| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

มรดกทางวัฒนธรรม

ย่านประวัติศาสตร์
            ย่านการค้าของเมืองตราด  การตั้งถิ่นฐานของชาวตราด ปรากฏมีชุมชนหนาแน่น อยู่ตามริม แม่น้ำ ลำคลอง ทะเล ที่ราบลุ่ม และแหล่งที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ ได้แก่ แม่น้ำตราด แม่น้ำเวฬุ คลองบางพระ คลองต้นแม่น้ำตราด  และแม่น้ำเวฬุ และริมทะเลทั่วไป
            ย่านการค้าสำคัญ อยู่ในเขตอำเภอเมือง ที่สำคัญคือตลาดริมคลองบางพระ ตั้งแต่ชุมชนบ้านล่างตลอดแนวคลองไปจดหัวถนน เรียกว่าถนนริมคลอง ถนนด้านในที่ติดกับที่ราบ เรียกว่าถนนตลาดใหญ่ เป็นย่านการค้าแห่งที่ ๒ ตลาดขวางเป็นย่านการค้าแห่งที่ ๓ เป็นตลาดเล็ก ๆ และตลาดบ้านท่าเรือจ้างเป็นย่านการค้าเล็ก ๆ แห่งที่ ๔ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำตราด
            การค้าขายทางเรือ  จังหวัดตราดมีการค้าขายทางเรือมาแต่โบราณ เนื่องจากเป็นเมืองท่า และเมืองหน้าด่าน มีทำเลเป็นเส้นทางผ่านสู่ประเทศเพื่อนบ้าน มีเรือสินค้าล่องค้าขายติดต่อกับเมืองชายฝั่งทะเลริมอ่าวไทย ตั้งแต่จันทบุรี ระยอง ชลบุรี ปากน้ำ (สมุทรปราการ) ท่าจีน (สมุทรสาคร) แม่กลอง (สมุทรสงคราม) และกรุงเทพ ฯ ดังนั้นชาวตราดจึงมีความชำนาญในการต่อเรือ มีอู่ต่อเรืออยู่ในเขต ตำบลเนินทราย และท่าเลื่อน และมีอู่ซ่อมเรือสินค้าขนาดต่าง ๆ บริเวณบ้านท่าเรือจ้างหลายแห่ง

อนุสรณ์สถาน
            อนุสรณ์ทางยุทธนาวีที่เกาะช้าง  เหตุการณ์รบทางเรือครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งของกองทัพเรือไทยคือ การรบทางเรือที่เกาะช้าง ระหว่างกองเรือรบไทยกับกองเรือรบฝรั่งเศส รายละเอียดมีอยู่ใน การรบทางเรือที่เกาะช้าง
            ชาวตราดร่วมกับกองทัพเรือ ได้จัดสร้างอนุสรณ์สถานแห่งนี้ขึ้นไว้ที่บ้านแหลมงอบ อำเภอแหลมงอบ เพื่อระลึกถึงคุณความดีของนายพลเรือเอก กรมหลวงชุมพรเขตต์อุดมศักดิ์ พระบิดาแห่งราชนาวีไทย ผู้ทรงมีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานให้กองทัพเรือไทย และเพื่อเป็นการระลึกถึงวีรกรรมของทหารเรือไทย ที่ได้ปฏิบัติการต่อสู้เพื่อรักษา เอกราชอธิปไตยของไทยไว้ด้วยชีวิต ภายในอนุสรณ์สถานจัดเป็นพิพิธภัณฑ์เรื่องเกี่ยวกับการสู้รบทางเรือที่เกาะช้าง มีการจัดงานประจำปีในวันที่ ๑๗ มกราคม ของทุกปี

            ศาลาราชการุณย์  เป็นพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ สภานายิกาสภากาชาดไทย เป็นส่วนหนึ่งของศูนย์สภากาชาดไทยเขาล้าน เดิมบริเวณนี้เป็นศูนย์อพยพของชาวกัมพูชา ได้แบ่งพื้นที่ออกเป็น ๓ ส่วน คือศาลาราชการุณย์ ค่ายยุวกาชาด และสถานที่พักผ่อนและท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
            วัตถุประสงค์ในการสร้างศาลาราชการุณย์ มีอยู่สามประการด้วยกันคือ
                - เป็นอนุสรณ์สถาน เฉลิมพระเกียรติ และน้อมระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ที่พระราชทานแก่ชาวไทยชายแดน และชาวเขมรอพยพ
                - จัดแสดงประวัติความเป็นมา และสภาพความเป็นอยู่ในค่ายอพยพ ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือของสภากาชาดไทย ข้าราชการทหาร พลเรือน และประชาชนชาวไทยในครั้งนั้น
                - เพื่อเป็นอนุสรณ์กระตุ้นเตือนให้ระลึกถึงเหตุการณ์อันน่าสะเทือนใจ ที่เกิดขึ้นกับประเทศเพื่อนบ้าน และให้ประชาชนชาวไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญของสถาบัน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และความสามัคคีกลมเกลียวของคนในชาติ

            อนุสรณ์สถานทหารนาวิกโยธิน บ้านหาดเล็ก อำเภอคลองใหญ่  จากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศในอดีต ทำให้ฝ่ายตรงข้ามส่งกำลังทหารเข้ามาเพื่อยึดครองบ้านหาดเล็กเมื่อ ๓ มกราคม ๒๕๐๙ ฝ่ายไทยได้ส่งกำลังทหารนาวิกโยธิน จากกองพันทหารราบที่ ๒ กรมผสมนาวิกโยธิน จำนวน ๑ หมวด เพิ่มเติมกำลังเข้ามาคุ้มครองประชาชน โดยมี เรือโท วสินธ์  สาริกะภูติ เป็นผู้บังคับหมวด ได้เกิดประทะกับฝ่ายตรงข้ามอย่างรุนแรงหลายครั้ง เมื่อสถานการณ์รุนแรงขึ้น ฝ่ายเราจึงได้เพิ่มกำลังเป็น ๑ กองร้อยปืนเล็กเพิ่มเติมกำลัง กำลังดังกล่าวได้จัดไว้เพื่อป้องกันพื้นที่จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๑๓ สถานการณ์จึงคลี่คลายดีขึ้น กองทัพเรือจึงมอบพื้นที่ให้ตำรวจตระเวนชายแดนรับผิดชอบต่อไป
            ต่อมาในเดือนเมษายน ๒๕๑๘ เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองในประเทศกัมพูชา ทำให้ชาวเขมรอพยพเข้ามาในไทยเป็นจำนวนมาก กรมนาวิกโยธิน จึงจัดกำลัง ๑ กองร้อยปืนเล็กเพิ่มเติมกำลัง สนธิกำลังเป็นหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธิน ๑๘๒ เข้าทำการป้องกันพื้นที่ตามแนวชายแดนบ้านหาดเล็ก
            ตลอดระยะเวลาอันยาวนานถึง ๒๖ ปี ที่ทหารนาวิกโยธิน ร่วมกับประชาชนบ้านหาดเล็กได้ร่วมกันเสียสละเลือดเนื้อ และชีวิตเพื่อป้องกันรักษาอธิปไตยของชาติไว้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน ๓๓ คน และมีผู้บาดเจ็บเป็นจำนวนมาก
            เพื่อเป็นการระลึกถึงวีรกรรมของทหารนาวิกโยธิน และประชาชนบ้านหาดเล็กดังกล่าว ข้าราชการทหาร พลเรือน และประชาชน จึงได้ร่วมใจกันสร้างอนุสรณ์สถานแห่งนี้ขึ้นไว้ที่บ้านหาดเล็ก อำเภอคลองใหญ่ และได้ทำพิธีเปิดเมื่อ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๑
ภาษาและวรรณกรรม
            ตำนานแหลมงอบเกาะช้าง  มีเรื่องเล่าสืบกันมาว่า สมัยหนึ่งพระโพธิสัตว์ได้มาสร้างตำหนักเลี้ยงช้างอยู่ที่เกาะช้าง มีช้างพลายเชือกหนึ่งเป็นจ่าโขลง และมีสองตายายเป็นผู้เลี้ยง วันหนึ่งจ่าโขลงตกมันหนีเตลิดเข้าป่าไปผสมพันธุ์กับนางช้างป่า ตกลูกมา ๓ เชือก พระโพธิสัตว์ได้ให้สองตายายไปติดตามคนละทาง จ่าโขลงหนีไปจนสุดเกาะด้านเหนือแล้วว่ายน้ำข้ามทะเลมาขึ้นฝั่ง ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า บ้านธรรมชาติ ส่วนลูกช้างทั้งสามที่ตามมาด้วยว่ายน้ำไม่เป็นจึงจมน้ำตายกลายเป็นหินสามกอง อยู่บริเวณอ่าวคลองสน ชาวบ้านเรียกว่า หินช้างสามลูก ในระหว่างที่จ่าโขลงว่ายน้ำอยู่กลางทะเลได้ถ่ายมูลไว้ กลายเป็นหินกองอยู่ตรงนั้นเรียกว่า หินขี้ช้าง
            เมื่อขึ้นฝั่งได้แล้ว จ่าโขลงได้มุ่งหน้าเลียบไปตามชายฝั่งทิศใต้ ฝ่ายตาผู้เลี้ยงเห็นว่าตามช้างไม่ทันแล้วจึงเดินทางกลับ ปล่อยให้ยายติดตามไปแต่เพียงผู้เดียว ยายตามไปจนทันจ่าโขลงขึ้นฝั่ง แต่ไม่กล้าเข้าป่ากลัวสัตว์จะทำร้ายเอา ในที่สุดได้ตกลงไปในโคลนถอนตัวไม่ขึ้น และถึงแก่ความตาย ร่างกายกลายเป็นหินกองอยู่ตรงนั้นชาวบ้านเรียกว่า หินยายม่อม ส่วนงอบที่สวมได้หลุดลอยไปติดปลายแหลม และกลายเป็นหิน ชาวบ้านเรียกว่า แหลมงอบ
            เมื่อพระโพธิสัตว์ทราบว่าจ่าโขลงมุ่งหน้าไปทางทิศใต้ จึงให้คนทำคอกดักไว้เกือบถึงท้ายเกาะด้านใต้ ชาวบ้านจึงเรียกหมู่บ้านแถบนี้ว่า บ้านคอก และเกาะที่เกิดจากลิ่ม และสลักที่ทำคอกนั้นเรียกว่า เกาะลิ่ม และเกาะหลัก ส่วนมากเรียกรวมกันว่า บ้านสลักคอก
            หลวงปู่โตกับเสือลายพาดกลอน  มีเรื่องเล่าสืบกันต่อกันมาว่า ครั้งหนึ่งสมเด็จพุฒาจารย์ (โต) เดินทางไปแสดงธรรมโปรดนักองด้วง ที่เมืองเขมร มีความตอนหนึ่งว่า
            "ท่านได้ขึ้นเกวียนไปเมืองตราด เมื่อไปถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่งแขวงเมืองตราด เป็นตำบลที่มีเสือชุมมาก วันหนึ่งเวลาใกล้ค่ำ ได้มีเสือตัวหนึ่งเข้ามาขวางหน้าเกวียน คนนำหน้าเกวียนจดพลองเล่นตีกับเสือ เสือก็แยกเขี้ยวเข้าใส่ และรุกขนาบเข้ามา คนถือพลองถอยหลังทุกทีจนถึงหน้าเกวียน สมเด็จ ฯ คนหน้าเกวียนยกเท้ายันคนถือพลองไว้ไม่ให้ถอยหลังได้อีก
            สมเด็จ ฯ เห็นเสือมีอำนาจดุมาก จึงบอกว่าเสือเขาจะธุระกับฉันคนเดียวดอก ฉันจะพูดจาขอทุเลาเสือสักคืนในที่นี้ ครั้นแล้วท่านก็ลงจากเกวียน ส่งเกวียนส่งคนให้ไปคอยอยู่ข้างหน้า แล้วท่านก็นอนขวางทางเสือเสีย เสือก็นั่งเฝ้าท่านตลอดคืน เสือก็ไปไหนไม่ได้ จะไปไล่คนอื่นก็ไปไม่ได้ ต้องเฝ้ายามสมเด็จ ฯ ยันรุ่ง ครั้นเวลาเช้าท่านก็เชิญเสือให้กลับไป แล้วท่านลาเสือว่า ฉันลาก่อน เพราะมีราชกิจใช้ให้ไป ว่าแล้วท่านก็เดินตามเกวียนไป"
            เรื่องนี้เล่าสืบกันมานี้ แสดงว่าครั้งหนึ่งอำเภอเขาสมิงเคยมีเสือใหญ่ลาดพาดกลอนอาศัยอยู่ชุกชุม จึงเป็นที่มาของชื่ออำเภอเขาสมิง
ภูมิปัญญาท้องถิ่น

            กระดานเก็บหอย  ป่าชายเลนเป็นแหล่งกำเนิดสัตว์น้ำนานาชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหอยชนิดต่าง ๆ การเก็บหอยตามหาดชายเลนต้องรอให้น้ำลง ดินมีสภาพเป็นพรุ ทำให้การเก็บหาหอยทำได้ยาก ชาวบ้านจึงคิดทำอุปกรณ์ง่าย ๆ คือ กระดานถีบ หรือกระดานเก็บหอย ใช้ในการเคลื่อนตัวไปบนหาดเลนที่เป็นดินพรุ มีความลึกระดับหัวเข่าได้สะดวกและรวดเร็ว เพราะการเดินบนดินเลนด้วยเท้าเปล่าทำได้ยาก และจะเป็นอันตรายจากการถูกเปลือกหอยบาด
            วิธีทำกระดานเก็บหอย จะใช้ไม้กระดานที่มีน้ำหนักเบาเพียงแผ่นเดียว นิยมทำด้วยไม้พนอง และไม้ตีนเป็ด หรือต้นพญาสัตบรรณ ซึ่งหาได้ง่ายในท้องถิ่น และมีน้ำหนักเบา ใช้ขนาดที่มีความกว้างประมาณ ๕๐ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๑ เมตร หนาประมาณ ๑๐ เซนติเมตร นำไม้มาถากด้านหนึ่งให้เรียวแหลมใช้เป็นส่วนหัว แล้วขุดแผ่นไม้ให้เป็นช่องคล้ายเรือให้มีน้ำหนักเบา และมีความเสียดทานน้อย เพื่อให้เคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้รวดเร็ว ด้านท้ายเป็นรูปเหลี่ยม รูปทรงทั้งหมดคล้ายเตารีด ที่ส่วนท้ายขุดเป็นวงกลมเส้นผ่าศูนย์กลางขนาดเท่าก้นถังน้ำทั่วไปลึกประมาณ ๕ เซนติเมตร สำหรับวางถังไม้ที่ใช้ใส่หอย
            วิธีใช้ ผู้ใช้จะนั่งคุกเข่าให้เข่าข้างหนึ่งอยู่บนแผ่นกระดาน และใช้เท้าอีกข้างหนึ่งถีบเลน เพื่อให้กระดานเก็บหอยเคลื่อนที่ไปข้างหน้า
            เรือมาดขุด  นิยมทำจากไม้ตะเคียน ซึ่งเป็นไม้เนื้อแข็งทนทาน มียางในเนื้อไม้ช่วยป้องกันเพรียง แล้วนำมาขุด ขนาดของไม้ตะเคียนจะใช้ขนาดที่มีเส้นรอบวงประมาณ ๕ - ๖ เมตร หรือมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑.๕ เมตร การขุดเรือจะต้องทำตอนที่ไม้ยังสดอยู่เพราะขุดได้ง่าย ต้องทำให้เสร็จภายใน ๗ - ๘ วัน เพราะถ้าไม้แห้งแล้วจะขุดยาก การทำให้นำไม้มาลนไฟโดยสุมให้เนื้ออ่อนนิ่ม เริ่มขุดเรือจากการตัดหัวท้ายให้ยาวตามขนาดเรือ ปกติเรือเล็กจะยาวประมาณ ๓วา จากนั้นจะแต่งส่วนหัวและส่วนท้ายก่อน จะใช้ส่วนโคนทำท้ายเรือ เนื่องจากเนื้อไม้ จะแน่นหนามากกว่า ส่วนหัวเรือจะเบากว่า  จากนั้นจึงทำตัวเรือเรียกว่า ปั้นลูกหมู เป็นการตั้งแบบรูปทรงของเรือ หากเนื้อไม้มีตาติดอยู่จะต้องให้ตาไม้อยู่ในส่วนที่ค่อนไปทางหัวเรือ เพราะเชื่อกันว่า จะเป็นตามงคล ส่งผลให้เกิดความเจริญงอกงาม ผู้เป็นช่างทำเรือขุดต้องทำตัวเรือให้ได้รูปทรงสวยงามตามตำรา จะได้เรือที่มีรูปลักษณะสมส่วนสวยงาม และสง่างาม อันเป็นที่มาของสำนวนที่ว่า มาดดี หรือ มาดตะเคียน
            เมื่อทำเสร็จแล้วต้องใส่กงเพื่อรักษารูปทรงของเรือโดยการใช้สลักไม้ตอกยึดติดกับตัวเรือ การใส่กงต้องคำนวนสัดส่วนของเรือแบ่งเป็นส่วนๆ กงที่ใส่ต้องไม่ให้วางทับเส้นศูนย์กลางเรือ เพราะจะทำให้เรือนั้นใช้ทำมาหากินไม่ได้ เมื่อทำตัวเสร็จแล้วใช้ยางชันผสมน้ำมันยางทาเรือปิดรอยแตกของเนื้อไม้อีกครั้งหนึ่งเรียกว่า ปิดแนว เรือมาดที่ขุดท้องเรือจะเปิดโล่งตลอด ส่วนหัวเรือและท้ายเรือจะใช้ไม้กระดานกรุปิดทับ ปิดเปิดได้เพื่อใช้เป็นที่นั่ง
| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |