| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | |
พื้นที่ของจังหวัดภูเก็ตทั้งจังหวัดอยู่รวมกันบนพื้นที่ของเกาะภูเก็ต และเกาะบริวารอีก
๓๙ เกาะ เชื่อกันว่า ภูเก็ต เดิมนั้นมิได้เป็นเกาะ แต่เป็นแหลมยื่นออกมาจากแผ่นดินใหญ่คือ
แผ่นดินจังหวัดพังงาในปัจจุบัน และต่อมาน้ำกัดเซาะแผ่นดินขาด จึงเกิดเป็นช่องแคบเรียกว่า
ช่องปากพร สันนิษฐานว่า
เกาะภูเก็ต (อ.ถลาง) เกิดชุมชนเมืองประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๗ - ๑๘ เมื่อปรากฎเป็นเมืองบริวาร
๑๒ นักษัตรของนครศรีธรรมราช และในตำนานเมืองไทรบุรีมะโรงมหาวังษา
ก็ได้เล่าไว้สอดคล้องกัน สาเหตุที่เกิดเมืองก็น่าจะมาจากชุมชนของเมืองตะกั่วป่า
และเมืองตะกั่วทุ่ง ข้ามไปหาแร่ดีบุกที่มีอยู่มากมาย บนตัวเกาะภูเก็ต
ภูเก็ตเริ่มเกิดเป็นชุมชนในตอนปลายของสมัยกรุงศรีอยุธยา (ก่อน พ.ศ.๒๓๑๐) และมาปรากฎชื่อในพงศาวดาร
ในแผ่นดินรัชกาลที่ ๑ แห่งรัตนโกสินทร์ แต่เป็นเมืองขนาดเล็ก ต้องมาขึ้นกับเมืองที่ใหญ่กว่าคือ
เมืองถลาง แต่เป็นชุมชนที่เจริญอย่างรวดเร็ว
จึงโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งเจ้าเมือง บรรดาศักดิ์เป็น พระภูเก็ต
พ.ศ.๒๓๙๓ เลื่อนบรรดาศักดิ์พระภูเก็ตเป็น พระยาภูเก็ต มีศักดิ์ศรีเท่าพระยาถลาง
พอมาถึงแผ่นดินรัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้า ฯ ให้ยกเมืองภูเก็ต เป็นหัวเมืองขึ้นตรงกับกรุงเทพ
ฯ เมืองถลางเริ่มซบเซา เพราะแร่ดีบุกเริ่มลดน้อยลง
พ.ศ. ๒๔๓๘ รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งมณฑลภูเก็ต มีเมืองต่างๆ ขึ้นตรง
๗ เมือง คือ ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล ตะกั่วป่า พังงา และระนอง ส่วนเมืองถลางลดลงมาเป็นอำเภอขึ้นกับเมืองภูเก็ต
การเดินทาง ทางอากาศสะดวกที่สุด แต่ไปถึงแล้วต้องไปเช่ารถขับเที่ยว
ทางรถไฟตรงไปภูเก็ตไม่มี อยากไปให้วุ่นวายเล่น ก็ไปลงรถไฟที่สถานีพุนพิน สุราษฎร์ธานี
หรือไปลงที่สถานีตรัง แล้วหารถยนต์วิ่งมาเกาะภูเก็ต
ผมไปเที่ยวทีไร ก็จะไปทางรถยนต์เป็นหลัก นอกจากไปราชการอาจจะมีบ้าง ที่ไปทางอากาศ
เพราะไปแล้วมีรถยนต์คอยบริการอยู่ปลายทาง
ไปทางรถยนต์
เส้นทางแรก
ไปตามทางหลวงแผ่นดินสาย ๔ หรือเพชรเกษม ผ่านประจวบคีรีขันธ์ สี่แยกปฐมพร (ชุมพร)
เลี้ยวขวาไประนอง ไปผ่านตะกั่วป่า ท้ายเหมือง ถึงโคกกลอย ข้ามสะพานเทพกษัตรี
(เที่ยวกลับข้ามสะพานสารสิน) ไปอีก ๔๕ กม. ถึงตัวเมืองภูเก็ต ๘๖๒ กม. แต่ตอนที่ผมไปครั้งแรก
เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๕ ต้องเอารถจิ๊บที่พ่วงเทรลเลอร์ ลงแพข้ามไปยังตัวเกาะภูเก็ต
(ยังไม่ได้สร้างสะพานสารสิน)
เส้นทางที่ ๒
ถึงสี่แยกปฐมพร ตรงไปตามถนนสาย ๔๑ ไปจนถึงพุนพิน เลี้ยวเข้าสาย ๔๐๑
ไปจนถึงบ้านตาขุน ตัดเข้าสาย ๔๑๕ ไปจนบรรจบกับสาย ๔ ที่ทับปุด เลี้ยวขวามาหน่อยแล้วเลี้ยวซ้ายเข้า
๔๑๕ อีกที มาออกพังงา บรรจบกับสาย ๔ เลี้ยวซ้ายไปผ่านตะกั่วทุ่ง โคกกลอย ข้ามสะพานเทพกษัตรี
สายนี้ใกล้กว่า ผ่านภูเขาน้อย ทุ่นเวลา
เขตการปกครอง
ภูเก็ตแบ่งเขตการปกครองออกเป็น ๓ อำเภอ คือ อำเภอเมืองภูเก็ต อำเภอถลาง และอำเภอกระทู้
คำขวัญประจำจังหวัด ไข่มุกอันดามัน สวรรค์เมืองใต้ หาดทรายสีทอง สองวีรสตรี
บารมีหลวงพ่อแช่ม
ดวงตราประจำจังหวัด รูปท้าวเทพกระษัตรีและท้าวศรีสุนทร ท่านท้าวทั้งสองถือดาบในท่าออกศึก
(ส่วนอนุสาวรีย์ที่ผมสร้างไว้ในค่ายเทพสตรีศรีสุนทร อ.ทุ่งสง ท่านท้าวชูดาบ
ประกาศชัยชนะ)
ขออธิบาย การสะกดนามท่านท้าว ที่เขียนหลายแห่งไม่เหมือนกัน ต้องเล่าย้อนไปจนถึงสมัยผมเรียนหนังสือ
เรื่อยมาจนถึง พ.ศ.๒๕๒๓ นามท่านท้าวเขียนว่า "ท้าวเทพสตรีท้าวศรีสุนทร" เมื่อผมย้ายมารับราชการที่
ทภ.๔ ในตำแหน่ง รอง ผบ.บชร.๔ แม่ทัพ ๔ คือ พลโท จวน วรรณรัตน์ ส่วนรองแม่ทัพท่านหนึ่ง
(เหล่า ป.) นาม พลตรี เลิศชัย สุขศรี ท่านทั้งสองเห็นว่า ผมชอบเขียนหนังสือ
จึงมอบให้ผมตั้งนามค่าย เพื่อขอรับพระราชทานนามค่าย ที่เรียกกันแต่ว่า ค่ายทหารทุ่งสง
เพราะเคยเสนอนามค่ายขอพระราชทานขึ้นไปแล้ว "ไม่ทรงโปรด ฯ" ผมเห็นว่าค่ายทหารทุ่งสง
แม้จะไม่ได้เป็นที่ตั้งของกองบัญชาการ ทภ.๔ แต่ก็เป็นค่ายทหารที่ใหญ่ที่สุดในภาคใต้
และใหญ่เป็นลำดับ ๒ รองจากค่ายสุรนารี ที่นครราชสีมา (ที่พิษณุโลก แยกเป็น
๒ ค่าย จึงมีขนาดเล็กกว่าที่ทุ่งสง) เป็นที่ตั้งของกองบัญชาการกองพลทหารราบที่
๕ ,กองบัญชาการช่วยรบที่ ๔ และจังหวัดทหารบกทุ่งสง (รวมแล้วมี ๓ นายพล)
ท่านท้าวเป็นวีรสตรีของชาวใต้ จึงสมควรนำนามของท่าน มาตั้งเป็นนามค่ายที่ใหญ่ที่สุดในภาคใต้
แต่การสะกดนามท่านท้าวนั้น ไม่ว่าจะเปิดหนังสือเล่มไหน หรือแม้แต่อนุสาวรีย์ท่านท้าวที่ภูเก็ต
ก็จะเขียนว่า "ท้าวเทพสตรีท้าวศรีสุนทร" ผมจึงเสนอนามค่ายไปตามที่ร่ำเรียนมา
ผ่านไปตามลำดับขั้นคือ ทภ.๔ ,ทบ. บก.สูงสุด กระทรวงกลาโหม และราชเลขา ฯ ก็ผ่านไปทุกขั้นตอน
จนได้รับพระราชทานนามค่ายว่า ค่ายเทพสตรีศรีสุนทร
รุ่นน้อง ๆ ต่อว่าหลังจากที่ได้รับโปรดเกล้า ฯ แล้วว่า ผมตั้งชื่อยาวคือ เอานามท่านท้าว
๒ ท่านเลย ค่ายที่ตั้งหลังเลยต้องหาชื่ออื่น ต่อมาทางจังหวัดภูเก็ตเปลี่ยนไปตั้งนามอนุสาวรีย์ท่านท้าวว่า
"ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร" เทพกระษัตรี, เทพกษัตรี แปลว่า ผู้หญิง ผมตั้งนามค่าย
เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๓ แต่สร้างอนุสาวรีย์ เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๖ สร้างเมื่อผมได้เป็น ผบ.บชร.๔
แล้ว แต่ไม่วายโดนชาวภูเก็ตรุ่นใหม่ต่อว่า ว่าผมเขียนชื่อค่ายผิด ก็ได้แต่ชี้แจงไปว่า
ไปดูหนังสือเรียนสมัยผมเรื่อยมาจน พ.ศ.๒๕๒๓ ล้วนเรียกท่านท้าวว่า ท้าวเทพสตรี
ทั้งสิ้น ก็เลยถือโอกาสชี้แจงเอาไว้ในที่นี้ด้วย และนามค่ายทหารทุ่งสงนั้น
เป็นนามที่ได้รับพระราชทานว่า ค่ายเทพสตรี ศรีสุนทร ย่อมไม่สมควรไปแก้ไขใด
ๆ ทั้งสิ้น ใครไปค่ายทหารทุ่งสง หรือแม้แต่ข้าราชการในค่ายทหารทุ่งสงเอง เชื่อว่ายังงง
ๆ อยู่ว่า ทำไมนามค่ายเขียนว่า ค่ายเทพสตรีศรีสุนทร แต่พอเข้าค่ายมา ๑๐๐ เมตร
พบอนุสาวรีย์ท่านท้าวชื่อ เทพกระษัตรี ศรีสุนทร ไม่ตรงกับนามค่าย หรือนามค่ายไม่ตรงกับอนุสาวรีย์
ข้าราชการในค่ายทหารทุ่งสงในวันนี้ เชื่อว่ามีเหลือไม่กี่คน ที่ทราบเหตุผลนี้
เพราะส่วนใหญ่ที่รับราชากรมากับผม ก็ล้วนแต่เป็นผู้เฒ่า และเกษียณอายุราชการไปเกือบหมดแล้ว
แต่ "จ่า " ที่นั่งหน้าห้องผม ยังไม่เกษียณ ยังรับราชการอยู่มียศเป็นพันโท
รู้เรื่องดี
ผมไปภูเก็ตคราวนี้ ความมุ่งหมายหลักคือ ได้รับเชิญให้ไปเป็นประธานในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาปันจักสิลัต
ชิงแชมป์ประเทศไทย จัดโดยสมาคมปันจักสิลัต
ขอเล่าถึงการที่ผมเข้าไปเกี่ยวข้องกับกีฬาปันจักสิลัตแห่งประเทศไทยไว้ด้วย
เพราะน้อยครที่จะทราบว่า ปันจักสิลัต เป็นมาอย่างไร ต่างพากันเข้าใจว่า ปันจักสิลัต
คือ ศิลปะการต่อสู้ของชาวไทยภาคใต้ หรือ ใน ๔ จังหวัดชายแดนภาคใต้ และสงขลาบางอำเภอ
ความจริงไม่ใช่ เมื่อก่อน พ.ศ.๒๕๓๐ เรารู้จักกันแต่ "ศิระ หรือ สิลัต" ศิลปะการร่ายรำในท่วงท่าของการต่อสู้
ของชาวไทยที่พูดภาษายาวี เป็นภาษาท้องถิ่น นำมาแสดงในงานต่าง ๆ เช่น มีพิธีเปิดการแข่งขันกีฬา
อาจจะของ ทบ.หรือ ทภ.๔ ก็จะมีการแสดงร่ายรำปันจักสิลัต แต่ไม่ได้ต่อสู้ ถูกต้องเนื้อตัวกัน
ในปี พ.ศ.๒๕๓๐ มีการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ ๑๓ มีประเทศอินโดนิเซียเป็นเจ้าภาพ
จัดการแข่งขัน อินโดนิเซียเสนอกีฬาปันจักสิลัต เข้าแข่งขันด้วย ประเทศสมาชิกอย่าง
มาเลเซีย สิงค์โปร์ บรูไน ฟิลิปปินส์ รู้จักกีฬานี้ดีก็รับรอง แต่ผู้แทนไทยไม่รู้จักไปนึกว่ามีในภาคใต้ของไทย
ก็เลยรับรองการจัดของเจ้าภาพอินโดนิเซียไปด้วย (ลาว กัมพูชา เวียดนาม และพม่า
ยังไม่ได้เป็นสมาชิกซีเกมส์)
ท่านรองนายกรัฐมนตรี และ รอง ผบ.ทบ. คือ ท่านพลเอก เทียนชัย ศิริสัมพันธ์
ท่านดูแลการกีฬาอยู่ด้วย และมอบหมายงานนี้ให้ ทภ.๔ สน. บอกว่างานนี้รัฐบาลรับรองให้จัดกีฬาปันจักสิลัต
ในซีเกมส์ตามที่อินโดนิเซียจะจัดเข้าแข่งขัน รัฐบาลขอให้ ทบ.รับผิดชอบจัดทีมเข้าแข่งขัน
ทบ.ก็สั่งการให้ ทภ.๔ จัดทีม ผมจำเป็นต้องรับแต่ชี้แจงให้ทราบว่า ภาคใต้ไม่มีกีฬาปันจักสิลัต
มีแต่กีฬา "ศิระ หรือ สิลัต" และอธิบายต่อว่า สิลัต คือ ศิลปะการร่ายรำในท่วงท่าของการต่อสู้
ส่วนปันจักสิลัต คือ การต่อสู้ประกอบการร่ายรำ (เรียกว่า มวยแขกยังพอไหว)
และยังมีอีก "กริช สิลัต" การร่ายรำต่อสู้ด้วยอาวุธกริช เอากันตายเลย นึกไม่ออกก็ไปอ่านวรรณคดีเรื่องอิเหนา
ตอนศึกท้าวกะหมัง กุหนิง ก็แล้วกัน ผมจำเป็นต้องรับเพราะเป็นคำสั่งของผู้บังคับบัญชาและไปหารือกับอาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
วิทยาเขตปัตตานี ที่รู้จักชอบพอกัน พอจะรู้เรื่องแต่ไม่มีใครในเมืองไทยห้าวหาญถึงขั้นเป็นครูสอนศิลปะการต่อสู้ในแนวนี้ได้
ผมได้ตั้งกรรมการผสมขึ้นประชุมหารือกัน ประสานกับการกีฬา ฯ สุดท้ายตั้งค่ายฝึกกันในค่ายอิงคยุทธบริหาร
หนองจิก ผู้รับการฝึกคือนักศึกษาพลศึกษาจากจังหวัดต่าง ๆ ตชด. ทหาร นักมวย
ส่วนครูฝึกนั้นต้องขอให้ทางอินโดนีเซียจัดมาให้ ผลการฝึกสอนเพียง ๖ เดือน
ทีมไทยที่ไม่เคยรู้จักปันจักสิลัตกับเขาเลย ได้เหรียญเงิน เหรียญทองแดงในการแข่งขันซีเกมส์ครั้งที่
๑๓ และการแข่งขันในครั้งต่อ ๆ มาทีมไทยได้โกยเหรียญทองทุกครั้ง จบการแข่งขันซีเกมส์ที่อินโดนีเซียแล้ว
ผมก็พยายามก่อตั้งสมาคมปันจักสิลัตเป็นผลสำเร็จ และเป็นนายกสมาคมเป็นคนแรก
ผมเดินทางมาจากพังงา ข้ามสะพานเทพกระษัตรี แล้วก็พบการพัฒนาของจังหวัดมากมายหลายจุด
ไม่ได้มาภูเก็ตเสียหลายปีแปลกตาไปเลย
วัดพระทอง
อยู่ในเขต อบต.ถลาง ก่อนถึงสี่แยกถลาง มีป้ายชี้ให้เลี้ยวซ้ายเข้าไปตรง กม.๑๙.๘๐
พระทองหรือพระผุดที่โผล่ขึ้นมาเพียงครึ่งองค์ พม่าเคยพยายามขุดเอาขึ้นมา แต่ขุดทีไรตัวแตนโผล่ขึ้นมาต่อยทุกทีไป
เอาไปไม่ได้ จึงอยู่จนทุกวันนี้ ภายในวัดมีพิพิธภัณฑ์ ท่านเจ้าอาวาสองค์ก่อนท่านสะสมไว้มาก
อำเภอถลาง อยู่เยี้อง ๆ กับทางเข้าวัดพระทอง เลยไปเป็นสี่แยกถลาง
วัดพระนางสร้อย
อยู่เลยสี่แยกถลางไป อยู่ทางฝั่งขวาประมาณ กม.๑๘.๕ มีพระพุทธรูปดีบุกเป็นพระสำคัญเรียกว่า
พระในพุง คืออยู่ในพุงของพระพุทธรูปองค์ใหญ่
ท่านท้าว ฯ ตั้งค่ายสู้รบพม่าอยู่ในบริเวณวัดพระนางสร้างนี้
สถานีพัฒนาและส่งเสริมอนุรักษ์พันธ์สัตว์ป่าเขาพระแทว
เลี้ยวซ้ายที่สี่แยกถลางไปอีกประมาณ ๒ กม.มีน้ำตกโตนไทร น้ำตกบางแป มีสถานที่ให้กางเต้นท์ได้
อุทยานแห่งชาติสิรินาถ
หาดทรายยาวประมาณ ๑๓ กม. มีหาดสวยหลายหาด
อนุสาวรีย์ท่านท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทร
วีรสตรีที่สามารถรักษาเมืองถลางไว้ได้จากการเข้ายึดครองของพม่า เมื่อสงครามปี
๒๓๒๘ อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๑๒ กม.จากอนุสาวรีย์ ฯ เลี้ยวซ้ายจะไปป่าคลอก
๑๔ กม. ไปพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติถลาง อยู่ห่างจากอนุสาวรีย์ประมาณ ๒๐๐ เมตร
มีเวลาต้องเข้าไปชมให้ได้
ผมจะพาไปเที่ยวไว้แค่นี้ก่อนยังไปไม่ถึงศูนย์การค้าจังซีลอนและตัวเมืองภูเก็ต
พากินก่อน เริ่มตั้งแต่ข้ามสะพานกระษัตรีมาแล้ว เลี้ยวซ้ายประมาณ กม.๓๕.๕
วิ่งผ่านโรงเรียนหงส์หยกบำรุงไปจนสุดทางที่ริมทะเล อาหารสดนั้นสดจริง ๆ ตายเมื่อสั่ง
เพราะเลี้ยงขังเอาไว้ในถังคอนกรีต ไปชี้เอาได้ ปลาทอด ปลาเจี๋ยน กุ้งกุลาดำนึ่ง
กุ้งอบเกลือ ปลาหมึกผัดเปรี้ยวหวาน ปูนึ่ง ปูอบวุ้นเส้น ฯ ๐๑๘๙๑ ๘๔๔๙
ประมาณ กม. ๒๙.๕ ฝั่งขวา ร้านนี้ไม่มีชื่อเป็นร้านไทยอิสลาม ผมตั้งชื่อให้แกว่าร้าน
"บังเละ" เพราะจัดร้านรก ๆ ร้านชาวบ้านแท้ กาแฟอร่อยนัก โรตี จิ้มแกงก็มี
| ย้อนกลับ | บน | หน้าต่อไป | |