| ย้อนกลับ | หน้าค่อไป |


พระอานนทเถระ

            พระอานนท์ เป็นพระอนุชาแห่งพระผู้มีพระภาค สำหรับให้ปฏิบัติพระผู้มีพระภาคเป็นนิตย์แล้วเป็นพหูสูตร ได้สดับตรับฟังมาก ฟังแล้วทรงจำไว้ได้สิ้นทั้งแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ มิได้วิปลาศ พระบรมศาสดาตรัสสรรเสริญยกย่องว่า เป็นพหูสูตรยิ่งกว่าสาวกในพระศาสนา
            พระอานนท์เถระได้สร้างกองกุศลไว้แล้ว ได้ตั้งปณิธานความปรารถนาไว้แต่ชาติหลังแล้ว แต่ครั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามพระปทุมุตระ นับแต่ภัทรกัปป์นี้ถอยหลังลงไปได้แสนกัปป์ มีกษัตริย์องค์หนึ่งพระนามอานนทราช ครองเมืองหงสาวดี ทรงไว้ซึ่งทศพิธราชธรรม มีพระมเหษีพระนามสุชาดา
            พระบรมโพธิสัตว์ พระนามปทุมุตระ ท่านสร้างพระบารมีสามสิบทัศครบจำนวน ถ้วนอสงไขยแสนกัปป์แล้ว จึงจุติจากสวรรค์ชั้นดุสิต ลงมาถือปฏิสนธิในพระครรภ์พระนางสุชาดา พระนางทรงครรภ์ได้ถ้วนทศมาส จึงประสูติพระราชโอรสในหงสวันอุทยาน ฝ่ายพระบรมวงศานุวงศ์กับทั้งปุโลหิต ก็ประชุมกันพิจารณาดูพระลักษณะพระราชกุมาร เห็นว่าประเสริฐกว่าผู้ใดในไตรภพ จึงได้ถวายพระนามว่าปทุมุตรกุมาร เหตุว่าเกิดฝนดอกบัว บันดาลตกลงมาประมาณเพียงเข่า ในขณะเมื่อพระราชกุมารประสูติ เมื่อพระราชกุมารเจริญวัยแล้ว ได้มีพระมเหษีชื่อพระนางวาสุลทัตตาราชกัญญา เมื่อพระนางประสูติพระโอรสชื่อเจ้าอุตตรกุมาร พระบรมโพธิสัตว์จึงได้เสด็จออกสู่มหาภิเนษกรมณ์ กระทำความเพียรอยู่ 7 วัน ก็ได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เมื่อพระองค์เสด็จไปโปรดสัตว์ในที่ใด ๆ พอพระองค์ยกพระบาทย่างไปวางลง ดอกบัวก็ผุดขึ้นมารับเอาพระบาททุก ๆ อย่าง ครั้นพระองค์ได้เทศนาธรรมจักรกัปปวัตตนสูตรโปรดเวไนยสัตว์ให้สำเร็จพระอริยมรรคอริยผลแล้ว จึงได้ตั้งพระวสภเถระเป็นอัครสาวก พระสุทัตตเถระเป็นทุติยสาวก พระอมิตตาเถรีเป็นอัครสาวิกา พระสุมนาเถรีเป็นทุติยสาวิกา พระสุมนเถระ เป็นภิกษุสำหรับปฏิบัติเป็นนิตย์
            ในกาล พระอานนทเถระ บังเกิดในตระกูลกษัตริย์ เป็นน้องยาแห่งพระปทุมุตตระ แต่ต่างมารดากันพระราชกุมารนั้นมีนามว่า สุมนะ อยู่มาวันหนึ่งสุมนราชกุมาร เห็นพระสุมนเถระปฏิบัติพระพุทธเจ้าอยู่เป็นนิตย์ให้มีจิตรักใคร่ จะใคร่ได้เป็นเหมือนพระเถระ จึงดำริว่า ทำไฉนจึงจะได้ที่ฐานันดรนั้น จึงครั้นตนจะถวายปฏิบัติแก่พระพุทธเจ้ากับสงฆ์ทั้งหลาย พระราชบิดาก็หวงแหนมิให้ใครกระทำ จึงได้ออกอุบายให้พระราชบิดาใช้ให้ไประงับข้าศึกในชนบท เพื่อได้รับผลสำเร็จกลับมาจึงขอพรพระราชบิดา ให้ตนได้ปฏิบัติถวายทาน กระทำสักการบูชาพระพุทธเจ้ากับทั้งสาวกทั้งปวงเป็นนิตย์ พระราชบิดาก็ไม่ยินยอม พระราชกุมารจึงได้ขอลดน้อยลงตามลำดับ จนเหลือ 3 เดือน พระราชบิดาจึงยินยอม สุมนกุมารจึงได้จัดแจงสรรพสิ่งของต่าง ๆ ถวายทานแก่พระพุทธเจ้า กับพระสงฆ์สาวกสิ้นไตรมาส และสุมนกุมารก็อุตส่าห์ให้ทานรักษาศีล ตั้งใจสดับพระธรรมเทศนา กระทำการกุศลทุกสิ่งทุกประการมิได้ขาด ตราบสิ้นไตรมาส
            ครั้นวันที่สุดแห่งไตรมาสนั้น พระราชกุมารก็ถวายทานแก่พระสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ถวายไตรจีวรแก่พระสงฆ์สิ้นทุกองค์ แล้วพระราชกุมารจึงหมอบลงแทบพระบาทพระปทุมุตร ตั้งปณิธานความปรารถนาว่า เดชะกุศล ที่ข้าพระองค์ได้กระทำนี้ จงเป็นปัจจัยให้สำเร็จพุทธอุปฐากภูมิ ดังพระสุมนเถรปฏิบัติพระพุทธองค์เป็นนิตย์ ในอนาคตกาลเบื้องหน้าโน้นเถิด พระปทุมุตรพุทธเจ้า ได้ทรงสดับคำพระราชกุมาร พระพุทธองค์จึงส่งพระญาณไปในอนาคตกาล ก็ปรากฏประจักษ์แจ้ง จึงมีพุทธฎีกาตรัสลัทธยาเทศทำนายว่า ดูกรกุมาร ความปรารถนาของท่านจะสำเร็จดังประสงค์ นานไปในเบื้องหน้าที่สุดแสนกัปป์ พระพุทธเจ้าทรงพระนามพระโคดม จะมาตรัสรู้ไญยธรรมในโลกนี้ ตัวพระกุมารจะได้เป็นพุทธอุปฐากชื่อว่าอานนทเถระ เป็นภิกษุสำหรับปฏิบัติพระพุทธโคดมเป็นนิตย์ดังปรารถนา พระราชกุมารได้ฟังพระพุทธทำนายแล้ว ก็มีความยินดีปรีดาหาที่สุดมิได้ ตั้งแต่นั้นไปก็อุตส่าห์ให้ทานรักษาศีล บำเพ็ญกองกุศลต่าง ๆ ครั้นสิ้นพระชนม์วัสสาแล้ว ก็จุติไปบังเกิดในภพเบื้องหน้า ท่องเที่ยวมาในวัฏฏสงสารสิ้นกาลช้านาน กำหนดได้แสนกัปป์
            ครั้นมาถึงศาสนา พระพุทธเจ้าของเรานี้ สุมนราชกุมารนั้นก็มาบังเกิดในตระกูลสากยราช ชื่อว่าอานนทกุมาร เป็นโอรสแห่งนางกีสาโคตมี ครั้นสมเด็จพระชินสีห์ สัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสรู้แล้ว ได้เสด็จไปเทศนาพระธรรมจักกัปปวัตตนสูต โปรดปัญจวัคคีย์ ที่ป่าอิสิปตนมิคทายวันใกล้เมืองพาราณสี เสด็จจำพระวัสสาณ ที่นั้น วัสสาหนึ่งแล้ว ก็เสด็จไปสู่เมืองราชคฤห์ ประทับอยู่ในลัฏฐิวโนทยาน เทศนาโปรดพระเจ้าพิมพิสารกับพราหณ์ และคหบดี ได้บรรลุโสดาปัตติผลเป็นจำนวนมาก พระเจ้าสุทโธทนะผู้เป็นพระพุทธบิดา ทราบข่าวว่าพระราชโอรสได้ตรัสรู้แล้วเสด็จไปจำพระวัสสาอยู่ในเมืองราชคฤห์ จึงได้ตรัสใช้อำมาตย์พร้อมบริวารจำนวนมากไปอาราธนาพระพุทธองค์ให้เสด็จมาสู่เมืองกบิลพัสดุ์ พระพุทธองค์ได้ตรัสเทศนา โปรดอำมาตย์นั้นพร้อมกับบริวารให้สำเร็จ แล้วชวนกันบวชเป็นภิกษุในพระศาสนา มิได้กลับไปเมืองกบิลพัสดุ์ พระเจ้าสุทโธทนะจึงใช้อำมาตย์ไปดังนี้ถึง 9 คน พร้อมบริวาร เขาเหล่านั้นก็พากันไปบวชเสียสิ้น สุดท้ายจึงได้ให้ กาฬุทายีอำมาตย์ ผู้ประกอบด้วยอุบายปัญญาเฉลียวฉลาดไปเป็นคำรบ 10 กาฬุทายี พร้อมบริวารไปถึงแล้ว ได้ฟังเทศนาพากันบวชทั้งสิ้น ภายหลังกาฬุทายีเป็นคนฉลาด จึงกราบทูลอาราธนาพระพุทธองค์ เชิญเสด็จสู่เมืองกบิลพัสดุ์
            เมื่อพระพุทธองค์เสด็จมาถึงเมืองกบิลพัสดุ์แล้ว ได้ประทับอยู่ในนิโครธาราม แล้วเสด็จไปประทานเทศนา พระพุทธบิดาจนได้อนาคามิผล กับทั้งบรรดาพระบรมวงศา ประชาชนชาวเมืองกบิลพัสดุ์ ให้ได้ตรัสรู้มรรคผลธรรมอันวิเศษเป็นอันมาก จากนั้น พระพุทธองค์จึงได้เสด็จไปประทับที่ป่ามะม่วง อันอนุปปิยะ อาชีวก สร้างถวาย อยู่ใกล้เมืองราชคฤห์ พระราชกุมารผู้เป็นพระราชโอรสศากยราช ทั้ง 6 คือ ภัทธิยะ อนุรุทธะ อานนท ถิมิละ ภัคคุ และเทวทัตตะ กับนายอุบาลีกัปปกะ ได้พากันไปบวชในสำนักของพระบรมศาสดา ได้บรรลุธรรมวิเศษต่าง ๆ กัน พระอานนทเถระได้บรรลุพระโสดาบัน แล้วได้เสกขปฏิสัมภิทาด้วย คือแตกฉานในพระไตรปิฎก เป็นอริยสาวกสำหรับปฏิบัติ พระพุทธองค์เป็นนิตย์
            เมื่อพระผู้มีพระภาค ได้ตรัสรู้แล้ว ภายใน 20 พระวัสสานั้น พระอานนท์ยังมิได้ปฏิบัติพระพุทธองค์เป็นนิตย์ก่อน บางครั้งพระนาคเถระปฏิบัติ บางครั้ง พระโสภิตะเถระ พระอุปวาณเถระ พระสุนันทเถระ พระจุนทเถระ พระเมฆิยเถระ และพระอานนท์เถระ ภิกษุรูปใดจะใคร่ปฏิบัติพระพุทธองค์ ก็เข้าไปปฏิบัติ อยู่มาวันหนึ่ง พระผู้มีพระภาคมีพุทธฏีกาตรัสเรียก พระสงฆ์ทั้งหลายให้มาสันนิบาดพร้อมกันแล้ว จึงตรัสว่า ทุกวันนี้ตถาคตก็แก่ลงแล้ว ภิกษุที่จะปฏิบัติป้องตถาคตเป็นนิตย์ยังหามีไม่ บรรดาพระสงฆ์ทั้งหลายมีพระสารีบุตรเป็นต้น ต่างก็กราบทูล ขอปฏิบัติพระพุทธองค์เป็นนิตย์ พระพุทธองค์จึงมีพระพุทธฏีกาตรัสห้ามว่า ใช่การที่สารีบุตร จะปฏิบัติตถาคต กิจธุระของสารีบุตรมีอยู่ต่างหาก โมคคัลลานก็ใช้กิจธุระ ภิกษุองค์นี้เล่าก็ใช่กิจธุระของตน ไม่ควรจะปฏิบัติตถาคต กิจธุระของท่านมีอยู่ต่าง ๆ กัน แต่บรรดาสงฆ์ทั้งหลายนั้นทูลขอทุก ๆ องค์ พระพุทธองค์ก็มิได้อนุญาตให้ เว้นไว้แต่พระอานนท์องค์เดียวไม่ได้ทูลขอ พระภิกษุทั้งหลายจึงเตือนพระอานนท์ พระอานนท์ได้ฟังจึงได้ทูลขอพร 8 ประการก่อน คือ
             พระพุทธองค์ได้ผ้าเนื้อดี ๆ อย่าได้ประทานให้ข้าพระองค์ประการหนึ่ง
            อย่าประทานจังหันบิณฑบาตแก่ข้าพระองค์ ประการหนึ่ง อย่าได้ทรงพระกรุณาให้ข้าพระองค์นอนในกุฎีด้วยกันกับพระองค์ประการหนึ่ง
            เมื่อทายกนิมนต์พระองค์ไปเพื่อกระทำภัตตกิจในที่ใด อย่าให้ข้าพระองค์ตามเสด็จไปด้วย ประการหนึ่ง
            พรทั้ง4 ประการนี้ ขอพระองค์จงประทานให้แก่ข้าพระองค์ ตั้งแต่วันนี้ไป
            ยังมีพรอีก 4 ประการคือ ทายกทั้งหลาย จะมาอาราธนาพระองค์ไปกระทำภัตตกิจใด ๆ เขามาไม่พบพระพุทธองค์ พบแต่ข้าพระองค์ เขาจึงนิมนต์ไว้ ให้ข้าพระองค์นี้ อาราธนาพระพุทธองค์ ๆ จงรับนิมนต์ อย่าให้เสียศรัทธราที่ข้าพระองค์รับเขาไว้ ประการหนึ่ง
            ภิกษุและ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาที่มาแต่ทางไกล ปรารถนาจะพบพระพุทธองค์ เมื่อเขาไม่พบพระองค์จึงพากันมาหาข้าพระองค์ ให้พาไปพบพระองค์ ๆ จงอนุญาตให้ข้าพระองค์พาเขาเข้าเฝ้าพระองค์ ประการหนึ่ง
            อนึ่งเล่าถ้าข้าพระองค์สงสัยสิ่งใดในเวลาใดก็ดี ข้าพระองค์จะเข้าไปทูลถามเมื่อนั้นขอพระองค์จงอนุญาตให้โอกาสแก่ข้าพระองค์ ประการหนึ่ง
            อนึ่งเล่า ถ้าพระองค์เสด็จไปเที่ยวเทศนาโปรดประชาชนในที่อื่น ข้าพระองค์มิได้ฟัง เมื่อพระองค์เสด็จกลับมาแล้ว ภายหลังจงเทศนาธรรมนั้นให้ข้าพระองค์ฟังประการหนึ่ง เป็นพร 4 ประการ รวมเป็น 8 ประการ ถ้าพระองค์ประทานพรทั้ง 8 ประการให้ข้าพระองค์แล้ว ข้าพระองค์จะได้ปฏิบัติพระองค์ ณ กาลบัดนี้ พระผู้มีพระภาคก็ได้ประทานพรดังกล่าวให้แก่พระอานนท์
            จากนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จประทับเหนือพุทธอาสน์ท่ามกลางสงฆ์ ทรงยกพระอานนท์เป็นเอตทัคคะ เลิศด้วยเหตุ 5 ประการว่า แต่บรรดาภิกษุในศาสนาตถาคต ที่จะปรากฎเลิศด้วยพหูสูตรและประกอบด้วยสติปัญญา ความเพียร และปฏิบัติด้วยจงรักภักดีในตถาคต ดังพระอานนท์นี้ หามิได้
            ฝ่ายพระอานนท์ ครั้นได้ที่ฐานเป็นพุทธอุปฐากแล้ว มีน้ำใจผ่องแผ้ว อุตสาหะปฏิบัติพระพุทธองค์มิได้เกียจคร้าน อยู่มาวันหนึ่ง พระสงฆ์ทั้งหลายประชุมกันที่โรงธรรมสภาศาลา กล่าวโทษพระพุทธเจ้าว่า เห็นแก่บุคคล ประทานที่อุปฐากแก่พระอานนท์ ผู้เป็นพระน้องยา ขณะนั้นพระผู้มีพระภาคได้ยินเสียงสนทนานั้นด้วยทิพยโสตธาตุ จึงเสด็จมาที่ท่ามกลางสงฆ์ บรรดาพระสงฆ์ทั้งหลายก็สงบนิ่งอยู่ พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสถามว่า ท่านทั้งหลายสนทนาเรื่องใดค้างอยู่ เมื่อพระสงฆ์ทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ตถาคตจะได้เห็นแก่หน้าบุคคล ดังถ้อยคำของท่านนั้นหามิได้ พระอานนท์นี้ได้สร้างกุศลไว้ในพระศาสนา พระปทุมุตตระ พุทธเจ้าจึงได้ที่ฐานสมควรแก่ความปรารถนาแต่หนหลัง จากนั้น พระผู้มีพระภาคจึงแสดง นานาวจนุชาดกในฉักกนิบาต และปุณณชาดก ใน เอกาทสกนิบาต ประทานแก่พระสงฆ์ทั้งหลายให้สิ้นสงสัย เมื่อจบ เทศนาแล้ว มีผู้สำเร็จมรรคและผล ธรรมวิเศษตามวาสนาบารมีที่ตนได้สร้างสมมาแต่หนหลัง
            พระอานนท์เถระได้ปฏิบัติพระพุทธองค์เป็นนิตย์มาช้านาน ประมาณได้ 25 พระวัสสา จนพระชนมายุ พระพุทธองค์ได้ 80 พระบรมศาสดาจึงเสด็จเข้าสู่พระนิพพาน ที่เมืองกุสินารา พระมหากัสสปเถระ ครั้นได้ปลงพระศพเสร็จแล้ว ได้มาระลึกถึงถ้อยคำสุภัททภิกษุ ที่ว่ากล่าวติเตียนเป็นเสี้ยนหนามในพระศาสนา เมื่อพระพุทธเจ้านิพพานได้ 7 วัน ก็เกิดความสังเวชในใจว่า นานไปไปเมื่อหน้า พวกอลัชชีจะพากันกำเริบ ย่ำเหยียบพระศาสนา จำจะต้องคิดอ่านกระทำการสังคายนา ร้อยกรองพระไตรปิฎกไว้ให้เป็นหมวดหมู่ พระมหากัสสปเถระได้นัดแนะพระสงฆ์ กำหนดการสังคายนา ณ เมืองราชคฤห์ ครั้นถึงวันเข้าพระวัสสา บรรดาพระสงฆ์ก็มาประชุมพร้อมกัน พระมหากัสสปเถระจึงจัดแจงพระอรหันต์ แต่ล้วนที่ได้ปฏิสัมภิทาญาณ แตกฉานในพระไตรปิฎก ได้ 500 หย่อนองค์หนึ่ง ประสงค์จะไว้ท่าพระอานนท์ซึ่งยังเป็นเสขบุคคลแต่พระโสดาบัน บรรดาพระสงฆ์ทั้งหลายจึงได้กล่าวแก่ พระมหากัสสปเถระ ให้จัดพระอานนท์เข้าในที่สังคายนาด้วย เพราะพระอานนท์ติดตามพระพุทธเจ้าประหนึ่งฉายา ได้ฟังพระสัทธรรมเทศนา เฉพาะพระพักตร์ ทรงจำไว้ได้ทั้งสิ้น พระมหากัสสปเถระได้ฟังพระสงฆ์ทั้งหลายอาราธนาดังนี้แล้ว จึงจัดพระอานนท์เข้าในการสังคายนา และแจ้งแก่พระอานนท์ว่า เพลาพรุ่งนี้จะเป็นวันสังคายนา ตัวท่านยังเป็นเสขบุคคลอยู่อย่าประมาท วันนั้น เมื่อเพลาเย็นลง พระอานนท์ก็อุตส่าห์ทำความเพียร ได้เดินจงกรมไปจนสิ้นปฐมยาม มัชฌิมยาม พระอรหันตผลก็ยังไม่บังเกิด ท่านจึงได้คำนึงถึงเรื่องที่พระบรมศาสดาได้ตรัสไว้ว่า เมื่อตถาคตนิพพานแล้วไม่นาน พระมหากัสสปเถระจะมายกปฐมสังคายนา พระอานนท์จึงจะได้สำเร็จพระอรหันต์ ดังนั้น พระอานนท์จึงทำความเพียรต่อไปจนล่วงเข้าปัจฉิมยาม จึงได้เอนกายลงเพื่อระงับความกระวนกระวาย ศีรษะยังไม่ทันถึงเขนยก็ได้บรรลุพระอรหัตตผล เมื่อเพลาเช้าวันรุ่งขึ้นจึงได้เข้าร่วมการสังคายนาไปจนสำเร็จ
            เมื่อพระอานนท์เถระช่วยกระทำสังคายนาเสร็๋จแล้ว  ท่านก็ได้เที่ยวไปโปรดสัตว์อยู่อีก 40 พระวัสสา จนพระชนมายุได้ 120 พระวัสสา อยู่มาวันหนึ่ง ท่านได้พิจารณาอายุสังขารของท่านว่าชราภาพ ถึง 120 ปีแล้ว เมื่อพิจารณาไปในเบื้องหน้าพบว่า อายุสังขารท่านนั้นยังอีก 7 วัน ก็จะสิ้นสูญเข้าสู่พระนิพพาน ท่านจึงพิจารณาว่าจะเข้านิพพานณ ที่ใด ก็เห็นว่าท่านจะเข้าสู่พระนิพพานที่ปลายแม่น้ำโรหิณี ซึ่งอยู่ระหว่างเมือง กบิลพัสดุ์ กับ เมืองโกลิย มหาชนในที่นั้นเป็นญาติวงศาก็มี ที่มีคุณูปการปฏิบัติท่านมาก็มีมาก ถ้าท่านไปเข้านิพพาน ณ ที่นั้น จะเป็นคุณูปการแก่ชนทั้งหลายเป็นอันมาก ดังนั้น ท่านจึงออกจากเมืองกบิลพัสดุ์มุ่งไปมหาคาม ครั้นถึงจึงบอกลาพระสงฆ์ทั้งหลาย แล้วสอนว่า ท่านทั้งหลายอย่าได้ประมาทในคำสอนของพระบรมศาสดา จงเร่งตั้งใจเจริญสิกขาทั้ง3 คือ อธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา และเมื่อท่านเห็นพระสงฆ์ทั้งหลายโศกเศร้าเสียใจ ท่านก็เทศนาสั่งสอนว่า ธรรมดาเกิดมาเป็นสัตว์สังขารแล้ว ล้วนไม่เที่ยงไม่แท้ ย่อมแปรปรวนวิปลาส ไม่พ้นอนิจจังไปได้ จะว่าไปไยถึงสัตว์มีชีวิต ถึงต้นไม้และภูเขาก็เป็นอนิจจังไม่เที่ยงแท้
            ครั้นถึงวันเป็นคำรบ 7 พระอานนทเถระจะเข้าสู่พระนิพพาน ท่านจึงอธิษฐานให้เป็นบัลลังก์ ในท่ามกลางแม่น้ำโรหิณี แล้วท่านก็ขึ้นสู่บัลลังก์ เทศนาโปรดเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย ที่มาประชุมกันทั้งสองฝั่งแม่น้ำโรหิณี มีความว่า ตัวท่านทั้งหลายได้เกิดมาเป็นมนุษย์ แต่ล้วนได้บำเพ็ญกุศลมา อย่าได้ประมาท จงมีศรัทธาอุตสาห์รักษาศีลให้บริสุทธิ์ จงมีปัญญาหน่วงเอาคุณพระรัตนตรัย อย่าสงสัยในคุณทั้ง 3 ประการ อย่าเกียจคร้านในการกุศล จงเร่งขวนขวาย ยกตนให้พ้นจากอำนาจอนิจจังให้จงได้ จงพยายามไปให้แจ้งในห้องแห่งพระจตุราริยสัจทั้ง 4 ประการ หน่วงเอาพระนิพพานเป็นที่ยิ่ง จงสละทิ้งทั้งโลภะ โทสะ โมหะ ให้สูญเป็นที่สุดในครั้งนี้ จากนั้นท่านได้แสดงพระจตุราริยสัจทั้ง4 ประการ คนทั้งหลายผู้ที่มีปรีชาญาณ ครั้นได้ฟัง ก็ตั้งอยู่ในมรรคและผลตามวาสนาบารมีของตน เมื่อจบพระธรรมเทศนาแล้วท่านก็ได้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ด้วยประการต่าง ๆ แล้วตั้งจิตอธิษฐาน ให้กายของท่านแตกออกเป็น 2 ภาค ภาคหนึ่งให้ไปตกฝั่งฟากโน้น อีกภาคหนึ่งให้ตกลงฝั่งฟากนี้ แล้วท่านได้เจริญเตโชกสิณ ยังเปลวเพลิงให้บังเกิดในกาย สังหารมังสะและโลหิตให้สิ้นสูญ ยังเหลืออยู่แต่พระธาตุมีสีขาวดังสีเงิน พระธาตุที่เหลือจึงแตกออกเป็น 2 ภาค ด้วยกำลังอธิษฐานของท่าน บรรดาผู้ที่มาประชุมกัน ณ ที่นั้นต่างก็รองรับพระธาตุไว้ แล้วกระทำเจดีย์บรรจุพระธาตุไว้ ทั้ง 2 ฟากฝั่งแม่น้ำโรหิณี

| ย้อนกลับ | หน้าค่อไป | บน |