| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

มรดกทางธรรมชาติ

พื้นที่ป่า

            จังหวัดชัยภูมิแบ่งพื้นทื่ป่าเป็นสี่เขตคือ
            เขตป่าสงวนสมบูรณ์  เป็นป่าสงวนแห่งชาติ ประมาณ ๗๘๑,๐๐๐ ไร่ ประมาณร้อยละ ๙.๘๐ ของพื้นที่จังหวัด  ป่าส่วนใหญ่มีสภาพสมบูรณ์ อยู่ในเขตอำเภอคอนสาร อำเภอเทพสถิต อำเภอเกษตรสมบูรณ์ อำเภอภูเขียว อำเภอเมือง ฯ  เป็นพื้นที่สงวนไว้เพื่ออนุรักษ์สภาพแวดล้อม และเพื่อเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร
เขตอุทยานแห่งชาติ  มีอยู่ ๖ แห่งด้วยกัน ดังนี้
                - อุทยาน ฯ ตาดโตน มีพื้นที่ประมาณ ๑๓๖,๐๐๐ ไร่ อยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ
                - อุทยาน ฯ น้ำหนาว มีพื้นทื่ประมาณ ๑๖๗,๐๐๐ ไร่ อยู่ในเขตอำเภอคอนสาร และบางส่วนอยู่ในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์อีกประมาณ ๖๐๔,๐๐๐ ไร่
                - อุทยาน ฯ ไทรทอง มีพื้นที่ประมาณ ๑๙๙,๐๐๐ ไร่ อยู่ในเขตอำเภอหนองบัวระเหว อำเภอเทพสถิต อำเภอภักดีชุมพล และอำเภอหนองบัวแดง
                - อุทยาน ฯ ภูแลนคา มีพื้นที่ประมาณ ๑๑๑,๐๐๐ ไร่ อยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ  อำเภอบ้านเขว้า อำเภอหนองบัวแดง และอำเภอเกษตรสมบูรณ์
                - อุทยาน ฯ ป่าหินงาม มีพื้นที่ประมาณ ๗๐,๐๐๐ ไร่ อยู่ในเขตอำเภอเทพสถิตและกิ่งอำเภอซับใหญ่
                - อุทยาน ฯ น้ำพอง มีพื้นที่ประมาณ ๑๒๓,๐๐๐ ไร่ บางส่วนอยู่ในเขตอำเภอแก่งคร้อและอำเภอบ้านแท่น
           เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า  มีอยู่สามแห่งคือ
                - เขตรักษา ฯ ภูเขียว มีพื้นที่ประมาณ ๙๗๕,๐๐๐ ไร่ อยู่ในเขตอำเภอหนองบัวแดง อำเภอคอนสารและอำเภอเกษตรสมบูรณ์
                - เขตรักษา ฯ ตะเบาะ - ห้วยใหญ่ มีพื้นที่ประมาณ ๑๐๙,๐๐๐ ไร่ อยู่ในเขตอำเภอภักดีชุมพลและอำเภอหนองบัวแดงบางส่วน
                - เขตรักษา ฯ ผาผึ้ง มีพื้นที่ประมาณ ๑๒๒,๐๐๐ ไร่ อยู่ในเขตอำเภอคอนสาร
           เขตห้ามล่าสัตว์ป่า  ได้แก่ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองแวง อยู่ในเขตอำเภอคอนสวรรค์ มีพื้นที่ ๓๕๐ ไร่
           ป่าสงวนแห่งชาติ  มีอยู่ ๑๑ แห่ง พื้นที่ประมาณ ๒,๐๖๕,๐๐๐ ไร่ คงสภาพเป็นป่าอยู่ ๖๓๘,๐๐๐ ไร่ คือ
                    ป่าภูหยวก  มีพื้นที่ประมาณ ๔๙,๐๐๐ ไร่ อยู่ในเขตตำบลธาตุทอง ตำบลบ้านเพชร ตำบลหนองคอนไทย อำเภอภูเขียว เป็นป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ มีสภาพเสื่อมโทรม ประกาศเป็นป่าสงวน ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๕
                    ป่าภูตะเภา  มีพื้นที่ประมาณ ๑๗,๐๐๐ ไร่ อยู่ในเขตอำเภอภูเขียว และอำเภอบ้านแท่น เป็นป่าเต็งรังและภูเขาหิน ประกาศเป็นป่าสงวน ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๕
                    ป่าโคกใหญ่  มีพื้นที่ประมาณ ๓๖,๐๐๐ ไร่ อยู่ในเขตอำเภอคอนสาร และอำเภอเกษตรสมบูรณ์ ถูกบุกรุกทำลายถือครองเป็นที่ทำกิน ไม่มีสภาพป่าเหลืออยู่ ประกาศเป็นป่าสงวน ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๑
                    ป่าตาเนิน  มีพื้นที่ประมาณ ๕๕,๐๐๐ ไร่ อยู่ในเขตอำเภอเนินสง่าและอำเภอจตุรัส ไม่มีสภาพป่าเหลืออยู่ เพราะราษฎรบุกรุกถือครอง ประกาศเป็นป่าสงวน ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๕
                    ป่าภูซำผักหนาม  มีพื้นที่ประมาณ ๒๙๐,๐๐๐ ไร่ อยู่ในเขตอำเภอคอนสาร เป็นป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง ประกาศเป็นป่าสงวน ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๖
                    ป่านายางกลัก  มีพื้นที่ประมาณ ๑,๐๑๗,๐๐๐ ไร่ อยู่ในเขตอำเภอเทพสถิต อำเภอบำเหน็จณรงค์ อำเภอหนองบัวระเหว และกิ่งอำเภอซับใหญ่ เป็นป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ ประกาศเป็นป่าสงวน ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๕
                    ป่าภูแลนคา (ด้านทิศเหนือ)  มีพื้นที่ประมาณ ๒๗๙,๐๐๐ ไร่ อยู่ในเขตอำเภอเกษตรสมบูรณ์ และอำเภอหนองบัวแดง เป็นป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ประกาศเป็นป่าสงวน ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๐
                    ป่าภูแลนคา (ด้านทิศใต้)  มีพื้นที่ประมาณ ๒๑๐,๐๐๐ ไร่ อยู่ในเขตอำเภอบ้านเขว้า อำเภอเมือง ฯ และอำเภอคอนสวรรค์ เป็นป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณและภูเขาหิน
                    ป่าภูแลนคา  ด้านทิศใต้บางส่วน  และป่าหมายเลข ๑๐  แปลงที่สอง  มีพื้นที่ประมาณ ๘๕,๐๐๐ ไร่ อยู่ในเขตอำเภอหนองบัวระเหว อำเภอเมือง ฯ และอำเภอคอนสวรรค์ ป่ามีสภาพเสื่อมโทรม ถูกราษฎรบุกรุกทำเป็นพื้นที่ทำกินเกือบทั้งหมด ประกาศเป็นป่าสงวน ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๖
                    ป่าโคกหลวง  มีพื้นที่ประมาณ ๑๗,๐๐๐ ไร่ อยู่ในเขตอำเภอแก่งคร้อ และอำเภอบ้านแท่น เป็นป่าเต็งรัง และภูเขาหินเป็นส่วนใหญ่ ประกาศเป็นป่าสงวน ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๓
                    ป่าภูผาดำและป่าภูผาแดง  มีพื้นที่ประมาณ ๑๒,๐๐๐ ไร่ อยู่ในเขตอำเภอแก่งคร้อ เป็นป่าเต็งรัง และภูเขาหินเป็นส่วนใหญ่ ประกาศเป็นป่าสงวน ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๔
           ป่าเตรียมการสงวน  มีอยู่สองแห่งคือ ป่าหมายเลข ๑๐  แปลงที่ ๑ อยู่ในเขตอำเภอภักดีชุมพล อำเภอหนองบัวแดง และป่าภูโค้ง ในเขตอำเภอแก่งคร้อ อำเภอเกษตรสมบูรณ์ และอำเภอคอนสาร
           อุทยานแห่งชาติ  มีอยู่สี่แห่งด้วยกันคือ

               อุทยาน ฯ ป่าหินงาม  อยู่ในเขตเทือกเขาพังเหย เป็นป่าที่มีก้อนหินใหญ่ ๆ มีรูปร่างต่าง ๆ แปลกตา กระจายอยู่ในบริเวณพื้นที่ ประมาณ ๒๐๐ ไร่ มีต้นไม้น้อยใหญ่และกล้วยไม้ขึ้นอยู่เต็ม ในช่วงฤดูฝน ปลายเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม จะมีดอกกระเจียว ซึ่งเป็นดอกไม้ป่าสีชมพูอมม่วงขึ้นอยู่เต็มบริเวณ  ส่วนในฤดูหนาว ประมาณเดือนธันวาคม - มกราคม จะมีกล้วยไม้ออกดอกสีเหลืองขึ้นอยู่ตามซอกหิน สวยงามมาก
                อุทยาน ฯ ป่าหินงามมีพื้นที่ประมาณ ๗๖,๐๐๐ ไร่ อยู่ในเขตอำเภอเทพสถิตและกิ่งอำเภอซับใหญ่ ประกาศเป็นอุทยาน ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๕ ตั้งอยู่ในเทือกเขาพังเหย บนแนวยกตัวของที่ราบสูงโคราช พื้นที่ของอุทยาน ฯ เอียงลาดไปทางด้านทิศตะวันออก เป็นเนินเขาสลับซับซ้อนมีความสูงอยู่ระหว่าง ๒๐๐ - ๘๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล โดยมียอดสูงสุดเรียกว่า สุดแผ่นดิน สูง ๘๔๖ เมตรจากระดับน้ำทะเล เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารที่สำคัญ เป็นแหล่งกำเนิดลำน้ำสาขาของแม่น้ำชีและลำน้ำสนธิ
                จุดเด่นในอุทยาน ฯ มีดังต่อไปนี้

                   ลานหินงาม  เป็นลานหินที่มีรูปร่างแปลกในบริเวณเกือบ ๑๐ ไร่ เกิดจากการกัดเซาะเนื้อดินและหินในส่วนที่จับตัวอยู่อย่างเบาบางให้หลุดออกไป นานวันเข้าจึงเกิดโขดหินที่มีรูปร่างแตกต่างกัน บางกลุ่มเหมือนปราสาทโบราณ เหมือนพญานาคแผ่พังพานเหมือนตะปู เหมือนสัตว์ต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก มีพุ่มไม้เตี้ย ๆ ขึ้นอยู่ทั่วไป  ในช่วงฤดูฝนถึงฤดูหนาวจะมีไม้ป่านานาชนิดขึ้นตามซอกหิน โดยเฉพาะช่วงต้นฤดูฝน จะมีดอกกระเจียวสีชมพูอมม่วงขึ้นกระจายอยู่ตามลานป่าหินงาม

                   ลานป่าหินหน่อ  มีรูปร่างเป็นหินปุ่ม ความสูงประมาณ ๑ - ๒ เมตร สลับกับลานหินราบเรียบ กว้างขวางคล้ายเป็นห้องโถงขนาดใหญ่ มีพื้นที่มากกว่า ๒๐๐ ไร่ เกิดจากการกัดเซาะของเนื้อหินตามธรรมชาติ  ในบริเวณดังกล่าวมีพุ่มไม้เตี้ย ๆ ขึ้นกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป สำหรับไม้พื้นล่างจะพบต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิง และหยาดน้ำค้างขึ้นอยู่ทั่วไป

                   จุดชมวิวสุดแผ่นดิน  คือ บริเวณหน้าผาสูงชันซึ่งเป็นจุดสูงสุดของเทือกเขาพังเหย เป็นรอยเชื่อมต่อระหว่างภาคกลางกับภาคอีสาน  ณ จุดนี้จะเห็นทิวทัศน์ของเขาพังเหย และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าซับลังกา ในเขตอำเภอลำสนธิ จังหวัดลพบุรี จะพบเห็นสภาพป่าที่สวยงาม และมีอากาศเย็นสบายตลอดปี  ในช่วงฤดูฝนถึงฤดูหนาวจะมีสายหมอกปกคลุมอยู่ทั่วไป

                   ทุ่งดอกกระเจียว  กระเจียวเป็นไม้ล้มลุกประเภทหัว เป็นพันธุ์ไม้ประจำถิ่น พบมากที่สุด ณ อุทยาน ฯ ป่าหินงามนี้  กระเจียวเป็นพันธุ์ไม้พื้นล่างที่ขึ้นอยู่ในป่าเต็งรัง ที่มีไม้เหียวเป็นไม้เด่น อยู่ในระดับความสูง ๖๐๐ - ๘๐๐ เมตร ปกติจะพบขึ้นกระจายทั่วไป ตั้งแต่ลานหินรงามไปจนถึงจุดชมวิวสุดแผ่นดิน

                   น้ำตกเทพพนา  เกิดจากลำห้วยกระจวนที่มีป่าดงดิบแล้งเป็นป่าต้นน้ำ เป็นน้ำตกขนาดกลางมีสามชั้น ชั้นบนสูงสุดประมาณ ๓ - ๔ เมตร ชั้นที่สองสูงประมาณ ๒ - ๓ เมตร และชั้นล่างสูงประมาณ ๖ เมตร ที่ชั้นล่างจะมีถ้ำลึกประมาณ ๕ เมตร อยู่บริเวณใต้ก้อนหินที่น้ำตกไหลลงจากหน้าผา
                   จุดชมวิวเขาพนมโดน  อยู่ทางตอนใต้ของอุทยาน ฯ  สูงประมาณ ๖๐๕ เมตรจากระดับน้ำทะเล
                    การเดินทางชมธรรมชาติบนสันเขาพังเหย จะเดินลัดเลาะไปตามสันเขา จากบริเวณสุดแผ่นดิน ผ่านทุ่งดอกกระเจียว ไปยังบริเวณลานหินงาม และลานหินหน่อ ระยะทางประมาณ ๖ กิโลเมตร
| ย้อนกลับ | บน | หน้าต่อไป |