| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

แหล่งโบราณคดี
           แหล่งโบราณคดีบ้านกุดโง้ง  อยู่ที่บ้านกุดโง้ง ตำบลบุ่งคล้า อำเภอเมือง ฯ เป็นที่ตั้งของชุมชนโบราณสมัยทวารวดี ได้พบหลักฐานทางโบราณคดี จำนวนมาก ได้แก่ ใบเสมาหินทรายแดง ซึ่งเดิมปักเรียงกันเป็นแนววงกลม บนเนินดิน มีใบเสมาหินทรายแดงคู่ปักอยู่กลางเนินดิน ใบเสมาดังกล่าวมีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๖

            แหล่งโบราณคดีบ้านโนนฆ้อง  อยู่ในตำบลโนนฆ้อง อำเภอเกษตรสมบูรณ์ พบในเสมาศิลปะทวารวดี ส่วนใหญ่ยังคงปักอยู่ในตำแหน่งเดิม โดยปักตามตำแหน่งทั้งแปดทิศ รอบพื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างประมาณ  ๗ เมตร  ยาวประมาณ ๒๒ เมตร มีการปักแบบใบเดียวบ้าง สามใบบ้าง ใบเสมาเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นแบบแผ่นหินเรียบ มีอยู่บ้างที่แกะสลักเป็นลายเส้น เช่น เป็นเส้นตรงกลางใบ เป็นภาพสัตว์หันหน้าเข้าหากัน สัตว์ดังกล่าวมีขายาวเหมือนหงส์ แต่ส่วนหัวเป็นลายผักกูด มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๖

            แหล่งโบราณคดีพันลำ  ตั้งอยู่ที่บ้านพันลำ ตำบลสระโพนทอง อำเภอเกษตรสมบูรณ์ พบเสมาศิลปะทวารวดี อยู่ในสภาพฝังจมดินอยู่ ใบเสมาส่วนใหญ่มีสองลักษณะคือ เป็นแบบแผ่นหิน และแท่งหิน ที่ปลายเรียวเล็กลง ลวดลายที่สลักมีลายสันนูนตรงกลางใบ ลายกลีบบัวซ้อนกัน และลายอื่น ๆ
            ใบเสมาใบหนึ่ง สลักเป็นภาพบุรุษนั่งอยู่ในท่ามหาราชสีห์ ชันเข่าซ้ายขึ้น ที่ศีรษะมีวงโค้งคล้ายรัศมี เส้นผมสยายยาวออกมาด้านซ้าย ส่วนผ้านุ่งปล่อยชายลงมา ท่อนบนไม่สวมอะไร ใบเสมาเหล่านี้มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๖

            แหลางโบราณคดี เมืองโบราณบ้านคอนสวรรค์  อยู่ที่บ้านคอนสวรรค์ ตำบลคอนสวรรค์ อำเภอคอนสวรรค์ เป็นชุมชนโบราณ มีคูน้ำ คันดินล้อมรอบ พบใบเสมา และพระพุทธรูปตามเนินดิน รอบหมู่บ้านและวัดต่าง ๆ ในเขตหมู่บ้าน
            พระพุทธรูปองค์หนึ่งที่พบ เป็นพระพุทธรูปประทับยืน ยังแกะสลักไม่เสร็จ ครองจีวรห่มคลุมเป็นลักษณะศิลปะทวารวดี ใบเสมาส่วนใหญ่เป็นแบบหินเรียบ ส่วนที่เป็นแบบแท่งหินมีการแกะสลักภาพบุคคล ที่แสดงเรื่องราวจากชาดกในพระพุทธศาสนา ได้แก่ มหาเวสสันดรชาดก สุวรรณสามชาดก ภูริทัตชาดก  เตมีย์ชาดก มโหสถชาดก มาตุโปสกชาดก สันนิษฐานว่า มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๖

            แหล่งโบราณคดี เมืองโบราณหามหอก  ตั้งอยู่ที่บ้านหนองไข่นุ่น ตำบลลุ่มน้ำชี อำเภอบ้านเขว้า เป็นเมืองโบราณขนาดใหญ่ มีคูน้ำ คันดินล้อมรอบสองชั้น มีสัณฐานเป็นรูปวงรี เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑.๕ กิโลเมตร มีห้วยซึ่งเป็นสาขาแม่น้ำชีโอบเมืองไว้ สันนิษฐานว่ามีการตั้งชุมชนในเมืองแห่งนี้ อยู่สองระยะคือ ระยะแรกสมัยทวารวดี มีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๖  ระยะที่สองในสมัยขอมเรืองอำนาจ เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๘
            ชุมชนแห่งนี้ น่าจะมีโครงสร้างทางสังคมที่ค่อนข้างซับซ้อน เช่น มีการติดต่อกับสังคมภายนอก มีชนชั้นระดับผู้นำ มีการปลูกข้าว พบโบราณสถานที่ก่อด้วยอิฐ ซึ่งยังไม่ทราบแน่ชัดว่าสร้างขึ้นเมื่อใด พบใบเสมาหินทรายขนาดใหญ่ เศษภาชนะดินเผาแบบทวารวดี และขอม เครื่องมือเหล็ก พายกาดินเผา และลูกกระสุนดินเผา
            แหล่งโบราณคดี ปราสาทเมืองน้อย  ตั้งอยู่บริเวณเนินสูงทางทิศตะวันออก ของบ้านเมืองน้อยใต้ ตำบลรอบเมือง อำเภอเมือง ฯ เป็นเนินดินขนาด ๓๐ x ๕๐ เมตร มีร่องรอยคูน้ำล้อมรอบ บนเนินดินมีแผ่นศิลาแลง และเศษอิฐกระจายอยู่ทั่วไป พบโบราณวัตถุประกอบด้วยทับหลัง เช่น บัวยอดปราสาท เสาติดผนัง ประติมากรรมลอยตัว รูปสิงห์ และฐานประติมากรรม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชิ้นส่วนประกอบสถาปัตยกรรม มีรูปแบบศิลปะเทียบได้กับศิลปะขอม ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๖
แหล่งประวัติศาสตร์
            เส้นทางเดินทัพสมัยโบราณ  จากหลักฐานวัฒนธรรมที่พบในเขตจังหวัดหนองคาย อุดรธานี ขอนแก่น ชัยภูมิ คือ ร่องรอยวัฒนธรรมลาวเวียงจันทน์ เพราะบริเวณดังกล่าวเป็นเส้นทางเดินทัพในสมัยโบราณ ระหว่างเวียงจันทน์ไปยังกรุงเทพ ฯ โดยมีเส้นทางจากกรุงเทพ ฯ ผ่านเมืองสระบุรี เมืองชัยบาดาล ผ่านแนวเทือกเขาดงพญาเย็น อันเป็นขอบที่ราบสูงโคราช
            ทางผ่านสำคัญได้แก่ ช่องตะโก (บริเวณช่องสำราญ ในเขตอำเภอเทพสถิต ในปัจจุบัน)  ผ่านมายังด่านบ้านชวน (บริเวณอำเภอบำเหน็จณรงค์) ข้ามลำแม่น้ำชี บริเวณเมืองหามหอก (เมืองโบราณริมแม่น้ำชี ในเขตอำเภอบ้านเขว้า) เข้าสู่บริเวณเมืองชัยภูมิ ผ่านเมืองกาหลง (บริเวณเมืองเก่าในเขตอำเภอคอนสวรรค์) ผ่านช่องสามหมอ (ในเขตอำเภอแก่งคอย)  เมืองภูเขียว เมืองภูเวียง เข้าสู่เมืองหนองบัวลำพู เพื่อไปสู่เมืองเวียงจันทน์
            เส้นทางนี้เป็นเส้นทางเดินทัพ ของเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ ที่คิดกบฎต่อกรุงเทพ ฯ มีหลักฐานเกี่ยวกับการเดินทัพอยู่ เช่น ศาลาเก้าห้อง ที่พักทัพของเจ้าอนุวงศ์ ฯ ซึ่งเป็นซากปรักหักพัง ปรากฎอยู่บางส่วน
ย่านประวัติศาสตร์
            วาตะแบก  อยู่ในเขตอำเภอเทพสถิต เป็นย่านชุมชนของกองคาราวานวัวควาย ของบรรดานายฮ้อย (พ่อค้าวัวควาย) ชาวอีสานในอดีตที่จะต้องพักวัวควาย ก่อนที่จะต้อนข้ามภูเขาบริเวณช่องตะโก (ช่องสำราญ)  เพราะการต้อนวัวควายขึ้นเขา จะต้องกระทำในตอนกลางวัน เพราะต้องต้อนในลักษณะแถวเรียงเดี่ยว ไปตามหน้าผาสูงชัน และมีอันตรายจากสัตว์ร้าย มีเสือ เป็นต้น
            ดังนั้น วาตะแบก จึงเป็นค่ายพักแรมของกองคาราวาน พ่อค้าวัวควายที่จะไปค้าขายในภาคกลาง ได้แก่ ลพบุรี สระบุรี อยุธยา และไปถึง ราชบุรีในบางครั้ง
            ช่องตะโก  เป็นช่องทางในเทือกเขาดงพญาเย็น ที่ไม่สูงมากนัก และเป็นเส้นทางที่ใกล้ที่สุดในการติดต่อกับภาคกลาง ในสมัยโบราณนับตั้งแต่สมัยลพบุรี สุโขทัย อยุธยา จะปรากฎชื่อด่านตะโก ในเอกสารต่าง ๆ อยู่เสมอ
            สนามบินภูเกษตร  อยู่ในเขตอำเภอภูเขียว ในสมัยสงครามมหาเอเซียบูรพา ได้มีการสร้างสนามบินขนาดใหญ่ไว้ เพื่อหลบซ่อนเครื่องบิน เนื่องจากอยู่ใกล้ภูตะเภา อันเป็นที่กำบังตามธรมชาติ และอยู่ใกล้จากบริเวณฐานปฎิบัติการของทหารญี่ปุ่น
รูปปั้น อนุสาวรีย์

               อนุสาวรีย์เจ้าพ่อพญาแล  ตั้งอยู่กลางเมืองชัยภูมิ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง ฯ เป็นรูปจำลองเจ้าพ่อพญาแล หล่อด้วยโลหะ ในท่ายืนถือหนังสือ หันหน้าไปทางทิศใต้ สูง ๒๗๐ เซนติเมตร หนัก ๗๐๐ กิโลกรัม ตั้งอยู่บนฐานคอนกรีต รูปสี่หลี่ยมสูง ๔ เมตร ที่ฐานจารึกว่า "พระยาภักดีชุมพล (แล) เจ้าเมืองชัยภูมิคนแรก พ.ศ.๒๓๖๐ - ๒๓๖๔ เป็นผู้ซื่อสัตย์ จงรักภักดีต่อบ้านเมือง ได้สร้างเมืองชัยภูมิ และพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญ ขึ้นเป็นลำดับ ชาวชัยภูมิได้พร้อมใจกันสร้างอนุสาวรีย์ของท่านไว้ เป็นที่ระลึก เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๘"

               พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ประดิษฐานอยู่หน้าศาลากลางจังหวัดชัยภูมิ เป็นอนุสาวรีย์ที่พสกนิการชาวชัยภูมิ ทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมกันจัดหางบประมาณสร้างถวาย ด้วยความจงรักภักดี ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่พระองค์มีต่อชาติไทย สมเด็จพระเทพรัตน์ ฯ ได้เสด็จ ฯ ไปทรงทำพิธีเปิด เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๕

               อนุสาวรีย์พระไกรสิงหนาท  ตั้งอยู่บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอเกษตรสมบูรณ์ ชาวอำเภอเกษตรสมบูรณ์ ได้ร่วมกันสร้างขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความดีของท่าน ในฐานะผู้สร้างเมืองเกษตรสมบูรณ์

               อนุสาวรีย์พระฤิทธิ์ฤาชัย  ตั้งอยู่บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอบำเหน็จณรงค์  เป็นอนุสรณ์ที่ชาวอำเภอบำเหน็จณรงค์ ได้ร่วมกันสร้างขึ้น เพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีของท่าน ในฐานะที่เป็นผู้สร้างเมืองบำเหน็จณรงค์

               อนุสาวรีย์หลวงพิชิตสงคราม  ตั้งอยู่บริเวณลานสาธารณวัดเจดีย์ อำเภอคอนสาร เป็นอนุสาวรีย์ที่ชาวอำเภอคอนสาร ร่วมกันสร้าง เพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีของท่าน ผู้สร้างเมืองคอนสาร

               รูปปั้นพระยานรินทร์สงคราม  เป็นรูปปั้นในท่านั่งบนแท่น สูงประมาณ ๑.๒๐ เมตร ประดิษฐานอยู่ในศาลเจ้าพ่อพระยานรินทร์สงคราม ตั้งอยู่ที่บ้านหนองบัวใหญ่ ตำบลหนองบัวใหญ่ อำเภอจตุรัส สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๔
               อนุสาวรีย์สงครามโลกครั้งที่สอง  ได้แก่ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ที่สร้างขึ้นที่อำเภอภูเขียว เพื่อเป็นอนุสรณ์ในสงครามโลกครั้งที่สอง และได้มีการดำเนินการต่อต้านญี่ปุ่นในจังหวัดชัยภูมิ
| ย้อนกลับ | บน | หน้าต่อไป |