| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

มรดกทางพระพุทธศาสนา

วัดบุปผาราม
            วัดบุปผารามเป็นวัดเก่าแก่ สันนิษฐานว่า สร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๑๗๕ ในรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง ชาวบ้านเรียกชื่อวัดนี้ตามชื่อหมู่บ้านว่า วัดปลายคลอง เป็นศูนย์กลางของชุมชนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การที่ได้ชื่อว่าวัดบุปผารามนั้น เล่ากันว่าก่อนสร้างวัดในบริเวณดังกล่าวมีพรรณไม้ดอกไม้ผลนานาชนิด ได้กลิ่นดอกไม้หอมอบอวลไปทั่วบริเวณ แต่หาไม่พบต้นไม้ที่เป็นที่มาของกลิ่น จึงได้สร้างวัดที่บริเวณนี้แล้วให้ชื่อว่าวัดบุปผาราม หมายถึงวัดสวนดอกไม้
            ในเขตพุทธาวาส เป็นที่ตั้งของโบราณวัตถุที่ทรงคุณค่าได้แก่ โบสถ์ วิหารฝากระดาน (โบสถ์เก่า) วิหารพระพุทธไสยาสน์ มณฑปพระพุทธบาทสี่รอย มณฑปพระพุทธบาทมงคล ๑๐๘ ประการ พระพุทธรูปบำเพ็ญทุกิริยา และเจดีย์ ๒๘ องค์
            ในเขตธรรมาวาส เป็นที่ตั้งของโบราณสถาน ที่ใช้ในการบำเพ็ญกุศล ฟังธรรม ได้แก่ หอสวดมนต์ ศาลาการเปรียญ และหอระฆังจตุรมุข
            เขตสังฆาวาส เป็นที่ตั้งของโบราณสถานที่ใช้เป็นที่พำนักของ พระภิกษุ สามเณร ได้แก่กุฏิรายทรงไทย
            อุโบสถ  ก่อด้วยศิลาแลง สอดิน และฉาบผนังด้านนอก และด้านในด้วยดินทาน้ำปูนขาวที่ได้จากการเผาเปลือกหอย ปัจจุบันผนังด้านนอกฉาบปูนหินล้าง ภายในอุโบสถมีจิตรกรรมฝาผนังทั้งสี่ด้านตั้งแต่พื้นจรดเพดาน ที่เพดานตลอดทั้งตัวไม้เครื่องบนทั้งหมดจัดเป็นกลุ่มภาพที่เขียนถึง ๒๙ กลุ่มภาพ
            มณฑป ๓ หลัง  หลังแรกเป็นมณฑปพระพุทธรูปปางบำเพ็ญทุกรกิริยา ก่ออิฐฉาบปูน รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ฐานที่รอบรับมณฑปก่ออยู่บนกำแพง ๓ ด้าน สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๒ แทนที่พระปรางค์ที่หักทลายลง ภายในมณฑปมีจิตรกรรมเขียนลายมีความสวยงามมาก หลังที่สอง
            หลังที่สอง  เป็นมณฑปพระพุทธบาทสี่รอย มีรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ยอดหลังคาทำด้วยบัวหงายสองชั้น ลดหลั่นกันรองรับเครื่องยอดหลังคาเป็นทรงยอดเจดีย์ ภายในประดิษฐานพระพุทธบาทสี่รอย ซึ่งมีความหมายถึงพระพุทธเจ้าในภัทรกัป ๔ พระองค์ คือพระกกุสันโธ พระโกนาคมน์ พระกัสสปะ และพระสมณโคดม
            หลังที่สาม  เป็นมณฑปพระพุทธบาทมงคล ๑๐๘ ก่ออิฐฉาบสอดินฉาบดินทาน้ำปูนขาว ฐานเป็นศิลาแลง ลักษณะเป็นอาคารทรงมณฑปสี่เหลี่ยมจัตุรัส หลังคาทรงมณฑป บนยอดเสาประดับด้วยเครื่องเคลือบรูปหงส์ ๑ ตัว มีเครื่องถ้วยลายครามมีฝาปิดประดับ อยู่ตามมุมทั้งสี่ของลันตะเฆ่ ภายในมณฑปประดิษฐานพระพุทธบาทมงคล ๑๐๘ ประการ ฝาผนังด้านข้างและด้านหน้าในช่วงติดขอบเพดาน มีลายเส้นลวดและลายเฟื่องอุบะ

            หอสวดมนต์  ตั้งอยู่ในบริเวณกลางวัด จึงทำให้มีมุมมองที่สวยงาม โครงสร้างเป็นเครื่องไม้หน้าบันเป็นไม้จำหลักลายเทพนม ชายคาใต้หน้าบันมีไม้แกะรูปหยดน้ำ ฝาเข้าไม้แบบปะกนลูกฟัก เสาประธานเป็นเสาแปดเหลี่ยม
            จิตรกรรมที่หอสวดมนต์ อยู่ที่ไม้คอสอง ฝ้าเพดาน ฝ้าปีกนก และเสา เป็นจิตรกรรมไทยประเพณีมีอิทธิพลจีนผสมอยู่มาก เป็นฝีมือช่างท้องถิ่นที่มีความเข้าใจรูปแบบของงานช่างหลวงอย่างดี ได้สร้างสรรค์ความงามตามธรรมชาติลงไว้ในจิตรกรรมด้วย อันเป็นลักษณะพิเศษของพื้นบ้านจังหวัดตราด เช่นที่ฝ้าเพดานเป็นลายช่อดอกไม้ แทรกด้วยภาพสัตว์ปีก ภาพพุทธประวัติ ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ลายมังกรพันหลักดั้นเมฆ เป็นต้น
            วิหารพุทธไสยาสน์  เป็นวิหารที่ก่อด้วยศิลาแลงอาบดินทาด้วยน้ำปูนขาว ที่แปลกไปกว่าที่อื่นคือ หน้าบันและซุ้มหน้าต่างประดับด้วย เครื่องถ้วยจีนและเครื่องถ้วยยุโรป ลักษณะการสร้างเป็นหลังคาชั้นเดียวมีพาไลด้านหน้า การใช้ศิลาแลงเป็นเครื่องยืนยันถึงความเจริญของชุมชนแห่งนี้มาก่อน
            จิตรกรรมในวิหาร ฯ เป็นภาพลายกระบวนจีนที่แสดงลักษณะต้นไม้ ดอกไม้พันธุ์พฤกษานานาชนิด รวมทั้งภาพสัตว์ เช่นนก แมลง สัตว์ที่เป็นมงคล
            ภาพจิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถ วิหารพระพุทธไสยาสน์ และมณฑป สันนิษฐานว่า เป็นศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยช่างท้องถิ่น สำหรับงานเขียนศิลปะจีนที่มีผสมอยู่นั้น น่าจะเป็นศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเช่นกัน

วัดโยธานิมิตร
            ชาวบ้านเรียกว่าวัดโยธานิมิตรว่า วัดโบสถ์ ไม่ปรากฎหลักฐานว่าสร้างเมื่อใดแน่นอน เพียงว่าเมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหารราช เมื่อครั้งยังเป็นพระยาวชิรปราการ ได้มารวบรวมไพร่พลที่จังหวัดตราด เกือบกอบกู้อิสรภาพจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองแก่พม่า ได้มารวบรวมไพร่พลที่บริเวณนี้ ได้ให้กำลังพลขนดินมาทำเป็นมูลดินไว้เพื่อสร้างวัด ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยาพระคลัง คุมทับเรือมาทำสงครามกับเขมร ในระหว่างที่พักกองทัพอยู่นั้นก็ได้พร้อมใจกันสร้างวัดขึ้น ขนานนามว่าวัดโยธานิมิตร
            โบราณสถานที่สำคัญของวัดนี้ได้แก่ (โบสถ์เก่า) เป็นศิลปสมัยอยุธยา ภายในมีภาพเขียนเรื่อง พระเวสสันดรชาดก วิหารหลังนี้เคยใช้สถานที่ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาของข่าราชการเมืองตราด
            กุฏิราย  เป็นกุฏิขนาดเล็กกว้าง ๒ เมตร ยาว ๔.๕๐ เมตร เป็นห้องเดี่ยวทรงไทยเครื่องไม้ทั้งหลัง สร้างโดยการบากเข้าไม้ เหมาะสำหรับภิกษุอยู่รูปเดียว กุฏิรายเหล่านี้สร้างขึ้นได้ถูกต้องตามพระบรมพุทธานุญาติทุกประการ
| ย้อนกลับ หน้าต่อไป || บน |