมีที่พักชั้นดีมากมาย ตั้งแต่ราคาเป็นร้อยไปจนถึงราคาเป็นหมื่น เกาะลันตาใหญ่
เป็นศูนย์กลางของชาวเล ซึ่งพวกเขาเรียกเกาะนี้ว่า " สาตั๊ก " มีหมู่บ้านชาวเล
ที่หมู่เกาะหัวแหลม ได้แก่ หมู่เกาะศาลาด่วน อยู่บนเกาะลันตาใหญ่ เอารถวิ่งไปคุยกับชาวเลที่หลังจาก
สึนามิ มากวาดเอาบ้านช่องของพวกเขาไป ทางการสร้างให้ใหม่ ไม่ดูเป็นชาวเล แล้ว
อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี
อยู่ในท้องที่อำเภออ่าวลึก อำเภอเมือง และอำเภอปลายพระยา เป็นป่าดงดิบ ป่าชายเลน
ป่าพรุ ไปอุทยานแห่งนี้ ต้องไปให้ได้คือ ธารโบกขรณี
เป็นอีกแห่งหนึ่งที่น้ำเกือบเป็นสีของมรกต แต่ยังไม่เข้มเท่าสระมรกต ที่ อ.คลองท่อม
มีธารน้ำไหลออกมาจากใต้ภูเขาสู่แอ่งน้ำ แล้วไหลต่อไป กลายเป็นน้ำตกชั้นน้อย
ๆ หลายสิบชั้น ไปสะดวกมาก หากมาจากพังงา ตามถนนสาย ๔ คือ เพชรเกษม พอถึงสี่แยก
อ.อ่าวลึก ก็เลี้ยวขวาไปตามถนน ๔๐๓๙ อีก ๒ กม. ถึงทางเข้าอุทยาน แต่หากยังไม่เลี้ยวเข้าอุทยาน
ตรงต่อไปถึงหลัก กม.๑๒ จะพบสามแยก ให้เลี้ยวขวาไปอีก ๕ กม. แล้วเลี้ยวซ้ายไป
๕๐๐ เมตร จะถึงท่าเรือ มีร้านอาหารริมน้ำ ๒ ร้าน พอจอดรถที่ท่าเรือ จะมีนายหน้าวิ่งมาถามว่า
ไปถ้ำหรือเปล่า ค่าเรือไป - กลับ ๓๐๐ บาท เรือนั่งได้ ๘ คน หากเป็นวันหยุด
หรือช่วงโรงเรียนปิดเทอม จะมีเด็กนักเรียนที่เขาฝึกไว้แล้วมาเป็นไกด์
ให้รางวัลตามศรัทธา จากท่าเรือนั่งเรือไปสัก ๑๐ นาที จะผ่านถ้ำลอด
เรือวิ่งเข้าถ้ำของภูเขาหินปูน เห็นหินงอก หินย้อย รูปร่างแปลก ๆ ต่อจากนั้น
เรือจะไปจอดที่ท่าขึ้นไปยังถ้ำผีหัวโต
ที่อยู่ใกล้ ๆ กัน ในถ้ำนี้จะมีภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์
ปรากฎอยู่ตามผนังถ้ำเป็นรูปคน รูปสัตว์ ไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ ภาพ
แหล่งท่องเที่ยวในตัว อ.เมือง
หากไปยืนริมน้ำ ริมถนนเลียบแม่น้ำ มองไปทางซ้ายจะมองเห็นเขา ๒ ลูก สูงประมาณ
๑๐๐ เมตร ขนาบแม่น้ำกระบี่ ถือเป็นสัญลักษณ์ของเมืองกระบี่ เขาคู่นี้คือ เขาขนาบน้ำ
ไปเที่ยวชมได้ นั่งเรือหางยาวไปจากท่าเรือเจ้าฟ้า ใช้เวลาเดินทางเพียง ๑๕
นาที ชมเขา ชมป่าชายเลน แรงดีก็เดินไปเที่ยวถ้ำได้ ภาในถ้ำมีหินงอก หินย้อย
และสถานที่ซึ่งเคยพบโครงกระดูกจำนวนมาก
สวนสาธารณะธารา
วิ่งไปตามถนนเลียบริมแม่น้ำจนเกือบสุดสาย ก่อนถึงศาลากลาง มีทางแยกซ้ายไปยับสวนสาธารณะธารา
สวยสะอาดตา อยู่ริมแม่น้ำ มีทางเดินชมไม้ดอก ไม้ประดับ มีน้ำพุ และถนนพุ่งลงสู่แม่น้ำสายนี้
สุดทางก่อนจะมาเลี้ยวเข้าสวนมีร้านอาหารอร่อย อยู่ถนนคงคา ไปกินอาหารร้านนี้ต้องไปมื้อเย็น
กลางวันไม่ทราบว่าเขาเปิดขายหรือยัง อาหารที่ต้องสั่งคือ หอยชักตีน หากินยากนัก
พบแต่ร้านอาหารที่กระบี่ พังงา และภูเก็ต ที่อื่นไม่เคยพบเหมือนหอยพิมแดดเดียว
มีแห่งเดียวที่สมุทรสาคร ส่วนหอยหลอด (ต้องผัดฉ่า) ต้องไปร้านที่ดอนหอยหลอด
สมุทรสงคราม
สวน ก.ไก่
อยู่ติดกับสวนสาธารณะธารา มีเกาะที่เป็นป่าชายเลน มองไปบนเชิงเขา มีบ้านเศรษฐี
บ้านสวย ๆ ทั้งนั้น
หาดนพรัตน์ธารา
อยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองกระบี่ หาดนี้สวยนัก เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญไปแล้ว
มากด้วยที่พักชั้นยอด และร้านอาหารชั้นดี เมื่อก่อนนี้ชาวบ้านเรียกหาดนี้ว่า
หาดคลองแห้ง หาดยาวสะอาดตา ร่วม ๓ กม.
อ่าวนาง
ห่างจากหาดนพรัตน์ ไปประมาณ ๖ กม. มีถนนเลียบชายหาดเติบโตอย่างรวดเร็ว สาวฝรั่งเดินช๊อปปิ้ง
แต่งชุดว่ายน้ำยังพอหาชมได้
ที่พัก ในเมืองกระบี่ เดี๋ยวนี้มีที่พักดี ๆ แพง ๆ มากมายหลายแห่ง เช่น พอเข้าเมืองมาตามถนนอุตรกิจ
ที่อยู่เลียบริมแม่น้ำ ราคาตั้งแต่ ๓,๐๐๐ - ๒๗,๐๐๐ บาท ส่วนผมไปกระบี่หากพักในตัวเมืองแล้ว
ผมจะพักที่โรงแรมสูงแค่ ๓ ชั้น ราคาคืนละ ๘๐๐ บาท ไม่มีอาหารเช้า
อาหารเช้าในเมืองกระบี่ ขอแนะนำ กาแฟโบราณ ถนนอุตรกิจ ก่อนถึงท่าเรือเจ้าฟ้า
อยู่ทางขวามือ ระหว่างธนาคารไทยพาณิชย์ กับธนาคารกสิกรไทย กาแฟโบราณร้านนี้พื้นเมืองแท้
ชงอร่อยสะใจ มีขนมไทยวางไว้บนโต๊ะ แบบชาวใต้ สั่งกาแฟ ซาลาเปา ขนมจีบ ร้านนี้เป็นที่รวมของคนไทยพื้นบ้านมานั่งจิบกาแฟ
สังสรรค์กันในยามเช้า
ขนมจันน้ำยาปักษ์ใต้ ไม่มีชื่อร้าน อยู่หน้าโรงเรียนอำมาตย์ ถนนกระบี่ น้ำยา
น้ำพริก แกงไตปลา ส่วนผักเหนาะนั้นมีมาก น่ากินนัก มีทั้งผักสดและผักดอง เช่น
ลูกฉิ่ง แตงกวา ถั่วฝักยาว ถั่วงอก มีทั้งสดและลวก ยอดมุย ผักกาดดอง ไชโป๊ดอง
สับปะรด อย่าลืมสั่งไข่ต้ม ห่อหมก และไก่ทอด
โรตีมุสลิม ร้านนี้ชาวไทยมุสลิมนิยมมานั่งสังสรรค์กัน หลังโรงแรมเวียงทอง
ใกล้ๆ ท่าเรือเจ้าฟ้า ถนนอุตรกิจ ร้านอาหารที่ผมบอก วิ่งไปวนรอบเมืองสัก ๒
รอบ ก็เจอครบ
ร้านนี้มีโรตีแกงกะหรี่ แกงไก่ กาแฟโบราณ หรือโรตีโรยด้วยนมข้น
โรตีอิสลาม ร้านนี้เป็นรถเข็น ออกขายยามเย็น แต่ตั้งโต๊ะให้นั่งได้ อยู่ถนนสายขนานกับถนนอุตรกิจ
ตรงข้ามขายรถฮอนด้า อยู่หน้าร้านขายยา โรตีใส่ไข่ ใส่นม
ครัวธารา เขายกป้ายไว้ว่า สารพัดหอย อยากรู้ว่ามีหอยอะไรบ้าง ดูที่กระบะใส่หอยวางไว้ที่หน้าร้าน
บางชนิดไม่รู้จัก เช่น หอยโข่งทะเล หอยแครง หอยหวาน หอยนางรม หอยลาย หอยแมลงภู่
แล้วยังมีปลาอีกนานาชนิด ที่ร้านนี้มีแน่นอนคือ หอยชักตีน ร้านอยู่ริมถนน
ริมหาดนพรัตน์ธารา ห่างตัวเมือง ๑๗ กม.
อำเภอเหนือคลอง
อยู่ห่างจากตัวเมือง ๑๗ กม. ทางซ้ายของถนนสาย ๔ จะมีศาลาเทวดาน้ำร้อน เป็นบ่อน้ำร้อนเล็ก
ๆ เป็นบ่อพิเศษ เพราะมีรสเค็ม เชื่อว่ารักษาโรคผิวหนังได้ เล่ากันว่าสมัยที่บริเวณนี้ยังเป็นป่า
มีงูจงอางใหญ่ มีหงอน ๒ ตัว อาศัยอยู่
อาคารนิทรรศการซากดึกดำบรรพ์
ไปชมฟอสซิลอายุล้านปี แต่อยู่ในเขตปฎิบัติการภาคใต้ของ กฟผ. อ.เหนือคลอง
๐๗๕ ๖๑๑ ๙๔๘ ห่างจาก อ.เหนือคลอง ไป แล้วเลี้ยวขวาไปอีก ๘ กม. ฟอสซิลต่าง
ๆ จะจัดแสดงอยู่ในตู้กระจก
อาคารคลองท่อม
ห่างจากอำเภอเหนือคลอง ๒๕ กม. ผ่านอำเภอไปก่อน ข้ามสะพาน วัดคลองท่อม จะอยู่ทางซ้ายมือ
ที่วัดนี้เมื่อเข้าไปแล้ว ทางซ้ายมือจะมีอาคารหลังใหญ่คือ พิพิธภัณฑ์สถานวัดคลองท่อม
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ สะสมวัตถุโบราณจำนวนมากที่ขุดค้นพบได้บริเวณที่เรียกว่า
ควนลูกปัด ซึ่งเป็นเนินดินหลังวัดคลองท่อม เช่น เครื่องมือหิน เครื่องประดับ
ลูกปัดอันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่เก่าแก่ของมนุษย์เมื่อ ๕,๐๐๐ ปีมาแล้ว เปิดให้ชมเวลา
๐๘.๓๐ - ๑๑.๐๐ (พระไปฉันเพล) และ ๑๓.๐๐ - ๑๗.๐๐
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ - เขาคราม
ก่อนถึงวัดคลองท่อม พอผ่านอำเภอไปแล้ว จะมีถนนแยกซ็ายตรงหลัก กม.๑๐๒๒.๕๐ เลี้ยวซ้ายเข้าถนนสาย
๔๐๓๘ พอเลี้ยวเข้าไปแล้ว ให้เลี้ยวขวาเข้าตามป้ายไป สระมรกต
เลี้ยวขวามาได้ ๘.๕ กม. มีทางแยก หากตรงไปจะไปยัง อำเภอลำทับ "ให้เลี้ยวขวา"
ไปอีกประมาณ ๕.๕ กม. จะถึงลานจอดรถที่ไม่มีร้านอาหาร นอกจากไก่ย่าง ไข่ปิ้ง
ส้มตำ จุดนี้มีด่านเก็บเงินเสียค่าผ่านด่านคนละ ๒๐ บาท จากนั้นเดินต่อไปตามทางเดิน
เดินสบายๆ ไปอีกประมาณ ๘๐๐ เมตร เป็นทางเดินที่เดินขึ้นเนินตลอดทาง และจะผ่านทางแยกซ้าย
เพื่อไปเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ ทีนา โจลิฟฟ์ เป็นการตั้งตามชื่อของ นายทีนา
โจลิฟฟ์ ผู้มีความริเริ่มคิดอนุรักษ์ป่าดิบชื้นผืนนี้เอาไว้ เส้นทางเดินศึกษา
๒.๗ กม. เส้นทางนี้จะผ่านป่าที่เป็นที่อยู่ของนกแต้วแร้วท้องดำ และนกชนิดอื่น
ๆ อีกประมาณ ๓๐๐ ชนิด
สระมรกต
เดินผ่านทางแยกไปเส้นศึกษาธรรมชาติ ไปประมาณ ๘๐๐ เมตร มีทางแยกอีก ทางซ้ายมีสุขา
ไม่ไปสุขา ก็เลี้ยวขวา
จะมีสะพานไม้ลูกระนาดยาวประมาณสัก
๕๐ เมตร มีน้ำไหลลอดใต้สะพาน สะพานจะไปสุดทางที่ขอบสระมรกต ที่มีน้ำสีเขียวใส
ดังสีมรกต ให้ลงเล่นน้ำได้ แหม่มแต่งชุดว่ายน้ำ ทูพีช ลงเล่นน้ำกันเลย สาวไทยนุ่งผ้าซิ่น
ใส่เสื้อลงเล่นน้ำ อีกสระหนึ่ง เป็นต้นน้ำต้องเดินต่อไปอีก ๕๐๐ เมตร สระกว้าง
๒๐๐ ม. ยาว ๕๐ ม. ลึก ๑๕ ม. เป็นสีมรกต และใสสะอาด เพราะหินพื้นเป็นหินปูน
สีเขียวมรกต น้ำใสมาก จึงเปลี่ยนสีน้ำเป็นสีมรกต ผมไม่ได้ลงเล่นน้ำ แต่นั่งดูเขาเล่นน้ำ
ตอนเดินกลับ เดินลงตลอดไม่ทันเหนื่อย ก็ถึงลานจอดรถ
กลับออกมา ๕.๕ กม. เลี้ยวซ้ายไปทางจะไปออกถนนสัก ๑ กม. ทางซ้ายจะเห็นทางแยกมีป้ายบอกว่าไป
น้ำตกร้อนคลองท่อม
เลี้ยวซ้ายไปอีก ๑,๙๐๐ เมตร จะถึงด่านเก็บเงินน่าจะเป็นของ อบต. เก็บคนละ
๒๐ บาท ค่ารถคันละ ๒๐ บาท ด่านนี้ใจดี สว.ฟรี ไม่เก็บสตางค์ มองเห็นน้ำตกร้อนตกลงสู่ลำธาร
เป็นบันไดปูนที่น้ำตกลงมา จากจุดนี้เดินต่อไปอีก ๒๐๐ เมตร จะเป็นบ่อน้ำร้อนที่น้ำร้อนผุดขึ้นมาจากใต้ดิน
ร้อนประมาณ ๔๐ - ๕๐ องศาเซลเซียส สายน้ำไหลไปสู่ลำธารน้ำเย็น ในลำธารห้ามเล่นน้ำ
กลับออกมายังถนนหน้าอำเภอ หรือทางหลวงแผ่นดินสาย ๔ เพชรเกษม พอดีฝนตกหนัก
จะวนหาร้านอาหารที่เคยชิมเอาไว้ ก็ไม่สะดวก เลยวิ่งกลับไปทางตัวเมืองกระบี่
พอถึงเชิงสะพาน ทางซ้ายมือมองเห็นไก่ตอนในตู้ ตัวโต อวบน่ากิน ฝนก็กำลังตก
เลยตกลงเลือกเอาร้านนี้เป็นมื้อกลางวัน ร้านข้าวมันไก่ จัดการสั่งไก่ตอนจานโต
ๆ มา ๑ จาน ไก่ขาว อวบ น่ากิน เนื้อไก่นุ่มเคี้ยวหนึบ ๆ น้ำจิ้มดี ขอซีอิ้วดำมาเพิ่มอีกถ้วย
ทีนี้สังเกตุดูว่าชาวพื้นบ้านที่เขาเข้ามาทีหลัง คำแรกเขาไม่สั่งไก่ตอน แต่เขาสั่งเกาเหลาเลือดหมู
หลายโต๊ะสั่งเกาเหลาเลือดหมูกับข้าวสวย บางโต๊ะจึงจะสั่งข้าวสวยเกาเหลา เลือดหมู
และไก่ตอน แสดงว่าเกาเหลาเลือดหมูแน่จริง เลยรีบสั่งบ้าง ไม่ผิดหวัง น้ำซุปเยี่ยม
ซดร้อน ๆ ตักไก่ตอน วางบนข้าว ราดด้วยน้ำจิ้ม ส่งเข้าปาก แล้วตักน้ำซุปของเลือดหมูซดตาม
อร่อยอย่าบอกใคร นึกว่ามื้อนี้จะอดอาหารอร่อย เพราะฝนตกไม่มีโอกาสตระเวนหาร้านอาหาร
กลับได้ชิมอาหารดี ไม่ผิดหวัง
| ย้อนกลับ | บน | หน้าต่อไป | |