| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

มรดกทางธรรมชาติ

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง
            อุทยาน ฯ หมู่เกาะช้างได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ แห่งที่ ๔๕ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ตั้งอยู่ในเขตตำบลเกาะช้าง กิ่งอำเภอเกาะช้าง และตำบลเกาะหมาก กิ่งอำเภอเกาะกูด ประกอบด้วยเกาะใหญ่น้อยประมาณ ๔๐ เกาะ ครอบคลุมพื้นที่ทางบก และทางทะเลประมาณ ๖๕๐ ตารางกิโลเมตร เกาะช้างเป็นเกาะใหญ่ที่สุดมีป่าไม้ขึ้นอยู่หนาแน่น เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำลำคลองเป็นจำนวนมาก มีพื้นที่ประมาณ ๔๓๐ ตารางกิโลเมตร เกาะช้างมีธรรมชาติที่หลากหลาย ประกอบด้วยป่าไม้ที่เป็นป่าดิบเขียวตลอดปี มีน้ำตกที่สวยงาม มีหาดทรายที่ขาวสะอาด
 
           น้ำตกธารมะยม  เป็นน้ำตกที่อยู่ทางด้านฝั่งตะวันออกของเกาะช้าง เดิมเรียกน้ำตกคลองมะยม เพราะอยู่ใกล้คลองมะยม ในอดีตพระมหากษัตริย์ไทยได้เสด็จประพาสถึง ๓ พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสน้ำตกแห่งนี้ถึง ๙ ครั้ง โปรดให้บันทึกบรรยายความงามของน้ำตกธารมะยมไว้อย่างละเอียด และได้ทรงจารึกพระปรมาภิไธยย่อ "จ.ป.ร" ไว้ที่น้ำตกทั้ง ๓ ชั้น ทำให้น้ำตกธารมะยมเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญทางประวัติศาสตร์ นอกเหนือจากด้านความงามตามธรรมชาติ
            น้ำตกธารมะยม มี ๓ ชั้น ปกตินิยมไปเที่ยวกันในชั้นที่ ๑ และชั้นที่ ๒ เพราะอยู่ใกล้ไปถึงได้สะดวก ส่วนชั้นที่ ๓ ต้องปีนขึ้นไปตามแนวสันเขา ใช้เวลาเดินทางไป - กลับเต็มวัน อย่างไรก็ตามพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประพาสถึงชั้นบนสุด

เมืองเกาะครึ่งร้อย
            จังหวัดตราด มีพื้นที่ทางทะเลประมาณ ๗,๒๖๐ ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยหมู่เกาะใหญ่น้อยเป็นจำนวนมาก มีจำนวน ๕๐ เกาะ คือ
           กิ่งอำเภอเกาะช้าง  มี ๓๐ เกาะ ได้แก่ เกาะช้าง เกาะช้างน้อย เกาะคลุ้ม เกาะง่าม เกาะจิกกลาง เกาะชะลอม เกาะหวาย เกาะกระบุง เกาะทราย เกาะทะลุ เกาะปรี เกาะปัน เกาะพะเนียด เกาะมะปราง เกาะมะปริง (มี ๒ เกาะที่ หมู่ ๓ และหมู่ ๗  ตำบลเกาะช้าง) เกาะมะพร้าวนอก เกาะมะพร้าวใน เกาะมันนอก เกาะลิ่ม เกาะสลัก เกาะสุวรรณ เกาะหยวก เกาะหินขี้ช้าง เกาะเหลายานอก เกาะเหลายากลาง เกาะเหลายาใน เกาะใบตั้ง เกาะไม้ชี้เล็ก และเกาะไม้ชี้ใหญ่
           กิ่งอำเภอเกาะกูด  มี ๑๕ เกาะ ได้แก่ เกาะกูด เกาะรังใหญ่ เกาะหมาก เกาะกระดาด เกาะหนึ่ง เกาะสอง เกาะสาม เกาะขาม เกาะมันใน เกาะระยั้งนอก เกาะระยั้งใน เกาะรังเล็ก เกาะเล็ก เกาะแรด และเกาะไม้ชี้
           อำเภอแหลมงอบ มี ๕ เกาะ ได้แก่ เกาะลิง เกาะมะปริง เกาะนก เกาะจิกกลาง และเกาะปุย
            นอกจากนี้ยังมีเกาะเล็กเกาะน้อย มีลักษณะเป็นหินโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำทะเลอีกมาก ยังไม่มีชื่อเรียก บางแห่งชาวประมงจะตั้งชื่อเรียกกันเอง
            มรดกทางธรรมชาติทางทะเล ได้แก่ ปะการัง ดอกไม้ทะเล พื้นที่หญ้าทะเลที่เป็นอาหารของปลาพะยูน หอยชนิดต่าง ๆ หาดทราย โขดหิน และบรรดาสัตว์ทะเลนานาชนิด
 
สุดแผ่นดินสุดท้องทะเล
            จังหวัดตราดเป็นแผ่นดินที่อยู่สุดทะเลตะวันออก ที่ถูกโอบล้อมด้วยทะเลและภูเขา โดยมีทิวเขาบรรทัดด้านทิศตะวันออก ทอดตัวเป็นแนวยาว จากพื้นที่ตอนบนของจังหวัดที่ติดกับจังหวัดจันทบุรี และประเทศกัมพูชา ไปสู่พื้นที่ตอนใต้สุดของจังหวัดตราด ในเขตตำบลหาดเล็ก อำเภอคลองใหญ่ ที่ติดกับประเทศกัมพูชา มีความยาวของพรมแดนธรรมชาติของทิวเขาบรรทัดได้ประมาณ ๑๖๕ กิโลเมตร และในขณะเดียวกัน ชายฝั่งทะเลของจังหวัดตราด มีความยาว ประมาณ ๑๖๕ กิโลเมตรเท่ากันกับ แนวสันเขา
            เกาะที่มีความสำคัญ และถือว่าเป็นดินแดนสุดเขตทะเลตะวันออกของประเทศไทย คือ เกาะกูด ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นที่สองรองลงมาจากเกาะช้าง

เกาะช้างอัญมณีงามในท้องทะเลตราด
            เกาะช้างเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดตราด เป็นเกาะใหญ่ที่สุดในจังหวัดชายทะเลทางฝั่งตะวันออกของอ่าวไทย และใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศไทย ตัวเกาะมีรูปร่างสัณฐานคล้ายช้างหมอบ
            เกาะช้างมีขนาดกว้าง ประมาณ ๑๔ กิโลเมตร ยาวประมาณ ๓๐ กิโลเมตร ตั้งอยู่ใกล้ฝั่งทางใต้ของแหลมงอบ อยู่ห่างจากชายฝั่งประมาณ ๘ กิโลเมตร ภูมิประเทศเป็นภูเขาเกือบตลอดทั้งเกาะ ยอดเขาสูงสุดคือ เขาสลักเพชร สูงประมาณ ๗๔๔ เมตร และยังมีภูเขาที่เรียกชื่อตามลักษณะของยอดเขาที่เห็น เขาจอมปราสาท และเขาอีแอ่น
            เกาะช้างเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร และมีน้ำตกหลายแห่ง เช่นน้ำตกธารมะยม น้ำตกคลองพุ น้ำตกคลองนนทรี และน้ำตกคลองพร้าว เป็นต้น รอบเกาะมีชายหาดที่สวยงามเป็นแนวยาว
            เกาะช้างเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติ เกาะช้างซึ่งเป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลแห่งที่สี่ของประเทศไทย มีธรรมชาติที่สวยงาม มีสถานที่ที่น่าสนใจอยู่หลายแห่ง
เกาะกระดาด
            เกาะกระดาด เป็นเกาะเล็ก ๆ อยู่ในเขตตำบลเกาะหมาก กิ่งอำเภอเกาะกูด มีขนาดความกว้างประมาณ ๑.๒ กิโลเมตร ยาวประมาณ ๒.๔ กิโลเมตร ที่มาของชื่อเกาะกระดาดมีว่า แต่เดิมเกาะนี้มีต้นกระดาดขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก
            เกาะกระดาดเป็นเกาะแรก และเกาะเดียวในประเทศไทย ที่มีการออกโฉนดที่ดินแสดงกรรมสิทธิได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เรื่องเดิมมีอยู่ว่า ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฝรั่งเศสได้เข้ามาล่าอาณานิคม ในแถบพื้นที่อาเซียอาคเนย์ เกาะกระดาดก็อยู่ในแผนของฝรั่งเศสที่จะเข้ายึดครองด้วย ถึงกับทำเครื่องหมายเอาไว้ในแผนที่อินโดจีน พร้อมทั้งส่งคนเข้ามาตั้งรกรากร่วมกับคนไทย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรู้เท่าทันจึงโปรดเกล้า ฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงนครไชยศรีสุรเดชทางทำโฉนดเกาะกระดาดขึ้น และให้ซื้อเกาะกระดาดทั้งเกาะเดิม และผู้ที่ฝรั่งเศสส่งคนมาจับจองด้วยราคา ๒,๐๐๐ บาท จึงทำให้เกาะกระดาดไม่ตกเป็น อาณานิคมของฝรั่งเศสไป
            พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินเกาะกระดาดหลายครั้ง ทำให้แหลมแห่งหนึ่งในเกาะกระดาด ได้ชื่อว่าแหลมพลับพลา เพราะเคยมีการสร้างพลับพลาที่ประทับสำหรับรับเสด็จในสมัยที่เสด็จประพาส
            เกาะกระดาดมีลักษณะพิเศษกว่าเกาะอื่น ๆ คือ เกาะนี้จะแบนราบและมีเนินเขาเตี้ย ๆ อยู่ตอนกลาง แลดูเหมือนหมวกปีกกว้างลอยอยู่กลางทะเล มีหาดทรายรอบเกาะ น้ำทะเลใสและมีแนวปะการังหลากสี ใต้ท้องทะเลรอบเกาะ มีปลาทะเลและหอยนานาชนิด มีโขดหินที่ธรรมชาติสร้างไว้อย่างงดงาม มีแหล่งน้ำจืด และมีดินโป่งกับหญ้าอ่อนขึ้นอยู่ทั่วไป จึงมีสัตว์ป่านานาชนิดอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก

เกาะกูด
            เกาะกูด เป็นเกาะที่อยู่ไกลสุดจากฝั่งทะเลจังหวัดตราด ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของจังหวัด ห่างจากอำเภอเมือง ฯ ประมาณ ๘๐ กิโลเมตร เกาะกูดมีขนาดความกว้างประมาณ ๑๒ กิโลเมตร ความยาวประมาณ ๒๕ กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ ๑๐๕ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๖๕,๖๐๐ ไร่ ทิศใต้จดน่านน้ำกัมพูชา และอยู่ใกล้เกาะกงมากกว่าฝั่งอ่าวไทย จึงได้ยกฐานะเป็นกิ่งอำเภอเกาะกูด เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๓ ประกอบด้วย ๒ ตำบลคือ ตำบลเกาะกูด และตำบลเกาะหมาก ประกอบด้วยเกาะใหญ่น้อยรวม ๒๔ เกาะ รวมพื้นที่ประมาณ ๑๒๙ ตารางกิโลเมตร ประมาณ ๘๑,๐๐๐ ไร่ แบ่งออกเป็นสามหมู่เกาะคือ
           หมู่เกาะกูด  มีอยู่ ๓ เกาะได้แก่ เกาะกูด เกาะแรด และเกาะไม้ชี้
           หมู่เกาะหมาก  มีอยู่ ๙ เกาะ ได้แก่ เกาะหมาก เกาะระยั้งใน เกาะระยั้งนอก เกาะผี เกาะขาม เกาะกระดาด เกาะนก  เกาะนอก และเกาะใน
           หมู่เกาะรัง  มีอยู่ ๒ เกาะ ได้แก่ เกาะรังใหญ่ เกาะรังเล็ก เกาะตุ๊น เกาะกระ เกาะเทียน  เกาะทองหลาง เกาะมะปริง เกาะยักษ์ เกาะกำปั่น เกาะใหญ่ เกาะกลาง และเกาะเล็ก
            เกาะกูดมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ทั้งบนบก และใต้น้ำ มีแนวปะการังอยู่รอบเกาะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่หมู่เกาะรัง มีปะการังที่สวยงาม และอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ นอกจากนั้นยังมีกองหินใต้น้ำ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำนานาชนิด บริเวณรอบเกาะมีชายหาดทอดตัวเป็นแนวยาวเม็ดทรายขาวสะอาด และละเอียดนุ่ม น้ำทะเลใสสะอาด สามารถเล่นกีฬาทางน้ำได้ดี เช่น ที่หาดตะเภา หาดคลองเจ้า หาดคลองละหาน หาดคลองหินดำ หาดอ่าวพร้าว ฯลฯ

            พื้นที่บนบกของเกาะกูด ยังมีสภาพเป็นป่าไม้เบญจพรรณที่อุดมสมบูรณ์ มีสัตว์ป่านานาชนิด คลองที่สำคัญได้แก่ คลองเจ้า ซึ่งเกิดจากเขาดินแดง และยอดเขาทางด้านทิศตะวันออกของเกาะ แล้วไหลลงสู่ทะเลทางด้านทิศตะวันตกของเกาะที่ อ่าวคลองเจ้า นอกจากนี้ยังมีน้ำตกคลองเจ้า (น้ำตกอนัมก๊ก) ซึ่งเป็นน้ำตกที่สวยงามมากมีน้ำไหลตลอดปี

พื้นที่ที่แคบที่สุดของประเทศไทย
            ส่วนที่แคบที่สุดของจังหวัดตราด วัดจากชายฝั่งทะเลด้านทิศตะวันตกจรดทิวเขาบรรทัด แนวพรมแดนธรรมชาติแบ่งเขตแดนไทยกับ กัมพูชามีระยะทางเพียง ๔๕๐ เมตร อยู่ในเขตบ้านโขดทราย ตำบลหาดเล็ก อำเภอคลองใหญ่ พื้นที่บริเวณนี้เป็นผืนแผ่นดินไทยที่แคบที่สุด

หินเขาโต๊ะโม๊ะ และหินดำ
            จังหวัดตราด เป็นเมืองที่มีหินที่มีลักษณะแปลก คือมีลักษณะเป็นแท่งหินคล้ายเสาสี่เหลี่ยม มีสีดำและสีน้ำตาลเข้มเป็นแท่ง ๆ อันกันอยู่ บางแท่งสูงถึงประมาณ ๗ เมตร สันนิษฐานว่า หินดังกล่าวเกิดจากการแทรกดันตัวของหินอัคคีชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นหินที่ให้กำเนิดพลอยต่าง ๆ จากภายใต้เปลือกโลกเกิดการเย็นตัว และตกผลึกได้ทั้งบริเวณภายใต้เปลือกโลก และบนผิวโลก ส่วนที่เย็นตัวภายนอกเปลือกโลกจะเย็นตัวเร็ว เป็นผลให้เกิดรอยแตกของหินในแนวตั้งเป็นมุมฉากกับพื้นผิว เกิดรอยแตกในลักษณะแท่งหลายเหลี่ยมเป็นลักษณะที่แปลกและหายาก

            นอกจากนั้น ยังพบหินอีกประเภทหนึ่ง ที่บริเวณปากคลองหินดำ บ้านคลองหินดำ ตำบลเกาะกูด กิ่งอำเภอเกาะกูด และที่เกาะขาม ตำบลเกาะหมาก กิ่งอำเภอเกาะกูด เป็นหินที่ดำสนิททั้งภายนอกและภายในมีหลายขนาด วางตัวเรียงรายตามแนวลำคลองอย่างน่าแปลกตา นักธรณีวิทยาสันนิษฐานว่าเป็นลาวาที่พุ่งออกมาสู่ผิวโลกภายนอก จากรอยแตกของผิวโลก เมื่อลาวานี้เย็นตัวลงจึงเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าว

แม่น้ำตราด
            แม่น้ำตราด เกิดจากแอ่งซับน้ำใต้ดินบนผืนป่าสมบูรณ์ที่เขาบรรทัด แล้วไหลจากชายแดนที่อำเภอบ่อไร่ ผ่านแหล่งเพาะปลูกสำคัญในเขตอำเภอเขาสมิง ไปจนจรดทะเลที่อำเภอเมือง ฯ  แต่เดิมแม่น้ำตราดเป็นแหล่งน้ำที่ใช้ในการอุปโภค และบริโภค และเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญ ที่เชื่อมโยงสังคมบ้านป่า เช่นหนองบอน บ่อไร่ ช้างทูน ฉางเกลือ กับชุมชนภายนอกที่เจริญกว่า ต่อมาเมื่อมีการพบแร่รัตนชาติในบริเวณนั้น จึงมีการชำระล้างดินเพื่อหาพลอย ทำให้แม่น้ำตราดตื้นเขินตลอดสาย แม่น้ำตราดเป็นแม่น้ำสายหลักของเมืองตราด มีความสำคัญด้านการประมงทางทะเล ทั้งด้านท่าเทียบเรือประมง และโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำ

อ่างเก็บน้ำเขาระกำ
            อ่างเก็บน้ำเขาระกำ เกิดจากพื้นที่ธรรมชาติที่เป็นหุบเขา ประกอบด้วยเขาระกำ เขาไม้ชี้ และเขามะปริง อยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ อำเภอเขาสมิง และอำเภอแหลมงอบ เป็นแหล่งเก็บน้ำขนาดใหญ่จุประมาณ ๒๑ ล้านลูกบาศก์เมตร เก็บพักน้ำไว้เพื่อการเกษตร อุปโภคบริโภค ลดปัญหาน้ำท่วม เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาและใช้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ มีนกน้ำจำนวนมาก อยู่อาศัยในบางฤดู
| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |