| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

บุคคลสำคัญ
            บุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์

                พระยาภักดีชุมพล (แล)  คนทั่วไปนิยมเรียกว่า เจ้าพ่อพระยาแล รับราชการอยู่ในสำนักเจ้าอนุวงศ์ ในตำแหน่งพี่เลี้ยงราชบุตรเจ้าอนุวงศ์ ต่อมาท้าวแลได้อพยพครอบครัว และบริวารเดินทางข้ามแม่น้ำโขง ที่ท่าเมืองชัยบุรี เข้ามาถึงเมืองหนองบัวลำภู เมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๐  แล้วมาตั้งหลักแหล่ง ที่บ้านน้ำขุ่นคลองอีสาน (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา)
                ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๖๒  ได้มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่โนนน้ำอ้อมชีลอง  (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ) ท้าวแล ได้ส่งส่วยอากรผ้าขาว เกณฑ์ชายฉกรรจ์ ไปบรรณาการแก่เจ้าอนุวงศ์ จึงได้รับปูนบำเหน็จให้มีบรรดาศักดิ์ เป็น ขุนภักดีชุมพล
                ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๖๕ มีผู้คนมาตั้งบ้านเรือนเพิ่มขึ้น  ขุนภักดี ฯ จึงได้อพยพผู้คนมาตั้งถิ่นฐาน อยู่ระหว่างบ้านหนองหลอดกับบ้านหนองปลาเฒ่า ให้ชื่อบ้านใหม่ว่า บ้านหลวง
                ปี พ.ศ.๒๓๖๗ ขุนภักดี ฯ ได้นำทองคำพร้อมส่วยฤชากร ชายฉกรรจ์ ไปบรรณาการแก่เจ้าอนุวงศ์ และขอให้เจ้าอนุวงศ์ตั้งชื่อเมืองที่ตนตั้งรกรากอยู่ เจ้าอนุวงศ์ได้ตั้งชื่อเมืองใหม่ว่า เมืองชัยภูมิ แล้วได้นำทองคำพร้อมส่วยของขุนภักดี ฯ ไปถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมกราบบังคมทูล ขอเลื่อนบรรดาศักดิ์ขุนภักดี ฯ เป็นพระยาภักดีชุมพล และยกบ้านหลวงเป็นเมืองชัยภูมิ ก็ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้ตามที่ขอพระราชทาน พระยาภักดีชุมพลได้รับสาส์นด้วยความปลื้มปิติ พร้อมกับประกาศแก่ประชาชนให้มาร่วมรับทราบ และตั้งสัตย์ปฏิญาณว่าจะจงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระพุทธศาสนา และชาติไทยจนชั่วชีวิต
                 ปี พ.ศ.๒๓๖๙ เจ้าอนุวงศ์ก่อการกบฏ ได้หลอกเจ้าเมืองรายทางว่าอังกฤษรบกับกรุงเทพ ฯ  จึงยกทัพมาช่วย เจ้าเมืองคนใดไม่เชื่อก็ถูกจับประหารชีวิต  กองพันเจ้าอนุวงศ์นำกำลังเข้าตีเมืองชัยภูมิได้ และเกลี้ยกล่อมให้พระยาภักดีชุมพลให้เป็นกบฏด้วย เมื่อไม่ยอมจึงถูกนำตัวไปประหารชีวิต ประชาชนชาวชัยภูมิ ได้สร้างอนุสรณ์สถานให้ เรียกว่า ศาลเจ้าพ่อพระยาแล เป็นที่เคารพบูชาของชาวชัยภูมิตลอดมา ในทุกปี ชาวชัยภูมิจะจัดงานเทศกาลบุญเดือนหก ในวันพุธแรกของเดือน
             จากพงศาวดารเมืองชัยภูมิ มีความแตกต่างออกไปเป็นอีกนัยหนึ่งว่า ในปี พ.ศ.๒๓๖๙ เจ้าอนุวงศ์ได้มอบให้เจ้าสุทธิสาร (โป้) พร้อมกำลัง ๕๐ คน ถือหนังสือเจ้าอนุวงศ์มาให้พระยาภักดีชุมพล (แล) กับพระยาไกรสิงหนาท เจ้าเมืองภูเขียว ให้ไปพบที่เมืองภูเขียว เมื่อไปถึงแล้วได้พาไปพบเจ้าอนุวงศ์ พอออกนอกเมืองภูเขียว เจ้าสุทธิสารก็ให้จับพระยาทั้งสองไปให้เจ้าอนุวงศ์ที่ช่องเขาสาร (บางแห่งเรียกช่องข้าวสาร)  เจ้าอนุวงศ์ได้สั่งให้เจ้าสุทธิสาร เอาตัวพระยาทั้งสอง และกรมการเมืองทั้งหมดของเมืองทั้งสองไปฆ่า แล้วตัดหัวเสียบประจานไว้  ต่อมาเมื่อพระยาจ่าแสนยากร แม่ทัพหน้าฝ่ายไทยตีค่ายหนองบัวลำพูแตก จึงสั่งให้นายครัวต่าง ๆ ที่รอดตาย เช่น เมืองสี่มุม เมืองภูเขียว เมืองชัยภูมิ เมืองชนบท เมืองภูเวียง พาครอบครัวกลับบ้านเดิม  เมื่อถึงช่องเขาสาร ได้เผาศพพระยาทั้งสองแล้วนำอัฐิกลับไปบ้านของตน โดยได้นำอัฐิพระยาภักดีชุมพล มายังบ้านหลวง (หนองปลาเฒ่า) ได้สร้างศาลเพียงตาที่ริมฝั่งหนองปลาเฒ่า บรรจุอัฐิของพระยาภักดีชุมพลเพื่อให้ชาวเมืองบวงสรวงบูชา

                - พระยาฤทธิฤาชัย  ในปี พ.ศ.๒๓๖๙ เจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์เป็นกบฏยกกองทัพมากวาดต้อนผู้คนในหัวเมืองภาคอีสาน และเข้ายึดเมืองนครราชสีมา
                ในครั้งนั้น ขุนพลนายด่านบ้านช่วนทราบข่าวกบฏ จึงได้ยกกำลังไปสมทบช่วยปราบกบฏได้คุมครัวไทยส่วนหนึ่งที่อยู่ที่บ้านมะเริ่ง ขุนพลนายด่าน ฯ ได้แต่งหนังสือหลอก ส่งเข้าไปในค่ายเจ้าอนุวงศ์ มีใจความว่า "ขณะที่ลาวกำลังกวาดต้อนผู้คนอยู่ที่เมืองนครราชสีมานี้ กองทัพเมืองเชียงใหม่ ได้ยกไปกวาดต้อนครัวเมืองเวียงจันทน์แล้ว"
                หลังจากนั้น ขุนพลนายด่าน ฯ ได้ให้คนถือหนังสือไปถึงพระยาปลัด และกรมการเมืองนครราชสีมา เพื่อนัดวันเข้าตีกองทัพเวียงจันทน์ และตัวขุนพลนายด่าน ฯ จะช่วยยกกำลังเข้าตีกระหนาบอีกด้านหนึ่ง แต่ยังไม่ทันเข้าโจมตีก็ได้ทราบข่าวว่า เจ้าอนุวงศ์ถอยทัพออกจากเมืองนครราชสีมา ขุนพลนายด่าน ฯ จึงได้นำกำลังเข้าสมทบ กับกองทัพหลวงจากกรุงเทพ ฯ สู้รบกับฝ่ายเจ้าอนุวงศ์ต่อไป
                เมื่อเสร็จการปราบกบฏแล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานบำเหน็จความชอบขุนพลนายด่าน ฯ เป็นพระยาฤทธิฤาชัย และให้ยกฐานะด่านช่วน ขึ้นเป็นเมืองบำเหน็จณรงค์ ให้พระยาฤทธิฤาชัยเป็นเจ้าเมืองบำเหน็จณรงค์ ถือศักดินา ๑,๐๐๐ ไร่ พระราชทานเครื่องยศ ถาดหมาก คณโฑเงินสำรับหนึ่ง สัปทนแพรคันหนึ่ง เสื้อเข้มขาบก้านแย่งตัวหนึ่ง แพรศรีติจ์ครีบผืนหนึ่ง แพรขาวห่มผืนหนึ่ง ผ้าส่านวิลาตผืนหนึ่ง ผ้าม่วงจีนผืนหนึ่ง

                พระไกรสิงหนาท  ในปี พ.ศ.๒๓๕๒ เมืองภูเขียวมีเจ้าเมืองคนที่สองสืบต่อจากพระยาภิรมย์ไกรภักดิ์ คือ พระยาไกรสิงหนาท  ในช่วงเวลาดังกล่าว เมืองเกษตรสมบูรณ์มีชื่อว่าบ้านยาว ขึ้นสังกัดเขตปกครองของเมืองภูเขียว หลังจากพระยาไกรสิงหนาท เจ้าเมืองภูเขียวถูกเจ้าอนุวงศ์ ฯ ประหารชีวิต เมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๙ แล้วผู้คนในเมืองภูเขียวต่างหนีเอาตัวรอด
                ในครั้งนั้น อาจารย์อุปรี หัวหน้าบ้านยางได้พาครอบครัวเข้าอยู่ในป่า เมื่อเหตุการณ์สงบจึงอพยพครอบครัวกลับ แล้วได้รวบรวมไพร่พลตามหมู่บ้านต่าง ๆ เก็บข้าวเปลือกขึ้นฉาง แล้วนำใบบอกไปเมืองนครราชสีมา ขอขึ้นสังกัดเมืองนครราชสีมา
                ในการยกทัพจากกรุงเทพ ฯ ไปปราบเจ้าอนุวงศ์ ฯ ครั้งที่สอง พระยาราชสุภาวดีเป็นแม่ทัพยกไปปราบ เมื่อเดินทัพเข้าไปในเมืองภูเขียว แล้วได้เบิกข้าวสาร จากอาจารย์อุปรี หัวหน้าบ้านยางซึ่งรักษาการเมืองภูเขียวอยู่ เพื่อนำไปให้กองทัพ ปรากฏว่า ได้ข้าวมากมายเกินกว่าที่คาดคะเน นับว่าอาจารย์อุปรีมีความชอบแก่ทางราชการ
                เมื่อปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์ ฯ แล้ว พระยาราชสุภาวดีจึงได้ขอพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้อาจารย์อุปรี เป็นที่พระยาไกรสิงหนาท และยกบ้านยาง ขึ้นเป็นเมืองเกษตรสมบูรณ์
                พระไกรสิงหนาทเป็นเจ้าเมืองเกษตรสมบูรณ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๓๗๐ ถึงปี พ.ศ.๒๓๗๒

                พระนรินทร์สงคราม  ชื่อเดิมว่าคำ หรืออาจารย์คำ เป็นชาวลาวจากเมืองเวียงจันทน์ ได้มาตั้งถิ่นฐานที่บ้านนารายณ์ ปัจจุบันอยู่ในตำบลจอหอ อำเภอเมือง ฯ จังหวัดนครราชสีมา เป็นผู้มีความรู้ความสามารถทางโหราศาสตร์ และมีอาคมอยู่ยงคงกระพัน ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือมาก ยกให้เป็นผู้นำหมู่บ้าน
                เมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๑  เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช  ยกกองทัพมาปราบชุมนุมเจ้าพิมาย อาจารย์ดำได้นำชาวบ้านนารายณ์เข้าสวามิภักดิ์ต่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และขออาสาร่วมเป็นกำลังสู้รบเพื่อปราบชุมนุมเจ้าพิมาย ได้รับมอบหมายให้เป็นกองกำลังเข้าตีค่ายขุนทด และค่ายจอหอ และสามารถตีด่านทั้งสองแตก
                เมื่อเสร็จศึกแล้วสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้ปูนบำเหน็จอาจารย์ดำให้เป็นที่พระนรินทร์สงคราม เจ้าเมืองสี่มุม โดยยกฐานะบ้านสี่มุม ซึ่งเป็นชุมชนใกล้หมู่บ้านนารายณ์ขึ้นเป็นเมืองสี่มุม
                ตระกูลของพระนรินทร์สงคราม ต่อมาได้ใช้นามสกุลว่า ลาวัณบุตร ซึ่งเป็นนามสกุลพระราชทาน จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
                พระยาภิรมย์ไกรภักดิ์  เมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๑ เจ้าพระยามหากษัตริศึก ได้ยกกองทัพไปตีเมืองเวียงจันทน์ ได้ชัยชนะแล้วกวาดต้อนครัวเพี้ยอุปราชมาที่นครราชสีมา ประมาณ ๑,๐๐๐ คน ในจำนวนนี้มีนายควาญช้าง ชาวเวียงจันทน์สองคน ชาวบ้านเรียกว่า ครุฑช้าง ได้พาครัวและญาติจำนวนหนึ่ง อพยพจากปักธงชัย ข้ามภูเขาโค้งไปถึงบ้านลาด แล้วตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ ที่นั้น
                ต่อมาเมื่อมีผู้คนมากเข้าก็ได้ขยายตั้งบ้านเพิ่มขึ้น มีบ้านนางเมืองเก่า บ้านกุดเลาะ บ้านโนนกอก บ้านหุ้น บ้านเป้า นายควาญช้างได้สำรวจผู้คนลูกบ้าน บัญชีชายฉกรรจ์ฝึกฝนวิชาการรบ และการปกครอง โดยเปิดสำนักสอนขึ้นในบริเวณบ้านของตนจนชายฉกรรจ์เหล่านั้นสามารถออกรบในสงครามได้ จึงได้บังคับเอาส่วยฤชากร เงินทอง สิ่งของเครื่องใช้ ไม้หอม เครื่องเทศ ขนขึ้นช้างไปขอสังกัดกับเจ้าพระยานครราชสีมา เพื่อนำทูลถวายแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
                เจ้าเมืองนครราชสีมา ได้ส่งกรมการเมืองออกไปสักเลกไพร่พล ชาวบ้านบ้านลาด ถูกต้องตามประเพณีการปกครองอีสานโบราณ แล้วจึงให้กรมการเมืองถือใบบอก และส่วยฤชากรของนายควาญช้างขึ้น กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และกราบบังคมทูลยกหมู่บ้านลาดขึ้นเป็นเมือง ให้นายควาญช้างเป็นที่พระภิรมไกรภักดิ์กินตำแหน่งเจ้าเมือง และต่อมาได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นพระยาภิรมภักดี ส่วนรองหัวหน้าหมู่บ้านลาดให้เป็นพระไกรสิงหนาท ปกครองเมืองภูเขียว โดยขยายเขตการปกครองเช่นบ้านแท่น บ้านหนองดอนไท บ้านผักปัง บ้านช่อง สามหมอ บ้านหนองขาม บ้านกุดชุม เป็นต้น
| ย้อนกลับ | บน | หน้าต่อไป |