| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

มรดกทางวัฒนธรรม

แหล่งโบราณคดี
           แหล่งโบราณคดีหัวข้าว  ตั้งอยู่ที่บ้านโคกหัวข้าว ตำบลท่าด่าน อำเภอพนมสารคาม จัดอยู่ในสมัยทวาราวดี - อยุธยา มีเนินโบราณอยู่สองแห่งกลางทุ่งนา อยู่ทางทิศตะวันตกของวัดเก่า ตัวเนินมีความสูงกว่าพื้นที่โดยรอบประมาณ ๔ เมตร ตัววัดเก่าตั้งอยู่ในหมู่บ้าน พบหลักฐานทางโบราณคดีคือ ระฆังหินปูน จำนวน ๓ ชิ้น ระฆังหินมีรูเจาะไว้ตรงกลาง พบชิ้นส่วนประติมากรรมทำจากหินทรายสีเขียว และเครื่องถ้วยสมัยราชวงศ์เหม็งตอนปลาย
            ที่เนินดินทั้งสองแห่งดังกล่าวเป็นเนินอาคารโบราณสถาน พบเศษอิฐกระจายอยู่ทั่วไปเนื้ออิฐมีส่วนผสมของแกลบ ตัวโบราณสถานจมอยู่ใต้ดิน ไม่สามารถวัดขนาดได้ พบเศษภาชนะดินเผา มีทั้งแถบเนื้อดินธรรมดา เนื้อหิน และเนื้อแกร่ง ประเภทเนื้อดินธรรมดา และเนื้อหินจะพบที่เป็นภาชนะประเภทไหมากที่สุด ส่วนที่เป็นเนื้อแกร่งจะเป็นเครื่องถ้วยชามจีน สมัยราชวงศ์เหม็งตอนปลาย
            มีเนินโบราณสถานอีกแห่งหนึ่งอยู่ทางด้านเหนือห่างออกไปประมาณ ๕๐๐ เมตร เป็นเนินดินโบราณสถานเหมือนแห่งแรก พบภาชนะดินเผาเนื้อดิน แบบเนื้อหินเป็นภาชนะประเภทไห สมัยอยุธยาพบอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม พบว่าการเรียงอิฐเรียงแบบด้านยาวสลับด้านสั้นไปตลอด และในแนวดิ่งก็เรียง หัวอิฐสลับกันตลอด ซึ่งเป็นแบบที่พบมากในการก่อสร้างโบราณสถานในสมัยทวาราวดี สันนิษฐานว่าบริเวณนี้น่าจะเป็นชุมชนมาตั้งแต่สมัยทวาราวดี ถึงสมัยอยุธยาตอนปลาย
            แหล่งโบราณคดีบ้านบึงกระจับ  ตั้งอยู่ที่บ้านบึงกระจับ ตำบลเมืองเก่า อำเภอพนมสารคาม มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๖ เมตร พื้นที่โดยรอบเป็นที่ราบ จากการสำรวจพบว่ามีแนวถนนดินมา จากทางบ้านท่าลาดใต้มาถึงบ้านบึงกระจับ บนแนวถนนพบเศษภาชนะดินเผาแบบเนื้อดิน และมีแนวสะพานเก่าของถนนพระรถให้เห็นบ้างเล็กน้อย บริเวณรอบ ๆ บึงกระจับได้พบเศษภาชนะเครื่องปั้นดินเผากระจายอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะบริเวณริมบึงด้านทิศตะวันออกและทิศใต้ พบเศษเครื่องปั้นดินเผากระจายอยู่ในรัศมีประมาณ ๒ กิโลเมตร มีทั้งที่เป็นแบบเนื้อดิน และที่เป็นเครื่องถ้วยจีน เครื่องสังคโลก และยังพบเศษดินเผาขนาดใหญ่อีกจำนวนหนึ่ง
            จากหลักฐานที่พบจึงสันนิษฐานได้ว่า น่าจะเป็นชุมชนสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๓ ระหว่างสมัยทวาราวดี ถึงสมัยอยุธยา บริเวณนี้อาจจะเป็นจุดพักระหว่างทางในสมัยโบราณ เนื่องจากบึงกระจับเป็นแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ และมีร่องรอยแนวถนนโบราณจากบ้านท่าลาดใต้จนถึงบึงกระจับ ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างเมืองศรีมโหสถและเมืองพระรถ
            แหล่งโบราณคดีบ้านสระสองตอน  ตั้งอยู่ที่บ้านสระสองตอน ตำบลหนองแหน อำเภอพนมสารคาม เป็นชุมชนสมัยทวาราวดี ถึงสมัยอยุธยา อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ ๑๐ เมตร มีสระน้ำขนาดเล็กกระจายอยู่ทั่วบริเวณ จากการสำรวจพบว่าลักษณะของสระมีแนวศิลาแลงคั่นอยู่ จึงเรียกว่าสระสองตอน เดิมมีแนวถนนโบราณจากบ้านหัวสำโรง อำเภอแปลงยาว ผ่านสระสองตอน
            นอกจากนี้ยังพบบ่อน้ำโบราณที่เจาะลึกลงไปในพื้นศิลาแลง บ่อมีลักษณะสี่เหลี่ยมค่อนข้างกลมมีน้ำขังอยู่ที่ก้นบ่อ ยังใช้ประโยชน์ได้ถึงปัจจุบัน สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นแหล่งน้ำของชุมชนในสมัยรัตนโกสินทร์
            แหล่งโบราณคดีบึงไผ่ดำ  ตั้งอยู่ที่บ้านบึงไผ่ดำ ตำบลศาลาแดง อำเภอบางน้ำเปรี้ยว เป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เป็นที่ลุ่มนาข้าว พื้นที่โดยทั้วไปมีความสูงประมาณ ๑ - ๓ เมตร จากระดับน้ำทะเล ได้ขุดพบโบราณวัตถุที่เป็นเครื่องมือหิน หินลับ ภาชนะดินเผา กระสุนดินเผา กระดูกสัตว์ เปลือกหอยทะเล ทำให้สันนิษฐานได้ว่าบริเวณบึงไผ่ดำนี้เคยเป็นถิ่นที่อยุ่อาศัยของมนุษย์มานาน ไม่น้อยกว่า ๑,๐๐๐ ปีมาแล้ว
            แหล่งโบราณคดีโคกพนมราบ  ตั้งอยู่ที่บ้านพนมราบ ตำบลสิบเจ็ดศอก อำเภอบ้านโพธิ์ เป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ (สมัยหินใหม่) มีลักษณะเป็นเนินดินเตี้ย ๆ บนที่ราบทุ่งนา เนินดินเป็นรูปสี่เหลี่ยมมีพื้นที่ประมาณ ๒ ไร่ จากการสำรวจพบว่า สมัยแรกบริเวณนี้ เดิมบริเวณนี้เป็นหาดชายเลน ต่อมาลมพัดเอาตะกอนมาทับถมเป็นเนินดินเตี้ย ๆ และเริ่มมีต้นไม้ชายเลนขึ้น ทำให้มีตะกอนทับถมมากขึ้นตามลำดับ
            จากหลักฐานที่พบแสดงว่าเนินดินแห่งนี้เป็นแหล่งโบราณคดีขนาดเล็ก ที่มีความสัมพันธ์กับแหล่งโคกพนมดี ซึ่งเป็นแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์สมัยหินใหม่ มีอายุอยู่ประมาณ ๒,๐๐๐ - ๔,๐๐๐ ปีมาแล้ว
แหล่งประวัติศาสตร์
            บ้านปากด่าน  อยู่ในเขตตำบลแปลงยาว อำเภอแปลงยาว สันนิษฐานว่า เป็นเส้นทางการเดินทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสิน จากบริเวณใกล้ปากน้ำโจ้โล้ และเดินทัพเข้าสู่ป่าทึบโดยอาศัยทางเดินในป่า ซึ่งเป็นทางเดินของสัตว์ใหญ่คือ ช้างที่ลงมากินหญ้า บริเวณที่ราบกว้าง ตั้งแต่บึงกระจับ ทุ่งรวงทอง แปลงยาว และบริเวณที่เป็นที่ตั้งวัดปากด่าน ซึ่งมีแนวถนนโบราณคือ ทางช้างเดินเข้าสู่เมืองชลบุรี ระยอง และจันทบุรีตามลำดับ
            วัดปากน้ำโจ้โล้  อยู่ในเขตตำบลบางตลาด อำเภอบางค้า สร้างสมัยอยุธยาตอนปลาย ปากน้ำโจ้โล้เป็นบริเวณที่ตั้งทัพของพม่า ที่ยกกำลังทัพบกและทัพเรือไปรบกับ กองทัพสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช  สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงมีชัย จึงโปรดให้สร้างเจดีย์ไว้เป็นอนุสรณ์
            จากการสำรวจพบมณฑปศิลปแบบอยุธยา - รัตนโกสินทร์ เจดีย์บรรจุอัฐิขนาดเล็ก ๒ องค์ และพบเครื่องถ้วยที่ทางวัดเก็บรักษาไว้ มีทั้งประเภทลายเบญจรงค์ เครื่องลายคราม และสังคโลก สันนิษฐานว่าเป็นชุมชนในสมัยอยุธยา - ธนบุรี
            วัดโพธิ์บางคล้า  อยู่ในเขตเทศบาลอำเภอบางคล้า เป็นวัดในสมัยอยุธยาตอนปลาย เดิมมีโบสถ์เก่าอยู่หลังหนึ่ง ไม่ปรากฏว่าพบโบราณวัตถุใด ๆ จากการสำรวจพบมณฑปมีลักษณะเป็นมณฑปรูปทรงจตุรมุข ก่ออิฐ ฉาบปูน บริเวณส่วนฐานมีพระพุทธรูป ๓ องค์  องค์หนึ่งเป็นพระพุทธรูปปางไสยาสน์ หล่อด้วยทองเหลืองศิลปรัตนโกสินทร์ อีกสององค์เป็นพระปูนปั้นปางมารวิชัย ศิลปอยุธยาตอนปลาย
            จากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบ สันนิษฐานว่าอยู่ในสมัยอยุธยาตอนปลาย - สมัยรัตนโกสินทร์
ย่านประวัติศาสตร์
            หมู่บ้านบึงไผ่ดำ  อยู่ในตำบลศาลาแดง อำเภอบางน้ำเปรี้ยว บึงไผ่ดำเป็นแหล่งน้ำทางการเกษตร และเส้นทางคมนาคม ของชุมชนชาวไผ่ดำ ต่อมาเกิดตื้นเขินจึงได้มีการขุดลอก เป็นระยะทางประมาณ ๓.๕ กิโลเมตร จากคลอง ๑๗ ตามแนวบึงเดิมไปทางทิศตะวันตก ไปสิ้นสุดที่คลอง ๑๕ ได้พบเครื่องมือเครื่องใช้ที่เป็นภาชนะดินเผา  เครื่องมือหิน ดังรายละเอียดที่กล่าวมาแล้วในแหล่งประวัติศาสตร์บึงไผ่ดำ บึงไผ่ดำจึงเป็นย่านประวัติศาสตร์ ที่มีชุมชนมาอาศัยอยู่ ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน คลองแสนแสบช่วงที่ไหลผ่านบ้านบึงไผ่ดำเรียกว่า คลองไผ่ดำ ปัจจุบันตังบึงซึ่งแบ่งออกเป็นบึงใหญ่ และบึงขวาง ได้มีการขุดลอกให้เชื่อมต่อกันตลอด เพื่อความสะดวกในการคมนาคมทางน้ำ
            หมู่บ้านท่าถั่ว  อยู่ในเขตตำบลบางกรูด อำเภอบ้านโพธิ์ เป็นหมู่บ้านบริเวณแรก ๆ ที่ชาวจีนอพยพมาตั้งหลักแหล่งในเมืองไทย เกิดเป็นชุมชนตรงข้ามโรงสีล่าง เชื่อกันว่าหมู่บ้านนี้อาจจะเคยเป็นบ่อนการพนันเล่นถั่วมาก่อน คลองท่าถั่วที่ผ่านหมู่บ้านต่อมาได้ชื่อว่า คลองประเวศบุรีรมย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระราชหัตถเลขาไว้ตอนหนึ่งมีความว่า คลองนี้น้ำไม่สู้แรงเหมือนคลองบางขนาก ดูเป็นคลองที่บริบูรณ์ดี มีบ้านเรือนรายสองฟาก มีเรือนฝากระดานก็มาก ลักษณะเดียวกันกับคลองแสนแสบ
            ย่านชุมชนเมืองแปดริ้ว  ในปี พ.ศ. ๒๓๗๗ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ย้ายที่ว่าการเมืองฉะเชิงเทรา จากเดิมที่ปากโจ้โล้ มาสร้างป้อมกำแพงเมืองใหม่ที่บ้านท่าไข่ แขวงเมืองฉะเชิงเทรา เพื่อเป็นปราการในการป้องกันเมืองหลวง และแสดงอาณาเขตของเมืองด้วย ดังนั้นชุมชนเก่าแก่ที่เกิดพร้อมกำแพงเมืองฉะเชิงเทรา จึงน่าจะเป็นชุมชนที่ค่อย ๆ ขยายตัวออกไปจากชุมชนปากคลองบางขนาก เชื่อมปากน้ำโจ้โล้ ลงมาเชื่อมต่อบริเวณวัดแหลมสายชล ณ รังษี
            ต่อมาได้ย้ายมณฑลปราจีนมาตั้งที่จังหวัดฉะเชิงเทรา และได้ก่อสร้างศาลารัฐบาลมณฑลปราจีนขึ้นเป็นที่ทำการในปี พ.ศ. ๒๔๔๙ จากนั้นก็ได้ใช้เป็นที่ทำการศาลากลางจังหวัดฉะเชิงเทรา มีการสร้างบ้านพักข้าราชการ ทำให้เกิดบ้านเรือน และชุมชนขึ้นในบริเวณโดยรอบ และใกล้เคียง และเกิดมีตลาดขึ้นหลายแห่ง เช่น ตลาดบ้านใหม่ ตลาดบ่อบัว ตลาดทรัพย์สิน และตลาดหน้าเมือง ได้มีการวางผังเมืองมาตั้งแต่สมัยย้ายที่ทำการมณฑลปราจีน อาคารบ้านเรือนมีลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมร่วมสมัย โดยใช้เป็นที่พักอาศัยและค้าขายในที่เดียวกัน

            ปากคลองบางขนาก  คลองบางขนากขุดในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยขุดตั้งแต่หัวหมากไปจนถึงบางขนาก เพื่อใช้เป็นเส้นทางลำเลียงเสบียงอาหาร และยุทโธปกรณ์ เพื่อใช้ในการทำศึกกับญวน เมื่อเสร็จศึกญวนแล้วทั้งสองฝั่งคลอง ได้มีไร่นาเกิดขึ้นเป็นอันมาก และได้ใช้คลองเป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำของเมืองฉะเชิงเทรา แลเมืองใกล้เคียง ให้ติดต่อกับพระนครได้สะดวกดีขึ้น การขุดคลองสายนี้ยังเป็นแนวทางให้มีการสร้างระบบชลประทานในรัชกาลต่อมาอีกด้วย ได้เกิดชุมชนที่บริเวณปากคลองบางขนาก
            หมู่บ้านหัวสำโรง  อยู่ในเขตตำบลหัวสำโรง อำเภอแปลงยาว เป็นชุมชนชาวเขมรที่อพยพเข้ามาเมื่อครั้งเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (ชุ่ม อภัยวงศ์) อพยพมาจากกัมพูชา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๐ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ชุมชนแห่งนี้ได้ตั้งบ้านเรือน และสร้างวัดประจำหมู่บ้านคือวัดหัวสำโรง ปัจจุบันชาวไทยเชื้อสายเขมรในชุมชนนี้ยังคงใช้ภาษาเขมรเป็นภาษาที่ ๑ ในหมู่บ้านของตน
            ในอดีต หมู่บ้านแห่งนี้ติดต่อกับหมู่บ้านอื่นด้วยคลองท่าทองหลาง ที่ไหลมาจากอำเภอบางคล้า เคยมีเรือสินค้าเข้ามาค้าขายที่ตำบลหัวสำโรง หมู่บ้านที่จอดเรือสินค้าเรียกว่า บ้านท่าเรือ ยังปรากฏอยู่ถึงทุกวันนี้ เส้นทางคมนาคมอีกสายหนึ่งคือ ถนนส่วย เป็นถนนติดต่อในหมู่บ้านซึ่งทอดยาวไปถึงบ้านท่าเรือ ถนนสายสำโรง - สัตหีบที่ตัดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๖ ได้สร้างทับถนนส่วยบางตอน ส่วนที่ยังเหลืออยู่คือถนนสายจากบ้านสำโรงไปถึงหมู่บ้านหนองแหน แต่ก็ถูกคลองชลประทานขุดผ่าน คำว่าถนนส่วยหมายถึงถนนที่ชาวบ้านใช้แรงงานสร้างถนนแทนการเสียภาษี
โบราณสถาน และโบราณวัตถุ
            สระมหาชัย  อยู่ที่บ้านบ้านนา ตำบลท่ากระดาน อำเภอสนามชัยเขต เป็นสระน้ำโบราณ กว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๑๒๐ เมตร ลึก ๓ เมตร เป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ ชาวบ้านเรียกหนองอิด เชื่อกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์สามารถคุ้มครองป้องกันอันตรายได้ เป็นหนึ่งในสามของแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัดฉะเชิงเทรา
            ศาลากลางจังหวัดฉะเชิงเทรา (หลังเดิม)  สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๙ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยใช้เป็นที่ว่าราชการมณฑลปราจีนบุรี ต่อมาได้ใช้เป็นที่ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นอาคารชั้นเดียวก่อด้วยอิฐ ผังอาคารเป็นอาคารที่ชักปีกออกสองข้างมีทางเข้าทั้งสี่ด้าน ด้านหน้าทำเป็นซุ้มประตูยื่นออกมา หน้าจั่วปั้นเป็นรูปครุฑตราแผ่นดิน ทางเข้าด้านหน้าทำเป็นรูปประตูวงโค้ง ๓ วง ด้านล่างเป็นระเบียงตามเสาติดผนัง ช่องระบายลมเป็นไม้ฉลุลาย หลังคาเป็นโครงไม้มุงด้วยกระเบื้องเกล็ดเต่า มีระเบียงโปร่งทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ด้านข้างทั้งสองด้านปิดทึบ ลักษณะของผนังอาคาร และรูปแบบของลายปูนปั้นที่ประดับ น่าจะเลียนแบบศิลปะตะวันตก สมัย Neo - Classic ของอังกฤษ
            ป้อมและกำแพงเมืองฉะเชิงเทรา  เป็นโบราณสถานสมัยรัตนโกสินทร์ ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา อำเภอเมือง ฯ สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. ๒๓๗๗ โดยมีกรมหลวงรักษารณเรศเป็นแม่กองก่อสร้าง เพื่อรักษาปากน้ำบางปะกง กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ปัจจุบันตัวกำแพงยังคงสภาพเดิม นับว่าเป็นโบราณสถานสำคัญของเมืองฉะเชิงเทรา ด้านหน้าแนวกำแพงเป็นสวนสาธารณะริมฝั่งแม่น้ำบางปะกง
            พระตำหนักกรมหมื่นมรุพงศ์สิริพัฒน์  อยู่ในเขตตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง ฯ ปัจจุบันคือจวนผู้ว่าราชการจังหวัด มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์เช่นเดียวกับศาลากลางจังหวัดหลังเก่า หรือศาลาว่าการมณฑลปราจีน พระตำหนัก ฯ เป็นเรือนไม้สองชั้นใช้เป็นที่พำนักของสมุหเทศาภิบาลในยุคนั้น นับเป็นก้าวแรกของการสร้างบ้านพักข้าราชการขชองเมืองแปดริ้ว
            พระตำหนักแห่งนี้เคยเป็นที่ประทับแรมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในคราวเสด็จประพาสเมืองฉะเชิงเทราถึงสองครั้ง และปัจจุบันยังใช้เป็นที่ประทับทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ยามเสด็จเยือนฉะเชิงเทรา
ภาษาและวรรณกรรม
            แผ่นเงินจารึกเจดีย์ใหญ่  พบที่วัดพยัคฆ์อินทาราม (วัดเจดีย์) ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมือง ฯ มีขนาดกว้าง ๘ เซนติเมตร ยาว ๒๘ เซนติเมตร ข้อความในจารึกเป็นความเรียงร้อยแก้ว กล่าวถึงประวัติของนายช้าง และนายเสือ สองพี่น้องผู้มีต้นตระกูลเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยอยุธยา ได้ทันเห็นการเคลื่อนย้ายและเปลี่ยนแปลงของแปดริ้วในสมัยรัตนโกสินทร์ ทั้งสองคนเป็นเชื้อวงศ์เจ้าเมืองกรมการมาแต่สมัยอยุธยา รับราชการมาไม่ขาดเชื้อวงศ์ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว นายช้างได้เป็นพระวิเศษฤาชัย เจ้าเมือง นายเสือได้เป็นพระเกรียงไกรกระบวนยุทธ ปลัดเมืองฉะเชิงเทราในปี พ.ศ. ๒๔๑๖ พระยาวิเศษฤาชัยได้สร้างพระอุโบสถที่วัดโสธร พูนดินเป็นถนนตั้งแต่เมืองฉะเชิงเทรา ๒๖ เส้น มาถึงพระอุโบสถวัดโสธร ปลูกศาลา ขุดสระ พระเกรียงไกรขบวนยุทธ สร้างเจดีย์จานสำเร็จแล้วพร้อมกัน เป็นเงินทั้งหมด ๓๕ ชั่ง เหมือนกับเทพยดาเจ้าดลบันดาลให้ได้ พระบรมธาตุองค์หนึ่งที่หน้าวัดพระเชตุพน ได้ชักชวนพระหลวงขุนหมื่นกรมการอาณาประชาราษฎร แห่พระบรมธาตุทางเรือ มาสถิตย์บรรจุไว้ที่ พระเกรียงไกรขบวนยุทธสร้าง ณ บ้านสัมปทวน เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๘
            ตำนานหลวงพ่อพุทธโสธร   มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่าในสมัยล้านช้าง ล้านนา มีเศรษฐีสามพี่น้อง ซึ่งอาศัยอยู่ทางเหนือ มีจิตใจเลื่อมใสศรัทธาจะสร้างพระพุทธรูป เพื่อเสริมสร้างบารมี และเพิ่มพูนผลานิสงฆ์ จึงได้เชิญพราหมณ์มาทำพิธีหล่อพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ตามวัดเกิดของตน อันมีปางสมาธิ ปางสะดุ้งมาร และปางอุ้มบาตร แล้วทำพิธีบวงสรวงชุมนุมเทวดา ทำพิธีปลุกเสกแล้วอัญเชิญเข้าสู่วัด
            ในเวลาต่อมาบ้านเมืองเกิดยุคเข็ญ พม่ายกมาตีเมืองแตก พระพุทธรูปทั้งสามองค์ จึงแสดงอภินิหารลอยมาตามแม่น้ำปิง ล่องลงมาทางใต้ตลอด ๗ วัน จนถึงแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณที่ปัจจุบันเรียกว่า สามเสน จึงได้แสดงอภินิหารลอยมาให้ชาวบ้านเห็น ชาวบ้านเป็นจำนวนมาก ได้ทำการฉุดพระพุทธรูปทั้งสามองค์อยู่สามวันสามคืนก็ฉุดไม่ขึ้น ตำบลนั้นจึงได้ชื่อ ว่าสามแสน และได้กลายเป็นสามเสนในภายหลัง
            พระพุทธรูปทั้งสามองค์ ลอยเข้าสู่พระโขนง ลัดเลาะไปถึงแม่น้ำบางปะกง ผ่านคลองที่ปัจจุบันเรียกว่า คลองชักพระ ก็ได้แสดงอภินิหารลอยขึ้นมาให้ชาวบ้านได้เห็นอีกครั้ง ชาวบ้านเป็นจำนวนมากพยายามชักพระขึ้นจากน้ำแต่ไม่สำเร็จ คลองนี้จึงได้นามว่าคลองชักพระ ต่อมาพระพุทธรูปทั้งสามองค์ได้ลอยทวนน้ำต่อขึ้นไปทางหัววัดอีก สถานที่นั้นจึงเรียกว่า วัดสามพระทวน ต่อมาได้กลายเป็นวัดสัมปทวน พระพุทธรูปทั้งสามองค์ได้ลอยไปตามน้ำบางปะกง เลยผ่านวัดโสธรไปจนถึงคุ้งน้ำใต้วัดโสธร แล้วแสดงอภินิหารให้ชาวบ้านเห็นอีก ชาวบ้านได้ช่วยกันฉุด แต่ก็ไม่สำเร็จ จึงเรียกหมู่บ้านและคลองนั้นว่า บางพระ ต่อจากนั้นก็ลอยทวนน้ำวนจึงเรียกสถานที่นั้นว่า แหลมหัววน และคลองก็ได้ชื่อว่า คลองสองพี่น้อง
            ต่อจากนั้นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ได้แสดงอภินิหารลอยไปถึงแม่น้ำแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม ชาวประมงได้ช่วยกันอัญเชิญท่านขึ้นประดิษฐานไว้ ณ วัดบ้านแหลม และได้ชื่อว่า หลวงพ่อบ้านแหลม พระพุทธรูปองค์ต่อมา ได้แสดงปาฏิหาริย์ล่องไปในคลองบางพลี ชาวบ้านได้อัญเชิญขึ้นประดิษฐานที่วัดบางพลี จังหวัดสมุทรปราการได้ชื่อว่า หลวงพ่อโตบางพลี
            ส่วนพระพุทธรูปองค์สุดท้ายคือหลวงพ่อพระพุทธโสธร ได้แสดงอภินิหารลอยมาขึ้นที่หน้าวัดหงส์ ซึ่งเป็นชื่อเดิมของวัดโสธรวรารามวรวิหาร
           นิทานพื้นบ้านเรื่องพระรถเมรี  เป็นเรื่องอันมีที่มาจากปัญญาสชาดก และทำให้เกิดชื่อ แปดริ้ว นิทานพื้นบ้านเรื่องนี้เป็นเรื่องที่คนในท้องที่ อำเภอพนมสารคามนิยมเล่า และให้ชื่อสถานที่ในท้องถิ่นตามเนื้อเรื่อง เช่น เมืองโบราณที่บ้านคูเมืองในเขตเกาะขนุนก็เรียกว่า เมืองสนาม อันเป็นเมืองของนางหลมาร แม่เลี้ยงของพระรถ ตามท้องเรื่องยักษ์ได้ฆ่านางสิบสอง แล้วลากศพไปยังท่าน้ำ บริเวณที่ศพถูกลากจึงเรียกว่าท่าลาด จากนั้นได้ชำแหละศพออกเป็นริ้ว ๆ รวมแปดริ้วด้วยกัน แล้วทิ้งศพให้ลอยไปตามลำน้ำท่าลาด ออกสู่แม่น้ำบางปะกงไปยังเมือง ฉะเชิงเทรา จึงเรียกว่าแปดริ้ว
            นอกจากนี้ยังมีลานชนไก่พระรถ ถ้ำนางสิบสอง หมอนนาง ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลดงน้อย อำเภอราชสาส์น  ซึ่งประวัติความเป็นมาของชื่อโบราณสถานไปเกี่ยวเนื่องกับนิทานพื้นบ้านเรื่องพระรถเมรี บริเวณใกล้เคียงกันนี้ยังมีถ้ำนางสิบสอง และหมอนนาง ซึ่งมีศิลา ๑๒ ก้อน เป็นหมอนของนางสิบสองในเรื่องพระรถเสน ถ้ำนางสิบสองเป็นถ้ำดินศิลาแลง ซึ่งนางยักษ์หลมารแม่เลี้ยงของพระรถจับนางสิบสองไปขังไว้ ส่วนบ้านราชสาส์น ในอำเภอราชสาส์น ซึ่งตั้งอยู่ริมลำน้ำท่าลาด ก็มีที่มาว่าเป็นที่ที่พระฤาษีอ่านสาส์นของนางหลมาร แล้วแปลงสารเสียเพื่อช่วยเหลือพระรถ

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |