| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

พัฒนาการทางประวัติศาสตร์

การตั้งถิ่นฐาน
            การตั้งถิ่นฐานของชาวตราด ไม่พบหลักฐานว่ามีความเป็นมาอย่างไร หลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้กล่าวถึงบ้านบางพระ ในแผนที่สมัยอยุธยา แสดงว่าได้มีการตั้งถิ่นฐาน ณ ที่นี่ตั้งแต่สมัยอยุธยา กลุ่มชนชาติต่าง ๆ ที่มีอยู่เดิม พบว่ากลุ่มใหญ่ ๆ ดังนี้
            กลุ่มชนชาติไทย  ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ก่อนชนชาติอื่น ๆ ที่บ้านบางพระ บ้านหนองคันทรง บ้านปลายคลอง ซึ่งเป็นชื่อหมู่บ้านที่มีมาแต่ดั้งเดิม ดังหลักฐานปรากฏที่บ้านปลายคลอง มีโบราณสถาน โบราณวัตถุที่มีศิลปะแบบไทย เป็นไปในแนวทางเดียวกับกลุ่มชนชาติไทยที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่นอื่น ๆ ของประเทศไทย ที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่นนี้ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก และเก่าแก่กว่ากลุ่มอื่น ๆ

            กลุ่มชนชาติชอง  ชองเป็นกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ทั่วไปในภาคตะวันออก มีมากที่จังหวัดกาญจนบุรี ชนกลุ่มนี้อยู่ในกลุ่ม มอญ - เขมร ชาวชองอยู่ตามป่าเขา มีภาษาพูดของตนเอง มีการนับเลข การพูดติดต่อสื่อสารในกลุ่มเดียวกัน แต่ไม่มีภาษาเขียน ในจังหวัดตราดมีชองอยู่ทั่วไปในอำเภอเมือง ฯ อำเภอบ่อไร่ และอำเภอเขาสมิง นอกจากนี้ยังมีชื่อหมู่บ้านที่เป็นภาษาชองปรากฏอยู่ เช่น บ้านปากพีด แปลว่า ดงเสือดุ  บ้านตกตัก แปลว่าที่ลุ่มกว้างใหญ่ เดิมชองนับถือผีแต่ปัจจุบันส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา และนับถือผีไปพร้อมกัน ได้แก่ผีโรง ผีเรือน และผีหิ้ง หมู่บ้านที่ชาวชองอาศัยอยู่มากได้แก่ หมู่บ้านฆ้อ และบ้านศรีบัวทอง
            กลุ่มชนชาติญวน  มีพวกญวนอพยพเข้ามาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มาอยู่ที่ตำบลอ่าวญวน ที่บ้านแหลมญวน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ช่างที่ฝรั่งเศสยึดครองอินโดจีน และต้องการเกาะกระดาษของไทย จึงได้ส่งคนญวนที่เข้ารีต นับถือคริศต์มาอยู่ที่เกาะกระดาษเพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการยึดครอง ซึ่งในสมัยนั้นมีชาวบ้านคนไทยอาศัยอยู่ก่อนแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้ออกโฉนดที่ดินให้พื้นที่เกาะกระดาษโดยขอจากชาวบ้าน ชาวญวนที่ไปอาศัยอยู่จึงกระจายออกไปอาศัยอยู่ที่ส่วนอื่นในจังหวัดตราด ปัจจุบันคนญวนดังกล่าวได้ผสมกลมกลืนกับคนไทย จนกลายเป็นคนไทยไปหมดแล้ว
            กลุ่มชนชาติจีน  มีหลักฐานการเข้ามาในช่วงที่พระยาตากมารวบรวมไพร่พลที่เมืองตราด มีกลุ่มสำเภาของพ่อค้าคนจีน ตั้งอยู่ที่ปากแม่น้ำ แสดงว่าการเข้ามาในระยะแรกเพื่อการค้าขาย เมื่อเห็นว่ามีความอุดมสมบูรณ์จึงมีการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานมากขึ้น ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ประเทศญวนมีการสู้รบกัน จึงมีคนจีนในญวนอพยพเข้ามาที่เมืองตราด นอกจากนั้นยังมีอีกพวกหนึ่งที่ถูกกวาดต้อนเข้ามาในไทยพร้อมด้วยคนญวน และคนเขมรเมื่อทำสงครามได้ชัยชนะ
            กลุ่มชนชาติแขก  ปัจจุบันคือ กลุ่มชาวไทยอิสลาม เดิมมาอยู่ที่ตำบลน้ำเชี่ยวแห่งเดียว พวกนี้ถูกกวาดต้อนมาในสมัยสงครามญวนกับเขมร ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาก็ได้มีการชักชวนกันมาตั้งถิ่นฐานกันมากขึ้น มีการเรียนภาษาเขียนที่ใช้ในคัมภีร์อัลกุรอานของศาสนาอิสลาม มีการสร้างสุเหร่าครั้งแรกที่บ้านน้ำเชี่ยว
            อีกกระแสหนึ่งกล่าวว่า ชาวไทยอิสลามที่ตำบลน้ำเชี่ยว อำเภอแหลมงอบ มาจากชนเขมรกลุ่มหนึ่งที่นับถือศาสนาอิสลาม ที่เรียกตัวเองว่า แขกจาม หรือจำปา ได้อพยพหนีการบีบคั้นทางศาสนาของฝรั่งเศสที่เข้ามายึดเมืองเขมรในขณะนั้น พวกแขกจามได้เข้ามาอาศัยแผ่นดินไทยภายใต้ร่มพระโพธิสมภารของพระมหากษัตริย์ไทย
เมื่อประมาณต้นรัชสมัยพระบาทสมพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ชนกลุ่มนี้เดินทางด้วยเรือหลายลำ ลัดเลาะชายฝั่งทะเลมาบริเวณปากอ่าวลำคลองท่าตะเภา และปากอ่าวคลองน้ำเชี่ยว เรือ ๓ ลำได้แยกเข้าคลองน้ำเชี่ยว ที่เหลือได้เดินทางต่อไปจนถึงปากน้ำจังหวัดระยอง ได้แวะขึ้นที่จังหวัดระยอง ๒ ลำ ที่เหลือเดินทางไปถึงกรุงเทพฯ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทราบ จึงได้โปรดให้จัดที่พระราชทานให้อยู่ที่บ้านครัว เรียกว่า แขกครัว มาจนถึงปัจจุบัน
            ชาวอิสลามปัจจุบันมีจำนวนมากขึ้น เพราะตามหลักศาสนาอิสลามไม่ให้มีการคุมกำเนิด ผู้ชายสามารถมีภรรยาได้ ๔ คน และบางคนแต่งงานกับคนไทย และให้ผู้ที่มาแต่งงานด้วยหันมานับถือศาสนาอิสลาม ด้วยวิธีการดังกล่าว ศาสนาอิสลามจึงขยายตัวใหญ่ขึ้นทุกขณะ มีชุมชนมุสลิมกระจายอยู่ทั่วไป เช่น บ้านเนินตาแมว บ้านปลายคลอง ในอำเภอเมือง ฯ เป็นต้น ชาวอิสลามยังคงรักษาประเพณีของตนไว้อย่างเหนียวแน่น มีการดำเนินชีวิตโดยทั่วไปผสมผสานกลมกลืนกับชาวไทยดั้งเดิม ไม่มีความขัดแย้งกันทางศาสนา เรียกกันว่า ชาวไทยอิสลาม มาแต่เดิม แต่มาระยะหลังด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือความจงใจของบางคนจึงได้เปลี่ยนชื่อเรียกกันในระยะหลังนี้ว่าไทยมุสลิม ซึ่งทำให้ความหมายผิดเพี้ยนไปจากเดิม
           กลุ่มชนชาวกุหล่า  เป็นกลุ่มชนอีกกลุ่มหนึ่ง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็๋จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้มีการส่งพวกกุหล่าออกสำรวจและขุดหาพลอยในเขตอำเภอเขาสมิง และอำเภอบ่อไร่ในปัจจุบัน โดยที่พวกกุหล่าอาศัยอยู่ ตามแหล่งแร่พลอยต่าง ๆ เช่น บ้านนาวง อำเภอเขาสมิง  บ้านบ่อไร่ อำเภอบ่อไร่ และล่าสุดได้มาอยู่บริเวณบ้านตากแว้ง อำเภอบ่อไร่
            กลุ่มชนชาติต่าง ๆ ในจังหวัดตราด มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นประเพณี ภาษาโดยชนชาติไทยเป็นชาติหลัก ชนกลุ่มน้อยที่อพยพเข้ามาก็หัดพูดภาษาไทย นานเข้าก็พูดภาษาตนเองไม่ได้ อย่างไรก็ตาม จากการที่มีหลายชุมชนในพื้นที่จังหวัดตราด จึงทำให้สำเนียงภาษาพูดของคนตราด แตกต่างไปจากคนไทยภาคกลาง เป็นภาษาที่มีคำหนักห้วน จนเกือบจะกลายเป็นกระด้าง
สมัยก่อนกรุงรัตนโกสินทร์
            ในสมัยอยุธยามีการกล่าวถึงจังหวัดตราดอยู่บ้าง แต่ไม่มีความสำคัญมากนัก มาปรากฏชื่อเป็นเมืองในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. ๑๙๙๑ - ๒๐๓๑) มีฐานะเป็นเมืองตรี ขึ้นตรงต่อโกษาธิบดี อยู่ฝ่ายการต่างประเทศ และการคลัง ต่อมาปรากฏชื่อเป็นเมืองในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ. ๒๑๗๘) และในคราวเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ ๒ ตอนที่พระเจ้าตากสินมหาราช สมัยยังกำลังรวบรวมกำลังพลทางหัวเมืองชายทะเลตะวันออก เพื่อทำการกู้อิสระภาพในครั้งนั้นได้ยกกำลังมาถึงเมืองตราด
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น    (พ.ศ. ๒๓๒๕ - ๒๓๙๔)
            ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้มีการแบ่งหัวเมืองต่าง ๆ ในพระราชอาณาจักรใหม่ให้ขึ้นกับฝ่ายต่าง ๆ เมืองตราดถูกกำหนดให้ขึ้นกับกรมท่า ในฐานะที่เป็นหัวเมืองฝั่งทะเล และเป็นเมืองท่าแห่งหนึ่ง ดังเช่นที่เคยเป็นในสมัยกรุงศรีอยุธยา และในรัชสมัยนี้เอง องเชียงสือ ผู้ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงชุบเลี้ยงไว้ ได้คิดหลบหนีกลับไปประเทศญวน เพื่อกอบกู้บ้านเมืองในปี พ.ศ. ๒๓๒๘ องเชียงสือได้หลบหนีมาอยู่ที่เกาะกูด ในเขตเมืองตราด เป็นเวลานานถึง ๒ ปี
            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นระยะที่มีราชการทัพกับ ลาว เขมร และญวน ติดต่อกันยาวนาน เมืองตราดได้เข้าร่วมกับราชการทัพมาตลอดเวลาที่มีเหตุการณ์ ครั้งเมื่อเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ ยกทัพมาทางนครราชสีมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๖๙ นั้น ได้โปรดเกล้า ฯ ให้มีการคุมกองทัพเมืองจันทบุรี เมืองระยอง เมืองตราด ยกพลหัวเมืองฝ่ายทะเลตะวันออกห้าพัน ขึ้นไปทางพระตะบองบ้าง เมืองสุรินทร์บ้าง และเมืองสังขะบ้าง เกณฑ์เขมรป่าดงไปด้วยห้าพัน ยกทัพไปตีเจ้าราชบุตร ณ เมืองนครจำปาสัก แล้วให้เป็นทัพกระหนาบกองทัพฝ่ายตะวันออก คือ ทัพพระยาราชสุภาวดี (สิงห์) ด้วย
            ในปี พ.ศ. ๒๓๗๖ เกิดจลาจลขึ้นในเมืองญวน ทางหัวเมืองต่าง ๆ ได้ส่งคนออกไปสืบราชการที่เมืองญวนและเขมร แล้วแจ้งเข้ามาทางพระนคร โดยกรมการเมืองพระตะบอง เมืองเสียมราฐ เมืองจันทบุรี และเมืองตราด ได้แต่งขุนหมื่นกับไพร่ออกไปสืบราชการ นอกจากนั้นยังได้ส่งพวกจีนที่หนีจากเมืองญวนมาอยู่ที่เมืองตราด และเมืองจันทบุรี เข้ามาในกรุงเทพ ฯ ในครั้งนั้นได้โปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยาพระคลัง และเจ้าพระยาบดินทรเดชายกทัพไปรบญวน ในการนี้ได้เกณฑ์เลกไทยเมืองตราด เมืองจันทบุรี และเมืองเขมร ที่เมืองกำปอด และเมืองป่ายาง รวมห้าพันคน ในการนี้ให้พระยาอภัยโนฤทธิ์ พระยาเพชรบุรี พระยาราชบุรี พระยาระยอง พระยาตราด พระยานครไชยศรี พระยาสมุทรสงคราม เป็นปีกซ้ายปีกขวาของทัพหน้า ต่อมาเมื่อเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์  สิงหเสนี) ได้เข้าอยู่ที่เมืองโจดกแล้วจึงให้พระยาตราด คุมพลเมืองตราดทั้งสิ้นไปตั้งสิวซ่อมแซมเรือรบเก่าของเขมร และยังมีเรื่องที่พระปลัดเมืองตราดคุมไพร่พลไปรับเรือรบที่พระยาตราด ไปตั้งซ่อมแซมอยู่ที่เมืองกำปอด และเมืองกะพงโสมเจ็ดสิบลำ คุมไปส่งที่เมืองบันทายมาศ
            ในราชการที่เกี่ยวกับ เขมร และญวน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมืองตราดมีบทบาทในการเข้าร่วมรบด้วยทุกครั้ง
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว - พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. ๒๓๙๘ - ๒๔๕๓)
            พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งเกาะกงซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเมืองตราดมาก่อนขึ้นเป็นเมืองใหม่ พระราชทานนามว่า เมืองปัจจันตคีรีเขต ซึ่งเป็นเมืองที่มีอาณาเขตติดต่อกับเขมร และญวน ควบคู่กันกับการตั้งเมืองบางนางรมย์ เป็นเมืองประจวบคีรีขันธ์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๘
            ในปี พ.ศ. ๒๔๒๒ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ  ให้จัดตั้งสถานีทหารเรือขึ้น ตามชายฝั่งทะเลด้านตะวันออก เรียกกันว่า สเตชั่นทหารเรือ เพื่อปราบปรามโจรสลัด และการรักษาพระราชอาณาเขต โดยได้จัดตั้งขึ้นที่ชลบุรี บางพระ บางละมุง ระยอง แกลง จันทบุรี ขลุง ตราด เกาะกง และเกาะเสม็ดนอก ทำให้เมืองตราด และเกาะกง เป็นสเตชั่นทหารเรือ เพื่อเป็นด่านป้องกันภัยคุกคามจากฝรั่งเศสและทางทะเล

           เมืองตราดถูกฝรั่งเศสยึดครอง  จากการขัดแย้งทางการเมืองระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ทำให้ไทยต้องยอมรับคำขาดของฝรั่งเศสเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๖ โดยฝรั่งเศสได้ยึดเมืองจันทบุรีไว้เป็นประกัน แม้ทางฝ่ายไทยได้ทำตามเงื่อนไขแล้ว ฝรั่งเศสก็ไม่ยังไม่ยอมถอนทหาร คงยึดเมืองจันทบุรีไว้ถึง ๑๐ ปี ทำให้ต้องมีการตกลงทำสัญญาขึ้นใหม่อีก เป็นผลให้จังหวัดตราด และบรรดาเกาะทั้งหลายใต้แหลมลิงลงไป ต้องตกไปเป็นของฝรั่งเศส เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๗ ฝรั่งเศสได้จัดการปกครองโดยแต่งตั้งเจ้าพนักงานฝรั่งเศส และเขมรมาประจำที่จังหวัดตราด คือตำแหน่งเรสิดังต์ (Resident) คล้ายกับข้าหลวงกำกับราชการ กับผู้ช่วยหรือเลขานุการของเรสิดังต์ ทั้งสองคนนี้เป็นชาวฝรั่งเศส เรสิดังต์มีหน้าที่ปกครองบังคับบัญชาเหนือเจ้าพนักงานฝ่ายทหาร และพลเรือนทั้งสิ้น ตลอดจนมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีความด้วย ฝ่ายทหารมีจำนวน ๒ กองร้อย กองร้อยที่ ๑ เป็นทหารเขมรประจำอยู่ภายในเมือง มีนายทหารฝรั่งเศสเป็นผู้บังคับกองร้อย กองร้อยที่ ๒ เป็นทหารญวน ประจำอยู่ที่ตำบลแหลมงอบ มีนายทหารฝรั่งเศสเป็นผู้บังคับกองร้อยเช่นกัน มีพนักงานด่านภาษีเป็นชาติฝรั่งเศส ประจำอยู่ในเมือง ๑ คน มีหน้าที่ตรวจตราเก็บภาษีขาเข้าออกตลอดจนการออกใบอนุญาติ จำหน่ายสุรายาฝิ่น และมีผู้ช่วยที่เป็นชาติฝรั่งเศส มีหน้ที่ตรวจสินค้า และจับกุมผู้กระทำผิดในด้านภาษีอากรต่าง ๆ อีก ๑ คน และมีเจ้าพนักงานที่ทำหน้าที่อื่น ๆ อีกหน้าที่ละ ๑ คน รวมทั้งหมด ๙ คน
            เจ้าพนักงานฝ่ายเขมรที่องค์ศรีสวัสดิ์เจ้ากรุงกัมพูชา จัดส่งมาทำหน้าที่ต่าง ๆ อีกจำนวนหนึ่งได้แก่ ตำแหน่งเจ้าเมือง ๑ คน ปลัด ๑ คน เจ้าพนักงานชั้นรองลงมาทำหน้าที่คล้ายหัวหน้าตำรวจ เรียกว่า รักษาราษฎร กับมีพลตำรวจเขมรจำนวนหนึ่ง มีหน้าที่ตรวจตราปราบปรามโจรผู้ร้าย
           การได้เมืองตราดกลับคืนมา  เมื่อ ๒๓ มีนาคม ๒๔๔๙ ได้มีการตกลงทำสัญญาอีกฉบับหนึ่ง เรียกว่าหนังสือสัญญาระหว่างสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามกับเปรสิเดนต์ แห่งรีปับลิคฝรั่งเศส ลงนามที่กรุงเทพฯ มีสาระว่าฝรั่งเศสยอมคืนเมืองตราดให้ไทย แต่ฝ่ายไทยต้องยอมยกดินแดนเมืองพระตะบอง เมืองเสียมราฐ และเมืองศรีโสภณ ให้ฝรั่งเศสเป็นการแลกเปลี่ยน ทั้งสามเมืองดังกล่าวมีดินแดน ประมาณ ๕๐,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร แลกกับเมืองตราดซึ่งมีพื้นที่ประมาณ ๒,๘๒๐ ตารางกิโลเมตร ยกเว้นเมืองประจันตคีรีเขตต์ (เกาะกง) มิได้คืนให้ไทย
            การรับมอบเมืองตราดกระทำเมื่อ ๖ กรกฎาคม ๒๔๕๐ หลังพิธีมอบแล้ว ได้มีพิธีสมโภชเมืองโดยตกแต่งประดับประดาสถานที่ราชการ และอัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ขึ้นประดิษฐานบนศาลากลางจังหวัด นิมนต์พระสงฆ์ ๕๕ รูป เท่าพระชนมายุของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ มีการเจริญพระพุทธมนต์เย็น โดยมีเจ้าคณะจังหวัดจันทบุรีเป็นประธาน ตอนกลางคืนมีการประดับโคมไฟและมีมหรสพฉลอง ตามบ้านเรือนตั้งเครื่องบูชาจุดโคมไฟ รุ่งเช้ามีการตักบาตรแด่พระภิกษุสงฆ์ เวลาบ่ายอัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์ประดิษฐานที่หน้าศาลากลางจังหวัด แล้วพระยาวิเศษสิงหนาท (ปิ๋ว  บุนนาค) ข้าหลวงประจำจังหวัดเชิญธงมหาราชขึ้นสู่ยอดเสา ลั่นกลองชัยและประโคมดนตรี กองทหารยิงสลุต เรือมกุฏราชกุมาร ซึ่งทอดสมออยู่ที่ปากอ่าวยิงสลุต พระสงฆ์สวยชัยมงคลคาถา บรรดาข้าราชการและประชาชนเปล่งเสียงไชโย ๓ ครั้ง เสร็จแล้วเจ้าคณะจังหวัดจันทบุรี อ่านคาถาถวายพระพรชัยมงคล ทางฝ่ายราษฎรมีขุนสนิทกำนันตำบลวังกระแจะ อ่านคำถวายชัยมงคลในนามประชาชน คำถวายชัยมงคลได้ส่งไปทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ โดยทางโทรเลข ณ ทวีปยุโรป พระองค์ได้ทรงมีพระราชโทรเลขพระราชทานตอบมีข้อความดังนี้
            "ถึงผู้ว่าราชการ และราษฎรเมืองตราด
                เรามีความจับใจเป็นอย่างยิ่งในถ้อยคำที่เจ้าทั้งหลายได้กล่าวแสดงความจงรักภักดีต่อตัวเรา เรามีความยินดีที่ได้เมืองตราดกลับคืน และขออนุโมทนาในการกุศลที่เจ้าทั้งหลายได้พร้อมกันจัดทำในคราวนี้ การที่เจ้าทั้งหลายพลัดพรากจากเรานั้น เรามีความเสียดายเป็นอันมาก แต่บัดนี้มีความยินดีนักที่เจ้าทั้งหลายได้กลับคืนมาในพระราชอาณาจักรของเรา ซึ่งเราจะเป็นธุระจัดการทะนุบำรุงให้เจ้าทั้งหลาย ได้รับความสุขสำราญต่อไปภายหน้า เราจะได้มาเมืองตราดเพื่อเยี่ยมราษฎรชาวเมืองตราด ซึ่งเป็นที่ชอบพอและได้เคยพบปะกันมาแต่ก่อน ๆ นั้นแล้วด้วย"
           การเสด็จพระราชดำเนินประพาสเมืองตราด  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชปรารภว่า เมื่อเสด็จนิวัติพระนคร จะเสด็จแวะเมืองตราดก่อน
            ดังนั้นเมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับจากยุโรปโดยประทับเรือพระที่นั่งมหาจักรีที่เมืองปีนัง เมื่อ ๒๖ ตุลาคม ๒๔๕๐ จึงได้เสด็จมายังเมืองตราดโดยมาประทับแรมที่เกาะกูด เมื่อ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๕๐ ได้เสด็จประพาสเกาะกระดาษ และถึงเมืองตราด เมื่อ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๔๕๐ การเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมจังหวัดตราดในครั้งนั้น ได้เสด็จพระราชดำเนินตั้งแต่ปากน้ำจากท่าเรือจ้าง ขึ้นไปเมืองตราด โดยประมาณ ๖๐ เส้น

            เมื่อเสด็จออกจากเรือพระที่นั่งขึ้นประทับพลับพลาที่ท่าเรือแล้ว พระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถา ถวายเสร็จแล้ว พระยาวิเศษสิงหนาท (ปิ๋ว  บุนนาค) ผู้ว่าราชการเมืองตราดกราบบังคมทูลพระกรุณาอัญเชิญเสด็จพระราชดำเนิน ไปประทับ ณ ที่พักผู้ว่าราชการเมือง ฝ่ายคณะสงฆ์มีเจ้าคณะมณฑลจันทบุรีเป็นประธาน ได้อ่านคำถวายพระพรชัยมงคลแทนพระสงฆ์ เมืองตราด ผู้ว่าราชการเมืองตราดได้อ่านคำถวายพระพรชัยมงคล ในนามประชาชนเมืองตราด จบแล้วพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำรัสตอบ จบแล้วได้พระราชทาน พระแสงราชศัตราประจำเมืองตราด แก่พระยาวิเศษสิงหนาท ผู้ว่าราชการเมือง จากนั้นได้โปรดเกล้า ฯ ให้พนักงานแจก เสมาที่ระลึกในการเสด็จประพาสยุโรปแก่เด็ก และเหรียญเป็นบำเหน็จให้แก่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน โปรดเกล้า ฯ ให้หัวหน้าราษฎรทุกชาติทุกภาษา นำเครื่องสักการะบูชาถวาย เสร็จแล้วเสด็จพระราชดำเนินประพาสถนนในเมืองแล้ว เสด็จประทับเรือพระที่นั่งออกจากท่าเรือต่อไปยังเมืองจันทบุรี
ยุทธนาวีที่เกาะช้าง   ดูเรื่องการรบที่เกาะช้าง
| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |