| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา | |
มรดกทางพระพุทธศาสนา
เชียงใหม่มีความเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่อดีตอันยาวนาน และสิ่งที่เป็นเสมือนจิตวิญญาณของชาวเชียงใหม่
และชาวไทยทั้งมวลคือพระพุทธศาสนา ดังนั้น บรรดาโบราณสถานและโบราณวัตถุทั้งมวลจึงเนื่องด้วย
พระพุทธศาสนาทั้งสิ้น ในที่นี้จะประมวลมาพอสังเขป
วัดเกตุการาม
ตั้งอยู่ในเขตตำบลวัดเกตุ อำเภอเมือง ฯ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด
แต่มีหลักฐานว่า มีการพังทะลายของเจดีย์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๑๒๑ เจ้าฟ้าสุทโธเจ้าเมืองเชียงใหม่ขณะนั้น
จึงโปรดให้สร้างขึ้นใหม่ เสร็จในปี พ.ศ. ๒๑๒๔
วิหาร
เป็นแบบวิหารรุ่นเก่ามีมุขยื่นออกด้านข้าง ลายประดับมีการบูรณะใหม่ เมื่อปลายพุทธศตวรรษที่
๒๕
หอไตร
มี ๒ ชั้นใตถุนโล่ง มีภาพลอยทองประดับฝาผนังชั้นบน
กุฏิ
เป็นรูปแบบพื้นเมืองล้านนาผสมยุโรป
ปฏิมากรรมดินเผาเคลือบรูปสิงโตจีนที่ประดับหน้าอุโบสถ แสดงให้เห็นความสัมพันธ์กับชุมชนชาวจีนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ใกล้เคียง
วัดเกตุการามได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน และกำหนดขอบเขตของวัด เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๔
วัดกู่เต้า
ตั้งอยู่ในเขตตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองฯ วัดนี้ปรากฏชื่อครั้งแรกในสมัยพระยอดเชียงราย
เมื่อปี พ.ศ. ๒๐๓๕ มีปรากฏชื่อวัดเวฬุวันกู่เต้า ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่
ครั้งพม่ายกมาล้อมเมืองเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๐๕ พม่าได้มาตั้งทัพ ณ วัดแห่งนี้
เจดีย์
เดิมคงมีรูปแบบคล้ายเจดีย์ปล่อง แต่คงได้มีการบูรณะอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นมีรูปร่างคล้ายบาตรพระหรือผลน้ำเต้าซ้อนลดหลั่นขึ้นไป
๕ ชั้น ประดับด้วยเครื่องดินเผาเคลือบประดับกระจกจีนสีเงิน และทอง สันนิษฐานว่า
คงจะบูรณะเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๔
พระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย
ศิลปแบบมัณทเล เป็นพระประธานในวิหาร
วัดกู่เต้าได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๘ และได้ประกาศกำหนดขอบเขตวัด
เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๒
วัดเจ็ดยอด
ตั้งอยู่ในเขตตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง ฯ พระเจ้าติโลกราชโปรดให้สร้างขึ้น
เมื่อปี พ.ศ. ๑๙๙๙ เพื่อให้เป็นที่อยู่ของพระมหาเถระชื่อ อุตตมปัญญา แล้วปลูกต้นโพธิในวัด
จากนั้นให้สร้างเวทีให้เหมือนต้นมหาโพธิที่พระพุทธองค์ทรงผจญมาร และสร้างสัตตมหาสถาน
ในปี พ.ศ. ๒๐๒๐ ได้ใช้วัดนี้เป็นที่จัดประชุมสังคายนาพระไตรปิฎก ครั้งที่
๘ ของโลก ได้สร้างสถูปบรรจุพระอัฐิของพระเจ้าติโลกราช เมื่อปี พ.ศ. ๒๐๓๑ สร้างอุโบสถ
ณ ที่ถวายพระเพลิง พระเจ้ายอดเชียงราย เมื่อปี พ.ศ. ๒๐๕๓ และได้สถาปนาเจ้าอาวาสวัดมหาโพธารามเป็นสังฆราช
เมื่อปี พ.ศ. ๒๐๕๙ ประดิษฐานพระแก่นจันทร์ในพระอุโบสถ เมื่อปี พ.ศ. ๒๐๖๘
เจดีย์วิหาร
คือวิหารเจ็ดยอดอันเป็นที่รู้จักกันดีในปัจจุบัน ยอดทั้งเจ็ดที่ส่วนบนของวิหารซึ่งมีทั้งยอดทรงสิงขร
และยอดเจดีย์ทรงระฆัง เจดีย์องค์นี้เชื่อกันว่าสร้างในรัชสมัยพระเจ้าติโลกราช
ผนังภายนอกของวิหารประดับด้วยปูนปั้นรูปเทวดาที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะสุโขทัย
ผสมกับศิลปะพุกาม และศิลปะลังกา แต่ลวดลายปูนปั้นรูปดอกไม้น่าจะได้มาจากศิลปะจีน
เจดีย์บรรจุอัฐิพระเจ้าติโลกราช
เป็นเจดีย์ทรงปราสาทยอดทรงระฆังที่มีขนาดใหญ่องค์หนึ่ง สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นประมาณปี
พ.ศ. ๒๐๓๑ มีลักษณะประกอบด้วยฐานเขียวสี่เหลี่ยมซ้อนลดหลั่นกันรับฐานปัทมลูกแก้วอกไก่
ซึ่งเป็นรูปแบบเอกลักษณ์ของส่วนฐานในศิลปะล้านนา ส่วนกลางเป็นเรือนธาตุสี่เหลี่ยมยกเก็จ
มีจรนำประดิษฐานพระพุทธรูปทั้งสี่ด้าน ส่วนยอดเป็นหลังคาลาดขนาดใหญ่รับชั้นลดและยอดทรงระฆัง
กู่ประดิษฐานพระแก่นจันทร์
อาจจะเป็นมณฑปที่ประดิษฐานพระแก่นจันทร์ที่กล่าวไว้ในเอกสาร เมื่อปี พ.ศ.
๒๐๖๘ ก็ได้ เพราะตำแหน่งที่ตั้งปัจจุบันอยู่กลางอุโบสถ และลักษณะทางสถาปัตยกรรมรวมทั้งลวดลายประดับสามารถกำหนดอายุได้ถึงประมาณกลางพุทธศตวรรษที่
๒๑ ได้
อนิมิตเจดีย์
เป็นเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยม มีเรือนธาตุ ๘ เหลี่ยม และมีจรนำทุกด้าน ส่วนยอดเป็นชั้นลดที่ควรมีบันแถลงประดับลดหลั่นกัน
ยอดที่หักหายไปควรเป็นยอดทรงระฆัง
ซุ้มประตูโขง
อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของวัด ลักษณะแต่เดิมคงมีโครงสร้างวงโค้ง เพื่อรับส่วนยอด
ด้านบนที่เป็นชั้นลดหลั่นกันขึ้นไป เช่นเดียวกับยอดของมณฑปพระแก่นจันทร์ จากลักษณะของลวดลายปูนปั้นประดับ
เข้าใจว่าสร้างประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๑
วัดเจ็ดยอดขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๘
วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร
ตั้งอยู่ในเขตตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง ฯ ตามตำนานกล่าวว่า เดิมชื่อวัดอารามโชติวิหาร
ไม่ปรากฏว่าสร้างสมัยใด กล่าวแต่เพียงว่า มีภิกษุชาวพม่าเดินทางมาสักการบูชา
แล้วมีจิตศรัทธาได้เอาผ้าสังฆาฏิม้วนเป็นช่อชุบน้ำมันจุดบูชา วัดนี้จึงได้ชื่อว่าโชติการามวิหาร
หลังจากนั้นได้มีการสร้างเจดีย์หลวงทับบนเจดีย์เดิม โดยพระเจ้าแสนเมืองมา
เพื่ออุทิศพระราชกุศลถวายแด่พญากือนาพระราชบิดา สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. ๑๙๘๑
ต่อมาได้ทำการปฏิสังขรณ์พระเจดีย์หลวงโดยเสริมฐานให้สูงขึ้น และกว้างขึ้น
เมื่อปี พ.ศ. ๒๐๒๑ ในสมัยพระเมืองแก้ว ได้หุ้มองค์เจดีย์หลวงด้วยทองคำ เมื่อปี
พ.ศ. ๒๐๕๕ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๐๘๘ เกิดแผ่นดินไหวอย่างหนัก และมีฝนฟ้าคะนองตลอด
๓ วัน ทำให้ยอดเจดีย์หักพังลงมาเหลืออยู่เพียงซีกเดียวดังที่เห็นอยู่ปัจจุบัน
วัดเจดีย์หลวงเป็นวัดใหญ่ และสำคัญของคณะสงฆ์ฝ่ายคามวาสีวัดหนึ่งของเชียงใหม่
เป็นที่ประทับของมหาสวามีหลายองค์ และมีประวัติเกี่ยวเนื่องกับโบราณวัตถุที่อยู่ในวัดอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบันเป็นศูนย์กลางของการบริหารคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกายของภาคเหนือ
เจดีย์หลวง
รูปแบบทางสถาปัตยกรรมประกอบด้วยส่วนฐานเป็นฐานเขียงในผังสี่เหลี่ยมจตุรัสรับฐานปัทม์
และแท่นสี่เหลี่ยมสูง มีช้างปูนปั้นประดับจำนวน ๒๘ เชือก ทั้งสี่ด้านมีบันไดทางขึ้นสู่ลานประทักษิณของเรือนธาตุได้
ส่วนกลางเป็นเรือนธาตุสี่เหลี่ยมเพิ่มมุม มีจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปทั้งสี่ทิศ
โดยเฉพาะจระนำด้านทิศตะวันออกมีประวัติว่าเคยเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตมาก่อน
ส่วนยอดถัดจากเรือนธาตุ เป็นชั้นหลังคาลาดซ้อนลดหลั่นกันรับมาลัยเกาแปดเหลี่ยมถัดขึ้นไปเป็นยอดทรงระฆังที่พังทะลายไป
เมื่อคราวแผ่นดินไหวในปี พ.ศ. ๒๐๘๘
วิหาร
หลังจากสร้างเจดีย์หลวงเสร็จแล้ว พระราชมารดาของพระเจ้าติโลกราชโปรดให้สร้าง
พระวิหารพร้อมทั้งหล่อพระประธานคือ พระอัฏฐารสพร้อมกันด้วย ต่อมาประมาณปี
พ.ศ. ๒๐๑๗ พระเจ้าติโลกราชโปรดให้รื้อแล้วสร้างใหม่เมื่อ ประมาณปี พ.ศ. ๒๐๔๖
ต่อมาพระเมืองแก้วโปรดให้ขยายพระวิหารให้กว้างขึ้น ในสมัยพระเจ้าเมกุฏิ พระวิหารเกิดเพลิงไหม้จึงให้สร้างขึ้นใหม่
ต่อมาเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๓๖๙ ได้มีการสร้างพระวิหารอีกครั้งหนึ่ง พระวิหารหลังปัจจุบันสร้างขึ้น
เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๒ ลักษณะเป็นวิหารแบบล้านนาประยุกต์
เจดีย์ราย ๒ องค์
ไม่มีประวัติความเป็นมา จากลักษณะทางศิลปกรรมสันนิษฐานว่า มีอายุประมาณปลายพุทธศตวรรษที่
๒๑
พระอัฏฐารส
เป็นพระประธานในพระวิหาร สร้างประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ลักษณะทางศิลปกรรมมีอิทธิพลของศิลปะสุโขทัยปนอยู่
เสาอินทขีล
เป็นเสาที่ย้ายมาจากวัดอินทขีล
กลุ่มพระพุทธรูป
ประดิษฐานบนฐานชุกชีในพระวิหาร ส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัยศิลปล้านนา
สกุลช่างเชียงใหม่ มีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๑ บางองค์มีจารึกบอกศักราชที่สร้างด้วย
วัดเจดีย์หลวงขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๓ และประกาศขอบเขตวัด
เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๓
วัดชมพู
ตั้งอยู่ในเขตตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองฯ เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งของเชียงใหม่
ไม่ปรากฏหลักสร้างว่าผู้ใดสร้าง และสร้างขึ้นเมื่อใด เดิมชื่อวัดใหม่พิมพา
เป็นวัดที่มีความเกี่ยวข้องกับพระนางพิมพา ซึ่งเป็นภริยาของพระยาสุวะฤาไชย
(หนานทิพช้าง) ซึ่งเป็นย่าของพระเจ้ากาวิละ
เจดีย์
เป็นเจดีย์ทรงระฆังแบบเมืองเชียงใหม่ เช่นเดียวกับวัดพระธาตุดอยสุเทพ ซึ่งมีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่
๒๑
ซุ้มประตูโขง
ลักษณะของซุ้มประตูมีการยกเก็จจำนวนมาก ส่วนยอดเป็นชั้นลดที่จำลองมาจากส่วนเรือนธาตุด้านล่าง
มีลักษณะใกล้เคียงกันกับซุ้มโขงวัดพระธาตุลำปางหลวง แต่ลวดลายปูนปั้นที่ประดับเทียบได้กับลายปูนปั้นสกุลช่างลำปาง
ประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๓
โบสถ์ขนาดเล็กทรงพื้นล้านนา
วัดเชียงมั่น
ตั้งอยู่ในเขตตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง ฯ ตามตำนานกล่าวว่าพญามังรายมาตั้งในชัยภูมิที่เรียกว่า
เชียงมั่น เมื่อปี พ.ศ. ๑๘๓๖ ต่อมาได้สร้างเป็นวัดขึ้นชื่อวัดเชียงมั่น เข้าใจกันว่าเป็นวัดแรกของเชียงใหม่
เจดีย์
ตามประวัติบ่งว่าสร้างขึ้นครั้งแรกเมื่อ ประมาณปี พ.ศ.๑๘๓๙ บริเวณหอนอนของพญาเม็งราย
ต่อมาได้มีการซ่อมแซม เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๐๑๔ โดยพระเจ้าติโลกราชโปรดให้ซ่อมด้วยศิลาแลง
จากลักษณะของส่วนยอดแสดงว่าคงจะซ่อมใหม่ ซึ่งอาจเป็นการซ่อมเมื่อ ประมาณปี
พ.ศ. ๒๑๑๔ โดยพญาแสนหลวง สำหรับลวดลายประดับ และจรนำเรือนธาตุนั้น น่าจะมีการปรับเปลี่ยนเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่
๒๕ นี้เอง
วิหาร
ตามประวัติกล่าวว่าเจ้าราชวงศ์ได้รื้อเอาหอของพระยาธรรมลังกามาสร้าง แต่วิหารหลังเดิมได้มีการรื้อถอนไปแล้ว
แต่ภายในยังมีโขง ปราสาทนี้เป็นรุ่นเดียวกับการสร้างวิหารอยู่
หอไตร
เป็นอาคารสองชั้นใต้ถุนโล่ง ฝาผนังชั้นบนมีภาพลายทอง
พระอุโบสถ
ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๓๔๗ พระเจ้ากาวิละกับพระมหาสังฆราชได้ปฏิสังขรณ์
พระอุโบสถในวัดเชียงมั่น แต่จากสภาพปัจจุบัน น่าจะมีการซ่อมแซมในสมัยเจ้าอินทรวิชยานนท์
เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๑๖
กลุ่มพระพุทธรูปในพระอุโบสถ
มีอยู่องค์หนึ่งเป็นพระพุทธรูปปางอุ้มบาตร มีจารึกว่าสร้าง เมื่อปี พ.ศ. ๒๐๐๘
นับเป็นพระพุทธรูปที่มีจารึกเก่าแก่ที่สุดที่พบในเมืองเชียงใหม่
พระพุทธรูปศิลา
ข้างขวาเป็นรูปพระอานนท์ ข้างซ้ายเป็นรูปช้างนาฬาคีรี เป็นพระพุทธรูปศิลปะแบบปาละ
สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พุทธศตวรรษที่ ๑๕ มีตำนานเล่าว่าได้นำพระพุทธรูปนี้มาจากลังกา
ผ่านเมืองศรีสัชนาลัย ลำปาง มายังเมืองเชียงใหม่ในสมัยพระเจ้าติโลกราช ต่อมาเมื่อประมาณปี
พ.ศ. ๒๓๓๔ พระเจ้ากาวิละได้สร้างฐานพระพร้อมซุ้มทำด้วยไม้ลงรักปิดทอง
วัดเชียงมั่นขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๘ และประกาศขอบเขตวัด เมื่อปี
พ.ศ. ๒๕๒๒
วัดเชียงยืน
ตั้งอยู่ในเขตตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง ฯ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด
มีเอกสารกล่าวถึง เมื่อปี พ.ศ. ๑๙๕๕ วัดเชียงยืนเป็นวัดที่มีความสำคัญแห่งหนึ่ง
เพราะมีการขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์มักจะไปสักการะที่วัดนี้ด้วย
เจดีย์
เป็นเจดีย์ที่พระเมืองแก้วสร้าง เมื่อปี พ.ศ. ๒๐๖๑ เดิมคงเป็นเจดีย์ทรงระฆัง
วิหาร
วิหารหลังปัจจุบัน อาจเป็นโครงสร้างเก่าคราวสร้างโดยพระมหาเทพ เมื่อปี พ.ศ.
๒๓๖๒
หอพระรูปแปดเหลี่ยม
เป็นรูปแบบศิลปะพม่า
วัดเชียงยืนขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๒
วัดดวงดี
ตั้งอยู่ในเขตตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง ฯ ปรากฏชื่อครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๐๔
พระเจ้าขี้หุดบวชเป็นภิกษุอยู่วัดดวงดี และได้ถูกนิมนต์ให้สึกออกมาครองเมืองเชียงใหม่
เจดีย์
เป็นทรงระฆังมีมาลัยเถาแปดเหลี่ยม มีอายุอยู่ประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๑
อุโบสถ
ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างเมื่อใด แต่มีหลักฐานการฉลอง เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๗ ส่วนลวดลายประดับน่าจะเป็นงานซ่อมหลังจากการสร้างครั้งแรก
หอไตร
มีผังรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส หลังคาทรงมณฑป นับเป็นรูปแบบที่พิเศษของหอไตรที่เชียงใหม่
ด้านนอกมีลายปูนปั้นประดับ หอไตรสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๗
พระพุทธรูปสำริด
มีอยู่หลายองค์ มีองค์หนึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีจารึกว่าสร้างเมื่อปี
พ.ศ.๒๐๓๙ ได้อัญเชิญมาที่วัดต้นหมากเหนือ
วัดดวงดีขึ้นทะเบียนโบราณสถานและกำหนดขอบเขต เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๒
วัดนันทาราม
ตั้งอยู่ในเขตตำบลหายยา อำเภอเมือง ฯ เดิมคงเป็นวัดใหญ่วัดหนึ่งที่มีมาก่อนปี
พ.ศ. ๑๙๖๐ และเป็นวัดที่มีพระสงฆ์จากที่ต่าง ๆ มาศึกษา พระพุทธศาสนามากวัดหนึ่ง
เจดีย์
ไม่มีหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด มีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงระฆังแบบพื้นเมืองล้านนา
เมื่อพิจารณาจากรูปแบบน่าจะมีอายุ ประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐
วิหาร
มีประวัติกล่าวว่าสร้าง เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๔ แต่ได้มีการดัดแปลงไปบางส่วน
วัดบวกครกหลวง
ตั้งอยู่ในเขตตำบลท่าศาลา อำเภอเมือง ฯ จากลักษณะรูปแบบศิลปกรรม น่าจะมีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่
๒๔ ลงมา
วิหาร
เป็นแบบพื้นเมืองล้านนา เดิมคงมีมุขยื่นออกมาจากหน้าแหนบทางด้านทิศตะวันออก
เพื่อคลุมราวบันไดรูปมกรคายนาค
ภาพจิตรกรรมฝาผนังของวิหาร เป็นจิตรกรรมสีฝุ่นที่เขียนเรื่องทศชาติชาดก และพุทธประวัติ
วัดบวกครกหลวงขึ้นทะเบียนโบราณสถาน และกำหนดขอบเขต เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๓
วัดบุพพาราม
ตั้งอยู่ในเขตตำบลช้างคลาน อำเภอเมือง ฯ วัดนี้ปรากฏชื่อในชินกาลมาลีปกรณ์กล่าวว่า
ในปี พ.ศ. ๒๐๔๐ พระเมืองแก้วโปรดให้สร้างวัดนี้ขึ้น ณ พื้นที่ทางด้านทิศตะวันออกของจังหวัดเชียงใหม่
เจดีย์
เป็นเจดีย์ทรงระฆังศิลปมอญ-พม่า รุ่นหลังซึ่งคงสร้างเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่
๒๕
วิหาร
มีประวัติว่าสร้างปรมาณ พุทธศตวรรษที่ ๒๑ แต่โครงสร้างปัจจุบัน อาจเป็นโครงสร้าง
เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๓๖๒
วัดบุพพารามขึ้นทะเบียนโบราณสถาน และกำหนดขอบเขตวัด เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๒
วัดป่าแดงหลวง
ตั้งอยู่ในเขตตำบลสุเทพ อำเภอเมือง ฯ สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ.
๑๙๗๓ เป็นวัดที่เป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ใหม่ ซึ่งเริ่มเป็นที่นิยมกันมากในสมัยพระเจ้าติโลกราช
เป็นต้นมา มีการสร้างศาสนสถานเป็นจำนวนมาก แต่ที่เหลืออยู่จนถึงปัจจุบันคงมีแต่เพียงเจดีย์องค์เดียว
เจดีย์
เป็นเจดีย์ทรงระฆังกลม ส่วนฐานมีรูปปั้นช้างล้อม คงได้รับอิทธิพลจากเจดีย์ช้างล้อมในศิลปะสุโขทัย
สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ตามพงศาวดารโยนกกล่าวว่าเป็นที่บรรจุอัฐิของพระเจ้าสามฝั่งแกน
วิหาร
ที่วัดป่าแดง (ใหม่) มีวิหารอยู่หลังหนึ่งมีมณฑปก่อตัวอยู่ด้านหลัง อาจเป็นวิหารที่ระบุในเอกสารว่าสร้างในสมัยพระยาธรรมลังกา
เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๖๑
วัดป่าแดงหลวงขึ้นทะเบียนโบราณสถาน และกำหนดขอบเขตวัด เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๔
วัดปราสาท
อยู่ในเขตตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง ฯ ไม่ปรากฏว่าสร้างขึ้นเมื่อใด แต่มีการกล่าวถึงพระสัทธรรมฐิระ
จากวัดปราสาท เมื่อ พ.ศ.๒๐๓๕ คราวร่วมสังฆกรรมในวัดร่ำเปิง
วิหาร
เป็นแบบพื้นเมืองล้านนา มีจรนำท้ายวิหารประดิษฐานพระพุทธรูป ตามประวัติกล่าวว่า
พระยาหลวงสามล้านเป็นผู้สร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๓๖๖ แต่ได้มีการบูรณะอย่างต่อเนื่อง
พระพุทธรูป
มาจารึกอยู่ที่พระพุทธรูปที่สร้างหลังจากเชียงใหม่ตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าแล้ว
วัดปราสาทขึ้นทะเบียนโบราณสถาน และกำหนดขอบเขต เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๒
วัดพันเตา
อยู่ในเขตตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง ฯ ไม่ปรากฏว่าสร้างขึ้นเมื่อใด มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่าได้ใช้เป็นที่ตั้งเตาหลอม
ในการหล่อพระอัฏฐารสในวิหารวัดเจดีย์หลวง จึงได้ชื่อว่าวัดพันเตา ต่อมาประมาณปี
พ.ศ. ๒๓๔๘ สาธุคัมภีระวัดพันเตาได้ถูกยกขึ้นเป็นสวามีสังฆราชาตั้งแต่นั้นมา
วัดพันเตาคงมีความสำคัญมาก จนได้เป็นหัวหน้าหมวดอุโบสถ แม้แต่วัดเจดีย์หลวง
ซึ่งเป็นวัดใหญ่ก็ยังขึ้นอุโบสถวัดพันเตาด้วย
วิหาร
เป็นวิหารไม้สักขนาดใหญ่ มีลักษณะเป็นอาคารทรงพื้นเมืองล้านนา เดิมเป็นหอคำหรือคุ้มหลวงของเจ้ามโหตรประเทศ
เจ้าผู้ครองเมืองเชียงใหม่ในราชวงศ์กาวิละ ลำดับที่ ๕ โดยเจ้าอินทวิชยานนท์
ได้รื้อและนำมาปลูกสร้างอุทิศถวาย
วัดพันเตาขึ้นทะเบียนโบราณสถาน และกำหนดขอบเขตของวัด เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๐
วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร
อยู่ในเขตตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง ฯ เดิมชื่อวัดพระเชียง
พระเจ้าผายูทรงสถาปนา เมื่อปี พ.ศ. ๑๘๘๗ โดยครั้งแรกโปรดให้สร้างพระเจดีย์เพื่อบรรจุอัฐิ
และอังคารของพระเจ้าคำพูพระราชบิดา และนิมนต์พระอภัยจุฬาเถระ พร้อมศิษย์สงฆ์จากหริภุญชัยมา
จำพรรษาที่วัดนี้ หลังจากนั้น วัดพระสิงห์ก็กลายเป็นวัดที่เป็นศูนย์กลางของพระสงฆ์นิกายพื้นเมืองเดิมมาอย่างต่อเนื่อง
พระเจดีย์ประธาน
เป็นเจดีย์ทรงระฆังแบบพื้นเมือง แต่มีฐานช้างล้อม เจดีย์องค์นี้สันนิษฐานว่า
สร้างเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๐
พระวิหารลายดำ และมณฑปปราสาทด้านหลัง
สันนิษฐานว่า สร้างเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๐ และมีการซ่อมแซมมาโดยตลอด
วิหารหลังปัจจุบันเป็นรูปแบบวิหารประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๔ แต่มณฑปปราสาทด้านหลังยังคงรูปแบบเดิมอยู่มาก
ภายในวิหารมีจิตรกรรมลายดำเป็นจิตรกรรมฝาผนังเรื่องสังข์ทอง และสุวรรณหงส์
พระอุโบสถ
ตามหลักฐานที่จารึกระบุว่าสร้างเสร็จ เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๕๕ ลักษณะที่เป็นอยู่ปัจจุบันไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก
หลักฐานบางแห่งกล่าวว่าเป็นพระอุโบสถสำหรับทำสังฆกรรม ร่วมกันระหว่างภิกษุ
และภิกษุณี นอกจากนั้นยังมีมณฑปทรงปราสาท ภายในอุโบสถที่สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี
พ.ศ. ๒๓๖๑
หอไตร
เป็นอาคารสองชั้น ชั้นล่างก่ออิฐถือปูน ชั้นบนเป็นไม้ สร้างเสร็จพร้อมกับพระอุโบสถเมื่อปี
พ.ศ. ๒๓๕๕ มีการซ่อมครั่งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๙
พระพุทธรูป
มีอยู่หลายองค์ด้วยกัน ที่สำคัญคือ พระพุทธสิหิงค์
และพระเจ้าทองทิพย์
ที่มีจารึกระบุว่าสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๐๒๐ นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปปางอุ้มบาตร
ปางเปิดโลก ที่มีอิทธิพลศิลปะสุโขทัย กลุ่มพระทรง อิทธิพลจากศิลปะอยุธยา และกลุ่มพระพุทธรูปที่มีลวดลายประดับจีวร
ซึ่งได้รับอิทธพลจากศิลปะรัตนโกสินทร์
วัดพระสิงห์ขึ้นทะเบียนโบราณสถานเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๘ และกำหนดขอบเขตวัด เมื่อปี
พ.ศ. ๒๕๒๒
วัดพระเจ้าเม็งราย
อยู่ในเขตตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง ฯ เดิมชื่อวัดคานคอด ซึ่งคงจะเพี้ยนมาจากคำว่า
กาละก้อด ตามจารึกด้วยอักษรไทยวน ที่ผอบเงินฝังอยู่ใต้ฐานพระประธานใน พระวิหาร
พระพุทธรูปจำลองจากพระพุทธสิหิงค์
สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๐๑๒ ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารใหญ่ มีขนาดหน้าตัก ๘๖
เซนติเมตร สูง ๓๓๓ เซนติเมตร ฐานกว้าง ๑๑๕ เซนติเมตร นอกจากนี้ยังมีกลุ่มพระพุทธรูปปางมารวิชัย
หล่อด้วยสำริดอีกหลายองค์ เป็นรูปแบบของพระพุทธรูป ประมาณต้นพุทธศตวรรษที่
๒๑
พระพุทธรูปปางลีลา
ประดิษฐานอยู่ในวิหารน้อย ศิลปะล้านนาช่างเชียงใหม่ หล่อด้วยสำริดปิดทอง สร้างเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่
๒๑ - ๒๒
วัดพระเจ้าเม็งรายขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๘
| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน | |