| หน้าแรก | ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | พระวินัยปิฎก | พระสุตตันตปิฎก |

ปาราชิกกัณฑ์
ปฐมปาราชิกสิกขาบท

เรื่องพระสุทินน์
            สมัยนั้น ไม่ห่างจากเวสาลีมีบ้านตำบลหนึ่งชื่อ กลันทะ มีบุตรชาวบ้านกลันทะผู้หนึ่งชื่อ สุทินน์  ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคประทับแสดงธรรมอยู่  สุทินน์เห็นพระผู้มีพระภาค คิดว่าไฉนเราจะพึงได้ฟังธรรมบ้าง  รำพึงว่า ด้วยวิธีอย่างไร เราจึงจะรู้ทั่วถึงธรรมที่พระองค์แสดงแล้ว อันบุคคลที่ยังครองเรือนอยู่ จะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์  ให้บริสุทธิ์โดยส่วนเดียว  ทำไม่ได้ง่าย เราพึงปลงผมและหนวด ครองผ้ากาสายา ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เขาได้เข้าไปเฝ้า  แล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ขอพระองค์โปรดให้ข้าพระพุทธเจ้าบวชเถิด พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า บิดามารดาอนุญาตให้บวชเป็นบรรพชิตแล้วหรือ สุทินน์ตอบว่า ยังไม่ได้อนุญาต
            พ.  ตถาคตทั้งหลาย ย่อมไม่บวชบุตรที่มารดา บิดายังไม่ได้อนุญาต
            ส.  ข้าพระพุทธเจ้าจักกระทำโดยวิธีที่มารดา บิดา อนุญาต
        ขออนุญาตบวช
            สุทินน์ เข้าหามารดาบิดา แล้วกล่าวขอบวช มารดา บิดา กล่าวแก่เขาว่า เจ้าเป็นบุตรคนเดียว ฯลฯ เหตุไฉน เราจักอนุญาติให้เจ้าบวชเป็นบรรพชิตได้เล่า
            แม้ครั้งที่สอง และครั้งที่สาม สุทินน์ขอบวช แต่ มารดา บิดาก็ไม่ยินยอม สุทินน์ตัดสินใจว่า การตายหรือการบวชจักมีแก่เราในที่นี้แล้ว เขาไม่ยอมบริโภคอาหาร
        มารดาบิดาไม่อนุญาต
            มารดาบิดาของเขาก็ยังยืนยันคำเดิมอยู่ แม้ครั้งที่สอง ละครั้งที่สามแต่สุทินน์ก็ได้แต่นิ่ง
        พวกสหายช่วยเจรจา
            พวกสหายช่วยกันพูดในทำนองเดียวกัน แม้ครั้งที่สองและครั้งที่สาม แต่สุทินน์ก็ได้แต่นิ่งอยู่ เมื่อไม่สำเร็จพวกสหายจึงสรุปผลว่า ถ้ามารดาบิดาไม่อนุญาตให้เขาออกบวชก็จะตาย ดังนั้น ขอจงอนุญาตให้สุทินน์ออกบวชเถิด มารดาบิดาจึงยินยอมให้เขาออกบวช
        สุทินน์กลันทบุตรออกบวช
            สุทินน์ก็ได้รับบรรพชาในพุทธสำนัก เมื่อพระสุทินน์อุปสมบทแล้วไม่นาน ได้ประพฤติสมาทานธุดงค์คุณคือ เป็นผู้ถืออรัญญิก ปิณฑปาติก ปังสุกูลิก สมาทานจาริกธุดงค์ พำนักอยู่ใกล้หมู่บ้านชาววัชชีตำบลหนึ่ง
        พระสุทินน์เยี่ยมสกุล
            สมัยนั้นวัชชีชนบทอัตคัตอาหาร ฯลฯ พระสุทินน์ มีความคิดว่าก็แลญาติของเราในเวสาลีมีมาก ฯลฯ เราพึงเข้าไปพำนักอยู่ใกล้หมู่ญาติ  แม้หมู่ญาติก็จักได้อาศัยเราให้ทานบุญ และภิกษุทั้งหลายจักได้ลาภ ทั้งเราจักไม่ลำบากด้วยบิณฑบาตร ดังนั้น พระสุทินน์จึงไปสู่เวสาลี  พำนักอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน บรรดาญาติพระสุทินน์ ทราบข่าว จึงนำภัตตรหารไปถวาย  พระสุทินน์สละภัตตาหาร เหล่านั้นถวายแก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วเข้าไปบิณฑบาตรยังกลันทคาม  พอดีทาสีญาติพระสุทินน์ จำพระสุทินน์ได้ จึงรีบเข้าไปหามารดาพระสุทินน์ แจ้งว่าพระสุทินน์กลับมาแล้ว
        ขณะที่พระสุทินน์กำลังอาศัยพะไลเรือนแห่งหนึ่ง ฉันขนมสดอยู่นั้น พอดีบิดาพระสุทินน์ แลเห็นจึงเดินเข้าไปหาแล้วกล่าวว่า  พ่อควรไปเรือนของตนมิใช่หรือ  พระสุทินน์ตอบว่า รูปได้ไปสู่เรือนคุณโยมแล้ว บิดาพระสุทินน์จับแขนท่านแล้วว่า เราจักไปเรือนกัน พระสุทินน์ได้เดินตามไปสู่เรือนบิดา บิดาท่านได้กล่าวกับท่านว่า จงฉันเถิดพ่อสุทินน์ พระสุทินน์ตอบว่า อย่าเลยคุณโยมภัตกิจในวันนี้รูปทำเสร็จแล้ว บิดาท่านจึงอาราธนาว่า พ่อสุทินน์ จงรับนิมนต์ฉันภัตตาหารในวันพรุ่งนี้เถิด พระสุทินน์รับนิมนต์แล้วกลับไป
        บิดาวิงวอนให้สึก
            มารดาพระสุทินน์สั่ง ให้จัดกองทรัพย์เป็นกองใหญ่  ให้ปิดกองทรัพย์ด้วยลำแพน ให้จัดอาสนะไว้ในท่ามกลาง  แล้วเรียกปุราณทุติยิกาของพระสุทินน์มาสั่งว่า เจ้าจงแต่งกาย
อันจะเป็นเหตุให้ลูกสุทินน์เกิดความรักใคร่พอใจ
            เช้าวันนั้น บิดาพระสุทินน์เข้าไปหาท่าน แล้วให้คนเปิดกองทรัพย์เหล่านั้นออกกล่าวว่า พ่อสุทินน์พ่อจงกลับมาเป็นคฤหัส จะได้ใช้สอยโภคสมบัติและบำเพ็ญบุญ
            พระสุทินน์ตอบว่า รูปไม่อาจ ไม่สามารถ  รูปยังยินดีประพฤติพรหมจรรย์อยู่  แม้ครั้งที่สอง และครั้งที่สาม  แต่พระสุทินน์ก็ปฏิเสธ และกล่าวว่ารูปขอพูดกะคุณโยมบ้าง
            บ.  พูดเถิด พ่อสุทินน์
            ส.  คุณโยมจงสั่งให้เขาทำกระสอบป่านใหญ่ ๆ  บรรจุเงินและทองให้เต็มบรรทุกเกวียนไป แล้วให้จมลงในแม่น้ำคงคา เพราะความกลัวก็ดี  ความหวาดเสียวก็ดี อันมีทรัพย์เป็นเหตุ ที่จักเกิดแก่คุณโยมนั้น
            บิดาของท่านไม่พอใจว่าไฉนพระสุทินน์จึงพูดอย่างนี้ และแล้วได้เรียกปุราณทุติยิกาของพระสุทินน์
มาบอกว่า บางทีลูกสุทินน์จะพึงทำตามคำของเจ้าบ้าง  นางได้จับเท้าพระสุทินน์ถามว่า นางอัปสรผู้เป็นเหตุ ให้ท่านประพฤติพรหมจรรย์นั้นชื่อเช่นไร  พระสุทินน์ตอบว่า น้องหญิง ฉันไม่ได้ประพฤติพรหมจรรย์ เพราะเหตุแห่งนางอัปสรเลย พระสุทินน์กล่าวกับบิดาว่า คุณโยม ถ้าโภชนะที่จะพึงให้มีก็จงให้เถิด อย่ารบกวนรูปเลย มารดาบิดาของท่านจึงกล่าวว่า ฉันเถิดพ่อสุทินน์ แล้วอังคาสท่านด้วยขาทนียโภชนียาหาร อันประณีตด้วยมือของตน จนให้ห้ามภัต แล้วมารดาของท่านจึงกล่าวว่า  พ่อควรกลับมาเป็นคฤหัส ฯลฯ
            พระสุทินน์ตอบว่า รูปไม่อาจ ฯลฯ
            แม้ครั้งที่สอง พระสุทินน์ก็ยังยืนยันเช่นเดิม
            ในครั้งที่สาม มารดาของท่านได้กล่าวเพิ่มเติมว่า พ่อจงให้พืชพันธุ์ไว้บ้าง พวกเจ้าลิจฉวีจะได้ไม่ริบทรัพย์สมบัติของเรา อันหาบุตรผู้สืบสกุลมิได้ไปเสีย
พระสุทินน์ตอบว่าเฉพาะเรื่องนี้รูปอาจทำได้ แล้วกลับไป
        เสพเมถุนธรรม
            หลังจากนั้น มารดาของท่านสั่งกำชับปุราณทุติยิกาของท่านว่า เมื่อใดเจ้ามีระดูพึงบอกแม่ นางรับคำ  ต่อมานางมีระดู  มารดาพระสุทินน์ จึงพานางเข้าไปหาพระสุทินน์ที่ป่ามหาวัน มารดาของท่านได้กล่าว ขอในเรื่องพืชพันธุ์ พระสุทินน์ตอบว่า เรื่องนี้อาจทำได้ ท่านตอบแล้วจึงจูงแขนปุราณทุติยิกาพาเข้าป่ามหาวัน เป็นผู้มีความเห็นว่าไม่มีโทษ  เพราะสิกขาบทยังมิได้ทรงบัญญัติ จึงให้มารยาทของคนคู่เป็นไปใน ปุราณทุติยิกา 3 ครั้ง นางได้ตั้งครรภ์ เพราะอัชฌาจารนั้น
        เทพเจ้ากระจายเสียง
            เหล่าภุมเทพกระจายเสียงว่า ภิกษุสงฆ์ไม่มีเสนียดไม่มีโทษ พระสุทินน์ก่อเสนียดขึ้นแล้ว ก่อโทษขึ้นแล้ว เทพชั้นจาตุมหาราชได้สดับแล้วกระจายเสียงต่อไป  เทพชั้นดาวดึงส์  เทพชั้นยามา  เทพชั้นดุสิต เทพชั้นนิมมานรดี  เทพชั้นปรนิมมิตวสวดี เทพที่นับเนื่องในหมู่พรหมได้สดับเสียง เสียงได้กระจายขึ้นไปถึงพรหมโลก
            สมัยต่อมา ปุราณทุติยิกาของพระสุทินน์คลอดบุตร ตั้งชื่อทารกนั้นว่าพัชกะ
ตั้งชื่อปุราณทุติยิกาพระสุทินน์ว่า พัชกมาตา ตั้งชื่อพระสุทินน์ว่าพัชกปิตา
ภายหลังเขาทั้งสองได้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ทำให้แจ้งซึ่งพระอรหัตแล้ว
        พระสุทินน์เกิดวิปฏิสาร
            ครั้งนั้นความเดือดร้อนได้เกิดแก่พระสุทินน์ว่า เราได้ชั่วแล้วหนอ เพราะเราบวชในพระธรรม วินัยที่พระผู้มีภาคตรัสไว้อย่างนี้แล้ว  ยังไม่สามารถประพฤติพรหมจรรรย์  ให้บริบูรณ์บริสุทธิ์ได้ตลอดชีวิต เพราะความเดือดร้อนนี้ท่านได้ซูบผอม เศร้าหมองมีใจหดหู่ มีทุกข์โทมนัส มีวิปฎิสังขารซบเซาแล้ว
            บรรดาภิกษุที่เป็นสหาย ได้กล่าวแก่ท่านว่า คุณจะไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์กระมังหนอ
            พระสุทินน์ตอบว่า  มิใช่ว่าผมจะไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ แต่เพราะบาปกรรมที่ผมทำไว้มีอยู่  ผมได้เสพเมถุนธรรมในปุราณทุติยิกา ผมจึงได้มีความเดือดร้อน ฯลฯ
            อาวุโส สุทินน์ การที่คุณบวชในพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว อย่างนี้แล้วยังไม่สามารถ ประพฤติพรหมจรรย์  ให้บริบูรณ์บริสุทธิ์ได้ตลอดชีวิตนั้น พอที่คุณจะเดือดร้อน
            อาวุโส ธรรมอันพระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว โดยเอนกปริยาย เพื่อคลายความกำหนัด
ไม่ใช่เพื่อมีความกำหนัด เพื่อความพรากไม่ใช่เพื่อความประกอบ เพื่อความไม่ถือมั่นไม่ใช่เพื่อความถือมั่น มิใช่หรือ เพื่อธรรมชื่อนั้น เพื่อคลายกำหนัด คุณยังจะคิดเพื่อมีความกำหนัด เมื่อทรงแสดงเพื่อความพราก  คุณยังคิดเพื่อความประกอบ  เมื่อทรงแสดงเพื่อความไม่ถือมั่น คุณยังจักคิดเพื่อความถือมั่น
            อาวุโส ธรรมอันพระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วโดยเอนกปริยาย เพื่อเป็นที่สำรอกแห่งราคะ เพื่อเป็นที่สว่างแห่งความเบา (เพื่อเป็นที่) ดับสูญแห่งความกระหาย (เพื่อเป็นที่หลุดถอนแห่งอาลัย) (เพื่อเป็นที่) เข้าไปตัดแห่งวัฏฏะ (เพื่อเป็นที่) สิ้นตัณหา เพื่อคลายความกำหนัด เพื่อความดับทุกข์ เพื่อนิพพานมิใช่หรือ
            อาวุโส การละกาม การกำหนดรู้ความหมายในกาม การกำจัดความกระหายในกาม การเพิกถอนความตรึกอันเดี่ยวด้วยกาม การระงับความกลัดกลุ้มเพราะกาม พระผู้มีพระภาคตรัสบอกไว้โดย เอนกปริยายมิใช่หรือ
            อาวุโส การกระทำของคุณนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใส ของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่ง ของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว โดยที่แท้การกระทำของคุณนั่น เป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใส ของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่นของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว
            ภิกษุสหายเหล่านั้น ติเตียนพระสุทินน์   โดยเอนกปริยายดังนี้แล้ว
ได้กราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระผู้มีพระภาค
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
            ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์  ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามพระสุทินน์ว่า ข่าวว่าเธอเสพเมถุนธรรมในปุราณทุติยิกาจริงหรือ พระสุทินน์ตอบว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า
            พระผู้มีพระภาค ทรงติเตียนว่า  โมฆบุรุษ การกระทำของเธอนั่นไม่เหมาะ   ไม่สมไม่ควร   ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ เธอบวชในธรรมวินัยที่เรากล่าวไว้ดีอย่างนี้แล้ว  ไฉน  จึงไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์ ให้บริบูรณ์บริสุทธิ์ได้ตลอดชีวิตเล่า
            ดูกร โมฆบุรุษ ธรรมอันเราแสดงโดยเอนกปริยาย เพื่อคลายความกำหนัด เพื่อความพราก ไม่ใช่เพื่อความประกอบ เพื่อความไม่ถือมั่น ไม่ใช่เพื่อความถือมั่น มิใช่หรือ เมื่อธรรมชื่อนั้น อันเราแสดงแล้ว เพื่อคลายความกำหนัด เธอยังจักคิดเพื่อมีความกำหนัด เราแสดงเพื่อความพราก เธอยังจักคิดเพื่อความประกอบ เราแสดงเพื่อความไม่ถือมั่น เธอยังจักคิดเพื่อมีความถือมั่น
            ดูกร โมฆบุรุษ ธรรมอันเราแสดงแล้วโดยเอนกปริยาย เพื่อเป็นที่สำรอกแห่งราคะ เพื่อเป็นที่สว่างแห่งความเบา เพื่อเป็นที่ดับสูญแห่งความระหาย  เพื่อเป็นที่หลุดถอนแห่งความอาลัย  เพื่อเป็นที่เข้าไปตัดแห่งวัฏฏะ  เพื่อเป็นที่สิ้นแห่งตัณหา เพื่อเป็นที่สำรอกแห่งตัณหา เพื่อเป็นที่ดับแห่งตัณหา เพื่อออกไปจากตัณหาชื่อวานะ มิใช่หรือ
            ดูกร โมฆบุรุษ การละกาม การกำหนดความหมายในกาม การกำจัดความระหายในกาม การเพิกถอนความตรึกอันเกี่ยวด้วยกาม การระงับความกลัดกลุ้มเพราะกาม เราบอกไว้แล้วโดยเอนกปริยาย
            ดูกร โมฆบุรุษ องค์กำเนิด อันเธอสอดเข้าไปในปากอสรพิษที่มีพิษร้ายยังดีกว่า  อันองค์กำเนิดที่เธอสอดเข้าในองค์กำเนิดของมาตุคามไม่ดีเลย ฯลฯ องค์กำเนิดที่เธอสอดเข้าในหลุมถ่านไฟ ที่ไฟติดลุกโชนยังดีกว่า ฯลฯ
            ข้อที่เราว่าดีนั้น เพราะเหตุไร เพราะบุคคลผู้สอดองค์กำเนิดเข้าไปในปากอสรพิษเป็นต้นนั้น พึงถึงความตาย หรือความทุกข์เพียงแค่ตาย ซึ่งมีการกระนั้นเป็นเหตุ และเพราะการกระทำนั้นเป็นปัจจัย  เบื้องหน้าแต่แตกการตายไป  ไม่พึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนบุคคลผู้ทำการสอดองค์กำเนิด เข้าในองค์กำเนิดของมาตุคามนั้น เบื้องหน้าแต่แตกกายตายไป พึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ซึ่งมีการกระทำนี้เป็นเหตุ
            ดูกร โมฆบุรุษ เมื่อการกระทำนั้น มีโทษอยู่ เธอยังชื่อว่าได้ต้องอสัทธรรม อันเป็นเรื่องของชาวบ้าน เป็นมรรยาทของคนชั้นต่ำ อันชั่วหยาบ มีน้ำเป็นที่สุด มีในที่ลับ เป็นของคนคู่  อันคนคู่พึงร่วมกันเป็นไป เธอเป็นคนแรกที่กระทำอกุศลธรรม เป็นหัวหน้าของคนเป็นอันมาก การกระทำของเธอนั้น  ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว การกระทำของเธอนั่น เป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่นของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว
            พระผู้มีพระภาคทรงติเตียนพระสุทินน์ โดยเอนกปริยายดังนี้แล้ว ตรัสโทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ ความคลุกคลี ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคนบำรุงง่าย ความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียร โดยเอนกปริยาย ทรงกระทำธรรมมิกถา
ที่สมควรแก่เรื่องนั้นที่เหมาะแก่เรื่องนั้น  แก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า
            ดูกร  ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล  เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัยอำนาจประโยชน์
10 ประการ คือ เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ 1   เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ 1   เพื่อช่วบบุคคลที่เก้อยาก 1   เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก 1   เพื่อป้องกันอาสวะอันจะบังเกิดในปัจจุบัน 1   เพื่อกำจัดอาสวะอันเกิดในอนาคต 1   เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส 1  เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว 1   เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรมพระวินัย 1   พวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ว่าดังนี้

พระปฐมบัญญัติ
ก็ภิกษุใด เสพเมถุนธรรม เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้
  ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาค ทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลายด้วยประการฉะนี้

        เรื่องลิงตัวเมีย
            สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเอาเหยื่อล่อลิงตัวเมียในป่ามหาวัน แล้วเสพเมถุนธรรมในลิงตัวนั้นเสมอ ครั้นเวลาเช้า ภิกษุนั้น เข้าไปบิณฑบาตรในเวสาลี
            ครั้งนั้น ภิกษุหลายรูปเดินผ่านเข้าไปทางที่อยู่ของภิกษุนั้น  ลิงตัวเมียนั้น จึงได้เข้าไปหาภิกษุเหล่านั้น ทำนินิต เบื้องหน้าภิกษุเหล่านั้น ภิกษุเหล่านั้น จึงสันนิฐานว่า ภิกษุเจ้าของคงเสพเมถุนธรรมในลิงตัวเมียนี้แน่
แล้วแฝงอยู่ ณ ที่กำบังแห่งหนึ่ง
            เมื่อภิกษุเจ้าถิ่น ถือบิณฑบาทกลับมาแล้ว  ลิงตัวเมียนั้นได้เข้าไปหา จึงภิกษุนั้นเสพเมถุนธรรมในมัน
            ทันใด  ภิกษุเหล่านั้นได้กล่าวกะภิกษุนั้นว่า  พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้วมิใช่หรือ เหตุใดคุณจึงได้เสพเมถุนธรรมในลิงตัวเมียนี้เล่า
            ภิกษุนั้นยอมรับ  แต่ค้านว่า พระบัญญัตินั้นเฉพาะหญิงมนุษย์  ไม่เกี่ยวกับสัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย
            ภิกษุ  เหล่านั้นกล่าวว่า พระบัญญัตินั้น ย่อมเป็นเหมือนกันหมดมิใช่หรือ การกระทำของคุณนั่นไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ฯลฯ ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใส ฯลฯ
             ภิกษุเหล่านั้น  ติเตียนภิกษุนั้นแล้ว  ได้กราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระผู้มีพระภาค
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติอนุบัญัติ 1
            ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์  เพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น  ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น  แล้วทรงสอบถามภิกษุนั้นว่า  ข่าวว่าเธอเสพเมถุนธรรมในลิงตัวเมีย  จริงหรือ
            ภิกษุนั้น ทูลสารภาพว่าจริง พระผู้มีพระภาคทรงติเตียนว่า ดูกร โมฆบุรุษ  ฯลฯ องค์กำเนิดอันเธอสอดเข้าในปากอสรพิษที่มีพิษร้าย ยังดีกว่าที่เธอสอดเข้าในองค์กำเนิดลิงตัวเมีย ฯลฯ  ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้

พระอนุบัญญัติ 1
อนึ่ง  ภิกษุใดเสพเมถุนธรรมโดยที่สุด
แม้ในสัตว์ดิรัจฉานตัวเมียเป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้
เรื่องภิกษุวัชชีบุตร
            สมัยนั้น ภิกษุวัชชีบุตร หลายรูป ทำในใจโดยไม่แยบคาย ไม่บอกคืนสิกขา ไม่ทำความเป็นผู้ทุรพลให้แจ้ง ได้เสพเมถุนธรรม วัชชีบุตรพวกนั้นถูกความพินาศแห่งญาติ ถูกความวอดวายแห่งโภคะ  ถูกความเสื่อม คือโรคเบียดเบียนแล้วบ้าง จึงเข้าไปหาพระอานนท์ กล่าวว่า พวกกระผมซึ่งบวชในพระธรรมวินัย  ที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว ไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์ ให้บริบูรณ์บริสุทธิ์ได้ตลอดชีวิต ถ้าพวกกระผมพึงได้บรรพชา พึงได้อุปสมบทในสำนักพระผู้มีพระภาค จะพึงเป็นผู้เห็นแจ้งซึ่งกุศลธรรม หมั่นประกอบความเพียรในการเจริญโพธิปักขิยธรรม พวกกระผมขอโอกาส ขอท่านได้กราบทูลความข้อนี้ แด่พระผู้มีพระภาค
            พระอานนท์รับคำ แล้วกราบทูลเรื่องให้ทรงทราบ
            พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์  การที่ตถาคตจะพึงถอนปาราชิกสิกขาบทที่บัญญัติแล้วแก่สาวกทั้งหลาย  เพราะเหตุแห่งพวกวัชชี  หรือพวกวัชชีบุตรนั้นไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาส
ทรงบัญญัติอนุบัญญัติ 2
           ครั้งนั้น พระองค์ทรงกระทำธรรมีกถา  ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดแลเป็นภิกษุไม่บอกคืนสิกขา ไม่ทำความเป็นผู้ทุรพลให้แจ้ง เสพเมถุนธรรม ผู้นั้นสงฆ์ไม่พีงอุสมบทให้ ส่วนผู้ใดแลเป็นภิกษุบอกคืนสิกขา ทำความเป็นผู้ทุรพลให้แจ้งแล้ว เสพเมถุนธรรม ผู้นั้นสงฆ์พึงอุสมบทให้

  พระอนุบัญญัติ 2
อนึ่ง ภิกษุใดถึงพร้อมซึ่งสิกขา และสาชีพของภิกษุทั้งหลาย
แล้วไม่บอกคืนสิกขา  ไม่ทำความเป็นผู้ทุรพลให้แจ้ง  เสพเมถุนธรรม โดยที่สุดแม้ในสัตว์ดิรัจฉาน  เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้

สิกขาบทวิภังค์
            ที่ชื่อว่าเมถุนธรรม มีอธิบายว่า ธรรมของอสัตบุรุษ ประเพณีของชาวบ้าน มรรยาทของคนชั้นต่ำ ธรรมอันชั่วหยาบ ธรรมอันมีน้ำเป็นที่สุด กิจที่ควรซ่อนเร้น ธรรมอันคนเป็นคู่ ๆ พึงปฏิบัติร่วมกัน นี้ชื่อว่า เมถุนธรรม
            ที่ชื่อว่า เสพ ความว่า ภิกษุใด สอดนิมิตเข้าไปทางนิมิต สอดองค์กำเนิดเข้าไปในองค์กำเนิด โดยที่สุดแม้ชั่วเมล็ดงา ภิกษุนั้นชื่อว่า เสพ
            คำว่า โดยที่สุดแม้ในสัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย ความว่า ภิกษุเสพเมถุนธรรมแม้ในสัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย ย่อมไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายศากยบุตร
            คำว่า  เป็นปาราชิก ความว่าบุรุษถูกตัดศีรษะแล้ว ไม่อาจมีสรีระคุมกันนั้นเป็นอยู่ชื่อแม้ใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน เสพเมถุนธรรมแล้วย่อมไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายศากยบุตร
            บทว่าหาสังวาสมิได้ ความว่าที่ชื่อว่าสังวาส ได้แก่กรรมที่พึงทำร่วมกัน อุเทสที่พึงสวดร่วมกัน ความเป็นผู้มีสิกขาเสมอกัน
บทภาชนีย มรรคภาณวาร
            หญิง 3 จำพวก  คือ มนุษย์ผู้หญิง  1   อมนุษย์ผู้หญิง 1   สัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย 1
            อุภโตพยัญชนก 3 จำพวก  คือ มนุษย์อุภโตพยัญชนก 1   อมนุษย์อุภโตพยัญชนก 1   สัตว์ดิรัจฉานอุภโตพยัญชนก 1
            บัณเฑาะก์ 3 จำพวก  คือ มนุษย์บัณเฑาะก์ 1   อมนุษย์บัณเฑาะก์ 1   สัตว์ดิรัจฉานบัณเฑาะก์ 1
            ชาย 3 จำพวก  คือ มนุษย์ผู้ชาย 1   อมนุษย์ผู้ชาย 1   สัตว์ดิรัจฉานตัวผู้ 1
            หญิง 3 จำพวก  มีมรรคพวกละ 3 เป็น 9   ภิกษุเสพเมถุนธรรมใน 3 คือ วัจจมรรค ปัสสาวมรรค  มุขมรรค ของมนุษย์ผู้หญิง ของอมนุษย์ผู้หญิง ของสัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย ต้องอาบัติปาราชิก
            อุภโตพยัญชนก 3 จำพวก  มีมรรคพวกละสาม เป็น 9   ภิกษุเสพ ฯลฯ  ต้องอาบัติปาราชิก
            บัณเฑาะก์  3 จำพวก  มีมรรคพวกละ 2 เป็น 6   ภิษุเสพเมถุนธรรมในมรรค 2 คือ วัจจมรรค มุขมรรค ฯลฯ  ต้องอาบัติปาราชิก
            ชาย 3 จำพวก  มีมรรคพวกละ 2 เป็น 6    ภิกษุเสพเมถุนธรรมในมรรค 2 คือ  วัจจมรรค  มุขมรรค ฯลฯ ต้องอาบัติปาราชิก
อาบัติปาราชิก 30
            เมื่อเสวนจิตปรากฎ  ภิกษุสอดองค์กำเนิดเข้าในวัจจมรรคของมนุษย์ผู้หญิง ต้องอาบัติปาราชิก มี 3 ข้อ  ของอมนุษย์ผู้หญิงมี 3 ข้อ  ในสัตว์ดิรัจฉานตัวเมียมี 3 ข้อ  ในอมนุษย์อุภโตพยัญชนกมี 3 ข้อ ในสัตว์ดิรัจฉานอุภโตพยัญชนก มี 3 ข้อ  ในมนุษย์บัณเฑาะก์มี 2 ข้อ  ในสัตว์ดิรัจฉานบัญเฑาะก์มี 2 ข้อ ในอมนุษย์บัณเฑาะก์มี 2 ข้อ  ในมนุษย์ผู้ชายมี 2 ข้อ  ในสัตว์ดิรัจฉานตัวผู้มี 2 ข้อ  ต้องอาบัติปาราชิก
บทภาชนีย อสันถตภาวาร
            1. หมวดมนุสสิตถี 27 จตุกะกะ
            มนุสสิตถี สุทธิกะจตุกกะ
            1. พวกภิกษุผู้เป็นข้าศึก พามนุษย์ผู้หญิงเข้ามาในสำนักภิกษุ แล้วให้ทับองค์กำเนิด ด้วยวัจจมรรค ถ้าเธอยินดีการเข้าไป  ยินดีการเข้าไปถึงแล้ว  ยินดีการหยุดอยู่  ยินดีการถอนตัวออก ต้องอาบัติปาราชิก
            ถ้าไม่ยินดีการเข้าไป  แต่ยินดีการเข้าไปถึงแล้ว  ฯลฯ  ต้องอาบัติปาราชิก
            ถ้าไม่ยินดี  ฯลฯ  แต่ยินดีการถอนตัวออก  ต้องอาบัติปาราชิก
            ถ้าไม่ยินดี  ฯลฯ  ไม่ต้องอาบัติ
            2.  ให้คร่อมองค์กำเนิดด้วยปัสสาวมรรค ฯลฯ
            3.  ให้อมองค์กำเนิดด้วยมุขมรรค ฯลฯ
            4.-6.  มนุสสิตถี ชาครันติจตุกกะ  พามนุษย์ผู้หญิงผู้ตื่นมาแล้วให้ ทับ คร่อม อม องค์กำเนิดด้วย ฯลฯ
            7.-9.  มนุสสิตถี สุตตะจตุกกะ  พามนุษย์ผู้หญิงผู้หลับมาแล้วให้ ทับ คร่อม อม องค์กำเนิดด้วย ฯลฯ
            10.-12. มนุสสิตถี มัตตะจตุกกะ  พามนุษย์ผู้หญิงผู้เมามาแล้วให้ ทับ คร่อม อม  องค์กำเนิดด้วย ฯลฯ
            13.-15. มนุสสิตถี อุมมัตตะจตุกกะ   มนุษย์ พามนุษย์ผู้หญิงวิกลจริตมาแล้วให้ ทับ คร่อม อม องค์กำเนิดด้วย ฯลฯ
            16.-18. มนุสสิตถี ปมัตตะจตุกกะ  พามนุษย์ผู้หญิงผู้เผลอสติมาแล้วให้ ทับ คร่อม อม
องค์กำเนิดด้วย ฯลฯ
            19.-21. มนุสสิตถี มตอักขาปิตะจตุกกะ   พามนุษย์ผู้หญิงที่ตายแล้วยังไม่ถูกสัตว์กัดมาแล้วให้ ทับ คร่อม อม องค์กำเนิดด้วย ฯลฯ
            22.-24. มนุสสิตถี มตเยภุยอักขายิตะจุตกกะ   พามนุษย์ผู้หญิงที่ตายแล้วยังไม่ถูกสัตว์กัดโดยมากมา แล้วให้ทับ คร่อม อม องค์กำเนิดด้วย ฯลฯ
            25.-27. มุนสสิตถี มตเยภุยยะขายิตะจุตกกะ   พามนุษย์ผู้หญิงที่ตายแล้วถูกสัตว์โดยมากมาแล้วให้ทับ คร่อม อม องค์กำเนิดด้วย ฯลฯ  ถ้ายินดีต้องอาบัติถุลลัจจัย
            2. หมวดอมุสสิตถี 27 จตุกกะ
            อนุสสิตถี สิทธิกะจตุกกะ
            พวกภิกษุ เป็นข้าศึกพาอมนุษย์หญิง.....อมนุษย์ผู้หญิงผู้ตื่น.....ผู้หลับ  ผู้เมา  ผู้วิกลจริต  ผู้เผลอสติ  ผู้ตายแล้วยังไม่ถูกสัตว์กัด  ผู้ตายแล้วยังไม่ถูกสัตว์กัดโดยมาก  มาในสำนักภิกษุ แล้วให้ทับองค์กำเนิด ด้วยวัจจมรรค ให้คร่อมองค์กำเนิดด้วยปัสสาวมรรค ให้อมองค์กำเนิดด้วยมุขมรรค ถ้าเธอยินดีการเข้าไป ต้องอาบัติปาราชิก
            ในอมนุษย์ผู้หญิง  ผู้ตายแล้ว  ถูกสัตว์กัดโดยมาก ถ้ายินดีต้องอาบัติถุลลัจจัย
            3. หมวดดิรัจฉานคตติถี 27 จตุกกะ
            ดิรัจฉานคติตถี  สุทธิกะจตุกกะ
            พวกภิกษุผู้เป็นข้าศึกพาสัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย.....สัตว์ดิรัจฉานตัวเมียผู้ตื่น.....ผู้หลับ.....ผู้เมา.....
ผู้วิกลตริต .....ผู้เผลอสติ.....ผู้ตายแล้วยังไม่ถูกสัตว์กัด.....ผู้ตายแล้วยังไม่ถูกสัตว์กัดโดยมาก มาในสำนักภิกษุ  แล้วให้ทับองค์กำเนิดด้วยวัจจมรรค.....ด้วยปัสสาวมรรค.....ด้วยมุขมรรค  ถ้าเธอยินดีการเข้าไป
ต้องอาบัติปาราชิก.....สัตว์ดิรัจฉานตัวเมียผู้ตายแล้วถูกกัดโดยมาก ต้องอาบัติถุลลัจจัย
ถ้าไม่ยินดีไม่ต้องอาบัติ
            4. หมวดมนุสสะอุภโตพยัญชนะ 27 จตุกกะ
            มนุสสะอุภโตพยัญชนก สุทธิกะจตุกกะ
            พวกภิกษุผู้เป็นข้าศึก พามนุสสะอุภโตพยัญชนะ ฯลฯ  ถ้าเธอยินดีการเข้าไป ต้องอาบัติปาราชิก ฯลฯ  ต้องอาบัติถุลลัจจัย ถ้าไม่ยินดีไม่ต้องอาบัติ
            5. หมวดอมนุสสะอุภโตพยัญชนะ 27 จตุกกะ
            อมนุสสะอุภโตพยัญชนก สุทธิกะจตุกกะ
            พวกภิกษุผู้เป็นข้าศึก  พาอมนุสสะอุภโตพยัญชนก ฯลฯ ถ้ายินดีการเข้าไป ต้องอาบัติปาราชิก ฯลฯ  อาบัติถุลลัจจัย ถ้าไม่ยินดีไม่ต้องอาบัติ
            6. หมวดดิรัจฉานคตะอุภโตพยัญชนะ 27 จตุกกะ
            ดิรัจฉานคตะอุภโตพยัญชนะ  สุทธิกะจตุกกะ
            พวกภิกษุผู้เป็นข้าศึก ฯลฯ  ถ้ายินดีต้องอาบัติปาราชิก.....ถุลลัจจัย  ถ้าไม่ยินดีไม่ต้องอาบัติ
            7. หมวดมนุสสะบัณฑกะ 18 จตุกกะ
            1.-18. มนุสสะบัณฑกะ  สุทธิกะจตุกกะ   ชาครันตะจตุกกะ   สุตตะจตุกกะ   ปัตตะจตุกกะ อุมมัตตะจตุกกะ ปมัตตะจุตกกะ   มตอักขายิตะจตุกกะ   มตเยภุยยะอักขายิตรจตุกกะ   มตเยภุยยะขายิตะจตุกกะ  ทับ  อม
            8. หมวดอมนุสสะบัณฑกะ 18 จตุกกะ
            9. หมวดดิรัจฉานคตะบัณฑกะ 18 จตุกกะ
            10. หมวดมนุสสหุริสะ 18 จตุกกะ
            11. หมวด อมนุสสปุริสะ 18 จตุกกะ
            12. หมวดดิรัจฉานคตะปุริสสะ 18 จตุกกะ
บทภาชนีย สันกตภาณวาร
            1. หมวดมนุสสิตถี 27 จตุกกะ (ทับ  คร่อม  อม)
            1. มนุสสิสถี สุทธิกะจตุกกะ  พวกภิกษุผู้เป็นข้าศึก พามนุษย์ผู้หญิงมาแล้วให้ทับ คร่อม อม   องค์กำเนิดด้วยวัจจมรรค  หญิงมีเครื่องลาด  ภิกษุไม่มีเครื่องลาดหญิงไม่มีเครื่องลาด   ภิกษุมีเครื่องลาด 1    หญิงมีเครื่องลาด   ภิกษุก็มีเครื่องลาด 1  หญิงไม่มีเครื่องลาด   ภิกษุก็ไม่มีเครื่องลาด 1 ถ้าเธอยินดีการเข้าไป ฯลฯ  ต้องอาบัติปาราชิก ไม่ยินดีไม่ต้องอาบัติ
            2.-3. มนุสสิตถี สุทธิกะจตุกกะ   คร่อม  อม
            4.-27. มนุสสิตถี  ชาครันตีจตุกกะ  สุตตะจตุกกะ  มัตตะจตุกกะ  อุมมัตตะจตุกกะ  ปมัตตะจตุกกะ    มตะอักขายิตะจตุกกะ มตะเยภุยยะอักขายิตะจตุกกะ  มตะเยภุยยะขายิตะจตุกกะ  ทับ  คร่อม  อม
            2. หมวดอมนุสสิตถี 27 จตุกกะ
            3. หมวดดิรัจฉานคติตถี  27 จตุกกะ
            4. หมวดมนุสสะอุภโตพยัญชนะ 27 จตุกกะ
            5.  หมวดอมนุสละอุภโตพยัญชนะ 27 จตุกกะ
            6. หมวดดิรัจฉานคตะพยัญชนะ 27 จตุกกะ
            7.  หมวดมนุสสะบัณฑกะ 18 จตุกกะ
            8.  อมนุสสะบัณฑกะ 18 จตุกกะ
            9.  หมวดดิรัจฉานนุคตะบัณฑกะ 18 จตุกกะ
            10. หมวดมนุสสปุริสะ 18 จตุกกะ
            11. หมวดอมนุสสปุริสะ 18 จตุกกะ
            12. หมวดดิรัจฉานคตะปุริสะ 18 จตุกกะ
บทภาชนีย  อสันกตภาณวาร
            1. หมวดมนุสสิตถี 27 จตุกกะ
            มนุสสิตถี  สุทธิกะจตุกกะ (ยอนวัจ)  พวกภิกษุผู้เป็นข้าศึก พาภิกษุมาในสำนักมนุษย์ผู้หญิง  แล้วให้ยอนวัจจมรรคด้วยองค์กำเนิด  ฯลฯ  ต้องอาบัติปาราชิก
            2. หมวดอมนุสสิตถี 27 จตุกกะ
            3. หมวดดิรัจฉานคติตถี 27 จตุกกะ
ฯลฯ
          12. หมวดดิรัจฉานคตะปุริสะ 18 จตุกกะ
บทภาชนีย  สันกตภาณวาร
            1. หมวดมนุสสิตถี 27 จตุกกะ
            1. มนุสสิตถี  สุทธิกะจตุกกะ  (ยอนวัจ)  พวกภิกษุผู้เป็นข้าศึก  พาภิกษุมาในสำนักมนุษย์  ผู้หญิง  แล้วให้ยอนวัจจมรรคด้วยองค์กำเนิด คือของภิกษุมีเครื่องลาด ฯลฯ
ฯลฯ
            27. มนุสสิตถี  มตะเยภุยยะขายิตะจตุกกะ (ยอนปาก)  ฯลฯ
            2. หมวดอมนุสสิตถี 27 จตุกกะ
ฯลฯ
            12. หมวดดิรัจฉานคตะบัณฑกะ 18 จตุกกะ
            พวกภิกษุผู้เป็นข้าศึก  เราให้พิศดารแล้วฉันใด  พวกพระราชาผู้เป็นข้าศึก  พวกโจรผู้ร้าย  ผู้เป็นข้าศึก  พวกนักเลงผู้เป็นข้าศึก  พวกมนุษย์ผู้ตัดหัวใจผู้เป็นข้าศึก  บัณฑิตพีงให้พิศดารฉันนั้น
            ภิกษุสอดองค์กำเนิดเข้ามรรคทางมรรค  ต้องอาบัติปาราชิก
            สอดองค์กำเนิดเข้าอมรรคทางอมรรค  ต้องอาบัติปาราชิก
            สอดองค์กำเนิดเข้ามรรคทางอมรรค  ต้องอาบัติปาราชิก
            สอดองค์กำเนิดเข้าอมรรคทางอมรรค  ต้องอาบัติถุลลัจจัย
            ภิกษุปฏิบัติผิดในภิกษุผู้หลับ  เธอตื่นขึ้นแล้วยินดี  พระวินัยพึงมาสนะเสียทั้งสองรูป
เธอตื่นขึ้นแล้วไม่ยินดี  พระวินัยธรพึงมาสนะภิกษุผู้ประทุษร้าย
            ภิกษุปฏิบัติผิดในสามเณรผู้หลับ  ฯลฯ
            สามเณรปฏิบัติผิดต่อภิกษุผู้หลับ  ฯลฯ
อนาบัติติวาร
            ภิกษุไม่รู้สึกตัว 1 ภิกษุวิกลจริต 1 ภิกษุผู้มีจิตฟุ้งซ่าน 1 ภิกษุผู้กระสับกระส่ายเพราะ เวทนา  1 ภิกษุอาทิกับมิกะ 1  เหล่านี้ไม่ต้องอาบัติ
วินีตวัตถุ อุทานคาถา
            รวม  67 เรื่อง
        เรื่องภิกษุวัชชีบุตร   ภิกษุวัชชีบุตร  เมืองเวสาลีหลายรูปด้วยกัน  ไม่บอกคืนสิกขา ไม่ทำความ
เป็นผู้ทุรพลให้แจ้ง  แล้วเสพเมถุนธรรม ฯลฯ  พวกเธอต้องอาบัติปาราชิกแล้ว ฯ
        เรื่องลิงตัวเมีย    ภิกษุรูปหนึ่งเสพเมถุนธรรมในลิงตัวเมีย ฯลฯ  เธอต้องอาบัติปาราชิกแล้ว ฯ
        เรื่องปลอมเป็นคฤหัสถ์   ภิกษุรูปหนึ่งคิดว่า  เราจักไม่อาบัติด้วยวิธีอย่างนี้แล้วปลอมเป็น
คฤหัสถ์เสพเมถุนธรรม ฯลฯ   เธอต้องอาบัติปาราชิกแล้ว
        เรื่องเปลือยกาย ภิกษุรูปหนึ่งคิดว่าเราจักไม่ต้องอาบัติด้วยวิธีอย่างนี้  แล้วเปลือยกายเสพเมถุนธรรม ฯลฯ   เธอต้องอาบัติปาราชิกแล้ว ฯ
        เรื่องปลอมเป็นเดียรถีย์ 7 เรื่อง
            1.  ภิกษุรูปหนึ่งคิดว่า  ฯลฯ  แล้วนุ่งคากรอง  เสพเมถุนธรรม ฯลฯ
ต้องอาบัติปาราชิกแล้ว
            2.  ภิกษุรูปหนึ่งคิดว่า ฯลฯ แล้วนุ่งเปลือกไม้ครอง ฯลฯ    ต้องอาบัติปาราชิก
            3.  ฯลฯ แล้วนุ่งเปลือกไม้ครอง ฯลฯ    ต้องอาบัติปาราชิก
            4.  ฯลฯ แล้วนุ่งผ้ากัมพลทำด้วยเส้นผม ฯลฯ    ต้องอาบัติปาราชิก
            5.  ฯลฯ แล้วนุ่งผ้ากัมพลทำด้วยขนหางสัตว์ ฯลฯ    ต้องอาบัติปาราชิก
            6.  ฯลฯ แล้วนุ่งผ้าทำด้วยขนปีกนกเค้า ฯลฯ    ต้องอาบัติปาราชิก
            7.  ฯลฯ แล้วนุ่งหนังเสือ ฯลฯ    ต้องอาบัติปาราชิก
        เรื่องเด็กหญิง     ภิกษุรูปหนึ่ง  เห็นเด็กหญิงนอนอยู่บนตั่งเกิดความกำหนัด  จึงสอดนิ้วแม่มือเข้าไป
ในองค์กำเนิดเด็กหญิง ๆ  นั้นตาย ฯลฯ   เธอไม่ต้องอาบัติปาราชิก  แต่ต้องอาบัติสังฆทิเสส ฯ
        เรื่องภิกษุณีชื่ออุปปลวัณณา     มาณพคนหนึ่ง  มีจิตปฏิพัทธ์ในภิกษุณี  ชื่ออุปปลวัณณา  เมื่อภิกษุณี
อุปปลวัณณา  เข้าสู่บ้านเพื่อบิณฑบาตจึงเข้าไปซ่อนอยู่ในกุฏิ  เวลาปัจฉิมภัตรภิกษุณีอุปปลวัณณา
กลับจากบิณฑบาตล้างเท้าแล้วเข้ากุฏินั่งบนเตียง  มาณพนั้นจึงเข้าปลุกปล้ำประทุษร้ายภิกษุณีอุปลลวัณณา
นางจึงแจ้งเหตุนั้นแก่ภิกษุณีทั้งหลาย แก่ภิกษุณีทั้งหลาย, จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ภิกษุณีผู้ไม่ยินดี  ไม่ต้องอาบัติ,
        เรื่องเพศกลับ 2 เรื่อง
            1.  เพศหญิงปรากฏแก่ภิกษุผู้หนึ่ง    ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค, ตรัสว่า เราอนุญาตอุปัชณาย์เดิม  อุปสมบทเดิม  พรรษาก็เหล่านั้น  และให้อยู่ร่วมกับภิกษุณีทั้งหลาย อาบัติเหล่าใดของภิกษุทั้งหลายนี้ทั่วไป  กับภิกษุณีทั้งหลาย  เราอนุญาตให้ปลงอาบัติเหล่านั้น
ในสำนักภิกษุณีทั้งหลาย  อาบัติเหล่าใดของภิกษุทั้งหลายที่ไม่ทั่วไปกับภิกษุณีทั้งหลาย  ไม่ต้องอาบัติเพราะอาบัติเหล่านั้น
            2. เพศชายปรากฎแก่ภิกษุณีรูปหนึ่ง  ฯลฯ  อาบัติเหล่าในของภิกษุณีทั้งหลายที่ทั่วไปกับภิกษุ
ทั้งหลาย  เราอนุญาตให้ปลงอาบัติเหล่านั้นในสำนักภิกษุทั้งหลาย  อาบัติเหล่าใดของภิกษุณีทั้งหลาย
ที่ไม่ทั่วไปกับภิกษุทั้งหลาย  ไม่ต้องอาบัติเพราะอาบัติเหล่านั้น
         เรื่องมารดา     ภิกษุรูปหนึ่งคิดว่า  ฯลฯ แล้วเสพเมถุนธรรมในมารดา  ฯลฯ    ต้องอาบัติปาราชิก
         เรื่องธิดา     ภิกษุรูปหนึ่งคิดว่า  ฯลฯ แล้วเสพเมถุนธรรมในธิดา  ฯลฯ   ต้องอาบัติปาราชิก
         เรื่องพี่น้องหญิง    ภิกษุรูปหนึ่งคิดว่า  ฯลฯ  แล้วเสพเมถุนธรรมในพี่น้องหญิง ฯลฯ  ต้องอาบัติปาราชิก
         เรื่องภรรยา  ภิกษุรูปหนึ่งเสพเมถุนธรรมในภรรยาเก่า  ฯลฯ   ต้องอาบัติปาราชิก
         เรื่องภิกษุมีหลังอ่อน    ภิกษุรูปหนึ่งมีหลังอ่อน  เธอถูกความกระสันบีบคั้นแล้ว ได้อมองค์กำเนิดของ
ตนเองด้วยปาก   ฯลฯ    ต้องอาบัติปาราชิก
         เรื่องภิกษุมีองค์กำเนิดยาว ภิกษุรูปหนึ่งมีองค์กำเนิดยาว ฯลฯ  ได้สอดองค์กำเนิดของตน
เข้าสู่วัจจมรรคของตน  ฯลฯ  ต้องอาบัติปาราชิก
         เรื่องแผล 2 เรื่อง
            1.  ภิกษุรูปหนึ่งได้พบศพ  และที่ศพนั้นมีแผลอยู่ใกล้องค์กำเนิดจึง สอดองค์กำเนิดของตนเข้าในองค์
กำเนิดของศพ แล้วถอยออกทางแผล ฯลฯ ต้องอาบัติปาราชิก
            2.  ภิกษุรูปหนึ่งพบศพ ฯลฯ  จึงสอดองค์กำเนิดของตนเข้าในแผล  แล้วถอนออกทางองค์กำเนิด
ของศพ  ฯลฯ  ต้องอาบัติปาราชิก
        เรื่องรูปปั้น     ภิกษุรูปหนึ่งมีความกำหนัด  ได้ถูกต้องนิมิต  แห่งรูปปั้นด้วยองค์กำเนิด ฯลฯ
เธอไม่ต้องอาบัติปาราชิก  แต่ต้องอาบัติทุกกฎ
        เรื่องตุ๊กตาไม้  ภิกษุรูปหนึ่งมีความกำหนัด ได้ถูกต้องนิมิตแห่งตุ๊กตาไม้ด้วยองค์กำเนิด ฯลฯ เธอไม่ต้องอาบัติปาราชิก แต่ต้องอาบัติทุกกฎ
        เรื่องภิกษุชื่อสุนทระ ภิกษุชื่อสุนทระ  เดินไปตามถนนสตรีผู้หนึ่งเห็นท่านแล้วกล่าวว่านิมนต์หยุด
ประเดี๋ยวก่อน  ดิฉันจักไหว้   นางไหว้พลางเลิกผ้าอันตรสาวกขึ้นแล้วอมองค์กำเนิดด้วยปาก เธอได้มีความ
รังเกียจว่า  ฯลฯ  พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่าเธอยินดีหรือ
                ภิ.ไม่ยินดี  พระพุทธเจ้าข้า
                พ. ภิกษุผู้ไม่ยินดี ไม่ต้องอาบัติ
        เรื่องสตรี 4 เรื่อง
            1.  สตรีผู้หนึ่งพบภิกษุแล้วได้กล่าวคำนี้ว่า  นิมนต์มาเสพเมถุนธรรมกันเถิด ภิกษุนั้นห้ามว่า  การเรื่องนี้ไม่ควร  สตรีนั้น  แนะนำว่า ดิฉันจักพยายามเอง ท่านไม่ต้องพยายาม โดยวิธีนี้
อาบัติไม่มีแก่ท่าน  ภิกษุนั้นได้ทำอย่างนั้นแล้ว  ฯลฯ  เธอต้องอาบัติปาราชิกแล้ว
            2.  สตรีผู้หนึ่งพบภิกษุแล้วกล่าวคำนี้ว่า  นิมนต์มาเสพเมถุนธรรมเถิด  ภิกษุนั้นห้ามว่า ฯลฯ
สตรีนั้นแนะนำว่า ท่านจงพยายามเอง  ดิฉันจักไม่พยายาม  ฯลฯ   ภิกษุนั้นได้ทำอย่างนั้นแล้ว ฯลฯ
เธอต้องอาบัติปาราชิกแล้ว
            3. สตรีผู้หนึ่ง  ฯลฯ  สตรีนั้นแนะนำว่า  ท่านจงพยายามภายใน  แล้วปล่อยสุกกะภายนอก
ภิกษุนั้นได้ทำอย่างนั้นแล้ว  ฯลฯ  เธอต้องอาบัติปาราชิกแล้ว
            4.  สมัยนั้น  สตรีผู้หนึ่ง  ฯลฯ   สตรีนั้นแนะนำว่าท่านจงพยายามภายนอก
แล้วปล่อยน้ำสุกกะภายใน ภิกษุนั้นได้ทำอย่างนั้นแล้ว  ฯลฯ  เธอต้องปาราชิกแล้ว
        เรื่องป่าช้า 5 เรื่อง
            1.  ภิกษุรูปหนึ่งในป่าช้า  เห็นศพยังไม่ถูกสัตว์กัด   ได้เสพเมถุนธรรมในศพนั้น ฯลฯ  เธอต้องอาบัติปาราชิกแล้ว
            2.  ภิกษุรูปหนึ่งเห็นศพที่ยังไม่ถูกสัตว์กัดโดยมาก ฯลฯ  เธอต้องอาบัติปาราชิกแล้ว
            3.  ภิกษุรูปหนึ่งเห็นศพที่ถูกสัตว์กัดโดยมาก ฯลฯ  เธอไม่ต้องอาบัติปาราชิกแต่ต้องอาบัติถุลลัจจัย
            4.  ภิกษุรูปหนึ่งเห็นศพซึ่งมีศีรษะขาด  ได้สอดองค์กำเนิดเข้าไปกระทบในปากที่อ้า ฯลฯ
เธอต้องอาบัติปาราชิกแล้ว
            5. ภิกษุรูปหนึ่งเห็นศพซึ่งมีศีรษะขาด  ได้สอดองค์กำเนิดเข้าไปในปากที่อ้า  ไม่ให้กระทบ  ฯลฯ
เธอไม่ต้องอาบัติปาราชิก  แต่ต้องอาบัติทุกกฏ
        เรื่องกระดูก ภิกษุรูปหนึ่ง  มีจิตปฏิพัทธ์ในสตรีผู้หนึ่ง  สตรีนั้นถึงแก่กรรมแล้ว  เขาทิ้งไว้ในป่าช้า
กระดูกเกลื่อนกลาด  ภายหลังภิกษุนั้น เก็บกระดูกคุมกันเข้าแล้ว จดองค์กำเนิดลงที่นิมิต ฯลฯ แต่ต้องอาบัติทุกกฏ
        เรื่องนาคตัวเมีย  มีภิกษุรูปหนึ่ง เสพเมถุนธรรมในนาคตัวเมีย ฯลฯ เธอต้องอาบัติปาราชิกแล้ว
        เรื่องนางยักษิณี ภิกษุรูปหนึ่ง เสพเมถุนธรรมในยักษิณี  ฯลฯ  ต้องอาบัติปาราชิก
        เรื่องหญิงเปรต  ภิกษุรูปหนึ่ง เสพเมถุนธรรมในหญิงเปรต ฯลฯ  ต้องอาบัติปาราชิก
        เรื่องบัณเฑาะก์  ภิกษุรูปหนึ่ง เสพเมถุนธรรมในบัณเฑาะก์  ฯลฯ  ต้องอาบัติปาราชิก
        เรื่องภิกษุผู้มีอินทรีย์พิการ ภิกษุรูปหนึ่งมีอินทรีย์พิการ  เธอคิดว่า  เราไม่รู้สึกสุขหรือทุกข์
อาบัติจักไม่มีแก่เรา จึงเสพเมถุนธรรม  ฯลฯ  โมฆะบุรุษนั้นรู้สึกก็ตาม  ไม่รู้สึกก็ตาม ต้องอาบัติปาราชิกแล้ว
        เรื่องจับต้อง ภิกษุรูปหนึ่งคิดว่า  เราจักเสพเมถุนธรรมในสตรี  ครั้นจับต้องตัวเข้าเท่านั้น
ก็เกิดความกินแหนง เธอมีความรังเกียจว่า  ฯลฯ  แต่ต้องอาบัติทุกกฏ
        เรื่องพระอรหันต์เมืองภัททิยะจำวัดหลับ ภิกษุรูปหนึ่ง อยู่ในที่พักจำวัดหลับอยู่  อวัยวะใหญ่น้อย
ของภิกษุนั้นถูกลมรำเพยให้ตึงตัว  สตรีผู้หนึ่งพบเข้าแล้วได้เข้านั่งอมองค์กำเนิด  กระทำพอแก่ความประสงค์
แล้วหลีกไป  ภิกษุจึงกราบทูลเรื่องนั้นแก่พระผู้มีพระภาค ๆ  ตรัสว่า องค์กำเนิดเป็นอวัยวะใช้การได้ด้วยอาการ  5  อย่างคือ   กำหนัด 1   ปวดอุจจาระ 1 ปวดปัสสาวะ 1    ถูกลมรำเพย 1    ถูกบุ้งขน 1    องค์กำเนิดของภิกษุนั้น   พึงเป็นอวัยวะใช้การได้ ด้วยความกำหนัดใด  ข้อนั้นไม่ใช่ฐานะ  ไม่ใช่โอกาส เพราะภิกษุนั้นเป็นอรหันต์ ภิกษุนั้นไม่ต้องอาบัติ
        เรื่องภิกษุเมืองสาวัตถี 4 เรื่อง
            1. ภิกษุรูปหนึ่งอยู่ในที่พักจำวัดหลับอยู่  สตรีเลี้ยงโคคนหนึ่งพบเข้า จึงนั่งคร่อมองค์กำเนิด  ภิกษุนั้นยินดีกริยาที่เข้าไป  ที่เข้าไปถึงแล้ว  ที่หยุดอยู่  ที่ถอนออก  ฯลฯ ต้องอาบัติปาราชิก
            2. ภิกษุรูปหนึ่ง  ฯลฯ  สตรีเลี้ยงแพะคนหนึ่งพบเข้าจึงนั่งคร่อมองค์กำเนิด ฯลฯ  ต้องอาบัติปาราชิก
            3. ภิกษุรูปหนึ่ง  ฯลฯ  สตรีหาฟืนคนหนึ่งพบเข้าจึงนั่งคร่อมองค์กำเนิด ฯลฯ  ต้องอาบัติปาราชิก
            4. ภิกษุรูปหนึ่ง  ฯลฯ  สตรีขนโคมัยคนหนึ่งพบเข้าจึงนั่งคร่อมองค์กำเนิด ฯลฯ ต้องอาบัติปาราชิก
        เรื่องภิกษุชาวมัลละเมืองเวสาลี 3 เรื่อง
            1. ภิกษุรูปหนึ่งอยู่ในที่พักสตรีคนหนึ่งพบเข้า จึงนั่งคร่อมองค์กำเนิด กระทำพอแก่ความประสงค์ แล้วยืนหัวเราะอยู่ใกล้ ๆ ภิกษุนั้นตื่นขึ้นแล้วถามสตรีนั้นว่า  นี่เป็นการกระทำของเธอหรือสตรีนั้นตอบว่าใช่  ฯลฯ  พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า  ดูกรภิกษุ  เธอรู้สึกตัวหรือ   ภิ. ไม่รู้สึกตัว  พระพุทธเจ้าข้า
พ. ภิกษุผู้ไม่รู้สึกตัว  ไม่ต้องอาบัติ
            2. ภิกษุรูปหนึ่ง  ฯลฯ  จำวัดพิงต้นไม้อยู่  สตรีคนหนึ่งพบเข้า  จึงนั่งคร่อมองค์กำเนิด ภิกษุนั้นรีบลุกขึ้นทันที ฯลฯ  พ. เธอยินดีหรือ   ภิ. ไม่ยินดี  พระพุทธเจ้าข้า  พ. ภิกษุผู้ไม่ยินดี  ไม่ต้องอาบัติ
            3. ภิกษุรูปหนึ่ง  ฯลฯ  สตรีคนหนึ่งพบเข้า  จึงนั่งคร่อมองค์กำเนิด  ภิกษุนั้นยันให้กลิ้งไป ฯลฯ
พ. ภิกษุไม่ยินดีไม่ต้องอาบัติ
        เรื่องภิกษุเปิดประตูนอน    ภิกษุรูปหนึ่งอยู่ในที่พักกลางวันเปิดประตูจำวัดหลับอยู่
อวัยวะใหญ่น้อยของเธอ  ถูกลมรำเพยให้ตึงตัว  ครั้งนั้นสตรีหลายคนพบภิกษุนั้น  แล้วได้นั่งคร่อมองค์กำเนิด
กระทำพอแก่ความประสงค์  แล้วกล่าวว่าภิกษุนี้องอาจนัก  แล้วกลับไปภิกษุเห็นองค์กำเนิดเปรอะเปื้อน
จึงกราบทูล  ฯลฯ  เพราะภิกษุนั้นเป็นอรหันต์  ภิกษุนั้นไม่ต้องอาบัติดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุ
ผู้จะพักผ่อนในกลางวัน  ปิดประตูก่อนจึงพักผ่อนได้
        เรื่องภิกษุชาวเมืองภารุกัจฉะฝัน ภิกษุรูปหนึ่ง  ฝันว่าได้เสพเมถุนธรรมในภรรยาเก่า แล้วคิดดูว่า
เราไม่เป็นสมณะ  จักสึกละพบท่านพระอุบาลีระหว่างทาง  จึงแจ้งเรื่องนั้นให้ทราบ  พระอุบาลีกล่าวว่า
อาวุโส อาบัติไม่มีเพราะความฝัน
        เรื่องอุบาสิกาชื่อสุปัพพา 9 เรื่อง
            1. อุบาสิกาชื่อสุปัพพา  นางมีความเห็นว่า  สตรีใดให้เมถุนธรรม สตรีนั้นชื่อว่าให้ทานอันเลิศ นางพบภิกษุแล้วได้กล่าวคำนี้ว่า  นิมนต์มาเสพเมถุนธรรมเถิด  ภิกษุห้ามว่า ฯลฯ  นางแนะนำว่า ท่านจงพยายามที่ระหว่างขาอ่อน  ฯลฯ  ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
            2. - 9. อุบาสิกาชื่อสุปัพพา ฯลฯ  ท่านจงพยายามที่สะดือ  ที่เกลียวท้อง   ที่ซอกรักแร้  ที่คอ   ที่ช่องหู   ที่มวยผม   ที่ง่ามมือ   ดิฉันจักพยายามด้วยมือให้สุกกะเคลื่อน ฯลฯ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
        เรื่องอุบาสิกาชื่อสัทธา 9 เรื่อง
            1. สมัยนั้น  อุบาสิกาชื่อสัทธา ฯลฯ  จงพยายามที่ระหว่างขาอ่อน ฯลฯ  ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
            2.-9. อุบาสิกาชื่อสัทธา ฯลฯ  ท่านจงพยายามที่สะดือ  ที่เกลียวท้อง   ที่ซอกรักแร้   ที่คอ  ที่ช่องหู   ที่มวยผม   ที่ง่ามมือ   ดิฉันจักพยายามด้วยมือให้สุกกะเคลื่อน ฯลฯ  ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
        เรื่องภิกษุณี    พวกลิจฉวีกุมาร  จับภิกษุขืนให้ปฏิบัติผิดในนางภิกษุณี เธอทั้งสองยินดี
พระวินัยธรพึงให้นาสนะเสียทั้งสอง  เธอทั้งสองไม่ยินดีทั้งสองไม่ต้องอาบัติ
        เรื่องสิกขมานา พวกลิจฉวี ฯลฯ   จับภิกษุขืนให้ปฏิบัติในบางสิกขมานา ฯลฯ
        เรื่องสามเณรี พวกลิจฉวี ฯลฯ   ปฏิบัติผิดในสามเณรี ฯลฯ
        เรื่องหญิงแพศยา พวกลิจฉวี ฯลฯ   ปฏิบัติผิดในหญิงแพศยา ฯลฯ
        เรื่องบัณเฑาะก์ พวกลิจฉวี ฯลฯ   ปฏิบัติผิดในบัณเฑาะก์ ฯลฯ
        เรื่องสตรีคฤหัสถ์ พวกลิจฉวี ฯลฯ   ปฏิบัติผิดในสตรีคฤหัสถ์ ฯลฯ
        เรื่องให้ผลัดกัน พวกลิจฉวี ฯลฯ   จับภิกษุให้ปฏิบัติผิดในกันและกัน ฯลฯ
        เรื่องภิกษุผู้เฒ่า ภิกษุผู้เฒ่ารูปหนึ่ง ได้ไปเยี่ยมภรรยาเก่า  นางได้จับบังคับว่า  ท่านจงสึกมาเสียเถิด
ภิกษุนั้นถอยหลังล้มหงาย  นางจึงขึ้นคร่อมองค์กำเนิด  เธอได้มีความรังเกียจ  ฯลฯ  พ. เธอยินดีหรือเปล่า
ภ. ไม่ยินดี  พระพุทธเจ้าข้า  พ. ภิกษุผู้ไม่ยินดี  ไม่ต้องอาบัติ
        เรื่องลูกเนื้อ ภิกษุรูปหนึ่งอยู่ในป่า  ลูกเนื้อมาสู่ที่ถ่ายปัสสาวะของเธอแล้ว
ได้อมองค์กำเนิดพลางดื่มปัสสาวะ  ภิกษุนั้นยินดี  ฯลฯ  ต้องอาบัติปาราชิก

จบ ปฐมปาราชิกกัณฑ์


| หน้าแรก | ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | พระวินัยปิฎก | พระสุตตันตปิฎก | บน |