| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |


มรดกทางพระพุทธศาสนา

            มรดกทางพระพุทธศาสนาในจังหวัดราชบุรีมีอยู่มาก และหลายยุคหลายสมัย ตั้งแต่สมัยทวาราวดี อันเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ เข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์สืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน

วัดโขลงสุวรรณคีรี
            วัดโขลงสุวรรณคีรี ตั้งอยู่กลางเมืองโบราณคูบัว มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า วางตามแนวเหนือ - ใต้ กว้างประมาณ ๒๒ เมตร ยาวประมาณ ๔๔ เมตร สูงประมาณ ๖ เมตร เครื่องบนชำรุดหักพังสูญหายไปหมดแล้ว แต่รูปทรง และลักษณะของตัวสถาปัตยกรรม ที่มีบันไดขึ้นทางด้านหน้า ซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกนั้น เปรียบเทียบได้กับสถูปหมายเลข ๕  ที่เมืองนาลันทาในอินเดีย ที่มีเครื่องบนเป็นเจดีย์ทรงกลมขนาดใหญ่ที่กึ่งกลาง โดยมีเจดีย์ทรงกลมขนาดเล็กเป็นบริวารที่มุมทั้งสี่
            วัดโขลงสุวรรณคีรี มีลักษณะเป็นศิลปะทวาราวดี มีอายุอยู่ประมาณช่วงกลางวิวัฒนาการ ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๔ ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ได้พบโบราณวัตถุเนื่องในพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท

วัดมหาธาตุ
            วัดมหาธาตุ ตั้งอยู่เกือบใจกลางเมืองราชบุรี ในเขตตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง ฯ จากหลักฐานทางโบราณคดีสันนิษฐานว่า สร้างขึ้นในสมัยวัฒนธรรมทวาราวดี ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๓ ต่อมาประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๘ วัฒนธรรมขอมได้แพร่เข้ามาสู่ดินแดนราชบุรี จึงได้มีการก่อสร้าง และดัดแปลงศาสนสถานแห่งนี้ขึ้นเป็น พระปรางค์ และสร้างกำแพงศิลาล้อมรอบ ต่อมาในสมัยอยุธยาตอนต้น ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๐ - ๒๑ ได้มีการก่อสร้าง พระปรางค์ แบบอยุธยาขึ้นซ้อนทับ และสร้างพระปรางค์บริวารขึ้นอีก ๓ องค์ บนฐานเดียวกัน
            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ย้ายเมืองราชบุรี จากฝั่งตะวันตกมายังฝั่งตะวันออก ของแม่น้ำแม่กลอง วัดมหาธาตุจึงกลายเป็นวัดร้าง ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. ๒๓๘๓ พระภิกษุรูปหนึ่งชื่อ พระบุญมาได้ธุดงค์มาเห็นวัดนี้มีสถานที่ร่มรื่น เหมาะแก่การปฏิบัติธรรม จึงได้ร่วมกับชาวบ้านช่วยกันซ่อมแซมเสนาสนะต่าง ๆ จนในที่สุดวัดมหาธาตุ ก็กลับมาเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาเช่นเดิม และต่อมาเนื่องมาถึงปัจจุบัน
            พระปรางค์ประธาน   เป็นสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ และได้รับการซ่อมแซมเพิ่มเติม ในสมัยอยุธยาตอนต้น ตรงส่วนที่เป็นซุ้มด้านตะวันออก และภาพจิตรกรรมภายใน ประกอบด้วยพระปรางค์ประธาน และพระปรางค์บริวาร ๓ องค์บนฐานเดียวกัน มีการตกแต่งองค์พระปรางค์ทั้งหมดด้วยลวดลายปูนปั้นอย่างงดงาม ด้านตะวันออกของพระปรางค์มีบันไดทางขึ้น และมีมุขยื่น ภายในคูหาเชื่อมต่อกับพระปรางค์ ผนังภายในองค์พระปรางค์ทุกด้านมีภาพจิตรกรรมรูปอดีตพระพุทธเจ้า


            พระวิหารหลวง  อยู่ด้านหน้าพระปรางค์ ภายนอกระเบียงคด เป็นซากอาคารในแผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ฐานล่างสุดก่อด้วยศิลาแลง ด้านหน้ามุขยื่น บนพระวิหารเคยมีเจดีย์ขนาดเล็กตั้งอยู่แต่หักพังหมดแล้ว บนฐานพระวิหารมีอาคารไม้โล่งสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๕ ภายในอาคารพระวิหารมีพระพุทธรูปปูนปั้นแกนหินทรายขนาดใหญ่ ปางมารวิชัยประดิษฐานอยู่สององค์ ประทับนั่งหันพระปฤษฎางค์ชนกัน เป็นพุทธศิลปแบบอยุธยาตอนต้น ด้านข้างทั้งสอง และด้านหน้าพระวิหาร ที่มุมด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีวิหารขนาดเล็กภายในประดิษฐานพระพุทธรูปหินทรายแดงปางมารวิชัย ประทับนั่งหันพระปฤษฎางค์ชนกัน คล้ายกับที่ในพระวิหารหลวง


            กำแพงแก้ว  ก่อด้วยศิลาแลงรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ล้อมรอบองค์พระปรางค์ไว้ทั้งสี่ด้าน เหนือกำแพงมีใบเสมาทำด้วยหินทรายสีชมพู จำหลักพระพุทธรูปปางสมาธิในซุ้มเรือนแก้ว ลักษณะพุทธศิลปะขอมแบบบายน (ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๘) ได้ขุดพบฐานปรางค์ศิลาแลงย่อมุมขนาดย่อม และพบชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมส่วนยอดของพระปรางค์ สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นคราวเดียวกับกำแพงแก้ว
            ราวบันไดรูปครุฑยุดนาค  พบจำนวน ๒ ชิ้น จำหลักจากหินทรายสีแดง ตั้งอยู่ที่ทางเข้าภายในระเบียงคดด้านทิศตะวันออก อยู่ในสภาพชำรุดลบเลือน เป็นศิลปะขอมแบบบายน ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๘


            พระอุโบสถ  จากหลักฐานทางสถาปัตยกรรมสันนิษฐานว่า สร้างสมัยอยุธยาตอนปลาย ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๒ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคาลด ๒ ชั้น ๓ ตับ เป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้อง ด้านหน้าและหลังทำพาไลยื่นมารองรับโครงหลังคาด้วยเสาปูน ๓ ต้น ด้านข้างมีชายคาปีกนกโดยรอบ ฐานอาคารมีศิลปะแบบอยุธยาตอนปลาย คือแอ่นโค้งคล้ายเรือสำเภา หรือที่เรียกว่าแอ่นท้องช้าง ซุ้มประตูหน้าต่างปั้นปูนประดับกระจกเป็นซุ้มหน้านาง ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับนั่งบนดอกบัว ด้านนอกโดยรอบมีกำแพงแก้วก่ออิฐถือปูนล้อมรอบ


            พระมณฑป  ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของพระปรางค์ประธานภายนอกกำแพงแก้ว ก่ออิฐถือปูน ในผังสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้ยี่สิบบนฐานเขียงรองรับฐานสิงห์ ผนังรอบด้านมีซุ้มหน้าต่างทรงมณฑปด้านละ ๑ ซุ้ม เว้นด้านตะวันออกเป็นซุ้มประตูทางเข้ามีบันไดขึ้นลง หลังคาพระมณฑปหักพังหมด ภายในพระมณฑปประดิษฐานรอยพระพุทธบาท ทำด้วยหินทรายสีแดง ฝาผนังด้านในมีภาพจิตรกรรมเรื่องพระพุทธประวัติตอนเสด็จโปรด พระพุทธมารดาบนดาวดึงส์ และตอนผจญกองทัพพญามาร พระมณฑปหลังนี้ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น


            พระเจดีย์  เป็นเจดีย์เรียงรายเป็นแถวอยู่ด้านหน้าพระมณฑป จำนวน ๕ องค์ เป็นพระเจดีย์ทรงระฆังกลมจำนวน ๔ องค์ และพระเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองอีก ๑ องค์ เป็นศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์
            วัดมหาธาตุได้รับการประกาศเป็นโบราณสถานของชาติ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๘ และได้รับการวางแนวเขตโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๖
เจดีย์หักเจติยาราม

            อยู่ในเขตตำบลเจดีย์หัก อำเภอเมือง ยอดเจดีย์องค์นี้หักทลายลงตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๐ องค์พระเจดีย์ก่อด้วยอิฐสอด้วยดินผสมยางไม้ ฐานเป็นรูปแปดเหลี่ยมรองรับองค์ระฆังทรงกลมรูปสูงเพรียวคล้ายกับกลุ่มเจดีย์แบบเมืองสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท และในอำเภอเมืองสุพรรณบุรี รวมทั้งเจดีย์ที่เรียกว่าแบบอโยธยา ในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์อยุธยา ซึ่งสร้างขึ้นก่อนการตั้งกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. ๑๘๙๓
            จากการขุดแต่งและบูรณะ ได้พบร่องรอยของวิหารที่หันหน้าไปทางทิศตะวันตก และพบชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายสีแดงจำนวนมาก เป็นพุทธศิลปะแบบที่นิยมสร้างในสมัยก่อนการตั้งกรุงศรีอยุธยาเช่นกัน
เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองวัดเพลง (ร้าง)

            วัดเพลงอยู่ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง ที่บ้านท่าแจ ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง ฯ เดิมเรียกวัดเพรง หมายถึงวัดเก่าแก่ นอกจากนั้นยังมีผู้สันนิษฐานว่า ชื่อวัดโพธิเขียว อีกชื่อหนึ่ง
            จากการขุดค้นพบว่าเป็นเจดีย์รูปสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ชำรุดยอดหักเหลือเพียงชั้นบัลลังก์ องค์เจดีย์แตกร้าวมีรอยถูกขุดเจาะหลายแห่ง โบราณวัตถุที่พบได้แก่ แผ่นหินทรายแดงจำหลักพระพุทธรูปปางสมาธิ ในซุ้มเรือนแก้วทั้งสองด้าน ลักษณะคล้ายพระพุทธรูปบนกำแพงวัดมหาธาตุ แผ่นหินทรายแดงดังกล่าวตั้งอยู่บนก่อนแลงสี่เหลี่ยมขนาด ๓๘ เซนติเมตร ยาว ๔๕ เซนติเมตร หนา ๒ เซนติเมตร มีรอยยาปูนผนึกไว้ เมื่อเซาะเปิดก้อนแลงออก พบว่ากลางก้อนแลงทำเป็นหลุมบรรจุผอบทองคำ ภายในผอบบรรจุพระบรมสารีริกธาตุขนาดเมล็ดพันธุ์ผักกาด ๓ องค์ และยังพบโบราณวัตถุอื่น ๆ อีก เช่น ชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายแดง เศษภาชนะดินเผา ฯลฯ
            ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของเจดีย์วัดเพลง (ร้าง)  เป็นสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา และได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ และกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๘
วิหารแกลบวัดเขาเหลือ

            วัดเขาเหลืออยู่ในเขตตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง ฯ เป็นอาคารขนาดสามห้อง ก่ออิฐถือปูน หลังคาทรงจั่วลาดลงเล็กน้อย ด้านหน้าและด้านหลังมีมุข ส่วนกลางของหลังคาทั้งหมดฉาบปูนเรียบ เครื่องลำยองเป็นปูนปั้นเรียบยอดจั่ว และหางหงส์ปั้นปูนรูปดอกบัวตูม หน้าบันก่ออิฐถือปูนเรียบ ผนังด้านหน้ามีประตูตรงกลางด้านหลังทึบ ด้านข้างมีซุ้มหน้าต่างด้านละ ๓ ซุ้ม แต่มีหน้าต่างจริงเพียงช่องเดียว ฐานอาคารเป็นฐานบัวลูกฟัก แอ่นโค้งคล้ายท้องเรือสำเภา อันเป็นลักษณะเฉพาะของสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย ฝาผนังด้านในมีภาพจิตรกรรมเรื่องพุทธประวัติตอนเทพชุมนุมและภาพยักษ์ ด้านหลังวิหารมีเจดีย์ขนาดใหญ่ย่อมุมไม้สิบสอง ก่ออิฐถือปูน ฐานเจดีย์เป็นฐานบัวลูกฟักซ้อนกัน องค์ระฆังย่อมุม มีบัลลังก์รองรับปล้องไฉนและส่วนยอด วิหารแห่งนี้ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ และกำหนดขอบเขตโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๙
ปรางค์วัดอรัญญิกาวาส

            วัดอรัญญิกาวาส อยู่ในเขตตำบลเจดีย์หัก อำเภอเมือง ฯ ปรางค์ประธานประกอบด้วยปรางค์บริวารขนาดเล็กกว่าอยู่สี่ด้าน มีลวดลายปูนปั้นประดับสวยงาม ปรางค์ทั้งหมดล้อมรอบด้วยระเบียงคดที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหินทราย พุทธศิลปะแบบอยุธยาประดิษฐานอยู่โดยรอบ นอกระเบียงคดด้านหลังมีพระพุทธรูปปางไสยาสน์ สลักจากหินทรายสีแดง แต่เดิมคงสร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา
            นอกจากพระปรางค์แล้ว ในบริเวณวัดยังมีเจดีย์ทรงระฆังกลมอีกสององค์อยู่ทางหน้าของวัด เป็นเจดีย์ศิลปะแบบลังกา ซึ่งเป็นที่นิยมสร้างในศิลปะสุโขทัย และอยุธยาตอนต้น

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |