| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

จังหวัดราชบุรี

            จังหวัดราชบุรี ตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคกลาง ด้านตะวันตกของประเทศไทย มีแม่น้ำแม่กลองไหลผ่านเขตจังหวัด ประมาณ ๔๕ กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ ๕,๒๐๐ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๓.๒ ล้านไร่
            ลักษณะภูมิประเทศ แบ่งออกได้เป็นสามลักษณะคือ ที่ราบสูง ได้แก่ พื้นที่บริเวณชายแดนด้านตะวันตก ติดต่อกับพม่า มีเทือกเขาตะนาวศรีเป็นแนวพรมแดน เป็นบริเวณที่มีภูเขาน้อยใหญ่สลับซับซ้อน อยู่ในเขตอำเภอสวนผึ้ง อำเภอจอมบึง อำเภอปากท่อ และกิ่งอำเภอบ้านคา ที่ราบลุ่ม ได้แก่ บริเวณลุ่มน้ำแม่กลอง เป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การเพาะปลูก หรือประกอบอาชีพทางเกษตรกรรม พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ อำเภอโพธาราม และอำเภอบ้านโป่ง ที่ราบต่ำ ได้แก่ บริเวณที่ราบตอนปลายแม่น้ำแม่กลอง มีน้ำขึ้นลงตลอดปี เพราะอิทธิพลน้ำทะเลที่หนุนเข้ามาทางปากแม่น้ำแม่กลอง คลองดำเนินสะดวก และแม่น้ำอ้อม พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตอำเภอบางแพ อำเภอวัดเพลง และอำเภอดำเนินสะดวก มีคูคลองเชื่อมโยงกันกว่า ๒๐๐ คลอง
แหล่งน้ำธรรมชาติ


            แม่น้ำแม่กลอง  เป็นแม่น้ำสายใหญ่ที่ไหลผ่าน จังหวัดกาญจนบุรี เข้าสู่จังหวัดราชบุรีในเขต อำเภอบ้านโป่ง อำเภอโพธาราม อำเภอเมือง ฯ อำเภอวัดเพลง และอำเภอดำเนินสะดวก แล้วไหลเข้าสู่ จังหวัดสมุทรสงคราม บริเวณสองฝั่งแม่น้ำแม่กลองเป็นที่ราบลุ่ม ดินมีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การกสิกรรม ประชากรในจังหวัดราชบุรี ได้รับประโยชน์จากแม่น้ำแม่กลอง ในด้านอุปโภคบริโภค กสิกรรม การประมงน้ำจืด และการคมนาคมทางน้ำ
            แม่น้ำพาชี  มีกำเนิดจากเทือกเขาตะนาวศรี ประกอบด้วยลำธารหลายสาย ไหลผ่านเขตอำเภอสวนผึ้ง และอำเภอจอมบึง แล้วไปบรรจบลำน้ำแควน้อยที่ อำเภอเมืองกาญจนบุรี แม่น้ำสายนี้ก่อให้เกิดประโยชน์ในการกสิกรรม การอุปโภค และบริโภค แก่ประชากรที่อาศัยอยู่สองฝั่งน้ำอย่างมาก แต่ไม่สามารถใช้เป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำได้ เนื่องจากมีความคดเคี้ยวและท้องน้ำเต็มไปด้วยแก่งหิน


            คลองดำเนินสะดวก  เป็นคลองขุดเชื่อมต่อระหว่างแม่น้ำแม่กลองกับแม่น้ำท่าจีน ขุดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๙ - ๒๔๑๑ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  เนื่องจากขณะนั้นบริเวณทุ่งราบภาคกลางตอนใต้  บรรดาคลองต่าง ๆ ที่ขุดไว้แต่เดิมมีสภาพตื้นเขิน เกิดการขาดแคลนน้ำ และการคมนาคมทางน้ำไม่สะดวก ทำให้การเพาะปลูกทรุดโทรมลง ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ขุดซ่อมคลองดำเนินสะดวก ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๔๖ - ๒๔๔๗ โดยใช้แรงงานจีน
            ห้วยแม่ประจัน  ต้นน้ำเกิดจากเขายึดในเทือกเขาตะนาวศรี  เป็นแหล่งน้ำของบ้านไทยประจัน อำเภอปากท่อ ไหลลงสู่แม่น้ำภาชี และแม่น้ำเพชรบุรี
            ห้วยท่ามะเกลือ  อยู่ในเขตพื้นที่ ระหว่างอำเภอเมือง กับปากท่อ
            นอกจากนี้ยังมีแหล่งน้ำขนาดเล็กจากหนองบึงต่าง ๆ ได้แก่ บึงกาจับ และบึงวังมะนาว ตำบลบ้านม่วง บึงกระจับตำบลหนองกบ อำเภอบ้านโป่ง
ป่าไม้


            จังหวัดราชบุรี มีป่าไม้อยู่ประมาณ ๓ ล้านไร่เศษ แต่พื้นที่ป่าถูกบุกรุกทำลายตลอดมา ปัจจุบันเหลืออยู่เพียง ๑ ล้านไร่เศษ ประมาณร้อยละ ๒๕ ของพื้นที่จังหวัด มีป่าสงวนอยู่ ๗ แห่ง เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า ๑ แห่ง
            จังหวัดราชบุรีแต่เดิมมีพร้อมทั้งป่าเขาและทุ่งท่า มีเขตพื้นที่ป่าครอบคลุมบริเวณพื้นที่ทางแถบตะวันตกของจังหวัด ตั้งแต่อำเภอจอมบึงไปจนถึง อำเภอสวนผึ้ง จรดชายแดนติดต่อกับพื้นที่ป่าของประเทศพม่า ในบริเวณ ตอนใต้ในเขตพื้นที่ อำเภอปากท่อจะเชื่อมต่อกับป่าไม้ในเขต จังหวัดเพชรบุรี การที่ผืนป่ามีพื้นที่ลดน้อยลงเกิดจากการทำเหมืองแร่ ทำไร่ ทำฟืน เผาถ่าน เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องเคลือบดินเผา และอุตสาหกรรมผลิตปูนขาว ปูนแดง
            ในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ มูลนิธิส่งเสริมอาชีพในสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ  ได้ร่วมกับกองทัพบก และส่วนราชการต่าง ๆ ดำเนินการโครงการสวนป่าเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ขึ้น ประกอบด้วยการจัดสร้าง สวนป่าสิริกิติ์ภาคกลาง บริเวณแก่งส้มแมว บ้านห้วยม่วง ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง และดำเนินการอนุรักษ์ป่าในบริเวณบ้านไทยประจันต์ ตำบลยางหัก อำเภอปากท่อ จัดเป็นอุทยานเฉลิมพระเกียรติ์ไทยประจันต์ ปัจจุบันพื้นที่ป่าสมบูรณ์ในเขต จังหวัดราชบุรี จึงเหลืออยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ และบางส่วนของพื้นที่ป่าของราชพัสดุ ตามแนวพรมแดนไทย - พม่า
ประชากร
            ประชากรในจังหวัดราชบุรีมีความหลากหลายทางเชื้อชาติ และเผ่าพันธุ์ มาแต่โบราณกาล เพราะราชบุรีเป็นอู่รวมวัฒนธรรม เป็นเมืองที่ผู้คนจากต่างแดน และชาวพื้นเมืองอีกหลายกลุ่มที่อาศัยอยู่บริเวณชายแดนไทยกับพม่า อพยพเข้ามาตั้งรกราก ทำให้ราชบุรีมีชนหลายเชื้อชาติ แต่ละเชื้อชาติมีความแตกต่างกันทางวัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมประเพณี


            คนไทยภาคกลางพื้นถิ่น  จะเห็นได้เด่นชัดที่ชุมชนบ้านโพหัก ตำบลโพหัก อำเภอบางแพ เป็นที่เชื่อกันว่า ชาวบ้านโพหัก เป็นคนไทยแท้ สังเกตได้จากสำเนียงภาษาที่ใช้จะแปลกกว่า คนในท้องถิ่นอื่นของจังหวัดราชบุรี เช่นการใช้คำนำหน้าชื่อว่า ออ บางคนกล่าวว่าคำเหล่านี้ เป็นคำไทยแท้มาแต่โบราณกาล
            ชาวไทยเชื้อสายจีน   ชายไทยเชื้อสายจีน มีบทบาททางเศรษฐกิจของเมืองราชบุรีอย่างมาก ชาวจีนได้อพยพเข้ามายังดินแดนไทยมากที่สุด ในปี พ.ศ. ๒๔๕๐ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ชาวจีนที่อพยพเข้ามาแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้ ๕ กลุ่ม ตามสำเนียงการพูด คือ จีนแต้จิ๋ว จีนแคะ จีนไหหลำ จีนกวางตุ้ง และจีนฮกเกี้ยน ชาวจีนเหล่านี้กระจายอยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ อำเภอดำเนินสะดวก อำเภอบ้านโป่ง และอำเภอโพธาราม


            ชาวไท - ยวน  ชาวยวนมีถิ่นฐานเดิมอยู่ในเขตอาณาจักรล้านนา ดินแดนทางตอนเหนือของไทย ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้มีรับสั่งให้กองทัพกรมหลวงหริรักษ์ กองทัพเมืองเวียงจันทน์ และกองทัพเมืองล้านนา ยกขึ้นไปตีเมืองเชียงแสน เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๔๗ ในขณะนั้นเมืองเชียงแสนถูกพม่ายึดครองไว้ กองทัพฝ่ายไทยยึดเมืองเชียงแสนได้ แล้วให้รื้อกำแพงเมือง กวาดต้อนครัวชาวเมือง ประมาณ ๒๓,๐๐๐ คน อพยพลงมาทางใต้ แล้วแบ่งออกเป็น ๕ ส่วน ส่วนหนึ่งให้ไปอยู่ที่เชียงใหม่ ส่วนที่สองให้ไปอยู่ที่เมืองลำปาง ส่วนที่สามให้อยู่ที่เมืองน่าน ส่วนที่สี่ให้ไปอยู่ที่เมืองเวียงจันทน์ และส่วนสุดท้ายพามาที่กรุงเทพ ฯ และให้ไปอยู่ที่สระบุรีกับราชบุรี
            ชาวยวนที่มาอยู่ที่เมืองราชบุรี พากันมาตั้งบ้านเรือนบริเวณริมฝั่งขวาของแม่น้ำแม่กลอง เรียกว่า บ้านไร่นที ต่อมาได้ขยายครัวเรือนออกไปที่ตำบลคูบัว ตำบลดอนตะโก ตำบลอ่างทอง ตำบลเจดีย์หัก ตำบลหินกอง ตำบลดอนไร่ อำเภอเมือง ตำบลหนองโพ ตำบลบางกระโด อำเภอโพธาราม และตำบลหนองปลาหมอ อำเภอบ้านโป่ง เป็นต้น


            ชาวไทยมอญ  ชาวมอญอพยพเข้าสู่ประเทศไทย ตามที่ปรากฏหลักฐานครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. ๒๑๒๗ หลังจากที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงประกาศอิสระภาพที่เมืองแครง ครั้งนั้น พระยาเกียรติ พระยารามได้พาชาวมอญตามเสด็จมากรุงศรีอยุธยาเป็นจำนวนมาก ในเวลาต่อมาก็ได้มีการอพยพเข้ามาอีกหลายครั้งตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ชาวมอญในจังหวัดราชบุรี ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณสองฝั่งแม่น้ำแม่กลอง ในเขตอำเภอโพธาราม และอำเภอบ้านโป่ง


            ชาวไทยกะเหรี่ยง  ชายไทยกะเหรี่ยงในเขตจังหวัดราชบุรี ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณชายแดนใกล้เทือกเขาตะนาวศรี สันนิษฐานว่าชาวกะเหรี่ยงที่เข้ามาอยู่ในเขตจังหวัดราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ น่าจะอพยพมาจากเมืองทะวายในพม่า ชาวกะเหรี่ยงได้เล่าสืบต่อกันมาว่า เมื่อประมาณสองร้อยปีกว่ามาแล้วซึ่งเป็นห้วงเวลาต้นสมัยรัตนโกสินทร์ พวกกะเหรี่ยงถูกพม่ารุกราน จึงพากันอพยพข้ามเทือกเขาตะนาวศรีเข้ามาประเทศไทยทาง อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี แล้วแยกย้ายไปตั้งอยู่เขตจังหวัดราชบุรีที่บ้านเก่ากะเหรี่ยง (บ้านหนองนกกระเรียน) แล้วโยกย้ายมาทางตะวันตกจนถึงลำน้ำพาชี ตั้งบ้านเรือนอยู่ในเขตอำเภอสวนผึ้ง และกิ่งอำเภอบ้านคา อีกส่วนหนึ่งแยกไปทางใต้ถึงต้นแม่น้ำเพชรบุรี
            ชาวกะเหรี่ยงที่อยู่ในเขตอำเภอสวนผึ้ง และกิ่งอำเภอบ้านคา จะอยู่ในเขตตำบลสวนผึ้ง ตำบลบ้านบึง ตำบลบ้านคา และตำบลตะนาวศรี นอกจากนั้นยังอยู่ที่ตำบลยางหัก อำเภอปากท่ออีกด้วย
            ชาวไทยลาวโซ่ง  ชาวลาวโซ่งมีถิ่นฐานเดิมอยู่ในพื้นที่ระหว่างอาณาจักรหลวงพระบางกับอาณาจักรญวน ทั้งสองอาณาจักรนี้ทำสงครามกันอยู่ตลอดมา ชาวลาวโซ่งจึงต้องอพยพหลบหนีภัยสงคราม บางส่วนย้ายไปอยู่ในดินแดนญวน บางส่วนอพยพเข้าไปอยู่ในดินแดนลาว ซึ่งอาจถูกกวาดต้อนไปจากการทำสงครามของทั้งสองฝ่าย และอีกส่วนหนึ่งอพยพเข้ามาอยู่ในดินแดนไทย
            ลาวโซ่งที่อพยพเข้ามาในประเทศไทย ในสมัยธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่จังหวัดเพชรบุรี  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้ชาวลาวโซ่งที่อพยพเข้ามาใหม่ ไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับที่อพยพมาแต่เดิม และขยายพื้นที่ออกไป ส่วนหนึ่งเข้าไปตั้งถิ่นฐานในเขตจังหวัดราชบุรี ที่บ้านตลาดควาย อำเภอจอมบึง ที่บ้านดอนคลัง บ้านบัวงาม บ้านโคกตับเป็ด อำเภอดำเนินสะดวก บ้านดอนคา บ้านตากแดด บ้านดอนพรม อำเภอบางแพ และบ้านภูเขาทองอำเภอปากท่อ


            ไทยลาวตี้  ไทยลาวตี้ หรือไทยลาวเวียง เป็นคนเชื้อสายลาวจากเมืองเวียงจันทน์ เข้ามาตั้งถิ่นฐานในเขตเมืองราชบุรี ตั้งแต่สมัยธนบุรีตลอดมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ที่เขาแร้ง อำเภอเมือง ฯ บ้านฆ้อง บ้านบ่อมะกรูด บ้านเลือก บ้านสิงห์ บ้านกำแพงเหนือ บ้านกำแพงใต้ บ้านดอนทราย บ้านหนองรี บ้านบางลาน อำเภอโพธาราม บ้านดอนเสลา บ้านหนองปลาดุก บ้านหนองอ้อ บ้านฆ้องน้อย อำเภอบ้านโป่ง บ้านนาสมอ บ้านสูงเนิน บ้านทำเนียบ บ้านเกาะ บ้านหนอง บ้านเก่า บ้านวังมะเดื่อ อำเภอจอมบึง
            ชาวไทยเขมร  จากการเล่าสืบต่อกันมากล่าวว่า ชาวเขมรลาวเดิมถูกกวาดต้อนมาจากทางเหนือ ปัจจุบันได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ในเขตตำบลคุ้งกระถิน และตำบลคุ้งน้ำวน อำเภอเมือง ฯ บ้านกอไผ่ ตำบลบ่อกระดาน ตำบลวัดยางงาม บ้านบ่อตะคร้อ บ้านหัวถนน บ้านหนองจอก ตำบลดอนทราย บริเวณวัดศรัทธาราษฎร์ บ้านบางนางสูญ ตำบลวัดเพลง อำเภอวัดเพลง บ้านคลองขนอม คลองพะเนาว์ บ้านโคกพริก ตำบลเกาะศาลพระ บ้านดอนมะขามเทศ ตำบลหัวโพ อำเภอบางแพ บ้านเตาอิฐ บ้านหนองม่วง ตำบลวังน้ำเย็น บ้านเสาธง บ้านทำนบ ตำบลวัดแก้ว และบ้านท่าราบ ตำบลบางแพ
            ชาวเขมรลาวเดิม มีภาษาพูดสำเนียงคล้ายภาษาชาวอีสาน ศัพท์สำนวนบางคำคล้ายภาษาไทยเหนือ และอีสาน
            ได้มีการกวาดต้อนชาวเขมร จากเมืองโพธิสัตว์ เสียมราฐ และพระตะบองมาอยู่ที่เมืองราชบุรี เขมรเหล่านี้ไม่ใช่เขมรลาวเดิม  เพราะมีภาษาพูดที่แตกต่างกัน เขมรกลุ่มนี้ใช้ภาษาพูดเช่นเดียวกับเขมรในกัมพูชา ได้เข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่สองฝั่งแม่น้ำแม่กลอง ทางด้านตะวันออกของเมืองราชบุรี ที่บ้านพงสวาย บ้านคลองแค บ้านคุ้งกระถิน บ้านคุ้งน้ำวน บ้านอู่เรือ บ้านรากขาม บ้านห้วยหมู และบ้านเด่นกระต่าย อำเภอเมือง ฯ บ้านสมถะ ตำบลบางโตนด บ้านสนามชัย ตำบลเจ็ดเสมียน อำเภอโพธาราม บ้านโคกพระ ตำบลปากท่อ อำเภอปากท่อ บ้านหนองกระทุ่ม ตำบลหนองกระทุ่ม

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |