| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา | |
พัฒนาการทางประวัติศาสตร์
จากหลักฐานทางโบราณคดี ปรากฏว่ามีกลุ่มชนเข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์
ประมาณ ๓,๕๐๐ ปีมาแล้ว เมื่อสมัยอยุธยา เมืองนครราชสีมาได้รวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรอยุธยา
บรรดาเมืองต่าง ๆ ที่อยู่ในบริเวณพื้นที่จังหวัดชัยภูมิเป็นหัวเมืองขึ้นของเมืองนครราชสีมา
ต่อมาสมัยปฏิรูปการปกครองในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมืองชัยภูมิขึ้นต่อมณฑลนครราชสีมา ต่อมาได้ยุบเมืองในปกครองของเมืองชัยภูมิ
เป็นอำเภอในสมัยเดียวกัน
การตั้งถิ่นฐานในสมัยก่อนประวัติศาสตร์
(ประมาณ ๓,๕๐๐ - ๑,๕๐๐ ปีมาแล้ว)
จากหลักฐานทางโบราณคดีในพื้นที่หลายแห่งในหลายอำเภอ แต่ละแห่งแสดงให้เห็นวิถีชีวิตและเทคโนโลยีเบื้องต้นของสังคมเกษตรกรรม
มีการใช้โลหะได้แก่สำริดและเหล็กควบคู่กันไปคล้ายกับชุมชนทั่วไปที่พบในยุคก่อนประวัติศาสตร์ของไทย
เป็นกลุ่มชนที่มีความสัมพันธ์กับชุมชนอื่น ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
จากการที่พบการใช้หินขัด ภาชนะดินเผาที่บ้านโนนทัน อำเภอเกษตรสมบูรณ์
การพบเครื่องมือเหล็ก กำไลและห่วงสำริดที่บ้านโป่งนก อำเภอเทพสถิต คล้ายกันมากกับเครื่องประดับที่พบพร้อมโครงกระดูกที่ขุดพบ
ณ บ้านค่ายทองหลาง อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา โครงกระดูกนั้นเป็นของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์
นอกจากนี้ ชุมชนในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่พบในบริเวณนี้ยังแสดงให้เห็นถึงความเจริญในทางเกษตรกรรม
รู้จักวิธีนำสัตว์มาใช้งาน รู้จักทำงานศิลปะ เช่น ภาพเขียนสีรูปมนุษย์และสุนัขที่ถ้ำขามี
ตำบลทุ่งนาเลา อำเภอคอนสาร
พัฒนาการสมัยประวัติศาสตร์
(ประมาณ ๑,๕๐๐ ปีมาแล้ว - ปัจจุบัน)
ในช่วงเวลานี้ ชุมชนบริเวณจังหวัดชัยภูมิเริ่มมีการรับเอาวัฒนธรรมประเพณีตลอดจนคติความเชื่อมาจากแหล่งอื่น อารยธรรมสำคัญ ที่ได้รับต่อเนื่องจากสมัยก่อนประวัติศาสตร์คือ อารยธรรมอินเดีย สมัยทวาราวดี ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๖ และรับอารยธรรมขอมในพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๘ ก่อนที่จะมีการตั้งอาณาจักรไทยในพุทธศตวรรษที่ ๑๙
ยุคต้นประวัติศาสตร์สมัยทวาราวดี (พุทธศตวรรษที่
๑๑ - ๑๖) ความเจริญในสมัยนี้เป็นแบบสังคมเมือง
มีพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท เป็นหลักของชุมชน
มีเมืองสำคัญ มีความเจริญขึ้นหลายแห่ง เช่น เมืองโบราณบ้านคอนสวรรค์
อำเภอคอนสวรรค์ มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ มีใบเสมา และพระพุทธรูปตามเนินดินรอบหมู่บ้าน
เป็นพระพุทธรูปประทับยืนปางแสดงธรรม มีใบเสมาแกะสลักภาพบุคคลแสดงเรื่องชาดกในพระพุทธศาสนา
เมืองโบราณสามหอก
บ้านหนองไข่นุ่ม ตำบลลุ่มลำชี อำเภอบ้านเขว้า มีคูน้ำคันดินล้อมรอบชุมชนสองชั้น
เส้นผ่าศูนย์กลาง ๑.๕ กิโลเมตร มีโบราณสถานก่อด้วยอิฐ มีใบเสมาหินทรายขนาดใหญ่
เศษภาชนะดินเผาแบบทวาราวดี ใบเสมาบ้านกุดโง้ง
ตำบลทุ่งคล้า อำเภอเมือง ฯ เป็นแผ่นหินสลักเป็นภาพเรื่องราวชาดกในพระพุทธศาสนา
จัดเป็นรูป
วงกลมล้อมรอบเนินดิน
ใบเสมาบ้านโนนฆ้อง
ตำบลสระโพนทอง อำเภอเกษตรสมบูรณ์ มีลักษณะเป็นแผ่นหินเรียบ สลักลวดลายตรงกลางใบ
บางใบสลักเป็นภาพโค้งหันหน้าเข้าหากัน
สมัยลพบุรีและอารยธรรมขอม (พุทธศตวรรษที่
๑๔ - ๑๘) ในช่วงนี้มีความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมค่อนข้างมาก
วัฒนธรรมขอมได้ แพร่เข้าสู่อีสานตอนใต้ ทางปักธงชัย และช่องตะโก ในเขตดินแดนที่เรียกว่า
แอ่งโคราช ทำให้เกิดบ้านเมืองขึ้นในสมัยนี้มากมาย มีประชาชนขอมเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ด้วย
แยกเป็นสองสายคืออาศัยลำน้ำปลายมาศเป็นหลักสายหนึ่ง แพร่ออกทางด้านทิศตะวันตกของลำปลายมาศ
ทำให้เกิดบ้านเมืองขึ้นในเขตปักธงชัย ครบุรี พิมายและขยายเข้าไปในเขตจังหวัดบุรีรัมย์
สุรินทร์ และศรีสะเกษ
อีกสายหนึ่งอาศัยลำน้ำสะแกเป็นหลักทำให้เกิดเมือง ในเขตโคราช และขยายเข้าสู่เขตชัยภูมิ
ปรากฎโบราณสถานสมัยลพบุรีได้แก่ ปรางค์กู่
บ้านหนองบัวเมืองเก่า อำเภอเมือง ฯ เป็นสถาปัตยกรรมเขมร ศิลปะแบบบายน สร้างด้วยศิลาแลง
และหินทราย ใช้เป็นอโรคยาศาล สร้างสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ กู่บ้านหนองแฝก
ตำบลหนองเก่า อำเภอบ้านแท่น เป็นอโรคยาศาล สร้างสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗
และกู่แดง บ้านกุดยาว
ตำบลตลาดแร้ง อำเถอบ้านเขว้า สร้างด้วยศิลาแดงและศิลาแลง ลักษณะของปราสาทเหล่านี้เหมือนกับปราสาทหินต่าง
ๆ ในเขตจังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ และจังหวัดศีรษะเกษ
สมัยสุโขทัย (พุทธศตวรรษที่ ๑๙) เมื่ออิทธิพลของขอมเสื่มลงในดินแดนสุวรรณภูมิเกิดอาณาจักรสุโขทัย
มีความเจริญด้านการทหาร ขยายอาณาเขตออกไปได้ทั้งสุวรรณภูมิ มีการค้าขายกับบ้านเมืองวอื่นทั้งใกล้และไกล
ปรากฎว่าสุโขทัยได้เอาศิลปวัฒนธรรมหลายประการจากลพบุรี และเขมรไปพัฒนาเป็นของสุโขทัย
ศิลปวัฒนธรรมดังกล่าวได้ผ่านเข้าสู่เมืองในเขตอีสานตามเส้นทางที่ลพบุรีเคยใช้อยู่
เมืองชัยภูมิในครั้งนั้นจะเป็นเส้นทางการค้าขายระหว่างสุโขทัยกับวอีสาน โดยผ่านทางช่องตะโก
(ช่องสำราญ ในเขตอำเภอเทพสถิต) เนื่องจากสมัยสุโขทัยได้กำหนดให้หัวเมืองในเขตอีสานเป็นเมืองประเทศวราช
มีหัวเมืองชั้นนอกของสุโขทัย ที่ใกล้เคียงกับชัยภูมิคือ เมืองศรีเทพ เมืองเพชรบูรณ์
สมัยอยุธยา (พุทธศตวรรษที่ ๑๙ - ๒๔)
ในระยะเริ่มแรก หัวเมืองในแถบอีสานถือว่าเป็นดินแดนของผู้คนที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของกรุงศรีสัตนาคนหุต
(ล้านช้าง)
ในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) จึงไม่มีทำเนียบเมืองขึ้น
๑๖ หัวเมือง ชื่อเมืองชัยภูมิจึงไม่ปรากฎ
หลักฐานเมืองชัยภูมิปรากฎชัดเจนในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อพระองค์ได้โปรดเกล้า
ฯ ให้ พระยายมราช (สังข์) ขึ้นไปครองเมืองนครราชสีมา และโปรดเกล้า ฯ ให้ย้ายเมืองจากที่ตั้งเดิมคือ
ที่ตำบลโคราช อำเภอสูงเนิน มาตั้งใหม่ ณ ที่ตั้งปัจจุบัน เมื่อปี พ.ศ.๒๑๙๕
- ๒๒๓๑ เมืองนครราชสีมาในขณะนั้นมีเมืองขึ้นอยู่ห้าเมือง คือ เมืองจันทึก
อยู่ทางทิศตะวันตก เมืองชัยภูมิอยู่ทางทิศเหนือ เมืองพิมายอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
เมืองบุรีรัมย์ อยู่ทางทิศตะวันออก และเมืองนางรอง อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้
หลังจากนั้นได้ตั้งเมืองใหม่อีกเก้าเมือง ได้แก่ เมืองบำเหน็จณรงค์ เมืองจตุรัส
เมืองเกษตรสมบูรณ์ เมืองภูเขียว เมืองพุทไธสง เมืองประโคนชัย เมืองรัตนบุรี
เมืองปักธงชัย ขึ้นกับเมืองนครราชสีมา รวม ๑๔ หัวเมือง
ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ.๒๑๙๙ - ๒๒๓๑) เมืองเวียงจันทน์ได้ตกเป็นเมืองขึ้นของอยุธยา
ชาวเวียงจันทน์ได้อพยพเข้ามาประกอบอาชีพ ติดต่อกับกรุงศรีอยุธยามากขึ้น การเดินทางจากเวียงจันทน์ไปกรุงศรีอยุธยา
ต้องผ่านเมืองชัยภูมิ คือ ต้องข้ามลำชี ข้ามช่องเขาสามหมอ
ชาวเวียงจันทน์เห็นว่าเมืองชัยภูมิ เป็นทำเลดีเหมาะสำหรับทำการเพาะปลูก ทำไร่
ทำนา จึงพากันมาตั้งถิ่นฐาน ทำมาหากิน ตั้งเป็นหมู่บ้าน
ชาวพื้นเมืองเดิมก็ได้รับวัฒนธรรมประเพณีจากบรรพบุรุษ เช่น ภาษาพูด ภาษาเขียน
วรรรณคดี ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมอื่น ๆ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นเอกลักษณ์ของชาวชัยภูมิ
ในสำเนียงพูด ภาษาถิ่น ที่ไม่เหมือนสำเนียงอีสานทั่วไป
สมัยธนบุรี (พ.ศ.๒๓๑๐ - ๒๓๒๕)
เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าในปี พ.ศ.๒๓๑๐ ได้เกิดชุมนุมต่าง ๆ ที่ตั้งตัวเป็นอิสระอยู่ห้าชุมนุมด้วยกัน
หนึ่งในชุมนุมดังกล่าวคือ ชุมนุมเจ้าพิมาย สันนิษฐานว่า มีอำนาจครอบคลุมเมืองนครราชสีมา
รวมทั้งเมืองชัยภูมิด้วย
สมัยรัตนโกสินทร์
เดิมเขตจังหวัดชัยภูมิ มีผู้คนอยู่กระจัดกระจายตามแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ อยู่ในการปกครองของเมืองนครราชสีมา
ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่า ใครเป็นผู้นำ หรือเจ้าเมืองชัยภูมิ ส่วนมากผู้คนจะอยู่ตามเมือง
ที่มีความเจริญอยู่ดั้งเดิม เช่น เมืองกาหลง ในเขตอำเภอคอนสวรรค์ เมืองสี่มุม
เมืองภูเขียว เมืองเกษตรสมบูรณ์ เป็นต้น แต่ละเมืองเป็นอิสระไม่ขึ้นต่อกัน
เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๓๖๐ ได้มีขุนนางชาวเวียงจันทน์คนหนึ่งมีนามว่า อ้ายแล
มีตำแหน่งเป็นพี่เลี้ยงเจ้าราชบุตร เจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ ได้ลาออกจากหน้าที่แล้วอพยพครอบครัว
และไพร่พลชาวเมืองเวียงจันทน์ข้ามแม่น้ำโขง ไปหาภูมิลำเนาที่เหมาะสม เพื่อตั้งหลักแหล่งทำมาหากิน
ขั้นแรกตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้าน น้ำขุ่น หนองอีขาน
(ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา) ต่อมาได้อพยพมอยู่ที่โนนน้ำอ้อม
(ปัจจุบันคือ บ้านชีลอง ) ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองชัยภูมิปัจจุบัน ประมาณ
๖ กิโลเมตร และได้ตั้งหลักฐานมั่นคง เมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๒ คงใช้ชื่อเมืองตามเดิมคือ
ชัยภูมิ
(ไชยภูมิ) ต่อมาได้มีผู้อพยพเข้ามาอยู่ด้วย ๑๓ หมู่บ้านคือ บ้านสามพัน บ้านบุ่งคล้า
บ้านกุดตุ้ม บ้านบ่อหลุบ บ้านบ่อแก บ้านนาเสียว (เสี้ยว) บ้านโนนโพธิ์
บ้านโนนน้ำอ้อม บ้านโพธิ์หอก บ้านหนองใหญ่ บ้านหลุบโพธิ บ้านกุดไผ่ (บ้านตลาดแร้ง) บ้านโนนไพหญ้า
นายแล ได้เก็บส่วยผ้าขาว และรวบรวมชายฉกรรจ์ประมาณ ๖๐ คน ในหมู่บ้านเหล่านั้นไปบรรณาการแก่เจ้าอนุวงศ์
เวียงจันทน์ และเจ้าอนุวงศ์ ฯ ได้กราบทูลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
ในคราวไปถวายเครื่องราชบรรณาการที่กรุงเทพ ฯ ขอพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้นายแล
นายแล จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ขุนภักดีชุมพล
เป็นหัวหน้าคุมหมู่บ้านต่าง ๆ ขึ้นกับเวียงจันทน์
ในปี พ.ศ.๒๓๖๕ ขุนภักดีชุมพล (แล) เห็นว่าบ้านโนนน้ำอ้อมไม่เหมาะ เพราะบริเวณคับแคบ
และขาดแคลนน้ำ จึงย้ายเมืองชัยภูมิมาอยู่ ณ ที่แห่งหนึ่งอยู่ระหว่างหนองปลาเฒ่า
กับหนองหลอด ต่อกันให้ชื่อบ้านใหม่นี้ว่า บ้านหลวง
ในปี พ.ศ.๒๓๖๖ บ้านหลวงมีคนอพยพมาตั้งถิ่นฐานหนาแน่นขึ้น และเกิดมีบ่อทองอยู่ที่บริเวณลำห้วยซาด
ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของภูเขาพญาฝ่อ
(เทือกเขาเพชรบูรณ์) ขุนภักดี ฯ ได้เกณฑ์ชายฉกรรจ์ทั้งปวงไปช่วยเก็บหาทอง
ได้พบทองก้อนหนึ่งจึงได้นำทองก้อนนั้น พร้อมด้วยส่วย ฤชากร ชายฉกรรจ์ในสังกัดขึ้นไปให้เจ้าอนุวงศ์
เจ้าอนุวงศ์ได้นำส่วยดังกล่าวไปถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่กรุงเทพ
ฯ พร้อมกับกราบบังคมทูลขอบรรดาศักดิ์ขุนภักดี ฯ เป็นพระยาภักดีชุมพล
และยกบ้านหลวงขึ้นเป็นเมืองไชยภูมิ
(ชัยภูมิ) พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้ทรงโปรดเกล้า ฯ พระราชทานให้ตามที่ขอ
และให้พระยาภักดี ฯ ว่าราชการในตำแหน่งเจ้าเมืองชัยภูมิด้วย
ในปี พ.ศ.๒๓๖๙ เจ้าอนุวงศ์ เวียงจันทน์ เป็นกบฎ ได้ยกทัพผ่านมาทางเมืองภูเขียว
เมืองชัยภูมิ เมืองสี่มุม เกลี้ยกล่อมให้เจ้าเมืองทั้งสามช่วยยกทัพไปตีกรุงเทพ
ฯ เจ้าเมืองภูเขียวคือ พระยาไกรสีหนาท และเจ้าเมืองชัยภูมิ คือ พระยาภักดีชุมพล
ไม่ยอมเข้าด้วย เมื่อเจ้าอนุวงศ์ ฯ ถอยกลับไปแล้ว จึงสั่งให้เชิญเจ้าเมืองทั้งสองไปพบ
แล้วให้ประหารชีวิตทั้งสองคน พร้อมทั้งกรมการเมือง ในปีเดียวกัน
เมื่อเจ้าเมืองถึงแก่กรรม ชาวชัยภูมิก็แยกย้ายไปตั้งบ้านเรือนแห่งใหม่ วีรกรรมของพระยาภักดีชุมพล
ในครั้งนี้จึงเป็นที่มาของการยกย่องให้เป็น เจ้าพ่อพญาแล
ถือว่าเป็นวีรบุรุษของบ้านเมืองมาตราบเท่าทุกวันนี้
สมัยช่วงการปรับปรุงบ้านเมือง
เมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๔ เจ้าพระยานครราชสีมา ได้ออกไปสักเลก สังกัด หัวเมืองชัยภูมิเสียใหม่
ขณะนั้นยังไม่มีผู้เหมาะสม ที่จะเป็นเจ้าเมืองชัยภูมิ จึงได้มีใบบอกไปยังกรุงเทพ
ฯ ขณะนั้น นายเกตุ ชาวบ้านคลองสายบัว กรุงเก่า (อยุธยา) ซึ่งเคยเป็นพระนักเทศน์
รับราชการเป็นมหาดเล็ก อยู่ในราชสำนัก จึงได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นพระภักดีชุมพล
ไปเป็นเจ้าเมืองชัยภูมิ และโปรดเกล้า ฯ ให้ อุปราช (เบี้ยว) ญาติพระภักดีชุมพล
เป็น หลวงปลัด ให้ราชวงศ์ (บุญจันทร์) บุตรพระยาภักดีชุมพล (เกตุ) เป็นหลวงยกกระบัตร
ให้ราชบุตร (ที) บุตรพระยาภักดี ฯ (แล) เป็นหลวงวิเศษภักดี เป็นคณะกรรมการเมือง
ในสมัยพระภักดีชุมพล (เกตุ) ได้ย้ายที่ว่าราชการเมืองจากบ้านหนองปลาเฒ่า มาอยู่บ้านโนนปอปิด
หรือหนองบัวเมืองเก่า ซึ่งเป็นที่สูง และเป็นเมืองขอมโบราณ ประกอบมีห้วยเสว
เหมาะที่จะทำการเพาะปลูก
ในสมัยนั้น มีการขุดร่อนทอง หัวเมืองต่าง ๆ ทำการขุดร่อนทองตามชอบใจ ทำให้มีการทุจริตเบียดบัง
เอาทองไว้เป็นประโยชน์ของตน จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้หัวเมืองขึ้นต่าง ๆ ที่ขึ้นกับเมืองนครราชสีมา
ยกขึ้นเป็นหัวเมืองส่วยทอง รวมทั้งเมืองชัยภูมิด้วย หัวเมืองใดเป็นหัวเมืองส่วยทอง
ก็ให้ตั้งขุนหมื่นตัวเลขลูกหมู่ขึ้น แล้วตั้งเป็นกองไว้ โดยให้เจ้าเมืองเป็นหัวหมู่ก่อนจะถึงฤดูการร่อนทอง
เจ้าพระยานครราชสีมาก็จะเรียกเจ้าเมืองไปรับกระดาษเงินทอง ชาด แป้งหอม ซึ่งพระราชทานลงมาให้
เมืองส่วยทองนำไปบวงสรวงเทพารักษ์บ่อทอง
แล้วจึงจะให้ออกไปร่อนทองตามบ่อที่มีชื่ออยู่ในหัวเมืองนั้น
พระภักดีชุมพล (เกตุ) เป็นเจ้าเมืองชัยภูมิอยู่ได้ประมาณ ๑๔ ปี ก็ถึงแก่กรรม
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรด ฯ ให้หลวงปลัด (เบี้ยว) เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระภักดีชุมพล
แล้วตั้งเป็นเจ้าเมือง ให้หลวงวิเศษภักดี (ที) เป็นอุปราช ให้หลวงยกกระบัตร
(บุญจันทร์) เป็นราชวงศ์ และให้ราชบุตร (บุตรนายเกตุ) เป็นหลวงขจรนพคุณ กรมการเมือง
ในสมัยพระภักดีชุมพล (เบี้ยว) เป็นเจ้าเมือง เกิดฝนแล้ง ข้าวยากหมากแพง ประชาชนระส่ำระสาย
อพยพครอบครัวไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่อื่นเป็นอันมาก การไปร่อนทองก็ขัดสน พระภักดีชุมพล
(เบี้ยว) จึงขอส่งส่วยเงินแทนทอง ปีหนึ่ง ๆ ได้เงินทั้งหมด ประมาณ ๔,๐๐๐
บาท จากประชากรประมาณ ๑,๐๐๐ คนเศษ
พระภักดีชุมพล (เบี้ยว) เป็นเจ้าเมืองอยู่ ๑๘ ปีก็ถึงแก่กรรมเมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๖
กรมการเมืองสามคนต่างแย่งกันเป็นเจ้าเมือง พระยากำแหงสงคราม (เมฆ) จึงคนทั้งสามไปกรุงเทพ
ฯ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้หลวงวิเศษภักดี (ที)
เป็นพระภักดีชุมพล แต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองชัยภูมิ พระภักดีชุมพล (ที)
ได้ให้ขุน หมื่น พัน ทนาย ออกไปเกลี้ยกล่อมชาวเมืองที่อพยพไปอยู่ที่อื่นให้กลับมาตั้งบ้านเรือนอยู่ตามที่เคยอยู่เดิม
จากนั้นได้ย้ายจวนเจ้าเมืองมาอยู่ที่บ้านหินตั้ง
พระภักดีชุมพล (ที) เป็นเจ้าเมืองอยู่ถึงปี พ.ศ.๒๔๑๘ ก็ถึงแก่กรรม หลวงปลัด
(บุญจันทร์) ได้เป็นเจ้าเมืองต่อมา แต่เป็นอยู่ไม่นานก็ถึงแก่กรรม หลวงภักดีสุนทร
(เสง) ได้เป็นเจ้าเมือง ต่อมาได้ลาออกกินเบี้ยหวัดเงินปี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๐
สมัยปฏิรูปการปกครองหัวเมืองในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้จัดการปกครองหัวเมืองลาวใหม่
โดยแบ่งออกเป็นสี่กอง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๓ และให้มีขัาหลวงออกไปว่าราชการรับผิดชอบกองหัวเมืองต่าง
ๆ ดังนี้
หัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออก
มีข้าหลวงใหญ่อยู่ ณ เมืองจำปาศักดิ์
รวมหัวเมืองใหญ่ไว้ ๑๑ หัวเมือง เมืองขึ้น ๒๑ หัวเมือง
หัวเมืองลาวตะวันออกเฉียงเหนือ
มีข้าหลวงใหญ่อยู่ ณ เมืองอุบล
รวมหัวเมืองใหญ่ไว้ ๑๒ หัวเมือง เมืองขึ้น ๒๙ หัวเมือง
หัวเมืองลาวฝ่ายเหนือ
มีข้าหลวงใหญ่อยู่ประจำ ณ เมืองหนองคาย
รวมหัวเมืองใหญ่ ๑๖ หัวเมือง เมืองขึ้น ๓๖ หัวเมือง
หัวเมืองลาวฝ่ายกลาง
มีข้าหลวงใหญ่อยู่ประจำ ณ เมืองนครราชสีมา
รวมหัวเมืองใหญ่ ๓ หัวเมือง เมืองขึ้น ๓๖ หัวเมือง
เขตจังหวัดชัยภูมิมีเมืองภูเขียวเป็นเมืองเอกขึ้นต่อหัวเมืองลาวฝ่ายกลาง
ส่วนเมืองชัยภูมิ เมืองสี่มุม เมืองบำเหน็จณรงค์เมืองเกษตรสมบูรณ์ เป็นหัวเมืองขึ้น
ขึ้นต่อเมืองเอกคือ เมืองนครราชสีมา
การตั้งมณฑลเทศาภิบาล
ในปี พ.ศ.๒๔๓๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้รวมหัวเมืองเอก
โท ตรี จัตวา ข้างต้นเสียใหม่ ด้วยการจัดเป็นมณฑล แล้วโปรดเกล้า ฯ ให้ข้าหลวงใหญ่ออกไปเป็นผู้สำเร็จราชการมณฑล
หากเป็นสามัญชนเรียกข้าหลวงใหญ่ หากเป็นเชื้อพระวงศ์ เรียกข้าหลวงต่างพระองค์
หลังเกิดเหตุการณ์ รศ.๑๑๒ (พ.ศ.๒๔๓๖) ได้มีการจัดระบบการปกครองใหม่โดยจัดเป็นบริเวณ
ในปี พ.ศ.๒๔๔๐ ให้เปลี่ยนเมืองเป็นจังหวัดและอำเภอ ในครั้งนั้นเมืองชัยภูมิและเมืองที่อยู่ในปกครองได้เปลี่ยนฐานะไปคือเมืองชัยภูมิเป็นจังหวัด
เมืองจตุรัส (สี่มุม) เมืองบำเหน็จณรงค์ เมืองเกษตรสมบูรณ์ เมืองภูเขียว
เป็นอำเภอขึ้นกับจังหวัดชัยภูมิ โดยมีพระหฤทัย (บัว) เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดคนแรก
สมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง
ในปี พ.ศ.๒๔๗๖ จังหวัดชัยภูมิแบ่งออกเป็น ๒ อำเภอ ๓ กิ่งอำเภอคือ อำเภอภูเขียว
อำเภอจตุรัส กิ่งอำเภอเมือง ฯ กิ่งอำเภอเกษตรสมบูรณ์ และกิ่งอำเภอบำเหน็จณรงค์
| ย้อนกลับ
| บน
| หน้าต่อไป
|