| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

พัฒนาการทางประวัติศาสตร์

            ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าเมืองฉะเชิงเทราเกิดขึ้นเมื่อใด วิวัฒนาการของแผ่นดินลุ่มน้ำบางปะกงก็เป็นเช่นเดียวกับลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ที่มีแหล่งอารยธรรมโบราณสำคัญ ๆ และจากการสำรวจได้พบว่า เมืองฉะเชิงเทราเคยเป็นถิ่นที่อยู่ของมนุษย์โบราณสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และเป็นดินแดนที่เก่าแก่แห่งหนึ่งทางฝั่งทะเลด้านตะวันออกของไทย
            จากหลักฐานต่าง ๆ พอเชื่อได้ว่า เมืองฉะเชิงเทราเดิมตั้งอยู่บริเวณปากน้ำเจ้าโล้ เมืองนี้ได้มีพัฒนาการมาตามลำดับ พอประมวลได้มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ซึ่งได้มีชุมชนเกิดขึ้นมา ได้พบโบราณสถานและโบราณวัตถุ อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับเมืองฉะเชิงเทราในปัจจุบัน เช่นวัดมรกต ในเขตอำเภอศรีมโหสถ
สมัยอยุธยา
            ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่า เมืองฉะเชิงเทราตั้งขึ้นเมื่อใด มีผู้สันนิษฐานว่า น่าจะตั้งขึ้นในรัชสมัย สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ เพื่อใช้เป็นที่ระดมพลในเวลาสงคราม เช่นเดียวกับอีกหลายเมือง ทางตอนใต้ของกรุงศรีอยุธยา คือ เมืองนนทบุรี เมืองนครชัยศรี และเมืองสาครบุรี เนื่องจากในระยะนั้น บรรดาชายฉกรรจ์ได้พากันหลบหนีเข้าไปอยู่ในป่าดงเป็นจำนวนมาก
            ชื่อเมืองฉะเชิงเทรามีปรากฏอยู่ในพงศาวดารครั้งแรก ในรัชสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา ดังความตอนหนึ่งในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันทจันทนุมาศ (เจิม) ว่า  "ในขณะนั้นพระเจ้าละแวก แต่งพลมาลาดตระเวนทั้งทางบก และทางเรือเป็นหลายครั้ง และเสียชาวจันทบูร ชาวระยอง ชาวฉะเชิงเทรา ชาวนาเริ่งไปแก่ข้าศึก ละแวก เป็นอันมาก"
            ในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระองค์ได้ทรงเตรียมการยกทัพไปตีเมืองเขมร เมื่อปี พ.ศ. ๒๑๓๖ ทรงกำหนดให้พระยานครนายก เป็นแม่กอง ร่วมกับพระยาปราจีน พระวิเศษ (เจ้าเมืองฉะเชิงเทรา) และพระสระบุรี เกณฑ์คน จำนวน ๑๐,๐๐๐ คน จากเมืองนครนายก เมืองปราจีนบุรี เมืองฉะเชิงเทรา และเมืองสระบุรี ตั้งขึ้นเป็นกองทะเบียนทางบก ยกไปตั้งค่ายปลูกยุ้งฉาง รวบรวมเสบียงอาหารเตรียมไว้ที่ตำบลทำนบ เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงตีเมืองบริบูรณ์ได้แล้ว จึงโปรดเกล้า ฯ ให้เลื่อน พระวิเศษเจ้าเมืองฉะเชิงเทรา ขึ้นเป็นพระยาวิเศษ ให้คุมกองกำลังเสบียงที่เหลืออยู่รักษาเมืองบริบูรณ์ เพื่อคอยรวบรวมเสบียงส่งไปสนับสนุนกองทัพที่จะยกไปตีเมืองละแวกต่อไป
            ในปี พ.ศ. ๒๓๐๙ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งขณะนั้นเป็นที่พระยากำแพงเพชร ได้นำกำลังตีฝ่าวงล้อมของพม่า ที่ตั้งล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่ แล้วมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออก ผ่านเมืองนครนายก ปราจีนบุรี และฉะเชิงเทรา กองทัพพม่าได้ส่งกำลังออกติดตาม โดยที่กองทัพบกได้ยกมาตั้งอยู่ปากน้ำโจ้โล้ เมืองฉะเชิงเทรา กองทัพเรือพม่ายกกำลังเข้าสมทบได้ยกพลขึ้นที่ท่าข้าม ได้รบกันถึงสามครั้ง พม่าแตกหนีกลับไป
สมัยรัตนโกสินทร์
            ตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ ฉะเชิงเทรามีฐานะเป็นเมืองจัตวา ขึ้นกับกรมพระกลาโหม ต่อมาภายหลังจึงได้มาสังกัดกรมมหาดไทย ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นภัยจากชาวตะวันตก และว่ามีพระราชดำริว่าภัยของชาติน่าจะมาจากทางทะเล จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างเมืองและป้อมค่ายขึ้นหลายแห่ง รวมทั้งที่เมืองฉะเชิงเทราด้วย เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๗ และได้โปรดเกล้า ฯ ให้ขุดคลองบางขนากเพื่อใช้เป็นเส้นทางขนยุทธสัมภาระในราชการสงคราม
            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมืองฉะเชิงเทราได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัย เริ่มตั้งแต่การสร้างทางรถไฟสายแปดริ้ว และเมื่อมีการจัดการปกครองในส่วนภูมิภาคเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล ในการนี้ได้ถือเอาลำน้ำอันเป็นเส้นทางคมนาคมหลัก ในการกำหนดเขตมณฑล ดังนั้นมณฑลปราจีนบุรี จึงรวมเอาหัวเมืองตามลำน้ำบางปะกง ประกอบด้วย เมืองปราจีนบุรี เมืองนครนายก เมืองพนมสารคาม และเมืองฉะเชิงเทรา รวม ๔ หัวเมือง จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๕ โดยมีที่บัญชาการมณฑลอยู่ที่เมืองปราจีนบุรี ต่อมาได้มีพระราชปรารภว่า เมืองฉะเชิงเทราเป็นเมืองที่มีราชการมากกว่าเมืองอื่น ทั้งมีทางรถไฟผ่าน สมควรย้ายที่ทำการมณฑลมาตั้งที่เมืองฉะเชิงเทรา ดังนั้น เมืองฉะเชิงเทราจึงเป็นที่ว่าการมณฑลปราจีนบุรี ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๔๕
            ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๕ หลังจากที่ใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๔๗๖ และรัฐบาลได้กระจายอำนาจไปสู่ส่วนภูมิภาคในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ จังหวัดฉะเชิงเทราได้รับเลือกให้เป็นที่ตั้งภาคมีเขตความรับผิดชอบ ๘ จังหวัด
            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เกิดอั้งยี่ขึ้นที่เมืองฉะเชิงเทรา เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๑ พวกอั้งยี่ได้ยึดกำแพงเมืองเป็นที่มั่น และได้เข้าปล้นโรงงานน้ำตาล พระยาวิเศษฤาไชยคุมคนออกไปจับ พวกอั้งยี่ต่อสู้และฆ่าพระยาวิเศษฤาไชยตาย แล้วพวกอั้งยี่ก็เข้าไปตั้งมั่นอยู่ในกำแพงเมืองฉะเชิงเทรา เมื่อทางราชการส่งกำลังทหารออกไปปราบปรามโดยมีเจ้าพระยา และเจ้าพระยาบดินทรเดชาเป็นแม่ทัพ ได้ปราบปรามพวกอั้งยี่ดังกล่าวได้ราบคาบ จับได้หัวหน้าและฆ่าพวกอั้งยี่ตายเป็นอันมาก ตั้งแต่นั้นมาเมืองฉะเชิงเทราก็สงบเรียบร้อยไม่มีเหตุการณ์ร้ายตลอดรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |