| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |

ล่องใต้ (๗)

            จังหวัดสงขลา มีอุทยานแห่งชาติ ๒ แห่ง คือ
                อุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้าง  อุทยานแห่งนี้ต้องถือว่าเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ เพราะโจรจีนคอมมิวนิสต์มาเลเซีย ภายใต้การนำของ นายอี้เจียง ตำแหน่งผู้บังคับการกรม ๘ ของ จคม.ยึดครองพื้นที่อยู่ ทำให้เทือกเขาน้ำค้างไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยว ทั้ง ๆ ที่ อช.แห่งนี้ มีน้ำตกหลายแห่ง เช่น น้ำตกโตนลาด น้ำตกโตนตาดฟ้า น้ำตกวังหลวงพรม มีเมืองลูกหนึ่ง อยู่บริเวณใกล้ยอดเขาน้ำค้าง  มีก้อนหินโต ลักษณะคล้ายกำแพงเมืองโบราณ ซากหินคล้ายเมืองใหญ่ ๆ เมืองหนึ่ง กองอุทยานแห่งชาติ เสนอกรมป่าไม้ (ยังไม่ได้ตั้งกระทรวงทรัพยากร ฯ) เมื่อ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๓๑ เสนอให้จัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ
                ในหนังสือ วนสาร ที่รวบรวมอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ เอาไว้ซึ่งผมได้อาศัยเป็นเอกสารอ้างอิง ในการเขียนเล่าถึงอุทยานแห่งชาติ แต่ในเรื่องของ อช.เขาน้ำค้าง ที่กล่าวไว้ว่า "ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ ๒ อยู่ในความยึดครองของผู้ก่อการร้ายโจรจีนคอมมิวนิสต์ (จ.ค.ม.) เป็นบริเวณที่มีพื้นที่ภูมิประเทศ เป็นถิ่นทุรกันดารเทือกเขาสลับ ซับซ้อน ทำให้เป็นฐานปฎิบัติการใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของ จ.ค.ม. แถบนี้ แต่ในที่สุดจากการปฎิบัติการตามแผนยุทธการใต้ร่มเย็น โดยนำนโยบายการเมืองนำการทหาร กองทัพภาคที่ ๔ และทหารหน่วยผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร ที่ ๔๓ (พตท.๔๓) ได้นำนโยบายนี้ เข้าปฎิบัติการสามารถเข้ายึดค่ายปฎิบัติการของ จ.ค.ม. ได้สำเร็จเมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๒๓ ทำให้ จ.ค.ม. สลายตัวไปในที่สุด"
                ผมอยากจะชี้แจงเอาไว้ เพราะต้องถือเป็นประวัติศาสตร์ ในการปราบปราม จคม. (ฝ่ายทหารย่ออย่างนี้) จคม. หรือโจรจีนคอมมิวนิสต์ นั้นมี ๒ พวก พวกที่มีจำนวนมากแต่ไม่ค่อยรวมกันเป็นกลุ่มก้อนเรียกว่า จคม.สายจีนสนับสนุน มีจีนเป็ง เป็นหัวหน้าเรียกว่า โจรจีนคอมมิวนิสต์มาลายา อีกพวกหนึ่ง รวมกันเป็นกลุ่มก้อน เรียกว่า โจรจีนคอมมิวนิสต์มาเลย์เซีย มีรัสเซียสนับสนุน มีกำลังส่วนใหญ่อยู่ในอำเภอเบตง มีกำลังขนาดกองร้อยอยู่ในพื้นที่ อ.บันนังสตาร์ จังหวัดยะลา และอีกกลุ่มหนึ่ง ระดับกองร้อย เช่นกัน อยู่ในพื้นที่เทือกเขาน้ำค้าง อ.นาทวี จ.สงขลา กองทัพบกได้ตั้งกองทัพภาคที่ ๔ ส่วนหน้า ปฎิบัติการปราบปรามพวกก่อการร้ายทั้ง ขจก. ขบวนการโจรก่อการร้าย (มี ๓ กลุ่ม) พวกโจรจีนคอมมิวนิสต์ (มี ๒ กลุ่ม) และผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.) ที่ยังเหลือพอเป็นกระสายยา รวมทั้งพวกโจรห้าร้อยด้วย ทภ.๔ สน.ตั้งกองบัญชาการ อยู่ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี รับผิดชอบในการปราบปรามได้อย่างเด็ดขาด ในพื้นที่ ๕ จังหวัดคือ สงขลา สตูล ปัตตานี นราธิวาส และ ยะลา อยู่ในความควบคุมบัญชาการของ นายพลเพียงคนเดียวคือ พลตรี โอภาส โพธิแพทย์ และควบคุมการปฏิบัติการของ พตท.๔๓,พล.ร.๕ ส่วนหน้า และการปฎิบัติการทางยุทธการของ ศอ.บต. ศูนย์อำนวยการบริหารภาคใต้ (ผบ.พตท.๔๓ ยศพันเอก ปัจจุบัน พลโท ) นโยบายใต้ร่มเย็นนั้น บัญชาการโดยท่าน พลเอก หาญ ลีลานนท์ และประสบความสำเร็จ ในการปราบปราม ผกค. ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๖ ส่วน ขจก. และ จคม. ยังไม่ประสบความสำเร็จ จึงได้ตั้ง ทภ.๔ ส่วนหน้า มีนายพลบัญชาการอยู่คนเดียว และเวลานั้น ตำรวจ ทหารเรือ ทหารอากาศ ยังไม่เกิดหน่วยที่ผู้บังคับหน่วยมียศพลโท การบังคับบัญชาสั่งการในสาย กอ.รมน.จึงไม่มีปัญหา แม้จะเป็นการสั่งการจากผู้ครองยศพลตรีด้วยกัน ผมใช้วิธีปิดล้อม กดดัน ให้อดอยาก เข้าถึงประชาชนในทุกพื้นที่ด้วยการไปตรวจเยี่ยมหน่วยต่างๆ ในพื้นที่ ไม่ว่าหน่วยจะเล็กขนาดไหน และถือโอกาสเยี่ยมประชาชน หาของไปแจก ไปพัฒนา "ตามความต้องการของประชาชน" สร้างห้องละหมาด สร้างมัสยิด หลีกเลี่ยงการเข้าตี เพื่อลดการสูญเสีย และพยายามเข้าเจรจา ด้วยวิธีการแบบนี้ เป็นผลให้ จคม. ติดต่อผ่านทางนายอำเภอ ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด ทางเทือกเขาน้ำค้างติดต่อผ่านมาทางผู้ว่า ฯ จนมาถึงผม และได้มีการออกมามอบตัว หรือรายงานตัวของ จคม.เทือกเขาน้ำค้าง จำนวน ๑๒๒ คน ในวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๓๐ และผมได้นำ จคม.กลุ่มนี้ที่สมัครใจไปพำนักอยู่ชั่วคราวที่ พตท.๔๓ อ.ยะรัง ปัตตานี เพื่อรองบประมาณมาพัฒนาพื้นที่ที่ จคม.เคยอยู่เดิม จำนวนคนที่ออกมามอบตัว ภายใต้การนำของ นายอี้เจียง ถูกต้องแน่นอน และด้วยวิธีการเดียวกัน ก็นำไปใช้กับ จคม.กลุ่มนาย จางจงหมิง โดยนาย จาง ติดต่อขอมอบตัวผ่านทางนายอำเภอเบตง นาย ดิเรก ถึงฝั่ง ผ่านมายังผู้ว่าราชการจังหวัด และมายัง ทภ.๔ ส่วนหน้า เหตุผลสำคัญที่ออกมามอบตัว เพราะโดนปิดล้อม อดอยาก หาเสบียงไม่ได้ ฝ่ายอำเภอเบตง ร่วมมืออย่างจริงจัง ควบคุมไม่ให้ร้านค้า ขายอาหารแก่ประชาชานจำนวนมาก เช่นบ้านนี้มี ๕ คน ยอมให้ซื้อข้าวได้แค่ ๕ ถัง เป็นต้น เมื่อเจรจากันแล้ว ทาง ทภ.๔ ก็ของบประมาณที่จะใช้จ่ายในการมอบตัวของ จคม. กลุ่มนายจางจงหมิง และกลุ่มนายอี้เจียง ที่อออกมาก่อนแล้ว ต้องขอทั้งเงินปลูกบ้าน ในพื้นที่เดิมหลังละ ๑๖,๐๐๐ บาท ขอค่าอาหารอย่างน้อย ๓ เดือน ค่าเสื้อผ้า ค่าเครื่องมือในการทำกิน ขอกระทั่งเมล็ดพืชพันธุ์ ซึ่งการของบประมาณนั้นยากมาก เพราะหน่วยเหนือไม่เชื่อว่า จคม.จะยอมออกมามอบตัว เพราะกว่า ๔๐ ปีแล้ว ที่เขาเกาะติดอยู่ตามชายแดน ยิ่งใกล้เวลาที่นัดหมายกัน งบประมาณไม่ออก ถึงขั้นประสานกับผู้จัดการธนาคารทหารไทย ปัตตานี ที่เคยเป็นทหารเก่าว่า ผมขอกู้เงินได้ไหม เอาที่ดิน และบ้านผมในกรุงเทพ ฯ เป็นหลักทรัพย์ประกัน ผู้จัดการ ฯ ยอม แต่เคราะห์ของผมยังดีที่ไม่ต้องไปอยู่วัด งบประมาณอนุมัติมาพอดี วันประวัติศาสตร์อีกวันหนึ่งคือ วันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๓๐ จคม.ภายใต้การนำจอง นายจางจงหมิง ได้ออกมามอบตัวจำนวนทั้งสิ้น ๕๔๒ คน รวมกับที่ออกมาแล้วเป็น ๖๔๔ คน จบสิ้นการสู้รบกับ จคม.สายรัสเซียให้การสนับสนุน กองทัพภาคที่ ๔ ส่วนหน้า ปิดกองบัญชาการ เมื่อ ๑ ต.ค.๓๐
                จคม.สายจีนเป็ง ทาง ทภ.๔ ก็ดำเนินการต่อมาด้วยการเจรจาเป็นหลัก เพราะกลุ่มนี้ไม่อยู่เป็นกลุ่มก้อนเหมือนกลุ่ม นายจางจงหมิง และใช้เวลาอีก ๒ ปี ก็ออกมามอบตัวทั้งหมด พวกที่ออกมารุ่นแรก ผมตั้งชื่อหมู่บ้านของพวกเขาว่า หมู่บ้านปิยะมิตร ๑,๒ และ ๓ อยู่ที่บ้านตาเนาะแมเราะ อ.เบตง หมู่บ้านปิยะมิตร ๔ ที่ อ.บันนังสตาร์ จ.ยะลา และหมู่บ้านปิยะมิตร ๕ ที่เทือกเขาน้ำค้าง อ.นาทวี จ.สงขลา
                เมื่อไปอ่านพบประวัติเพี้ยนๆ เข้า ผมจึงพยายามแก้ไขเอามาเล่าให้ทราบ เพราะหากผมตายไปเมื่อไร คนที่รู้เรื่องละเอียดก็แทบจะไม่มี เพราะการเจรจานั้น มีคนรู้เรื่องไม่กี่คน วันเจรจาครั้งสุดท้ายที่บ้านผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา นายนิวัติ พิบูล ฝ่าย จคม.ยกขบวนมา ๒ คันรถ เราสั่งเปิดด่านให้ผ่าน ฝ่ายทหารมีผมคนเดียว กับล่ามของสันติบาล จากกรุงเทพ ฯ ฝ่ายพลเรือนมีผู้ว่า ฯ คนเดียว ฝ่าย จคม.ล้อมบ้านผู้ว่า ฯ ไว้ ส่งเข้ามาเจรจา ๔ - ๕ คน เจรจากันค่อนคืนไม่มีใครยอมใคร ผมให้ผู้ว่า ฯ แช่เบียร์ไว้เลี้ยงเขา พูดกันไม่รู้เรื่อง ภาษาก็ต้องผ่านล่ามเป็นหลัก พอประมาณ ๖ ทุ่ม เห็นว่าไม่ได้เรื่อง ก็เลยบอกผู้ว่า ฯ ยกเบียร์เลี้ยงเขาดีกว่า คงจะหมดเบียร์ไปสักค่อนโหล ข้อเรียกร้องของเขา ๑๗ ข้อ ลดเหลือ ๓ ข้อ แม้ผมจะเกษียณอายุราชการแล้ว แต่ผมกับพวกเขายังติดต่อกันตลอด ติดตามเรื่อง จนผลที่สุดเมื่อปีที่แล้ว พวก จคม.กลุ่มนี้ก็ได้รับสัญชาติไทย นายจางจงหมิง ตายตาหลับ
                ขออภัยที่ผมเอาเรื่องเก่า ที่เป็นความภาคภูมิใจในชีวิตรับราชการของผม แม้จะรบมาตั้งแต่เชียงคำ จนออกไปนอกประเทศ และมาจบที่ใต้สุดแผ่นดินสยาม ไม่มีครั้งใดที่จะมีความภาคภูมิใจเท่างานนี้ และทุกวันนี้ผมไปเบตงเมื่อไร พวก จคม.ก็จะรับรองอย่างผู้มีบุญคุณต่อพวกเขา เหมือนญาติผู้ใหญ่ไปเยี่ยม ทั้ง ๆ ที่พวกรุ่นเก่าเหลือไม่กี่คน
                อุทยานแห่งชาติ สันกาลาคีรี  ที่ทำการอุทยาน อยู่ที่บ้านไร่เหนือ หมู่ ๒ ต.บาโหย อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ๙๐๒๑๐ รายละเอียดอื่น ๆ ยังไม่มี
                ทีนี้ไปเที่ยวตัวเมืองสงขลา ถนนสายสำคัญเก่าแก่ของสงขลามี ๓ สาย เหมือนกันคือ ถนนนครใน นครนอก และถนนนางงาม
                หากมาจากหาดใหญ่ ตามถนนเส้นเดิมคือ ผ่านหน้าค่ายทหาร ก็จะมาบรรจบกับถนนที่ตัดเลี่ยงเมืองหาดใหญ่ มาแล้วจะมาผ่านทางแยกซ้าย เพื่อไปยังสะพานติณสูลานนท์ เชิงสะพานมีส่วนป๋าเปรมเป็นสวนสาธารณะ หากข้ามสะพานไปก็จะไปยงเกาะยอ มีร้านอาหารอร่อย ๆ หลายร้าน
                ตรงมาตามถนนที่มาจากหาดใหญ่จนถึงสามแยก หากเลี้ยวขวาก็จะไปยัง ป.พัน ๕ ไป อ.จะนะ ไปปัตตานี ยะลา นราธิวาส ได้ หากเลี้ยวซ้ายมานิดเดียวจะเห็นป้ายชี้บอกว่า เลี้ยวขวาจะไปยัง เก้าเส้ง ถ้าเลี้ยวขวาไปจนสุดถนน ก็เป็นชายหาดทรายขาว สวยชื่อ หาดชลาทัศน์ เก้าเส้ง เป็นหินก้อนใหญ่ อยู่ทางขวาของปลายถนน ห่างไปประมาณ ๑๐๐ เมตร จะเห็นหินก้อนโตตั้งเด่นอยู่ ชาวบ้านเรียกหินก้อนนี้ว่า หินหัวนายแรง ประวัติเล่าไว้ว่า นายแรงเป็นคนระดับเจ้าเมือง จะขนเงิน ขนทอง ไปทำบุญฉลองพระธาตุที่ นครศรีธรรมราช พอผ่านจุดนี้เกิดลมมรสุม พัดหนักจนเรือเสียหายไปต่อไม่ได้ ต้องหยุดซ่อมเรือ พอซ่อมเรือเสร็จ ก็ทราบว่า งานฉลองพระธาตุเสร็จสิ้นลงแล้ว นายแรงเสียใจจึงนำเงินทองจำนวนเก้าแสน ฝังไว้ที่ยอดเขาแห่งนี้ (แต่ไม่ทราบว่าตรงไหน หากมีใครทราบก็คงขุดไปนานแล้ว) นานไปเลยเรียกเพี้ยนว่า "เก้าเส้ง"
                หาดชลาทัศน์ ยาวเหยียดไปสัก ๒ - ๓ กม. ทางขวาคือ ทะเล ชายหาดสวย ทางซ้ายเป็นสวนสน เริ่มมีแผงขายอาหารมากมาย อาหารอิสลามก็มี มีสุขา และที่อาบน้ำไว้บริการ ภาวนาขอให้อยู่กันแต่ทางฝั่งสวนสน อย่าข้ามฟากมากางร่ม ตั้งเก้าอี้ผ้าใบ บริการนักดื่มเลย เสียดายความงามของชายหาด
                ถนนเลียบชายหาดชลาทัศน์ จะยาวไปจนสุดที่วงเวียน ไปต่อไม่ได้ ที่กลางวงเวียนนี้ ปั้นเป็นรูปคนนั่งก้มหน้าอ่านหนังสืออยู่ มองแล้วเดาไม่ออกหมายความว่าอย่างไร
                จากวงเวียนหากมองออกไปทางทะเล จะมองเห็น เกาะหนู เกาะแมว ซึ่งมีประวัติว่า นายสำเภามาค้าขายที่สงขลา พบหมาแมวคู่หนึ่งน่ารัก จึงนำไปเลี้ยงไว้ในเรือ นายสำเภามีลูกแก้วศักดิ์สิทธิ์อยู่ลูกหนึ่ง ใครมีไว้จะไม่จมน้ำ หมากับแมวรู้เรื่องนี้ จึงได้ขโมยดวงแก้ว แล้วโดดน้ำว่ายเข้าฝั่ง ระหว่างทางทะเลาะกัน ลูกแก้วเลยหลุดจากปาก ตกน้ำจมหายไป กลายเป็นเกาะหนู เกาะแมว (ทำไมไม่กลายเป็น เกาะหมา เกาะแมว) อีกตำนานหนึ่งเล่าไว้ว่า นายสำเภาเลี้ยงหมา แมว หนู เอาไว้ หมากับแมวยุให้หนูขโมยดวงแก้ว จากนายสำเภาเมื่อขโมยได้แล้วทั้ง ๓ ก็โดดลงน้ำ ระหว่างทางทะเลาะกัน ดวงแก้วหลุดจมน้ำหายไป แมวกับหนู เลยจมน้ำตาย ส่วนหมาตะเกียกตะกายว่ายไปขึ้นฝั่งได้ แมวกับหนู กลายเป็นเกาะ ส่วนหมากลายเป็นเขาตังกวน
                ทางซ้ายของวงเวียนคือ โรงแรมสมิหรา (ไม่แน่ใจว่าเปลี่ยนชื่อหรือเปล่า) จะเข้าโรงแรมต้องอ้อมไปอีกทาง จากวงเวียนรถไปโรงแรมไม่ได้ เดินไปได้ และชายหาดหน้าโรงแรมคือ หาดสมิหรา ปลายหาดมีรูปปั้นนางเงือกนั่งอยู่ เป็นสถานที่ที่ใครมาสงขลา ต้องไปถ่ายรูปคู่กับนางเงือก เลยนางเงือกไปมีสวนสน มีรูปปั้นหมา แมว หนู
                เลยหาดสมิหราไปก็จะเป็น แหลมสนอ่อน มีชื่อว่า สวนสองทะเล เพราะติดกับทะเลสาบสงขลาด้านหนึ่ง ทะเลอ่าวไทยด้านหนึ่ง มีแพขนานยนต์ บรรทุกรถยนต์ข้ามไปฝั่งตรงข้าม ไปนครศรีธรรมราชได้ แม้จะมีสะพานติณสูลานนท์แล้ว ก็ยังมีรถยนต์ข้ามแพไปขึ้นฝั่งตรงข้าม ใกล้ท่าแพขนานยนต์ มีอนุสาวรีย์ พลเรือเอก กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์สร้างไว้สง่างาม
                พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติสงขลา  อยู่ที่ถนนวิเชียรชม ไม่ไกลจากตลาดสด เป็นสถาปัตยกรรมแบบจีน อายุกว่าร้อยปี เดิมเป็นบ้านพักส่วนตัวของ พระยาสุนทรารักษ์ (เนตร ณ สงขลา) สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๔๒๑  เคยใช้เป็นศาลาว่าการมณฑล นครศรีธรรมราช และเป็นศาลากลางจังหวัด จนถึงปี พ.ศ.๒๔๙๖ เปิดให้เข้าชมวันพุธ - วันอาทิตย์
                พิพิธภัณฑ์พธำมะรงค์ (พะธำมะรง)  ตั้งอยู่ที่ ถนนจะนะ ใกล้ ๆ กับพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เดิมเป็นบ้านพักของ รองอำมาตย์โท ขุนวินิจทัณฑ์กรรม (บึ้ง ติณสูลานนท์) พะทำมะรงพิเศษ เมืองสงขลา (เดิมทีเดียวเขียน พธำมะรงค์) บิดาของท่านป๋าเปรม ตำแหน่งพะทำมะรง เป็นตำแหน่งข้าราชการกรมราชทัณฑ์ คู่กับตำแหน่งพัศดี
                ภายในจำลองบรรยากาศบ้านพักของครอบครัว ติณสูลานนท์ในอดีต
                บ้านศรัทธา เป็นบ้านที่ชาวสงขลาร่วมกันสร้างเป็นเงินมากถึงยี่สิบห้าล้านบาท ในเนื้อที่ ๘ ไร่ บนเนินเขาทางไป อ.จะนะ มอบให้ป๋าเปรม เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๔ แต่ท่านได้มอบกลับคืนให้ชาวบ้าน เมื่อ ๗ เม.ย.๒๕๔๐ รอบบ้านตกแต่งเป็นสวนหย่อม งดงาม
                เขาตังกวน  บนยอดเขาประดิษฐานเจดีย์พระธาตุคู่เมืองสงขลา สร้างในสมัยอาณาจักรนครศรีธรรมราช เป็นศิลปะสมัยทวารวดี เมื่อก่อนขึ้นลำบาก เพราะรถขึ้นไปไม่ถึงยอดเขา แต่เดี๋ยวนี้ขึ้นสบาย เพราะมีรถเคเบิลคาร์ จ่ายคนละ ๒๐ บาท ขึ้นไปนมัสการพระบรมธาตุ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์อีก ๖ ซุ้ม เรี่ยวแรงดี ๆ ให้เดินต่อไป ยังพระพิหารแดง พระตำหนัก ที่สร้างเตรียมไว้รับเสด็จ ร.๔ แต่มาสร้างเสร็จในสมัย ร.๕
                สวนสัตว์สงขลา  อยู่นอกเมือง ไปทางจะไป อ.จะนะ ต.เขารูปช้าง
                วัดมัชฌิมาวาส หรือชาวบ้านเรียก วัดกลาง อายุกว่า ๔๐๐ ปี อยู่ในตัวเมือง
                ถนนนางงาม ถนนนครนอก และถนนนครใน หากเริ่มต้นที่ตลาดสด มองไปทางซ้ายจะเห็นถนนสามสาย และรถวิ่งทางเดียว วิ่งไปเส้นทางขวาสุดทาง จะมีประตูเมืองจำลอง บอกว่า "เมืองสงขลา" รถวิ่งผ่านไม่ได้ วิ่งวกกลับมาคือ ถนนนางงาม สุดถนนนางงาม เลี้ยวขวาวิ่งกลับไปคือ ถนนนครใน ถนน ๓ สายนี้ คือ ย่านการค้าสมัยก่อน และยังมีบ้านเรือนโบราณ ที่เป็นตึกแถวแบบโคโรเนียล
                ถนนนางงาม  อยู่กลาง เดิมชื่อ ถนนเก้าห้อง แต่มีสาวในถนนสายนี้ได้เป็นนางงาม เลยเปลี่ยนชื่อเป็นชื่อถนนนางงาม ผมจะพามากินอาหารในถนนสายนี้ กินกันมานานคงเกินสามสิบปี และย้ายมาจากที่เดิมทางหัวถนน เข้าถนนนางงาม แล้ววิ่งมาสัก ๕๐๐ เมตร ร้านอยู่ทางซ้ายมือ ฝั่งตรงข้ามคือ ร้านขนมที่ต้องแวะหลังจากอิ่มข้าวแล้ว ซื้อขนมกันมานานเกินยี่สิบปี  อาหารที่ขึ้นชื่อคือ ต้มยำแห้ง ไปร้านแต้ คำแรกสั่งได้เลย คำสั่งที่ ๒ คือ ยำมะม่วง (มะม่วงสามฤดู มีทั้งปี) และคำสั่งที่ ๓ คือ พะโล้รวม มีทั้งเป็ดพะโล้ ไส้พะโล้ ฯ หรือชอบแต่เป็ด ก็สั่งเป็ดพะโล้ ออกคำสั่งไปแล้ว ค่อยดูเมนูสั่งเพิ่มเอาก็ได้ ต้มยำแห้งของเขาไม่มีใครสู้ ผมไปกินมาหลายแห่งแล้ว กินกันถึงกันตังก็เคย สู้ตำยำแห้งร้านแต้ไม่ได้ เปรี้ยวด้วยส้มมะขาม น้ำขลุกขลิก เนื้อปลากะพงนุ่ม รสแกง เข้าเนื้อ อร่อยอย่าบอกใครทีเดียว ยำมะม่วงก็เช่นกัน รวมทั้งพะโล้ไม่ต้องบรรยายสรรพคุณ
                ขนมที่เด่นคงจะต้องยกให้ ขนมทองเอก ได้รับคัดเลือกเป็นขนมไทยดีเด่น จากสำนักนายกรัฐมนตรี สัมปันนี ก็อร่อยมาก แป้งนุ่ม หวานอ่อน ๆ ยังมี ข้าวฟ่างกวน กีวีอบ ข้าวตูเสวย พายผลไม้ มะม่วงดอง ซื้อไปเป็นของฝากก็ได้
                เลยร้านขนมไป คือ ศาลเจ้า เยื้องศาลเจ้าคือ ร้าเต้าหู้ยี้เสวย อร่อยไม่มีใครเทียมเช่นกัน ข้าวสวยร้อนๆ คลุกข้าวด้วยเต้าหู้ยี้เสวย บีบมะนาว โรยพริกขี้หนูเด็ดนัก



| ย้อนกลับ | บน | หน้าต่อไป |