| ย้อนกลับ |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

มรดกทางพระพุทธศาสนา
ศาสนสถาน

            พระพุทธบาทเขายายหอม  ตั้งอยู่บนลานหินยอดภูเขายายหอม ในเทือกเขาพังเหย ในบริเวณวัดพระพุทธบาทเขายายหอม ตำบลนายางกลัก อำเภอเทพสถิต พบเมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๒ เป็นรอยพระพุทธบาทข้างซ้าย ประทับลึกลงไปในลานหินสีแดง ขนาดกว้าง ๗๕ เซนติเมตร ยาว ๑๘๐ เซนติเมตร ลึก ๔๕ เซนติเมตร ปลายรอบพระพุทธบาทหันเยื้องไปทางทิศอาคเนย์ อยู่ห่างจากตัวอำเภอเทพสถิต ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณ ๖๕ กิโลเมตร

            พระธาตุหนองสามหมื่น  ตั้งอยู่ที่วัดพระธาตุหนองสามหมื่น บ้านแก้ว ตำบลบ้านแก้ว อำเภอภูเขียว เป็นเจดีย์ก่อด้วยอิฐ ฉาบปูน ย่อมุมไม้สอบสอง ตั้งอยู่บนฐานเขียวรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส กว้างประมาณ ๑๓.๓๐ เมตร มีบันไดทางขึ้นสามด้าน บันไดกว้างประมาณ ๔.๙๐ เมตร มีห้าขั้น มีลานทักษิณรอบองค์เจดีย์ ถัดขึ้นไปเป็นฐานเขียง รอบรังฐานบัวขององค์เรือนธาตุ เป็นฐานบัวคว่ำบัวหงาย มีเส้นลวดบัวคั่นกลางองค์เรือนธาตุบนมีซุ้มจรนำอยู่ทั้งสี่ทิศ ภายในซุ้มจรนำด้านทิศเหนือประดิษฐานพระพุทธรูปปางรำพึง เช่นเดียวกับทิศตะวันตก ส่วนซุ้มด้านทิศตะวันออกและทิศใต้เป็นพระพุทธรูปปางลีลา ลักษณะพุทธศิลป์มีอิทธิพลของศิลปะล้านช้างปะปนอยู่ทั้งส่วนพระพักตร์ และเครื่องทรง เหนือเรือนธาตุทำย่อเก็จไม้ยี่สิบ มีสถูปขนาดเล็กอยู่ทั้งสี่ทิศ ส่วนยอดเจดีย์มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยม ตรงกลางป่องออกเล็กน้อย ยอดปลายเรียว สันนิษฐานว่ามีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๑ - ๒๒

            ธาตุโนนกอก (พระธาตุพีพวย)  ตั้งอยู่ที่บ้านพีพวย ตำบลสระโพนทอง อำเภอเกษตรสมบูรณ์ ก่อด้วยอิฐถือปูน ประกอบด้วยส่วนฐาน และส่วนยอด ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยม ก่อด้วยอิฐ เหนือฐานมีลักษณะคล้ายเรือนธาตุ เหนือเรือนธาตุทำเป็นลายกลีบบัวหงาย และก่อเป็นยอดเรียวแหลมขึ้นไป คล้ายกับส่วนยอดของพระธาตุพนมเจดีย์ องค์ธาตุยังคงเหลือร่องรอยการฉาบผิวนอกด้วยปูนให้เห็นอยู่บ้าง
            ส่วนวิหารก่อด้วยอิฐ ปัจจุบันหักพังเหลืออยู่เพียงส่วนฐาน ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของฐานเจดีย์เป็นลักษณะศิลปะของลาว มีอายุอยู่ประมาณ พุทธศตวรรษที่ ๑๙ - ๒๐

            ธาตุบ้านเปือย  ตั้งอยู่ที่บ้านเปือย ตำบลโนนกอก อำเภอเกษตรสมบูรณ์ ก่อด้วยอิฐขนาดเล็ก มีฐานใหญ่ เรือนธาตุและยอดสอบเข้า ลักษณะของธาตุเป็นธาตุที่ได้รับอิทธิพลศิลปะลาว
            ปัจจุบันชาวบ้านได้ช่วยพัฒนารอบบริเวณองค์ธาตุ และกำหนดขอบเขตบริเวณให้แน่ชัด และสวยงาม มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๙ - ๒๐

            ธาตุหนองจอก (กุดจอก)  ตั้งอยู่ที่บ้านยาวน้อย ตำบลบ้านยาว อำเภอเกษตรสมบูรณ์ ประกอบด้วยเจดีย์ก่ออิฐสององค์ องค์หนึ่งมีเรือนธาตุกลวง ภายในมีพระพุทธรูปหินปูนขนาดใหญ่และพระพุทธรูปหินทรายปางมารวิชัย ยอดเจดีย์หักพังลงมาเป็นส่วนใหญ่
            ธาตุเจดีย์อีกองค์หนึ่งก่อด้วยอิฐทึบ ตรีเรือนมีลักษณะคล้ายพระธาตุพนม มีฐานสูงประมาณห้าชั้น เป็นมุมยื่นและลดมุมอย่างสวยงาม
            ลักษณะของธาตุเจดีย์ทั้งสององค์เป็นสถาปัตยกรรมแบบลาว มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๙ - ๒๐
            ธาตุโนนบ้านเก่า  ตั้งอยู่ที่บ้านหนองดินดำ ตำบลบ้านแก้ง อำเภอภูเขียว เป็นเจดีย์ขนาดเล็ก ก่ออิฐถือปูน อยู่ในสภาพชำรุดหักพังมาก ทับถมกันจนเป็นกองดินสูง รูปวงกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๔ เมตร สูงประมาณ ๒ เมตร ตั้งอยู่บนเนินดินขนาดใหญ่ สันนิษฐานว่ามีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๙ - ๒๓
            บริเวณธาตุพบโบราณวัตถุสำคัญหลายชิ้นเช่น กอกดิน หรือกล้องยาสูบดินเผา ศิลปะลาว และภาชนะดินเผาเนื้อดินจำนวนหนึ่ง
            ธาตุโนนธาตุงาม  อยู่ในวัดโนนธาตุงาม บ้านโนนงาม ตำบลผักปัง อำเภอภูเขียว ประกอบด้วยธาตุสององค์ องค์หนึ่งก่อด้วยอิฐสอดินฉาบปูน มีปูนปั้นประดับด้านนอก สภาพองค์ธาตุยังค่อนข้างสมบูรณ์  แต่ปูนปั้นประดับหลุดล่อนเกือบหมด เหลือเพียงปูนปั้นกลีบบัวหงายประดับอยู่บางส่วน ส่วนฐานจมดิน
            ลักษณะองค์ธาตุ เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้างประมาณด้านละ ๑.๒๐ เมตร สูงประมาณ ๒.๗๐ เมตร รอบองค์ธาตุมีอิฐเรียงอยู่ที่ระดับพื้นดิน เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า คล้ายเป็นพื้นฐานรองรับอีกชั้นหนึ่ง ขนาดกว้าง ๓.๕๐ เมตร ยาว ๘.๕๐ เมตร ด้านหน้าหรือด้านทิศตะวันออก ก่ออิฐยื่นคล้ายจะเป็นทางเข้า
            บริเวณรอบนอกชิดกับฐานดังกล่าว มีร่องรอยของใบเสมาหินปักเป็นกลุ่ม ๆ ละสามใบทุกด้าน และที่มุมฐานทั้งสี่ มีธาตุเจดีย์อีกองค์หนึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ห่างออกไปประมาณ ๒๐ เมตร จากธาตุองค์แรก มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมจตุรัส ก่อด้วยอิฐสอดิน อยู่ในสภาพชำรุดหักพังไม่เห็นเป็นรูปแบบเดิม และไม่สามารถบอกได้ว่ามีการฉาบปูนด้านนอกหรือไม่ ขนาดองค์ธาตุกว้างด้านละ ๑.๙๐ เมตร ส่วนสูงที่เหลืออยู่ประมาณ ๒.๒๐ เมตร มีอายุอยู่ประมาณสมัยอยุธยาตอนปลาย หรือสมัยรัตนโกสินทร์

            ธาตุงูซอง (ท่าเริง)  ตั้งอยู่ที่บ้านเมืองเก่า ตำบลบ้านยาว อำเภอเกษตรสมบูรณ์ มีลักษณะเป็นซากโบราณสถานที่สำคัญสามหลังได้แก่ เจดีย์ก่อด้วยอิฐ ซากวิหาร และซากโบสถ์
            สิ่งก่อสร้างทั้งสามหลังก่อด้วยอิฐสอดิน เจดีย์ฉาบปูน ส่วนยอดหักพังลงมาหมอดแล้ว เรือนธาตุที่เหลืออยู่ลักษณะคล้ายกับพระธาตุกุดจอก ลักษณะทางสถาปัตยกรรม และแผนผังเป็นศิลปะพื้นเมืองแบบลาว ซึ่งพบทั่วไปในเขตจังหวัดชัยภูมิ สันนิษฐานว่ามีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐
            พระธาตุผักปัง  อยู่ในตำบลผักปัง อำเภอภูเขียว องค์เจดีย์เป็นรูปสี่เหลี่ยม กว้าง ๔ ศอก สูง ๓ ศอก เป็นศิลปะลาว มีอายุใกล้เคียงกับธาตุอื่น ๆ ในบริเวณอำเภอภูเขียว และอำเภอเกษตรสมบูรณ์

            ธาตุบ้านโนนงิ้ว  ตั้งอยู่ที่บ้านโนนงิ้ว ตำบลหนองข่า อำเภอเกษรสมบูรณ์ เป็นศิลปะลาว องค์พระธาตุมีขนาดเล็ก ก่อด้วยอิฐฉาบปูนภายนอก ภายในกลวง และมีพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประดิษฐานอยู่ ปัจจุบันอยู่ในวัดฉิมพลีวนาราม มีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๙ - ๒๐

            เจดีย์บ้านปะโค  ตั้งอยู่ในวัดบูรณ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า วัดปะโค ตำบลบ้านชวน อำเภอบำเหน็จณรงค์ เป็นศิลปะผสมผสานก่อด้วยอิฐแดง ยอดปรางค์แบบขอม ทำด้วยหินทราย บรรจุพระพุทธรูปและแผ่นเงิน แผ่นทอง กับของโบราณ จำนวนมาก มีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๐
            นอกจากเจดีย์แล้ว ยังมีสิงโตหินทราย หนึ่งตัว ในเสมาและพระพุทธรูปขนาดใหญ่อีกหนึ่งองค์ ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในอุโบสถวัดบูรณ์

            ภูพระ  ตั้งอยู่ในบริเวณวัดศิลาอาสน์ บ้านนาไก่เซา ตำบลนาเสียว อำเภอเมือง ฯ ลักษณะเป็นเนินเขาเตี้ย ๆ มีพระพุทธรูปปางสมาธิขนาดใหญ่ สลักจากก้อนหิน ที่ชาวบ้านเรียกว่า พระองค์ตื้อ (พระเจ้าสิบชาติ)  และมีเสาหินสลัก พระพุทธรูปปางสมาธิขนาดย่อมเจ็ดองค์
            ตามประวัติความเป็นมามีอยู่ว่า เมื่อสมัยโบราณได้มีพรานล่าเนื้อคนหนึ่ง เห็นว่าสถานที่แห่งนี้ มีสัตว์ป่าชุกชุมจึงเข้ามาซุ่มดักยิงสัตว์ แต่พอพบสัตว์แล้วเขากลับยกหน้าไม้ไม่ขึ้น และจะยิงสักเท่าใดก็ไม่ถูกสัตว์ จึงได้เดินเข้าไปดูว่า เป็นเพราะเหตุใดก็พบแต่ใบไม้ทับถมกันอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อเอาใบไม้ออกก็พบ พระพุทธรูปปางสมาธิองค์ใหญ่ ประดิษฐานอยู่คือ พระองค์ตื้อ ในปัจจุบัน
            ภูพระ เป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย ทั้งชาวชัยภูมิและชาวจังหวัดใกล้เคียง ภูพระอยู่ห่างจากตัวเมืองชัยภูมิ ไปทางทิศเหนือประมาณ ๑๙ กิโลเมตร
            ภูแฝด  เป็นวัดตั้งอยู่บนเนินเขาเตี้ย ๆ ในตำบลนาเสียว ภายในวัดมีความร่มรื่น มีพันธุ์ไม้นานาชินด ศาลาด้านหน้ามีความสวยงามเป็นศิลปะระหว่างไทยกับมอญ มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ประดิษฐานอยู่บนเนิน ถัดออกไปเป็นศาลามณฑป ที่ครอบรอยพระพุทธบาทไว้ ภายในมณฑปมีพระนอนองค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่ทางด้านซ้าย ด้านขวามีพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ประจำวัน ครบทุกวันตั้งเรียงรายอยู่โดยรอบ ส่วนรอยพระพุทธบาทที่จังหวัดสระบุรี แต่เป็นพระพุทธบาทเบื้องซ้าย ข้าง ๆ รอยพระพุทธบาทมีรูเล็ก ๆ เป็นนช่องที่มีลมผ่านมาจากด้านล่าง ใกล้กับรอยพระพุทธบาท ยังมีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ลึกประมาณ ๑ เมตร กว้างประมาณ ๗ นิ้ว  ยาว ๖ นิ้ว สำหรับให้ประชาชนที่มานมัสการได้ดื่มกิน
            ภูแฝด อยู่ห่างจากตัวเมืองชัยภูมิ ไปทางทิศเหนือประมาณ ๒๓ กิโลเมตร
            ถ้ำพระ  ตั้งอยู่ที่บ้านโนนเสลา ตำบลผักปัง อำเภอภูเขียว มีลักษณะเป็นเพิงผา อยู่บนภูหยวก ภายในมีแผ่นไม้คล้ายใบเสมาอยู่หลายแผ่น แกะสลักเป็นรูปแผงพระสามเหลี่ยมบ้าง สามเหลี่ยมมนบ้าง มียอดแหลมบ้าง เรียงเป็นแถว ๆ สำหรับใส่พระบุเงิน บุทอง และยังมีช่องไม้แกะสลัก รูปคล้ายต้นเทียน แกะช่องแผงพระอยู่หนึ่งต้น มีลักษณะเป็นศิลปะแบบลาว มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๐ - ๒๑
            ปัจจุบันชาวบ้านโนนเสลา และเขตใกล้เคียงจะมาทำบุญเดือนห้า และสรงน้ำพระทุกปี บางครั้งมีแห่บั้งไฟ และจุดบั้งไฟเพื่อขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล
            ถ้ำพระ อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอภูเขียว ประมาณ ๑๗ กิโลเมตร

            วัดทรงศิลา  อยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ เป็นพระอารามหลวงแห่งแรก และแห่งเดียวของจังหวัดชัยภูมิ ได้รับการยกฐานะ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๕ มีพระประธานในพระอุโบสถ ชาวบ้านเรียกว่า หลวงพ่อโต เป็นพระพุทธรูปที่มีพระบรมสารีริกธาตุบรรจุไว้ ที่พระเศียร ชาวบ้านเชื่อว่า เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ของจังหวัดชัยภูมิ

            วัดชัยภูมิพิทักษ์  อยู่ในเขตอำเภอหนองวัวแดง เป็นสถานปฎิบัติธรรมที่มีความพร้อมทั้งด้านสถานที่ และพระวิทยากร และเป็นศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ์ของกระทรวงศึกษาธิการ ประจำจังหวัดชัยภูมิ
| ย้อนกลับ | บน |