|
ย้อนกลับ
|
หน้าต่อไป
|
|
พัฒนาทางประวัติศาสตร์
|
มรดกทางธรรมชาติ
|
มรดกทางวัฒนธรรม
|
มรดกทางพระพุทธศาสนา
|
มรดกทางพุทธศาสนา
วัดอุดมธัญญาหาร
วัดอุดมธัญญาหาร ตั้งอยู่ที่บ้านโคกหัวข้าว ตำบลท่าด่าน อำเภอพนมสารคาม เป็นวัดที่อยู่ในสมัยอยุธยาตอนปลาย - สมัยรัตนโกสินทร์ ตัววัดเก่าตั้งอยู่ในหมู่บ้าน จากการสำรวจพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีบ้างเล็กน้อย ได้พบระฆังเก่า ๒ ใบ แขวนอยู่บริเวณลานวัด ที่โบสถ์หลังใหม่พบใบเสมาทำด้วยหินทรายแดงปักอยู่เป็นคู่
วัดโพธิรังษี
วัดโพธิรังษี ตั้งอยู่ที่บ้านเมืองกาย ตำบลพนมสารคาม อำเภอพนมสารคาม เป็นวัดที่อยู่ในสมัยอยุธยาตอนปลาย - สมัยรัตนโกสินทร์ คนในหมู่บ้านนี้เล่ากันมาว่าได้อพยพมาจากเวียงจันทน์เมื่อประมาณ ๒๐๐ ปีมาแล้ว พระประธานของวัดคือ
หลวงพ่อแดง
มีอายุกว่า ๒๐๐ ปี
จากการสำรวจพบว่าพระอุโบสถหลังเก่าอายุประมาณ ๒๐๐ ปี ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังทั้ง ๔ ด้าน มีลักษณะเป็นฝีมือช่างพื้นเมือง นอกจากนี้ยังพบหลักฐานทางโบราณคดีในบริเวณหมู่บ้าน ได้แก่เศษภาชนะดินเผา เศษเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์เหม็งตอนปลาย สันนิษฐานว่าบริเวณนี้เป็นชุมชนที่มีอายุอยู่ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
วัดท่าลาดใต้
วัดท่าลาดใต้ ตั้งอยู่ที่บ้านท่าลาดใต้ ตำบลท่าด่าน อำเภอพนมสารคาม ยังไม่สามารถกำหนดอายุได้ มีคลองท่าลาดอยู่ทางทิศเหนือ จากการสำรวจพบหลักฐานทางโบราณคดีไม่มาก บริเวณนอกวัดพบแนวคันดิน สันนิษฐานว่า เป็นถนนพระรถซึ่งเป็นแนวคันดินเตี้ย ๆ พบเศษภาชนะดินเผา เครื่องถ้วยจีนจำนวนเล็กน้อย พระประธานเก่าในวิหารสร้างมาแล้วกว่า ๑๐๐ ปี
วัดท่าลาดเหนือ
วัดท่าลาดเหนือ ตั้งอยู่ในเขตตำบลท่าด่าน อำเภอพนมสารคาม จากการสำรวจพบโบราณวัตถุหลายรายการ ได้แก่เสมาหินทรายแดง จำนวน ๘ ใบ เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองที่ยังมีสภาพสมบูรณ์ เป็นเจดีย์ศิลปะอยุธยาตอนปลาย - รัตนโกสินทร์ บริเวณหลังหอกลองพบเศษภาชนะดินเผาหลายประเภทกระจายอยู่ มีทั้งที่เป็นเนื้อดินธรรมดา และที่เป็นเครื่องสังคโลก เศษถ้วยจีนสมัยราชวงศ์เหม็งตอนปลาย
ห่างออกไปทางทิศใต้ประมาณ ๒๐๐ เมตร ฝั่งตรงข้ามกับวัดท่าลาดเหนือ มีเนินดินที่มีเจดีย์อยู่บนเนินจำนวนเนิน สันนิษฐานว่าบริเวณนี้น่าจะเป็นแหล่งชุมชนที่มีมาแล้วตั้งแต่สมัยอยุธยา - รัตนโกสินทร์
วัดแปลงยาว
วัดแปลงยาว ตั้งอยู่ที่บ้านแปลงยาว ตำบลแปลงยาว อำเภอแปลงยาว บริเวณพื้นที่หมูบ้านแปลงยาวเดิมเป็นที่อยู่อาศัยของชาวเขมร อพยพที่เข้ามาตั้งรกรากอยู่ ณ ที่นี้ และได้มีการสร้างวัดขึ้น ได้พบก้อนแลงอยู่บริเวณวัดเดิม พบลูกปัดบริเวณทุ่งนา เดิมบริเวณนี้มีคลองวังด่าน ซึ่งเป็นคลองธรรมชาติ อยู่ใกล้กับหนองโบสถ์ไปสิ้นสุดที่บ้านวังด่าน และได้มีผู้ขุดพบพระพุทธรูปในบริเวณนี้อีกด้วย
จากการสำรวจพบโบราณวัตถุหลายชนิดอยู่ในบริเวณวัดคือ ใบเสมาหินทราย ก้อนแลงสกัดเป็นรูปสี่เหลี่ยม จำนวน ๕ ก้อน กระจายอยู่รอบพระอุโบสถทางด้านทิศตะวันตก บริเวณบ่อน้ำพบเศษเครื่องถ้วยจีนและเศษเครื่องปั้นดินเผา สันนิษฐานว่าบริเวณนี้เป็นแหล่งชุมชนที่ตั้งอยู่บนเส้นทางการติดต่อระหว่าง พนมสารคาม พานทอง และพนัสนิคม
มีอายุอยู่ในสมัยทวาราวดี - อยุธยา จัดเป็นกลุ่มชนสมัยประวัติศาสตร์ตอนต้นในวัฒนธรรมทวาราวดี
วัดหัวสำโรง
วัดหัวสำโรง ตั้งอยู่ที่บ้านหัวสำโรง ตำบลหัวสำโรง อำเภอแปลงยาว พระอุโบสถสร้างเมื่อประมาณเกือบ ๑๐๐ ปีมาแล้ว มีกำแพงล้อมรอบ ตัวกำแพงทำเป็นรูปลิงแบกเรียงรายตลอดแนวทั้ง ๔ ด้าน พระประธานในพระอุโบสถเป็นศิลปสมัยรัตนโกสินทร์ บานประตูหน้าต่างเป็นไม้สลักลายต่าง ๆ คือบานประตูสลักเป็นภาพยักษ์และเทวดายืนคู่กัน หน้าต่างเป็นรูปเทพนม หลังคามีคันทวยรองรับประดับกระจกสี
จากการสำรวจสันนิษฐานว่า บริเวณวัดหัวสำโรงเป็นชุมชนที่มีอายุอยู่ในสมัยรัตนโกสินทร์ อาจเป็นชุมชนที่เป็นทางผ่านไปยังพานทอง พนัสนิคม และพนมสารคาม เป็นเส้นทางเดินเลียบชายทุ่งมาแต่สมัยโบราณ
วัดท้าวอู่ไท
วัดท้าวอู่ไท อยู่ในเขตตำบลท่ากระดาน อำเภอสนามชัยเขต เป็นวัดโบราณสมัยทวาราวดี พบอิฐสมัยทวาราวดีอยู่ ๔ แผ่น และแผ่นศิลารูปหน้าจั่ว
ในสมัยรัตนโกสินทร์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว หลวงพ่อบัวได้ทำการปฏิสังขรณ์ สร้างเจดีย์ อุโบสถ และ เสนาสนะต่าง ๆ มีหลักฐานปรากฏอยู่ คือฐานเจดีย์ โบสถ์ พระพุทธรูป และวัตถุอื่น ๆ
ต่อมาหลวงพ่อคง ได้ย้ายไปสร้างวัดใหม่ที่วัดชำป่างาม วัดท้าวอู่ไทจึงถูกทิ้งร้างอยู่กลางป่า ทำให้บรรดาสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ชำรุดทำลายไปเหลือแต่ซาก จนล่วงมาถึงปี พ.ศ. ๒๕๑๓ เจ้าอาวาสวัดชำป่างาม และประชาชนได้เข้าไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และได้ช่วยกันพัฒนาวัดท้าวอู่ไทมาจนถึงปัจจุบัน
วัดโสธรวรารามวรวิหาร
วัดโสธร ฯ อยู่ในเขตตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง ฯ เดิมชื่อ
วัดหงส์
สร้างสมัยอยุธยาตอนปลาย ต่อมาได้ถูกน้ำในแม่น้ำบางปะกง เซาะตลิ่งพังทลายไป จึงได้สร้างขึ้นใหม่ชื่อว่า
วัดเสาธง
หรือวัดเสาทอน แล้วจึงเปลี่ยนมาเป็นวัดโสธร ต่อมาได้อัญเชิญพระพุทธรูปโบราณองค์หนึ่งเรียกว่า พระพุทธโสธร มาประดิษฐานที่พระอุโบสถของวัด ตามประวัติกล่าวว่า พระพุทธโสธรได้แสดงอภินิหารลอยน้ำมาตามแม่น้ำบางปะกง เมื่อมาถึงน้ำวนใกล้วัดโสธร ก็ลอยวนอยู่ ณ ที่นั้น ชาวบ้านจึงได้อัญเชิญขึ้นมาจากน้ำ
วัดโสธรเป็นวัดราษฎรมาแต่เดิม ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๑ จึงได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร มีนามว่าวัดโสธรวรารามวรวิหาร
วัดโสธร ฯ เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของเมืองฉะเชิงเทรา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๓ ตามแบบอย่างรัชกาลก่อน ๆ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๔ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งพระราชพิธีราชาภิเษกสมโภช มีการตักน้ำจากแม่น้ำ และแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั่วพระราชอาณาจักร ที่ถือว่าเป็นแหล่งสำคัญและเป็นสิริมงคลไปตั้งทำพิธี ณ วัดสำคัญในมณฑลต่าง ๆ จำนวน ๑๐ มณฑล รวมกับพระมหาเจดีย์อีก ๗ แห่ง สำหรับมณฑลปราจีนบุรี วัดโสธรฯ ได้รับเลือกให้เป็นสถานที่ตั้งทำพิธีสำคัญดังกล่าว
วัดพยัคฆอินทาราม (วัดเจดีย์)
วัดเจดีย์ ตั้งอยู่ในเขตตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมือง ฯ สร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๑๖ มีพระธาตุเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ วิหารพระพุทธบาท เจดีย์ใหญ่ ๑ องค์ และเจดีย์เล็ก ๒ องค์ ได้ค้นพบแผ่นเงินจารึกข้อความทำด้วยเงินหนัก ๓ บาท ๒ สลึง รูปร่างสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้างประมาณ ๘ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๒๘ เซนติเมตร มีข้อความจารึกถึงประวัตินายช้าง และนายเสือ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นายเสือได้เป็นปลัดเมืองฉะเชิงเทรา นายช้างได้เป็นที่พระวิเศษฤาไชย เจ้าเมืองฉะเชิงเทรา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๖ ซึ่งเป็นเวลาใกล้เคียงกับที่นายช้างได้สร้างพระอุโบสถที่วัดโสธร ฯ นายเสือและนางอินทร์ ภรรยาได้สร้างเจดีย์องค์ใหญ่ที่ ตำบลบ้านใหม่แห่งนี้ เมื่อสร้างวัดเสร็จในปี พ.ศ. ๒๔๒๔ วัดแห่งนี้จึงได้ชื่อว่าวัดพยัคฆอินทาราม เชื่อกันว่ามาจากชื่อของสองสามีภรรยาผู้ร่วมกันสร้างวัดนี้ขึ้นมา
วัดสุคันธาราม (วัดหอมศีล)
วัดสุคันธาราม ตั้งอยู่ในเขตตำบลบางเกลือ อำเภอบางปะกง มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญคือ อุโบสถ ใบเสมา วิหาร และกำแพง
เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๕๔ - ๒๔๕๕ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว
สมเด็จ ฯ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุฒิ
กรมหลวงนครราชสีมา ได้เสด็จประพาสโดยชลชาร์ค มาที่วัดหอมศีล ทรงสำราญพระทัยในการประทับแรมในเรือที่หน้าวัดหอมศีลมาก เมื่อเสด็จกลับแล้วจึงได้ให้พระยากัลยายุทธกิจ (สอน ไกรฤกษ์) เป็นผู้สนองพระราชดำริ ในการบูรณวัดแห่งนี้ ให้หลวงประดิษฐ์นิเวศน์
(ชุ่ม ยุวเตมีย์) เป็นผู้ก่อสร้าง นายสาร เสวีวัลยา เป็นผู้ประสานงาน ได้ดำเนินการก่อสร้างพระอุโบสถ พื้นปูกระเบื้อง ฝาผนังก่อด้วยอิฐถือปูน กว้าง ๔ วา ๒ ศอก ยาว ๗ วา ๒ ศอก
วัดปิตุลาธิราชสังสฤษฏิ์ (วัดเมือง)
วัดเมือง อยู่ในเขตตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง ฯ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเล็งเห็นความสำคัญในการป้องกันพระนคร จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างป้อมปืน และกำแพงเมืองเพื่อป้องกันข้าศึก มิให้เข้ามาถึงพระนครทั้งยังเป็นที่ป้องกันให้แก่ราษฎร ณ ที่นั้น ขณะที่มีการก่อสร้างกำแพงเมืองและป้อมต่าง ๆ ก็ได้สร้างวัดขึ้นมาด้วย ชาวบ้านเรียกว่าวัดเมือง การก่อสร้างดังกล่าวได้โปรดเกล้า ฯ ให้กรมหลวงรักษรณเรศ (หม่อมไกรสร) เป็นแม่กองก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๗
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสฉะเชิงเทรา ได้พระราชทานนามวัดเมืองแห่งนี้ว่า วัดปิตุลาราชรังสฤษฏิ์ ภายในวัดประกอบด้วย
พระอุโบสถ
ก่ออิฐถือปูน หันหน้าไปทางทิศตะวันออก หลังคาเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้อง เป็นชั้นซ้อน ๓ ชั้น ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ด้านข้างเป็นชั้นซ้อน ๓ ชั้น ส่วนมุขที่ยื่นออกมาทั้งด้านหน้าและด้านหลัง หลังคาซ้อนกัน ๒ ชั้น หน้าบันเป็นลายปูนปั้นรูปพรรณพฤกษา ลงรักปิดทอง ประดับกระจก เฉพาะหน้าบันมุขด้านหน้าพระอุโบสถมีพระปรมาภิไธยย่อ จปร.
พระวิหาร
ลักษณะคล้ายพระอุโบสถ แต่มีขนาดใหญ่กว่า หันหน้าไปทางทิศเหนือ มีพระปรางค์ ๔ องค์ อยู่ที่มุมกำแพงล้อมพระวิหาร เป็นปรางค์ย่อมุมไม้สิบสอง กำแพงแก้วก่ออิฐถือปูน มีทางเข้า ๖ ด้าน มีการหักมุมกำแพงแก้วที่ล้อมพระวิหาร บริเวณมุมกำแพงแก้วด้านตะวันออกทั้งสองด้านทำเป็นระเบียงคดหลังคามุงกระเบื้อง
วัดเทพนิมิตร
วัดเทพนิมิตร ตั้งอยู่ที่ถนนศุภกิจ ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมือง ฯ วัดนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้พระราชทานพระบรมรูปโลหะหล่อไว้เป็นอนุสรณ์คราวสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๘ เป็นวัดที่เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ ขนาดใหญ่ที่สุดของจังหวัดฉะเชิงเทรา
วัดสัมปทวน
วัดสัมปทวน ตั้งอยู่ที่บ้านสัมปทวน ตำบลบางแก้ว อำเภอเมือง ฯ วัดแห่งนี้เป็นแหล่งศึกษาสภาพเมืองแปดริ้วในอดีต มีภาพพุทธประวัติตามตำนานทั้งของไทยและของจีน สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส โดยได้ประทับแรมที่วัดนี้ในคราวเสด็จตรวจการณ์คณะสงฆ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๘
วัดเทพราช
วัดเทพราช ตั้งอยู่ในเขตตำบลเทพราช อำเภอบ้านโพธิ สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยเสด็จประพาสโดยชลมาร์ค เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๑ ประทับเรือพระที่นั่งมอร์เตอร์ประพาสคลองท่าถั่ว ซึ่งต่อมามีชื่อว่าคลองประเวศน์ เสวยพระกระยาหารกลางวันที่วัดเทพราช ในปีต่อมาได้โปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าอาวาสวัดเทพราชเข้ารับพระราชทานเครื่องลังเค็ด ซึ่งประกอบด้วยตาลปัตร ปิ่นโต บาตร โถใส่ข้าว กล่องหมาก บุหรี่ กระโถน ซึ่งใช้ในงานพระศพพระราชโอรส คือพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอุรุพงษ์รัชสมโภชเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๒ ของเหล่านี้ยังเก็บรักษาไว้ในพระอุโบสถของวัดมาถึงปัจจุบัน
วัดปถวีปัพตาราม (วัดเขาดิน)
วัดปถวี ฯ ตั้งอยู่ที่บ้านเขาดิน ตำบลบางผึ้ง อำเภอบางปะกง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จทอดพระเนตรวัดนี้เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๒ ภายในวัดมีมณฑป ภูเขาและถ้ำ มณฑปเป็นทรงสี่เหลี่ยมก่ออิฐสันนิษฐานว่า สร้างสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
วัดบ้านกล้วย
วัดบ้านกล้วย ตั้งอยู่ที่บ้านกล้วย ตำบลคลองเขื่อน กิ่งอำเภอคลองเขื่อน ลักษณะเป็นมณฑปฐานสูงมีเจดีย์ราย ๓ ด้าน มีทางขึ้นลง ๒ ทาง สันนิษฐานว่าสร้างสมัยธนบุรี - รัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยช่างชาวจีนเป็นผู้สร้าง เพราะบริเวณหลังคามีถ้วยชามสังคโลกประดับติดอยู่เป็นจำนวนมาก
วัดสายชล ณ รังษี (วัดแหลมบน)
วัดสายชล ฯ ตั้งอยู่ในเขตตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมือง ฯ สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับอิทธิพลทางด้านรูปแบบจากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) หน้าบันพระอุโบสถเป็นรูปแกะสลักนารายณ์ทรงครุฑ
ประวัติการสร้างวัดสายชล ฯ มีอยู่ว่าชาวจีนสามตระกูลแซ่ ได้แก่ แซ่โง้ว แซ่ลิ้ม และแซ่ตัน ร่วมกันสร้างวัดนี้ขึ้น โดยเริ่มดำเนินการเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘๕ สิ่งก่อสร้างที่สำคัญคือ พระอุโบสถหลังเก่าก่ออิฐถือปูนหลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือช่างชาวลาว หน้าบันเป็นลายกนก พระนารายณ์ทรงครุฑ สลักด้วยไม้สักสวยงาม ช่อฟ้า ใบระกา เป็นไม้สักลงรัก ติดกระเบื้องสวยงาม เป็นเลิศในศิลปกรรมไทย ภายในพระอุโบสถมีจิตรกรรมฝาผนังเรื่องราวพุทธประวัติ
|
ย้อนกลับ
|
หน้าต่อไป
|
บน
|