กรุงเทพมหานคร

| ย้อนกลับ | วัดพระศรีรัตนศาสดาราม | หลักเมือง | เทพารักษ์ประจำพระนคร | กลองประจำพระนคร |
| ป้อมรอบกำแพง | ภูเขาทอง | เสาชิงช้า | ท้องสนามหลวง | พระบรมรูปทรงม้า |
| พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ | กระทรวงกลาโหม | ปืนใหญ่โบราณหน้ากระทรวงกลาโหม |

ศาลาว่าการกระทรวงกลาโหม
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ  ให้เจ้าหมื่นไวยวรนาถ ซึ่งต่อมาได้เป็น จอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) เป็นผู้ดำเนินการจัดตั้งโรงทหารหน้าขึ้น ณ ที่ตั้งกระทรวงกลาโหมปัจจุบัน ซึ่งในเวลานั้นเป็นที่ตั้งของฉางหลวงเก่า อยู่ข้างศาลหลักเมือง โดยมีขอบเขตทางด้านตะวันออก นับจากฉางข้าวเลียบไปตามริมคลองหลอด ถึงสะพานช้างโรงสี กว้าง ๓ เส้น ๑๐ วา ส่วนยาววัดจากศาลหลักเมืองถึง ฉางข้าวริมคลองหลอด ยาว ๕ เส้น สร้างเป็นอาคารตึก ๓ ชั้น ค่าก่อสร้าง ๗,๐๐๐ ชั่ง (๕๖๐,๐๐๐ บาท) เครื่องตกแต่งและเครื่องประกอบเป็นเงิน ๑๒๕ ชั่ง (๒๐,๐๐๐ บาท) จุทหารได้ประมาณ ๑ กองพลน้อย สามารถบรรจุกำลังพล อาวุธ สัตว์พาหนะ ยานพาหนะ เสบียงอาหาร รวมทั้งโรงครัวของกรมทหารหน้าไว้ได้หมด โดยจัดแบ่งพื้นที่ใช้ประโยชน์ ดังนี้
ด้านหน้า ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตก ตรงข้ามกับวัดพระแก้ว เฉพาะตอนกลางเป็นมุข ๓ ชั้น ชั้นบนเป็นที่เก็บสรรพาวุธ และเป็นพิพิธภัณฑ์ทหาร ชั้นกลางเป็นที่ประชุมนายทหาร ชั้นล่างเป็นที่ฝึกหัดการฟันดาบ
ด้านขวา ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือ ชั้นบนเป็นที่อยู่ของทหาร ชั้นกลางเป็นที่ประชุมอบรมทหาร ชั้นล่างเป็นคลังเก็บยุทธภัณฑ์และครุภัณฑ์ หน่วยทหารที่อยู่ทางด้านนี้มี ทหารปืนใหญ่ โรงพยาบาลทหาร โรงม้า และโรงฝึกม้า
ด้านซ้าย อยู่ทางทิศใต้ จัดแบบด้านขวา หน่วยทหารมี ทหารราบและทหารช่าง ปลายสุดของด้านนี้สร้างเป็น หอนาฬิกา ชั้นล่างของหอเป็นเครื่องสูบน้ำ และโรงงานของทหารช่าง ชั้นสองเก็บยุทธภัณฑ์ ชั้นสามเป็นถังเก็บน้ำ ชั้นสี่เป็นหน้าปัทม์นาฬิกา ซึ่งมองเห็นได้สองด้าน ชั้นห้าเป็นที่รักษาการณ์ และที่ตรวจการณ์ มีไฟฉายและโทรศัพท์พร้อม
ด้านหลัง ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออก มีสระน้ำให้ใช้อาบ ซักเสื้อผ้าและหัดว่ายน้ำ มีฉางข้าวสำหรับเก็บข้าวสาร สำหรับเลี้ยงทหาร มีโรงครัวประกอบเลี้ยง
อาคารหลังนี้สร้างเสร็จ และทำพิธีเปิดใช้เป็นโรงทหารหน้า เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๒๗
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๓ ได้ยกฐานะกรมยุทธนาธิการเป็นกระทรวงยุทธนาธิการ และได้ตั้งกองบัญชาการ อยู่ ณ ที่นี้ จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้ขนานนามโรงทหารนี้ว่า ศาลายุทธนาธิการ
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๙ ได้ย้ายที่ว่าการกระทรวงกลาโหม จากศาลาลูกขุนใน ออกมาอยู่ที่ตึกหลังกลาง ด้านหน้าของศาลายุทธนาธิการ และได้เปลี่ยนชื่อว่า ศาลาว่าการกระทรวงกลาโหม


ปืนใหญ่โบราณ หน้ากระทรวงกลาโหม

พระพิรุณแสนห่า
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ทรงสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๐ เมื่อยังคงดำรงพระยศเป็น สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริยศึก เป็นคู่กับ ปืนพลิกพสุธาหงาย เป็นชื่อเดิมของปืนที่มีชื่อเสียงสมัยกรุงศรีอยุธยา มีขนาดใหญ่มาก
ปืนกระบอกนี้หล่อด้วยทองสำริด มีลวดลายประดับอย่างโอฬาร มีรูปราชสีห์เผ่นผงาดอยู่ที่เพลา มีห่วงสำหรับยกอยู่ ๔ ห่วง รูชนวนมีรูปนก หน้าสิงห์ขบ ท้ายรูปลูกฟัก ที่กระบอกปืนมีจารึกว่า พระพิรุณแสนห่า ดินบรรจุหนัก ๒๐ ชั่ง ปากลำกล้องกว้าง ๑๙ นิ้ว ยาว ๔ ศอกคืบ ๓ นิ้ว

พญาตานี
นางพญาตานี ศรีตวัน เจ้าเมืองปัตตานี ให้ช่างชาวจีนฮกเกี้ยน ชื่อ หลิม โต๊ะเคี่ยม เป็นผู้สร้าง สมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคล มหาสุรสิงหนาท เมื่อครั้งเสด็จยกทัพไปรบพม่า ที่ยกเข้ามาตีหัวเมือง ภาคใต้ของไทย เมื่อเสร็จศึกแล้ว ได้ทรงนำปืนกระบอกนี้ มาจาก เมืองปัตตานี เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๙
ปืนกระบอกนี้ หล่อด้วยทองสำริด มีห่วงสำหรับยก ๔ ห่วง ท้ายลำกล้องทำเป็นรูปสัตว์ หรือเขางอน ที่เพลาสลักรูปราชสีห์ พญาตานีเป็นปืนที่ยาวที่สุดในบรรดาปืนโบราณที่มีอยู่ ที่กระบอกปืน จารึกว่า "พญาตานี" ดินบรรจุหนัก ๑๕ ชั่ง ปากลำกล้องกว้าง ๑๑ นิ้ว ยาว ๓ วาศอกคืบ ๒ นิ้วกึ่ง

พลิกพสุธาหงาย
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ทรงสร้าง โดยให้หล่อที่ หน้าโรงละครใหญ่ ริมถนนประตูวิเศษไชยศรี เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๓๓๐ หล่อด้วยทองสำริด มีห่วงยก ๔ ห่วง ลำกล้องปืน มีลวดลายประดับ ที่เพลาสลักรูปคชสีห์ รูชนวนมีลายกนก ท้ายลำกล้องเป็นรูปลูกฟัก ที่กระบอกปืนจารึกว่า "พลิกพสุธาหงาย" ดินบรรจุหนัก ๒๐ ชั่ง ปากลำกล้องกว้าง ๑๙ นิ้ว ยาว ๖ ศอกคืบ ๓ นิ้ว เป็นปืนขนาดใหญ่คู่กับ พระพิรุณแสนห่า


| ย้อนกลับ | วัดพระศรีรัตนศาสดาราม | หลักเมือง | เทพารักษ์ประจำพระนคร | กลองประจำพระนคร |
| ป้อมรอบกำแพง | ภูเขาทอง | เสาชิงช้า | ท้องสนามหลวง | พระบรมรูปทรงม้า |
| พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ | กระทรวงกลาโหม | ปืนใหญ่โบราณหน้ากระทรวงกลาโหม |