| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (จวน อุฏฺฐายี มหาเถร)
สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฎฺฐายี) เป็นสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 16 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดมกุฏกษัตริยารามวรวิหาร ทรงดำรงตำแหน่งเมื่อปี พ.ศ. 2508 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงดำรงตำแหน่งอยู่ 7 พรรษา สิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ.2514 พระชนมายุ 74 พรรษา
พระองค์มีพระนามเดิมว่า จวน  ประสูติเมื่อปี พ.ศ. 2440 ที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี  เมื่อพระชนมายุได้ 10 พรรษา ได้เข้ามาศึกษาชั้นประถมศึกษา ที่โรงเรียนวัดคฤหบดี จังหวัดธนบุรี  พระชนมายุ 14 พรรษา ได้ไปศึกษาอยู่ กับพระมหาสมณวงศ์ (แท่น โสมทัดโต) เจ้าอาวาสวัดมหาสมณาราม (วัดเขาวัง)  ที่วัดเขาวัง จังหวัดเพชรบุรี  พระชนมายุ 16 พรรษา ได้มาศึกษาพระปริยัติธรรม กับพระอริยมุนี (แจ่ม จตฺคสลฺโล) ที่วัดมกุฏกษัตริยาราม
พ.ศ. 2457 ได้บรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดมกุฏกษัตริยาราม ได้เป็นบรรณาธิการ หนังสือวารสารรายปักษ์สยามวัด ทำให้พระองค์มีความสามารถในการประพันธ์คำประพันธ์ต่าง ๆ มีโคลง ฉันท์ เป็นต้น
พ.ศ. 2460 ทรงอุปสมบทเป็นภิกษุ  ในปีเดียวกันนี้ทรงสอบได้นักธรรมชั้นตรี และเปรียญธรรม 3 ประโยค
พ.ศ. 2461 สอบได้นักธรรมชั้นโท
พ.ศ. 2462,2464 และ 2465  สอบได้เปรียญธรรม 4,5 และ 6 ประโยค ตามลำดับ
พ.ศ. 2466  สอบได้นักธรรมชั้นเอก
พ.ศ. 2467,2470 และ 2472  สอบได้เปรียญธรรม 7,8 และ 9 ประโยค ตามลำดับ
พระองค์ได้ประกอบพระกรณียกิจด้านการพระศาสนาเป็นอันมาก พอประมวลได้ดังนี้

   พ.ศ. 2476  ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะที่ พระกิตติสารมุนี
พ.ศ. 2477  เป็นกรรมการคณะธรรมยุติ
  พ.ศ. 2478  เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชเวที  เป็นประธานกรรมการบริหาร ในตำแหน่งเจ้าคณะมณฑลราชบุรี
  พ.ศ. 2479  เป็นกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ลักษณะปกครองสงฆ์ ฉบับใหม่
   พ.ศ. 2482  เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพเวที 
  พ.ศ. 2485  เป็นสมาชิกสังฆสภา และเป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การเผยแผ่
พ.ศ. 2486  เป็นผู้รักษาการ ในตำแหน่งสังฆนายก แทนสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ วัดบรมนิวาส
  พ.ศ. 2488  เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมปาโมกข์
  พ.ศ. 2489  เป็นผู้สั่งการในตำแหน่งสังฆนายก แทนสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดเทพศิรินทร์ฯ
  พ.ศ. 2490  เป็นพระราชาคณะชั้นเจ้าคณะรองที่ พระศาสนโศภณ
  พ.ศ. 2494  เป็นสังฆนายก ครั้งที่ 1
 พ.ศ. 2499  ได้รับโปรดเกล้า ฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์
  พ.ศ. 2503  เป็นสังฆนายก ครั้งที่ 2
  พ.ศ. 2505  เป็นผู้บัญชาการคณะสงฆ์แทนสมเด็จพระสังฆราช
                พ.ศ. 2506  เป็นกรรมการเถรสมาคมโดยตำแหน่ง ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505
1.  ด้านการศึกษา  ทรงชำนาญในอักษรขอม อักษรพม่า อักษรมอญ และอักษรโรมัญ จากการที่ได้  ตรวจชำระ พระไตรปิฎกบางปกรณ์ตามที่ได้รับมอบ ซึ่งจะต้องสอบทานอักษรไทยกับต้นฉบับอักษรขอม เกี่ยวกับอักษรพม่า และอักษรโรมัน

พ.ศ. 2470  เป็นกรรมการตรวจบาลีไวยากรณ์ในสนามหลวง
  พ.ศ. 2471  เป็นกรรมการตรวจนักธรรมชั้นโท-เอกในสนามหลวง  เป็นกรรมการตรวจบาลี ประโยค  4-5-6
  พ.ศ. 2476  เป็นปีที่เริ่มฟื้นฟูกิจการของมหามงกุฏราชวิทยาลัยในยุคใหม่  ทรงรับหน้าที่เป็นกรรมการและอนุกรรมการหลายคณะ คือ อนุกรรมการตรวจชำระแบบเรียน เช่น นวโกวาท  และ พุทธศาสนสุภาษิต กรรมการอำนวยการหนังสือธรรมจักษุ กรรมการ อุปนายกและนายกกรรมการมหามงกุฏราชวิทยาลัย  ตลอดมาจนสิ้นพระชนม์
2.   ด้านการต่างประเทศ  เสด็จไปดูการพระศาสนาในประเทศลาว มาเลเซีย สิงคโปร์ อินเดีย เนปาล ลังกา ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น เวียดนาม ตามคำเชิญของพุทธบริษัทของประเทศนั้น ๆ ทรงไปร่วมงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ที่ประเทศญี่ปุ่น เป็นผู้แทนสมเด็จพระสังฆราช (วัดเบญจมบพิตร) ไปร่วมประชุมสังคายนาพระไตรปิฎกที่ กรุงย่างกุ้ง ประเทศพม่า เมื่อปี พ.ศ. 2504

< TD> loading picture
3.   งานเผยแผ่พระศาสนา  ได้ทรงดำเนินการมาโดยตลอดไปรูปแบบต่าง ๆ พอประมวลได้ดังนี้

  พ.ศ. 2476  ทรงร่วมกับคณะมิตรสหาย ตั้งสมาคมพุทธศาสนาขึ้นเป็นครั้งแรก คือ พุทธสมาคม เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนา และส่งเสริมการศึกษา
 พ.ศ. 2477  เป็นพระคณาจารย์เอกทางเทศนา (ธรรมกถึก)
พ.ศ. 2479  เป็นกรรมการควบคุมการแปลพระไตรปิฎก
  พ.ศ. 2497  เป็นประธานกรรมการจัดรายการแสดงธรรมทางวิทยุในวันธรรมสวนะ
4.  งานพระนิพนธ์

  พ.ศ. 2469   ทรงแปลตติยสมันตปาสาทิกา  อรรถกถาพระวินัย เพื่อใช้เป็นตำรา
พ.ศ. 2482   ทรงแต่ง รตนตฺตยปฺปภาวสิทฺธิคาถา แทน รตนตฺตยปฺปภาวาภิยาจนคาถา และได้ใช้สวดในพระราชพิธีต่อมา
   ยังมีพระนิพนธ์อีกมากกว่า 100 เรื่อง เช่น มงคลในพุทธศาสนา สาระในตัวคน วิธีต่ออายุให้ยืน การทำใจให้สดชื่นผ่องใส และฉันไม่โกรธเป็นต้น
  มีพระธรรมเทศนาอีกหลายร้อยเรื่อง ที่สำคัญคือ มงคลวิเศษคาถา ที่แสดงในพระราชพิธีเฉลิม  พระชนมพรรษา

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ปุ่น  ปุณฺณสิริมหาเถร)

  สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ปุ่น ปุณฺณสิริมหาเถร) เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 17 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ทรงดำรงงตำแหน่งเมื่อปี พ.ศ. 2515 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงดำรงตำแหน่งอยู่ 1 พรรษาเศษ สิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ. 2517 พระชนมายุได้ 77 พรรษา

พระองค์มีพระนามเดิมว่า ปุ่น  ประสูติเมื่อปี พ.ศ. 2439 ที่อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี  การศึกษาในเบื้องต้น เรียนกับบิดาของท่าน จนอ่านออกเขียนได้ แล้วจึงไปเรียนภาษาบาลี อักษรขอม และมูลกัจจายน์ (กับพระอาจารย์หอม และอาจารย์จ่าง) ที่วัดสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อพระชนม์ได้ 10 พรรษา (พระอาจารย์หอมได้พามาฝากให้เป็นศิษย์พระอาจารย์ป่วน) ได้มาอยู่ที่วัดมหาธาตุ ฯ เมื่อพระชนม์ได้ 16 พรรษา ได้ย้ายมาอยู่กับพระอาจารย์สด (พระมงคลเทพมุนี วัดปากน้ำภาษีเจริญ) ณ วัดพระเชตุพน แล้วกลับไปบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี และได้อุปสมบท เมื่อปี พ.ศ. 2460
  พ.ศ. 2456 สอบได้นักธรรมตรี
พ.ศ. 2458 สอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค ขณะเป็นสามเณร
  พ.ศ. 2462 สอบได้นักธรรมโท
  พ.ศ. 2463, 2466, 2470  สอบได้เปรียนธรรม 4,5 และ 6 ประโยคตามลำดับ
  พ.ศ. 2483 เป็นกรรมการแปลพระไตรปิฎก แผนกพระวินัย เป็นภาษาไทย
พ.ศ. 2484 ได้รับพระราชทานสมศักดิ์ เป็นพระราชาคณะสามัญที่ พระอมรเวที  เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพน เป็นคณาจารย์เอกทางเทศนา
  พ.ศ. 2486 เป็นเจ้าคณะตรวจการณ์ภาคบูรพา (8 จังหวัด ภาคตะวันออก)  เป็นเจ้าคณะตรวจการณ์ภาค 2 (10 จังหวัดภาคกลาง) และเป็นกรรมการสังคายนา พระธรรมวินัย
            พ.ศ. 2488 เป็นสมาชิกสังฆสภา
 พ.ศ. 2489 เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชสุธี
พ.ศ. 2490 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพเวที  รักษาการเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพน  และเป็นกรรมการสภามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
พ.ศ. 2491 เป็นสังฆมนตรีสมัยที่ 1 เป็นเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพน เป็นกรรมการ และเลขาธิการคณะกรรมการสังมาณัติระเบียบพระคุณาธิการ และได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมดิลก
  พ.ศ. 2492 เป็นเจ้าคณะตรวจการภาค 2 (ภาคบูรพาเดิม)  และเป็นสภานายกสภาพระธรรมกถึก
พ.ศ. 2493 เป็นสังฆมนตรีสมัยที่ 2
พ.ศ. 2494 เป็นสังฆมนตรีสมัยที่ 3 และ 4  เป็นเจ้าคณะตรวจการภาค 7 (8 จังหวัดภาคกลาง)  เป็นกรรมการเจ้าคณะตรวจการภาค และเป็นอนุกรรมการอบรมศีลธรรมและวัฒนธรรมแก่ข้าราชการ และประชาชน
  พ.ศ. 2499 เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองที่ พระธรรมโรดม   และเป็นสังฆมนตรี (ว่าการองค์การสาธารณูปการ) สมัยที่ 5
            พ.ศ. 2503 เป็นสังฆมนตรี (ว่าการองค์การเผยแผ่) สมัยที่ 6
  พ.ศ. 2504 ได้โปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็น สมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระวันรัต และเป็นกรรมการพิจารณาหลักสูตรการศึกษาปริยัติธรรมแผนกบาลี
พ.ศ. 2506 เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม
พ.ศ. 2508 เป็นเจ้าคณะใหญ่หนกลาง  และรักษาการเจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก หนเหนือ และหนใต้
   พ.ศ. 2509 เป็นแม่กองงาน พระธรรมทูต
พ.ศ. 2410 เป็นผู้ปฎิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช ระหว่างที่พระองค์เสด็จเยือนลังกา
พ.ศ. 2515 เป็นเจ้าคณะนครหลวงกรุงเทพธนบุรี
  ผลงานของพระองค์ นอกจากที่ได้รับแต่งตั้งให้ปฎิบัติงานตามตำแหน่งหน้าที่ และงานพิเศษต่าง ๆ ที่ได้รับมอบอย่างครบถ้วนแล้ว ยังมีงานด้านพระศาสนาที่ทรงริเริ่มพัฒนาอีกเป็นจำนวนมาก กล่าวคือ
งานด้านการก่อสร้าง และปฎิสังขรณ์   ทรงก่อสร้างและปฎิสังขรณ์ทั้งปูชนียสถานเช่น พระอาราม  สาธารณสถาน เช่น พิพิธภัณท์  โรงเรียน โรงพยาบาล  ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเป็นจำนวนมาก
  งานด้านมูลนิธิ   ทรงก่อตั้งและสนับสนุนมูลนิธิ ที่ดำเนินงานด้านธรรม ด้านวิชาการ และการศึกษา และด้านสาธารณูปการ  เป็นจำนวนมาก
งานด้านพระนิพนธ์   มีพระธรรมเทศนาจำนวนมาก วันสำคัญทางศาสนา ประมวลอาณัติคณะสงฆ์ สารคดี เช่น สู่เมืองอนัตตา  พุทธชยันตี  เดีย-ปาล (อินเดีย-เนปาล) สู่สำนักวาติกัน และนิกสัน และบ่อเกิดแห่งกุศล คือ โรงพยาบาล เป็นต้น ธรรมนิกาย เช่น จดหมายสองพี่น้อง  สันติวัน พรสวรรค์ หนี้กรรมหนี้เวร ไอ้ตี๋  ดงอารยะ เกียรติกานดา คุณนายชั้นเอก ความจริงที่มองเห็น ความดีที่น่าสรรเสริญ อภินิหารอาจารย์แก้ว กรรมสมกรรม
  งานด้านต่างประเทศ   ทรงไปร่วมประชุมฉัฎฐสังคายนาพระไตรปิฎก ณ ประเทศพม่า เมื่อปี พ.ศ. 2497 ไปร่วมงานฉลองพุทธชยันตี (25 พุทธศตวรรษ) ณ ประเทศศรีลังกา เมื่อปี พ.ศ. 2499  นอกจากนี้ยังทรงไป และสังเกตุการณ์ พระศาสนาและเยือนวัดไทยในต่างประเทศ อีกเป็นจำนวนมาก

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสนมหาเถร)

สมเด็จพระสังฆราช (วาสนมหาเถร) เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 18 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต  ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ทรงดำรงตำแหน่งเมื่อปี พ.ศ.2517 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงอยู่ในตำแหน่ง 14 พรรษา สิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ. 2531 พระชนมายุ 91 พรรษา

            พระองค์มีพระนามเดิมว่า วาสน์  ประสูติเมื่อปี พ.ศ. 2440  ที่อำเภอนครหลวงจังหวัด พระนครศรีอยุธยา บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อปี พ.ศ. 2455 และอุปสมบทเมื่อปี พ.ศ. 2461 ณ วัดราชบพิธ  เมื่ออุปสมบทแล้วได้ศึกษาพระปริยัติธรรมตามลำดับ สอบได้เปรียญ 4 ประโยค
            พ.ศ. 2465 และ 2466  เป็นพระครูโฆสิตสุทธสร พระครูธรรมธร และพระครูวิจิตรธรรมคุณ ตามลำดับ และเป็นกรรมการตรวจธรรมและบาลีสนามหลวง
            พ.ศ. 2477 เป็นพระราชาคณะที่ พระจุลคณิศร  ปลัดซ้ายของพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัตน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า
            พ.ศ. 2481 เป็นกรรมการคณะธรรมยุต
            พ.ศ. 2485 เป็นกรรมการมหามงกุฎราชวิทยาลัย เป็นคณาจารย์เอกทางรจนาพระคัมภีร์ และเป็นสมาชิกสภาสังฆสภา
พ.ศ. 2486 เป็นผู้ช่วยเจ้าคณะตรวจการภาคกลาง และภาค 2  เป็นเจ้าคณะอำเภอพระนคร และเป็นกรรมการการสังคายนาพระธรรมวินัย
พ.ศ. 2489 เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชกวี และรักษาการณ์ในหน้าที่เจ้าอาวาสวัดราชบพิธ
            พ.ศ. 2490 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพโมลี
            พ.ศ. 2491  เป็นเจ้าอาวาสวัดราชบพิธ และเป็นเจ้าคณะตรวจการณ์ภาค 1
            พ.ศ. 2492 เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมปาโมกข์
            พ.ศ. 2494  เป็นเจ้าคณะธรรมยุต ผู้ช่วยภาค 1-2-6 และเป็นเจ้าคณะจังหวัด พระนคร-สมุทรปราการ กับนครสวรรค์
            พ.ศ. 2500  เป็นรองสมเด็จพระราชาคณะที่ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์
            พ.ศ. 2504  เป็นผู้รักษาการณ์ในตำแหน่งเจ้าคณะธรรมยุต ภาค 1-2-6 และเป็นอุปนายกกรรมการ มหามกุฎราชวิทยาลัยฯ
            พ.ศ. 2506  เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ และเป็นกรรมการเถรสมาคม
พระองค์ได้บริหารงานพระศาสนา ในการคณะสงฆ์มาโดยตลอดเป็นอันมาก พอประมวลได้ดังนี้
              - นายกกรรมการและนายกสภาการศึกษา มหามงกุฎราชวิทยาลัย
              - เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต
- ประธานการศึกษาของคณะสงฆ์
              - ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม
              - ประธารกรรมการมูลนิธิส่งเสริมกิจการศาสนา และมนุษยธรรม
              - เป็นองค์อุปถัมภ์ในกิจการด้านการพระศาสนา และการสงเคราะห์ในด้านต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก เช่น มูลนิธิสังฆประชานุเคราะห์ สัมมาชีวศิลปมูลนิธิ ศูนย์และชมรมพุทธศาสนาในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราช (วาสนมหาเถร) สถานสงเคราะห์คนชราวาสนะเวศน์ และมูลนิธิสมเด็จพระสังฆราช (วาสนมหาเถร) เป็นต้น

 loading picture

งานเผยแผ่ศาสนธรรม  นับว่าเป็นงานหลักที่ทรงกระทำเป็นพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง ในรูปแบบต่าง ๆ กล่าวคือ การสังคายนาพระธรรมวินัย ตรวจชำระพระไตรปิฎก ในการสมัยสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี นับเป็นครั้งที่ 3 ของประเทศไทย
  การบรรยายธรรม  ได้จัดให้มีพระธรรมเทศนาประจำวันธรรมสวนะในพระอุโบสถ เป็นประจำ  การบรรยายสวดมนต์มีคำนำแปล  ณ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ประจำวันพระแรม 8 ค่ำ  ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2498 ถึง พ.ศ. 2517
            การตรวจเยี่ยมพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศทั้ง 73 จังหวัด เพื่อรับทราบปัญหาต่าง ๆ  ที่จะได้นำมาปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นต่อไป
            การแต่งหนังสือและบทความต่าง ๆ เพื่อสอนพระพุทธศาสนาในระดับต่าง ๆ ไว้เป็นจำนวนมาก
            การตั้งมูลนิธิต่างๆ เพื่อบำรุงพระอาราม
            งานสาธารนูปการ ทรงสร้างและให้ความอุปถัมภ์ในการสร้างวัด โรงเรียน โรงพยาบาล และสาธารณสถานต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก เช่น  วัดแสงธรรมสุทธาราม   จังหวัดนครสวรรค์  วัดโพธิทอง  จังหวัดอยุธยา  อาคารเรียนโรงเรียนประชาบาลวัดสระกะเทียม นครปฐม โรงเรียนประชาบาลวัดโพธิทอง จังหวัดอยุธยา โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราช (วาสนมหาเถระ) จังหวัดอยุธยา  ศาลาบำเพ็ญบุญ วัดเสนาวนาราม  หอนาฬิกา จังหวัดอยุธยา  ศาลาที่พักริมทางหลวง 8 แห่ง  ศาลาทรงไทยหน้าพระวิหารพระมงคลบพิตร 2 หลัง และสถานสงเคราะห์คนชราวาสนเวศน์ จังหวัดอยุธยา สิ่งก่อสร้างสุดท้ายคือ โรงเรียนวัดราชบพิธแห่งใหม่ ในที่ดินที่กองทัพบกยกให้ เนื่องในวโรกาสพระชนมายุครบ 90 พรรษา งานสร้างพุทธมณฑล ให้สำเร็จเสร็จทันในมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 5 รอบ ในปี พ.ศ. 2530 เป็นผลงานสำคัญของพระองค์ที่เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521

 loading picture

            งานพระนิพนธ์   ทรงนิพนธ์หนังสือและบทความต่าง ๆ ทั้ง ร้อยแก้ว และร้อยกรองไว้เป็นจำนวนมาก เช่น ทิศ 6 สังคหวัตถุ 4 สัมปรายิกัตถประโยชน์ วัดของบ้าน พุทธศาสนคุณ พัฒนาใจ บุคคลหาได้ยาก มรดกชีวิต ความเติบโต วาสนาสอนน้อง จดหมายถึงพ่อ วาทแห่งวาสน์ คำกลอนสอนใจ วาสนคติ นิราศ 2 ปี สวนดอกสร้อย สักวาปฏิทิน กลอนปฏิทิน อาจารย์ดี สมพรปาก คน-ระฆัง เรือ-สมาคม วัยที่เขาหมดสงสาร และบทความเรื่องบันทึกศุภาสินี เป็นต้น

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |