|
ย้อนกลับ
|
หน้าต่อไป
|
|
พัฒนาทางประวัติศาสตร์
|
มรดกทางธรรมชาติ
|
มรดกทางวัฒนธรรม
|
มรดกทางพระพุทธศาสนา
|
จังหวัดฉะเชิงเทรา
จังหวัดฉะเชิงเทรา ตั้งอยู่ในเขตภาคกลางตะวันออก อยู่ในกลุ่มจังหวัดชายทะเลตะวันออก ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไป มีที่ดินดอนเป็นบางส่วน ประกอบด้วยภูเขาเตี้ย ๆ หลายลูก บางส่วนของพื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลถึงประมาณ ๒๐ เมตร แต่ก็มีบางส่วนที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล โดยเฉพาะแถบชายฝั่งแม่น้ำบางปะกงที่น้ำทะเลท่วมถึง จึงได้มีการทำเขื่อนกั้นน้ำทะเล ทำให้เกิดพื้นที่สวนมาแต่อดีต
แม่น้ำบางปะกงไหลผ่านพื้นที่ส่วนใหญ่ของฉะเชิงเทราคือ อำเภอบางน้ำเปรี้ยว อำเภอบางคล้า กิ่งอำเภอคลองเขื่อน อำเภอเมือง ฯ อำเภอบ้านโพธิ์ แล้วไหลลงสู่อ่าวไทยที่อำเภอบางปะกง ทำให้เกิดที่ราบลุ่มภาคตะวันออกเฉียงใต้ เชื่อมติดต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นพื้นที่ที่มีการทำนามากแห่งหนึ่งของประเทศ มีชื่อเรียกว่าที่
ราบฉนวนไทย
นับได้ว่าเป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญ ของภาคตะวันออกของไทย
พื้นที่บริเวณตอนกลางค่อนไปทางตะวันออก และทางเหนือที่ติดต่อกับจังหวัดปราจีนบุรี มีพื้นที่ประมาณครึ่งหนึ่งของจังหวัดได้แก่ พื้นที่ในเขตอำเภอสนามชัยเขต อำเภอท่าตะเกียบ กับบางส่วนของอำเภอพนมสารคาม และอำเภอแปลงยาว เป็นเขตที่ดอนและที่ราบลูกฟูก ส่วนเขตที่ราบสูงและภูเขาจะอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ อยู่ในเขตอำเภอสนามชัยเขต และอำเภอท่าตะเกียบ
แหล่งน้ำตามธรรมชาติจากผิวดินหรือน้ำท่าที่สำคัญ ได้แก่
แม่น้ำบางปะกง
ซึ่งไหลผ่านพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัด นอกจากนี้ยังมีคลองต่าง ๆ ได้แก่
คลองท่าลาด
ในเขตอำเภอพนมสารคาม คลองสียัด และคลองระบม ในเขตอำเภอสนามชัยเขต และยังมีคลองที่เชื่อมต่อกรุงเทพ ฯ และจังหวัดสมุทรปราการหลายคลอง เช่น
คลองสำโรง คลองแสนแสบ คลองท่าไข่ คลองบางขนาก
และ
คลองประเวศน์บุรีรมย์
คลองดังกล่าวทั้งหมดใช้เป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งทางน้ำที่สำคัญรองลงมาจากแม่น้ำบางปะกง
สภาพภูมิประเทศของจังหวัดฉะเชิงเทราส่วนใหญ่ เหมาะแก่การเพาะปลูก พื้นที่เพาะปลูกอาจแบ่งได้กว้าง ๆ เป็นสองส่วนคือ ส่วนที่เป็นที่ราบลูกฟูกจะเหมาะแก่การทำไร่ และปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ ส่วนในที่ราบ และที่ราบลุ่มแม่น้ำบางปะกง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของจังหวัด พื้นที่ส่วนนี้อยู่ในเขตชลประทาน จึงเหมาะแก่การทำนาข้าว การปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์
ในอดีต จังหวัดฉะเชิงเทรามีความเจริญรุ่งเรืองทางด้านเกษตรกรรม ดังจะเห็นได้จากรูปปูนปั้น บนเชิงชายของอุโบสถวัดสัมปทวนนอก นับเป็นการบันทึกที่เก่าแก่ที่แสดงถึงวิถีชีวิตของบรรพบุรุษชาวแปดริ้ว ผู้เป็นเกษตรกรที่มีความสามารถทางชลประทาน รู้จักการสร้างเขื่อนกั้นน้ำทะเลบริเวณชายฝั่งแม่น้ำบางปะกงที่มีน้ำทะเลท่วมถึง คลองบางขนากเป็นคลองที่ขุดขึ้นเป็นคลองแรกเพื่อขยายพื้นที่การปลูกข้าว และใช้เป็นเส้นทางลำเลียงสินค้าข้าว คลองนี้ขุดเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘๑ ระหว่างที่ไทยทำสงครามกับญวน เพื่อใช้ประโยชน์ในทางทหาร
กลุ่มชนต่าง ๆ ในจังหวัดฉะเชิงเทรามีอยู่หลายเชื้อชาติด้วยกันคือ เขมร ลาว รามัญ และจีน โดยได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ส่วนหนึ่งถูกกวาดต้อนมา
ชาวจีน
เข้ามาครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในชั้นแรกได้เข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่ในเขตเมืองฉะเชิงเทรา และเมืองปราจีนบุรี ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ชาวจีนที่อยู่ที่เมืองฉะเชิงเทราได้ขยายตัวมาตั้งหลักแหล่ง ในเขตบ้านท่าเกวียนและ
บ้านเกาะขนุน
เพราะเป็นแหล่งชุมชนทางการค้าและการคมนาคม
บ้านท่าเกวียน
เป็นชุมทางเกวียนที่เดินทางมาจากอำเภอโคกปีบ
บ้านท่าลาด
เป็นแหล่งที่นำสินค้าของป่ามาลงเรือ เพื่อไปยังเมืองฉะเชิงเทรา
ชาวลาว
ได้อพยพมาจากเวียงจันทน์เมื่อประมาณ ๒๐๐ ปีมาแล้ว ได้มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่
บ้านเมืองกาย
อำเภอพนมสารคาม นอกจากนี้ยังตั้งถิ่นฐานที่คลองท่าไข่ อำเภอเมือง ฯ และอำเภอสนามชัยเขต มีทั้ง
ลาวพวน ลาวเวียง
และ
ลาวเมืองพลาน
ที่อำเภอสนามชัยเขตมีลาวเวียง ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านดอนท่านา ตำบลคู้ยายหมี
ชาวรามัญ
ตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณคลอง ๑๔ ตำบลดอนฉิมพลี อำเภอบางน้ำเปรี้ยว และที่ตำบลพิมพา อำเภอบางปะกง ซึ่งยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมไว้เป็นอย่างดี
ชาวเขมร
ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่
บ้านดงยาง
และ
บ้านสระสองตอน
ในเขตอำเภอพนมสารคาม ในอดีตได้มีชาวเขมรถูกกวาดต้อนเข้ามาอยู่ในเขตพนมสารคามจำนวนหนึ่ง และให้สังกัดกรมกองตามระบบในสมัยนั้น และมีหน้าที่ทำงานให้แก่ทางราชการเช่นเป็น
เลกคงเมือง
อยู่เวรประจำการ ทำงานโยธาในเมืองนั้นส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งเป็น
เลกส่วย
ส่งส่วยให้หลวง เช่น
ส่วยทองคำ ส่วยเร่ว
ยังมีชาวเขมรอยู่ที่
บ้านแปลงยาว
และ
บ้านหัวสำโรง
ในเขตอำเภอแปลงยาว ได้มีการสร้างวัดประจำหมู่บ้าน และรักษาขนบธรรมเนียมประเพณี ตลอดจนภาษาของตนไว้
|
ย้อนกลับ
|
หน้าต่อไป
|
บน
|