|
ย้อนกลับ
|
หน้าต่อไป
|
|
พัฒนาทางประวัติศาสตร์
|
มรดกทางธรรมชาติ
|
มรดกทางวัฒนธรรม
|
มรดกทางพระพุทธศาสนา
|
มรดกทางวัฒนธรรม
จังหวัดชัยนาทมีแหล่งอารยธรรมที่ซ้อนทับกันหลายยุคหลายสมัย ปรากฏอยู่ตามบริเวณลุ่มน้ำทั้งสามสายมีหลักฐานแสดงว่า มีผู้มาตั้งถิ่นฐานมานานนับพันปี เป็นแหล่งกำเนิดอารยธรรมเก่าแก่ที่ปรากฏมาจนถึงปัจจุบัน
แหล่งโบราณคดี
แหล่งโบราณคดีบ้านหนองบัว
อยู่ที่บ้านหนองบัวตำบลเที่ยงแท้ อำเภอสรรคบุรี ลักษณะทั่วไป สภาพเดิมเป็นป่า พบเศษภาชนะดินเผาส่วนไหล่ภาชนะมีการหักมุมด้านข้างรูปแบบคล้ายกับที่เคยขุดพบในแถบเมืองโบราณสมัยทวาราวดี จึงสันนิษฐานว่า บ้านหนองบัวน่าจะมีอายุร่วมสมัยกับแหล่งโบราณคดีสมัยทวาราวดี
แหล่งโบราณคดีเขาพลอง
อยู่ที่บ้านเขาพลองตำบลเขาท่าพระ อำเภอเมือง ฯ พบภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ เนื้อในมีสีคล้ำ และการเผาไม่สมบูรณ์แสดงให้เห็นถึงเทคโนโลยีการผลิตยังด้อยอยู่ จึงสันนิษฐานว่า น่าจะมีอายุอยู่ในช่วงยุคก่อนประวัติศาสตร์(ยุคโลหะ)
แหล่งโบราณคดีบ้านโพธิงาม
อยู่ที่บ้านโพธิงาม อำเภอบางหลวง อำเภอสรรพยา พบเศษภาชนะดินเผาเป็นจำนวนมากมีลักษณะคล้ายกับที่พบจากแหล่งโบราณคดี สมัยทวาราวดีทั่ว ๆ ไป ชุมชนโบราณแห่งนี้มีการผลิตภาชนะดินเผาเนื้อหยาบและเนื้อแกร่ง จึงสันนิษฐานในขั้นต้นว่า มีอายุร่วมสมัยกับชุมชนสมัยทวาราวดี
แหล่งโบราณคดีดอนกลางและไร่ตะกี๋
อยู่ที่บ้านวัดใหม่ตำบลหนองบัว อำเภอวัดสิงห์ มีลักษณะเป็นเนินดินเนินเดียวกัน แต่ต่อมาได้มีการไถคราดเป็นพื้นที่ทำนาดอนกลางจึงหมดสภาพไป คงเหลือแต่ไร่ตะกี๋ ซึ่งมีลำห้วยขุนแก้วไหลผ่านระยะใกล้จากการสำรวจได้พบเศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ เผาด้วยอุณหภูมิต่ำ ตกแต่งผิวภาชนะด้วยลายกดประทับขูดเป็นรูปหยัก และเคลือบน้ำดิน สัมพันธ์กับแหล่งโบราณคดีหลายแห่งในเขตจังหวัดอุทัยธานี
แหล่งโบราณคดีหนองห้วย
อยู่ที่บ้านหนองบัว ตำบลหนองบัว อำเภอวัดสิงห์ ลักษณะเป็นเนินดินสองเนิน ปกคลุมด้วยต้นไม้ยืนต้นด้านทิศตะวันออกมีป่าไม้ปกคลุม มีพื้นที่ประมาณ ๑๕ ไร่ พบเศษภาชนะดินเผากระจายอยู่ทั่วไปจัดเป็นแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์
แหล่งโบราณคดีบ้านห้วย
อยู่ที่บ้านห้วย ตำบลหนองบัว อำเภอวัดสิงห์ ลักษณะเป็นเนินดินขนาดใหญ่ พื้นที่ประมาณ ๔๐ ไร่ ด้านทิศตะวันออกมีคลองกระทงไหลผ่าน จากหลักฐานบนผิวดินแสดงให้เห็นว่าเป็นแหล่งโบราณคดีที่เก่าแก่แห่งหนึ่ง
แหล่งโบราณคดีบ้านหนองไอ้งอน
อยู่ที่บ้านหนองไอ้งอน ตำบลหนองขุ่น อำเภอวัดสิงห์ ลักษณะทั่วไปเป็นเนินดินมีพื้นที่ประมาณ ๓๐ ไร่ สันนิษฐานว่ามีอายุอยู่ในสมัยอยุธยาตอนปลาย
แหล่งโบราณคดีบ้านไร่สวนลาว
อยู่ที่บ้านไร่สวนลาว ตำบลบ้านเชี่ยน อำเภอหันคา สันนิษฐานว่า เป็นแหล่งที่มีคนเข้ามาอยู่อาศัยติดต่อกันมาเป็นเวลานาน ตั้งแต่สมัยที่ใช้ขวานหินขัด ต่อมาถึงที่ใช้ภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งที่เผาด้วยอุณหภูมิสูง จนถึงที่ใช้พอร์สเลน
แหล่งโบราณคดีสมอบด
อยู่ในเขตตำบลหนองแซง อำเภอหันคา มีลักษณะเป็นเนินดินสูง ได้พบเนินดินและกองอิฐเป็นจำนวนมาก ผ่นอิฐมีขนาดใหญ่มาก พบเศษเครื่องปั้นดินเผาแต่ไม่ทราบว่าอยู่ในสมัยใด
เมืองโบราณ
เมืองโบราณอู่ตะเภา
อยู่ที่บ้านอู่ตะเภา ตำบลอู่ตะเภา อำเภอมโนรมย์ ตัวเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู อยู่ในบริเวณที่ราบริมลำน้ำหางสาคร มีลักษณะเป็นรูปวงกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง๕ กิโลเมตร ตั้งอยู่ริมลำน้ำอู่ตะเภา รอบ ๆ เมืองมีระบบการชลประทาน และสระน้ำมีเมืองโบราณอยู่ใกล้ ๆ กันอีก ๒ เมือง คือ เมืองนครน้อย และเมืองนางเหล็กเป็นกลุ่มเมืองที่อยู่ในสมัยทวาราวดี มีลำน้ำผ่านเข้ามาเกือบกึ่งกลางของพื้นที่มีคูน้ำกว้างประมาณ ๑๙ เมตร คันดินสูงประมาณ ๙ เมตร
บริเวณเมืองอู่ตะเภา และบริเวณโดยรอบเมืองมีโบราณสถานสมัยทวาราวดี ระหว่างพุทธศตวรรษที่๑๑ - ๑๖ กระจายอยู่เป็นบริเวณกว้าง ได้พบธรรมจักรศิลา และเสาแปดเหลี่ยมฐานอิฐรูปวงกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๗ เมตร สูง ๘๐ เซ็นติเมตร อันฐานที่ตั้งหรือรองรับเสาแปดเหลี่ยมและธรรมจักรขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๒ เมตร มีจารึกอักษรปัลลวะภาษาบาลี เรื่องธรรมจักรกัปวัตนสูตร
เมืองโบรารนครน้อย
อยู่ที่บ้านหัวถนน ตำบลบ้านไร่พัฒนา อำเภอมโนรมย์ อยู่ห่างจากเมืองอู่ตะเภาออกไป ประมาณ ๒ กิโลเมตร ทางด้านตะวันออกหน้าเขาแหลมเป็นคูน้ำคันดินโบราณขนาดเล็กรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าส่วนที่เป็นคูน้ำตื้นเขินหมดแล้ว ส่วนที่เป็นคันดินกำแพงดินมีขนาดกว้าง ๒๕๐เมตร ยาว ๓๐๐ เมตร ภายในตัวเมืองไม่พบหลักฐานสิ่งใด เนื่องจากชาวบ้านได้เข้ามาหักร้างถางพงทำเป็นไร่ทั้งหมด
เมืองโบราณแม่นางเหล็ก
อยู่ที่บ้านเขาแหลม ตำบลไร่พัฒนา อำเภอมโนรมย์ อยู่ถัดจากเมืองนครน้อย ไปทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ๕ กิโลเมตร ตัวเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีขนาดใหญ่กว่าเมืองนครน้อยเล็กน้อยมีคูน้ำและคันดินอยู่ในสภาพดี แต่ไม่ปรากฏว่ามีศาสนสถานใด ๆ อยู่ภายในตัวเมืองเมืองแม่นางเหล็กอาจจะเป็นเมืองหน้าด่าน หรือเมืองในการปกครองของเมืองอู่ตะเภาเช่นเดียวกับเมืองนครน้อย
เมืองโบราณดงคอน
อยู่ในเขตตำบลดงคอน อำเภอสรรค์บุรี มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มุมมนรูปแบบของเมืองใกล้เคียงกับเมืองโบราณสมัยเดียวกันที่อยู่ใกล้เคียงกัน เช่นเมืองจันเสนเมืองคูเมืองมีความกว้าง ประมาณ ๕๕๐ เมตร ยาวประมาณ ๗๕๐ เมตร ห่างจากตัวเมืองไปทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ๗๐๐ เมตร มีร่องรอยโบราณสถานที่มีคูน้ำล้อมรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า แต่ไม่ปรากฏว่ามีคันดินคูน้ำกว้างประมาณ ๒๐ เมตร
ได้พบซากโบราณสถานขนาดใหญ่อยู่นอกเมือง เป็นสถูปขนาดใหญ่ ชาวบ้านเรียกว่า
โคกปราสาท
แผ่นอิฐที่ใช้สร้างสถูปมีขนาดใหญ่เป็นพิเศษคือ กว้าง ๒๖ เซ็นติเมตร ยาว ๕๑เซ็นติเมตร ใหญ่กว่าอิฐที่ใช้สร้างโบราณสถานสมัยเดียวกันที่พบแห่งอื่น ในบริเวณนี้ชาวบ้านได้ขุดพบขวานหินสมัยก่อนประวัติศาสตร์พบชิ้นส่วนเครื่องถ้วยสุโขทัยเป็นจำนวนมาก และพบเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์เหม็ง
นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า เมืองโบราณแห่งนี้เริ่มสร้างในสมัยทวาราวดีตอนต้นและได้อยู่อาศัยกันต่อมาจนถึงสมัยอยุธยา แต่อาจจะมีการละทิ้งเมืองได้เป็นช่วงๆ ศาสนสถานในยุคแรก ๆ จึงเหลือแต่ซาก สรุปแล้วเมืองนี้มีการอยู่อาศัยเป็นระยะๆ ต่อเนื่องกันมาประมาณ ๑๓ ศตวรรษ
แหล่งประวัติศาสตร์
เมืองสรรคบุรี
เมืองสรรคบุรี หรือเมืองแพรก อยู่ในเขตตำบลแพรกศรีราชา อำเภอสรรคบุรี เป็นเมืองโบราณสมัยทวาราวดีพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสันนิษฐานว่า เดิมชื่อ
เมืองตรัยตรึงส์
เมื่อพิจารณาจากสถาปัตยกรรม และศิลปกรรม จะเห็นว่าเป็นศิลปกรรมแบบอู่ทอง จึงน่าจะเป็นเมืองที่เจริญในสมัยเดียวกันกับ เมืองสุพรรณภูมิ เมืองลพบุรี เมืองสุโขทัย และเมืองอโยธยาเมืองสรรค์น่าจะสร้างก่อนเมืองชัยนาท และยังเคยเป็นเมืองหน้าด่าน ของกรุงสุโขทัยคู่กันมากับเมืองชัยนาทในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เรียกเมืองสวรรคบุรีว่า
เมืองแพรก
และเรียกเมืองชัยนาทว่า
เมืองชัยนาทบุรี
ในปี พ.ศ. ๑๙๑๔ ในรัชสมัยพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (พระยาลิไท) กรุงศรีอยุธยาได้ยกกองทัพมายึดไว้ทั้งสองเมืองนี้จึงตกอยู่ในราชอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา และได้เปลี่ยนชื่อเมืองแพรกเป็นเมืองสรรค์ตั้งแต่นั้นมาโดยมีฐานะเป็นเมืองลูกหลวงคู่กับเมืองชัยนาท
ผังของเมืองสรรค์ เป็นผังที่ซับซ้อน แสดงถึงความเป็นเมืองใหญ่ที่อยู่ต่อเนื่องมาช้านานบริเวณเมืองแบ่งออกเป็นสองตอน ตอนที่เป็นด้านเหนือเป็นรูปสี่เหลี่ยม กว้างยาวประมาณด้านละ๑,๔๐๐ เมตร ด้านนี้น่าจะเป็นเมืองแพรกเดิม ส่วนทางด้านใต้เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้างประมาณ ๘๐๐ เมตร ยาวประมาณ ๒,๒๐๐ เมตร น่าจะเป็นที่ตั้งของเมืองสรรค์บริเวณด้านเหนือพื้นที่ถูกเกลี่ยทำนา เหลือเจดีย์รูปพุ่มข้าวบิณฑ์ที่วัดโตนดหลายและเจดีย์วัดพระยาแพรก บริเวณด้านใต้เป็นที่ตั้งของวัดมหาธาตุ วัดสองพี่น้อง
ภาษาและวรรณกรรม
ตำนานวัดเขาสรรพยา
ตามตำนานเขาสรรพยาในเรื่องรามเกียรติ์ เชื่อกันว่าคือเขาสรรพยาของเมืองชัยนาทตามเรื่องมีอยู่ว่า เมื่อพระลักษมณ์รบกับกุมภกรรณ และเสียทีถูกหอกโมกขศักดิ์ของกุมภกรรณพิเภกได้แจ้งให้ทราบถึงยาที่จะใช้แก้ไข หนุมาณจึงเหาะไปที่เขาหลวง เพื่อนำเอา
สังกรณีตรีชวา
มารักษา ในระหว่างนั้นได้เกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ มากมาย เช่น หนุมาณได้ทิ้งส่วนหนึ่งของภูเขาลงไปในขณะที่แบกเขาหลวงกลับมา ส่วนที่ทิ้งลงไปกลายเป็น
เขาขยาย
ในเขตอำเภอเมือง ฯ ในปัจจุบัน แล้วขณะที่แวะกินน้ำ ได้เอาเขาวางลงไปในบึงแล้ววักน้ำกิน บริเวณนั้นจึงลึกกว่าที่อื่น และเขาที่หนุมาณวางลงไปได้ยุบลงไปในดินจนติดแน่นยกไม่ขึ้น หนุมาณจึงเอาเขาด้านทิศใต้ไป เขาสรรพยาทางด้านนั้นจึงมีลักษณะลาดลงแล้วหนุมาณก็สาปไว้ว่าบนเขาแห่งนี้มียารักษาโรคได้ทุกชนิด แต่คนที่นี่ใจจืด ขอน้ำกินก็ไม่ได้ ดังนั้นคนที่เกิดที่นี่จะไม่สามารถใช้ยานี้รักษาโรคได้แล้วสลัดขนเป็นต้นละมาน เพื่อป้องกันคนขึ้นไปหายาบนภูเขา จากนั้นก็หักยอดภูเขานำเอายอดไปด้วยการคอน แล้วนำไปตั้งไว้ ณ ที่ตั้ง
เขาสมอคอน
ในเขตเมืองลพบุรีจากการสาปของหนุมาณชาวบ้านจึงเรียกเขานี้ว่าเขาสาปยา ต่อมาจึงกลายเป็น
เขาสรรพยา
ส่วนบึงที่หนุมาณลงมากินน้ำมีชื่อต่อมาว่า
บึงอรพิมพ์
ตำนานตำบลคุ้งตะเภา
มีเรื่องเล่าสืบกันมาว่า มีพ่อค้าหนุ่มชาวจีนจากกรุงศรีอยุธยา นำเรือสินค้ามาค้าขายจนถึงเมืองนครสวรรค์เป็นประจำและได้มาพักแรมที่เมืองมโนรมย์ทุกครั้งทั้งขาขึ้นและขาล่อง วันหนึ่งได้พบหญิงสาวสวยชาวเมืองมโนรมย์มาซื้อสินค้าทั้งสองคนเกิดชอบพอกัน และสัญญาว่าจะใช้ชีวิตร่วมกัน ฝ่ายชายจึงจัดผู้ใหญ่มาสู่ขอโดยจัดขบวนขันหมากมาจากกรุงศรีอยุธยาโดยจัดเรือสำเภาเป็นขบวนขันหมาก เมื่อขบวนเรือมาถึงคุ้งวังน้ำวนอันเกิดจากการที่แม่น้ำสะแกกรังไหลมาบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยาได้เกิดกระแสลมแรงคลื่นลูกใหญ่ซัดสาดเรือสำเภอล่มลง เจ้าบ่าวและคนทั้งปวงจมลงไปในกระแสน้ำอันเชี่ยวกรากนั้นเมื่อเจ้าสาวทราบเรื่องก็เสียใจ จึงผูกคอตายตามคนรักไป ชาวบ้านจึงตั้งชื่อคุ้งน้ำวนนี้ว่าคุ้งสำเภา
ตำนานเมืองสรรคบุรี
ตำนานพื้นบ้านเกี่ยวกับเมืองไตรตรึงส์ หรือเมืองสรรคบุรีมีอยู่ว่า เจ้าเมืองเชียงรายองค์หนึ่งอพยพหนีข้าศึกมาทางลำน้ำแม่พิงค์มาเห็นเมืองแปบร้างอยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองกำแพงเพชร จึงสร้างเมืองไตรตรึงส์ขึ้นเป็นราชธานีครองราชย์สืบมาจนถึงพระเจ้าไตรตรึงส์องค์ที่สาม มีชายเข็ญใจคนหนึ่งมีปุ่มปมอยู่ทั้วตัวจนเรียกกันว่า
แสนปม
ทำไร่เลี้ยงชีพอยู่ที่ชายเมือง และได้ใช้น้ำปัสสาวะรดต้นมะเขือในไร่เสมอเมื่อมะเขือออกผลก็ได้นำไปถวายพระธิดาเจ้าเมืองไตรตรึงส์ เมื่อพระธิดานำไปเสวยแล้วก็ทรงพระครรภ์และต่อมาได้ทรงคลอดบุตรเป็นชาย เมื่อพระกุมารเจริญวัย พระเจ้าตรัยตรึงส์ต้องการทราบว่าผู้ใดเป็นบิดาของพระกุมารจึงให้บรรดาผู้ชายหาของมาถวายพระกุมาร ถ้าพระกุมารรับของจากผู้ใด ผู้นั้นก็จะเป็นบิดาพระกุมารชายแสนปมได้นำก้อนข้าวเย็นไปถวาย พระกุมารก็รับไปเสวย พระเจ้าไตรตรึงส์ทราบก็เกิดความอับอายจึงขับไล่พระธิดา และพระกุมารออกจากเมือง พระอินทร์ทราบเรื่องจึงแปลงร่างเป็นลิงนำกลองมาให้นายแสนปมใบหนึ่ง บอกว่าถ้าปรารถนาสิ่งใดก็ขอให้ตีกลองใบนั้น และให้ขอได้สามครั้งนายแสนปมตีกลองครั้งแรกขอให้ปมตามตัวหายไป ตีกลองครั้งที่สองขอให้มีบ้านเมืองครองครองและตีกลองครั้งที่สามขอเนรมิตเปลทองคำให้พระกุมาร เมื่อได้ครบทุกอย่างแล้วนายแสนปมได้ตั้งตัวเป็นกษัตริย์พระนามว่า
พระเจ้าศิริชัยเชียงแสน
ครองเมืองเทพนครที่เนรมิตขึ้นมา และพระโอรสทรงพระนามว่า
พระเจ้าอู่ทอง
เนื่องจากที่ได้บรรทมบนเปลทองต่อมาเมื่อพระเจ้าอู่ทองขึ้นเป็นเจ้าเมือง ก็ได้ย้ายราชธานีมาตั้งที่พระนครศรีอยุธยาเมื่อปี พ.ศ. ๑๘๙๔
ตำนานบ้านห้วยกรด
มีเรื่องเล่าสืบกันมาว่า นานมาแล้วมีพระภิกษุรูปหนึ่งนำคณะพระธุดงค์เดินทางมาจากทางเหนือเพื่อไปนมัสการพระพุทธบาทสระบุรี ให้ทันก่อนวันเพ็ญเดือนสาม พระธุดงค์คณะนี้ได้มาปักกลดพักอยู่ที่ชายป่าริมทุ่งใกล้หมู่บ้านแห่งหนึ่งแล้วออกเดินทางต่อ พระธุดงค์ที่เป็นหัวหน้าลืมกลดเอาไว้จึงกลับไปเอา โดดให้คณะพระธุดงค์หยุดรออยู่ก่อนสถานที่ที่คอยอยู่นั้นต่อมาจึงมีชื่อว่า
ศาลาคอยพระ
สถานที่ที่พระธุดงค์ลืมกลดไว้ ต่อมาได้ชื่อว่านากระทุ่ม และหมู่บ้านดังกล่าวก็ได้ชื่อว่า
บ้านห้วยกลด
และต่อมาได้กลายเป็นบ้านห้วยกรด
อีกตำนานหนึ่งเล่าว่า ณ บริเวณดังกล่าวเดิมเป็นลำห้วย ยาวตลอดแนวที่ตั้งแต่เขตอำเภอเมืองฯ บ้านท้ายเมือง บ้านบางตาด้วน บ้านคลองโป่ง บ้านท่าสะแก แล้วเข้าสู่ห้วยกรดผ่านไปทุ่งละหานอรพิมพ์ แล้วแยกผ่านไปแม่ลาการ้องในเขต อำเภอินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรีบริเวณหมู่บ้านแห่งหนึ่งเต็มไปด้วยพืชน้ำชนิดหนึ่งชื่อว่าต้นกรด ทำให้ยากต่อการเดินทางทางน้ำหมู่บ้านดังกล่าวจึงได้ชื่อว่าบ้านห้วยกรด
|
ย้อนกลับ
|
หน้าต่อไป
|
บน
|