| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |

สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 11 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงอิสริยยศ ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ เมื่อปี พ.ศ. 2465 ทรงดำรงตำแหน่งอยู่ 16 พรรษา สิ้นพระชนม์ เมื่อปี พ.ศ. 2480 พระชนมายุได้  79  พรรษา
พระองค์มีพระนามเดิมว่า หม่อมเจ้าภุชงค์  เป็นพระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมขุนเจริญผลกุล สวัสดิ์ ประสูติเมื่อปี พ.ศ. 2402 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ศึกษาที่เมืองสิงคโปร์ เมื่อปี พ.ศ. 2414 เป็นเวลา  9 เดือน เมื่อพระชนมายุได้  14 พรรษา ทรงผนวชเป็นสามเณร ประทับอยู่ที่วัดราชบพิธ ฯ ศึกษาพระปริยัติธรรม เมื่ออุปสมบทแล้ว ได้ทรงเข้าแปลพระปริยัติธรรม 2 ครั้ง ได้เป็นเปรียญ 5 ประโยค ได้เป็นพระราชาคณะที่ พระสถาพรพิริยพรต เมื่อปี พ.ศ. 2430 ทรงเป็นคณะกรรมการชุดแรกของมหามงกุฎราชวิทยาลัย ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2436
พ.ศ. 2438   ได้เป็นพระราชาคณะ ผู้ใหญ่เสมอ ชั้นเทพ
พ.ศ. 2442   ได้เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมปาโมกข์
พ.ศ. 2444   ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดราชบพิธ ฯ เป็นพระองค์ที่ 2
พ.ศ. 2449   ได้เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองที่ พระพรหมมุนี  เจ้าคณะรองในคณะกลาง และได้รับสถาปนาพระอิสริยยศ เป็นพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้า
พ.ศ. 2453   ได้รับสถาปนาพระอิสริยยศ เป็นพระวงรวงศ์เธอกรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพุฒาจารย์ เจ้าคณะใหญ่หนกลาง
พ.ศ. 2464   ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า สกลสังฆปรินายก นับว่าเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า พระองค์แรก
พระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถ นับว่าเป็นปราชญ์ทางพระพุทธศาสนา ที่สำคัญพระองค์หนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงนิพนธ์ตำรา  และหนังสือสำคัญทางพระพุทธศาสนาไว้มาก เช่น พจนานุกรมภาษา  บาลีแปลเป็นไทย มหานิบาตชาดก ต้นบัญญัติ สามเณรสิกขา เป็นต้น พระนิพนธ์เหล่านี้ ยังใช้เป็นคู่มือในการศึกษาภาษาบาลี และศึกษาพระพุทธศาสนาของภิกษุสามเณรมาจนถึงปัจจุบัน


สมเด็จพระอริยวาศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว)
สมเด็จพระสังฆราช (แพ  ติสฺสเทโว) เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 12 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดสุทัศนเทพวราราม ทรงดำรงตำแหน่งเมื่อปี พ.ศ. 2481 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงดำรงค์ตำแหน่งอยู่ 6 พรรษา สิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ. 2487  พระชนมายุ  89  พรรษา
พระองค์มีพระนามเดิมว่าแพ ประสูติในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ เมื่อปี พ.ศ. 2399  เป็นชาวสวนบางลำภูล่าง อำเภอคลองสาน ธนบุรี เมื่อพระชนมายุได้ 7 ปี ได้ไปศึกษาอักษรสมัยที่ วัดทองนพคุณ ในสำนักของสมเด็จพระวันรัต (สมบูรณ์) ได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อปี พ.ศ. 2411  อุปสมบท แล้วมาอยู่ที่วัดสุทัศน์ ฯ  ทรงเข้าแปลพระปริยัติธรรม 3 ครั้ง ได้เปรียญ 5 ประโยค
พ.ศ. 2432   ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ พระศรีสมโพธิ
พ.ศ. 2439   ได้เลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเสมอพระราชาคณะชั้นเทพในพระราชทินนามเดิม
พ.ศ. 2441   ได้เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ที่ พระเทพโมลี
พ.ศ. 2443   ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นที่ พระธรรมโกศาจารย์ เจ้าคณะมณฑลนครไชยศรี
พ.ศ. 2455   ได้รับพระราชทานหิรัญบัฏ เลื่อนสมณศักดิ์เป็นที่ พระพรหมมุนี เจ้าคณะรอง คณะกลาง
พ.ศ. 2466   ได้รับพระราชทานสุพรรณบัฏ เป็นที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์  ตำแหน่งสมเด็จพระราชาคณะ เจ้าคณะใหญ่ ฝ่ายอรัญญวาสี
พ.ศ. 2473   ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะทักษิณ เป็นที่สมเด็จพระวันรัต
เมื่อมีพระราชบัญญัติคณะสงฆ์เมื่อปี พ.ศ. 2484 เพื่อประสานนโยบายฝ่ายพุทธจักรและอาณาจักร ให้เป็นไปด้วยดี พระองค์ก็ได้บริหารงานคณะสงฆ์ให้ลุล่วงไป โดยแต่งตั้งพระมหาเถรานุเถระในสังฆสภา ให้ดำรงตำแหน่งตามบทบัญญัติ แห่ง พ.ร.บ. คณะสงฆ์ฉบับดังกล่าวโดยครบถ้วนด้วยดีทุกประการ


สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์  (หม่อมราชวงศ์  ชื่น  สุจิตฺโต)
สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรณาณวงศ์  เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 13 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ประทับอยู่ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้าเมื่อปี พ.ศ. 2488 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงดำรงตำแหน่งอยู่  14 พรรษา สิ้นพระชนม์ เมื่อปี  พ.ศ. 2501 พระชนมายุ  86 พรรษา
พระองค์เป็นโอรสหม่อมราชวงศ์ถนอม และหม่อมเอม ประสูติเมื่อปี พ.ศ. 2415 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ทรงเป็นพระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้าวชิรุณหิศ ฯ สยามมงกุฏราชกุมารในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ได้เป็น คะเดท ทหารม้าในกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภ ฯ มีหน้าที่ตามเสด็จรักษาพระองค์ ต่อมาได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดบวรนิเวศ ฯ ได้ทรงศึกษาพระปริยัติธรรมกับ สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส  ได้ทรงเข้าสอบไล่ครั้งแรกเมื่อ ปี พ.ศ. 2433 ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สอบไล่ได้เปรียญ 5 ประโยค ตั้งแต่ยังเป็นสามเณร ทรงอุปสมบทที่วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อปี  พ.ศ. 2435 สอบได้เปรียญ 7 ประโยค  เมื่อปี พ.ศ. 2437  ได้รับโปรดเกล้า ฯ  ตั้งเป็นพระราชาคณะที่ พระสุคุณคณาภรณ์
พระองค์ได้มีส่วนร่วมกับสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส มาตั้งแต่ต้น คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ มีพระราชประสงค์บำรุงการศึกษามณฑลหัวเมือง ทรงอาราธนาสมเด็จพระมหาสมณเจ้า ให้ทรงเป็นผู้อำนวยการจัดการศึกษา มีการจัดพิมพ์แบบเรียนต่าง ๆ พระราชทานแก่พระภิกษุสงฆ์ ไปไว้ใช้ฝึกสอน ให้ยกโรงเรียนพุทธศาสนิกชนในหัวเมืองทั้งปวง มารวมขึ้นอยู่ในสมเด็จพระมหาสมณเจ้า เพื่อจะได้เป็นหมวดเดียวกัน พระองค์ขณะที่ดำรงสมณศักดิ์พระสุคุณคุณาภรณ์ ได้เป็นผู้อำนวยการศึกษามณฑลจันทบุรี ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2445 ได้มีการออกพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121 อันเป็นผลเนื่องมาจากการจัดการพระศาสนา และการศึกษาในหัวเมือง พระองค์ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะมณฑลจันทบุรี
พ.ศ. 2446   ได้เลื่อนสมณศักดิ์เสมอพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระญาณวราภรณ์
พ.ศ. 2455   ได้เลื่อนสมณศักดิ์เสมอพระราชาคณะชั้นธรรมในพระราชทินนามเดิม
พ.ศ. 2464   ได้รับสถาปนาสมณศักดิ์เสมอพระราชาคณะชั้นธรรมพิเศษในพระราชทินนามเดิม
พ.ศ. 2467   ได้เป็นเจ้าคณะมณฑลอยุธยา
พ.ศ. 2471   โปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะในพระราชทินนามพิเศษว่า สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์
พ.ศ. 2476   ทรงเป็นประธานมหาเถรสมาคม  บัญชาการคณะสงฆ์แทนองค์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า
พ.ศ. 2485   ทรงเป็นประธานคณะวินัยธร ตามพ.ร.บ.คณะสงฆ์  พ.ศ. 2484
พระองค์ทรงเป็นแม่กองสอบไล่พระปริยัติธรรมหลายครั้ง  ทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมืองต่างจังหวัด
เมื่อสมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงชินวร ฯ ชราและอาพาธ ก็ได้ทรงมอบหน้าที่เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุติ ให้ทรงบัญชาการแทน เมื่อปี พ.ศ. 2477  และเมื่อสมเด็จพระสังฆราชเจ้า ฯ สิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ. 2480  พระองค์ก็ได้ทรงเป็น เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุติสืบต่อมา  และให้ทรงจัดการปกครองคณะธรรมยุติ ที่สำคัญหลายประการ
เมื่อทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้าแล้ว ได้ทรงปรับปรุงการปกครองคณะสงฆ์ให้ดียิ่งขึ้น โดยจัดการปกครองคณะสงฆ์ทั้งสองนิกายคือ มหานิกายและธรรมยุติกนิกาย  เมื่อปี พ.ศ. 2494  ดังนี้
1.  การปกครองส่วนกลาง  คณะสังฆมนตรีคงบริหารรวมกัน แต่การปกครองบังคับบัญชาให้เป็นไปตามนิกาย
2.  การปกครองส่วนภูมิภาคให้แยกตามนิกาย
เมื่อปี พ.ศ. 2499 ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนาสมณศักดิ์ และฐานันดรศักดิ์พระองค์ ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ฯ
ผลงานพระนิพนธ์มีอยู่เป็นจำนวนมาก พอประมวลได้ดังนี้
เมื่อปี พ.ศ. 2470  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ชำระพระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ พระองค์ได้ทรงชำระ 2 เล่ม คือ  เล่ม 25  และเล่ม 26
เมื่อปี พ.ศ. 2467  ทรงชำระอรรถกถาชาดก ภาคที่ 3 จากจำนวน 10 ภาค ที่สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี  พระพันวสาอัยยิกาเจ้าโปรดให้ชำระพิมพ์
หนังสือที่ทรงรจนา ได้แก่ ศาสนาโดยประสงค์  พระโอวาทธรรมบรรยาย ตายเกิด ตายสูญ ทศพิธราชธรรม พร้อมทั้งเทวตาทิสนอนุโมทนากถา สังคหวัตถุ จักรวรรดิวัตร และขัตติยพละ พุทธศาสนคติ  บทความต่าง ๆ รวมเล่ม ชื่อว่า ความรู้เรื่องพระพุทธศาสนาตั้งแต่เบื้องต้น ทีฆาวุคำฉันท์ และพระธรรมเทศนาที่สำคัญได้แก่ ธรรมเทศนาทศพิธราชธรรม ในการพระราชพิธีธรรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช พระธรรมเทศนาวชิรญาณวงศ์เทศนา 55 กัณฑ์
 loading picture
พระองค์ทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อเสด็จออกทรงผนวช เมื่อปี พ.ศ. 2499
ในงานฉลองพุทธศตวรรษในประเทศไทย  รัฐบาลสหภาพพม่าได้ถวายสมณศักดิ์สูงสุดของพม่า คือ อภิธชมหารัฏฐคุรุแด่พระองค์ เมื่อปี พ.ศ. 2500


| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |