| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |

ล่องใต้ (๙)

            ไปจังหวัดตรัง นั้น ไปได้หลายเส้นทาง คือ
                 เส้นทางที่ ๑  กรุงเทพ ฯ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ทุ่งสง (นครศรีธรรมราช) เลี้ยวขวาไปผ่านหน้าค่ายเทพสตรีศรีสุนทร ห้วยยอด (ตรัง) เลี้ยวซ้ายสู่ตัวจังหวัดตรัง
                 เส้นทางที่ ๒  เส้นนี้ไกลดี แต่ผ่านแหล่งท่องเที่ยวมาก วิ่งกันวันเดียวคงไม่ไหวคือ เส้นกรุงเทพ ฯ ชุมพร ระนอง ตะกั่วป่า โคกกลอย (เลี้ยวขวาข้ามไปภูเก็ต) พังงา กระบี่ ห้วยยอด ตรัง ไปตามทางหลวงแผ่นดินสาย ๔ ตลอด
                เส้นทางที่ ๓  ไปเที่ยวพัทลุงเสียก่อนคือ จากทุ่งสง ยังไม่เลี้ยววิ่งไปตามทางสาย ๔๑ ถึงสี่แยกพัทลุง เลี้ยวซ้ายเข้าเมืองพัทลุง เลี้ยวขวาไปตรัง (ผ่านเขาพับผ้า)
                เส้นทางที่ ๔  ปัจจุบันไปได้อีกคือ ไม่เลี้ยวขวาที่สี่แยกปฐมพร (ชุมพร) ตรงต่อไปตามถนนสาย ๔๔ สายอันดามัน คราวนี้จะวิ่งได้เร็วมาก ถนนสี่เลนตรงไม่ขึ้นเขา จะไปเชื่อมกับถนนสาย ๔ ที่ อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ แล้วเลี้ยวซ้ายไปผ่านกระบี่ ห้วยยอด ตรัง
            ตรังยังไปได้ทั้งทางอากาศ มีท่าอากาศยาน มีเครื่องบินขึ้นลงทุกวัน และทางรถไฟ ซึ่งจะไปสิ้นสุดที่สถานีตรัง และมีรถไฟวิ่งต่อไปยังสถานีกันตัง ที่มีผู้โดยสารน้อยเต็มที เพราะรถไฟวิ่งตรัง - กันตัง ใช้เวลากว่าชั่วโมง แต่รถยนต์วิ่ง ๓๐ นาที แต่รถไฟก็ยอมขาดทุนเก็บขบวนนี้ไว้เป็นขบวนประวัติศาสตร์
            พื้นที่แถบจังหวัดตรัง มีร่องรอยว่ามีคนอยู่มาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์แล้ว โดยพบขวานหินขัด เศษภาชนะดินเผา หม้อสามขา ภาพเขียนสี และลูกปัดแก้ว
            ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๘ หรือเมื่อ ๑,๘๐๐ ปีมาแล้ว มีชุมชนชื่อ "ปาแลนตา" หรือ "ปะเหลียน" (ปัจจุบันคือ อำเภอหนึ่งของ จ.ตรัง) ปรากฎในจดหมายเหตุของ ปโตเลมี ว่าเป็นเมืองท่าทางฝั่งตะวันตกของแหลมสุวรรณภูมิ เมืองนี้น่าจะมีความสำคัญในยุคของการค้าด้วยสำเภาโบราณ เพราะพื้นที่ จ.ตรัง มีเส้นทางข้ามจากฝั่งมหาสมุทรอินเดีย หรืออันดามัน ไปยังฝั่งอ่าวไทย ทั้งที่นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี ความสำคัญในการเป็นเมืองท่าของตรัง มีต่อเนื่องมาจนถึงสมัยศรีวิชัย อยุธยา และธนบุรี ชาวต่างชาติที่เดินทางมาทางฝั่งตะวันตก เพื่อไปยังนครศรีธรรมราช หรืออยุธยา จะขึ้นฝั่งที่ตรัง แล้วเดินทางต่อไปทางบก
            ในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ตรังอยู่ในฐานะเมือง ๑๒ นักษัตร เป็นบริวารของอาณาจักรตามพรลิงค์ ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่นครศรีธรรมราช ตรังถือตรามะเมีย เป็นตราประจำเมือง ในสมัยนี้เป็นระยะที่มีการเผยแผ่พุทธศาสนา จากลังกามายังนครศรีธรรมราช ซึ่งตรังจะต้องเป็นประตูสำคัญที่เปิดให้พระพุทธศาสนาเข้ามา
            อาณาจักรตามพรลิงค์ รุ่งเรืองมาจนถึงสมัยสุโขทัย จึงเสื่อมลง จนถึงสมัยอยุธยา ตามพรลิงค์ หรือนครศรีธรรมราช เป็นเพียงหัวเมืองเอก ที่ขึ้นกับกรุงศรีอยุธยา และเป็นศูนย์การปกครองหัวเมืองภาคใต้ เช่น เมืองตรัง เมืองกระบี่ ฯ
            ที่ตั้งของ ตรัง แบ่งออกได้เป็น ๔ ยุค คือ
            ยุคที่หนึ่ง สันนิษฐานว่า อยู่ที่ตำบลเขากอบ อำเภอห้วยยอด จ.ตรัง ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๖
            ยุคที่สอง สันนิษฐานว่า ที่ตำบลห้วยยอด กับตำบลภูรา มีบันทึกถึงเมืองตรังไว้ว่า เมืองตรังภูรา ซึ่งแบ่งออกเป็นสองเมืองคือ เมืองภูรา (ปัจจุบันคือ บริเวณตำบลลำภูรา ต้อนกำเนิดขนมเค้กอร่อยของเมืองตรัง คือ เค้กขุกมิ่ง) และเมืองตรัง แบ่งเขตกันที่แม่น้ำตรัง ยุคนี้ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๗ - ๑๘
            ยุคที่สาม ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๙ - ๒๔ เริ่มแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เชื่อมต่อกับสมัยรัตนโกสินทร์ ชาวยุโรปที่จะมาอยุธยา จะมาขึ้นบกที่ตรัง แล้วเดินทางบกต่อไปยังนครศรีธรรมราช แล้วลงเรือเดินทางต่อเข้าอ่าวไทย ไปอยุธยา ฝรั่งชาติแรกที่เข้ามาคือ โปร์ตุเกส เมื่อ พ.ศ.๒๐๕๔ ขึ้นบกที่ตรัง แล้วเดินทางบกไปนครศรีธรรมราช (ระยะทางประมาณ ๑๒๐ กม.ไม่ทราบว่าใครรับนำทางให้)
            ยุคที่สี่ เป็นเมืองในยุคสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ตรังย้ายไปตั้งเมืองอยู่ที่กันตัง ผู้ตั้งเมืองคือ พระยารัษฎานุประดิษฐมหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง อนุสาวรีย์ของท่านมีที่ตัวจังหวัดตรัง ที่ อ.กันตัง และยอดเขารัง อ.เมืองภูเก็ต) โดยย้านจากควนธานี ไปตั้งที่กันตัง เพื่อให้เรือเดินสมุทรขนาดใหญ่เทียบท่าได้
            พ.ศ.๒๔๓๘  รัชกาลที่ ๕ โปรด ฯ ให้รวมเมืองปะเหลียน เข้ากับเมืองตรัง
            พ.ศ.๒๔๕๘ รัชกาลที่ ๖ เสด็จประพาสมณฑลปักษ์ใต้ ทรงเห็นว่าตรังอยู่ที่กันตัง ไม่เหมาะที่จะเป็นศูนย์กลางจังหวัด พื้นที่ราบมีน้อย ขยายตัวเมืองยาก จึงโปรดเกล้า ฯ ให้ย้ายเมืองตรัง มาอยู่ที่ตำบลทับเที่ยง อำเภอบางรัก (คือ อำเภอเมืองตรัง ในปัจจุบัน) ในสมัยที่พระยารัษฎานุประดิษฐ (สิน เทพหัสดิน) เป็นผู้ว่าราชการเมืองตรัง
            ตรัง แบ่งเขตการปกครองออกเป็น ๙ อำเภอ ๑ กิ่งอำเภอ คือ อำเภอเมือง ห้วยยอด กันตัง ปะเหลียน สิเกา ย่านตาขาว วังวิเศษ นาโยง รัษฎา และกิ่งอำเภอหาดสำราญ อำเภอที่น่าสนใจ น่าจะเป็นอำเภอกันตัง เป็นที่ตั้งเก่าของจังหวัดตรัง
            สถานที่ท่องเที่ยว ตรังนั้นมีคำขวัญว่า "เมืองเจ้าพระยารัษฎา ชาวประชาใจกว้าง หมูย่างรสเลิศ ถิ่นกำเนิดยางพารา เด่นสง่าดอกศรีตรัง ปะการังใต้ทะเล เสน่ห์หาดทรายงาม น้ำตกสวยตระการตา" ตรัง จึงมีเกาะสวย ๆ และหาดทรายงาม ๆ มาก จึงนำมาเป็นคำขวัญ และหมูย่างต้องอร่อยมาก หรือมาก ๆ จึงมีในคำขวัญของเมือง
            ที่พัก ตรังมีโรงแรมดี ๆ หลายแห่ง อยู่ในย่านชุมชนใกล้สถานีรถไฟ อีกโรงแรมอยู่นอกเมือง เลยอนุสาวรีย์พระยารัษฎา ฯ ไปทางจะไปพัทลุง ริมถนนสาย ๔ เลยอนุสาวรีย์ไปนิดเดียว สร้างโรงแรมรูปร่างเหมือนเรือ นอกจากนี้ยังมีโรงแรมเก่าแก่ เคยพักกันมาตั้งแต่มาตรังครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๕ ปัจจุบันปรับปรุงเป็นโรงแรมชั้นดี อยู่ย่านกลางเมือง ใกล้หอนาฬิกา ใกล้ศาลากลางจังหวัด และไม่ไกลจากสถานีรถไฟ ที่เป็นย่านของกิน ย่านขนมเค้ก ใกล้ตลาดสดด้วย
            ผมไม่มีเวลาไปท่องเที่ยวทางทะเล ได้ไปแค่ขายหาดที่สวยมาก และกลายเป็นท่าเรือสำคัญไปแล้วด้วยคือ หาดปากเม็ง ส่วนใหญ่จึงท่องเที่ยวอยู่แต่ในเมือง และไปกันตัง อำเภอที่ไม่ได้ไปมานานกว่ายี่สิบปี อยากไปดูความเปลี่ยนแปลง
            จุดแรกของการเที่ยวเมืองตรัง ควรจะไปเคารพท่านผู้สร้างความเจริญให้ตรังเสียก่อนคือ ไปที่อนุสาวรีย์พระยารัษฎาประดิษฐมหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง ) ทั่วบริเวณที่ตั้งอนุสาวรีย์จะร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ใหญ่น้อย เป็นที่พักผ่อนอย่างดี เส้นทางไปตามถนนสาย ๔ เส้นที่จะไปยังพัทลุง ห่างจากศาลากลางประมาณ ๑ กม. เลยจากอนุสาวรีย์ไปประมาณ ๑ กม. คือ โรงแรมที่พัก ท่านผู้นี้ได้สร้างความเจริญให้แก่จังหวัดตรัง หลายด้าน เช่น การคมนาคม เกษตรกรรม เลี้ยงสัตว์ การศึกษา การปกครอง และเป็นผู้นำต้นยางพารา ต้นแรกมาปลูกไว้ที่กันตัง (จ.ตรัง) จนแพร่หลายไปทั่ว
                สระกะพังสุรินทร์  เป็นสระน้ำธรรมชาติ มีเนื้อที่ประมาณ ๕๐ ไร่ ไปตามถนนด้านหลังของอนุสาวรีย์ ห่างออกไปประมาณ ๑ กม. ตั้งชื่อตามชื่อของ พระยาสุรินทรราชา (นกยูง วิเศษกุล) อดีตสมุหเทศภิบาลมณฑลภูเก็ต ซึ่งเป็นอีกผู้หนึ่งที่สร้างความเจริญให้ตรัง สระกะพังสุรินทร์เป็นสระน้ำกว้าง รอบสวนมีถนนลาดยางรถวิ่งเข้าไปได้ มีต้นศรีตรัง ปลูกไว้บนเนินดิน มีศาลาพักผ่อนหย่อนใจอยู่ในน้ำ ๓ หลัง และมี "ศาลาพระพุทธสิหิงค์" สร้างไว้ริมน้ำด้านเหนือ ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์จำลอง ซึ่งสร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๐ หน้าตักกว้าง ๑ ม. เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย
                ตรัง มีอุทยานแห่งชาติคือ อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ซึ่งครอบคลุมพื้นที่หลายตำบลของอำเภอกันตัง อำเภอสิเกา มีทั้งเกาะต่าง ๆ น้ำตก คลอง ภูเขา มีพร้อม
                ในอุทยาน ฯ มีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจหลายแห่งคือ บ่อน้ำร้อน ตำบลน้ำร้อน อ.กันตัง เกาะเจ้าไหม มีหาดทรายยาว ถ้ำเจ้าไหม อ่าวปอ มีชายหาดที่ต่อกับหาดยาวคือ หาดหยงหลิง - หาดสั้น มีเกาะสวย ๆ น่าไปเที่ยวหลายเกาะ เช่น เกาะมุก (มีถ้ำมรกต) มีหาดหัวแหลม เกาะกระดาน เกาะเชือก เกาะแหวน ล้วนแต่มีหาดสวย ๆ ทั้งนั้น ส่วนเกาะกระดานมีชื่อเสียงเพราะ "จัดวิวาห์ใต้สมุทร ดังไปทั่วโลก" จะไปอย่างไรถามทัวร์ง่ายดี ส่วนมากตามโรงแรมใหญ่ ๆ หรือโรงแรม ที่ผมบอกชื่อมาจะมีโต๊ะของทัวร์ นั่งคอยบริการอยู่ในล๊อบบี้ ไปเกาะต้องให้ทัวร์จัดให้ หรือเช่าเรือไป
                ปลาพะยูน หรือ หมูน้ำ  สัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ เป็นสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนม พะยูนจะหากินตามแนวหญ้าทะเล เป็นอาหารชนิดเดียวที่พะยูนกิน หากหญ้าทะเลหมด พะยูนก็จะหมดตามไปด้วย หญ้าที่พะยูนกิน ได้แก่ หญ้าผมนาง หญ้าชะเงา หญ้าใบสน หญ้าเต่า หญ้าใบมะกรูด พบในบริเวณ อช.เจ้าไหม และ เกาะลิบง ต้องไม่ไปรบกวนการกินหญ้าของพะยูน
                เที่ยวในเมือง มีเวลา มีแรงลองเดินเท้าเที่ยวเป็นวงรอบดูบ้าง จะได้ครบโดยเฉพาะอาหารการกิน ถ้าเริ่มต้นจากสถานีรถไฟตรัง หันหน้าไปทางหอนาฬิกา เดินตรงไป ย่านหอนาฬิกสเป็นย่านศูนย์การค้าขาย ผู้คนคึกคักตลอดทั้งวัน มีร้านขายหนังสือ ตลาดอาหารท้องถิ่น ข้าวต้มกลางคืน เทศบาลเมืองตรัง โรงแรมที่เป็นโรงแรมชั้นหนึ่งสมัยเมื่อ ๔๐ ปี ผ่านมาแล้ว ชั้นล่างเป็นร้านน้ำชา บรรยากาศย้อนยุค ข้างโรงแรมมีซอยทะลุไปออก ถ.ราชดำเนิน ได้ มีบ้านตึกยุคเก่าแซมอยู่
                จากหอนาฬิกา เลี้ยวซ้ายเดินไปสัก ๑๐๐ เมตร จะไปสี่แยกโกกุน จะชนกับถนนแคบ ๆ ชื่อ ถนนราชดำเนิน สายนี้เก่าแก่เช่นกัน เลี้ยวซ้ายเดินไปตามถนนราชดำเนิน จนถึงสี่แยกท่าจีน เลี้ยวซ้ายไปตามถนนกันตัง ผ่านทางเข้าตลาดสดอยู่ทางซ้าย ผ่านสี่แยกกันตัง ครบรอบพอดี สถานีรถไฟจะอยู่ทางขวามือ
                ตลาดท่ากลาง  หากขยันตื่นตั้งแต่เช้า ลองไปเที่ยวตลาดท่ากลางดู ไปกินโจ๊ก กินกาแฟ กินขนมหวาน กินข้าวแกงราคาแสนถูก ปิดท้ายด้วยกาแฟ ปาท่องโก๋  อิ่มแล้ว กลับมานอนต่อ เพราะตลาดท่ากลางนั้น ติดตลาดตั้งแต่ตีสาม ประเภทซื้ออาหารห่อ อาหารถุง ใส่ท้ายรถมอเตอร์ไซด์แล้วไปขายปลีกตามหมู่บ้าน  เป็นอาหารเช้าจะพากันมาซื้ออาหาร จากตลาดกลาง หากเราจะชิมอาหารดี ราคาถูกก็ลองไปดู อย่าลืม "ตี ๓"
                หาดปากเม็ง  หาดแสนสวยของตรัง ผมไปครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๓ ตั้งแต่ยังไม่มีถนนมาตรฐานจากตรัง ไปยังหาดปากเม็ง เรียกว่า หาดสวยบริสุทธิ์จริงๆ เพราะยังไม่มีท่าเรือ ไม่มีร้านค้าขายอาหาร ขายของที่ระลึก รวมทั้งไม่มีนักท่องเที่ยวต่างถิ่นด้วย แต่ปากเม็งวันนี้ พ.ศ.๒๕๕๒ เจริญมากเหลือเกิน  ปากเม็งมีท่าเรือที่จะลงเรือ ไปเที่ยวเกาะต่างๆ แต่ต้องเช่าเหมาลำไป หรือไปกับทัวร์  ที่ใกล้ท่าเรือมีศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี นอกจากท่าเรือปากเม็งแล้ว ไม่ไกลกันยังมีท่าเรือสำคัญอีก ๒ แห่งคือ ท่าเรือบ้านเจ้าไหม และท่าเรือควนตุ้งกู ดูเหมือนค่าเช่าเรือจะถูกกว่าที่ท่าเรือปากเม็ง อาจจะเป็นเพราะเรือไปใกล้กว่า เกาะที่จะมาเช่าเรือไปเที่ยวกัน ได้แก่ เกาะกระดาน ที่ทุกวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ จะจัดวิวาห์ใต้สมุทร จัดกันบริเวณหาดหน้าเกาะ การซื้อแพคเกจทัวร์ หรือเหมาเรือไปเที่ยว ประเภทวันเดียว ไม่ค้างคืนก็จะรวมถึงการไปเที่ยว เกาะมุก เข้าถ้ำมรกต เกาะม้า เกาะเชือก และเกาะแหวน ด้วย โดยเช่าเรือจากท่าเรือปากเม็ง หรือท่าเรือบ้านเจ้าไหม อ่าวปากเม็งนั้น สวยมาก มีเกาะเล็ก ๆ ในอ่าวห่างจากชายฝั่งคงประมาณสัก ๒๐๐ เมตร หากน้ำลงจะเดินไปที่เกาะได้ เมื่อไปถึงหาดปากเม็ง แล้วเลี้ยวขวาไปสัก ๒ กม. ก็จะถึงย่านท่าเรือปากเม็ง เป็นชุมชนมีร้านค้า ที่พัก มีศูนย์บริการนักท่องเที่ยว มีสะพานทอดยาวไปในทะเล เพื่อลงเรือและจากปลายสะพานไม่เท่าไร คือ เกาะในอ่าวปากเม็ง
                เส้นทางไปหากปากเม็ง ถ้ามาจากกระบี่ จะเลี้ยวเข้ามายังหาดปากเม็งเลยก็ได้ โดยเลี้ยวเข้าถนนที่จะมายัง อ.สิเกา ถึงสิเกาแล้วเลี้ยวเข้าถนนสายปากเม็ง - สิเกา สาย ๔๑๖๒ แต่หากเข้าเมืองตรังก่อน จะมาปากเม็ง มาจากสถานีรถไฟเลี้ยวซ้าย ถึงสี่แยกเลี้ยวขวาเข้าถนน ๔๐๔๖ (ตรัง - สิเกา) วิ่งไปประมาณ ๒๘ กม. ถึงสามแยก เลี้ยวซ้ายไปตามถนนสาย ๔๑๖๒ อีกประมาณ ๑๐ กม. จะสุดถนนที่ชายหาดปากเม็ง ไปท่าเรือเลี้ยวขวาไปอีกประมาณ ๒ กม. หากจะไปท่าเรือบ้านเจ้าไหม เลี้ยวซ้ายไปอีกประมาณ ๒๕ กม. จะสุดถนนที่บ้านเจ้าไหม "ไปเกาะมุก" ซึ่งอยู่ใน อช.หาดเจ้าไหม ไปเที่ยวถ้ำมรกต ไปเกาะม้า เกาะเชือก เกาะแหวน ไปทัวร์ในทริปเดียวกัน
                ไปเกาะม้า เกาะเชือก และเกาะแหวน ไปดำน้ำชมปะการังน้ำตื้น
                เกาะลิบง  เป็นแดนสวรรค์ของนักดูนก ไปดูนกกันในช่วงเดือน พ.ย.- ธ.ค. นกจะหนีหนาวมาบริเวณแหลมจุโหย และหาดตูม เกาะนี้มีหมู่บ้าน ๓ หมู่บ้าน
                เส้นทางไปท่าเรือบ้านเจ้าไหม เส้นทางแรก ตรัง ปากเม็ง บ้านเจ้าไหม หรือตรัง กันตัง รถลงแพข้ามแม่น้ำตรัง ไปขึ้นท่าเรือบ้านท่าส้ม ไปบ้านเจ้าไหม เส้นทางนี้ใกล้
                มาเมืองตรัง ใครไม่กินหมูก็เป็นที่น่าเสียใจ เพราะตรังได้ชื่อว่า มีหมูย่างอร่อยนัก เหมือนไปมาเลเซียมีอยู่เมืองหนึ่ง ไม่ไกลจากดินแดนไทย คือ เมืองไตปิง ยามเช้าจะมีหมูย่างทั้งตัว ผ่าครึ่งแขวนไว้ที่เขียงหมู ใครจะกินซื้อแล้วเขาก็ตัดมาสับให้ เราก็ไปนั่งกินตามร้านกาแฟ ซึ่งดูเหมือนทุกคนจะกินกาแฟกับหมู่ย่างกันทั้งเมืองกระมัง แต่การมากินหมูย่าง ที่เมืองตรังนั้น กินดีกว่าที่ไตปิงด้วยซ้ำไป เพราะวิธีการย่างแบบเดียวกันคือ ย่างทั้งตัว แต่ตรังจะไม่เอามาแขวนไว้ทั้งตัว จะตัดเป็นชิ้นใหญ่ ๆ มาวางไว้บนเขียงหน้าร้าน ใครสั่งก็สับใส่จานมาให้ หรือสับใส่จานไว้เลย ยกมาพร้อมกับแต้เตี้ยม หรือติ๋มซำ ส่วนที่ไตปิงไม่มีติ๋มซำ ยกมาด้วย มีแต่หมูย่างยกมาเท่าที่สั่ง ถึงบอกว่ากินหมู่ย่างที่ตรังอร่อยกว่า เพราะของกินมากกว่า
                ร้านหมูย่างที่ใกล้โรงแรมที่พัก หากมาจากโรงแรม หรือมาจากพัทลุง ผ่านอนุสาวรีย์พระยารัษฎา มาสัก ๕๐ เมตร ร้านอยู่ทางซ้ายมือ ร้านใหญ่ พอนั่งเขาก็จะยกถาดติ๋มซำ มาให้มีหลายอย่าง เราก็ชี้เอา หรือไปชี้เอาจากในตู้ เพราะเขาจะนึ่งให้ใหม่ร้อนๆ แล้วจึงยกมาให้ หากไม่มีหมูย่างมาด้วย ก็สั่งให้เขาไปเอามาให้ ไปหลายคนก็สั่งจานโต ๆ หรือเดินไปสั่งที่เขียงเลย ก็จะได้กินหมูย่างตรังให้สะใจ ร้านนี้ไม่ใช่ร้านหมูย่างที่อร่อยที่สุด แต่ก็อร่อย ร้านอร่อยที่สุดเคยอยู่ในเมือง ร้านนี้ชิมกันมาหลายทีแล้ว



| ย้อนกลับ | บน | หน้าต่อไป |