พระมหาบุรุษเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกบรรพชา
-
เจ้าชายสิทธัตถะทรงม้ากัณฐกะ
เสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ เพื่อทรงบรรพชา ในราตรีกาลวันเพ็ญแห่งอาสาฬมาส
ก่อนพุทธศก 51 ปี คือในปีที่พระองค์มีพระชนมายุ 29 พรรษา ภายหลังจากที่พระองค์ได้เสด็จประพาสอุทยาน
และได้ทอดพระเนตรเห็นทูตทั้งสี่ คือคนแก่ คนเจ็บ คนตาย
และสมณะ แล้วเสด็จกลับพระราชวัง ได้ทรงสดับข่าวการประสูติพระโอรส ทรงเปล่งอุทานว่า
ราหุโล
ซึ่งแปลว่า ห่วง คล้อง แล้ว
-
ภาพนี้เขียนขึ้นจากความรู้
ความเข้าใจในพระพุทธประวัติ และปฐมสมโพธิกถา ตอนเสด็จออกมหาภิเนษกรม โดยได้ประมวลข้อความนั้น
ๆ มาเขียน แสดงถึงการออกจากพระราชวังของเจ้าชายสิทธัตถะ โดยบุคคลาธิษฐานคือมีภาพบุคคลแสดง
เจ้าชายสิทธัตถะประทับบนหลังม้ากัณฐกะ มีนายฉันนะยึดหางม้าตามไป
ข้างหน้ามีเทวดาถือธงนำ ถัดมาเป็นท้าวสักกะเทวราชกำลังจูงม้า เบื้องหลังมีพรหมเชิญเครื่องบวช
ท้าวจตุโลกบาลประคองเท้าม้าทั้งสี่ให้เคลื่อนที่ไป และในขณะที่จะพ้นพระราชวังออกไป
มีพระยามารวัสวดีผู้ใจบาป
แสดงอาการห้ามไว้มิให้ไป
-
ถ้าสันนิษฐานโดยธรรมจะได้ใจความจากภาพนี้ว่า
การทำความดีนั้นบรรดาคนดีย่อมมาร่วมกันอนุโมทนาสาธุการและช่วยเหลือ ประดุจที่บรรดาเทวดาได้พากันมาแห่แหนไป
ส่วนพระยามารแสดงถึงคนชั่วที่ไม่ต้องการ ให้ใครทำดีประการหนึ่ง อีกประการหนึ่ง
คือความห่วงหาอาลัยของเจ้าชายสิทธัตถะ จากสภาวะเดิมของพระองค์
เจ้าชายสิทธัตถะปลงพระเกศา
-
เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกจากวัง
พร้อมด้วยนายฉันนะและม้ากัณฐกะ เพื่อแสวงหาโมกขธรรม เมื่อเสด็จมาถึงฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา
พระองค์ก็ทรงเปลื้องเครื่องทรงกษัตริย์ มอบให้นายฉันนะ และรับสั่งให้นำม้ากัณฐกะ
กลับคืนสู่พระนคร เพื่อแจ้งข่าวแก่พระประยูรญาติและพระราชบิดา
ก่อนจากไป นายฉันนะและม้ากัณฐกะ ได้แสดงความโศกเศร้าโสกาอาดูร ด้วยความจงรักภักดีและอาลัยรัก
-
เจ้าชายสิทธัตถะ
ผู้ทรงมั่นคงเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ในอุดมคติว่า สาธุ
โข ปพฺพชฺชา ทรงอธิษฐานเพศบรรพชิตได้ประทับนั่งบนแผ่นศิลา
บ่ายพระพักตร์สู่ฝั่งชล มีหมู่เทพและพรหมถวายความเคารพ และน้อมถวายสมณบริขาร
คือ บาตรและกาสาวพัตร์ พระองค์ทรงตัดพระเมาฬีด้วยพระแสงขรรค์
แล้วทรงรับเครื่องสมณบริขารเหล่านั้น มาครองเพศเป็นบรรพชิต
พระมหาโคดมเข้าศึกษาที่สำนักอุทธกะรามบุตรดาบส
|
-
พระมหาบุรุษได้ทรงศึกษาอยู่ในสำนักของอุทธกะรามบุตร
ซึ่งอยู่ ณ แขวงเมืองพาราณสี จนสำเร็จวิชาชั้นสมาบัติแปด
คือ รูปฌาณสี่และอรูปฌาณสี่ ซึ่งเป็นวิชาชั้นสูงสุดของอุทธกะรามบุตร
พระมหาบุรุษเห็นว่า ยังไม่ใช่ทางตรัสรู้โลกุตรธรรมชั้นสูงสุด
จึงทรงอำลาอุทธกะรามบุตร เพื่อไปค้นคว้าเพื่อความบรรลุ พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
ด้วยลำพังพระองค์เองต่อไป
|
พระมหาโคดมทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยา
|
-
หลังจากที่พระองค์ได้เสด็จออกบรรพชาแล้ว
ได้ทรงศึกษาค้นคว้า
หาทางตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณด้วยวิธีการต่าง
ๆ อยู่ถึง 6 พรรษา วิธีหนึ่งที่ทรงปฏิบัติคือการบำเพ็ญทุกกรกิริยา
ทุกกรกิริยา
เป็นการทรมานตนให้ลำบากด้วยประการต่าง ๆ เริ่มแต่ทรงกัดพระทนต์ด้วยพระทนต์
กดพระดาลด้วยพระชิวหา
ผ่อนลมหายใจเข้าออกทีละน้อย เสวยพระกระยาหารแต่น้อยจนถึงไม่เสวยเลย จนร่างกายซูบผอม
ยากที่ผู้ใดจะทำได้เท่าเทียมกับพระองค์ นับเป็นความเพียรอย่างอุกฤษฏ์ โดยมีพระปัญจวัคคีย์ทั้ง
5 เป็นผู้อุปัฏฐากและเป็นพยาน แต่การปฏิบัติดังกล่าวไม่ใช่ทางแห่งความตรัสรู้
และพระองค์ได้ทรงเลิกในเวลาต่อมา |
พระมหาโคดมทรงเลิกล้มทุกกรกิริยา
|
-
พระมหาบุรุษทรงกระทำทุกกรกิริยา
ณ เชิงเขาปราคโพธิ
หรือ คงฺคสิริ
อันตั้งอยู่เบื้องหน้าจากลุมพินี ประเทศเนปาล
สู่พุทธคยาประเทศอินเดีย ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ครั้งนั้นปัญจวัคคีย์ คือ
โกณทัญญะ ภัททิยะ วัปปะ มหานามะ และอัสสชิ ได้อยู่เฝ้าปฏิบัติพระองค์อยู่
ด้วยหวังว่าเมื่อพระมหาบุรุษ ผู้มีสรีระสมบูรณ์ ต้องตามมหาปุริสลักษณะพยากรณ์ศาสตร์
มีคติเป็นสอง คือ ถ้าอยู่เป็นฆราวาส จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ ถ้าออกบวชจะได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
-
เมื่อพระองค์กระทำทุกกรกิริยา
อดพระกระยาหารอยู่จนพระสรีระซูบผอม พระฉวีวรรณเศร้าหมอง พระเสโทใหล มีพระหทัยสวิงสวาย
เพราะพระวาโยธาตุกำเริบ พระปัญจวัคคีย์ ต่างเข้าประคองสองพระพาหา โอบอุ้มพระสรีระ
โบกพัดให้คลายร้อน และแสดงความปริเทวนาการ
|
ศุภนิมิตแห่งพิณสามสาย
|
-
พระมหาบุรุษได้กระทำความเพียรอย่างแรงกล้าถึงขั้นอุกฤษฏ์
ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม
แคว้นมคธ ในชมพูทวีป ถึงวาระที่ 3 คือ อดพระกระยาหารจนพระวรกายซูบผอม ซวนเซแทบจะทรงพระกายอยู่ไม่ได้นั้น
อุปมาญาณก็ได้เกิดขึ้นในมโนธาตุของพระองค์ว่า "อันความเพียร ถ้าย่อหย่อนก็เสียผลที่หวัง
ถ้าเคร่งครัดเกินไปก็ให้ผลเสียหาย" ต่อเมื่อกระทำได้พอดีทั้งกายและใจจึงจะเกิดผลต่อผู้บำเพ็ญ
ดุจพิณสามสาย
ถ้าหย่อนนักมักไม่ดัง ถ้าตึงนักมักขาด ต่อเมื่อพอดีจึงจะให้เสียงนิ่มนวลฟังได้ไพเราะ
-
ภาพนี้ พระโบราณาจารย์ได้แสดงเป็นบุคคลาธิษฐานว่า
เมื่อพระมหาบุรุษบำเพ็ญเพียรอย่างอุกฤษฏ์ จวนเจียนพระชนม์จะแตกสลายอยู่นั้น
ท้าวสักกะเทวราช ที่คอยให้ความช่วยเหลืออนุเคราะห์ แก่ธรรมจารีชนทั้งหลายอยู่เบื้องบน
ได้เห็นความตั้งใจอันเด็ดเดี่ยวของพระมหาบุรุษ จะไร้ผลเสียเปล่า จึงได้ถือพิณสามสาย
เสด็จลงมาดีดถวาย สายที่หย่อนยาน ดีดเข้าไม่ดัง สายที่ตึงนักดีดเข้าก็ขาด
สายที่สามพอดีดีดเข้าประสานเสียงกลมกลืนไพเราะ พระมหาบุรุษได้สติ จึงยึดเอาพิณสายกลางที่พอดี
มาเป็นแนวทางปฏิบัติ คือตั้งความเพียรทางใจ ให้เป็นไปพอดี ไม่หย่อน
ไม่ตึง จึงเรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา
จึงสำเร็จพระโพธิญาณสมประสงค์
-
บรรดาปัญจวัคคีย์
เมื่อเห็นพระองค์เลิกทุกกรกิริยา กลับมาเสวยพระกระยาหาร ก็คลายศรัทธา พากันหลีกไป
|