| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |

ล่องใต้ (๘)

            ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๗ - ๑๘ "สตูล" มีทั้งคนไทยและคนมลายูอาศัยปะปนกันทั่วไป รวมทั้งในภาคใต้ตอนล่างเช่น ปัตตานี ประชาชนนับถือศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธ เมืองสตูลยุคนี้ขึ้นอยู่กับมณฑลไทรบุรี แต่เนื่องจากการคมนาคมลำบากต้องติดต่อกันทางทะเล การติดต่อทางบกถูกกั้นด้วยทิวเขาสันกาลาคีรี จึงทำให้สูลอยู่แยกห่างจากไทรบุรี ชุมชนที่มีความเจริญขึ้นมาอย่างรวดเร็วคือ "ละงู" ซึ่งเป็นท่าเรือติดต่อทางทะเลจึงเจริญเร็วกว่า ในพุทธศตวรรษที่ ๒๑ - ๒๒ ศาสนาอิสลามได้แพร่ขยายเข้ามาอย่างรวดเร็ว
            เมืองสูลเป็นเมืองชุมชนพื้นราบ ส่วนเมืองละงูเป็นชุมชนปากน้ำ ชื่อเมืองสตูลเดิมเป็นภาาามลายูเรียกว่า "สะโตย" แปลว่า ต้นกระท้อน เนื่องจากที่ตั้งเมืองมีต้นกระท้อนมาก จึงเรียกว่า "มูเก็ม สะโตย" (มูเก็มคือตำบล)
            เมื่อ พ.ศ.๒๓๘๑ รัชกาลที่ ๓ โปปรดเกล้า ฯ ให้ยกทัพไปปราบปรามเมืองไทรบุรีเมื่อปราบได้แล้ว จึงให้แยกเมืองสตูลมาขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราช โดยมีตนกูมูอัมหมัดอาเก็บ เป็นเจ้าเมืองสตูล ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาอภัยนุราช และต่อมาได้เลื่อนขึ้เป็น พระยาสมันตรัฐสุรินทร์ ฯ
            พ.ศ.๒๔๔๐ แผ่นดินรัชกาลที่ ๕ จัดระบบการปกครองเป็นแบบมณฑล ได้จัดตั้งมณฑลไทรบุรี และโปรดเกล้า ฯ ให้เมืองไทรบุรี สตูล ปลิศ รวมอยู่ในมณฑลไทรบุรี พ.ศ.๒๔๕๑ อังกฤษยึดเอาไทรบุรี ปลิศ ให้ไปอยู่กับมลายู จึงเหลือสตูลอยู่เมืองเดียว โอนไปขึ้นกับมณฑลภูเก็ต
            พ.ศ.๒๔๖๘ เมืองสตูลมาขึ้นนกับมณฑลนครศรีธรรมราช
            พ.ศ.๒๔๗๕ เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย สตูลจึงยกขึ้นเป้นจังหวัดสตูล ตั้งศาลากลางที่ตำบลมำบัง อำเภอเมืองสตูล ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๘๑ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ตำบลพิมาน
            การเดินทาง หากจะไปสตูลทางรถไฟต้องวไปลงรถไฟที่สถานีหาดใหญ่หรือุท่งสง หรือพัทลังหรือตรังแล้วไปรถยนต์ต่อ ส่วนทางอากาศต้องลงที่ท่าอากาศยานหาดใหญ่ แล้วไปต่อทางรถยนต์อีก ๙๗ กม. หรือลงที่ตรังแล้วยต่อทางรถยนต์ ทั้งสองวิธีผมไม่เคยไป ไปสตูลทุกครั้งผมไปทางรถยนต์เพราะสะดวกดี
            เส้นทางที่ ๑ กรุงเทพ ชุมพร สุราษฎร์ธานี (พุนพิน) นครศรีธรรมราช (ทุ่งสง) พัทลุง สี่แยกรัตภูมิ (ก่อนถึงหาดใหญ่) เลี้ยวขวาเข้าถนนสาย ๔๐๖ ไปสตูล ๙๗๓ กม.
            เส้นทางที่ ๒ ทุ่งสง ตรัง สตูล (ไปตะรุเตา ลงเรือที่ปากบารา)
            เส้นทางที่ ๓ เส้นนี้ไปไกลกว่าเพื่อน แต่ผ่านแหล่งท่องเที่ยวคือทะเลอันดามันไปตลอด จากกรุงเทพ ฯ มาถึงสี่แยกปฐมพร (ชุมพร) เลี้ยวขวาไประนอง จากระนองคงไปตามถนนสาย ๔ ไปผ่านตะกั่วป่า (พังงา) ผ่านโคกกลอย (เลี้ยวขวาข้ามไปเกาะภูเก็ต) ตะกั่วทุ่ง (พังงา) พังงา กระบี่ ห้วยยอด (ตรัง) ตรัง ไปผ่านทุ่งหว้า (สตูล) ละงู หากจะไปตะรุเตา แยกเข้าสาย ๔๐๕๒ ไปลงเรือที่ปากบาราซึ่งห่างจากตะรุเตา ๒๒ กม. หรือไปลงเรือที่ท่าเรือเจ๊ะบิลัง มีเรือไปทุกวัน โทร ๐๗๔๗๑ ๑๔๕๓
            อุทยานแห่งชาติ สตูล มีอุทยานแห่งชาติ ๓ แห่ง คือ
                ๑. อุทยานแห่งชาติทะเลบัน  ตั้งอยู่ที่บ้านวังปะจัน หากมาสตูลตามเส้นทางที่จะมาผ่านทางแยกซ้ายเพื่อเข้าไปยังอุทยานแห่งชาติทะเลบัน คำว่าทะเลบัน มาจากคำว่า "เลิด เรอบัน" ในภาษามลายูแปลว่า ทะเลยุบ คือเกิดจากการยุบตัวของแผ่นดินระหว่างเขาจีน และเขามดแดง กลายเป้นทะเลสาบที่มีสีของน้ำสดสวยอย่างยิ่ง และยังมีสัตว์ประหลาด มีอยู่แห่งเดียวในทะเลบันคือหมาน้ำ เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ รูปร่างคล้ายกบและคางคงแต่มีหาง ร้องคล้ายสุนัข มีตามริมบึง อุทยานแห่งนี้นักดูนกต้องไม่พลาด เพราะมีนกสวย ๆ ที่หายาก จำนวนมากเช่น นกแอ่นฟ้าเคราขาว นกกางเขนน้ำหลังแดง ฯ อุทยานมีบ้านพักและสวถานที่ กางเต้นท์นอนได้ ติดต่อ ๐๗๔๗๙๗๐๗๓
                และหากจะไปหาดใหญ่ก็มีเส้นทางไป จากสสตูลไตามถนนสาย ๔๐๖ (สายไปรัตภูมิ) ๑๙ กม. แล้วเลี้ยวขวาเข้าสาย ๔๑๘๔ ไปวังประจัน จากหน่วยพิทักษ์อุทยานเลาะชายแดนไปอีกประมาณ ๒๓ กม.จะถึงปาดังเบซาร์ กลับมาหาดใหญ่ได้
                ชนพื้นเมืองอุทยานแห่งชาติทะเลบัน มีชนเผ่าดั้งเดิมของสตูลคือ เผ่าซาไก หรือเงาะป่า ที่มีสมญาว่า ราชันย์แห่งพงไพร ชนกลุ่มนี้มีเหลือน้อยเต็มที ไม่สงเคราะห์การดำรงชีวิตของเขาให้ดีกว่านี้มาก ๆ อาจจะสูญพันธ์ได้
                แหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ได้แก่ บึงทะเลบัน ทางเข้าสะดวก รถเข้าสถึงริมบึง
                    น้ำตกยาโรง  เป็นน้ำตก ๙ ชั้น มีน้ำตลอดปี แยกจากที่ทำการ ฯ ไปอีก ๖.๗๐๐ กม.
                    น้ำตกโตนปลิว  สวยมาก มีน้ำตกตลอดปี ห่างจากอุทยาน ฯ ไป ๑๑ กม.
                นอกจากนี้ยังมี น้ำตกโตนดิน มีหินงอกหินย้อย ลำธารไหลผ่านถ้ำ ทุ่งหญ้าวังประเป็นทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ มีสัตว์ป่าเช่นกระจง ไก่ป่า ถ้ำลอดปูยู คล้ายที่พังงา
                ๒. อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา  เกาะเภตรามีลักษณะคล้ายเรือสำเภา ตั้งอยู่บริเวณช่องแคบมะละกา ทะเลอันดามัน ครอบคลุมพื้นที่ชายหาดตลอดแนวฝั่งทะเลในท้องที่ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู ตำบลขอนคลาน อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล ตำบลสุกร อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง เกาะสำคัญคือ เกาะเภตรา เกาะเขาใหญ่ เกาะสะโละแบนแต เกาะบุโหลน เกาะเกาเหลียง และเกาะปรามะ เป็นอุทยานที่ไปเที่ยวได้ตลอดปี โดยไปเช่าเรือได้ที่ท่าเรือปากบาราหรือที่ อ.ปะเหลียน อ.กันตัง  (จ.ตรัง) ก็ได้ที่ทำการอุทยาน อยู่ห่างจาก อ.ละงู ประมาณ ๗ กม. มีศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ไปเล่นน้ำนั่งเรือชมทิวทัศน์ ดำน้ำ ดูนก พักแรมค้างคืน ติอต่อ ๐๒๕๗๙๒๙๑๙ - ๒๑
                ๓. อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา  เป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลแห่งแรกของไทย มีชื่อเสียงทั้งในด้านประวัติศาสตร์และความสวยงามของธรรมชาติ แหล่งท่องเที่ยวมีมากมายสุดพรรณา เสียดายที่ผมมีโอกาสไปครั้งเดียวและไปนอนอยู่ ๒ คืนเท่านั้น ตั้งใจจะไปอีกครั้ง ยังหาโอกาสเหมาะไม่ได้ สำคัญสังขารจะยอมให้ไปหรือเปล่า เป็นเหตุผลสำคัญอีกข้อหนึ่ง
                อุทยานตั้งอยู่ในทะเลอันดามัน ห่างจากสตูลประมาณ ๔๐ กม. ลงเรือที่ปากบารา อ.ละงู ห่างปากบารา ๒๒ กม. มีหมู่เกาะใหญ่น้อยมากถึง ๕๑ เกาะ เป็นเกาะขนาดใหญ่ ๗ เกาะ เกาะสำคัญคือ เกาะตะรุเตา อาดัง - ราวี หลีเป๊ะ อุทยานแห่งนี้ได้รับการยกย่องจากยูเนสโก ให้เป็นมรดกของอาเซียนตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๕ ช่วงเดือนที่เหมาะสมสำหรับการไปท่องเที่ยวคือเดือน พฤศจิกายน - เมษายน
                    เกาะตะรุเตา เป็นเกาะประวัติศาสตร์เพราะรัฐบาลเคยนำนักโทษประเภทต่าง ๆ ไปกักขังไว้เป็นจำนวนมากถึง ๓,๐๐๐ คน และที่ดังมากคือเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๒ ได้นำนักโทษการเมืองไปคุมขังไว้อีก ๗๐ คน หลายคนเป็นบุคคลสำคัญ เช่น หลวงมหาสิทธิโวหาร (สอ เสถบุตร) ซึ่งระหว่างถูกกักขังได้มาแปลพจนานุกรมอังกฤษ - ไทย จนจบ หรือนาวาเอกพระยาศราภัยพิพัฒน์ (เลื่อน ศราภัยวานิช) ผู้ประพันธ์เรื่อง ฝันร้ายของข้าพเจ้า ม.จ.สิทธิพร กฤษดากร ทำหน้าที่เป็นครูสอนเกษตรให้แก่นักโทษ ท่านเป็นผู้ริเริ่มการเกษตรสมัยใหม่ที่ฟาร์มบางเบิด เมื่อพ้นโทษแล้วก็รับเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ฯ โดยไม่อาฆาตโกรธแค้นกัน ทำงานเพื่อชาติ และอีกหลายท่าน ที่เมื่อพ้นโทษแล้วก็กลับมารับใช้บ้านเมือง เป็นบุคคลสำคัญ
                    นักโทษทั่วไป จะอยู่บริเวณอ่าวตะโละวาว ส่วนนักโทษกักกันทางการเมือง จะอยู่บริเวณอ่าวตะโละอุตัง
                    เกาะตะรุเตา ถูกประกาศเป็นเขตหวงห้ามราชทัณฑ์และเป็นอยู่จนสิ้นสงครามโลกครั้งที่ ๒ จึงได้ย้ายนักโทษต่าง ๆ กลับมา การกักขังนักโทษนั้น ทำกันอย่างเข้มงวดและทารุณ ตลอดจนอดอยาก เพราะเอาคนนับพันไปอยู่ แต่เสบียงอาหารในท้องถิ่นไม่มี ต้องจัดส่งไปจากตัวจัวหวัดสตูล ซึ่งสุดท้ายถึงขั้นเป็นโจรสลัด เมื่อจบสงครามโลกครั้งที่ ๒ แล้วไทยปราบไม่ไหว ต้องยอมให้อังกฤษเข้ามาปราบปราม และสุดท้ายจึงถอนเขตหวงห้ามราชทัณฑ์ และประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อ ๑๙ เมษายน ๒๕๑๗ เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ ๘ ของประเทศ
                    การเดินทาง หากไปจากตัวเมืองสตูล ไปลงเรือที่ท่าเรือเจ๊ะบิลัง ห่างจากตัวเมือง ๗ กม.  ไปตามถนนศุลกานุกูล จะมีเรือไปตะรุเตา  อาดัง - ราวี เป็นประจำ โทรถาม สตูลแทรเวล ก็ได้ ๐๗๔ ๗๑๑ ๔๕๓, ๐๗๔ ๗๒๑ ๙๖๐ และไปลงเรือได้อีกแห่งหนึ่งที่ท่าเรือตำมะรัง อ.เมือง จ.สตูล แต่ที่นิยมไปกันและมีเรือเดินประจำด้วยคือ ท่าเรือปากบารา ซึ่งที่นี่เป็นที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์อุทยาน ฯ สาขาปากบารา ในเขตอุทยานมีบ้านพักไว้บริการนักท่องเที่ยว ที่เกาะตะรุเตา และเกาะอาดัง โทร ๐๒ ๕๖๑ ๒๙๑๘ - ๒๑ หรือ ติดต่อ อช.ตะรุเตา ที่ปากน้ำละงู ๐๗๔ ๗๘๑ ๒๘๕ หากจะไปลังกาวี โดยไปจากสตูล ลงเรือได้ที่ท่าเรือตำมะลัง สอบถาม ไทยเฟอร์รี่ ๐๗๔ ๗๒๒ ๑๔๓ ไปแล้วจะติดใจ
                    ชาวสตูล ภูมิใจในของดีของจังหวัด และยกป้ายใหญ่ไว้ว่า "คฤหาสน์กูเด็น การแข่งขันว่าว เทศกาลจำปาดะ ถ้ำสัตตคูหา อุทยานแห่งชาติตะรุเตา"
                แหล่งท่องเที่ยวในเมือง ที่น่าสนใจ
                    มัสยิดกลางจังหวัดสตูล (มัสยิดมำบัง)  ตั้งอยู่บริเวณถนนบุรีวานิช ถามชาวเมืองดูจะง่ายกว่าให้ผมบอกทางให้ เพราะสตูลมีถนนไม่มากสาย การจราจรยังไม่แน่นขนาดรถติด อยู่ใกล้โรงแรม เรียกว่าตั้งอยู่กลางเมืองสตูล รูปทางสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ตกแต่งด้วยกระเบื้องเคลือบหินอ่อน และกระจกใส อาคารแบ่งเป็นสองตอน ด้านนอกเป็นระเบียง มีบันไดขึ้นหอคอยลักษณะเป็นยอดโดม มองเห็นทิวทัศน์เมืองสตูลได้ มีห้องใต้ดินเป็นห้องสมุด  ด้านในมีห้องโถงใหญ่ ใช้เป็นห้องละหมาด
                    คฤหาสน์กูเด็น  ตั้งอยู่ริมถนนสตูลธานี ตรงข้ามกับที่ดินจังหวัดสตูล เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ๒ ชั้น อาคารเป็นตึกแบบตะวันตก ประตู หน้าต่าง รูปโค้งสถาปัตยกรรมโรมัน หลังคาแบบไทย บานหน้าต่างเหมือนเป็นแผ่นไม้ชิ้นเล็ก ๆ เป็นเกล็ดแนวนอน หลังคาใช้กระเบื้องดินเผารูปกาบกล้วย  ช่องลม หน้าบันตกแต่งรูปดาว เป็นสถาปัตยกรรมแบบอิสลาม พระยาภูมินารถภักดี (กูเด็น บินกูเมะ) ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ในเวลานั้นเป็นผู้สร้าง เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๕ โดยตั้งใตสร้างเพื่อถวายเป็นที่ประทับของรัชกาลที่ ๕ คราวเสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ แต่มิได้ประทับแรม ต่อมาจึงใช้เป็นบ้านนพักรับรองเป็นสาลาว่าการเมืองสตูล ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๔ อาคารหลังนี้ถูกใช้เป็นกองบัญชาการของทหารญี่ปุ่น ต่อมาใช้เป็นสำนักงานเทศบาลและเป็นศาลากลางจังหวัด ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๐ - ๒๕๐๖ หลังจากนั้นใช้เป็นที่ว่าการอำเภอเมืองสตูล เป็นโรงเรียนเทศบาล ๑ สุดท้ายใช้เป็นกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในสตูล จนกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ และได้เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๓ เพื่อเป็นที่รวบรวมโบราณวัตถุและจัดเป็นนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมประเพณี และวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น
                    ไปสตูล ขอให้แบ่งเวลาไปชมให้ได้ อะไรที่อยากรู้เกี่ยวกับสตูล จะอยู่ที่นี่
                    สวนสาธารณเขาโต๊ะพญาวัง  อยู่ในเขตเทศบาลสตูล สวยด้วยธรรมชาติและการดัดแปลงเพิ่มเติม อยู่ถนนคูหาประเวศน์มีภูเขาหินปูนขนาดเล็ก ถ้ำ มีลำคลองไหลผ่าน ร่มรื่นด้วยต้นไม้นานาพรรณ เหมาะแก่การไปพักผ่อนหย่อนใจ
                    แหลมตันหยงโปและหาดทรายยาว  อยู่ปากอ่าวสตูล ลักษณะเป็นแหลมที่ยื่นล้ำเข้าไปในทะเลอันดามัน มีหาดทรายยาวขาวสะอาด และมีหมู่บ้านชาวประมงอาศัยอยู่
                    กิ่งอำเภอมะนัง อยู่ห่างจากตัวจังหวัด ๕๙ กม. นำไปเที่ยวที่ถ้ำภูผาเพชร อยู่ที่ ต.ปาลม์พัฒนา เป็นถ้ำขนาดใหญ่ ภายในถ้ำเป็นโพรงที่มีความลึกเป็นคูหา เพดานถ้ำสูงโปร่ง มีหินงอกหินย้อย จะส่งประกายแวววาวเมื่อต้องแสงไฟ เดิมมีชื่อเรียกว่าถ้ำลอดหรือถ้ำเพชร ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นถ้ำภูผาเพชร เส้นทางถนนสาย ๔๐๖ สตูล - รัตตภูมิ พอถึงสามแยกควนกาหลงก็เลี้ยวตามป้าย อ.มะนังไปอีก ๑๕ กม. ถึงสามแยกผัง ๑ ต.อุใดเจริญ เลี้ยวขวาเข้าถนนผัง ๑ ถึงที่ว่าการ อ.มะนัง ต่อไปจนถึงสี่แยกบ้านผังปาล์ม ๑ เลี้ยวซ้ายไปประมาณ ๕๐๐ เมตร แล้วเลี้ยวขวาเข้าถนนผังปาล์ม ๑ ไปเลี้ยวซ้ายอีกทีที่โรงเรียนบ้านป่าพน ไปอีก ๗ กม.ก็จะได้ชมถ้ำแสนสวยนี้
                แหล่งท่องเที่ยวในอำเภอทุ่งหว้า  ที่อยู่ห่างจากตัวจังหวัด ๗๖ กม. มีน้ำตกธารปลิว
                แหล่งท่องเที่ยวในอำเภอควนกาหลง  ที่อยู่ห่างจากตัวจังหวัด ๓๒ กม.มีน้ำตกธารสวรรค์ อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอ ๑๒ กม.สวยมากมี ๕ ชั้น และมีน้ำตกปาหนัน
            เทศกาลประเพณี  มีงานประเพณีแข่งว่าวนานาชาติ ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ งานเทศกาลท่องเที่ยวตะรุเตา ระหว่างเดือนพฤศจิกายน - เมษายน ประเพณีลอยเรือ จัดในหมู่ชาวเล ที่เกาะหลีเป๊ะ สตูล ในวันขึ้น ๑๒๓ - ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ และเดือน ๑๑
            ร้านข้าวต้มอร่อย ๆ ยามค่ำชุมนุมกันอยู่ในถนนสตูลธานี วิ่งรถสำรวจตอนเย็นสักเที่ยวก็พอจะหาทุกร้านเจอ ถนนรถเดินทางเดียว มาผ่านสถานีตำรวจ ผ่านมัสยิดกลาง (เลี้ยวซ้าย ร้านเจ็แดงซีฟูด) ผ่านตลาดกลางคืน หากเลี้ยวซ้ายเข้าซอยมีร้านก๋วยจั๊บ ถ้าตรงไปสุดทางที่สามแยกมีร้านข้าวต้ม สุดทางแล้วเลี้ยวซ้ายไปทางไปรษณีย์ มีร้านข้าวต้ม เลยศาลจังหวัดไปร้านอาหารอร่อย ยำไข่แมงดาทะเล ผัดฉ่าปลากุเลา แกงส้มปู ไข่ดอง ปูผัดผงกะหรี่ น้ำพริกกะปิ ผักเหนาะ แถมฟรี
            อยากกินอาหารฝรั่งให้สั่ง สเต๊กปลากะพง, สเต๊กเนื้อฟิเลต์มิยอง
            กินอาหารไทย สั่งหน่อไม้ทะเลผัดกุ้ง หน่อไม้ทะเลคือหอยชนิดหนึ่ง คล้าย ๆ เป๋าฮื้อ เคี้ยวหนึบ ๆ ผัดกับกุ้ง เห็ดหอม แครอต ต้นหอม ผัดใส่แป้งแบบผัดก๋วยเตี๋ยวราดหน้า พอยกมาให้กินตอนร้อน ๆ อร่อยนัก
            เอ็นหอยผัดฉ่า ต้องกินกับข้าวสวยร้อน ๆ อร่อยเด็ด เคี้ยวกรุบ ๆ หนึบ ๆ
            ก๋วยเตี๋ยวหัวปลา เหมาะเป็นมื้อกลางวันหรือสั่งมาเสริม ต้องสั่ง "ก๋วยเตี๋ยวหัวปลา" ใส่มาในชามหม้อดิน หัวปลามีเนื้อติด มีสิทธิปรุงรสได้เพียงเติมน้ำส้ม



| ย้อนกลับ | บน | หน้าต่อไป |