| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

พัฒนาการทางประวัติศาสตร์

การตั้งถิ่นฐาน
            มีแหล่งโบราณคดีเป็นจำนวนมาก กระจายอยู่ทั่วพื้นที่แทบทุกอำเภอของจังหวัดราชบุรี มีทั้งที่เป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และสมัยประวัติศาสตร์
            จากข้อมูลที่สำรวจพบ พอสรุปได้ว่าจังหวัดราชบุรีเคยเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์มาแล้ว ตั้งแต่สมัยที่ใช้เครื่องมือหินจนถึงสมัยเครื่องมือโลหะ
แหล่งโบราณคดีในพื้นที่สูง แถบเทือกเขาตะนาวศรี
            พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตอำเภอสวนผึ้ง ใกล้แม่น้ำภาชี รวมทั้งห้วย และสาขาต่าง ๆ แหล่งโบราณคดีที่สำคัญมีดังนี้
            เหมืองลุงสิงห์   ตำบลสวนผึ้ง พบขวานหินขัด หินลับ จักรหิน เศษภาชนะดินเผา เครื่องมือหินกระเทาะที่อาจใช้เป็นเครื่องมือขุดแร่
            เหมืองเริ่มชัย  ตำบลสวนผึ้ง พบขวานหินขัด จักรหิน กำไลหิน เศษภาชนะดินเผา
            ห้วยม่วง  ตำบลตะนาวศรี พบเครื่องมือหินขัด กำไลหินขัด หินงบน้ำอ้อย หินลับ ขวาน หอก และกระพรวนสำริด
            เหมืองผาปกค้างคาว  บ้านผาปก ตำบลตะนาวศรี พบขวานหินขัด เครื่องประดับ
            เหมืองตะโกปิดทอง  พบขวานหินกะเทาะ ขวานหินขัด และใบหอกสำริด
            บ้านห้วยสวนพลู  ตำบลบ้านบึง กิ่งอำเภอบ้านคา พบขวานหินขัด ขวานหินรูปจงอยปากนก ลูกปัดหินอะเกต เครื่องประดับสำริด ชิ้นส่วนประติมากรรมดินเผา ขี้แร่เหล็ก รูปหล่อสำริดคล้ายน แบบเดียวกับที่พบจากแหล่งโบราณคดีดอนตาเพชร อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี
            บ้านนาขุนแสน  ตำบลสวนผึ้ง พบหลักฐานการหลอมโลหะ เศษภาชนะดินเผาทั้งเนื้อดินและเนื้อแกร่ง เศษเครื่องถ้วยจีนมีรอยประทับเป็นลวดลาย ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของเครื่องถ้วยจากเตาชิงไป๋ในราชวงศ์ซ้อง (พ.ศ. ๑๕๐๓ - ๑๘๒๐) ขวานหินขัด ขวานหินขัดรูปจงอยปากนก ขี้แร่ดีบุก มีด เสียม และตุ๊กตาดินเผารูปสัตว์
            บ้านห้วยน้ำใส   ตำบลสวนผึ้ง พบเศษภาชนะดินเผา ขวานหิน จักรหิน ลูกปัดหิน หินลับ ขวานสำริด ภาชนะสำริด และขวานหินกะเทาะ สันนิษฐานว่าอยู่ในกลุ่มวัฒนธรรมโฮบิเนียน ประมาณ ๑๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว
แหล่งโบราณคดีในเขตที่ราบสลับภูเขาโดด
            พบในเขตอำเภอจอมบึง และอำเภอโพธาราม ส่วนใหญ่เป็นแหล่งถ้ำ เนินดินใกล้แหล่งน้ำ และพื้นที่ราบที่น้ำท่วมไม่ถึง แหล่งโบราณคดีที่สำคัญมีดังนี้
           บ้านปากบึง  ตำบลจอมบึง มีพื้นที่ลาดเอียงลงสู่ที่ลุ่มจอมบึง ซึ่งมีสภาพเป็นขอบของแอ่งน้ำขังมาก่อน พบขวานสำริด กำไลสำริด ลูกกระพวนสำริด ลูกปัดแก้วและหิน เครื่องมือเหล็ก เศษภาชนะดินเผา เศษภาชนะสำริด สันนิษฐานว่า แหล่งนี้เคยเป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนเกษตรกรรม ที่มีความสามารถในการหล่อโลหะ และหลอมลูกปัดแก้ว เมื่อประมาณ ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว
            ไร่ชัฏหนองคา อยู่ที่บ้านหนองบัว ตำบลจอมบึง มีลักษณะเป็นเนินดิน ตั้งอยู่บนริมแอ่งที่ลุ่มจอมบึง พบลูกปัดแก้วทึบแสง เถ้ากระดูกมนุษย์ เปลือกหอยแครงในโอ่งแบบมอญ และได้พบหลักฐานการอยู่อาศัยสืบเนื่องถึงสมัยทวาราวดี และลพบุรี
            ถ้ำน้ำมนต์ อยู่ที่บ้านเขารังเสือ ตำบลปากช่อง เป็นแหล่งถ้ำ พบเศษภาชนะดินเผา กระดูกสัตว์ เปลือกหอย และแม่พิมพ์ดินเผา สำหรับหล่อขวานสำริด
            ถ้ำหนองศาลเจ้า  อยู่ที่เขาคันหอก บ้านหนองศาลเจ้า ตำบลจอมบึง พบชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์ เศษภาชนะดินเผา ลูกปัดแก้ว และเครื่องมือเหล็ก
            ถ้ำเขารังเสือ ตำบลปากช่อง พบเครื่องปั้นดินเผา ลูกปัดหิน และแม่พิมพ์ขวานสำริด ดินเผาคล้ายกับที่พบที่ถ้ำน้ำมนต์
            พุน้ำค้าง  ตำบลหนองกวาง อำเภอโพธาราม ลักษณะเป็นเนินดิน พบขวานหินกะเทาะ ขวานหินขัด กำไลหิน ก้อนขี้แร่เหล็ก เครื่องมือเหล็ก เศษภาชนะดินเผา
            ถ้ำเขาขวาก บ้านหนองกวาง ตำบลหนองกวาง อำเภอโพธาราม อยู่บนเขาหินลูกโดด พบเศษภาชนะดินเผา ลูกปัดหิน กำไลหิน กระดูกมนุษย์ แหวน และกำไลสำริด
แหล่งโบราณคดีในแถบที่ราบลุ่มแม่น้ำแม่กลอง

            พื้นที่ที่พบกระจายอยู่ในเขตอำเภอบ้านโป่ง อำเภอเมือง ฯ และอำเภอบ้านโป่ง อำเภอเมือง ฯ และอำเภอบางแพ แหล่งที่สำคัญได้แก่
            บ้านน้ำพุ ตำบลน้ำพุ อำเภอเมือง ฯ พบขวานหินขัด หินลับ แกนหิน กำไลหิน หินทุบผ้าเปลือกไม้ ใบหยก เศษภาชนะดินเผา และกระดูกสัตว์ มีขวานหินขัดที่ทำยังไม่เสร็จอยู่เป็นจำนวนมาก
            ถ้ำเขาซุ่มดง  บ้านเขาซุ่มดง ตำบลน้ำพุ อำเภอเมือง ฯ พบขวานหินขัดชนิดมีบ่า แท่งลูกปัดแก้วที่ยังทำไม่เสร็จ แวดินเผา แหวนสำริด ภาชนะดินเผาและเศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ เผาด้วยอุณหภูมิต่ำ เครื่องมือเหล็ก  กำไลทำด้วยกระดูก และฟันมนุษย์ และชิ้นส่วนกระโหลกช้าง
            บ้านโคกพริก  ตำบลคุ้งกระถิน อำเภอเมือง ฯ พบโครงกระดูก ๓ โครง กระดูกประเภทวัวและควาย เขากวางป่า ฟันหมู เปลือกหอยแครง แวดินเผา กระสุนดินเผา กำไลเปลือกหอย ลูกปัดแก้ว ลูกปัดหิน และลูกปัดที่ทำจากกระดูกแกนกลางปลา
            คูบัว  ตำบลคูบัว อำเภอเมือง ฯ พบกลองมโหรทึก มีรูปดาวสิบแฉกอยู่กลางหน้ากลอง ประดับลวดลายวงกลมไข่ปลา ลายคล้ายนกบิน และลายเชือกที่หูกลอง เหมือนกับที่พบที่เขาขวาก
            โคกพลับ บ้านโคกพลับ อำเภอบางแพ ลักษณะเป็นเนินดินที่อยู่อาศัยมีอายุอยู่ประมาณ ๒,๐๐๐ - ๓,๐๐๐ ปี พบโครงกระดูก ๔๘ โครง มีการฝังสิ่งของเครื่องใช้ และเครื่องประดับพร้อมกับผู้ตาย
พัฒนาการทางประวัติศาสตร์
            พื้นที่ในเขตจังหวัดราชบุรี เป็นแหล่งที่ตั้งชุมชนโบราณ และเป็นเมืองท่าสำคัญมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ จนถึงสมัยประวัติศาสตร์ ในสมัยประวัติศาสตร์สืบเนื่องมาจากการเดินเรือ และการติดต่อค้าขายระหว่างจีนกับอินเดีย มีการขยายตัวมากขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๖ เป็นต้นมา ชาวอินเดียได้เข้ามาทำการค้า และตั้งหลักแหล่งอยู่กับชาวพื้นเมือง ในอาเซียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีความอุดมสมบูรณ์จนได้ชื่อว่า สุวรรณภูมิ หรือสุวรรณทวีป ได้นำเอาวัฒนธรรมและศาสนาเข้ามาเผยแพร่ ทำให้คาบสมุทรอินโดจีนกลายเป็นทางผ่าน และจุดแลกเปลี่ยนสินค้า ระหว่างชาวตะวันตก อันได้แก่ อินเดีย ลังกา อาหรับ เปอร์เซีย กรีก โรมัน กับชาวตะวันออก ได้แก่จีน และประชาชนตามแว่นแคว้นต่าง ๆ ในเขตทะเลจีนใต้
            ในช่วงประมาณพุทธศตวรรษที่ ๗ ชนชาวพื้นเมืองบริเวณตอนล่างของคาบสมุทรอินโดจีน ได้รวมตัวกันก่อตั้งแคว้นฟูนันขึ้น  เมื่อล่วงมาถึงพุทธศตวรรษที่ ๘ - ๙ จึงเริ่มมีศูนย์การค้าแห่งใหม่ ในดินแดนลุ่มแม่น้ำท่าจีนทางด้านทิศตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงชุมชนจากสังคมหมู่บ้านไปสู่สังคมเมือง ในพุทธศตวรรษที่ ๑๐ - ๑๑ ภายใต้แม่แบบจากอารยธรรมอินเดีย เกิดกลุ่มวัฒนธรรมสมัยประวัติศาสตร์ระยะแรกขึ้นในบริเวณภาคกลางของประเทศไทย ในช่วงประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๕ ที่เรียกชื่อว่า ทวาราวดี ในส่วนของจังหวัดราชบุรีคือ เมืองโบราณคูบัว ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๘ ได้มีวัฒนธรรมเขมรจากประเทศกัมพูชา แพร่ขยายเข้ามาแทนที่
      ราชบุรีในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๕  ในพื้นที่จังหวัดราชบุรี ได้พบหลักฐานทางโบราณคดี เนื่องในวัฒนธรรมทวาราวดี กระจายอยู่ทั่วไปตามสองฟากฝั่งแม่น้ำแม่กลอง โดยเฉพาะในเขตอำเภอเมือง ฯ อำเภอวัดเพลง และอำเภอบ้านโป่ง แหล่งโบราณคดีที่สำคัญได้แก่


            เมืองบ้านคูบัว   อยู่ในเขตตำบลคูบัว อำเภอเมือง ฯ มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมมน กว้างประมาณ ๘๐๐ เมตร ยาวประมาณ ๒,๐๐๐ เมตร ขนาดของพื้นที่และลักษณะการวางผังเมืองคล้ายคลึงกันกับเมืองโบราณนครชัยศรี หรือนครปฐมโบราณ จากร่องรอยของหอยทะเลหลายชนิดในชั้นดินแสดงว่า เมืองโบราณคูบัวตั้งอยู่ใกล้ทะเลเป็นพื้นที่ที่น้ำทะเลเคยท่วมถึงอยู่หลายแห่ง
            สภาพเมืองโบราณคูบัวมีลักษณะเป็นเนินดินธรรมชาติสูงประมาณ ๕ เมตร จากระดับน้ำทะเล และสูงกว่าพื้นที่โดยรอบประมาณ ๑-๒ เมตร มีคูน้ำ ๑ ชั้น และคันดิน ๒ ชั้นล้อมรอบ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลาดสูงขึ้นไปจนต่อเนื่องกับเนินเขาด้านทิศตะวันตก ส่วนริมของที่ราบลาดสู่ฝั่งทะเล ด้านเหนือติดต่อกับลำห้วยคูบัวที่ถูกดัดแปลงให้เป็นคูเมือง ด้านทิศใต้เป็นพื้นที่ราบลุ่มชายฝั่ง ด้านทิศตะวันออกมีแม่น้ำอ้อมซึ่งเป็นแม่น้ำแม่กลองสายเก่า ด้านทิศตะวันตกมีลำห้วยชินสีห์ ที่แยกจากลำห้วยคูบัวเป็นคูเมือง ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือปรากฏร่องรอยแม่น้ำใหญ่ที่เรียกกันว่า อู่เรือ มีลำรางเป็นแนวไปสู่แม่น้ำอ้อมทางทิศตะวันออก ต่อมาจนถึงบริเวณกลางเมืองโบราณ สันนิษฐานว่าเดิมคงเป็นท่าจอดเรือสมัยโบราณ
            จากการสำรวจเมืองคูบัวทั้งภายใน และภายนอกตัวเมืองรวมกว่า ๔๕ แห่ง พบว่าเป็นฐานสถูปเจดีย์มากกว่าฐานโบสถ์วิหาร ที่สร้างขึ้นในพุทธศาสนา ทั้งฝ่ายเถรวาท และฝ่ายมหายาน
            วัสดุที่นำมาใช้ก่อสร้าง ศาสนสถานส่วนใหญ่นิยมก่อด้วยแผ่นอิฐขนาดใหญ่ โดยทั่วไปมีขนาดกว้าง ๑๗ เซนติเมตร ยาว ๓๕ เซนติเมตร หนา ๑๐ เซนติเมตร เนื้ออิฐผสมด้วยแกลบข้าวเหนียวเมล็ดใหญ่ แล้วใช้ดินเหนียวเนื้อละเอียด ผสมยางไม้หรือน้ำอ้อยเป็นดินสอ หรือตัวประสาน การเรียงอิฐใช้วิธีเรียงตามแนวยาว วางสลับกับแนวกว้างในชั้นเดียวกัน รูปแบบของอาคารศาสนสถานที่เหลือเพียงฐานอาคาร สามารถแบ่งออกได้เป็น ๘ แบบ คือ
                แบบที่ ๑  ฐานรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ไม่มีการย่อมุม
                แบบที่ ๒  ฐานรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ที่แต่ละด้านมีสามมุม
                แบบที่ ๓  ฐานรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ที่มีฐานเรียง ลดหลั่นกันไปเป็นชั้น
                แบบที่ ๔  ฐานรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ที่มีบันไดยื่นออกมาจากบริเวณส่วนกลางของฐานทั้งสี่ด้าน
                แบบที่ ๕  ฐานรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ที่มีมุขยื่นออกมาจากมุมทั้งสี่ของฐาน
                แบบที่ ๖   ฐานรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส  ผืนผ้า
                แบบที่ ๗   ฐานรูปกลม
                แบบที่ ๘  ฐานรูปแปดเหลี่ยม
            โบราณวัตถุส่วนใหญ่ที่พบ มีทั้งที่ทำขึ้นเนื่องในความเชื่อในทางศานา และที่ทำขึ้นเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน สำหรับโบราณวัตถุที่ทำขึ้นจากความเชื่อทางศาสนา นอกจากจะเป็นประติมากรรมดินเผา และปูนปั้นประดับอาคารโบราณสถานแล้ว ยังพบพระพุทธรูปที่ทำด้วยดินเผา และปูนปั้นอีกเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาท มีฐานเป็นรูปดอกบัวรองรับพระหัตถ์ซ้ายหงายขึ้นบนพระเพลา พระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอพระอุระในปางปฐมเทศนา ในขณะที่พระพิมพ์ทำขึ้นเพื่อเป็นการอุทิศบุญกุศลในการสืบทอดพระพุทธศาสนา เป็นรูปพระพุทธรูปปางสมาธิ ปางมารวิชัย หรือปางปฐมเทศนา ภายในซุ้มเรือนแก้วหรือซุ้มแบบพุทธคยา และเป็นพระพุทธรูปแดงยมกปาฏิหาริย์ที่เมืองสาวัตถี  พระพิมพ์บางชิ้นมีคาถา เย ธมฺมา ภาษาบาลีจารึกอยู่ด้านหลัง นอกจากนั้นได้พบพระพิมพ์ที่สลักจากหินชนวนสีขาว เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิภายใต้พระกลด หรือฉัตร ด้านข้างขนาบด้วยพระสถูป และธรรมจักรที่ตั้งอยู่บนเสา เป็นพระพิมพ์ในวัฒนธรรมทวาราวดีที่หายากที่สุดชิ้นหนึ่งของไทย นอกจากนั้นยังพบชิ้นส่วนพระธรรมจักรที่สลักจากหินอีกด้วย
            ในด้านประติมากรรมรูปคนที่ทำด้วยดินเผา และปูนปั้นที่พบ แสดงให้เห็นถึงลักษณะรูปร่างหน้าตาการแต่งกาย และการดำรงชีวิตของผู้คนในสมัยนั้น มีลักษณะใบหน้าที่ค่อนข้างกลมแบน คิ้วโก่ง ตาโปนยาว โหนกแก้มสูง จมูกแบนใหญ่ ปากกว้าง และริมฝีปากหนา
            โบราณวัตถุที่พบได้แก่เครื่องปั้นดินเผาที่ทำเป็นภาชนะ และเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น แว ตะคันเบี้ย ตะเกียงที่ประดับลวดลาย ลูกกระสุน เครื่องโลหะที่ทำเป็นเครื่องประดับหรือเครื่องใช้และอาวุธ เครื่องประดับแก้วที่ส่วนใหญ่เป็นลูกปัด เครื่องใช้เครื่องประดับที่ทำจากหิน เช่นที่ลับมีด ก้อนเส้าแทนเตา เครื่องบดสมุนไพร ลูกปัด เครื่องปั้นดินเผาที่เป็นภาชนะดินเผา มีหม้อ ไห ชาม กาน้ำ ซึ่งขึ้นรูปด้วยหม้อ และใช้แป้นหมุน มีทั้งเนื้อหยาบและเนื้อละเอียด มีลายประดับและไม่มีลายประดับ ตะเกียงที่มีต้นแบบมาจากตะเกียงสำริด ที่ชาวตะวันตกนำเข้ามา โลหะที่พบมากที่สุดตามลำดับ ได้แก่  สำริด  ตะกั่ว  เหล็ก  ทองคำ และทองแดง
แหล่งโบราณคดีบนเทือกเขางู

            ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของตัวเมืองราชบุรี อยู่ในเขตตำบลเกาะพลับพลา อำเภอเมือง ฯ หลักฐานที่พบในถ้ำทั้ง ๔ แห่ง สันนิษฐานว่าได้ทำขึ้นในช่วงประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๓ เพื่อใช้เป็นสถานที่พระภิกษุมาจำพรรษา ปฏิบัติธรรมที่ห่างไกลจากผู้คน ถ้ำทั้ง ๔ แห่งได้แก่ ถ้ำฤาษี ถ้ำจีน ถ้ำจาม และถ้ำฝาโถ ในแต่ละถ้ำจะมีพระพุทธรูปปางต่าง ๆ เช่น ปางปฐมเทศนาในถ้ำฤาษี ถ้ำจีนและถ้ำจาม พระพุทธรูปปางแสดงยมกปาฏิหาริย์ ปางสมาธิและปางปรินิพพานที่ถ้ำจาม และพระพุทธรูปปางปรินิพพานที่ถ้ำฝาโถ
            นอกจากแหล่งโบราณคดีทั้งสองแห่งที่กล่าวแล้ว ยังพบหลักฐานในวัฒนธรรมทวาราวดี ในเขตจังหวัดราชบุรีอีกหลายแห่ง ในเขตอำเภอต่าง ๆ ได้แก่ อำเภอเมือง ฯ อำเภอวัดเพลง อำเภอบ้านโป่ง และอำเภอจอมบึง
            ในเขตอำเภอเมือง ฯ พบที่วัดมหาธาตุ ตำบลหน้าเมือง ที่ฐานชั้นล่างสุดทางด้านทิศใต้ ขององค์ปรางค์ประธาน มีการใช้อิฐแบบทวาราวดีเรียงเป็นแนวยาว พระพุทธรูปหลายองค์มีลักษณะพุทธศิลปแบบทวาราวดี เช่นมีจารึกคาถาหัวใจพระพุทธศาสนา เย ธมฺมา เป็นอักษรปัลลวะ ภาษาบาลีที่เบื้องพระปฤษฎางค์เศียรพระพุทธรูปขนาดใหญ่ มีพระพักตร์เป็นแบบพื้นเมือง พระขนงโก่งยาวต่อกันเป็นรูปปีกกา พระนาสิกใหญ่แบน พระโอษฐ์หนา ขมวดพระเกศาเป็นลายก้นหอยเวียนขวาขนาดใหญ่ อันเป็นเอกลักษณ์สำคัญของพระพุทธรูปในพุทธศิลปแบบทวาราวดี ที่วัดเขาเหลือพบเทวรูปพระอิศวร มีลักษณะพระพักตร์และขมวดพระเกศา คล้ายกับประติมากรรมในศิลปอินเดียสมัยคุปตะ และรูปพระโพธิสัตว์ที่ทำขึ้นในช่วง
พุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๓ ในบริเวณวัดเขาสะดึง พบชิ้นส่วนประติมากรรมหินขนาดเล็กรูปคชลักษมีเป็นภาพแสดงกำเนิดของพระลักษมี นอกจากนี้ยังพบเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ถัง (พ.ศ. ๑๑๖๑ - ๑๔๕๐) เป็นแจกันเคลือบสีเขียวมีหูจับ
            ในเขตอำเภอวัดเพลง ทั้งสองฝั่งแม่น้ำอ้อม พบร่องรอยชุมชนโบราณที่มีแนวคูน้ำคันดินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ในวัฒนธรรมทวาราวดีหลายแห่ง โดยเฉพาะตั้งแต่บริเวณโคกพริกถึงเวียงทุน ที่พบเนินดินโบราณกระจายอยู่ทั่วไป ที่โคกพริกเคยพบซากสถูปและเครื่องประดับประเภทลูกปัดจำนวนมาก ในแม่น้ำอ้อมเคยพบซากเรือจม ภายในเรือมีเครื่องปั้นดินเผาสมัยต่าง ๆ
            ในเขตอำเภอบ้านโป่ง ที่บริเวณวัดขุนสีห์ ตำบลบ้านม่วง พบร่องรอยเนินดินที่มีเศษภาชนะดินเผา เนินดินมีลักษณะเป็นซากสถูป พบชิ้นส่วนประดับสถาปัตยกรรมทั้งที่เป็นดินเผา และปูนปั้นในศิลปทวาราวดีเป็นจำนวนมาก
            ในเขตอำเภอจอมบึง พบที่ถ้ำพระพิมพ์บริเวณเชิงเขาสำประแจ พบพระพิมพ์เป็นพระพุทธรูปปางปฐมเทศนาภายใต้สถูปแบบพุทธคยา มีสถูปขนาดเล็กอยู่โดยรอบ ที่ฐานมีจารึกคาถาหัวใจพระพุทธศาสนา เย ธมฺมา
            วัฒนธรรมทวาราวดีเจริญรุ่งเรืองอยู่ในพื้นที่จังหวัดราชบุรีประมาณ ๕๐๐ ปี ก็เสื่อมสลายลง และอิทธิพลวัฒนธรรมเขมร ได้แพร่ขยายเข้ามาแทนที่ ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๕ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๖ เมืองคูบัวซึ่งเคยมีความสำคัญยิ่งเมืองหนึ่ง ในภาคกลางของประเทศไทย ก็ถูกทิ้งร้างไป และเกิดศูนย์กลางการค้าแห่งใหม่บนคาบสมุทรภาคใต้ของไทย เช่นที่เมืองไชยา นครศรีธรรมราช และเมืองสทิงพระในจังหวัดสงขลา
ราชบุรีในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๘

            เมืองราชบุรีปัจจุบันอยู่ในเขตตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง ฯ อยู่ทางริมฝั่งด้านตะวันตกของแม่น้ำแม่กลอง ฟากเดียวกันกับเมืองโบราณคูบัว และเทือกเขางู มีผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างประมาณ ๗๕๐ เมตร ยาวประมาณ ๑,๒๕๐ เมตร ตัวเมืองแต่เดิมมีกำแพงล้อมรอบสามด้านคือด้านทิศเหนือ ด้านทิศใต้ และด้านทิศตะวันตก ส่วนด้านทิศตะวันออกใช้แม่น้ำแม่กลองเป็นคูเมือง และใช้เป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำ ภายในเมืองมีวัดมหาธาตุตั้งอยู่เกือบใจกลางเมือง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยทวาราวดีในห้วงเวลาเดียวกับการสร้างเมือง ประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๕ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ต่อมาเมื่อวัฒนธรรมขอมแพร่ขยายเข้ามา จึงได้มีการสร้างศาสนสถานที่เรียกว่า ปราสาท ซ้อนทับในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางเมืองตามคติความเชื่อเรื่องจักรวาลของขอม เมื่อปราสาทชำรุดหักพังลงจึงได้สร้าง พระปรางค์ ตามลักษณะและรูปแบบสมัยอยุธยา
            อิทธิพลวัฒนธรรมขอมที่สำคัญได้แก่ ทับหลังเหนือกำแพงแก้วที่ก่อด้วยศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า วางเรียงซ้อนกันล้อมองค์พระปรางค์ ทั้ง ๔ ด้าน สลักจากหินทรายสีชมพู เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิประทับในซุ้มเรือนแก้ว ต่อเนื่องกันเป็นแนวยาวตลอดความยาวของกำแพง อันเป็นศิลปขอมแบบบายน (ประมาณ พ.ศ. ๑๗๒๐ - ๑๗๖๐) รูปครุฑยุดนาคประดับราวบันไดทางเข้าระเบียงคด ล้อมรอบองค์ด้านทิศตะวันออก สลักจากหินทรายแดง ด้านหน้าเป็นรูปครุฑยุดนาคสามเศียรอยู่ตอนกลาง ล้อมรอบด้วยนาคห้าเศียรอีกชั้นหนึ่ง ด้านหลังเป็นรูปนาคห้าเศียรไม่มีรูปครุฑประกอบ คล้ายกับศิลปบายนของขอม พระพิมพ์ดินเผาที่ขุดพบที่ฐานพระปรางค์ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ แบ่งออกได้เป็นสามแบบคือ แบบแรกเป็นภาพพระพุทธรูปปางสมาธิ องค์เดียวประทับภายในซุ้ม แบบที่สองเป็นภาพพระพุทธรูปทรงเครื่องปางมารวิชัยสามองค์ ประทับในซุ้มเรือนแก้ว และแบบที่สามเป็นภาพพระพุทธรูปทรงเครื่องปางมารวิชัย เรียงเป็นแถวอยู่ด้านล่างในซุ้มเรือนแก้ว ลักษณะพระพุทธรูปในพระพิมพ์เหมือนแบบพระพิมพ์ในศิลปขอมแบบบายน ที่พบทั่วไปในบริเวณภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย


            เมืองโบราณโกสินารายณ์  ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำแม่กลอง ในเขตตำบลท่าผา อำเภอบ้านโป่ง ผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส กว้างยาวด้านละประมาณ ๙๕๐ เมตร พบร่องรอยแนวกำแพงเมืองเหลืออยู่เฉพาะทางด้านทิศเหนือ ด้านทิศใต้และด้านทิศตะวันออกเป็นคันดินสูงประมาณ ๖๐ เซนติเมตร  กว้างประมาณ ๑๐ เมตร ด้านตะวันตกถูกรื้อทิ้งไปแล้ว นอกกำแพงเมืองทางด้านทิศเหนือ มีสระน้ำขนาดใหญ่กว้างประมาณ ๒๐๐ เมตร ยาวประมาณ ๔๐๐ เมตร เรียกว่า สระโกสินารายณ์ ถือว่าเป็นสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ และนำมาใช้เป็นชื่อเรียกเมืองโบราณด้วย ภายในตัวเมืองมีซากโบราณสถานขนาดใหญ่เรียกว่า จอมปราสาท ตั้งอยู่บริเวณเกือบกึ่งกลางเมือง มีขนาดกว้างประมาณ ๘๕ เมตร ยาวประมาณ ๑๐๐ เมตร สูงประมาณ ๑ เมตร มีสระน้ำอยู่ภายในตัวเมืองรวม ๔ สระ สระนาค อยู่ทางด้านทิศตะวันออก สระจรเข้ อยู่ทางด้านทิศตะวันตก สระมังกร และสระแก้ว อยู่ทางด้านทิศเหนือใกล้กำแพงเมือง สระนาคและสระโกสินารายณ์มีคลองขนาดเล็กเชื่อมต่อกันกับแม่น้ำแม่กลอง นอกตัวเมืองมีเนินโบราณสถานขนาดเล็ก กระจายอยู่อีกหลายแห่ง ลักษณะของผังเมืองตลอดจนองค์ประกอบภายในได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมขอม
            จอมปราสาทที่ตั้งอยู่กลางเมือง สันนิษฐานว่า เดิมรูปทรงเป็นปราสาทที่นิยมสร้างในวัฒนธรรมขอม โดยส่วนฐานก่อด้วยศิลาแลง มีมุขยื่นออกไปทั้งสี่ด้าน ภายในใช้หินและทรายบดอัดเป็นฐานราก มีพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร เปล่งรัศมีสลักจากหินทราย สูงประมาณ ๑๕๕ เซนติเมตร พระวรกายตอนบนมีรูปพระอมิตาภะปางสมาธิสลักโดยรอบพระอุระ และมีรูปนางปรัชญาปารมิตาประทับนั่งถือดอกบัวอยู่ที่บั้น พระองค์สามองค์และเบื้องพระอุระอีกหนึ่งองค์ พระวรกายเบื้องล่างทรงผ้าโจงกระเบนสั้น เป็นลักษณะของประติมากรรมในศิลปขอมแบบบายน


            ลวดลายปูนปั้นที่ใช้เป็นเครื่องประดับตกแต่งส่วนต่าง ๆ ของโบราณสถานจอมปราสาท ทำเป็นรูปเทวดาหรือกษัตริย์ มนุษย์ อมนุษย์ และรูปสัตว์ต่าง ๆ เช่น นาค สิงห์ สิงห์ ช้าง ฯลฯ ส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก ชิ้นส่วนลวดลายปูนปั้นเหล่านี้ส่วนมากมีรูปแบบที่ผสมผสาน ระหว่างวัฒนธรรมขอมกับทวาราวดี และบางชิ้นมีลักษณะที่แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมจีน ที่แพร่เข้ามาในเวลานั้น
            พระพุทธรูปสำริดปิดทองทรงเครื่องปางประทานธรรม สูงประมาณ ๑๑๒ เซนติเมตร พบบริเวณกลางทุ่งนาในเขตอำเภอเมือง ฯ เป็นปางที่นิยมสร้างมาตั้งแต่วัฒนธรรมทวาราวดี ส่วนเครื่องทรงตลอดจนส่วนประกอบอื่น ๆ เป็นศิลปะขอมแบบนครวัด นอกจากนั้นยังมีเทวรูปพระอิศวรปางมหาฤาษี พบที่วัดสระกระเทียม อำเภอบ้านโป่งเป็นแบบที่นิยมกันในศิลปขอมแบบนครวัด - บายน
            จากร่องรอยหลักฐานต่าง ๆ ทางโบราณคดีที่กล่าวมาแล้ว แสดงให้เห็นว่า ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๘ อันเป็นช่วงระยะเวลาที่อาณาจักรขอมเรืองอำนาจ ชาวเมืองราชบุรี และโกสินารายณ์ก็ได้รับเอาวัฒนธรรมขอมมาผสมผสานกับวัฒนธรรมทวาราวดี อันเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมในหลาย ๆ ด้าน เช่นระบบการวางผังเมืองที่เปลี่ยนจากรูปวงรี มาเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหรือสี่เหลี่ยมจตุรัส การสร้างศาสนสถานขนาดใหญ่ไว้กลางเมือง ระบบชลประทานที่มีการขุดสระน้ำไว้ใช้ภายในตัวเมือง และบริเวณใกล้เคียง นอกเหนือไปจากการขุดคลองเชื่อมต่อกับแม่น้ำเพื่อนำน้ำมาใช้ในตัวเมือง การก่อสร้างอาคารที่นำเอาหินทรายและศิลาแลง มาใช้ในการสร้างศาสนสถานขนาดใหญ่แทนการก่ออิฐถือปูนขนาดเล็ก และมีการตกแต่งอาคารด้วยการสลักลวดลายบนชิ้นส่วน ประกอบสถาปัตยกรรมที่เป็นหินทรายเพิ่มเติม จากการประดับตกแต่งลวดลายปูนปั้น รวมทั้งการผสมผสานรูปแบบศิลปกรรมทวาราวดีกับ ศิลปกรรมขอมเข้าด้วยกัน
            ในด้านคติความเชื่อในศาสนา พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานนิกายวัชรยานตามแบบวัฒนธรรมขอม ซึ่งเน้นการสร้างศาสนสถาน และรูปเคารพขนาดใหญ่ มีการประกอบพิธีกรรมที่สลับซับซ้อน โดยมีพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร เป็นประติมากรรมที่ได้รับการเคารพบูชา ในช่วงเวลาเดียวกันได้มีศิลปะจีนแทรกเข้ามาในศิลปขอมด้วย ดังจะเห็นได้จากเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ ซุ่ง และสมัยราชวงศ์ หยวน ได้พบแผ่นดินเผาจารึกอักษรจีนอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๘ - ๑๙ เอ่ยพระนามพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรร่วมกับเหรียญกษาปณ์จีน ที่เรียกว่าอีแปะอีกด้วย กล่าวได้ว่าเมืองราชบุรีในช่วงเวลาดังกล่าวน่าจะเป็นเมืองท่าค้าขายที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่ง ทางด้านทิศตะวันตกของไทย รวมทั้งเป็นแหล่งขนถ่ายสินค้าจากชุมชนภายนอก เข้าไปยังชุมชนที่อยู่ลึกเข้าไปในภูมิภาค โดยอาศัยลำน้ำที่มีเครือข่ายถึงกัน
            อิทธิพลของวัฒนธรรมขอมมีความเจริญรุ่งเรืองในจังหวัดราชบุรี รวมทั้งดินแดนในภูมิภาคอื่น ๆ ของไทยเป็นอยู่ประมาณ ๓๐๐ ปี ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๘ หลังจากนั้นก็เสื่อมลง บรรดาเมืองและนครรัฐต่าง ๆ ในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเริ่มมีการรวมตัวกันเป็นปึกแผ่น และได้มีการพัฒนาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมตนเองขึ้น ก่อตัวเป็นต้นเค้าของวัฒนธรรมไทยมาตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๗
ราชบุรีในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙

            ในช่วงสมัยสุโขทัย เมืองราชบุรีมีรายชื่อเป็นหัวเมืองในราชอาณาจักรสุโขทัย และน่าจะมีสภาพเป็นเมืองท่าบนเส้นทางติดต่อการค้า และการคมนาคมระหว่างหัวเมืองในเขตที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยา ไปยังเมืองตะนาวศรี ซึ่งเป็นเมืองท่าชายฝั่งทะเลอันดามัน ในบริเวณอ่าวมะตะบัน
            ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวแคว้นสุพรรณภูมิ เจริญรุ่งเรืองควบคู่กับแคว้นละโว้ ในบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา และเมืองราชบุรีจัดเป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่ง ของแคว้นสุพรรณภูมิ เช่นเดียวกับเมืองเพชรบุรี และเมืองสิงห์บุรี ก่อนที่แคว้นละโว้จะรวมกับแคว้นสุพรรณภูมิเป็นอาณาจักรอยุธยา เห็นได้จากร่องรอยหลักฐานทางศิลปกรรม ทั้งที่โบราณสถานและโบราณวัตถุ เช่น เจดีย์ประธานวัดเจติยาราม หรือวัดเจดีย์หัก ในเขตตำบลเจดีย์หัก อำเภอเมือง ฯ ลักษณะของเจดีย์ที่ก่ออิฐไม่สอปูน มีฐานแปดเหลี่ยมรองรับองค์ระฆังกลม รูปทรงสูงเพรียว มีลักษณะคล้ายกับกลุ่มเจดีย์แบบเมืองสรรค์ ที่อำเภอสรรค์บุรี จังหวัดชัยนาท และกลุ่มเจดีย์ในจังหวัดสุพรรณบุรี ที่เรียกว่า แบบสุพรรณภูมิ เช่นที่วัดศรีรัตนมหาธาตุ วัดพระรูป วัดพระอินทร์ รวมทั้งเจดีย์แบบอโยธยา เช่นที่วัดบางกระซ้าย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ราชบุรีในช่วง พ.ศ. ๑๘๙๓ - ๒๓๑๐
            เมื่อสมเด็จพระเจ้าอู่ทองทรงรวบรวมแคว้นสุพรรณภูมิ และแคว้นละโว้เข้าด้วยกัน และสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เมืองราชบุรีก็ถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกรุงศรีอยุธยา จัดเป็นเมืองในมณฑลราชธานี ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงขยายการปกครองราชธานีครอบคลุมเมืองใหญ่ที่เป็นเมืองหน้าด่านทั้งสี่ เช่น ลพบุรี สุพรรณบุรี นครนายก ทำให้เมืองชั้นในอย่างราชบุรี ถูกลดฐานะลงเป็นเมืองจัตวา มีผู้ปกครองเรียกว่า ผู้รั้ง ขึ้นตรงต่อราชสำนัก ไม่มีอำนาจสั่งการเช่นเจ้าเมืองในสมัยก่อน มีกรมการเมืองชั้นรองลงมาเรียกว่าจ่าเมือง ทั้งผู้รั้งและจ่าเมืองต้องทำตามคำสั่งของต้นสังกัด ทั้งฝ่ายกลาโหมและฝ่ายจตุสดมภ์
            ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิ์ (พ.ศ. ๒๐๙๑ - ๒๑๑๑) โปรดให้สร้างเมืองใหม่แขวงเมืองราชบุรี จึงถูกแบ่งพื้นที่บางส่วน รวมกับพื้นที่บางส่วนของแขวงเมืองสุพรรณบุรี ตั้งเป็นเมืองนครชัยศรี เพื่อรองรับพลเมืองไทยที่หนีสงครามระหว่างไทยกับพม่า ที่เริ่มมาตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระชัยราชาธิราช (พ.ศ. ๒๐๗๗ - ๒๐๘๙) ไปอยู่ตามป่าเขา ให้กลับเข้ามาเป็นกำลังของพระนครยามมีศึก
            ตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิ์ จนถึงรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. ๒๐๙๑ - ๒๒๓๑) เมืองราชบุรีมีเจ้าเมืองที่มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยา เป็นเมืองที่รวบรวมพลเพื่อป้องกันพระนคร และเป็นเมืองที่มีกองทัพประจำอยู่พร้อม ที่จะทำศึกได้ทันที ในคราวศึกกับพม่าเมื่อปี พ.ศ. ๒๐๙๘ เจ้าเมืองราชบุรีพร้อมกำลังพลเข้ามารักษาคูเมือง และป้อมประตูกำแพงกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พม่ายกทัพเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ในเขตเมืองกาญจนบุรี พระยาอมรินทรฤาไชย เจ้าเมืองราชบุรีได้รับคำสั่งให้คุมพล ๕๐๐ คนเป็นกองโจรคอยดักซุ่มตัดเส้นทางลำเลียง และรื้อสะพานสัญจรของกองเสบียงพม่า ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พม่ายกกองทัพตามครัวมอญเข้ามาในปี พ.ศ. ๒๒๐๓ พระยาราชบุรีเป็นกองหนุนของทัพหลวง ทำการขับไล่พม่าออกไปได้สำเร็จ
            ในรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา (พ.ศ. ๒๒๓๑ - ๒๒๔๖) เมืองฝ่ายใต้ซึ่งน่าจะรวมถึงเมืองราชบุรีด้วย อยู่สังกัดของสมุหกลาโหมทั้งกิจการฝ่ายทหาร และฝ่ายพลเรือน หลังรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา หัวเมืองฝ่ายใต้ในสังกัดของกรมท่า ซึ่งสังกัดฝ่ายพระคลังในกำกับดูแลของเจ้าพระยาโกษาธิบดีผู้ทำหน้าที่ติดต่อควบคุมการค้ากับต่างชาติ
ราชบุรีในช่วง พ.ศ. ๒๓๑๐ - ๒๓๒๕ (สมัยธนบุรี)
            ในสมัยธนบุรี เมืองราชบุรีเปรียบเสมือนเมืองหน้าด่านที่เป็นสมรภูมิสำคัญ ในการทำสงครามกับพม่า เนื่องจากอยู่ติดกับด่านเจ้าเขว้า อันเป็นด่านสำคัญด่านหนึ่งที่กองทัพพม่าสามารถยกเข้ามาถึงเมืองราชบุรีได้ง่าย ด่านดังกล่าวตั้งอยู่ริมห้วยบ้านด่าน อันเป็นสาขาของแม่น้ำภาชี ในเขตตำบลชัฏป่าหวาย อำเภอสวนผึ้ง ปัจจุบันยังหลงเหลือร่องรอยคล้ายเนินดินของป้อมค่าย และร่องรอยของหลุมขวาก หลุมหลบภัย ตลอดจนเศษเครื่องถ้วยไทยจีนปะปนอยู่กับอาวุธประเภทหอก และดาบสมัยอยุธยาตอนปลาย และต้นรัตนโกสินทร์
            เส้นทางเดินทัพของพม่าผ่านเข้ามาทางเมืองทวาย ด่านบ้องตี้ ในเทือกเขาตะนาวศรีในเขตตำบลเมืองสิงห์ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี แล้วเลียบชายเขาลงมาทางใต้เข้าเขตราชบุรี โดยตัดข้ามแม่น้ำภาชีในบริเวณด่านเจ้าเขว้าผ่านช่องเขาชนแอก และเขาสน มาถึงเขตอำเภอจอมบึงก่อนถึงทุ่งเขางู ที่เป็นสมรภูมิใกล้ตัวเมืองราชบุรี สงครามระหว่างไทยกับพม่าในช่วงเวลานี้ที่สำคัญได้แก่ สงครามในปี พ.ศ. ๒๓๑๑ พม่ายกทัพเข้ามาทางเมืองทวาย ผ่านเมืองไทรโยค เมืองราชบุรี เข้าล้อมค่ายทหารจีนที่บางกุ้ง เขตติดต่อระหว่างเมืองราชบุรีกับเมืองสมุทรสงคราม พระมหามนตรีคุมทัพหน้าของฝ่ายไทยเข้าตีทัพพม่าที่บางกุ้งแตก กลับไปทางด่านเจ้าเขว้า อีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. ๒๓๑๗ ในศึกบางแก้วครั้งนั้น พระยาเจ่งหัวหน้าครัวมอญพาครอบครัวหนีมาไทย ทางด่านเจดีย์สามองค์ พม่าจึงให้งุยอคงหวุ่นคุมกำลังมาถึงบ้านบางแก้วเพื่อปล้นทรัพย์จับเชลยในแขวงเมืองราชบุรี สมุทรสงครามและเพชรบุรี ได้ตั้งค่ายขึ้นสามค่าย ฝ่ายไทยล้อมพม่าไว้ถึง ๔๗ วัน พม่าขอเจรจากับไทย ๗ ครั้ง ในที่สุดต้องยอมแพ้ออกมาอ่อนน้อมต่อไทยทั้งสามค่าย
            สภาพทางเศรษฐกิจของเมืองราชบุรี ในสมัยธนบุรีซบเซาไปมากด้วยสาเหตุหลายประการ ที่สำคัญคือการสงครามไทยกับพม่า ซึ่งมีชาวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาในไทย เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๑๓ บรรยายไว้ตอนหนึ่งว่า
            "การค้าในราชอาณาจักรนี้แต่เดิมเจริญรุ่งเรืองมาก มีเรือนับเป็นพันลำทั้งที่มาจากประเทศจีน และประเทศในยุโรปเข้ามาในกรุงสยามในแต่ละปี แต่ปัจจุบันจะเข้ามาสักสิบลำก็แทบไม่มี บรรดาพวกแขกอิสลาม ชาวญี่ปุ่น และชาวยุโรปได้สร้างฐานะขึ้นในประเทศนี้ได้อย่างรวดเร็ว"
            ผู้คนในเมืองราชบุรีก็ลดจำนวนลงอย่างมากอันเป็นผลจากสงครามเช่นกัน จากการอพยพหลบภัยและจากการถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลย จนต้องมีการนำชนชาติกลุ่มใหญ่เข้ามาอยู่อาศัยหลายเผ่าพันธุ์ด้วยกัน ที่สำคัญได้แก่ มอญ เขมร และลาวกลุ่มต่าง ๆ ได้แก่ ลาวทรงดำ (ลาวโซ่ง) ลาวเวียง (ลาวตี้) โดยเข้ามาอยู่ปะปนกับชาวพื้นเมืองเดิม
ราชบุรีในช่วง พ.ศ. ๒๓๒๕ - ปัจจุบัน (สมัยรัตนโกสินทร์)
            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ขณะนั้นเมืองราชบุรียังรวมอยู่กับเมืองกาญจนบุรี รวมเรียกว่า หัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตะวันตก มีเจ้าพระยามหาเสนาฝ่ายกลาโหมปกครองดูแล ต่อมาเมื่อเกิดสงครามเก้าทัพ เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๘ ครั้งนั้นเจ้าพระยาธรรมา (บุญรอด) กับเจ้าพระยายมราชได้รับพระบรมราชโองการให้คุมกำลังมาตั้งรับพม่าที่เมืองราชบุรี เพื่อรักษาเส้นทางลำเลียงเสบียงของ สมเด็จพระบวรราชเจ้ากรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ที่คุมทัพใหญ่มาตั้งมั่นอยู่ที่เมืองกาญจนบุรี แม่ทัพไทยที่มารักษาเมืองราชบุรีประมาท ทำให้พม่าสามารถยกทัพเข้ามาตั้งค่ายอยู่ที่ทุ่งจอมบึง และด่านเจ้าเขว้าริมแม่น้ำภาชี จนกองทัพไทยมีชัยชนะที่ลาดหญ้า แล้วจึงได้ยกกำลังมาตีค่ายพม่าที่ตั้งอยู่นอกเขางูแตกหนีกลับไปเมืองทวาย
            ในปี พ.ศ. ๒๓๔๕ พระเจ้าปดุงได้ยกทัพเข้ามาตีเมืองเชียงใหม่ กองทัพจากวังหลวงได้ขึ้นไปตีเมืองเชียงแสน ร่วมกับกองทัพจากเมืองลำปาง น่าน เชียงใหม่ และเวียงจันทน์ ตีทัพพม่าแต่พ่ายไป จากนั้นได้อพยพครอบครัวชาวโยนกเชียงแสน (ไท - ยวน) กว่า ๒๓,๐๐๐ คน จัดแบ่งครัวเรือนออกเป็นห้าส่วนแบ่งให้ไปกับกองทัพเมืองลำปาง น่าน เชียงใหม่ เวียงจันทน์ และกองทัพวังหลวงกองทัพละส่วน กองทัพวังหลวงได้อพยพครัวเรือนชาวโยนก เชียงแสน ลงมากรุงเทพ ฯ แล้วให้บางส่วนไปตั้งหลักแหล่งที่เมืองสระบุรี ที่บริเวณอำเภอเสาไห้ในปัจจุบัน ส่วนที่เหลือให้ไปตั้งหลักแหล่งอยู่ที่เมืองราชบุรี เป็นบรรพบุรุษของชาวไท - ยวน ในจังหวัดราชบุรีสืบมาถึงทุกวันนี้
            รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  พระองค์ได้โปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งให้พระยาราชบุรี (แสง) เป็นเจ้าพระยาวงษาสุรศักดิ์ที่สมุหกลาโหม ราชนิกุลสายบางช้าง รับราชการอยู่ที่เมืองราชบุรี และเมืองสมุทรสงครามต่อมาได้โปรดเกล้า ฯ ให้ตัดท้องที่บางส่วนของเมืองราชบุรี และเมืองสุพรรณบุรีไปรวมอยู่ในเขตเมืองกาญจนบุรีที่ตั้งขึ้นใหม่ ที่ตำบลปากแพรกต้นแม่น้ำแม่กลอง และได้โปรดเกล้า ฯ ให้ย้ายตัวเมืองราชบุรีจากฝั่งขวาไปอยู่ ฝั่งตรงข้ามทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำแม่กลอง เนื่องจากทรงเห็นว่า ที่ตั้งเมืองเดิมไม่เหมาะสมในทางยุทธศาสตร์ เมื่อทำศึกกับพม่าที่สมรภูมิทุ่งเขางู หากฝ่ายไทยเสียที่จะถอยลำบากเพราะมีแม่น้ำขวางอยู่ ได้มีการวางศิลาฤกษ์ผังหลักเมือง เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๖๐ แล้วได้ก่อสร้างกำแพงเมืองและสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ เมืองใหม่นี้มีความกว้างประมาณ ๒๐๐ เมตร ยาวประมาณ ๘๐๐ เมตร ล้อมรอบด้วยกำแพงก่ออิฐถือปูนตรงกลางมีป้อม และประตูเมืองหกด้าน (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของกรมการทหารช่าง และจังหวัดทหารบกราชบุรี)
            รัชสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่มีเหตุการณ์ที่สำคัญ
            รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ขุดคลองดำเนินสะดวก เชื่อมต่อระหว่างเมืองสมุทรสาคร เมืองสมุทรสงคราม และเมืองราชบุรี โดยเริ่มจากปากคลองบางยางแม่น้ำท่าจีนที่เรียกว่ามหาชัย เชื่อมต่อกับคลองบางนกแขวกแม่น้ำแม่กลอง แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๑ โดยมีสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง  บุนนาค) ซึ่งขณะนั้นเป็นพระประสิทธิ์ที่สมุหกลาโหม เป็นผู้อำนวยการขุดคลอง
            รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินเมืองราชบุรีถึง ๑๐ ครั้ง ครั้งแรกเป็นการเสด็จพระราชดำเนินเพื่อประกอบพระราชพิธีเปิดสะพานรถไฟจุฬาลงกรณ์ ข้ามแม่น้ำแม่กลองช่วงที่ผ่านตัวเมืองราชบุรี ในปี พ.ศ. ๒๔๔๔ ครั้งที่สองเป็นการเสด็จพระราชดำเนินนำทหารมาฝึกที่ค่ายหลุมดินในปี พ.ศ. ๒๔๔๖ และเป็นการเสด็จประพาสต้น ๒ ครั้งในปี พ.ศ. ๒๔๔๗ และ พ.ศ. ๒๔๕๒
            ในการเสด็จประพาสไทรโยคเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๖ ทรงบรรยายลักษณะของตลาดโพธารามในสมัยนั้นไว้ว่า
            " ...มีเรือนสองฟากเป็นตลาด ฟากข้างริมน้ำนั้นเป็นเรือนต่ำ ๆ เหมือนเรือนแพ ปลูกริมตลิ่งที่เดียวข้างในก็เป็นเรือนตลาดอีกแถวหนึ่ง ฝากระดานมากกว่าที่เป็นฝาจากไปตามทางข้างขวามือ ประมาณ ๘ เส้น ๙ เส้น มีร้านขายของต่าง ๆ ร้านเหล้า ร้านไซ่หู ที่โกนผม และขายของเครื่องใช้สรอยมีร่มรองเท้าเป็นต้น ขนมมีขายมากมายหลายอย่างมีสาคู และขนมถ้วยตาไล ทั้งเล็กทั้งใหญ่เป็นอย่างมาก ไปจนตลอดถนนแล้วกลับมา พ้นจากทางที่จะลงมาหาดสักหน่อยหนึ่ง เลี้ยวขวามือมีโรงตีเหล็ก แล้วถึงวัดโพธารามมีกำแพงล้อมรอบ เข้าไปในนั้นมีศาลาคู่หนึ่งแล้วไปถึงการเปรียญ พระสงฆ์อยู่ที่นั่น..."
            ทรงบรรยายถึงผู้คนชาวเมืองราชบุรีไว้ว่า
            "...คนในพื้นเมืองเป็นไทย จีนมีเป็นพื้น เขมรและมอญมีหลายพวกหลายเหล่ามาก มอญเจ็ดเมืองก็อยู่ในแขวงเมืองราชบุรีทั้งนั้น เขมรนั้นเป็นเขมรเชลยแต่ครั้งแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมาก ลาวก็มีบ้าง แต่ถึงดังนั้นคนยังน้อยกว่าที่แผ่นดินอยู่มาก..."
            ในการเสด็จพระราชดำเนิน เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๒ ทรงบรรยายลักษณะของเมืองราชบุรีไว้ว่า
            "...เมืองราชบุรีแลเห็นแปลกกว่าแต่ก่อนนั้นคือตึกตลาดที่ทำแล้วเสร็จ ถัดไปก็ศาล ๆ นี้ใหญ่โตสูงตระหง่านผิดกว่าที่อื่น ตามแถบที่ตั้งเตาปูนแต่ก่อนราย ๆ กันอยู่นั้น เดี๋ยวนี้ติดตั้งกันตลอดคุ้งน้ำ ซ้อนกัน ๒ ชั้น ๓ ชั้น ฟากตะวันออกก็มี เห็นจะเป็นปูนขาวที่ใช้การที่กรุงเทพ ฯ มากขึ้น จึงได้เผาปูนทวีขึ้นหลายเท่า
            " ...เวลาเช้าได้ขึ้นรถเจ็กไปดูแถวตลาดถนนริมน้ำ ตั้งแต่หน้าบ้านเทศาไปได้ถมศิลาเขาหลามลงแน่นเรียบร้อยดีตลอด ตลอดจนที่ว่าการมณฑล... ตึกตลาดพระคลังข้างที่นั้นติดแน่นหนาดีมาก ตัวตลาดของวัดยังไม่พอที่จะขยายยังติดเกะกะต่าง ๆ ด้านหลังเป็นตึกเก่าที่จะต้องรื้อ ด้านหน้าก็เป็นโรงตำรวจภูธร ซึ่งจะย้ายไปไหนก็ยังไม่ได้ ที่พักมิชชันนารีเข้าไปอยู่ระหว่าง ...พิเคราะห์ดูตึกรามที่ทำ ๆ ไว้ ก็เป็นเรื่องน่าสังเวช แต่จะทนสู้เรือนฝากระดานก็ไม่ได้ เพราะเหตุที่ทำตึก แต่ไม่รู้วิธีทำตึก ปลูกสร้างขึ้นเหมือนยังเรือนไม้ง่อนแง่น กำมะลอไปทั้งนั้น ตึกสมเด็จเจ้าพระยาซึ่งเป็นที่ว่าการทั้งใหญ่ทั้งโต ก็ต้องมุงจากทับกระเบื้อง..."
            เมื่อได้มีการจัดระเบียบการปกครองหัวเมืองขึ้นใหม่ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๗ เรียกว่าระบอบมณฑลเทศาภิบาลมณฑลราชบุรี ประกอบด้วยเมือง ๖ เมืองด้วยกันคือ เมืองราชบุรีเป็นที่ตั้งศาลาว่าการมณฑล เมืองกาญจนบุรี เมืองสมุทรสงคราม เมืองเพชรบุรี เมืองปราณบุรี และเมืองประจวบคีรีขันธ์
            รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้เสด็จพระราชดำเนินเมืองราชบุรีหลายครั้ง เพื่อกิจการซ้อมรบเสือป่า นอกจากนั้นในช่วงต้นรัชสมัยของพระองค์ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ยุบหัวเมืองในมณฑลราชบุรีให้เหลือ ๕ หัวเมือง โดยรวมเมืองปราณบุรีเข้ากับเมืองประจวบคีรีขันธ์ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๘ มีการรวมมณฑลต่าง ๆ เข้าเป็นภาค โดยมีอุปราชเป็นผู้บังคับบัญชาและมีอำนาจเหนือสมุหเทศาภิบาล บริหารงานขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์ มณฑลราชบุรีจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของภาคกลางของประเทศไทย
            รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้มีการประกาศยุบมณฑลมาเป็นจังหวัด ทำให้ราชบุรีเปลี่ยนสภาพมาเป็นจังหวัดตั้งแต่นั้นมา

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |