| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

จังหวัดตราด

            ตราดเป็นเมืองทางชายทะเลด้านตะวันออก เมืองสุดท้ายของประเทศไทย มีฝั่งทะเลยาว ประมาณ ๑๖๕ กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ ๒๘๖๐ ตารางกิโลเมตร มีอาณาบริเวณทั้งที่เป็นแผ่นดิน และพื้นน้ำประกอบด้วยเทือกเขาสูง อุดมด้วยป่าเบญจพรรณ และป่าดิบทางด้านตะวันออก ส่วนบริเวณหมู่เกาะต่าง ๆ ทางด้านใต้ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาเช่นกัน
ทางตอนเหนือเป็นที่ราบบริเวณภูเขา ตอนกลางเป็นที่ราบลุ่มน้ำที่อุดมสมบูรณ์ แล้วลาดลงเป็นที่ราบต่ำชายฝั่งทะเล ลักษณะภูมิประเทศที่ปรากฏเด่นชัด คือ ที่ราบบริเวณลุ่มน้ำ ที่ราบต่ำชายทะเล ที่ราบบริเวณภูเขา และที่สูงบริเวณภูเขา แต่ละบริเวณมีความแตกต่างกัน ทำให้การดำเนินชีวิตของประชากรในแต่ละท้องที่มีความแตกต่างกัน
            ที่ราบบริเวณลุ่มน้ำ  ได้แก่บริเวณที่ราบตอนกลางและตะวันออก มีแม่น้ำสำคัญอยู่หลายสายที่เกิดจากทิวเขาบรรทัดทางตอนเหนือ และตะวันออก มีพื้นที่ราบแคบๆ ทางด้านตะวันตก มีลำน้ำหลายสายจากภูเขาที่ไม่สูงนัก บริเวณนี้มีความอุดมสมบูรณ์ จึงมีการทำนากันมาก
            ที่ราบต่ำชายฝั่งทะเล  เป็นบริเวณที่รวมเอาตะกอนโคลนตม จากแม่น้ำลำคลองต่าง ๆ มาทับถมกัน ได้แก่ บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเวฬุ ตำบลแสนตุ้ง อำเภอท่าโสม และบางส่วนของตำบลบางปิด ซึ่งมีลำคลองหลายสายไหลลงสู่ทะเล บริเวณที่ราบต่ำมีอยู่ทั่วไป ทางฝั่งทะเลด้านตะวันตก บริเวณที่กั้นไม่ให้น้ำทะเลท่วมถึงมีการทำนา ส่วนที่น้ำทะเลท่วมถึงมีป่าชายเลนตลอดแนว
            ที่ราบบริเวณภูเขา  เป็นบริเวณที่มีพื้นที่กว้างขวางมากเนื่องจากมีภูเขากระจายอยู่ในบริเวณต่าง ๆ โดยเฉพาะทางตอนเหนือ ในเขตพื้นที่อำเภอบ่อไร่ เป็นเขตที่เคยมีป่าไม้ปกคลุมอยู่หนาแน่น มีความชุ่มชื้นมาก เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญของจังหวัด
            ที่สูงบริเวณภูเขา  มีพื้นที่กว้างขวางมากเช่นกัน อยู่ทางตอนเหนือแผ่ลงมาตอนใต้ตลอดแนวพรมแดนจนสุดเขตทางใต้ของจังหวัด เป็นบริเวณทิวเขาบรรทัดที่สลับซับซ้อน
            หมู่เกาะมีภูเขาครอบคลุมอยู่เกือบตลอดพื้นที่ ได้แก่ เกาะกูด หมู่เกาะช้าง เกาะเหล่านี้อยู่ห่างจากฝั่ง จึงได้รับผลกระทบจากตะกอนปากแม่น้ำบนแผ่นดินน้อยทำให้น้ำทะเลใส ประกอบกับมีที่ราบตามชายฝั่ง ทำให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัด
แม่น้ำลำคลอง
            แม่น้ำในจังหวัดตราดส่วนใหญ่เกิดจากต้นน้ำบนทิวเขาบรรทัดตอนเหนือ มีลักษณะคดเคี้ยว ไหลลงสู่อ่าวตราด แม่น้ำที่สำคัญคือ แม่น้ำตราด และแม่น้ำเวฬุ
            แม่น้ำตราด  เป็นแม่น้ำใหญ่ที่สุดของจังหวัดตราด ยาวประมาณ ๑๕๐ กิโลเมตร มีชื่อเรียกต่างกันไปตามที่ไหลผ่าน ต้นน้ำเกิดจากทิวเขาบรรทัดตอนเหนือที่สำคัญคือ คลองแอ่ง และคลองสะตอ แล้วไหลผ่านบริเวณ อำเภอบ่อไร่ อำเภอเขาสมิง ช่วงนี้เรียกว่า คลองเขาสมิง หรือคลองใหญ่ เป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญในอดีต เมื่อไหลเข้าเขตอำเภอเมือง ฯ คลองเขาสมิงก็ได้บรรจบกับคลองห้วยแร้ง ที่บริเวณปากคลองห้วยแร้ง ที่หมู่บ้านจุฬามณี ตำบลห้วยแร้ง ในช่วงนี้เรียกว่าแม่น้ำตราด ณ จุดที่บรรจบกันนี้ จะเห็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่น่าดูคือ น้ำในคลองเขาสมิงจะมีสีแดงขุ่น และไหลเชี่ยว ส่วนน้ำในคลองห้วยแร้ง จะมีสีเขียวใสไหลเอื่อย ๆ มาบรรจบกันเป็นแม่น้ำกว้างไหลผ่าน บ้านท่าเรือจ้าง ณ จุดนี้แม่น้ำตราดเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญ ที่ใช้ติดต่อทั้งภายใน และภายนอกประเทศ ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน กล่าวคือในอดีตจะมีเรือสำเภาแล่นเข้ามาที่บ้านท่าเรือจ้างเพื่อรับ - ส่งสินค้า ปัจจุบันมีท่าเทียบเรือหลายแห่งเป็นที่ชุมนุมของเรือประมงตามสะพานปลา
            แม่น้ำเวฬุ  เป็นแม่น้ำที่ใช้เป็นเส้นแบ่งเขตระหว่าง จังหวัดตราดกับ จังหวัดจันทบุรี ต้นน้ำอยู่ในเขตจังหวัดจันทบุรี ที่เขาชะอมและเขาสระบาป ช่วงที่ไหลผ่านจังหวัดตราดมีความยาวประมาณ ๒๐ กิโลเมตร ไหลผ่านบ้านท่าจอด ตำบลแสนตุ้ง อำเภอเขาสมิง แล้วไหลลงสู่ทะเลบริเวณอ่าวบ้านบางกระดาน อำเภอแหลมงอบ
            คลองต่าง ๆ ในจังหวัดตราดมีกำเนิดจากต้นน้ำบนทิวเขาบรรทัด แล้วไหลลงแม่น้ำตราดได้แก่ คลองลำสะตอน้อย คลองลำสะตอใหญ่ คลองพิด คลองห้วยแรง
          คลองวังพระ  เกิดจากเขาวังปลา อยู่ระหว่างอำเภอแหลมงอบ และอำเภอเมือง ฯ ไหลผ่านหมู่บ้านน้ำเชี่ยว แล้วไหลลงสู่ทะเลที่บ้านปากคลอง ตำบลหนองโสน เป็นแหล่งประมงพื้นบ้าน และใช้เป็นเส้นทางออกทะเล
          คลองบางพระ  ต้นน้ำเกิดจากเขาระกำ ไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำเขาระกำ แล้วไหลผ่านตัวเมืองตราดไปบรรจบแม่น้ำตราดที่บ้านด่านเก่า คลองบางพระเคยมีความสำคัญในอดีต เพราะเป็นเส้นทางคมนาคม
ป่าไม้
            ป่าไม้ในเขตจังหวัดตราดมมีทั้งป่าบก และป่าน้ำ
            ป่าบก  คือ ป่าดงดิบ และป่าเบญจพรรณ ปัจจุบันตราดมีพื้นที่ป่าไม้เหลืออยู่ประมาณ ๘๕๔,๐๐๐ ไร่ ประมาณร้อยละ ๔๘ ของพื้นที่จังหวัด เป็นพื้นที่ป่าสมบูรณ์เหลืออยู่เพียงประมาณ ๔๙๐,๐๐๐ ไร่ ประมาณร้อยละ ๒๘
            ป่าสมบูรณ์ที่เหลืออยู่เป็นป่าดงดิบ และป่าเบญจพรรณตามแนวทิวเขาบรรทัดติดกับประเทศกัมพูชาเป็นส่วนใหญ่ และที่บริเวณหมู่เกาะช้างซึ่งเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ

            ป่าน้ำ หรือป่าชายเลน  ป่าชายเลนในจังหวัดตราด ถูกบุกรุกเพื่อทำนากุ้งกุลาดำ และกายขยายแหล่งท่องเที่ยวของภาคเอกชน มีการสร้างร้านอาหาร บ้านพักตากอากาศ สะพานท่าเทียบเรือ นอกจากนั้นการทำเหมืองพลอยในเขต อำเภอบ่อไร่ ได้ทำลายระบบนิเวศของป่าชายเลน ตามแม่น้ำลำคลอง จึงได้มีการฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ทั้งภาครัฐเอกชน และประชาชน เช่นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในโครงการทับทิมสยาม ๐๑ ในเขตอำเภอบ่อไร่ ซึ่งเป็นบริเวณที่เสียหายมากที่สุด เนื่องจากการทำเหมืองแร่ในอดีต การอนุรักษ์ป่าชายเลนดังกล่าวช่วยให้ป่าชายเลนเริ่มฟื้นตัวขึ้นในบางพื้นที่ เช่น ที่บ้านบ่อคลอง ตำบลแหลมงอบ อำเภอแหลมงอบ และที่บ้านเปร็ด ตำบลห้วยน้ำขาว อำเภอเมือง ฯ
ทรัพยากรทางทะเล
            หาดทราย  หาดทรายในจังหวัดตราดหลายแห่ง มีความสวยงามเป็นที่รู้จัก และชื่นชมของนักท่องเที่ยว เนื่องจากมีหาดทรายขาวยาว มีบรรดาหอยและปูตัวเล็ก ๆ ซุกตัวอยู่ใต้ทราย หาดดังกล่าวได้แก่ หาดทรายแก้วในเขตอำเภอเมือง ฯ  หาดบานชื่น และหาดไม้รูดในเขตอำเภอคลองใหญ่ หาดอ่าวตาลคู่ ในเขตอำเภอแหลมงอบ
            หาดต่าง ๆ ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง กิ่งอำเภอเกาะช้าง เช่น หาดบางเบ้า หาดคลองพร้าว หาดเกาะงาม หาดเกาะเหลายา หาดอ่าวคลองสน หาดทรายแก้ว หาดเกาะพร้าว หาดเกาะง่าม และหาดต้นเตย เป็นต้น
            หาดในเขตกิ่งอำเภอเกาะกูด ยังมีความเป็นธรรมชาติอยู่อีกมาก เช่น หาดหินดำ หาดตะเภา หาดอ่าวพร้าว และหาดเกาะกระดาษ เป็นต้น
            หาดเลน  เป็นบริเวณที่อุดมไปด้วยซากอินทรีย์วัตถุ ซึ่งเกิดจากซากพืช และซากสัตว์ที่ตายแล้ว ถูกย่อยสลายจมอยู่ในดินเลน เป็นอาหารของหอยต่าง ๆ ดังนั้นบริเวณหาดเลนจึงมีหอยชุกชุม เช่น หอยปากเปิด หอยนางรม และหอยขาว เป็นต้น หาดดังกล่าวได้แก่ หาดเลนบ้านคันนา ตำบลห้วงน้ำขาว อำเภอเมือง ฯ  หาดเลนบ้านสลัก ตำบลท่าโสม อำเภอเขาสมิง
            ปะการัง  มีแนวปะการังที่สวยงามอยู่ตามหมู่เกาะต่าง ๆ ในเขตจังหวัดตราด เช่น เกาะกระ เกาะรัง เกาะหวาย เกาะเหลายา เกาะคลุ้ม เกาะขาม และเกาะหมาก ลักษณะของแนวปะการังตามเกาะต่าง ๆ เป็นแนวปะการังระดับน้ำตื้นปานกลาง ซึ่งจะก่อตัวตั้งแต่ชายฝั่งลงไปถึงพื้นล่างที่ระดับความลึก ๘ - ๑๕ เมตร
            จุดชมปะการังในท้องทะเลตราดที่มีความสวยงามเป็นพิเศษ ได้แก่ เกาะกระ พบปะการังทางด้านใต้ของเกาะ มีความสมบูรณ์ และสวยงามมาก ได้แก่ ปะการังเขากวาง ที่ระดับน้ำลึก ๓ - ๕ เมตร เป็นแหล่งปะการังที่มีความงาม สมบูรณ์ที่สุด ในอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง
            ที่หมู่เกาะรังพบแนวปะการังทางด้านทิศเหนือ และทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะ ที่ระดับน้ำลึก ๖ เมตร ปะการังที่พบเป็นปะการังพุ่ม ปะการังเขากวาง และปะการังก้อน ส่วนปะการังที่เกาะหวาย ทางด้านทิศเหนือ และทิศคะวันตกของเกาะ
เป็นปะการังที่กำลังเติบโตสวยน่ารักเหมือนเด็ก
            ที่เกาะผีซึ่งเป็นเกาะน้ำลึก ปะการังที่เกาะนี้เป็นปะการังน้ำลึกที่สวยงามมาก ส่วนที่เกาะหยวกก็มีดอกไม้ทะเล ที่มีสีสรรสวยงาม น่าชมอยู่ในท้องทะเลลึก
ประชากร
            จังหวัดตราดนอกจะมีกลุ่มใหญ่ที่เป็นคนไทยมาแต่เดิมแล้ว ยังเป็นถิ่นที่อยู่ของคนหลายเชื้อชาติ เช่น ชาวซอง ซึ่งเป็นชนเผ่าตระกูลมอญ -  เขมร ที่อยู่ในเขตป่าเขา ใช้ชีวิตตามธรรมชาติ ประดิษเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำจากวัสดุในท้องถิ่น เช่น เครื่องจักสาน มีกระบุง ตะกร้า และของป่าเอามาแลกเปลี่ยนเสื้อผ้า และอาหารกับคนในเมือง ส่วนชาวญวน อพยพเข้ามา ตั้งถิ่นฐานสมัยใดไม่ปรากฏชัดเจน อยู่ที่แถบบ้านท่าเรือจ้าง เป็นญวนที่นับถือศาสนาคริสต์ ชาวจีน เป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุด มีบทบาทด้านการค้า เริ่มจากการค้าทางเรือสำเภามาตั้งแต่ในอดีต  ชาวไทยมุสลิม อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานใน รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  อันสืบเนื่องมาจากปัญหาการยึดครองอินโดจีนของฝรั่งเศส อยู่ที่บ้านน้ำเขียว ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน
            กลุ่มชนดังกล่าวทั้งหมดมีวิถีชีวิตประสมประสานกับคนไทยพื้นถิ่น สื่อสารกันด้วยภาษา วัฒนธรรม และความเชื่อไปในแนวเดียวกัน ไม่มีปัญหาขัดแย้งกันแต่อย่างใด มีความผสมกลมกลืน ใช้ภาษาไทยอย่างเดียวกัน
            ประชากรส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนาประมาณ ๙๕.๕ มีศาสนสถานที่เป็นวัด ๑๑๖ วัด นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ ๒.๕ มีมัสยิด ๑๐ แห่ง นับถือศาสนาคริสต์ร้อยละ ๒ มีโบสถ์นิกายโรมันคาทอลิกอยู่ ๑ แห่ง
| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |