| ย้อนกลับ |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

    วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรมหาวิหาร

            ตั้งอยู่ในเขตตำบลสุเทพ อำเภอเมือง ฯ ตามตำนานกล่าวว่า พระธาตุที่พระสุมณา นำมาจากสุโขทัยได้แตกตัวออกเป็นสององค์ องค์หนึ่งบรรจุไว้ที่เจดีย์วัดสวนดอก อีกองค์หนึ่งอัญเชิญขึ้นหลังช้างเพื่อหาที่ประดิษฐาน ช้างได้เดินขึ้นไปบนยอดดอยสุเทพแล้วคุกเข่าลงไม่ยอมเดินต่อไป จึงสร้างสถูปบรรจุพระธาตุไว้บนยอดดอยสุเทพ เมื่อปี พ.ศ. ๑๙๒๗ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๐๖๙ พระเมืองแก้วโปรดให้บูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่ได้เสริมพระเจดีย์ให้กว้าง และสูงขึ้น หลังจากนั้นก็ได้มีการบูรณะและสร้างศาสนสถานในวัดอีกหลายครั้ง พระธาตุดอยสุเทพจึงเป็นศาสนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ คู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่สืบมาช้านาน ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๘ ครูบาศรีวิชัย ได้นำชาวบ้านสร้างถนนจากเชิงดอยขึ้นไปจนถึงพระธาตุดอยสุเทพ
            พระเจดีย์  เป็นเจดีย์ทรงระฆังสิบสองเหลี่ยม มีการบูรณะในสมัยพระเกษเกล้า ประมาณปี พ.ศ. ๒๐๘๑
            พระวิหาร  สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๔๘ โดยพระเจ้ากาวิละ และได้มีการบูรณะต่อมาอย่างต่อเนื่อง ที่บนเพดานมีรูปแสดงถึงกลุ่มดาวนักขัตฤกษ์
            หลวงพ่ออุ่นเมือง  ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารตรงระเบียงทางทิศเหนือของพระธาตุดอยสุเทพ เป็นศิลปะล้านนา สกุลช่างเชียงใหม่ สร้างในพุทธศตวรรษที่ ๒๒ หล่อด้วยสำริด ปิดทอง ขนาดหน้าตักกว้าง ๕๑ เซนติเมตร สูงจากฐาน ๗๕ เซนติเมตร ฐานกว้าง ๕๕ เซนติเมตร
            พระพุทธรูปปางมารวิชัย  เป็นกลุ่มพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ที่ระเบียง รอบองค์พระธาตุดอยสุเทพ เป็นศิลปะล้านนา สกุลช่างเชียงใหม่ สร้างเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๑ - ๒๒ หล่อด้วยสำริดปิดทอง หน้าตักกว้าง ๗๔ เซนติเมตร สูงจากฐาน ๙๒ เซนติเมตร ฐานกว้าง ๗๕ เซนติเมตร
            ภาพจิตรกรรมฝาผนัง  เขียนไว้รอบระเบียง เป็นจิตรกรรมฝาผนังที่เริ่มเขียนตามแบบแนวจิตรกรรมตะวันตก
            วัดพระธาตุดอยสุเทพขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๘
    วัดร่ำเปิง (วัดตะโปทาราม)

            ตั้งอยู่ในเขตตำบลสุเทพ อำเภอเมือง ฯ พระยอดเชียงรายโปรดให้สร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๒๐๓๕
            เจดีย์  เป็นเจดีย์ทรงปราสาท ที่สร้างขึ้นพร้อมกับวัด ลักษณะเจดีย์คล้ายเจดีย์ในศิลปะจีน แต่ได้นำมาดัดแปลงปะปนกับรูปแบบของเจดีย์ทรงปราสาทแบบแปดเหลี่ยม รวมทั้งเจดีย์ทรงระฆังแบบพื้นเมือง จนทำให้เป็นรูปแบบที่แตกต่างไป และมีพบอยู่เพียง ๓ องค์เท่านั้นในเมืองเชียงใหม่
            วัดร่ำเปิงขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๘ และกำหนดขอบเขตของวัด เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๓
    วัดโลกโมฬี

            ตั้งอยู่ในเขตตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง ฯ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๐๗๐ โดยพระเกษเกล้าโปรดให้ยกบ้านหัวเวียงให้เป็นวัด จากนั้นได้สร้างเจดีย์ และวิหาร ในปี พ.ศ. ๒๐๗๑ เมื่อพระเกษเกล้า ฯ สวรรคตได้นำอัฐิมาบรรจุที่เจดีย์ของวัดนี้ด้วย ปัจจุบันกลายเป็นวัดร้าง
            เจดีย์ทรงปราสาท  สันนิษฐานว่าสร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๒๐๗๑ มีประติมากรรมรูปเทวดาที่ประดับตามมุมยกเก็จของเรือนธาตุ
            วัดโลกโมฬีขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๒ และกำหนดขอบเขต เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๒
    วัดศรีเกิด

            ตั้งอยู่ในเขตตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง ฯ ไม่ปรากฏว่าสร้างขึ้นเมื่อใด แต่พบชื่อในนิราศหริภุญชัย เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๓๔๓ สันนิษฐานว่าอาจมีชื่อว่า วัดหลวงโพธิรุกขพิชชาราม เพราะปรากฏในศิลาจารึกคราวอัญเชิญ พระเจ้าแข้งคมเข้ามาประดิษฐานในวิหาร
            วิหาร  สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๕๒ แต่ปัจจุบันได้มีการบูรณะจนเปลี่ยนรูปแบบไปมาก
            พระเจ้าแข้งคม  พระเจ้าติโลกราชโปรดให้สร้างขึ้นที่วัดป่าตาลน้อย เมื่อปี พ.ศ. ๒๐๒๗ มีอิทธิพลของศิลปะอยุธยาเข้ามาปะปนอยู่ด้วย
            วัดศรีเกิดขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๘
    วัดสวนดอก

            ตั้งอยู่ในเขตตำบลสุเทพ อำเภอเมือง ฯ เมื่อปี พ.ศ. ๑๙๔๔ พระเจ้ากือนาได้ยกอุทยานของพระองค์ให้เป็นวัดชื่อ วัดสวนดอกไม้ จากนั้นพระองค์ได้อาราธนาพระมหาสุมนเถระ จากวัดพระยืนให้มาจำพรรษายังเมืองเชียงใหม่ที่วัดแห่งนี้  ต่อมาเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๑๙๑๖ พระสุมนเถระได้สร้างเจดีย์เพื่อบรรจุพระบรมธาตุที่นำมาด้วย
            เจดีย์ประธาน  เป็นเจดีย์ทรงระฆังแบบพื้นเมือง ตั้งอยู่บนฐานขนาดใหญ่ ฐานทั้งสี่ด้านมีบันไดทางขึ้นลานประทักษิณ มีมกรคายนาคปูนปั้นเป็นราวบันได มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๑
            วิหาร  เป็นวิหารโถงขนาดใหญ่ สร้างในสมัยครูบาศรีวิชัย
            พระเจ้าเก้าตื้อ  ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารพระเจ้าเก้าตื้อ ปัจจุบันวัดเก้าตื้อได้รวมเข้าเป็นวัดเดียวกันกับวัดสวนดอก สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๐๔๗ และได้ไปประดิษฐานที่อุโบสถวัดสวนดอก เมื่อปี พ.ศ. ๒๐๕๓
            วัดสวนดอกขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๘ และกำหนดขอบเขต เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๓
    วัดหัวข่วง
            อยู่ในเขตตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง ฯ ไม่ปรากฏว่าสร้างขึ้นเมื่อใด แต่ในปี พ.ศ. ๒๐๖๔ สมัยพระเมืองแก้วได้โปรดให้ขุดรากฐานสถูปองค์ใหญ่ในวัดแสนเมืองมา และให้ก่อขึ้นใหม่ พร้อมทั้งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ด้วย
            เจดีย์  เป็นเจดีย์ทรงระฆัง ที่มีแผนผังรูปสิบสองเหลี่ยมตั้งแต่ส่วนฐานขึ้นมาถึงชั้นมาลัยเถา
            พระพุทธรูป   เป็นพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๐๔๔
            วัดหัวข่วงขึ้นทะเบียนโบราณสถาน และกำหนดขอบเขต เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๒
    วัดอินทขีล
            ตั้งอยู่ในเขตตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง ฯ ไม่ปรากฏว่าสร้างขึ้นเมื่อใด จากโบราณสถานที่ปรากฏอยู่สันนิษฐานว่า สร้างเมื่อประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐ พระเจ้ากาวิละได้สร้างวิหาร เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๓๗
            เจดีย์  องค์หนึ่งเป็นเจดีย์แปดเหลี่ยม สร้างประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๐ โดยมีต้นแบบจากศิลปะหริภุญชัย และอาจจะเกี่ยวเนื่องกับศิลปะพม่าที่พุกามด้วย เจดีย์อีกองค์หนึ่ง เป็นเจดีย์ทรงระฆังแบบพื้นเมือง มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ลงมา สร้างครอบทับเจดีย์ทรงปราสาท ที่มีจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปยืนไว้ภายใน
            วัดอินทขีลขึ้นทะเบียนโบราณสถาน และกำหนดขอบเขต เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๓
    วัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม)

            ตั้งอยู่ในเขตตำบลสุเทพ อำเภอเมือง ฯ สร้างเมื่อ ปี พ.ศ.๑๘๔๐ เป็นวัดที่พญามังรายโปรดให้สร้างขึ้น ณ บริเวณป่าไผ่ ๑๑ กอ เพื่อให้เป็นที่พำนักของพระภิกษุฝ่ายอรัญวาสีจากลังกา ๔ รูป โดยยึดถือแบบแผนของลังกาเป็นหลัก ทั้งในด้านแบ่งเขตพุทธาวาส สังฆาวาส และรูปทรงของเจดีย์ ต่อมาเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๐๖๓ พระเจ้ากือนาได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุในเจดีย์องค์ใหญ่ เดิมมีชื่อว่าวัดเวฬุกัฏฐาราม หมายถึงวัดป่าไผ่ แต่ชาวบ้านทั่วไปมักเรียกว่า วัดอุโมงค์เถรจันทร์

            เจดีย์  เป็นเจดีย์ทรงระฆังกลม มีอิทธิพลจากศิลปะพม่าแบบพุกาม ต่อมาได้มีการบูรณะในสมัยพระเมืองแก้ว การบูรณะครั้งหลังสุดเป็นการปรับปรุงยอด ให้เป็นแบบศิลปะพม่ายุคหลัง ใต้องค์เจดีย์มีกรุ และภาพจิตรกรรมฝาผนังประดับเท่าที่ปรากฏเหลืออยู่ เป็นภาพดอกไม้ใบไม้ และสัตว์ ซึ่งน่าจะมีอิทธิพลผสมกันระหว่างศิลปะพม่า แบบพุกาม และจีน สันนิษฐานว่าเป็นภาพเขียนประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๑
            วัดอุโมงค์ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๘ และกำหนดขอบเขต เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๓
    วัดเจดีย์เหลี่ยม

            ตั้งอยู่ในเขตตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี ปรากฏหลักฐานการสร้างเจดีย์ของวัด เมื่อปี พ.ศ. ๑๘๓๑ เป็นเจดีย์ที่พญามังรายโปรดให้สร้างขึ้นในเวียงกุมกาม ลักษณะของเจดีย์จำลองแบบมาจากเจดีย์สุวรรณจังโกฏิ หรือกู่กุดของวัดจามเทวีใน จังหวัดลำพูน ซึ่งสร้างมาก่อนเป็นเวลานานแล้ว
            เจดีย์  สันนิษฐานว่าเป็นเจดีย์องค์เดิมที่พญามังรายสร้างไว้ ได้มีการบูรณะหลายครั้ง แต่ไม่มีการเปลี่ยนรูปทรงของเจดีย์ คงมีแต่การเปลี่ยนแปลงลวดลายประดับ พระพุทธรูปในจระนำ
            พระประธาน  เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารศิลปะล้านนา หล่อด้วยสำริด หน้าตักกว้าง ๑๓๕ เซนติเมตร สูงจากฐาน ๑๘๖ เซนติเมตร
            วัดเจดีย์เหลี่ยมขึ้นทะเบียนโบราณสถาน และกำหนดขอบเขต เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๓
    วัดกานโกม (ช้างค้ำ)
            ตั้งอยู่ในเขตตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี พญามังรายโปรดให้สร้างวิหาร และสร้างเจดีย์วัดกานโกม เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๑๘๓๑ พบจารึกบนหินทรายสีแดง มีอักษรที่จารึกอยู่สามชนิดคือ อักษรมอญ อักษรร่วมสมัย ระหว่างอักษรมอญกับอักษรไทย และอักษรสุโขทัย กับฝักขามรุ่นแรก นอกจากนี้ยังมีต้นพระศรีมหาโพธิที่ได้นำมาจากลังกามาแต่ครั้งโบราณ
    วัดหางดง
            ตั้งอยู่ในเขตตำบลหางดง อำเภอหางดง ตั้งเป็นวัดเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๐
            วิหาร  มีมุขยื่นออกมาด้านข้าง ซึ่งเป็นแบบของวิหาร เมื่อประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕ มีภาพจิตรกรรมฝาผนัง แต่ยังเขียนไม่เสร็จ
            วัดหางดงขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๙
    วัดอินทราวาส (วัดต้นแกว๋น)

            ตั้งอยู่ในเขตตำบลหนองควาย อำเภอหางดง เดิมชื่อวัดต้นแกว๋น ซึ่งเป็นชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่งที่ขึ้นอยู่ตรงบริเวณที่สร้างวิหารในปัจจุบัน
            วิหาร  เป็นแบบพื้นเมืองล้านนา สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๑
            มณฑป  เป็นมณฑปจตุรมุขแบบพื้นเมืองล้านนา สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๓๙๙ - ๒๔๑๒ ในสมัยพระยากาวิโรรสสุริยวงศ์ ผู้ครองเมืองเชียงใหม่ ลำดับที่ ๖ เพื่อเป็นสถานที่หยุดพักขบวนแห่ พระบรมธาตุศรีจอมทอง จากอำเภอจอมทองไปอำเภอเมือง ฯ เพื่อให้เจ้าผู้ครองนคร และประชาชนเมืองเชียงใหม่บูชา และสรงน้ำเป็นประเพณีทุกปี
            วัดอินทราวาสขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๖
    วัดทรายมูล
            ตั้งอยู่ในเขตตำบลหางดง อำเภอหางดง สร้างขึ้นเมื่อประมาณ กว่าร้อยปีมาแล้ว ภายในวัดมีแต่หิน และหลุมทรายกับก้อนหินและก้อนกรวด ในครั้งนั้นเรียกว่า วัดมงคลหลุมดอยไชย ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๗ เจ้าอาวาสวัดทรายมูลได้สร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ไว้ในพระวิหาร ร่วมกับคณะศรัทธาในขณะนั้น พระสงฆ์ทั้งปวงในครั้งนั้นได้บัญญัติไว้ว่าเป็นวัดทรายมูล ตั้งแต่นั้นมา
            วิหาร  เป็นแบบพื้นเมืองล้านนา ลายเมฆที่แกะสลักไม้ประดับนับว่ามีความงดงามแห่งหนึ่ง
            พระพุทธรูป  เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หล่อด้วยสำริดทาชาดปิดทอง ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ ๒๕ หน้าตักกว้าง ๒๐ เซนติเมตร สูง ๔๐ เซนติเมตร ฐานกว้าง ๒๓.๕ เซนติเมตร มีอักษรจารึกว่า สร้างเมื่อปี จ.ศ.๒๑๘๘
            มณฑปตั้งพระบรมสารีริกธาตุ (ปราสาท)  สร้างด้วยไม้สลัก ทาชาดเขียนลายทองประดับกระจกศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ ๒๕ ฐานกว้าง ๕๙ เซนติเมตร สูง ๓ เมตร มีอักษรจารึกด้านข้าง
            ครุฑไม้กางปีก  ทำด้วยไม้แกะสลักทาสี ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๕ สูง ๑๐๗ เซนติเมตร
    วัดพระธาตุศรีจอมทอง
            ตั้งอยู่ในเขตตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๑๙๙๕ ชาวบ้านเรียกว่าวัดหลวง ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ ปี พ.ศ.๒๔๗๐
            เจดีย์  เป็นเจดีย์ทรงระฆังแบบพื้นเมืองล้านนา พระยาธรรมลังกาสร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๖๐ แต่อาจเป็นการสร้างทับบนซากวิหารเดิม เพราะกลางวิหารมีทรากมณฑปปราสาทก่ออิฐถือปูนประดับด้วยลวดลายปูนปั้นลงรักปิดทอง มีอายุอยู่ประมาณ พุทธศตวรรษที่ ๒๒
            พระพุทธรูป  มีพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๑ อยู่หลายองค์และมีพระพุทธรูปปางอุ้มบาตร อยู่ในพระวิหารสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๑๕๓ ทำจากไม้สะเดาหวานปิดทองสูง ๒๑๑ เซนติเมตร ฐานกว้าง ๓๘.๕ เซนติเมตร
            วัดพระธาตุศรีจอมทอง ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๘ และกำหนดขอบเขต เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๒
    วัดบ้านเจียง
            ตั้งอยู่ในเขตตำบลช่างเดิ่ง อำเภอแม่แจ่ม ตั้งขึ้นเป็นวัดเมื่อ ปี พ.ศ.๒๔๑๗ มีเจดีย์ศิลปะล้านนา และพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย ลงรักปิดทองศิลปะล้านนา มีอักษรจารึกว่าสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๑๒๓๘ มีขนาดต่าง ๆ กันอยู่ ๓ องค์
            วัดบ้านเจียงขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๙
    วัดยางหลวง

            ตั้งอยู่ในเขตตำบลท่าผา อำเภอแม่แจ่ม ไม่ปรากฏว่าตั้งขึ้นเป็นวัดเมื่อใด แต่จากลักษณะลวดลายปูนปั้นภายในอุโบสถ สันนิษฐานว่ามีอายุอยู่ประมาณ ๒๐๐ ปีมาแล้ว
            อุโบสถ  เป็นแบบพื้นเมืองล้านนา ภายในมีกิจกฏประดับลวดลายปูนปั้น ลักษณะของลายปูนปั้น น่าจะมีส่วนสัมพันธ์กับศิลปะพม่า ผสมกับศิลปะพื้นบ้าน และน่าจะสร้างขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๔
            พระพุทธรูป  เป็นพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย ศิลปะล้านนา สร้างในพุทธศตวรรษที่ ๒๑
            วัดยางหลวงขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๙
    วัดพุทธเอ้น

            ตั้งอยู่ในเขตตำบลช่างเดิ่ง อำเภอแม่แจ่ม ไม่ปรากฏว่าสร้างขึ้นเมื่อใด สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นวัดที่มีโบสถ์กลางน้ำที่เหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย
            พระพุทธรูป  พระพุทธรูปสำริดปางสมาธิ ศิลปะล้านนา สร้างเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๑ - ๒๒ หน้าตักกว้าง ๔๑ เซนติเมตร สูงจากฐาน ๖๒ เซนติเมตร พระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย ศิลปะล้านนา หน้าตักกว้าง ๙๙ เซนติเมตร สูงจากฐาน ๑๒๓ เมตร
            วัดพุทธเอ้นขึ้นทะเบียนโบราณสถาน และกำหนดขอบเขต เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๔
    วัดป่าแดด
            ตั้งอยู่ในเขตตำบลท่าผา อำเภอแม่แจ่ม ไม่ปรากฏว่าสร้างขึ้นเมื่อใด สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
            วิหาร  เป็นแบบพื้นเมืองล้านนา ภายในมีจิตรกรรมฝาผนัง เป็นฝีมือช่างสกุลช่างไทใหญ่
            พระพุทธรูป  เป็นพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ ๒๑ - ๒๒ หน้าตักกว้าง ๖๙ เซนติเมตร สูงจากฐาน ๑๒๔ เซนติเมตร
            วัดป่าแดดขึ้นทะเบียนโบราณสถาน และกำหนดขอบเขต เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๔
    วัดพระพุทธบาทสี่รอย

            ตั้งอยู่ในเขตตำบลแม่สะลวง อำเภอแม่ริม ไม่ปรากฏว่าสร้างขึ้นเมื่อใด คงมีแต่เอกสารระบุว่า เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๖๒ พระยาธรรมลังกาได้เสด็จไปนมัสการพระบาทสี่รอย และสร้างวิหารครอบรอยพระบาทเจ้า และสรงน้ำพระบาท ต่อมาเจ้าดารารัศมีได้บูรณะพระวิหาร และเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๑ ครูบาศรีวิชัยได้รื้อวิหารเก่าและปฏิสังขรณ์ใหม่
            วัดพระพุทธบาทสี่รอยขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๗
    วัดพระนอนขอนม่วง
            ตั้งอยู่ในเขตตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม ไม่ปรากฏว่าสร้างขึ้นเมื่อใด มีเพียงตำนานกล่าวถึงการซ่อมแซมใน พุทธศตวรรษที่ ๒๔ เมื่อเปรียบเทียบกับโบราณสถานประเภทเดียวกัน สันนิษฐานว่าสร้างขึ้น เมื่อกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๑
            วัดพระนอนขอนม่วงขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๗
    เจดีย์บ้านท่ากาน (ร้าง)
            อยู่ในเขตตำบลบ้านกลาง อำเภอป่าตอง ตั้งอยู่ในพื้นที่เมืองโบราณ เวียงท่ากาน ซึ่งปรากฏชื่อในเอกสารของล้านนา และมีเรื่องเล่าในตำนานที่ปรากฏชื่อวัดนี้ตั้งแต่ พุทธศตวรรษที่ ๑๒ แต่จากหลักฐานโบราณวัตถุเท่าที่พบบริเวณนี้ จะมีอายุเก่ากว่าเมืองเชียงใหม่เล็กน้อย โบราณสถานที่สำคัญของวัดแห่งนี้คือ เจดีย์ทรงกลมแบบล้านนา กับเจดีย์แปดเหลี่ยม
            เจดีย์บ้านท่ากานขึ้นทะเบียนโบราณสถาน และกำหนดขอบเขต เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๒
    วัดท่าข้าม
            ตั้งอยู่ในเขตตำบลสบเปิง อำเภอแม่แตง ไม่ปรากฏว่าสร้างขึ้นเมื่อใด สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ศาสนสถานที่สำคัญคือ วิหาร ภายในภาพจิตรกรรมฝาผนังสกุลช่างไทยใหญ่ เป็นเรื่องพุทธประวัติและชาดกพื้นบ้าน และยังมีพุทธประวัติตอนปราบท้าวมหาชมพู ซึ่งมีอยู่เพียงไม่กี่แห่งในประเทศไทย
            วัดท่าข้ามขึ้นทะเบียนโบราณสถาน และกำหนดขอบเขต เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๔
    วัดสาลกัลญาณมหันตาราม (วัดเชียงแสน)
            ตั้งอยู่ในเขตตำบลออกใต้ อำเภอสันกำแพง เดิมเป็นวัดร้างต่อมาได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์เพิ่มเติมในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ และมีพระภิกษุมาจำพรรษาอยู่ แต่ปัจจุบันได้ปล่อยให้เป็นวัดร้างอีก พบศิลาจารึกหมื่นดาบเรือน กล่าวถึงการสร้างวัดนี้ระหว่างปี พ.ศ. ๒๐๓๑ - ๒๐๓๒ ตรงกับสมัยพระเจ้ายอดเชียงราย แห่งอาณาจักรล้านนาไทย
| ย้อนกลับ | บน |