| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

มรดกทางธรรมชาติ

            จังหวัดฉะเชิงเทรามีป่าสงวนแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่สำคัญ ดังนี้
ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแควระบมและป่าสียัด
            อยู่ในเขตอำเภอพนมสารคาม อำเภอสนามชัยเขต และอำเภอท่าตะเกียบ ปัจจุบันมีสภาพป่าเหลืออยู่ประมาณ ๗๔๕,๕๐๐ ไร่ เป็นส่วนหนึ่งของป่าพนมสารคาม ซึ่งในอดีตมีอาณาเขตกว้างใหญ่ติดต่อกับป่าในประเทศกัมพูชา ป่าเขาสอยดาวของจังหวัดจันทบุรี และป่าเขาชะเมาของจังหวัดระยอง อุดมสมบูรณ์ด้วยไม้มีค่าและได้ชื่อว่า เป็นพื้นที่ที่มีสัตว์ป่าชุกชุมที่สุดในประเทศ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของแม่น้ำบางปะกง ลำธารที่ไหลลงสู่แม่น้ำบางปะกง คือ คลองระบม คลองสียัด และคลองตะเกรา ทางด้านทิศตะวันออกบริเวณเทือกเขาสิบห้าชั้น เป็นต้นน้ำลำธารของคลองพระสทึงใหญ่ ที่ไหลลงสู่แม่น้ำปราจีนบุรี ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของแม่น้ำบางปะกง
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน
            ป่าเขาอ่างฤาไน นับว่าเป็นป่าสมบูรณ์ผืนสุดท้ายของภาคตะวันออก มีพื้นที่ประมาณ ๖๔๔,๐๐๐ ไร่ มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ ๕ จังหวัดคือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และปราจีนบุรี เป็นป่ากลุ่มต่ำที่มีขนาดใหญ่และสมบูร์ที่สุดในประเทศไทย และด้วยความสมบูรณ์ของผืนป่า ทำให้เป็นที่พักพิงของสัตว์ป่าเป็นจำนวนมาก และหลายประเภท
            เขาอ่างฤาไนมีน้ำตกที่สวยงามอยู่ ๒ แห่งคือ น้ำตกอ่างฤาไน หรือน้ำตกบ่อทอง เกิดจากคลองหมากบนเขาอ่างฤาไน ด้านที่อยู่ทางอำเภอเขาตะเกียบ บริเวณหุบเขาร่มรื่นและเย็น มีสายน้ำพุ่งออกจากช่องเขาผ่านลงมาตามรากไทรเป็นฝอยอยู่ตลอดทั้งปี  น้ำตกเขาตะกรุม เกิดจากคลองกัดตะนาวใหญ่บนเขาตะกรุม ด้านอำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดปราจีนบุรี มีความสูงชัน และสวยงามมากในฤดูฝน
            เขาอ่างฤาไน มีพืชพันธุ์ทางเศรษฐกิจหลายชนิด เช่น ลำไย ลางสาด ลิ้นจี่ มะไฟ กระท้อน มะม่วง ระกำ ฯลฯ นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งค้นคว้าทางวิชาการ เป็นที่ตั้งของสถานีวิจัยสัตว์ป่าแห่งแรกของภาคตะวันออก และเป็นแหล่งที่สองของประเทศไทย รองจากสถานีวิจัยสัตว์ป่านางรำที่ห้วย ที่ห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี
ป่าชายเลน
            ป่าชายเลนอยู่ในเขตอำเภอบางปะกง และอำเภอบ้านโพธิ์ บางครั้งเรียกว่าป่าเลนน้ำเค็ม หรือป่าโกงกาง มีพันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ แสม โกงกาง ลำแพน ตะบูน และต้นจาก และมีไม้พุ่มขนาดเล็ก เช่น เหงือกปลาหมอ สาบเสือ และเถาวัลย์ อยู่ทั่วไป
แม่น้ำบางปะกง
            แม่น้ำบางปะกงต้นน้ำเกิดจากทิวเขาสันกำแพง ไหลผ่านจังหวัด ปราจีนบุรี นครนายก และฉะเชิงเทรา แล้วไหลลงสู่อ่าวไทยในเขตอำเภอบางปะกง รวมความยาวประมาณ ๒๓๐ กิโลเมตร แม่น้ำบางปะกง ไหลผ่านหลายอำเภอในจังหวัดฉะเชิงเทรา คือ อำเภอบางน้ำเปรี้ยว กิ่งอำเภอคลองเขื่อน อำเภอบางคล้า อำเภอเมือง ฯ อำเภอบ้านโพธิ์ และอำเภอบางปะกง
            การที่ได้ชื่อว่าบางปะกง มีข้อสันนิษฐานว่าน่าจะมาจากชื่อปลาชนิดหนึ่ง ซึ่งเคยมีอยู่ชุกชุมในแม่น้ำสายนี้ ชาวบ้านเรียกว่าปลาอีกง และเรียกชื่อลำน้ำว่าบางปลาอีกง ต่อมาได้กลายเป็นบางปะกง ที่ดินในลุ่มน้ำบางปะกงเป็นดินร่วน เหมาะแก่การเพาะปลูกมากที่สุด ตอนกลางและตอนปลายของลุ่มน้ำ เป็นแหล่งชุมชนเกษตรกรรมที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ปัจจุบันลุ่มน้ำบางปะกงยังคงผลิตอาหาร เลี้ยงดินแดนทั่วทั้งภูมิภาคตะวันออก และเป็นแหล่งส่งออกผลิตผลทางการเกษตรที่สำคัญของไทย
เขาหินซ้อน
            เขาหินซ้อนเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่โดดเด่น และสวยงาม อยู่ในเขตอำเภอพนมสารคาม เป็นภูเขาที่ไม่สูงมาก ประกอบไปด้วย ก้อนหินขนาดใหญ่รูปทรงต่าง ๆ วางซ้อนกันอยู่ทั่วบริเวณ
            ปัจจุบันพื้นที่ตำบลเขาหินซ้อนเป็นที่ตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน นับว่าเป็นศูนย์พัฒนาตามโครงการพระราชดำริระดับเขต เป็นแหล่งแรกของประเทศไทย มีการปรับปรุงดินด้วยปุ๋ยธรรมชาติ มีการปลูกพืชหมุนเวียน พืชกันลม และพืชที่มีรากอุ้มน้ำ แปลงปลูกหญ้า สวนสมุนไพร รวมทั้งพืชทดลองต่าง ๆ ทางด้านปศุสัตว์มีการทดลองเลี้ยงวัวนม และสุกร ด้านประมงมีการเพาะเลี้ยงปลา

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |