พัฒนาการทางประวัติศาสตร์
บริเวณรอบนอกบางพื้นที่ของที่ตั้งเมืองเชียงใหม่ปัจจุบัน จากหลักฐานทางโบราณคดีหลายแห่ง
เชื่อกันว่าเดิมเคยเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ บริเวณต่าง
ๆ เหล่านี้ได้แก่ แหล่งโบราณคดีออบหลวงและผาหมาย ผาคันนา น้ำตกแม่กลาง ดอยหัวช้าง
และผาแว่นแก้ว
นอกจากนี้ยังมีการค้นพบเมืองเล็ก ๆ ตามลุ่มน้ำต่าง ๆ อีกหลายเมืองเช่น เวียงฝาง
เวียงสีทอง เวียงพาคำ เวียงสุทโธ เวียงห้อ เวียงมะลิกา และเวียงท่ากาน เป็นต้น
ภูมิหลัง
พญามังราย ผู้สร้างเมืองเชียงใหม่ เป็นราชบุตรพญาลาวเม็ง แห่งเมืองเงินยาง
พญามังรายทรงสร้างเมืองขึ้นหลายเมือง และทรงย้ายจากเมืองเงินยาง ลงมาทางตอนใต้
เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. ๑๘๐๕ ทรงสร้างเมืองเชียงรายบนฝั่งแม่น้ำกก สร้างเมืองฝาง
ยึดเมืองหริภุญไชยจากพญายีบา ทรงสร้างเวียงกุมกาม และเชียงใหม่
เมืองเชียงใหม่ตั้งอยู่บนที่ราบระหว่างดอยสุเทพกับแม่น้ำปิง ตัวเมืองอยู่ห่างจากแม่น้ำปิงประมาณ
๑ กิโลเมตร ผังเมืองเชียงใหม่มีลักษณะคล้ายกันกับผังเมืองสุโขทัย ตัวเมืองเชียงใหม่
กว้าง ๙๐๐ วา ยาว ๑,๐๐๐ วา มีกำแพงล้อมรอบทั้งสี่ด้าน
มีประตู
๕ ประตู ภายในกำแพงเมืองมีสิ่งปลูกสร้างหลายประเภท เช่น พระราชวัง หอคำ บ้านเรือนราษฎร
วัด ตลาด สนามหลวงกลางเมือง (ข่วงหลวง) หอสังเกตการณ์ (หอหลิงหอเลอ) หอกลอง
เป็นต้น
เมืองเชียงใหม่มีแม่น้ำไหลผ่าน ๓ สาย คือ แม่น้ำปิง
ห้วยแก้ว และแม่น้ำข่า
พญามังรายทรงใช้น้ำจากห้วยแก้วเข้ามาใส่คูเมืองทั้งสี่ด้าน แม่น้ำข่าช่วยระบายน้ำออกจากคูเมือง
และเมื่อมีการสร้างคูเมืองชั้นนอกก็ได้ใช้แม่น้ำข่าเป็นคูเมือง
แหล่งน้ำธรรมชาตินอกกำแพงเมืองที่แจ่งศรีภูมิมีหนองน้ำใหญ่เรียกว่า หนองบัวเจ็ดกอ
พระเจ้ามังรายทรงใช้เป็นหนองสาธารณะ
สำหรับเลี้ยงสัตว์ นอกจากนี้ยังมีหนองเส้ง อยู่บริเวณโรงพยาบาลแมคคอร์มิค
หนองหอย
อยู่ทางใต้ของตัวเมือง
และหนองผาแตบ
ซึ่งปัจจุบันไม่ทราบว่าอยู่ที่ใด
ในกำแพงเมืองเป็นบริเวณที่ใช้อยู่อาศัย พื้นที่การเกษตร คือ นา และสวนจะอยู่นอกเมืองด้านเหนือด้านตะวันออก
และด้านใต้
ชาวล้านนาคิดถึงลักษณะสัณฐานของเมือง และหมู่บ้านว่าเหมือนกับร่างกายของคน
คือมีส่วนหัวเรียกว่าหัวเวียง ส่วนลำตัวมีสะดือเมือง
หรือใจเมือง
เป็นศูนย์กลาง
และมีเท้าอยู่ล่างสุดเรียกว่า ตีนเวียง
หรือหางเวียง
จากการศึกษาตำนาน และภาพถ่ายทางอากาศพบว่ามีเมืองหลายเมืองตั้งอยู่รอบเมืองเชียงใหม่ได้แก่
เวียงนพบุรี เวียงสวนดอก หรือเวียงสวนดอกไม้เวียงเจ็ดลิน เวียงรั้วน่าง และเชียงโฉม
ยังมีแนวกำแพงเจดีย์ และพระพุทธรูปเหลืออยู่
เวียงสวนดอก
ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของตัวเมืองเชียงใหม่ อยู่ห่างจากตัวเมืองออกไปประมาณ
๑ กิโลเมตร มีวัดสวนดอกเป็นศูนย์กลางเวียง ปัจจุบันยังมีแนวกำแพงเมือง และคูเมืองบางส่วนเหลืออยู่
ผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยม ตามตำนานเขียนว่าเป็นเวียงลัวะ
เวียงเจ็ดลิน
ตั้งอยู่บนดอยเจ็ดลินหรือดอยลัวะ ปัจจุบันพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ตั้งสถาบันราชมงคลพายัพ
มีถนนห้วยแก้วตัดผ่านกลางตัวเวียง ตามตำนานกล่าวว่า เวียงเจ็ดลินเป็นเวียงลัวะ
เช่นเดียวกับเวียงสวนดอก ผังเมืองมีลักษณะเป็นวงกลม เหมือนกับเมืองเชียงตุง
เวียงรั้วน่างหรือน่างรั้ว
ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของประตูเมืองเชียงใหม่
ด้านในของกำแพงเมืองชั้นนอก (กำแพงดิน) ปัจจุบันอยู่ใกล้กับวิทยาลัยนาฏศิลป์เชียงใหม่
เชียงโฉม ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองเชียงใหม่ด้านเหนือ ห่างจากประตูช้างเผือกออกไปประมาณ
๒ กิโลเมตร ปัจจุบันอยู่บริเวณสถาบันราชภัฏเชียงใหม่ มีวัดร้างและซากเจดีย์เหลืออยู่
ชาวบ้านเรียกเจดีย์ปล่อง
พัฒนาการทางประวัติศาสตร์
แบ่งออกได้เป็น ๓ ระยะ คือ สมัยราชวงศ์มังราย (พ.ศ. ๑๙๓๙ - ๒๑๐๐) สมัยพม่าปกครอง
(พ.ศ. ๒๑๐๑ - ๒๓๑๖) และสมัยเมืองประเทศราช (พ.ศ. ๒๓๑๗ - ๒๔๓๕)
สมัยราชวงศ์มังราย (พ.ศ. ๑๙๓๙ - ๒๑๐๑)
ในสมัยราชวงศ์มังราย เชียงใหม่มีฐานะเป็นเมืองหลวงราชธานีของแคว้นล้านนา ซึ่งปกครองโดยกษัตริย์
แบ่งเขตท้องที่การปกครองไปยังเมืองบริวาร ทั้งในระบบเครือญาติ และแต่งตั้งขุนนางไปปกครอง
สังคมวัฒนธรรมเป็นแบบผสมผสานกันระหว่างความเชื่อเดิมกับไสยศาสตร์ กับพระพุทธศาสนา
กษัตริย์ดำรงฐานะเอกอัครศาสนูปถัมภก รูปแบบสังคม การเมืองการปกครอง อิงหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาในสมัยพุทธศตวรรษที่
๑๙ เป็นต้นมา
พญามังรายเป็นกษัตริย์ที่ปรีชาสามารถ ทรงเป็นนักรบ นักปกครอง ทรงเป็นผู้นำในการสร้างบ้านเมืองหลายเมือง
ทรงรวบรวมกฎหมายขึ้นใช้ปกครองที่เรียกว่า มังรายศาสตร์
ทรงนำช่างฝีมือ
เช่น ช่างทอง ช่างเงิน ช่างต้อง ช่างแต้ม ช่างเหล็ก ช่างฆ้อง และช่างเขิน
เป็นต้นมาจากเมืองพุกาม ได้สร้างสัมพันธ์อันดีกับกรุงสุโขทัย รับพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท
จากสุโขทัย
หลังจากสิ้นรัชสมัยพญามังราย เมื่อประมาณ ปี พ.ศ. ๑๘๕๔ แล้ว เมืองเชียงใหม่ได้มีกษัตริย์ปกครองต่อเนื่องมาไม่ขาดระยะเป็นเวลา
ประมาณ ๒๐๐ ปี รวม ๑๗ พระองค์ ที่สำคัญคือ พญากือนา (พ.ศ. ๑๘๙๘ - ๑๙๒๘) พญาสามฝั่งแกน
(พ.ศ. ๑๙๕๔ - ๑๙๘๔) พญาติโลกราช (พ.ศ. ๑๙๘๔ - ๒๐๓๐) และพญาเมืองแก้ว (พ.ศ.
๒๐๓๘ - ๒๐๖๘)
ในรัชสมัยพญาติโลกราช ฐานะเมืองเชียงใหม่มั่นคงมาก ได้ขยายอาณาเขตออกไปถึงเมืองแพร่
เมืองน่าน ด้านการศาสนา พระพุทธศาสนามีความเจริญรุ่งเรืองสูงสุด พระองค์ได้ทำการสังคายนาพระไตรปิฎกที่วัดเจ็ดยอด
เมื่อปี พ.ศ. ๒๐๒๐ และอัญเชิญพระแก้วมรกต จากวัดพระธาตุลำปางหลวงมาประดิษฐาน
ณ วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร
ในรัชสมัยพระเมืองแก้วเป็นช่วงที่วรรณคดีมีความเจริญรุ่งเรืองมาก พระสงฆ์ใสสมัยนี้ก็ได้แต่งคัมภีร์ไว้เป็นจำนวนมาก
มีความไพเราะมีชื่อเป็นที่รู้จักกันดีคือ ชินกาลมาลีปกรณ์ คัมภีร์มังคลัตตทีปนี
เวสันตรปมี และจามเทวีวงศ์
เมื่อสิ้นรัชสมัยพระเมืองแก้ว เชียงใหม่ก็เริ่มเสื่อมอำนาจลง เหล่าขุนนางจึงไปอัญเชิญพระไชยเชษฐาธิราชจากล้านช้าง
ผู้เป็นพระราชนัดดาของพระเมืองเกษเกล้า ขึ้นมาครองเมืองเชียงใหม่ ต่อมาพระไชยเชษฐาธิราชได้เสด็จกลับไปครองแคว้นล้านช้างต่อจากพระราชบิดา
ซึ่งสิ้นพระชนม์ลงเชียงใหม่จึงว่างกษัตริย์ บรรดาขุนนางจึงไปอัญเชิญเจ้าฟ้าเมกุฏิแห่งเมืองนายมาครองเมืองเชียงใหม่
บ้านเมืองเกิดระส่ำระสาย จนในที่สุดพระเจ้าบุเรงนองกษัตริย์พม่า ก็ยกทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ได้
เมื่อปี พ.ศ. ๒๑๐๑ เป็นอันสิ้นสุดราชวงศ์มังราย
สมัยพม่าปกครอง (พ.ศ. ๒๑๐๑ ถึง พ.ศ. ๒๓๑๗)
พม่าได้แต่งตั้งผู้ครองเมืองเชียงใหม่ ๑๐ องค์ ในช่วงเวลาดังกล่าว เชียงใหม่ต้องส่งเครื่องราชบรรณาการแก่พม่าทุกปี
ตลอดจนส่งเสบียงอาหารให้แก่กองทัพพม่า ที่ไปทำสงคราม เจ้าผู้ครองนครจะต้องเดินทางไปแสดงความภักดีต่อกษัตริย์พม่าทุกปี
และพม่าได้ส่งแม่ทัพเข้ามาควบคุมดูแลอีกชั้นหนึ่งด้วย
ความพยายามลิดรอนอำนาจของพม่าได้ดำเนินมาจนถึงปี พ.ศ. ๒๓๑๔ ขุนนางเมืองเชียงใหม่นำโดยพระยาจ่าบ้าน
และพระยากาวิละ ได้ขอความช่วยเหลือไปยังกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้นำกองทัพมาช่วยพระยากาวิละ
เข้าตีเมืองเชียงใหม่ขับไล่พม่าออกไปได้สำเร็จ เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๑๗ ทำให้เชียงใหม่พ้นจากอำนาจพม่าโดยสิ้นเชิงนับแต่นั้นมา
สมัยเป็นเมืองประเทศราช (พ.ศ. ๒๓๑๗ - ๒๔๓๕)
เมื่อได้ขับไล่พม่าออกไปแล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ก็ได้โปรดเกล้า ฯ
ให้พระยาจ่าบ้านขึ้นครองเมืองเชียงใหม่ ได้รับพระราชทานนามว่า พระยาวชิรปราการ
เมื่อพระยาวชิรปราการสิ้นแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้โปรดเกล้าฯให้พระยากาวิละขึ้นครองเมืองเชียงใหม่
และได้มีเจ้าผู้ครองเมืองเชียงใหม่ต่อมาอีก ๘ องค์ ตามลำดับดังนี้ คือ
เจ้าหลวงธรรมลังกา
(พ.ศ. ๒๓๕๖ - ๒๓๖๔)
เจ้าหลวงคำฝั้น
(พ.ศ. ๒๓๖๔ - ๒๓๖๘)
เจ้าพระยาพุทธวงศ์
(พ.ศ. ๒๓๖๘ - ๒๓๘๙)
พระเจ้ามโหตรประเทศ (พ.ศ. ๒๓๘๙ - ๒๓๙๗)
พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ (พ.ศ. ๒๓๙๗ - ๒๔๑๓)
พระเจ้าอินทะวิชยานนท์ (พ.ศ. ๒๔๑๓ - ๒๔๓๙)
เจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ (พ.ศ.
๒๔๓๙ - ๒๔๕๒)
เจ้าแก้วนวรัฐ
(พ.ศ. ๒๔๕๒ - ๒๔๘๒)