| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |


มรดกทางวัฒนธรรม
โบราณสถานและโบราณวัตถุ
    แหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีที่ผาคันนา
            แหล่งโบราณคดี ฯ ผาคันนา อยู่บริเวณน้ำตกแม่กลาง ดอยหัวช้าง อำเภอจอมทอง ผาคันนา เป็นหน้าผาชั้นบนของน้ำตกแม่กลาง บนหน้าผามีภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ มีภาพคน ภาพสัตว์ ซึ่งเขียนเป็นรูปช้าง ภาพสัญลักษณ์เช่นรูปสามเหลี่ยม และวงกลม
            ที่ผาแว่นแก้ว อยู่ที่บ้านสบแอบ ตำบลทับหลวง อำเภอจอมทอง เป็นเพิงหินบนเทือกเขาปูนมีขนาดกว้างประมาณ ๓ เมตร ยาวประมาณ ๑๖ เมตร และอยู่สูงจากพื้นประมาณ ๓ เมตร พื้นที่เขียนภาพกว้างประมาณ ๓ เมตร ยาวประมาณ ๔.๕ เมตร ภาพที่เขียนเป็นภาพคน ภาพมือ ภาพลายจุด ที่เกิดจากนิ้วมือทั้ง ๕ นิ้ว ที่มีสีติดอยู่กดประทับไปบนผนังหิน
    แหล่งโบราณคดีบริเวณวัดบ้านแอ่น (ใหม่)
            ตั้งอยู่บนเนินเขา ในเขตตำบลบ้านแอ่น อำเภอดอยเต่า พบเครื่องมือหินกะเทาะหน้าเดียวและสองหน้า สะเก็ดหินและค้อนหิน เป็นเครื่องมือที่ทำจากหินกรวดในท้องน้ำ
    แหล่งโบราณคดีบ้านใหม่ทาเหนือ
            ตั้งอยู่ที่บ้านใหม่ ตำบลทาเหนือ กิ่งอำเภอแม่ออน พบเครื่องมือหินกะเทาะรูปเกือบกลม สะเก็ดหินมีรอยขัดฝน ขวานหินขัดไม่มีบ่า และชิ้นส่วนของขวานหินขัดทำจากหินบะซอลท์
    แหล่งโบราณคดีบ้านสันป่าคา
            อยู่ในเขตตำบลต้ตเปา อำเภอสันกำแพง มีลักษณะเป็นเนินดิน กว้าง ๘ เมตร อยู่ในที่ราบทางด้านตะวันออกของแม่น้ำกวง จากการขุดค้นทางโบราณคดี พบว่า
            ชั้นที่ ๑ เป็นแหล่งที่ใช้ฝังศพ พบโครงกระดูก ๓ โครง พร้อมเครื่องประกอบศพ มีภาชนะดินเผา ขวานหินขัด กำไลหิน ใบหอกเหล็ก กระดูกสัตว์ และเปลือกหอย เป็นต้น ลักษณะของการฝังศพ อาจเป็นกลุ่มชนที่อยู่ร่วมสมัยกับสังคมเมืองหริภุญไชย ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๗
            ชั้นที่ ๒ เป็นชั้นการเข้ามาอยู่อาศัยในสมัยล้านนา จากวัตถุที่พบ ได้แก่ โครงกระดูก ๓ โครง
            ภาชนะดินเผาเนื้อธรรมดากาน้ำดินสีแดง ขวานหินขัด กระดูกสัตว์ เปลือกหอย เครื่องถ้วยสันกำแพง และเศษเครื่องถ้วยเวียงกาหลง มีอายุอยู่ประมาณ พุทธศตวรรษที่ ๒๐ - ๒๑
   แหล่งโบราณคดีบ้านยางทองใต้
            อยู่ในเขตตำบลสันปูเลย อำเภอดอยสะเก็ด เป็นแหล่งฝังศพเพียงอย่างเดียว อยู่ในสมัยโลหะตอนปลาย พบภาชนะและเศษภาชนะดินเผา เศษกระเบื้อง ลูกปัดแก้ว ตะปูเหล็ก กำไลสำริด เครื่องมือเหล็ก เปลือกหอยทากบก และฟอสซิลไม้ กับกระดูกมนุษย์
    แหล่งโบราณคดีบ้านออบหลวง
            อยู่ในเขตตำบลหางดง อำเภอฮอด พบเครื่องหินกะเทาะทั้งหน้าเดียว และสองหน้า เครื่องมือหินขัด และเครื่องมือสะเก็ดหิน แต่ไม่พบเศษภาชนะดินเผาเลย ส่วนทางด้านทิศใต้ของแหล่งโบราณคดี ที่ทำการสำรวจมีเนินดินเตี้ย ๆ พบภาชนะดินเผาเนื้อเครื่องดิน  เครื่องมือกะเทาะ  สะเก็ดหิน  เครื่องมือหินขัด  เศษกำไลดินเผา  เบี้ยดินเผา
   แหล่งโบราณคดีออบหลวง


            อยู่ในเขตอุทยานออบหลวง เขตติดต่ออำเภอจอมทอง กับอำเภอฮอด พบหลุมฝังศพมนุษย์สมัยสำริด อายุประมาณ ๑,๕๐๐ - ๕๐๐ ปี ก่อน ค.ศ. นับเป็นครั้งแรกที่พบหลักฐานเช่นนี้ในภาคเหนือของไทย การปั้นภาชนะดินเผามีร่องรอยการใช้แป้นหมุนอย่างช้าในการขึ้นรูป โดยเฉพาะส่วนฐานภาชนะคล้ายพาน พบกำไลเปลือกหอยทะเล และลูกปัดเปลือกหอย แสดงให้เห็นถึงการติดต่อกับกลุ่มชุมชนที่อยู่ใกล้ทะเล หลักฐานที่พบมีเครื่องมือหินกะเทาะ แกนหิน สะเก็ดหิน ขวานหินขัดไม่มีบ่า หอยเบี้ยเจาะรู ก้อนดินเทศสีแดงเข้ม โครงกระดูกมนุษย์ ชิ้นส่วนภาชนะ เครื่องประดับสำริด กำไลเปลือกหอย เครื่องถ้วยสีน้ำเงิน-ขาวของจีน ภาชนะดินเผามีฐานคล้ายพาน ภาชนะก้นกลม และภาชนะแบบหม้อมีสีสันและคอสูง
           ผาหมาย  อยู่ที่บ้านแม่ลอง ตำบลหางดง อำเภอฮอด ลักษณะเป็นเพิงหินปูน อยู่ในเทือกเขาหินปูนดอยหมู่ติง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาถนนธงชัย ตัวเพิง ยาวประมาณ ๙ เมตร สูงประมาณ ๖ เมตร บนผนังหินมีภาพเขียน ขนาดกว้าง ๕ เมตร แบ่งภาพออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มที่ ๑ เป็นกลุ่มภาพขนาดใหญ่ จากบริเวณกลางผนังหินไปจนสุดผนังด้านขวา มีเทคนิคการเขียนแบบเงาทึบ เขียนด้วยสีแดง ดำ และขาว กลุ่มที่ ๒ เป็นกลุ่มภาพเล็ก ๆ เขียนแบบเงาทึบ เขียนด้วยสีแดง
            ภาพที่เขียนที่ปรากฏเป็นภาพคน ภาพสัตว์ ภาพสัญลักษณ์ ภาพวัตถุสิ่งของ และภาพรังผึ้ง
            ผาช้าง  อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติออบหลวง เป็นเพิงผาที่มีส่วนบนชะโงกยื่นออกมา กลุ่มภาพเขียนวางอยู่ในแนวตั้ง มีภาพคน ภาพสัตว์ ภาพสัญลักษณ์ ภาพลายเส้นหรือภาพวัตถุ และเครื่องมือหินกะเทาะ
   ย่านประวัติศาสตร์
            เมืองเชียงใหม่มีย่านประวัติศาสตร์ที่สำคัญอยู่หลายย่านด้วยกัน แต่ละย่านมีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน ตั้งแต่สมัยล้านนามาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์
            ชุมชนชาวไทยใหญ่  อยู่ในเขตบริเวณประตูช้างเผือกด้านทิศเหนือขึ้นไป เดิมมีอาชีพปั้นหม้อดินหม้อเคลือบ และตีเหล็ก มีวัดป่าเป้าเป็นศูนย์กลางของชุมชน นับว่าเป็นวัดชาวไทยใหญ่แห่งแรกของเมืองเชียงใหม่ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๖
            ชุมชนชาวไทเขิน  อยู่บริเวณวัดขี้เหล็กหลวง (อินทราราม) ตำบลขี้เหล็ก อำเภอแม่ริม ชาวไทเขินเหล่านี้ อพยพมาจากเมืองเขมรัฐเชียงตุง เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๓๐๐ ต่อมาเมื่อพระเจ้า อินทวิชยานนท์ไปตรวจราชการ เกิดความพอพระทัยจึงสร้างพระวิหารขึ้นใหม่แทนวิหารเดิมที่ถูกแม่น้ำปิงกัดเซาะ ในปี พ.ศ. ๒๔๓๐ พระราชชายาเจ้าดารารัศมีโปรดให้สร้างใหม่ และเปลี่ยนชื่อเป็นวัดอินทาราม
            ชุมชนชาวไทยวน  อยู่ในเขตบ้านฮ่อม ตำบลช้างคลาน อำเภอเมือง ฯ เป็นกลุ่มชนที่ถูกกวาดต้อนมาจากเมืองเชียงแสน เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๓๓๙ ในสมัยพระเจ้ากาวิละ ในอดีตชาวบ้านฮ่อมมีเอกลักษณ์พิเศษทางศิลปะกรรม สถาปัตยกรรม การแต่งกาย และอาหารการกินของตน
            ชุมชนบ้านวัวลาย และบ้านช่างหล่อ  อยู่ในเขตตำบลหายยา อำเภอเมือง ฯ ชาวบ้านวัวลายถูกกวาดต้อนมาจากบ้านงัวลาย ซึ่งตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสาละวิน เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๔๒ ในสมัยพระเจ้ากาวิละ ชาวบ้านวัวลายเป็นช่างทำเครื่องเงินที่มีชื่อเสียงมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีวัดหมื่นสารเป็นศูนย์กลางชุมชน เรียกว่า  บ้านวัวลาย - หมื่นสาร ส่วนบ้านช่างหล่อ มีชื่อเสียงด้านหล่อพระพุทธรูปศิลปะเชียงแสน
            ชุมชนบ้านช่างเคี่ยน  เดิมชื่อทุ่งช่างเคี่ยน อยู่ในเขตตำบลสุเทพ อำเภอเมือง ฯ เป็นชุมชนเก่าแก่ที่อยู่อาศัยมายาวนานที่สุด ปรากฏชื่อตั้งแต่สมัยพระเจ้าองค์ดำปกครองเชียงใหม่ สมัยที่พม่าเข้ามามีอำนาจปกครอง ทุ่งช้างเดี่ยนมีลำน้ำแม่ละงองไหลผ่าน ทางด้านเหนือของลำน้ำมีสันเหมืองทางด้านใต้เป็นวัดที่เป็นศูนย์กลางของชุมชน บริเวณวัดช่างเคี่ยนเคยเป็นปางช้างของเจ้าเมืองเชียงใหม่ เพื่อขนสัมภาระขึ้นไปบูรณะพระธาตุดอยสุเทพ
   แหล่งอุตสาหกรรม
            แหล่งเตาเผาเครื่องถ้วยสันกำแพง  อยู่ในเขตตำบลบ้านออนใต้ อำเภอสันกำแพง ผลิตภัณฑ์เครื่องถ้วยสันกำแพงเริ่มเมื่อประมาณ พุทธศตวรรษที่ ๒๐ - ๒๑ ได้รับอิทธิพลและความรู้จากแหล่งเตาเผาเครื่องถ้วยสุโขทัย และศรีสัชนาลัย เตาเผาสันกำแพงเป็นเตาเผาขนาดเล็ก โครงสร้างผนังเตาทำด้วยดินเหนียว ควบคุมอุณหภูมิได้ไม่ดี ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่จึงมีแตกหักง่าย เครื่องถ้วยสันกำแพงเป็นเครื่องถ้วยเนื้อบางแกร่ง เคลือบสีเขียวอ่อนอมเทา สีเขียวมะกอก และสีน้ำตาลอมเทา-ดำ เขียนลายปลาคู่ ลายพันธุ์พฤษา ถ้วยสีดำ เทาดำใต้เคลือบใส เป็นภาชนะประเภทชาม จาน ถ้วย แจกันขนาดเล็ก โถ และคนโทขนาดเล็ก
            แหล่งเตาเผาสันกำแพง  ได้แก่ เตาเผาห้วยป่าไร่ เตาทุ่งโห้ง เตาห้วยบอกปิ่น เตาดอยโทน เตาห้วยปู่แหลม เตาต้นแหน เตาต้นโจ๊ก และเตาเหล่าน้อย
            แหล่งเตาเผาอินทขีล  อยู่ในเขตอำเภอแม่แตง เป็นเตาเผาก่อด้วยดินเหนียว แบบระบายความร้อนผ่านเฉียงขึ้นขนาดใหญ่ ประกอบด้วยช่องใส่ไฟ ห้องวางภาชนะ และปล่องเตาระบายความร้อน ภาชนะที่พบมีเนื้อหนาแกร่ง เคลือบสีเขียวอ่อน เคลือบสีน้ำตาลแกมเขียว เคลือบสีน้ำตาล และเคลือบสีเขียวอ่อนในภาชนะใบเดียวกัน ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ที่พบได้แก่ ไห ชาม จาน ผอบ โถ และถ้วย แหล่งเตาเผาอินทขีล มีอายุระหว่างสมัยพระเจ้าสามฝั่งแกน ถึงสมัยพระเจ้าติโลกราช
ภาษาและวรรณกรรม
            เชียงใหม่เป็นดินแดนที่รวมความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ทั้งกลุ่มชนท้องถิ่นที่ราบลุ่มน้ำ บนภูเขาและชาวต่างชาติต่างภาษา ที่มาอาศัยอยู่ในบริเวณเดียวกัน เป็นผลให้เกิดพัฒนาการในด้านต่าง ๆ
    ภาษาพูด
            นอกจากภาษามาตรฐานคือภาษาไทยแล้ว ภาษาพูดในจังหวัดเชียงใหม่อาจแบ่งออกได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ ๆ ด้วยกันคือ ภาษากลุ่มตระกูลไทย กับภาษานอกกลุ่มตระกูลไทย
            ภาษาพูดกลุ่มตระกูลไทย  ได้แก่ ภาษาไทยล้านนา ภาษาไทใหญ่ ภาษาเขิน และภาษาไทยอง ภาษาไทยล้านนาหรือคำเมือง ใช้พูดในทุกตำบลของจังหวัดเชียงใหม่ ภาษาไทยใหญ่หรือดำเงี้ยวใช้พูดในหมู่บ้านไทใหญ่ที่กระจายอยู่ในอำเภอต่าง ๆ เช่น อำเภอฝาง แม่อาย ไชยปราการ เวียงแหง เชียงดาว สันป่าตอง และอำเภอเมือง ฯ ภาษาไทลื้อ หรือดำลื้อใช้พูดในหมู่บ้านชาวไทลื้อที่กระจายอยู่ในอำเภอต่าง ๆ เช่น อำเภอสะเมิง ฝาง แม่อาย และดอยสะเก็ด ภาษาไทยเขิน หรือดำเขินใช้พูดในหมู่บ้านชาวไทเขินที่กระจายอยู่ใน อำเภอเมือง ฯ สันทราย หางดง และสันป่าตอง ภาษาไทยองหรือดำยอง ใช้พูดในหมู่บ้านไทยองใน อำเภอสันกำแพง หางดง สันป่าตอง และจอมทอง
           ภาษานอกกลุ่มตระกูลไทย  ได้แก่ ภาษาพม่า ภาษากะเหรี่ยง ภาษามูเซอหรือลาหู่ ภาษาม้งหรือแม้ว ภาษาเย้าหรือเมี่ยน ภาษาลีซอหรือลีซู ภาษาอีก้อหรืออาข่า ภาษาปะหล่องหรือดาระอั้ง และภาษาลัวะ ภาษาพม่าใช้พูดในชุมชนชาวพม่า ที่มาตั้งรกรากอยู่ตามชายแดนไทย - พม่า แถบอำเภอแม่อาย ฝาง และเวียงแหง ภาษากะเหรี่ยงใช้พูดในชุมชนชาวกะเหรี่ยง ซึ่งมักอยู่ในเขตป่าเขาของอำเภอต่าง ๆ แทบทุกอำเภอในเชียงใหม่ ภาษามูเซอใช้พูดในชุมชนชาวมูเซอ ซึ่งมักอยู่ตามป่าเขาของอำเภอแม่อาย ฝาง เชียงดาว พร้าว แม่แตง เวียงแหง และอมก๋อย ภาษาม้งใช้พูดในชุมชนชาวม้ง ซึ่งมักอยู่ในเขตป่าเขาแทบทุกอำเภอ ภาษาเย้าใช้พูดในชุมชนชาวเย้า ซึ่งมักอยู่ในเขตป่าเขาของ อำเภอแม่อาย ฝาง แม่ริม และแม่แตง ภาษาลีซอใช้พูดในชุมชนชาวลีซอ ซึ่งมักอยู่ในป่าเขาของบางอำเภอ เช่น อำเภอแม่อาย ฝาง เชียงดาว พร้าว แม่แตง สะเมิง เวียงแหง และอมก๋อย ภาษาอีก้อใช้พูดในชุมชนชาวอีก้อ ซึ่งมักอยู่ในเขตป่าเขาห่างไกลของอำเภอแม่อาย เชียงดาว ฝาง พร้าว และแม่แตง ภาษาปะหล่องใช้พูดในชุมชนชาวปะหล่อง ซึ่งอยู่ในเขตป่าเขาของอำเภอแม่อาย ฝาง และเชียงดาว ภาษาลัวะใช้พูดในชุมชนชาวลัวะ ซึ่งมักอยู่ในเขตป่าเขาของอำเภอแม่ริม ฮอด และแม่แจ่ม
    ตัวอักษร
            นอกจากตัวอักษรแบบราชการหรือตัวอักษรไทยกลางแล้ว ในกลุ่มภาษาตระกูลไทยมีระบบอักษรใช้อยู่ ๔ ชนิดคือ
            อักษรธรรมล้านนา   ใช้บันทึกภาษาไทยล้านนา ไทลื้อ ไทเขิน และไทยอง บางทีเรียกตัวเมืองหรือตัวลื้อหรือตัวเขิน
            อักษรฝักขาม  ใช้ในวัตถุจารึกบางยุคบางสมัยของอาณาจักรล้านนา  เป็นวิวัฒนากรรมาจากอักษรสุโขทัยผสมกับรูปแบบอักษรท้องถิ่น นิยมใช้ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ต่อมาก็เริ่มใช้น้อยลง
            อักษรไทยนิเทศ  ใช้ในการจารคำประพันธ์บางเรื่อง มีชื่อเรียกว่าอักษรขอมเมืองบ้าง อักษรขอมไทยบ้าง เป็นอักษรลูกผสมระหว่าง อักษรล้านนากับอักษรฝักขาม
            อักษรไทใหญ่  ใช้บันทึกภาษาไทยใหญ่
    วรรณกรรม
            ศิลาจารึกวัดเชียงมั่น  อยู่ที่วัดเชียงมั่น อำเภอเมือง ฯ จารึกด้วยอักษรฝักขาม ภาษาไทยล้านนา เนื้อหากล่าวถึงประวัติความเป็นมาของวัดเชียงมั่น ที่เริ่มสร้างในรัชสมัยพญามังราย เมื่อจุลศักราช ๖๕๘ (พ.ศ. ๑๘๓๙) ต่อมาปี จ.ศ.๘๓๓ (พ.ศ. ๒๐๑๔) พระเจ้าติโลกราชทรงก่อพระเจดีย์ด้วยศิลาแลงเป็นครั้งที่สอง ต่อมาในปี จ.ศ.๙๒๐ (พ.ศ. ๒๑๐๑) เชียงใหม่กลายเป็นเมืองในขอบขัณฑสีมาของพระเจ้าบุเรงนองกษัตริย์พม่า พระเจ้าบุเรงนองพระราชทานอ่างอาบเงินใบหนึ่งแก่ พญาหลวงสามล้าน ปี จ.ศ.๙๓๓ (พ.ศ. ๒๑๑๔) พระยาแสนหลวงก่อเจดีย์ สร้างวิหาร อุโบสถ ปี จ.ศ.๙๔๓ (พ.ศ. ๒๑๒๔) มีการรวบรวมเงินทองประกอบกิจกรรมถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระวรโอรสาธิราชเจ้า ตนเป็นเจ้าเมืองพิงค์เชียงใหม่ในโอกาสเดียวกันนี้ พญาหลวงถวายเข้าวัดจำนวนหนึ่ง
            ศิลาจารึกวัดพระธาตุศรีจอมทอง  อยู่ที่วัดศรีจอมทอง อำเภอจอมทอง จารึกไว้บนแผ่นหินทรายสีเทา กว้าง ๔๒ เซนติเมตร สูง ๑๒๑ เซนติเมตร หนา ๘ เซนติเมตร จารึกด้วยตัวอักษรฝักขาม เป็นภาษาไทยล้านนา เนื้อหากล่าวถึงสมเด็จพระบรมบพิตรพระเป็นเจ้าอยู่หัว ตนเป็นพระ และพระอัครราชมารดา พระมหาเทวีเจ้า อาราธนาพระมหาธาตุเจ้าทองไปยังหอบาตรในราชวัง เมื่อปี จ.ศ.๙๑๘ (๒๐๙๙) แล้วพระราชทานให้ข้าวัดพระธาตุศรีจอมทองทั้งหมดทำหน้าที่เอาใจใส่ดูแลวัดวาอารามเพียงประการเดียว ไม่ต้องถูกเกณฑ์ไปทำงานอื่น ๆ ตราบครบห้าพันปี
            ตำนานพระบาทสี่รอย  พระบาทสี่รอยประดิษฐานอยู่ที่บ้านสะลวง ตำบลสะลวง อำเภอแม่ริม มีตำนานเล่าว่า ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาถึงสถานที่แห่งนี้ ทรงพบชาวลัวะสามคน พ่อแม่ลูก ปู่และย่าชื่อแสะ แต่ลูกไม่ปรากฏชื่อ ต่อมาภายหลังได้เป็นสุเทวฤาษี ผู้สร้างเมืองหริภุญไชย
            ปู่แสะย่าแสะเห็นพระพุทธเจ้าก็ไล่ตามเพื่อจะกินเนื้อ พระพุทธเจ้าทรงแสดงปาฏิหาริย์ เหยียบแผ่นหินกลายเป็นรอยพระพุทธบาท
ปู่แสะย่าแสะเกิดความกลัวจึงกราบขออภัยพระพุทธเจ้าทรงเทศนาให้ปู่แสะย่าแสะเลิกกินเนื้อ แต่ทั้งสองคนต่อรองขอกินแค่เนื้อควายผู้ปีละครั้ง ต่อมาจึงเกิดเป็นประเพณีเลี้ยงผีปู่แสะย่าแสะในหมู่ชาวลัวะ ส่วนรอยพระพุทธบาทที่พระพุทธเจ้าทรงเหยียบไว้ ร่วมกับรอยพระพุทธบาทของอดีตพระพุทธเจ้าอีกสามพระองค์ รวมเรียกว่าพระพุทธบาทสี่รอย สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน
            ตำนานเกี่ยวกับวัตถุ  เช่น ตำนานพระแก้วมรกต ตำนานพระสิงห์ ตำนานพระเสตังคมณี วัดเชียงมั่น ตำนานพระธาตุดอยสุเทพ ตำนานพระธาตุเมืองฝาง และตำนานพระนอนขอนม่วง เป็นต้น
            ตำนานประวัติศาสตร์  เช่น ตำนานจามเทวีวงศ์ ตำนานเชียงแสน ตำนานเชียงใหม่ ตำนานเมืองฝาง ตำนานมูลศาสนา มูลมังรายตั้งเวียง ตำนานการประดิษฐานเขาอินทขีลประจำเมืองเชียงใหม่ ตำนานชาวลัวะในเมืองนพบุรีช่วยเหลือชาวไทย ตำนานการเป็นมิตรต่อกันระหว่างเจ้าเมืองเชียงใหม่กับเมืองยางแดง
            กฎหมาย  ได้แก่ กฎหมายคลองธรรมศาสตร์ กฎหมายธรรมศาสตร์ กฎหมายโบราณ กฎหมายพระเจ้ากือนา กฎหมายมังรายศาสตร์ เป็นต้น

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |