| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |

ล่องใต้ (๑๒)

            จังหวัดพังงา มีคำขวัญว่า "แร่หมื่นล้าน บ้านกลางน้ำ ถ้ำงามตา ภูผาแปลก แมกไม้จำปูน บริบูรณ์ทรัพยากร" จังหวัดพังงา เป็นอีกจังหวัดหนึ่ง ที่อยู่ริมทะเลอันดามัน หรือมหาสมุทรอินเดีย อยู่ติดกับกระบี่ทางทิศตะวันออก ที่อำเภอทับปุด และทิศนี้ยังติดกับสุราษฎร์ธานี ส่วนทางทิศเหนือ อำเภอคุระบุรี ติดกับจังหวัดระนอง ทิศใต้ติดกับภูเก็ต ทางอำเภอตะกั่วทุ่ง ส่วนทิศตะวันตกซึ่งงามไปด้วยเกาะในทะเลนั้น ติดกับทะเลอันดามัน ก่อนที่จะมีคำขัญที่ไพเราะและมีความหมายเช่นนี้ พังงาเคยถูกเรียกขานว่า พังงาฟ้าแดง หรือแม่ฮ่องสอนแห่งภาคใต้ เพราะพังงาเมื่อสัก ๔๐ กว่าปีมาแล้วนั้น ไปมาลำบากมาก ถนนลาดยาง ดูเหมือนจะไม่มี มีแต่ลูกรังรถวิ่งฝุ่นแดงกระจายเต็ม หรือที่ว่าเหมือนแม่ฮ่องสอน เพราะไปมาลำบาก เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๕ ผมรับราชการอยู่ที่ ป.พัน ๒ ปราจีนบุรี ในตำแหน่ง ฝอ.๓ ป.พัน ๒ จึงมีรถจิ๊บประจำตัว ๑ คัน อย่าไปเรียกว่า รถตำแหน่งโก้เกินไป นายทหารสมัยนั้น ยากที่จะมีรถขี่ มีแต่รถจักรยานถีบกันน่องโป่งไปเท่านั้นเอง รถมอเตอร์ไซด์ก็หายาก ยิ่งรถเก๋งยิ่งหายากใหญ่ ผมกับเพื่อนอีก ๓ คน อยากไปเที่ยวภาคใต้ กะไปกันให้ถึงสงขลา แล้วเช่ารถไปเที่ยวปีนัง ไปพังงาเมื่อ ๒๕๐๕  ทางหลวงแผ่นดินสาย ๔ หรือ เพชรเกษม มีเป็นห้วง ๆ คือ มีจากกรุงเทพ ฯ มาประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร (สาย ๔๑ ตรงไปทุ่งสงยังไม่ได้ตัด)  เลี้ยวขวาที่สี่แยกปฐมพรไปตามไหล่เขาอีก ๑๒๒ กม. ก็จะถึงระนองและสุดทางกันที่ระนอง ถนนจากระนองไปยังตะกั่วป่า "ไม่มี มีเหมือนกัน แต่เป็นถนนดิน ถนนสำหรับรถลากไม้ตัดในป่า รถจิ๊บวิ่งได้ รถเก๋งอย่าหวัง " ไปพังงาจึงยังไปทางรถยนต์ไม่ได้ หรือไปได้ก็ต้องรถบรรทุกสมัยนั้น รถโฟวีลก็หายาก แต่รถจิ๊บทหาร หรือเรียกว่ารถ ๑/๔ ตัน นั้นโฟวีลหากไม่เจอฝนตกหนักก็พอไปได้ คืนแรกต้องนอนที่ชุมพร จากระนองจึงวิ่งไปได้แค่ตะกั่วป่า แล้วพักนอนโรงแรมที่พอนอนได้ ๑ คืน ไปนอนตรังอีก ๑ คืน วันที่ ๔ จึงวิ่งถึงค่ายทหารที่จะไปพักนอนบ้านพรรคพวก ซึ่งบอกว่ารอจนเมาหลับไปหลายตื่นแล้ว แต่ปัจจุบันจากระนอว วิ่งรวดเดียวไปนอนหาดใหญ่ได้เลย เพราะถนนดีตลอด ส่วนใหญ่จะมีเป็นถนนสี่เลนหมดแล้ว และเมื่อเข้าตัวเมืองพังงา ก็มีถนนอ้อมเขานางหงส์ ลัดไปออกอำเภอทับปุด แต่หากเป็นปี ๒๕๐๕ จากตัวเมืองพังงาต้องข้ามเขานางหงส์ที่สูงชัน ไปยังฟากอำเภอทับปุด ไม่มีถนนลาดยางแม้แต่เมตรเดียว จากนั้นก็จะเป็นถนนดินลูกรัง
            พังงา แบ่งเขตการปกครองออกเป็น ๘ อำเภอ คือ อำเภอเมืองพังงา กะปง คุระบุรี ตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่ง ท้ายเหมือง ทับปุด และอำเภอเกาะยาว
            อุทยานแห่งชาติ พังงามีอุทยานแห่งชาติมากที่สุดในภาคใต้ มีถึง ๖ แห่ง คือ
                ๑. อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา  ครอบคลุมพื้นที่ อ.เมืองพังงา ตะกั่วทุ่ง เกาะยาว พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทะเล และเกาะน้อยใหญ่ มีป่าชายเลน สถานที่ที่น่าสนใจคือ เกาะปันหยี เป็นเกาะเล็กๆ มีพื้นที่ไม่มาก พื้นที่บนเกาะตั้งโรงเรียน สถานีอนามัยและมัสยิด ก็เต็มพื้นที่บนเกาะแล้ว ส่วนบ้านผู้คนนั้นปลูกกันในน้ำ ราษฎรเป็นชาวไทยมุสลิม ตอนที่ผมรับราชการอยู่ภาคใต้เมื่อ ๒๒ ปีที่แล้ว มีไทยพุทธอยู่ครอบครัวเดียว บ้านเรือนปลูกอยู่ในน้ำทั้งหมด มีสะพานไม้กระดานเชื่อมต่อกัน เดินถึงกันด้วยสะพานไม้ มีร้านอาหารซึ่งปัจจุบันร้านอาหารกลายเป็นร้านระดับภัตตาคาร เพื่อรับรองนักท่องเที่ยว ที่มากับทัวร์เรียกว่า ยกกันมาทีละร้อยคน ร้านอาหารก็รับอยู่ ทำให้ความงดงามด้วยธรรมชาติ ของบ้านในน้ำลดลงไป เพราะร้านอาหารร้านใหญ่ ๆ ปลูกในน้ำก็จริง แต่รูปร่างร้านดั้งเดิมก็หายไปด้วย และสะพานไม้ที่เดินเชื่อมกัน ระหว่างบ้าน กลายเป็นสะพานหรือทางเดินคอนกรีตแคบ ๆ ร้านอาหารขยายใหญ่โต มีอาหารทะเลแห้ง และสินค้าประเภทที่ระลึกจำหน่าย ปันหยียังน่าไปเที่ยว ไปดูบ้านที่ปลูกในน้ำ บนเกาะมีโรงเรียน สถานีอนามัย และมัสยิด บ้านส่วนใหญ่ก็ปลูกดีกว่าเดิม ร้านอาหารใหญ่ ๆ มีหลายร้าน
                การไปเที่ยวเกาะปันหยี หากไม่ได้ไปกับทัวร์ไปกันเองก็ได้ ออกจากตัวเมืองพังงาไปทาง อ.ตะกั่วทุ่ง ประมาณ ๘ กม. แล้วเลี้ยวซ้ายไปยังอ่าวพังงา มีโรงแรมชั้นดี อาหารก็ดี ผมพักเป็นประจำ ห้องพักหันสู่แม่น้ำพังงา และที่ท่าเรือศุลกากรเลยโรงแรมไป มีเรือหางยาวเหมาลำพาไปเที่ยวในอ่าวพังงา ราคาเหมาลำไม่น่าจะเกิน ๑,๐๐๐ บาท นั่งได้ ๘ คน ลองโทรถาม ๐๗๖ ๔๔๐ ๖๕๙ เรือเหมาลำจะพาเราออกจากท่าใกล้ ๆ โรงแรม ไปผ่านเกาะหมาจู เป็นลำดับแรก เมื่อออกปากอ่าวจะผ่านเกาะปันหยี เรือจะยังไม่แวะเกาะปันหยี จะวิ่งเลยไปก่อน เว้นไปผ่านเวลาอาหารกลางวัน จึงจะแวะปันหยี เมื่อไม่แวะ เรือก็พาวิ่งชมทะเล ชมภูเขา ชมเกาะกลางน้ำไปยังถ้ำลอด เรือวิ่งลอดถ้ำ ที่งามไปด้วยหินงอก หินย้อย ถ้ำลอดนี้ชาวเรือใช้เป็นที่หลยพายุด้วย จากนั้น จึงจะพามาแวะเกาะปันหยี ภูเขาที่ริมน้ำ ก่อนถึงเขาหมาจู คนเรือจะชี้ให้ดูภาพที่เขาเขียนอยู่บริเวณหน้าผา ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า ๓,๐๐๐ ปี และยังมีที่เที่ยวอีกคือ เขาพิงกัน เกาะพนัก เกาะห้อง จะไปมากแค่ไหนต้องตกลงกันกับเรือที่เช่าเหมาลำ หากไม่ลงเรือที่ท่าศุลกากร อาจจะไปลงเรือที่ท่าเรือสุระกุล หรือท่าเรือกะโสม อำเภอตะกั่วทุ่ง แต่ราคาจะแพงกว่า
                ๒. อุทยาแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน  อยู่ตำบลเกาะพระทอง อำเภอคุระบุรี "สิมิลัน" เป็นภาษายาวี แปลว่า "เก้า หรือหมู่เกาะเก้า " หมู่เกาะนี้จึงมีด้วยกัน ๙ เกาะ ได้แก่ เกาะหูยง ปายัง ปาหยัน เกาะเมี่ยง (๒ เกาะติดกัน)  เกาะปายู เกาะหัวกะโหลก (เกาะบอน)  เกาะสิมิลัน และเกาะบางู หมู่เกาะเหล่านี้ งดงามทั้งบนบกและในน้ำ ไปแล้วก็อยากไปอีก ผมเคยไปกับเรือใหญ่ คือ อันดามันปริ๊นเซส ค้างคืนในเรือ ๓ คืน กินอาหารอย่างดีวันละ ๕ มื้อ เรือบริการอย่างดีเยี่ยม ระหว่างเดือนพฤษภาคม - ตุลาคม เป็นฤดูมรสุม อุทยานจะปิด ที่ทำการอุทยานอยู่ที่เกาะเมี่ยง ไปเที่ยวควรไปกับทัวร์ หรือลงเรือที่ท่าเรือทับละมุ อ.ท้ายเหมือง โทร ๐๗๖ ๔๔๓ ๒๗๖ หรือไปจากหาดป่าตอง
                ๓. อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์  อยู่ห่างจากฝั่งประมาณ ๗๐ กม. ประกอบด้วยเกาะสุรินทร์เหนือ เกาะสุรินทร์ใต้ เกาะไข่ (เกาะตอรินลา)  เกาะกลาง (เกาะปาจุมบา)  และเกาะรี (เกาะสต๊อร์ก)  สภาพป่าบนเกาะยังคงความเป็นป่าดงดิบ ความงดงามของอุทยานแห่งนี้ ได้รับการยกย่องไปทั่วโลก มีปะการังสวยที่สุดในทะเลไทย เดินทางไปกับทัวร์ดีที่สุด หรือเช่าเรือไปจากท่าเรือคุระบุรี ๐๗๖ ๔๙๑ ๓๗๘
                ๔. อุทยานแห่งชาติศรีพังงา  อยู่ในเขตอำเภอคุระบุรี และตะกั่วป่า เป็นป่าดงดิบชื้น มีพันธุ์ไม้สำคัญคือ ตะเคียนทอง ปาล์ม ไม้ยาง สัตว์ป่าหายาก ได้แก่ วัวแดง เก้ง เสือ กบฑูต  น่าเที่ยวคือ น้ำตกตำหนัง น้ำตกโตนไทร ติดต่อที่พัก ๐๗๖ ๔๑๒ ๒๖๑๑
                ๕. อุทยานแห่งชาติเขาหลัก ลำรู่  ห่างจาก อ.ตะกั่วป่า ๓๓ กม. อยู่ริมทางหลวงหมายเลข ๔ ครอบคลุมพื้นที่ อ.เมือง อ.ตะกั่วป่า อ.ท้ายเหมือง อ.กะปง ลักษณะพื้นที่อุทยานเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน มีเทือกเขาสูงสุด สูง ๑.๐๗๗  เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำพังงา และแม่น้ำตะกั่วป่า มีน้ำตกโตนช่องฟ้า อุทยานมีบ้านพัก และเต้นท์ บริการ โทร ๐๗๖ ๔๒๐ ๒๔๓ ชายทะเลมีบ้านพัก มีรีสอร์ท ชั้นเยี่ยม (รวมทั้งราคาด้วย) มากมาย
                ๖. อุทยานแห่งชาติเขาลำปี  หาดท้ายเหมือง ประกอบด้วยเทือกเขาลำปี มีภูเขาหลายลูกเป็นแนวยาว ส่วนใหญ่เป็นหินอัคนี อายุ ๖๐ - ๑๔๐ ล้านปี มีบ่อน้ำพุร้อน ใน ต.บ่อดาน อ.ท้ายเหมือง ถามทางโทร ๐๗๖ ๕๘๑ ๑๑๕ มีน้ำตกลำปี น้ำตกโตนไทร หาดท้ายเหมือง อุทยานมีที่พัก โทร ๐๒ ๕๖๑ ๒๙๑๘ - ๒๒
            เส้นทาง  ไปพังงา ไปได้ ๒ เส้นทางคือ ไปตามเส้นทางดั้งเดิม ทางหลวงแผ่นดินสาย ๔ หรือเพชรเกษม ผ่านประจวบคีรีขันธ์ ถึงสี่แยกปฐมพร เลี้ยวขวาไปผ่านระนอง ตะกั่วป่า ท้ายเหมือง โคกกลอย ตะกั่วทุ่ง อ.เมืองพังงา ถ้าเป็นสมัยเก่าจริง ๆ หากจะไปต่อยังกระบี่ ต้องวิ่งผ่านตัวเมืองพังงา ซึ่งเป็นเมืองเล็กๆ แล้วขึ้นเขานางหงส์ ไปลงทางฟาก อ.ทับปุด ไปต่อยัง อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ แต่ปัจจุบันพอจะเข้าเมืองพังงา ถึงสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ก็แยกขวาเข้าถนน ๔๑๕ (กำลังขยายถนนเป็นสี่เลน) ไปออก อ.ทับปุด ได้ โดยไม่ต้องผ่านเขานางหงส์
                เส้นทางที่ ๒  ผ่านสี่แยกปฐมพร แล้วตรงต่อไป (หากเลี้ยวซ้ายเข้าตัวเมืองชุมพร) ตามถนนสาย ๔๑ ถึงแยกพุนพิน แยกขวาเข้าถนนสาย ๔๐๑ ไปจนถึง อ.บ้านตาขุน สุราษฎร์ธานี แยกเข้าสาย ๔๑๕ ไปผ่านทับปุด เข้าสู่เมืองพังงา
                เส้นทางที่ ๒ นี้ จะผ่านทางแยกขวาเข้าสู่ เขื่อนรัชชประภา ซึ่งอยู่ในอุทยานแห่งชาติเขาสก คลุมพื้นที่ อ.บ้านตาขุน อ.พนม และ อ.คีรีรัฐนิคม และใกล้กว่าเส้นทางแรกหลายสิบ กม. แต่ผ่านแหล่งท่องเที่ยวน้อยกว่าเส้นทางแรก ที่มีระยะทาง ๗๘๘ กม.
               หากนึกสนุกไปตามเส้นทางแรก เมื่อผ่านสี่แยกตะกั่วป่า อยากให้เลี้ยวซ้ายเข้าไปยังตลาดใหญ่ตะกั่วป่า ไปชมตึกแถวแบบชิโน -โปร์ตุกีส แบบเดียวกับที่ภูเก็ต บริเวณตลาดใหญ่นี้คือ ที่ตั้งของเมืองตะกั่วป่าดั้งเดิม เส้นทางแยกซ้ายจากสาย ๔ ไปตามถนนสาย ๔๐๙๐ อีก ๗ กม. แล้วเลี้ยวขวาเข้าตัวตลาดเก่าดั้งเดิม ที่ถนนอุดมธารา ซึ่งถนนสายนี้ยังมีตึกแถวเก่าสองชั้นแบบจีน มีหลังคามุงกระเบื้องแบบจีน คลุมทางเดินเท้า หน้าตัวตึก เรียกว่า ฝนตกก็เดินได้ไม่เปียกฝน บางช่วงยังมีซุ้มประตูโค้งเหมือนที่ภูเก็ต หน้าต่างก็มีการประดับกระจกสี บางแห่งมีเสาแบบกรีก โรมัน ส่วนใหญ่แล้วตึกแถวเหล่านี้ยังใช้งานอยู่ โดยเปิดเป็นร้านขายของ และที่อยู่อาศัย บางหลังก็กลายเป็นศาลเจ้า หรือชำรุดทรุดโทรมลงไปมาก แต่ก็น่าแวะชมและตลาดใหญ่ตะกั่วป่า มี "ต่าวซ้อ" ที่น่าจะอร่อยที่สุด ลักษณะเหมือนขนมเปี๊ยะ แต่ขนาดเล็กกว่า มีขายหลายร้านใส่กล่องสวย ขาย ๓ กล่อง ๑๐๐ บาท เต้าซ้อ (ต่าวซ้อ) ที่อื่นสู้ไม่ได้ แม้จะเป็นที่ภูเก็ต ก็ตาม
                หากไปตามเส้นทางที่ ๒ มาตามถนนสาย ๔๑๕ มาจนบรรจบกับถนนสาย ๔ ก็เลี้ยวขวามาหน่อย แล้วเลี้ยวซ้ายกลับเข้าถนนสาย ๔๑๕ อีกครั้งเพื่ออ้อมเขานางหงส์ มุ่งหน้าไปทางสวนสมเด็จย่า เข้าสู่ตัวเมืองพังงา หรือจะแยกซ้ายเข้าถนนสาย ๔ อีกครั้ง ไปยังตะกั่วทุ่ง ไปโคกกลอย ข้ามสะพานเทพกระษัตรี ไปภูเก็ตเลยก็ได้
                ผมขอแนะนำ ร้านหมูสะเต๊ะ อร่อยมากเอาไว้ด้วย ทบทวนเส้นทางอีกที จากถนนสาย ๔๑๕ ที่มาจากบ้านตาขุน พอบรรจบกับถนนสาย ๔ ก็เลี้ยวขวามาหน่อย แล้วกลับเลี้ยวซ็ายเข้าถนนสาย ๔๑๕ ใหม่ เข้ามาได้ประมาณ ๑ กม. มองทางขวาไว้ดี ๆ จะเห็นเรือนแถวอยู่ทางขวามือ ห่างถนนสัก ๓๐ เมตร ร้านที่อยู่มุมขวาสุด ยกป้ายไว้ ไม่มีป้ายบอกว่าเป็นร้านหมูสะเต๊ะ ยอดอร่อย แต่ผ่านไปคราวหลังเห็นมีผ้าป้ายแขวนไว้ข้างหน้าคนปิ้งว่า หมูสะเต๊ะทับปุด หมูสะเต๊ะร้านนี้กินกันมานานเกิน ๒๐ ปี ผ่านมาทีไร จะตรงเวลาอาหาร หรือไม่ก็จะแวะชิม หรือซื้อติดมือไป ตอนนี้ขายไม้ละ ๔ บาท ไม้ใหญ่ คนเดียวเจอเข้าสัก ๑๐ ไม้ ก็แน่นพุง แต่หากกินที่ร้านของเขา ต้องสั่งขนมปังปิ้งด้วย น้ำจิ้มรสดีเยี่ยม เอาขนมปังปิ้งมาจิ้ม สลับกับหมูสะเต๊ะ อิ่มแทนข้าวได้เลย และยังมีพวกน้ำสมุนไพร คนปิ้งหมูสะเต๊ะ รวมทั้งคนเสริฟ เป็นหนุ่มสาว หน้าตาดีและท่าทางดี ลักษณะมีความรู้ เดี๋ยวนี้ไม่ว่าจะผ่านไปเวลาไหน จะมีลูกค้านั่งกันเต็มร้านแทบทุกครั้งไป ร้านอาหารในตัวเมืองพังงา มีน้อยค่อนข้างหายาก ถือโอกาสสรุปร้านอาหารของพังงา ที่เคยชิม และเคยแนะนำเอาไว้ด้วย
                อำเภอเมืองพังงา มีถนนสายหลักอยู่สายเดียวคือ สายที่ผ่านหน้าสวนสมเด็จย่า มีร้านก๋วยเตี๋ยวหมูเทวดา และเกาเหลาเลือดหมู (ขายตอนเช้า) เยื้องโรงพยาบาลพังงา
                ร้านเลยสี่แยกไฟสัญญาณไปอยู่ทางขวามือ แฮ่กึ๊น ปลาทรายทอด ปูทะเลอบวุ้นเส้น
                เกาะปันหยี มีร้านได้ครบ ทั้งอาหารอร่อย ของฝาก
                โคกกลอย อ.ท้ายเหมือง เมื่อก่อนนี้ะจะไปเกาะภูเก็ต ต้องผ่านตัวตำบลโคกกลอย ไปก่อนที่จะไปข้ามสะพานสารสิน ก่อนเข้าตัวตลาด มีปั๊มน้ำมันคาลเท็กซ์ อยู่ทางขวามือ (มาจากท้ายเหมือง) ร้านนี้ขายมานานหลายสิบปี ร้านชื่อแบบนี้ ต้องแสดงว่า อาหารปูอร่อย ซึ่งหากแวะกินร้านปูดำ ต้องสั่งปูผัดผงกะหรี่ ปูดำนึ่ง ปลาทรายทอด น้ำพริกกุ้งเสียบ และอย่าลืม  ใบเหรียงผัดกุ้งเสียบ
                ตะกั่วป่า หากมาจากระนอง ตามถนนเพชรเกษม ก่อนจะเข้าถึงตัวอำเภอตะกั่วป่า สถานีขนส่งจะอยู่ทางขวามือ เลยไปจะเป็นสะพานข้ามแม่น้ำ แล้วจึงจะไปยังฟากอำเภอ หากเลี้ยวขวาเข้าสถานีขนส่ง ร้านฮกกี่เหลา จะอยู่ติดกับสถานีขนส่ง ติดแม่น้ำ
            สถานที่ท่องเที่ยวที่ลือชื่อโด่งดังของพังงา  ล้วนอยู่ในทะเล ตามที่ผมได้เล่าไปบ้างแล้ว หากมาทางบก เช่นมาจากสุราษฎร์ธานี มาผ่านร้านหมูสะเต๊ะ จนไปบรรจบกับถนนเพชรเกษม ก่อนบรรจบทางขวามือคือ ประตูผาเลี้ยวเข้าสวนสมเด็จย่าได้อีกทางหนึ่งเรียกประตูผา เพราะเป็นหน้าผา มีทางรถผ่านได้เป็นหน้าผา ที่นักไต่เขามือใหม่จะมาฝึกหัดปีนเขาได้ ภายในสวนมีรูปปั้นสมเด็จย่าอยู่ด้านหน้าถนนเพชรเกษม มีถ้ำฤาษีสวรรค์ และถ้ำลูกเสือ มีธารน้ำใส มีหินงอกหินย้อย ไม้ดอก ไม้ประดับ
            ผ่านหน้าสวนสมเด็จย่าไปจะมีศาลจังหวัดหลังเก่า ก่อสร้างแบบดั้งเดิม หาชมยาก
                วนอุทยานสระนางมโนราห์  ไปทาง อ.ทับปุด แล้วแยกขวาไปอีก ๔ กม.  มีน้ำตกสระนางมโนราห์ เล่นน้ำได้ตลอดปี มีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ ระยะทาง ๒ กม.
                สถานีเพาะเลี้ยงพันธุ์สัตว์ป่า  จ.พังงา ไปทาง อ.ตะกั่วป่า ประมาณ ๔ กม.เศษ สวนจะอยู่ทางซ้ายมือ มีสวนสัตว์แบ่งเป็น สวนนก มีทั้งไก่ฟ้าพระยาลอ ไก่ฟ้าหน้าเขียว นกทึดทือมลายู นกเค้าใหญ่สุมาตรา นกออก สัตว์จำพวกลิง สิงเสน ชะนีมือขาว พวกสัตว์อื่น ๆ เช่น หมีควาย หมีขอ กระจง ฯ มีศูนย์บริการข้อมูล
                วัดสุวรรณคูหา  ได้ชื่อว่าเป็นวัดที่ไปเที่ยวถ้ำ ตามเสด็จสี่กษัตริย์ เพราะมีพระมหากษัตริย์เคยเสด็จมา และทรงลงพระปรมาภิไธยย่อ เอาไว้ถึง ๔ พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลมหาราช
                เส้นทาง ไปทางตะกั่วทุ่งประมาณ ๕ กม. จะถึงทางแยกขวา มีป้ายชี้ทางเลี้ยวขวา เข้าไปก็จะถึงลานจอดรถหน้าถ้ำ ไปวัดนี้ก็เข้าไปในถ้ำ ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายถ้ำ ถ้ำใหญ่ หรือถ้ำพระ มีพระพุทธไสยาสน์ ถ้ำที่อยู่สูงขึ้นไปประมาณ ๘ เมตร คือ ถ้ำแจ้ง มีปล่องอากาศกว้างมาก มีบันไดขึ้นไปได้ ผนังถ้ำด้านซ้าย เป็นที่จารึกพระปรมาภิไธยย่อ
                จากถ้ำแจ้ง มีทางแยกขวาไปสู่ถ้ำอื่น ๆ ได้โดยรอบ แต่หากเลี้ยวซ้ายจะเข้าสู่ถ้ำมืด มีหินงอก หินย้อย และจากถ้ำมืด เดินไปจะทะลุไปถ้ำผึ้ง และออกไปถ้ำแจ้งได้อีก ที่เรียกว่า ถ้ำผึ้ง เพราะมีผึ้งหลวงมาทำรัง ถัดจากถ้ำผึ้งคือ ถ้ำแก้ว ประดิษฐานพระพุทธรูปสามองค์ ซึ่งเคยมีนักโบราณคดีมาขุดค้นสำรวจ ไปวัดนี้อย่าลืมซื้อกล้วยแจกลิงด้วย

| ย้อนกลับ | บน | หน้าต่อไป |