|
ย้อนกลับ
|
หน้าต่อไป
|
|
พัฒนาทางประวัติศาสตร์
|
มรดกทางธรรมชาติ
|
มรดกทางวัฒนธรรม
|
มรดกทางพระพุทธศาสนา
|
มรดกทางวัฒนธรรม
แหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์
แบ่งออกได้เป็น ๓ กลุ่มใหญ่ ๆ ด้วยกันคือ แหล่งโบราณคดีในพื้นที่สูงแถบเทือกเขาตะนาวศรี แหล่งโบราณคดีในเขตที่ราบสลับภูเขาโดด และแหล่งโบราณคดีในแถบที่ราบลุ่มแม่น้ำแม่กลอง
ส่วนใหญ่อยู่ในเขตอำเภอสวนผึ้ง ใกล้แม่น้ำภาชี รวมทั้งห้วยและสาขาต่าง ๆ และพบตามเหมืองดีบุก ที่อาจมีการทำเหมืองดีบุกมาแล้วตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ประมาณ ๒,๐๐๐ ปีแหล่งโบราณคดีที่สำคัญที่สุดได้แก่
แหล่งโบราณคดีในพื้นที่สูงแถบเทือกเขาตะนาวศรี
เหมืองลุงสิงห์
อยู่ที่บ้านตะโกล่าง ตำบลสวนผึ้ง โบราณวัตถุสำคัญที่พบมีขวานหิน และจักรหรือกำไลทำจากหินชนวนสีเทา หินลับทำจากหินทราย เศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ เผาด้วยอุณหภูมิต่ำ และเครื่องมือหินกระเทาะทำจากหินกรวดแม่น้ำที่อาจใช้เป็นเครื่องมือขุดแร่
เหมืองเริ่มชัย
อยู่ที่บ้านตะโกล่าง ตำบลสวนผึ้ง อำเภอสวนผึ้ง พบขวานหินขัดชนิดมีบ่า และไม่มีบ่าทำจากกินดินดาน หินควอร์ตซ์ไซต์ และหินแจสเปอร์ กำไลหินทำจากหินชนวน เศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ เผาด้วยอุณหภูมิต่ำ และกระดูกสัตว์จำพวกวัวควาย
บ้านนาขุนแสน
อยู่ที่บ้านนาขุนแสน ตำบลสวนผึ้ง อำเภอสวนผึ้ง อยู่บนที่ราบใกล้กับห้วยคลุมที่ไหลลงแม่น้ำภาชี พบขวานหินขัดชนิดมีบ่า และไม่มีบ่า ทำจากหินควอร์ทไซต์ กำไลหรือจักรหิน แผ่นหินกลมแบนขอบหนามีร่องคล้ายกับรอก ที่ใช้เป็นเครื่องทุ่นแรงเช่นเดียวกับที่พบที่กาญจนบุรี เศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบเผาด้วยอุณหภูมิต่ำ เครื่องมือเหล็ก และก้อนแร่ดีบุก สำหรับขวานหินขัดชนิดไม่มีบ่านั้น บางชิ้นมีลักษณะเป็นรูปจงอยปากนก ซึ่งเป็นรูปแบบที่พบมากในมาเลเซีย และอินโดนีเซีย สำหรับในประเทศไทยได้พบตั้งแต่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานีลงไป
ห้วยม่วง
อยู่ที่บ้านห้วยม่วง ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง พบเครื่องมือหินกะเทาะแบบสองหน้า และแบบมีบ่าตื้น เครื่องมือหินขัดแบบมีบ่าและไม่มีบ่า กำไลหรือจักรหิน หินงบน้ำอ้อย หินลับเครื่องมือสำหรับขวานสำริด ใบหอกสำริด และเศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบเผาด้วยอุณหภูมิต่ำ
ห้วยน้ำใส
อยู่ที่บ้านน้ำใส ตำบลสวนผึ้ง อำเภอสวนผึ้ง มีลักษณะเป็นเหมืองแร่ดีบุกบนที่ราบเชิงเขา พบขวานหินกระเทาะที่อาจจัดอยู่ในกลุ่มวัฒนธรรมโฮบิเนียน มีอายุประมาณ ๑๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว ขวานหินขัด กำไลหรือจักรหิน ลูกปัดหินสี หินลับเครื่องมือสำริด ขวานสำริด ภาชนะสำริด และเศษภาชนะดินเผา
เหมืองผาปกค้างคาว
อยู่ที่บ้านผาปก ตำบลสวนผึ้ง อำเภอสวนผึ้ง พบขวานหินขัดชนิดมีบ่า และไม่มีบ่า เครื่องประดับสำริดคล้ายจี้ห้อยคอ ชิ้นส่วนภาชนะสำริด และเศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ เผาด้วยอุณหภูมิต่ำ
เหมืองตะโกปิดทอง
อยู่ในเขตตำบลตะโกปิดทอง อำเภอสวนผึ้ง พบเครื่องมือหินกระเทาะทำจากหินควอร์ทซ์ไซต์ ขวานหินขัดทำจากหินชนวน ใบหอกสำริดชนิดมีบ้อง และเครื่องประดับสำริด จำพวกแหวน และกำไล
ห้วยสวนพลู
อยู่ที่บ้านห้วยสวนพลู ตำบลบ้านบึง กิ่งอำเภอบ้านคา พบขวานหินชนิดมีบ่า และไม่มีบ่า ลูกปัดหินอะเกต ก้อนตะกรันเหล็ก และชิ้นส่วนด้ามภาชนะสำริดรูปสัตว์คล้ายนก ซึ่งมีรูปแบบเดียวกันกับที่พบที่แหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชร อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี
แหล่งโบราณคดีในเขตที่ราบสูงสลับกับภูเขาโดด
พบในเขตอำเภอจอมบึง และอำเภอโพธาราม ส่วนใหญ่เป็นถ้ำเนินดินใกล้แหล่งน้ำ และพื้นที่ราบที่น้ำท่วมไม่ถึง แหล่งที่สำคัญดังนี้
บ้านหลวงบัว
อยู่ในเขตตำบลจอมบึง อำเภอจอมบึง มีลักษณะเป็นเนินดินบนที่ราบลอนลาด ล้อมรอบด้วยแอ่งที่ลุ่มจอมบึง และภูเขา พบขวานหินกระเทาะ ขวานหินขัดชนิดมีบ่า และไม่มีบ่า ลูกปัดแก้ว เครื่องมือเหล็กที่รวมอยู่กับกระดูกมนุษย์ในภาชนะดินเผาด้วยอุณหภูมิต่ำ ก้อนตะกรันเหล็กจำนวนมากกระจายอยู่ทั่วไป และท่อสูบลมดินเผามีความเป็นไปได้ว่าที่นี่อาจเป็นแหล่งถลุงเหล็ก
บ้านปากบึง
อยู่ในเขตตำบลจอมบึง อำเภอจอมบึง อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของขอบแอ่งที่ลุ่มจอมบึง พบแหล่งฝังศพได้แก่กระดูกมนุษย์ เครื่องมือเหล็ก แหวนสำริด กำไลสำริด ลูกกระพวนสำริด เศษภาชนะสำริด แวดินเผา ลูกปัดแก้วและหิน และเศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบเผาด้วยอุณหภูมิต่ำ โบราณวัตถุที่พบคล้ายคลึงกับที่แหล่งโบราณคดี บ้านดอนตาเพชร อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี
ไร่ชัฎหนองคา
อยู่ที่บ้านหนองบัว ตำบลจอมบึง อำเภอจอมบึง มีลักษณะเป็นเนินดิน ตั้งอยู่ริมแอ่งที่ลุ่ม พบลูกปัดแก้วทึงแสง เถ้ากระดูกมนุษย์ เปลือกหอยแครงในโอ่งแบบมอญ ได้พบโบราณวัตถุที่เป็นหลักฐานการอยู่สืบเนื่องถึงสมัยทวาราวดี และสมัยลพบุรี
ถ้าน้ำมนต์
อยู่ที่บ้านเขารังเสือ ตำบลจอมบึง อำเภอจอมบึง พบเศษภาชนะดินเผา กระดูกสัตว์ เปลือกหอย และแม่พิมพ์ดินเผา สำหรับใช้หล่อขวานสำริดที่ใช้เทคนิคสูงในการหล่อ
ถ้ำหนองศาลเจ้า
อยู่ที่เขาคันหอก บ้านหนองศาลเจ้า ตำบลเบิกไพร อำเภอจอมบึง พบเครื่องมือเหล็ก ลูกปัดแก้ว ลูกปัดหินสี ชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์ เศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ เผาด้วยอุณหภูมิต่ำ และชิ้นส่วนเครื่องประดับสำริด
ถ้ำเขารังเสือ
อยู่ในเขตตำบลปากช่อง อำเภอจอมบึง พบลูกปัดหินสี เครื่องปั้นดินเผา และแม่พิมพ์ดินเผาสำหรับหล่อขวานสำริด
เขาปะฏัก
(ไร่นายกุ่ย) อยู่ที่บ้านหนองกวาง ตำบลหนองกวาง อำเภอโพธาราม พบจักรหรือกำไลหิน ภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ เผาด้วยอุณหภูมิต่ำ แวดินเผา ชิ้นส่วนเครื่องมือเหล็ก ลูกปัดสำริด และกระดูกมนุษย์
บ้านหนองกวาง
(ไร่นายเชษฐ์ และไร่นายชมพู) อยู่ในเขตตำบลหนองกวาง อำเภอโพธาราม พบแวดินเผา เศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบเผาด้วยอุณหภูมิต่ำ จักรหรือกำไลหิน ลูกปัดแก้ว ลูกกระพวนสำริด ก้อนตะกรันเหล็ก เศษเตาเผาโลหะ กระดูกมนุษย์ และเปลือกหอย
ถ้ำแรด
อยู่ที่บ้านหนองกวาง ตำบลหนองกวาง อำเภอโพธาราม พบลูกปัดหินกระเทาะ เศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบเผาด้วยอุณภูมิต่ำ กระดูกสัตว์ และเปลือกหอย
ถ้ำเขาช่องลม
อยู่ที่บ้านหนองกวาง ตำบลหนองกวาง อำเภอโพธาราม พบลูกปัดหินอะเกต ลูกปัดหินคาร์เนเลียน ลูกปัดแก้ว และเศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ เผาด้วยอุณหภูมิต่ำ
ถ้ำเขาขวาก
อยู่ที่บ้านหนองกวาง ตำบลหนองกวาง อำเภอโพธาราม เป็นแหล่งโบราณคดีบนเขาหินปูน ภายในถ้ำพบเศษภาชนะและภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ เผาด้วยอุณหภูมิต่ำ ลูกปัดหินคาร์เนเลียน และหินอะเกต ลูกปัดกระดูก กำไลหรือจักรหิน กระดูกมนุษย์ และสัตว์ เครื่องมือปลายแหลมทำด้วยกระดูก แหวนและกำไลสำริด กลองมโหรทึก ที่มีรูปดาวสิบแฉกอยู่ตรงกลาง และประดับด้วยลายคล้ายนกบิน และลายวงกลมไข่ปลา เป็นแบบที่พบทั่วไปในประเทศไทย มีอายุประมาณ ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว
ถ้ำเขากระโจม
อยู่ที่บ้านหนองกวาง ตำบลหนองกวาง อำเภอโพธาราม พบเศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบเผาด้วยอุณหภูมิต่ำ กระดูกมนุษย์และสัตว์ และเศษภาชนะสำริด
ถ้ำสิงห์โตแก้ว
อยู่ที่บ้านหนองกวาง ตำบลหนองกวาง อำเภอโพธาราม พบภาชนะดินเผา และเศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ เผาด้วยอุณหภูมิต่ำ เครื่องมือเหล็กคล้ายเสียม และชิ้นส่วนกระดูกสัตว์
บ้านพุน้ำค้าง
อยู่ในเขตตำบลหนองกวาง อำเภอโพธาราม พบเศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ เผาด้วยอุณหภูมิต่ำ ขวานหินขัด ชนิดมีบ่าและไม่มีบ่า ลูกปัดแก้วและหินสี กำไลหรือจักรหิน กำไลกระดูก เครื่องมือเหล็ก ก้อนตะกรันเหล็ก และชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์
ถ้ำหนองหญ้าปล้อง
อยู่ที่บ้านหนองกวาง ตำบลหนองกวาง อำเภอโพธาราม พบเศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ เผาด้วยอุณหภูมิต่ำ ชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์ และกระดูกสัตว์ เปลือกหอย
เขาเขียว
อยู่ในเขตตำบลเขาชะงุ้ม อำเภอโพธาราม เป็นแหล่งแร่เหล็ก มีร่องรอยการนำแร่เหล็กไปใช้ โดยการขุดเจาะอุโมงค์
แหล่งโบราณคดีในแถบที่ราบลุ่มแม่น้ำแม่กลอง
พบกระจายอยู่ในเขตอำเภอบ้านโป่ง อำเภอเมือง ฯ และอำเภอบางแพ แหล่งที่สำคัญมีดังนี้
บ้านน้ำพุ
อยู่ในเขตตำบลน้ำพุ อำเภอเมือง ฯ พบขวานหินขัดที่ขัดเสร็จแล้ว และยังขัดไม่เสร็จเป็นจำนวนมาก หินลับ แกนหิน กำไลหรือจักรหิน หินทุบผ้าเปลือกไม้ ใบหอกหินชนวน เศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบเผาด้วยอุณหภูมิต่ำ
ถ้ำเขาชุ่มดง
อยู่ที่บ้านเขาชุ่มดง ตำบลน้ำพุ อำเภอเมือง ฯ พบขวานหินขัดชนิดมีบ่า และไม่มีบ่า แท่งลูกปัดแก้วที่ยังทำไม่เสร็จ แวดินเผา แหวนสำริด ภาชนะและเศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ เผาด้วยอุณหภูมิต่ำ เครื่องมือเหล็ก กำไลทำด้วยกระดูก ชิ้นส่วนกระโหลกช้าง
บ้านโคกพริก
อยู่ในเขตตำบลคุ้งกระถิน อำเภอเมือง ฯ พบโครงกระดูกมนุษย์ ๓ โครง กระดูกสัตว์หลายชนิด แวดินเผา ลูกกระสุนดินเผา กำไลเปลือกหอย ลูกปัดแก้ว ลูกปัดหินดาร์เนเลียนและอะเกต ลูกปัดทำจากกระดูกสันหลังปลา เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ แบบสังคมเกษตรกรรมอายุประมาณ ๑,๐๐๐ ปีมาแล้ว
คูบัว
อยู่ในเขตตำบลคูบัว อำเภอเมือง ฯ พบกลองมโหรทึก มีรูปดาวสิบแฉกอยู่ตรงกลางของหน้ากลอง และประดับลวดลายวงกลมไข่ปลาลายคล้ายนกบิน และลายเชือกที่หูกลอง
โคกพลับ
อยู่ที่บ้านโคกพลับ ตำบลโพหัก อำเภอบางแพ พบโครงกระดูก ๔๘ โครง ฝังรวมกันอยู่กับสิ่งของเครื่องใช้เครื่องประดับ มีภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ เผาด้วยอุณหภูมิต่ำ กำไลหรือจักรหิน กำไลเปลือกหอย กำไลกระดองเต่าทะเล ขวานหิน ลูกปัด ต่างหูหิน และเปลือกหอย เครื่องมือเครื่องใช้สำริด
จากการสำรวจทางโบราณคดีในเขตจังหวัดราชบุรี ทำให้ทราบว่า พื้นที่นี้ได้มีมนุษย์มาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ประมาณ ๑๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว ดำรงชีวิตแบบสังคมล่าสัตว์ ที่ยังไม่มีการตั้งหลักแหล่งอยู่อาศัยถาวร แต่อาศัยอยู่ตามถ้ำหรือเพิงผา หรือพื้นที่ใกล้แหล่งน้ำเป็นที่พักชั่วคราวตามฤดูกาล แล้วจึงได้พัฒนาการ มาตามลำดับจนมาถึงยุคประวัติศาสตร์
แหล่งโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์
เมืองโบราณคูบัว
อยู่ในเขตตำบลคูบัว อำเภอเมือง ฯ มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมมน กว้างประมาณ ๘๐๐ เมตร ยาวประมาณ ๒,๐๐๐ เมตร เช่นเดียวเมืองโบราณแห่งอื่น ๆ ที่พบในประเทศไทย เช่นเมืองศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี และเมืองโบราณบ้านคูเมือง จังหวัดสิงห์บุรี
บริเวณเมืองโบราณทั้งภายในและภายนอกกำแพงเมือง มีเนินดินโบราณสถานรวม ๔๔ แห่ง พบว่าเป็นฐานเจดีย์ที่สร้างขึ้น เนื่องในพระพุทธศาสนาทั้งฝ่ายเถรวาท และฝ่ายมหายาน พุทธสถานฝ่ายมหายานมักนิยมตบแต่งอาคารด้วยลวดลายต่าง ๆ ทั้งที่เป็นแผ่นภาพดินเผา แผ่นภาพปูนปั้น ตลอดจนประติมากรรมนูนสูงทั้งดินเผา และปูนปั้นเช่นกัน ได้พบภาชนะดินเผารูป พระโพธิสัตว์ เทพ นาค ครุฑ คนธรรพ์ ยักษ์ รากษส คนแคระ สิงห์ ช้าง ม้า เป็นต้น โดยเฉพาะเศียรพระโพธิสัตว์ดินเผาที่แสดงถึงฝีมือช่างชั้นสูง คล้ายคลึงกับภาพเขียนในถ้ำอชันตา ของอินเดีย รูปพระโพธิสัตว์ล้วนยืนอยู่ในท่าตริภังค์ (ยืนเอียงสะโพก) ทรงศิราภรณ์ และเครื่องประดับอื่น ๆ เช่นเดียวกับประติมากรรมในศิลปะอินเดีย แบบหลังคุปตะ คล้ายกับที่พบในถ้ำอชันตา และถ้ำเอลโลราในอินเดีย
พุทธสถาน ที่เป็นทั้งเถรวาท และมหายาน ที่สำคัญคือวัดโขลงสุวรรณคีรี ซึ่งตั้งอยู่เกือบใจกลางเมืองคูบัว มีขนาดสูงใหญ่ที่สุดของบรรดาพุทธสถานทั้ง ๔๔ แห่ง ลักษณะของฐานโบราณสถานคล้ายกับศาสนสถานเขาคลังในกลางเมืองโบราณศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์
พุทธสถานฝ่ายเถรวาท ไม่นิยมการประดับตกแต่งมากนัก อาจมีเพียงแผ่นอิฐแต่งลวดลายหรือชิ้นส่วนลวดลายดินเผาประดับ หรืออาจเป็นแผ่นภาพเล่าเรื่องในพุทธศาสนา เช่นภาพปูนปั้นประดับโบราณสถานแห่งหนึ่ง เป็นภาพจากนิทานในนิกาย สรวาสติวาส คล้ายกับภาพปูนปั้นประดับฐานเจดีย์จุลประโทน จังนครปฐมซึ่งเป็นที่นิยมแพร่หลายทั่วไปในดินแดนสุวรรณภูมิ ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒
โบราณสถานอีกแห่งหนึ่งได้พบผอบทองคำบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ครอบด้วยผอบเงิน ฝาแกะลวดลายดอกบัวบรรจุในช่องกลางของกล่องรูปสี่เหลี่ยม ซึ่งเจาะเป็นช่องวางอยู่ใต้ฐาน กล่องดังกล่าวคล้ายกับที่พบที่สทิงพระ จังหวัดสงขลา และคล้ายกับกล่องเครื่องพิธีวางศิลาฤกษ์ของลังกาที่เรียกว่า " ยันตรกาล " ปกติมี ๙ ช่องหรือมากกว่านั้น เพื่อบรรจุรูปสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับความเชื่อในเรื่องจักรวาลที่มีที่มาจากอินเดีย
โบราณวัตถุที่พบที่เมืองคูบัว มีทั้งที่เป็นของที่ทำขึ้นเนื่องในศาสนา และเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน ที่ทำขึ้นเนื่องในศาสนาได้แก่ พระพุทธรูปดินเผา พระพุทธรูปปูนปั้นปางปฐมเทศนา พระพิมพ์แบบต่าง ๆ ที่ทำจากดินเผาและหินชนวน ชิ้นส่วนธรรมจักรศิลา ประติมากรรมรูปบุคคลที่ทำด้วยดินเผาและรูปปั้น
โบราณวัตถุที่ทำขึ้นใช้ในชีวิตประจำวันได้แก่ ภาชนะดินเผา เครื่องมือ เครื่องใช้ที่ทำด้วยดินเผา เช่น ตะคัน ตะเกียง แว ลูกกระสุนที่ประทับลวดลาย เครื่องประดับทำจากโลหะ เครื่องมือโลหะ ลูกปัดแก้ว เป็นต้น ทั้งหมดล้วนสืบทอดมาจากสมัยก่อนประวัติศาสตร์ แต่มีเทคนิคและวิธีการที่ซับซ้อนขึ้น
แหล่งโบราณคดีเทือกเขางู
อยู่ในเขตตำบลเกาะพลับพลา อำเภอเมือง ฯ หลักฐานสำคัญเนื่องในวัฒนธรรมทวาราวดี ที่ปรากฏให้เห็นในถ้ำ ทั้งสี่แห่ง ซึ่งทำขึ้นในช่วงประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๓ เพื่อใช้เป็นสถานที่ให้ภิกษุมาจำพรรษา ปฏิบัติธรรม ที่ห่างไกลจากผู้คนที่อยู่อาศัยบริเวณเมืองคูบัว ถ้ำดังกล่าวได้แก่
ถ้ำฤาษี
เป็นสถานที่ที่มีโบราณวัตถุที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองราชบุรี คือพระพุทธรูปสลักบนผนังถ้ำ สูงประมาณ ๒.๕๐ เมตร เป็นรูปนูนต่ำ ประทับนั่งห้อยพระบาท มีพุทธลักษณะเช่นเดียวกับ พระพุทธรูปที่ถ้ำอชันตาในอินเดีย พระพุทธรูปศิลาจำหลักองค์นี้มีชื่อว่า พระพุทธฉายาถ้ำฤาษีเขางู ที่ผนังถ้ำด้านซ้ายมีพระพุทธรูปยืน ปางเสด็จลงจากดาวดึงส์ จำหลักบนผนังถ้ำ สร้างในสมัยทวาราวดี
ถ้ำจีน
อยู่ทางทิศตะวันตกของถ้ำฤาษี ภายในถ้ำมีพระพุทธรูปบนผนังถ้ำด้านทิศตะวันออกสององค์ เป็นศิลปะแบบทวาราวดี
ถ้ำจาม
อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของถ้ำฤาษี ที่ผนังถ้ำจำหลักพระพุทธรูปปางมารวิชัย ปางเสด็จจากดาวดึงส์ และพระพุทธไสยาสน์ศิลปสมัยทวาราวดี เหนือองค์พระประดับด้วยปูนปั้นลวดลายต้นไม้คือ ต้นสาละ
ถ้ำฝาโถ
ที่ผนังด้านซ้าย ขวา และเพดานมีภาพสลักขนาดใหญ่ คือด้านซ้ายเป็นภาพสลัก พระพุทธรูปปางไสยาสน์ ยาวประมาณ ๙ เมตร กว้างประมาณ ๒ เมตร ประกอบด้วยต้นสาละที่เป็นภาพปูนปั้นสีขาว แต่งด้วยเส้นลายสีแดง บนผนังเหนือองค์พระมีปูนปั้นรูปเทพนม ที่ผนังถ้ำด้านขวาเป็นภาพสลักรูปบุคคลที่มาชุมนุมกันในช่วงเวลาที่พระพุทธเจ้านิพพาน
แหล่งโบราณคดีบ้านดอนกระเบื้อง
อยู่ในเขตตำบลดอนกระเบื้อง อำเภอบ้านโป่ง อยู่ในสมัยอยุธยาตอนปลาย ลักษณะเป็นเนินดินขนาดใหญ่ มีคลองดอนกระเบื้องไหลผ่าน พบเศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ เนื้อแกร่ง เครื่องถ้วยจีน ชิ้นส่วนเครื่องมือเหล็ก และเศษแก้ว
แหล่งโบราณคดีบ้านโคกหม้อ
อยู่ในเขตตำบลโคกหม้อ อำเภอเมือง ฯ เป็นแหล่งเตาเผาเครื่องปั้นดินเผา ริมฝั่งซ้ายของแม่น้ำแม่กลอง เป็นแหล่งเตาขนาดใหญ่ พบเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์เหม็ง จึงน่าจะมีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ตรงกับสมัยอยุธยา พบเศษภาชนะดินเผาแบบเดียวกับที่พบในฟิลิปปินส์ กำหนดอายุได้ตรงกัน
แหล่งโบราณคดีวัดเกาะ
อยู่ที่วัดเกาะนัมมทาปทวรัญชาราม ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง ฯ เป็นเกาะกลางแม่น้ำแม่กลอง พบภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ และเนื้อแกร่ง ตะคันเตาเชิงกราน กระปุก กาน้ำ เครื่องถ้วยจีน ตลับรูปกลม จากเตาหนานอัน ราชวงศ์ซุ่งเหนือ (ประมาณ พุทธศตวรรษที่ ๑๘ - ๑๙) ไหคล้ายไหในสมัยราชวงศ์ถัง (พ.ศ. ๑๑๖๑ - ๑๔๕๐) สังข์สำริดพระนารายณ์สี่กร กระโถนสำริด เหรียญอีแปะ ลูกปัดแก้ว ฯลฯ
แหล่งโบราณคดีวัดขุนสีห์
อยู่ที่บ้านม่วง ตำบลบ้านม่วง อำเภอบ้านโป่ง อยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำแม่กลอง พบสิงห์โตดินเผา พระพิมพ์ดินเผาแบบสุโขทัย ยอดเจดีย์ สถูปทรงกลีบมะเฟืองดินเผา เบี้ยดินเผา เศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ และเนื้อแกร่ง บริเวณขอบเนินด้านตะวันออกมีแนวโบราณสถานพังทลาย สันนิษฐานว่า ณ ที่นี้น่าจะเป็นเมืองโบราณอีกแห่งหนึ่งในสมัยทวาราวดี และมีการอยู่อาศัยอีกครั้งไม่เกินสมัยอยุธยาตอนต้น
แหล่งประวัติศาสตร์
บ้านนางแก้ว
อยู่ในเขตตำบลนางแก้ว อำเภอโพธาราม ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำแม่กลอง ห่างประมาณ ๖ กิโลเมตร เป็นที่ตั้งค่ายพม่า ๓ ค่าย ครั้งศึกบางแก้วในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๑๗ แม่ทัพพม่าชื่องุยอคงหวุ่นคุมกำลัง ๕,๐๐๐ คน ตามครัวมอญเข้ามาในไทยถึงท่าดินแดงเขตเมืองกาญจนบุรี ซึ่งเป็นที่ตั้งค่ายของฝ่ายไทย แล้วตีค่ายไทยแตก จากนั้นได้แบ่งกำลังออกเป็น ๒ ส่วน ส่วนหนึ่งให้ตั้งอยู่ที่ปากแพรก อีกส่วนหนึ่งมาตั้งค่ายที่บ้านนางแก้ว ๓ ค่าย มีกำลัง ๓,๐๐๐ คน งุยอคงหวุ่นคุมกำลังส่วนนี้เอง
บ้านเขาชะงุ้ม
อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของบ้านนางแก้ว ห่างกันประมาณ ๕ กิโลเมตร อยู่ในเขตอำเภอโพธาราม สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ให้พระยารามัญวงศ์คุมกำลังมอญที่เข้ามาใหม่ ไปรักษาหนองน้ำที่เขาชะงุ้ม ซึ่งอยู่ในเส้นทางลำเลียงของข้าศึก
บ้านโคกกระต่าย
อยู่ในท้องทุ่งธรรมเสน ตำบลธรรมเสน อำเภอโพธาราม อยู่ห่างจากค่ายพม่าที่บ้านนางแก้วประมาณ ๔ กิโลเมตร เป็นที่ตั้งค่ายของไทยในบังคับบัญชาของพระองค์เจ้าจุ้ย (เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์) และสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงใช้เป็นค่ายหลวง
บ้านเขาพระ
อยู่เหนือบ้านโคกกระต่ายไปทางบ้านนางแก้วประมาณ ๒ กิโลเมตร สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงใช้เป็นที่ตั้งค่ายหลวงก่อนที่จะย้ายไปอยู่ที่บ้านโคกกระต่าย
เขาช่องพราน
อยู่เหนือบ้านนางแก้ว และอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของเขาชะงุ้ม เป็นเส้นทางลำเลียงเสบียงอาหาร และการส่งกำลังบำรุงของกองทัพพม่า จากเมืองกาญจนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระยาอินทรอภัย นำกำลังไปตั้งค่ายอยู่ที่เขาช่องพราน เพื่อตัดเส้นทางลำเลียงเสบียงของพม่ในศึกนางแก้ว ฝ่ายพม่าพยายามเข้าตีค่ายไทย ณ ที่นี้หลายครั้ง แต่ไม่สำเร็จ
ด่านประตูสามบานและด่านเจ้าเขว้า
ตั้งอยู่ริมแม่น้ำภาชี ทางด้านทิศตะวันตกของเมืองราชบุรี เป็นระยะเดินทาง ๒ วัน เข้าใจว่าอยู่ที่บ้านด่าน ในเขตอำเภอสวนผึ้ง เป็นด่านที่พม่าใช้เดินทัพผ่านเข้ามายังดินแดนไทย ในครั้งศึกนางแก้ว
ย่านประวัติศาสตร์
ตลาดน้ำดำเนินสะดวก
เป็นตลาดน้ำแห่งแรกที่คลองดำเนินสะดวก ในระยะเวลาไล่เลี้ย กับการขุดคลองแห่งนี้ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๙ คือตลาดน้ำปากคลองราชบุรี หรือที่เรียกกันว่าตลาดนัดปากคลองลัดพลี ตลาดนัดห้าห้อง ตลาดนัดศาลาแดง และตลาดนัดหลักแปด ตลาดเหล่านี้ตั้งอยู่บริเวณที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ได้ให้ปลูกศาลาไม้จริงห้าห้อง หลังคามุงกระเบื้องสีแดง เพื่อใช้เป็นที่พักคนงานขุดคลอง และใช้เป็นที่พักของผู้คนที่เดินทางผ่านคลองดำเนินสะดวก ต่อมาตลาดน้ำแห่งนี้ ได้กลายเป็นตลาดน้ำสำคัญแห่งหนึ่งคู่กับตลาดน้ำปากคลอง หรือที่เรียกกันว่า ตลาดนัดปากคลอง ที่ตั้งอยู่ปากคลองใกล้แม่น้ำแม่กลอง ที่มีมาก่อนการขุดคลองดำเนินสะดวก
ตลาดเก่าโพธาราม
โพธารามในอดีตเป็นชุมชนใหญ่ที่เก่าแก่และเจริญมาก ในปี พ.ศ. ๒๔๕๒ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสมณฑลราชบุรี ทรงมีพระราชหัตถเลขาว่า ...ตำบลโพธารามนี้เปนที่ตลาดอย่างสำเพ็งยืดยาวมาก ผู้คนแน่นหนา จำนวนคนในโพธารามถึง ๔๐,๐๐๐ มากกว่าอำเภอเมืองราชบุรี..."
สิ่งสำคัญคู่บ้านคู่เมือง
ศาลหลักเมือง
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้ทรงย้ายเมืองราชบุรีไปตั้งทางฝั่งขวาของแม่น้ำแม่กลอง เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๖๐ ได้มีพิธีฝังเสาหลักเมือง และมีการสมโภช ๓ วัน ๓ คืน ตั้งแต่วันอังคาร แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๖ ปีฉลู พ.ศ. ๒๓๖๐ จนถึงวันพฤหัสบดี แรม ๑๕ ค่ำ เวลา ๗ นาฬิกา
ทางจังหวัดได้จัดให้มีงานนมัสการประจำทุกปี โดยมีกรมการทหารช่าง และจังหวัดทหารบกราชบุรี เป็นผู้ดูแลให้คงสภาพถาวรอยู่จนถึงปัจจุบัน
พระแสงราชศัสตราประจำมณฑลราชบุรี
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำริโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระแสงราชศัสตรา สำหรับพระราชทานไว้ประจำมณฑล และเมืองใหญ่น้อยในพระราชอาณาจักร เพื่อเป็นที่ระลึกในคราวเสด็จพระราชดำเนิน และประทับแรมที่เมืองนั้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนพระองค์ และใช้สำหรับแทงน้ำในพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาในหัวเมือง
พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระแสงราชศัสตรา ประจำมณฑลราชบุรี เมื่อ ๒๔ เมษายน ๒๔๕๙ พระแสงนี้เป็นดาบไทย ยาว ๑๐๓ เซนติเมตร ด้ามยาว ๓๑ เซนติเมตร ฝักยาว ๗๒ เซนติเมตร ใบดาบยาว ๖๕ เซนติเมตร ใบดาบกว้าง ๒.๕๐ เซนติเมตร ตัวพระแสงทำด้วยเหล็กเนื้อดี ด้ามทำด้วยทองคำลงยาราชาวดี ฝักทำด้วยไม้หุ้มทองคำสีดอกบวบสลักลวดลายทั้งสองด้าน ปลายฝักลงยาราชาวดี ทอดอยู่บนพานแว่นฟ้า พร้อมหมอนรองพระแสง ใบพระแสงจารึกข้อความเหมือนทั้งสองด้านว่า "มณฑลราชบุรี" ปลอกด้านซ้าย จารึกว่า "๓๐"
พระสี่มุมเมือง
มีชื่อเรียกเป็นทางการว่า
พระพุทธนิรโรคันตราย ชัยวัฒน์จตุรทิศ
นับว่าเป็นปูชนียวัตถุล้ำค่าของจังหวัดราชบุรี พระพุทธรูปองค์นี้เป็น ๑ ใน ๔ องค์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระราชทานแก่ ๔ จังหวัดในทิศทั้ง ๔ ของประเทศ ได้แก่ จังหวัดลำปางทางทิศเหนือ จังหวัดพัทลุงทางทิศใต้ จังหวัดสระบุรีทางทิศตะวันออก และจังหวัดราชบุรีทางทิศตะวันตก การสร้างพระพุทธรูปประจำสี่มุมเมืองนี้นับเป็นครั้งแรก ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเททอง เมื่อ ๒ สิงหาคม ๒๕๑๑ พระพุทธรูปสี่มุมเมืองมีขนาดหน้าตัก กว้าง ๔๙ นิ้ว มีพุทธลักษณะเช่นเดียวกับพระนิรโรคันตราย ฯ ที่ประดิษฐานอยู่ในพระบรมมหาราชวังโลหะที่ใช้หล่อประกอบด้วยทองเหลือง ๓ ส่วน ทองแดง ๑ ส่วน ทองขาว ๑ ส่วน รวมโลหะทั้งสิ้นหนักประมาณ ๔๐๐ กิโลกรัม
ภาษาและวรรณกรรม
จังหวัดราชบุรี มีคนอาศัยหลากหลายกลุ่มด้วยกัน ได้แก่ ไทย มอญ ลาว จีน กะเหรี่ยง แต่ละกลุ่ม ก็มีภาษาที่ใช้สื่อสารเป็นเอกลักษณ์ของตน ภาษาของแต่ละกลุ่มอาจมีลักษณะคล้ายกัน หรือแตกต่างกันไปแล้วแต่ว่าจะอยู่ในตระกูลเดียวกันหรือคนละตระกูล ซึ่งแต่ละตระกูลก็มักมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ทั้งในด้านรูปแบบของคำและสำเนียง กลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดราชบุรี สามารถจัดกลุ่มตามตระกูลภาษาได้ดังนี้
กลุ่มตระกูลไต
ได้แก่ คนไท - ยวน คนลาวโซ่ง คนลาวตี้ (เวียง) คนเขมรลาวเดิม คนไท - โพหัก ภาษาไท - ยวน มีเอกลักษณ์ของตนเองที่แตกต่างจากภาษาไทยมาตรฐานในด้านของเสียงพยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์ แต่จะมีลักษณะคล้ายกับภาษาถิ่นอีสาน และภาษาถิ่นเหนือ อีกประการหนึ่ง คำควบกล้ำในภาษาไท-ยวนนั้นไม่มีใช้กัน แต่มีการใช้เสียงอื่นแทน เช่น คว - ใช้ ฟ ขว ใช้ ฝ (ควาย - ฟาย, ขวาน - ฝาน)
ภาษาลาวโซ่ง
ไม่ต่างจากภาษาไท-ยวน และภาษาไตอื่น ๆ อาจมีแตกต่างกันบ้างในด้านสำเนียงการออกเสียง มีสำเนียงคล้ายภาษาถิ่นอีสาน - เหนือ
ภาษาลาวเวียง
มีการพูดออกสำเนียงคล้ายคนไทยในภาคอีสาน แต่จะพูดช้ากว่า และคำศัพท์ที่พูดนั้นส่วนใหญ่เป็นคำศัพท์เหมือนกับภาษาไทยภาคกลาง เพียงแต่เปลี่ยนสำเนียง ส่วนเสียง พยัญชนะตัว ร ในภาษาไทยกลาง ไม่มีในเสียงพยัญชนะ ลาวเวียง แต่พบว่าออกเสียงเป็นตัว ล และ ฮ แทน เช่น รอ - ฮอ รัก - ฮัก เรียน - เฮียน
ภาษาเขมร - ลาวเดิม
ส่วนใหญ่เหมือนกับภาษาไทยกลาง รวมทั้งสำเนียงพูด ก็ไม่เพี้ยนไปจากไทยกลางมากนัก และมีคำศัพท์ที่เหมือนภาษาไทยอีสานอยู่พอสมควร นอกจากนั้นไม่ปรากฏว่ามีหน่วยเสียงควบกล้ำ เช่นเดียวกับภาษาถิ่นเหนือและอีสาน เช่น เกวียน - เกียน กว้าง - ฟ้าง กราย-กาย ครู - คู รอ - ลอ ช้าง - ซ้าง
ภาษาไท - โพหัก
เป็นคำไทยแท้ที่พูดกันมาแต่ดั้งเดิมเช่น ในอดีต - ตะก่อน เวลา - เพลา บางที - ลางที ตา - พ่อแก่ ยาย - แม่แก่ ลูกรัก,ลูกคนโต - ไอ้หมา - อีหมา ตรง - กรง เตรียม - เกรียม
กลุ่มภาษาตระกูลจีน - ธิเบต
ภาษาที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้ได้แก่ ภาษากะเหรี่ยง ศัพท์สำเนียงการออกเสียงแตกต่างกับภาษาไทยมาตรฐาน แต่ลักษณะโครงสร้างทางไวยากรณ์ของคำ และประโยค เหมือนกับภาษาไทยมาตรฐาน
กลุ่มภาษาตระกูลฮั่น - จีน
ภาษาจีนแตกต่างจากภาษาไทยมาก แต่รูปแบบของโครงสร้างประโยคเหมือนกัน คือมีการเรียงประโยคแบบ ประธาน-กริยา-กรรม คนจีนที่อพยพเข้ามาอยู่เมืองไทยมีหลายกลุ่ม เช่น กวางตุ้ง แต้จิ๋ว ฮกเกี้ยน ไหหลำ แคะ แต่ละกลุ่มมีภาษาพูดที่แตกต่างกันไป
กลุ่มภาษามอญ - เขมร
ภาษามอญมีลักษณะเป็นคำพยางค์เดียว และสองพยางค์เป็นส่วนใหญ่ มีโครงสร้างไม่ซับซ้อน ประโยคประกอบด้วยคำที่ทำหน้าที่เป็นประธาน กริยา และกรรม สำหรับส่วนขยายคำนาม และคำกริยา มักอยู่ตามหลังคำนาม และคำกริยาที่ถูกขยาย
นาฏศิลป์และดนตรี
การรำมอญ
เป็นการรำของชาวมอญที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีท่ารำที่อ่อนช้อยนุ่มนวล นิยมใช้แสดงในงานศพ หรือในงานมงคลทั่วไป เช่นงานฉลอง งานประเพณีสงกรานต์ งานต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง ดนตรีที่ใช้ประกอบการรำคือ วงปี่พาทย์มอญ การรำมอญนิยมใช้ผู้แสดงเป็นหญิงล้วน ลีลาที่เป็นเอกลักษณ์ คือ การเคลื่อนไหวโย้ตัวอย่างอ่อนช้อย และการยึด - ยุบไปพร้อมกับการกระเถิบเท้า การแต่งกายทรงผมเกล้าเป็นมวยสูง ประดับด้วยลูกปัดที่ร้อยเป็นลวดลายที่ท้ายมวยผม สวมเสื้อคอกลมแขนกระบอก นิยมใช้ผ้าลูกไม้โปร่ง มีผ้าสไบคล้องคอ หรือห่มพันรอบอก นุ่งซิ่นยาวครอบข้อเท้า เครื่องดนตรีที่ใช้ได้แก่ฆ้องวงใหญ่ ระนาดเอก ปี่มอญ เปิงมางคอก ตะโพนมอญ และฉิ่ง
การฟ้อนแคน
การฟ้อนแคนเป็นการละเล่นอย่างหนึ่งที่ชาวลาวโซ่งทุกคน สามารถเข้าร่วมฟ้อนรำตามเสียง จังหวะลีลาของแคนที่บรรเลงให้จังหวะ อย่างครื้นเครงพร้อมเพรียงกัน เป็นการร่ายรำประกอบคำร้องที่มีเนื้อหา แสดงความเป็นอยู่ของลาวโซ่ง ผู้รำแสดงเป็นคู่ชายหญิง เคลื่อนไหวล้อมกันเป็นวงกลม ลักษณะการร่ายรำยกวงขึ้นสูง เดินตามจังหวะและเสียงดนตรีที่เป็นเสียงแคน ผู้รำชายหญิงจะแสดงท่ารำในเชิงเกี้ยวพาราสีหยอกล้อกัน ดนตรีที่ใช้มี แคน กลอง ฉิ่ง และฉาบ การแต่งกายผู้ชายใส่เสื้อผ้าฝ้ายแขนยาวสีดำผ่าหน้าตลอด ติดกระดุมเงินเม็ดกลมยอดแหลม ประมาณ ๑๐ - ๑๕ เม็ด นิยมใช้ผ้าขาวม้าคาดเอว กางเกงขาก๊วยสีดำเสื้อก้อมของผู้หญิง เป็นผ้าฝ้ายสีดำรัดรูปพอดีตัว เอวสั้นแขนกระบอกรัดข้อมือ คอเสื้อคล้ายคอจีนผ่าหน้าตลอด ติดกระดุมเงินเหมือนผู้ชาย ผ้านุ่งเป็นผ้าฝ้าย แกมไหมสีดำมีลายสีขาวสลับเป็นทางเล็ก ๆ ติดตีนซิ่น ซึ่งทางเป็นลวดลายขวาง มีผ้าสไบคล้องคอ หรือห่มพันรอบอก
|
ย้อนกลับ
|
หน้าต่อไป
|
บน
|