| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

มรดกทางพระพุทธศาสนา

วัดมหาธาตุเมืองสรรคบุรี
           วัดมหาธาตุ  ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำน้อยตอนหักโค้งไปทางทิศตะวันออก สร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ.๑๘๙๗ ในรัชสมัยพระมหาธรรมราชาลิไล แห่งกรุงศรีอยุธยา และสมเด็จพระรามาธิบดีที่๑ แห่งกรุงศรีอยุธยา นับเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองสรรคบุรีมาแต่อดีต ปัจจุบันก็ยังเป็นศูนย์รวมใจของชาวสรรคบุรีมีหลักฐานทางโบราณคดีว่า วัดนี้เป็นวัดกษัตริย์สร้าง
           พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีลายพระหัตถ์บันทึกไว้ตอนหนึ่งว่าวัดมหาธาตุตั้งอยู่ใจกลางผ่านคูเมืองทั้งสองด้าน..... วัดมหาธาตุนั้นตามฝีมือทำเป็นสองคราวหรือ๓ คราว ชั้นเดิมทีเดียวเป็นอย่างเมืองละโว้ ชั้น ๒ เป็นเมืองลพบุรี เป็นการทำเพิ่มเติมซ้ำๆ กันลงไป..... สร้างวิหารใหญ่เห็นจะเป็นครั้งเจ้ายี่พระยา ด้วยพระธาตุนั้นก็เป็นรูปสี่เหลี่ยมซ้อนกันเป็นชั้นๆ ที่จะเป็นยอดเล็กยอดน้อยนั้นไม่ใช่พระปรางค์
           กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๘


           พระปรางค์ทรงยอดกลีบมะเฟือง สร้างด้วยอิฐถือปูนสูงประมาณ ๒๐ เมตร อยู่ทางด้านซ้ายของพระวิหาร ลักษณะของพระปรางค์น่าจะได้รับอิทธิพลเช่นเดียวกับปรางค์๕ กลีบมะเฟืองศิลปแบบลพบุรี ดังเช่นวัดมหาธาตุ จังหวัดลพบุรี แต่ลักษณะกลีบมะเฟืองของพระปรางค์วัดมหาธาตุเมืองสรรคบุรีมีรูปชะลูดกว่า ฐานพระปรางค์เป็นรูปแปดเหลี่ยม เรือนธาตุมีซุ้มจระนำทั้งสี่ทิศ  ภายในซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นศิลปแบบอยุธยา ยอดพระปรางค์ส่วนบนมีภาพสลักเป็นภาพเทพนม


            พระอุโบสถ  แบ่งออกเป็น ๗ ห้อง มีพาไลด้านหน้าและด้านหลัง มีพระพุทธรูปนั่งสององค์ ก่อด้วยอิฐถือปูน ประดิษฐานอยู่ภายในพระอุโบสถ หลังคาแบบซ้อนกันสองชั้น สันนิษฐานว่า คงจะมีการซ่อมแซมในยุคหลัง มีหน้าต่างด้านหน้าคล้ายมุขเด็จดังเช่น พระที่นั่งจันทรพิศาล ในพระนารายณ์ราชนิเวศน์ที่ลพบุรี มุขของพระอุโบสถ อาจใช้ทำประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง เกี่ยวกับกิจการบ้านเมืองในสมัยนั้นเพราะบริเวณหน้าวัดชาวบ้านยังคงเรียกว่าหน้าพระลาน จากการซ่อมแซมขึ้นใหม่ทำให้รูปลักษณ์เปลี่ยนไปมีลักษณะไม่เหมือนเดิม


            พระเจดีย์  องค์พระธาตุเจดีย์ก่ออิฐถือปูนฐานสี่เหลี่ยมจตุรัส ตั้งอยู่ในกำแพงสี่เหลี่ยม อยู่ทางด้านหลังพระอุโบสถ ส่วนใหญ่พังทลายลงมากจนไม่ทราบลักษณะเดิมว่าเป็นอย่างไรรูปทรงที่ปรากฏอยู่เป็นทรงสี่เหลี่ยมทุกด้าน มีร่องรอยภาพปูนปั้น และพระพุทธรูปประดับอยู่มีผู้สันนิษฐานว่า น่าจะมีลักษณะเช่นเดียวกับเจดีย์วัดพระแก้ว แต่ฐานที่มุมวิจิตรพิศดารกว่าคล้ายกับฐานเจดีย์ขุนเมืองใจที่อยุธยา
            พระวิหาร  อยู่ในสภาพชำรุด ไม่มีหลังคา คงเหลือแต่เสาด้านหน้าเป็นเหลี่ยม บัวหัวเสาเป็นแบบจงกลเสาวิหารเป็นรูปแปดเหลี่ยม แบบเสาวิหารสมัยอยุธยา มีบัวหัวเสาเป็นบัวกลม มีทางขึ้นด้านหน้าทางเดียวด้านหลังพระวิหารมีทางเดินเชื่อมต่อกับระเบียงคด ออกไปสู่ลานพระธาตุได้ ลักษณะวิหารเป็นสถาปัตยกรรมแบบอยุธยาตอนต้นพระประธานเป็นพระพุทธรูปปูนปั้น เป็นลักษณะช่างสกุลเมืองสรรค์ซึ่งพบได้ทั่วไปในแถบนี้
            หลวงพ่อหลักเมือง หรือหลวงพ่อหมอ  เป็นพระพุทธรูปศิลาปางมารวิชัย ประดิษฐานอยู่ในวิหารเล็ก ซึ่งอยู่ติดกับวิหารเก่าเป็นที่เคารพสัการะของชาวเมืองสรรคบุรีมาก
            เสาหินหลักเมือง  อยู่ทางด้านหลังของหลวงพ่อหลักเมือง ระหว่างหลวงพ่อหลักเมืองกับ กำแพงพระวิหาร
วัดพระแก้ว

           วัดพระแก้วตั้งอยู่ที่บ้านบางน้ำพระ ตำบลแพรกศรีราชา อำเภอสรรคบุรี เป็นวัดที่สร้างสมัยเดียวกันกับวัดมหาธาตุสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๑๙๐๐ วัดพระแก้วเป็นศูนย์รวมใจของชาวบ้านบางพระ และท้องที่ใกล้เคียงเนื่องจากมีพระพุทธรูปสำคัญคือ หลวงพ่อฉาย และหลวงพ่อลอย และยังมีเจดีย์ที่มีความงามมากแห่งหนึ่งประดิษฐานอยู่ณ วัดนี้ กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๘
            เจดีย์  เป็นเจดีย์ที่มีความงามที่สุดแห่งหนึ่งของไทย มีบางท่านถึงกับยกย่องให้เป็นราชินีแห่งเจดีย์ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้มีลักษณะเป็นเจดีย์แบบละโว้ทรงสูง ผสมกับเจดีย์แบบทวาราวดีตอนปลาย ใช้เทคนิคการสร้างแบบสอปูนเป็นเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยมตั้งอยู่บนฐานไพที ฐานเขียง และฐานเรือนธาตุแบบลดท้องไม้มีพระพุทธรูปปูนปั้นแบบนูนสูงประดับทั้งสี่ด้าน มีเจดีย์ต่อจากฐานเรือนธาตุตอนบนทั้งสี่มุมต่อจากเรือนธาตุเป็นฐานสูงแปดเหลี่ยม มีซุ้มจระนำทั้งสี่ทิศ ต่อขึ้นไปเป็นบัวลูกแก้วและบัวถลาจนถึงองค์ระฆัง ลักษณะของเจดีย์คล้ายเจดีย์สุโขทัย อาจจะได้รับอิทธิพลร่วมระหว่างศิลปะสุโขทัยกับศรีวิชัยบนฐานชั้นสามในซุ้มตรงกลางเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางถวายเนตร มีพระพุทธรูปปูนปั้นปางประทานอภัยอยู่สองข้างลักษณะของพระพุทธรูปน่าจะเป็นศิลปะอยุธยาตอนต้น เพราะมีเค้าโครงศิลปะสุโขทัยผสมที่เห็นได้ชัดถัดจากแท่งสี่เหลี่ยมทรงสูงขึ้นไป เป็นแท่งแปดเหลี่ยม มีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปปางถวายเนตรทั้งสี่ด้านเหนือขึ้นไปเป็นย่อเหลี่ยมอีกชั้นหนึ่ง ต่อจากองค์ระฆังเป็นปล้องไฉน ๑๒ ปล้องรวมความสูง ๓๗ เมตร สันนิษฐานว่า สร้างราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ - ๑๙ ดูตามลักษณะที่ก่อสร้างน่าจะได้มีการแฝงคติธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาเอาไว้ด้วย หลายประการคือ ฐานสี่เหลี่ยมหมายถึงอริยสัจสี่ฐานสูงแปดเหลี่ยมหมายถึงอริยมรรคมีองค์แปด ปล้องไฉน ๑๒ ปล้อง หมายถึง ปฏิจจสมุปบาท๑๒ ข้อ ที่เกี่ยวพันกันเหมือนลูกโซ่ ยอดเจดีย์หมายถึงพระนิพพาน
            หลวงพ่อฉาย  เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ที่เคารพบูชาของชาวบ้านบางน้ำพระ เป็นพระพุทธรูปศิลาแลงปางมารวิชัยประดิษฐานอยู่ในวิหารด้านหน้าพระเจดีย์วัดพระแก้ว สันนิษฐานว่า มีอายุประมาณ๘๐๐ ปีมาแล้ว  ด้านหลังองค์พระมีทับหลัง แกะสลักเป็นรูปช้างนอนหงายอยู่บนแท่นส่วนบนสุดเป็นรูปพระอินทร์ หรือพระศิวะกำลังหลั่งน้ำมนต์ มีทางน้ำมนต์ไหลมาถึงตัวช้างที่นอนหงายอยู่บนแท่น
            หลวงพ่อลอย  เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น หน้าตักกว้าง ๒.๐๐ เมตร เดิมอยู่ที่วัดทัพย่าน ตำบลเที่ยงแท้ อำเภอสรรคบุรี ซึ่งเป็นวัดร้าง ชาวบ้านบางน้ำพระจึงได้ร่วมกันอัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดพระแก้วไม่มีประวัติการสร้าง
วัดพระยาแพรก

           วัดพระยาแพรกเป็นวัดร้างตั้งอยู่ติดกับวัดมหาธาตุ มีโบราณสถานที่สำคัญคือเจดีย์ก่ออิฐถือปูนรูปแปดเหลี่ยมทรงสูง สมัยอยุธยาตอนต้น กรมศิลปากรได้บูรณะปฏิสังขรณ์ให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์เป็นเจดีย์ที่มีความงดงามมากองค์หนึ่ง กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อปีพ.ศ.๒๔๗๘
วัดโตนดหลาย

           วัดโตนดหลายตั้งอยู่ในเขตตำบลแพรกศรีราชา อำเภอสรรคบุรี อยู่ห่างจากวัดสองพี่น้องประมาณ๓๐๐ เมตร
            เจดีย์ เป็นทรงพุ่มข้าวบิณฑ์หรือทรงดอกบัว เป็นศิลปะแบบสุโขทัย เจดีย์มีลักษณะทรงสูง ย่อมุมคล้ายกับพระปรางค์ตั้งอยู่บนฐานซ้อนเรียงกันเป็นชั้น พ้นจากฐานเป็นหน้ากระดานฐานบัวคว่ำบัวหงายรองรับแท่งสี่เหลี่ยมย่อมุมตรงกลาง  ส่วนบนเป็นรูปกลมคล้ายระฆังกลม ส่วนองค์ระฆังทำเป็นกระพุ่มกลุ่มมีลักษณะคล้ายดอกบัวหลวง ส่วนล่างรอบกระพุ่มมีรูปกลีบขนุนของปรางค์ประดับอยู่ด้วย  ด้านหน้าของเจดีย์ทางด้านทิศตะวันออกมีแนวฐานวิหารยื่นยาวออกไปพบรอยพระพุทธบาทขนาดใหญ่ทำด้วยปูนปั้น ทางทิศใต้ของวิหารมีเจดีย์ก่อด้วยอิฐเรียงรายอยู่หลายแห่ง
วัดสองพี่น้อง

           วัดสองพี่น้องตั้งอยู่ที่บ้านแพรกศรีราชา ตำบลบ้านแพรกศรีราชา อำเภอสรรคบุรีสันนิษฐานว่า สร้างสมัยอยุธยา กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อปีพ.ศ.๒๔๗๘
           ภายในวัดมีพระปรางค์สมัยลพบุรีอยู่ ๒ องค์ องค์ใหญ่อยู่ในสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ มีลายปูนปั้นประดับงดงามพระปรางค์องค์เล็กอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีสภาพชำรุดมากจนไม่สามารถตรวจพบรายละเอียดต่างๆ ได้ พระปรางค์ทั้ง ๒ องค์นี้ กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อปีพ.ศ.๒๔๗๘ พร้อมกับวัด
วัดโพธาราม

           วัดโพธารามตั้งอยู่ที่บ้านช่อง ตำบลแพรกศรีราชา อำเภอสรรคบุรี เดิมเรียกว่าวัดบ้านช่องสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นก่อนหรือในระหว่างที่เจ้าพระยาสร้างเมืองสรรคบุรี ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์เมื่อประชาชนมาตั้งถิ่นฐานมากขึ้น ก็ได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นมาใหม่
           สถาปัตยกรรมสำคัญของวัดนี้ได้แก่ วิหาร เจดีย์ และอุโบสถ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในสภาพทรุดโทรม
            วิหาร  อยู่ในสภาพที่ทรุดโทรมมาก ขนาดของอิฐที่ใช้ก่อสร้างวิหารมีขนาดเท่ากันกับอิฐที่วัดมหาธาตุ
            เจดีย์  อยู่ในสภาพปรักหักพังเหลือเป็นกองอิฐขนาดใหญ่
            พระอุโบสถ  สร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยช่างชาวจีน ลักษณะโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมเป็นแบบจีน บริเวณประตูทางเข้าเป็นภาพวาดสัตว์ต่าง ๆ เช่น ปลา กุ้ง ไก่ และรูปคนจีน หลังคาประดับด้วยสิงห์โตปูนปั้น พระประธานในอุโบสถเป็นศิลปะสมัยอู่ทอง และภาพจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับสภาพสังคมในยุคนั้นผนังด้านนอกอุโบสถ ประดับด้วยเครื่องเคลือบจีน
วิหารทอง

           วัดวิหารทองตั้งอยู่ในเขตตำบลเที่ยงแท้ อำเภอสรรคบุรี ทางด้านทิศใต้ติดลำน้ำน้อยเป็นวัดโบราณที่อยู่ในกำแพงเมืองสรรค์ สมัยที่เจ้าอ้ายพระยาครองเมืองสรรค์ในสมัยอยุธยาตอนปลายวัดนี้ได้กลายเป็นวัดร้าง จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้เริ่มมีการปฏิสังขรณ์ และเริ่มมีพระสงฆ์มาจำพรรษา เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๕๓ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๖ และได้มีการผูกพัทธสีมาเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๓
           สถาปัตยกรรมที่สำคัญคือ พระอุโบสถที่มีโครงสร้างก่ออิฐถือปูนเป็นรูปทรงเรือสำเภาซึ่งได้บูรณะปฏิสังขรณ์จากของเดิม สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๑ มีรูปลักษณะเหมือนพระอุโบสถวัดมหาธาตุแต่มีความสมบูรณ์กว่า พระประธานอุโบสถเป็นพระพุทธรูปเก่า
วัดบรมธาตุวรวิหาร

           วัดบรมธาตุวรวิหารเป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตตำบลชัยนาท อำเภอเมือง ฯ อยู่ห่างจากเขื่อนเจ้าพระยาประมาณ ๔ กิโลเมตรได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งหลังเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๐ เดิมชื่อวัดพระธาตุหรือวัดหัวเมือง บริเวณแถบนี้เคยเป็นที่ตั้งของเมืองชัยนาทมาก่อน สร้างตั้งแต่สมัยขอมมีอำนาจอยู่ในดินแดนลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยมีพระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุไว้ในองค์พระธาตุเจดีย์เป็นที่รวมใจ ในรัชสมัยพระเจ้าลิไทแห่งกรุงสุโขทัยได้ทรงจัดการบำรุง และสมโภชพระธาตุ ในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์แห่งกรุงศรีอยุธยาเกิดศึกกับพม่าวัดจึงถูกทอดทิ้งทรุดโทรมลงไปมาก จนถึงปี พ.ศ.๒๒๖๐ ในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุเจดีย์ ในสมัยรัตนโกสินทร์จนถึงปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินวัดพระบรมธาตุ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๘และได้รับสถาปนาเป็นพระอารามหลวงเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๙
           วัดพระบรมธาตุ ฯ  เป็นหนึ่งในบรรดาสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ น้ำหน้าวัดพระบรมธาตุฯ ถือเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ สำหรับนำไปใช้ในพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาด้วย กรมศิลปากรได้ประกาศเป็นโบราณสถานเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๘
            พระบรมธาตุเจดีย์  ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างในสมัยใด เป็นเจดีย์แบบศรีวิชัย  องค์เจดีย์เป็นทรงกลมตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจตุรัสซึ่งต่อมุมขึ้นไปรองรับใต้องค์ระฆัง มีซุ้มจระนำเล็ก ๆ ทั้งสี่ด้าน ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางนาคปรกทั้งสี่ทิศหน้าบันของซุ้มจระนำมี ๒ ชั้นซ้อนกัน พระพุทธรูปในซุ้มกลางหน้าทางทิศตะวันออกหน้าตักกว้าง ๒๓ เซ็นติเมตร สูงจากฐานจรดพระเศียร ๓๑ เซ็นติเมตร ครองจีวรแบบห่มดองหรือห่มเฉียงชายสังฆาฏิเกือบถึงฝ่าพระหัตถ์ พระเศียร และพระพักตร์มีเค้าศิลปแบบลพบุรีหรืออู่ทองรุ่นแรก ระหว่างซุ้มจระนำมีผนังทำเป็นมุมเหลี่ยมขึ้นไปรองรับองค์ระฆังเหนือมุมระหว่างหน้าบันของซุ้มจระนำทำเป็นเจดีย์ขนาดเล็ก มีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปอีกหลายองค์เรียงรายอยู่โดยรอบต่อจากนั้นถึงองค์ระฆังทรงกลมรองรับปลียอด ส่วนบนสุดมีฉัตรประดับ
           ในจดหมายเหตุระยะทางไปพิษณุโลก สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงนิพนธ์ว่า"วัดนี้เป็นวัดเก่า มีพระธาตุเล็กประมาณ ๔ วา รูปเป็นหน้าบรรพ์ชั้นสิงห์อย่างปรางค์ฐาน๒ ชั้น เป็นฐานบัลลังก์ องค์เป็นต่อมน้ำ ยอดมีบัวกลุ่มดอก ๑ แล้วปลีข้าวบิณฑ์เป็นรุ่มร่ามไม่เข้าแบบแปลว่าของใหม่ คนไม่เป็นทำหลังพระธาตุมีแผ่นศิลาจาฤกหนังสือของ....."
           องค์พระบรมธาตุเจดีย์สร้างสมัยใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด ทราบแต่การบูรณะซ่อมแซมจากศิลาจารึกที่พบอยู่ในวัด สันนิษฐานว่าวัดพระบรมธาตุเป็นวัดที่เคยรุ่งเรืองมาก่อน ตั้งแต่สมัยขอมเรืองอำนาจอยู่ในแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยา การแกะสลักศิลารูปตามซุ้มเป็นฝีมือช่างโบราณสมัยขอม เข้าใจว่าคงจะเอาแบบมาจากอินเดียแต่มีศิลปะขอมอยู่ด้วย  องค์พระบรมธาตุเจดีย์ก่อด้วยศิลา และจับเป็นก้อนเดียวกันทั้งองค์แปลกกว่าที่อื่นๆ
            พระวิหาร  ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของวัด เดิมคงสร้างขึ้นพร้อมกับ พระบรมธาตุเจดีย์ แต่มีร่องรอยการบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ในระยะหลังหลายครั้งตัววิหารเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน กว้าง ๑๓ เมตร ยาว ๒๔ เมตร
            พระอุโบสถ  อยู่ทางด้านใต้ติดกับพระวิหาร เชื่อว่าสร้างขึ้นมาพร้อมกับพระวิหาร มีร่องรอยการบูรณะซ่อมแซมในสมัยต่อมาหลายครั้งมีขนาดกว้าง ๙ เมตร ยาว ๒๔ เมตร  พระประธานในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทองขนาดใหญ่ปางมารวิชัย มีลักษณะอันเป็นเอกลักษณ์ของพระพุทธรูปแบบสรรคบุรีโดยเฉพาะ รอบนอกพระอุโบสถมีใบเสมาทำด้วยหินทรายแดงเป็นศิลปกรรมแบบอยุธยา
            แผ่นศิลาจารึก  เป็นจารึกในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ มีข้อความกล่าวถึงการฉลองการบูรณะปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุเจดีย์ ปัจจุบันแผ่นศิลาจารึกดังกล่าวนี้ ติดตั้งอยู่ที่ฝาผนังวิหารด้านหลังติดกับองค์พระธาตุ
           ทุกปีเมื่อถึงวันเพ็ญเดือนหก จะมีงานเฉลิมฉลอง ให้ประชาชนได้นมัสการ และปิดทองพระบรมสารีริกธาตุมีมหรสพแสดงเป็นที่ครึกครื้น
วัดปากคลองมะขามเฒ่า

           วัดปากคลองมะขามเฒ่าตั้งอยู่บริเวณปากคลองมะขามเฒ่าที่เข้ามาบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตตำบลมะขามเฒ่า อำเภอวัดสิงห์ มีเรื่องเล่าสืบกันมาว่า เดิมมีต้นมะขามเก่าแก่มากอยู่หน้าวัดริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เยื้องกับปากคลองลงมาทางใต้ ต่อมาบริเวณนั้นถูกน้ำกัดเซาะตลิ่งเข้ามาต้นมะขามดังกล่าวจึงโค่นล้มไปในน้ำเหลือแต่เพียงชื่อวัดนี้ไม่ทราบว่าสร้างขึ้นเมื่อใด กล่าวกันว่าสร้างขึ้นเมื่อ ประมาณปี พ.ศ.๒๔๓๔ โดยหลวงปู่ศุข ได้นำชื่อวัดอู่ทองซึ่งเป็นวัดร้างอยู่ไม่ไกลจากวัดนี้นักมาตั้งชื่อโดยให้ชื่อว่า วัดอู่ทองมะขามเฒ่าจนถึงปี พ.ศ.๒๔๗๔ จึงใช้ชื่อวัดปากคลองมะขามเฒ่าสืบต่อมา
            มณฑป  สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๖ มีบานประตูแกะสลักสวยงามอยู่ ๓ บาน ปัจจุบันเหลืออยู่เพียง๑ บาน ภายในมณฑปเคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง
            พระอุโบสถ  สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๔๒ ภายในพระอุโบสถมีจิตรกรรมฝาผนังที่ทรงคุณค่าดังนี้ด้านเหนือและด้านใต้เป็นฝีมือช่างพื้นฐานในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นภาพพุทธประวัติ พร้อมทั้งภาพวิถีชีวิตของชาวบ้าน ด้านตะวันออกส่วนบนเป็นภาพพุทธประวัติปางมารวิชัยตอนล่างระหว่างช่องประตู เป็นภาพพุทธประวัติตอนบำเพ็ญทุกข์กิริยา จิตรกรรมด้านนี้เป็นภาพฝีพระหัตถ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ และข้าราชบริพารที่ตามเสด็จ
วัดสิงห์สถิต
           วัดสิงห์สถิตตั้งอยู่ที่บ้านวัดสิงห์ ตำบลวัดสิงห์ สร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๓๗๕ ชาวบ้านเรียกวัดสิงห์ และได้เปลี่ยนชื่อเป็น วัดสิงห์สถิตในระยะต่อมา
           พระอุโบสถเป็นแบบโบราณที่เรียกกันว่าโบสถ์มหาอุต มีกำแพงแก้วโดยรอบ หน้าบันพระอุโบสถมีลายปูนปั้นที่สวยงามมากสร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๕
วัดอินทาราม

           วัดอินทารามเป็นวัดโบราณ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตตำบลตลุกอำเภอสรรพยา มีพื้นที่ประมาณ ๒๕๗ ไร่ และเป็นสำนักเรียนภาษาบาลีที่มีชื่อเสียงมายาวนานวัดนี้สร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๓๙๐ เดิมชื่อวัดตลุก ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อประมาณปีพ.ศ.๒๔๐๐
            พระอุโบสถ  มี ๒ หลัง หลังเก่าชำรุดทรุดโทรมมาก สันนิษฐานว่า สร้างสมัยรัคนโกสินทร์ หลังใหม่มีอายุประมาณ๑๐๐ ปี
            หอพระไตรปิฎก  เป็นแบบทรงไทยศิลปะรัตนโกสินทร์ ตั้งอยู่กลางสระก่ออิฐถือปูน กว้างประมาณ๑๐ เมตร ยาว ๑๒ เมตร ตัวหอพระไตรปิฎกสร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง กว้าง ๘ เมตรยาว ๙ เมตร ช่อฟ้า ใบระกา หน้าบัน เชิงชาย และฝา ประดับกระจกสีทั้งหมดหลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผาแบบเก่า
            วิหาร  มีวิหารเก่าอยู่ ๓ หลัง เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปเป็นจำนวนมาก
            พระเจดีย์  มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมย่อมุมแบบไม้สิบสอง เหนือฐานเป็นซุ้มจระนำทั้ง ๔ทิศ ภายในซุ้มจระนำมีพระพุทธรูปแบบอู่ทองปางประทานพร ประดิษฐานอยู่ทั้ง ๔ทิศเช่นกัน เหนือซุ้มจระนำขึ้นไปเป็นองค์พระเจดีย์ทรงระฆังคว่ำ ย่อมุมไม้สิบสองต่อขึ้นไปเป็นปล้องไฉนจรดยอด เหมือนกับเจดีย์ที่นิยมสร้างกันโดยทั้วไปในภาคกลางของไทย
            รอยพระพุทธบาทจำลอง  เป็นรอยพระพุทธบาทที่งดงาม สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๗ ปัจจุบันนำไปไว้ที่มณฑป
            ศาลาการเปรียญ  เป็นศาลาที่มีเสาไม้ขนาดใหญ่ที่สุดในเขตภาคกลางของไทย สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๑ช่อฟ้าใบระกาและหางหงส์ ทำด้วยไม้สักประดับกระจกสี หน้าบันแกะเป็นรูปเทพนมประกอบเครือวัลย์ประดับกระจกสี
วัดพิชัยนาวาส

           วัดพิชัยนาวาสตั้งอยู่ที่บ้านเชี่ยน ตำบลบ้านเชี่ยน อำเภอหันคา สร้างในสมัยอยุธยาเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๒๐๕ เดิมชื่อวัดบ้านเชี่ยน ได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดพิชัยนาวาสเมื่อปีพ.ศ.๒๔๗๗
           พระอุโบสถสร้างอยู่กลางสระน้ำ พระประธานในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ปั้นด้วยปูนสอ ชาวบ้านเรียกชื่อว่าหลวงพ่อโต สูง ๔.๕๐ เมตร เดิมสร้างไว้บนตอตะเคียนสันนิษฐานว่าการก่อสร้างยังไม่เสร็จสมบูรณ์ อาจมีเหตุการณ์ศึกสงคราม จึงยังขาดช้างและลิงอันเป็นองค์ประกอบของพระพุทธรูปปางนี้
           แม่น้ำกก วัดเขาสารพัดดีศรีเจริญธรรม

           วัดเขาสารพัดดี ฯ หรืออีกชื่อหนึ่งคือวัดไกลกังวล ตั้งอยู่บนเขาสารพัดดี ในเขตบ้านไร่สวนลาวตำบลบ้านเชี่ยน อำเภอหันคา มีพื้นที่ประมาณ ๑,๐๐๐ ไร่ สร้างเมื่อประมาณปีพ.ศ.๒๔๖๘ อย่างไรก็ตามที่เขาสารพัดดีมีปูชนียสถาน และปูชนียวัตถุอยู่หลายแห่งแต่อยู่ในสภาพปรักหักพังไปหมดแล้ว เหลือแต่ซากอิฐปรากฏอยู่ กำแพงวัดนี้มีความยาวถึง๕ กิโลเมตร นับว่าเป็นกำแพงวัดที่ยาวที่สุดในประเทศไทย และอาจจะยาวที่สุดในโลกบนยอดเขามีมณฑป และพระอุโบสถที่สร้างขึ้นใหม่
           ในวันออกพรรษาของทุกปี ทางวัดได้จัดงานพิธีตักบาตรเทโว มีประชาชนมาร่วมพิธีไม่แพ้พิธีตักบาตรเทโวที่วัดสังกัสสะจังหวัดอุทัยธานี
วัดธรรมามูลวรวิหาร

           วัดธรรมามูลตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาธรรมามูล ในเขตอำเภอเมือง ฯ เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยาสันนิษฐานว่า พระมหาธรรมราชา แห่งกรุงสุโขทัยทรงสร้าง กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๘
           พระอุโบสถ และพระวิหารเป็นสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา ไม่ทราบประวัติความเป็นมาที่ชัดเจนได้มีการบูรณะ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๕ ภายในพระอุโบสถมีพระประธานเป็นพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย ศิลปะแบบอู่ทองได้มาจากเมืองสรรคบุรี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้า ฯ ให้อัญเชิญมาไว้ เป็นพระหล่อแบบช่างแม่น้ำนครชัยศรี มีรอยพระพุทธบาทประดิษฐานอยู่ในพระวิหาร สร้างด้วยศิลามีลวดลายสลักเป็นรูปกลมตามวงจักร สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ด้านหลังพระวิหารมีซากพระเจดีย์อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมมากเหลืออยู่เพียงฐานก่ออิฐถือปูน สันนิษฐานว่าเป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง มีสถาปัตยกรรมไม้เก่าแก่ก่อนสมัยอยุธยาพระเครื่องที่พบในพระเจดีย์เป็นศิลปกรรมแบบสุโขทัย นอกจากนั้นยังมีเจดีย์รายอีกหนึ่งองค์อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมเช่นกัน
    หลวงพ่อธรรมจักร

            ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารด้านหน้าวัดธรรมามูล บริเวณเชิงเขาธรรมามูล ตามตำนานกล่าวว่าหลวงพ่อธรรมจักรลอยน้ำมา เมื่อมาถึงหน้าวัดพระภิกษุ และชาวบ้านได้อัญเชิญขึ้นไปประดิษฐานในพระวิหาร หลวงพ่อธรรมจักรเป็นพระพุทธรูปศิลปะร่วมสมัยเชียงแสน- สุโขทัย สร้างด้วยปูนปั้นปางห้ามญาติ ประทับบนฐานดอกบัว ยกขึ้นเสมอพระอุระหันพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ ในฝ่าพระหัตถ์ขวาที่ยกขึ้นมีรูปธรรมจักรติดอยู่ไม่เหมือนกับพระพุทธรูปโดยทั่วไป หลวงพ่อธรรมจักรเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองชัยนาท ประชาชนชาวชัยนาท และจังหวัดข้างเคียงมีความเลื่อมใสศรัทธา และเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนทั่วไป จังหวัดชัยนาทได้นำสัญลักษณ์พระธรรมจักรมาเป็นสัญลักษณ์และตราประจำจังหวัดชัยนาท ส่วนน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาหน้าวัดธรรมามูลถือเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ นำไปใช้พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา และใช้เป็นน้ำอภิเษก


            เสมาทรายแดง  เป็นเสมาคู่สลักด้วยศิลาทรายสีแดง มีลายกระหนกประกอบ สันนิษฐานว่าสลักขึ้นในปลายสมัยอยุธยาประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๒ - ๒๓ เพราะสมัยอยุธยาในรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง นิยมสร้างวัตถุด้วยศิลาทรายแดงและเนื่องจากเป็นเสมาคู่ ซึ่งถือว่าเป็นวัดกษัตริย์สร้างจึงมีความสำคัญ และเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนอย่างกว้างขวาง


           ยอดเขาธรรมามูลมีบันไดที่สร้างขึ้นไว้ จำนวน ๕๖๕ ขั้น มีพื้นที่ลานกว้างประมาณ๕ ไร่เศษ มีวิหารหลวงพ่อนาค ซึ่งเป็นศิลปะแบบอยุธยาตอนต้น เป็นวิหารก่ออิฐถือปูนฐานสี่เหลี่ยมสองชั้นยาวประมาณ ๙ เมตร สูงประมาณ ๖ เมตร และกว้างประมาณ ๓.๕๐เมตร มีเสาสี่ต้น มีซุ้มประตูทางเข้ากว้างประมาณ ๘๐ เซ็นติเมตร ผังวิหารก่ออิฐถือปูนทึบทั้งสามด้านหลังวิหารมีซากเจดีย์หนึ่งองค์ หน้าวิหารทางด้านทิศเหนือ มีสระรูปวงรี ขนาดกว้าง๖ เมตร ยาว ๘ ศอก ห่างออกไปอีกประมาณ ๑๐๐ เมตร มีซากเจดีย์อยู่ ๑ องค์ ฐานล่างมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ๑๐ เมตร ส่วนบนมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๕ เมตร เชื่อกันว่าวิหารบนยอดเขาธรรมามูลเป็นที่ปลุกเสกน้ำมนต์ให้แก่ทหารในยามออกศึกสงคราม บริเวณลานกว้างบนยอดเขาใช้เป็นที่รวมพลของทหาร และเป็นที่ตรวจการณ์ความเคลื่อนไหวของข้าศึกในสมัยนั้น
หลวงพ่อเพชร

           หลวงพ่อเพชรเป็นพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย สมัยเชียงแสนยุคต้น เดิมถูกพอกปูนตั้งอยู่บนศาลาวัดพระบรมธาตุวรวิหารต่อมาปูนกะเทาะออกจึงรู้ว่าทำด้วยสำริด มีขนาดหน้าตักกว้าง ๗๒ เซ็นติเมตรสูงจากฐาน ๘๕ เซ็นติเมตร มีพุทธลักษณะที่งดงามมาก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสต้นได้เสด็จไปที่วัดพระบรมธาตุ เมื่อทรงเห็นพระพุทธรูปหลวงพ่อเพชรก็พอพระทัยได้ตรัสขอพระพุทธรูปหลวงพ่อเพชรต่อ พระอินทโมลี (ช้าง) เจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุเจ้าอาวาสก็ยอมให้แต่ได้กราบทูลว่า ท่านจะขออะไรสักอย่าง แต่ไม่ขอตอนนี้ ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตแล้วเจ้าอาวาสจึงลงไปกรุงเทพ ฯ ขอพระพุทธรูปหลวงพ่อเพชรกลับคืนมาที่วัดพระบรมธาตุตามเดิม
           กรมศิลปากรได้เคยนำพระพุทธรูปหลวงพ่อเพชรไปจัดแสดงในงานศิลปวัฒนธรรมไทยในประเทศต่างๆ มาแล้ว ๕ ครั้ง รวม ๕ ประเทศ
พระพุทธมหาศิลา(หลวงพ่อหินใหญ่)

           พระพุทธมหาศิลาประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถวัดกรุณาเดิม ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เขื่อนเจ้าพระยาเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สร้างด้วยศิลาทรายสีนวลอ่อน สันนิษฐานว่า สร้างในอยุธยาตอนต้นเป็นพระพุทธปฏิมากรศิลาขนาดใหญ่ และสวยงามมาก เป็นที่เคารพสัการะบูชาของชาวชัยนาทและประชาชนทั่วไป
           พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เคยเสด็จไปถวายเครื่องสัการะบูชานมัสการพระพุทธมหาศิลาในพระอุโบสถ เมื่อครั้งที่ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดเขื่อนเจ้าพระยาเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๐

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |