| ย้อนกลับ |

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช  (เจริญ สุวัฑฒโน)

สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวัฑฒโน) เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 19  แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดบวรนิเวศวิหาร  ทรงดำรงตำแหน่งเมื่อปี พ.ศ. 2532   ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิถลอดุลยเดช
พระองค์มีพระนามเดิมว่า  เจริญ คชวัตร  ประสูติที่อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2456  ทรงศึกษาที่โรงเรียนวัดเทวสังฆาราม เมื่อพระชนมายุได้ 8 พรรษา และบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดเทวสังฆาราม เมื่อพระชนมายุ 14 พรรษา ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2470  ได้ไปเรียนภาษาบาลีที่วัดเสน่หา จังหวัดนครปฐม ปี พ.ศ. 2472 ได้มาอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร
ศึกษาพระปริยัติธรรม ได้ตามลำดับดังนี้
พ.ศ. 2472  สอบได้นักธรรมชั้นตรี
พ.ศ. 2473  สอบได้นักธรรมชั้นโท และเปรียญธรรม 3 ประโยค
พ.ศ. 2475  สอบได้นักธรรมชั้นเอก และเปรียญธรรม 4 ประโยค
พ.ศ. 2476  อุปสมบทที่วัดเทวสังฆาราม  จำพรรษาที่วัดนี้ 1 พรรษา แล้วกลับมาวัดบวรนิเวศวิหาร อุปสมบทซ้ำเป็นธรรมยุติ  และสอบไล่เปรียญธรรม 5 ประโยค
พ.ศ. 2477,2478,2481 และ 2484  สอบได้เปรียญธรรม 6,7,8 และ 9 ประโยคตามลำดับ
พ.ศ. 2484  เป็นสมาชิกสังฆสภาโดยตำแหน่ง  เป็นกรรมการสังคายนาพระธรรมวินัย และเป็นผู้อำนวยการศึกษาสำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร
พ.ศ. 2489  เป็นพระวินัยธรชั้นอุทธรณ์  และเป็นกรรมการสภาการศึกษามหามงกุฎราชวิทยาลัย
พ.ศ. 2490  ได้รับพระทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ พระโศภณคณาภรณ์ และเป็นกรรมมหามงกุฏราชวิทยาลัย
พ.ศ. 2493  เป็นกรรมการเถรสมาคม คณะธรรมยุต ประเภทชั่วคราว
พ.ศ. 2494  เป็นกรรมการอำนวยการมหามงกุฎราชวิทยาลัย และเป็นกรรมการแผนกตำราของมหามงกุฏราชวิทยาลัย
พ.ศ. 2495  เป็นพระราชาคณะชั้นราช ในพระราชทินนามเดิม
พ.ศ. 2496  เป็นกรรมการตรวจชำระ คัมภีร์ฎีกา
พ.ศ. 2497  เป็นกรรมการเถรสมาคมคณะธรรมยุตประเภทถาวร
พ.ศ. 2498  เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ในพระราชทินนามเดิม
พ.ศ. 2499  เป็นพระอภิบาล (พระพี่เลี้ยง) ของพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ระหว่างที่ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ และเสด็จประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่พระธรรมวราภรณ์ และรักษาการวินัยธรชั้นฎีกา
พ.ศ. 2501  เป็นกรรมการคณะธรรมยุติ  และเป็นกรรมการมูลนิธิส่งเสริมกิจการพระศาสนา และมนุษยธรรม (ก.ศ.ม.)
พ.ศ. 2503  เป็นสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การปกครองสั่งการองค์การปกครองฝ่ายธรรมยุติ
พ.ศ. 2504  เป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร  เป็นผู้อำนวยการมหามงกุฎราชวิทยาลัย เป็นประธานกรรมการสภาการศึกษามหามงกุฎราชวิทยาลัย เป็นผู้รักษาการณ์เจ้าคณะธรรมยุตภาคทุกภาค และเป็นพระอุปัชฌาย์
พ.ศ. 2506  เป็นกรรมการเถรสมาคม ซึ่งเป็นกรรมการชุดแรก ตาม พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505
พ.ศ. 2515  เป็นเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ และได้รับโปรดเกล้า ฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่สมเด็จพระญาณสังวร  สมเด็จพระราชาคณะในพระราชทินนามนี้ มีขึ้นในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฬ้า ฯ เป็นฝ่ายวิปัสสนาธุระ  พระอาจารย์สุก วัดท่าหอย พระนครศรีอยุธยา ได้รับพระราชทานสมศักดิ์นี้เป็นองค์แรก และต่อมาก็มิได้พระราชทานสมณศักดิ์นี้แก่พระเถระรูปใดอีกเลย  ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2363 ถึงปี พ.ศ. 2515 เป็นเวลาถึง 152 ปี
พ.ศ. 2517  เป็นประธานกรรมการคณะธรรมยุต
พ.ศ. 2528  เป็นรองประธานกรรมการสังคีติการสงฆ์ ในการสังคายนาพระธรรมวินัย ตรวจชำระพระไตรปิฎก และเป็นสังฆปาโมกข์ปาลิวิโสธกะพระวินัยปิฎก เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พ.ศ. 2531  รักษาการเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุต เป็นนายกกรรมการมหามงกุฎราชวิทยาลัย และเป็นนายกสภาการศึกษามหามงกุฎราชวิทยาลัย


 loading picture


ผลงานของพระองค์ตลอดห้วงระยะเวลาที่ผ่านมามีอยู่เป็นเอนกอนันต์  พอจะสรุปได้ดังนี้
ด้านการพระศาสนาในต่างประเทศ   พระองค์ได้เป็นกำลังสำคัญในการดำเนินการมาโดยลำดับ ดังนี้
พ.ศ. 2509  ในฐานะประธานกรรมการอำนวยการฝึกอบรมพระธรรมทูตในต่างประเทศ  ได้เสด็จไปเป็นประธานสงฆ์ ในพิธีเปิดวัดพุทธประทีบ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และดูกิจการพระธรรมทูตในประเทศอังกฤษและอิตาลี
พ.ศ. 2511  เสด็จไปดูการพระศาสนา วัฒนธรรม และการศึกษาในประเทศอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และฟิลิปปินส์ อันเป็นผลให้ต่อมาได้มีการวางแผนร่วมกับชาวพุทธอินโดนีเซีย ในอันที่จะฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในประเทศนั้น และได้ส่งพระธรรมทูตชุดแรกไปยังอินโดนีเซีย เมื่อปี พ.ศ. 2512 ได้ส่งพระภิกษุจากวัดบวรนิเวศ ออกไปปฏิบัติศาสนกิจที่ประเทศออสเตรเลีย เมื่อปี พ.ศ. 2516 และตั้งสำนักสงฆ์ในปี พ.ศ. 2518
พ.ศ. 2514  เสด็จไปดูการพระศาสนา และการศึกษาในประเทศเนปาล และอินเดีย ปากีสถาน ตะวันออก (บังคลาเทศ) ทำให้เกิดงานฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในเนปาล  ในขั้นแรก ได้ให้ทุนภิกษุ สามเณรเนปาลมาศึกษาพระพุทธศาสนาในไทย ที่วัดบวรนิเวศ ฯ
พ.ศ. 2520  เสด็จไปบรรพชาชาวอินโดนีเซีย จำนวน 43 คน ที่เมืองสมารัง ตามคำอาราธนาของคณะสงฆ์เถรวาทอินโดนีเซีย
พ.ศ. 2528  ทรงเป็นประธานคณะสงฆ์ ไปประกอบพิธีผูกพัทธสีมาอุโบสถ วัดจาการ์ต้าธรรมจักรชัย ณ ประเทศอินโดนีเซีย นับเป็นการผูกพันธสีมาอุโบสถวัดพระพุทธศาสนาเถรวาท เป็นครั้งแรกของประเทศอินโดนีเซีย และในปีเดียวกันนี้ ได้เสด็จไปเป็นประธานบรรพชา กุลบุตรศากย แห่งเนปาล จำนวน 73 คน ณ กรุงกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล
พ.ศ. 2536  เสด็จไปเจริญศาสนาสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน เป็นครั้งแรก ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ตามคำกราบทูลอาราธนาของรัฐบาลจีน
พ.ศ. 2538  เสด็จไปเป็นประธาน วางศิลาฤกษ์วัดไทย ณ ลุมพินี ประเทศเนปาล ซึ่งรัฐบาลไทยจัดสร้างถวายเป็นพุทธบูชา และเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาศทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี

 loading picture

ด้านสาธารณูปการ  ได้ทรงบูรณะซ่อมสร้างเสนาสนะ และถาวรวัตถุอันเป็นสาธารณประโยชน์เป็นจำนวนมาก กล่าวคือ
ปูชนียสถาน  ได้แก่  มณฑปประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง พระเจดีย์ วัดบวรนิเวศ ฯ พระบรมธาตุ เจดีย์ศรีนครินทรมหาสันติคีรี ดอยแม่สลอง
พระอาราม  ได้แก่ วัดสันติคีรี ดอยแม่สลอง เชียงราย  วัดรัชดาภิเศก อำเภอบ่อพลอย กาญจนบุรี  วัดล้านนาสังวราราม อำเภอจอมทอง เชียงใหม่  วัดพุมุด อำเภอไทรโยค กาญจนบุรี  วัดญาณสังวราราม อำเภอบางละมุง ชลบุรี นอกจากนั้นยังทรงอุปถัมภ์วัดไทยในต่างประเทศอีกหลายแห่งคือ วัดพุทธรังสี นครซิดนีย์ ออสเตรเลีย วัดจาการ์ตาธรรมจักรชัย กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย  วัดนครมณฑปศรีกีรติวิหาร เมืองกิรติปูร  เนปาล
โรงเรียน  ได้แก่  โรงเรียนมัธยมญาณสังวร ยโสธร โรงเรียนสมเด็จพระปิยมหาราชรมณียเขต กาญจนบุรี
โรงพยาบาล  ได้แก่  การสร้างตึกวชิรญาณวงศ์ ตึกวชิรญาณสามัคคีพยาบาล และตึก ภปร. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลสมเด็จพระปิยมหาราชรมณียเขต กาญจนบุรี โรงพยาบาลวัดญาณสังวราราม ชลบุรี  และโรงพยาบาลสกลมหาสังฆปรินายก เพื่อถวายเป็นอนุสรณ์ แด่สมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ทุกพระองค์ รวม  19  แห่ง  ได้เริ่มก่อสร้างไปแล้วหลายแห่ง
พระนิพนธ์    ทรงนิพนธ์เรื่องต่าง ๆ ไว้เป็นอันมาก  ทั้งที่เป็นตำรา  พระธรรมเทศนา  และทั่วไป พอประมวลได้ดังนี้
ประเภทตำรา  ทรงเรียบเรียงวากยสัมพันธ์ ภาค 1-2 สำหรับใช้เป็นหนังสือประกอบ การศึกษาของนักเรียนบาลี และทรงอำนวยการจัดทำ ปทานุกรม บาลี  ไทย อังกฤษ สันสกฤต ฉบับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทรบุรีนฤนาถ
ประเภทพระธรรมเทศนา   มีอยู่เป็นจำนวนมาก เท่าที่พิมพ์เป็นเล่มแล้วเช่น ปัญจคุณ 5 กัณฑ์  ทศพลญาณ 10 กัณฑ์  มงคลเทศนา  โอวาทปาฎิโมข์ 3 กัณฑ์  สังฆคุณ 9 กัณฑ์ เป็นต้น
ประเภทงานแปลเป็นภาษาต่างประเทศ  ทรงริเริ่มและดำเนินการให้แปลตำราทางพุทธศาสนา จากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ  เพื่อใช้ในการศึกษาพระพุทธศาสนา  เช่น  นวโกวาท  วินัยมุข  พุทธประวัติ  ภิกขุปาติโมกข์  อุปสมบทวิธี และทำวัตรสวดมนต์ เป็นต้น
ประเภททั่วไป   มีอยู่เป็นจำนวนมาก  เช่น การนับถือพระพุทธศาสนา  หลักพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าของเรานั้นท่านล้ำเลิศ  45 พรรษาพระพุทธเจ้า  พระพุทธเจ้าสั่งสอนอะไร  (ไทย-อังกฤษ)  วิธีปฎิบัติตนให้ถูกต้องทางธรรมะ  พระพุทธศาสนากับสังคมไทย เรื่องกรรม ศีล (ไทย-อังกฤษ)  แนวปฎิบัติในสติปัฎฐาน  อาหุเณยโย  อวิชชา  สันโดษ  หลักธรรมสำหรับการปฎิบัติอบรมจิต การบริหารจิตสำหรับผู้ใหญ่  บัณฑิตกับโลกธรรม  แนวความเชื่อ  บวชดี  บุพการี-กตัญญูกตเวที  คำกลอนนิราศสังขาร  และตำนาน วัดบวรนิเวศ  เป็นต้น


| ย้อนกลับ | บน |