| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

จังหวัดเชียงราย
สภาพทางภูมิศาสตร์



            จังหวัดเชียงราย ตั้งอยู่เหนือสุดของประเทศไทย อาณาเขตของจังหวัดทางทิศเหนือติดกับประเทศ พม่า และประเทศลาว ทิศตะวันออกติดกับลาว ทิศใต้ติดกับจังหวัดพะเยา และจังหวัดลำปาง ทิศตะวันตกติดกับจังหวัดเชียงใหม่ และพม่า มีชายแดนติดกับประเทศพม่ายาว ประมาณ ๑๓๐ กิโลเมตร และมีชายแดนติดต่อกับลาวประมาณ ๑๘๐ กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ ๑๑,๖๘๐ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๗,๒๙๐,๐๐๐ ไร่
            ลักษณะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูง มีป่าไม้ปกคลุม บริเวณเทือกเขามีชั้นความสูง ๑,๕๐๐ - ๒,๐๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล มีที่ราบเป็นหย่อม ๆ ในระหว่างหุบเขา และตามลุ่มน้ำสำคัญ จังหวัดเชียงรายมีภูเขาล้อมรอบโดยเฉพาะทางทิศตะวันตกเป็นแนวเทือกเขาผีปันน้ำ ติดต่อกันไปเป็นพืดตลอดเขตจังหวัด
            จังหวัดเชียงราย มีแม่น้ำสายสำคัญอยู่ ๗ สายด้วยกัน ดังนี้
            แม่น้ำกก  มีต้นกำเนิดในประเทศพม่า ไหลเข้าสู่ประเทศไทยในเขตจังหวัดเชียงใหม่ ไหลผ่านอำเภอเมืองเชียงราย อำเภอเวียงชัย อำเภอแม่จัน กิ่งอำเภอดอยหลวง อำเภอเชียงแสน แล้วไหลไปบรรจบแม่น้ำโขงที่บ้านสบกก ตำบลบ้านแซว อำเภอเชียงแสน มีความยาวประมาณ ๑๔๕ กิโลเมตร


            แม่น้ำโขง  มีต้นกำเนิดจากภูเขาหิมาลัย ไหลเข้าสู่ประเทศไทยที่ บ้านสบรวก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย แล้วไหลผ่านอำเภอเชียงของ และอำเภอเวียงแก่น รวมความยาวที่ผ่านจังหวัดเชียงราย ประมาณ ๙๔ กิโลเมตร
             แม่น้ำอิง  ต้นน้ำเกิดจากหนองเล็งทรายก่อนเข้ากว๊านพะเยา ไหลผ่านอำเภอเทิง แล้วไหลไปบรรจบแม่น้ำโขงที่อำเภอเชียงของ ส่วนที่ไหลผ่าน จังหวัดเชียงรายยาว ประมาณ ๑๐๐ กิโลเมตร
             แม่น้ำดำ  ต้นน้ำเกิดจากภูเขาในเขตอำเภอแม่ฟ้าหลวง แล้วไหลผ่านอำเภอแม่จัน อำเภอเชียงแสน อำเภอแม่สาย แล้วไหลไปบรรจบแม่น้ำโขงที่บ้านสบดำ ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน มีความยาวทั้งสิ้น ประมาณ ๘๕ กิโลเมตร
             แม่น้ำลาว  ต้นกำเนิดจากภูเขาในเขตอำเภอเวียงป่าเป้า แล้วไหลผ่านอำเภอแม่สวย อำเภอพาน อำเภอเมือง ฯ อำเภอเวียงชัย ไปบรรจบกับ แม่น้ำกกที่อำเภอเวียงชัย มีความยาวประมาณ ๑๑๗ กิโลเมตร
             แม่น้ำสาย  ใช้เป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศพม่า ในเขตจังหวัดเชียงราย เป็นแม่น้ำสายสั้น ๆ มีน้ำไหลตลอดปี
             แม่น้ำรวก  ต้นน้ำเกิดในประเทศพม่า ไหลเข้าสู่ประเทศไทยที่ อำเภอแม่สาย และอำเภอเชียงแสน แล้วไหลไปบรรจบแม่น้ำโขงที่บ้านสบรวก ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน ใช้เป็นเส้นแบ่งเขตแดน ระหว่างประเทศไทย และประเทศพม่า

             ป่าไม้ในจังหวัดเชียงราย แยกตามลักษณะการจัดการ และป่าเศรษฐกิจ มีดังนี้
             อุทยานแห่งชาติ  มีอยู่ ๓ แห่งด้วยกันคือ อุทยานแห่งชาติดอยหลวง อยู่ในเขตอำเภอพาน และอำเภอเวียงป่าเป้า อุทยานแห่งชาติขุนแจ อยู่ในเขตอำเภอเวียงป่าเป้า มีพื้นที่ประมาณ ๑๖๙,๐๐๐ ไร่ อุทยานแห่งชาติแม่ปิง อยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ และอำเภอพาน
             วนอุทยาน  มีอยู่ ๘ แห่งด้วยกันคือ วนอุทยานน้ำตกขุนกรณ์ อยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ มีพื้นที่ ๕,๐๐๐ ไร่ วนอุทยานน้ำตกโป่งพระบาท อยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ มีพื้นที่ ๓,๓๗๕ ไร่ วนอุทยานถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน อยู่ในเขตอำเภอแม่สาย มีพื้นที่ ๕,๐๐๐ ไร่ วนอุทยานสันผาพญาไพร อยู่ในเขตอำเภอแม่ฟ้าหลวง มีพื้นที่ ๓,๕๐๐ ไร่ วนอุทยานภูชี้ฟ้า อยู่ในเขตอำเภอเวียงแก่น มีพื้นที่ ๒,๕๐๐ ไร่ วนอุทยานน้ำตกห้วยแก้ว อยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ มีพื้นที่ ๔,๗๐๐ ไร่ วนอุทยานน้ำตกแม่ไถ อยู่ในเขตอำเภอเวียงป่าเป้า มีพื้นที่ ๔,๐๐๐ ไร่
             ป่าสงวนแห่งชาติ  ในเขตจังหวัดเชียงราย มีอยู่ ๓๑ แห่งด้วยกัน มีพื้นที่ทั้งหมด ประมาณ ๔,๘๑๗,๐๐๐ ไร่ เริ่มจัดให้มีป่าสงวนตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๙๙ ในอดีตเคยให้มีการทำสัมปทานป่าไม้ ในพื้นที่ป่าสงวนเหล่านี้ ปัจจุบันป่าสงวนส่วนใหญ่จึงเป็นป่ารุ่นสองที่รอการฟื้นตัว แต่ยังมีการลักลอบตัดฟันไม้ในเขตป่าสงวนอยู่ การฟื้นฟูป่าสงวนแต่เดิม ภาครัฐได้ทำการปลูกป่าทดแทนจนถึง ปี พ.ศ.๒๔๓๗ จึงได้หยุดและใช้วิธีเชิญชวนภาคเอกชนปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ์
             เขตห้ามล่าสัตว์ป่า  มีอยู่เพียงแห่งเดียว คือ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลสาบหนองบงกาย อยู่ในเขตอำเภอเชียงแสน มีพื้นที่ ๒,๗๐๐ ไร่
ประชากร
            ประชากรในเขตจังหวัดเชียงราย แบ่งออกได้เป็น ๕ กลุ่ม คือ
    คนไทยพื้นราบ
             ประกอบด้วยคนเมือง  คนไทย  ไทลื้อ  ไทเขิน  ไทใหญ่ ดังนี้

             คนเมือง  เป็นประชากรกลุ่มใหญ่ที่สุดในอดีตเรียกว่า ไทยยวน หรือลาวพุงดำ ผู้ชายจะมีรูปร่างโปร่งบางกว่าคนไทยภาคกลางเล็กน้อย  ผู้หญิงมีรูปร่างผิวพรรณและหน้าตางดงาม มีภาษาพูดแตกต่างไปจากไทยภาคกลางเล็กน้อย มีตัวหนังสือเฉพาะของตนเอง การแต่งกายพื้นเมือง ผู้หญิงนุ่งผ้าซิ่นยาวเกือบถึงตาตุ่ม ใส่เสื้อแขนกระบอก ห่มสไบ เกล้าผมทัดดอกไม้ ชายนิยมนุ่งกางเกงขายาว ใส่เสื้อคอกลมแขนสั้นสีครามเข้ม มีผ้าขาวม้าคาดเอว บ้านเรือนยกใต้ถุนสูง หน้าจั่วหลังคามีไม้ไขว้กันประดับด้วยลวดลาย เรียกว่ากาแล เครื่องดนตรีที่สำคัญได้แก่  เปี๊ยะ  สะล้อ  ซึง  ปี่  แน  กลอง  นาฏศิลป์พื้นบ้านมีการฟ้อนเมือง  ฟ้อนม่าน  ฟ้อนเงี้ยว ประเพณีที่สำคัญคล้ายไทยภาคกลาง มีบางส่วนที่แตกต่างกันออกไปเช่นปอยหลวง เรียกขวัญ สืบชะตา เป็นต้น
             ไทลื้อ  เป็นกลุ่มชนที่มีถิ่นฐานเดิมอยู่ในที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง และสาขาตอนกลางและตอนบนตั้งแต่แขวงไชยบุรีขึ้นไป
             ไทเขิน  มีถิ่นฐานเดิมอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำขิ่นในรัฐฉาน จึงได้ชื่อว่าไทขีน ได้เข้ามาอยู่ในจังหวัดเชียงราย ในเขตอำเภอเมือง ฯ อำเภอแม่สาย และอำเภอเชียงแสน


             ไทใหญ่  เรียกตนเองว่าไต ถูกคนเมืองเรียกว่า เงี้ยว และพม่าเรียกว่าฉาน ซึ่งแปลว่าคนภูเขา ผู้ชายรูปร่างสูงใหญ่กว่าคนไทยทั่วไป รูปร่างสูงโปร่งแข็งแรง มือเท้าเล็ก ผู้หญิงมีรูปร่างหน้าตาสวยงาม ผิวเนียนกว่าผู้หญิงพม่าเล็กน้อย หน้าตาเฉลียวฉลาด มีภาษาพูดแตกต่างไปจากคนเมือง และคนไทยภาคกลางเล็กน้อย มีตัวหนังสือของตนเอง การแต่งกายพื้นบ้าน ผู้หญิงนุ่งผ้าซิ่นยาวเกือบถึงตาตุ่ม ใส่เสื้อแขนกระบอกเข้ารูป เกล้าผมมวยโพกศีรษะด้วยผ้า เจาะหูใส่ตุ้มหู ผู้ชายใส่เสื้อแบบจีน นุ่งกางเกงขายาว และเกล้าผมมวย สวมหมวกปีกกว้าง เจาะหูใส่ตุ้ม บ้านเรือนยกใต้ถุนสูง มีไม้แกะสลักประดับ เครื่องดนตรีสำคัญได้แก่ ฆ้อง กลอง ฉาบ นาฏศิลป์พื้นบ้านมีเต้นโต ฟ้อนนก ประเพณีสำคัญคล้ายคนไทยทั่วไป
    ชาวไทยภูเขา
             ประกอบด้วย  อีก้อ  มูเซอร์  เย้า  กะเหรี่ยง  ลีซอ  ม้ง ดังนี้

             อีก้อ  เรียกตนเองว่า อาข่า เป็นแขนงหนึ่งของชนเผ่าทิเบต - พม่า รูปร่างเล็กแต่ล่ำสันแข็งแรง ผิวสีน้ำตาลอ่อนและกร้าน ผู้หญิงมีศีรษะกลม ลำตัวยาวกว่าน่องและขา แขนและขาสั้นผิดกับผู้ชาย มีภาษาพูดมาจากแขนงชาวโล - โล คล้ายกับภู ภาษามูเซอ และลีซอ ไม่มีตัวอักษรใช้ การแต่งกายผู้หญิงไว้ผมยาว รวบผมไว้แล้วใส่หมวกทับ หมวกจะประดับประดาอย่างสวยงาม สวมใส่เครื่องประดับคอ เสื้อผ้าใช้สีดำใช้ผ้ารัดอกเป็นเสื้อชั้นในแล้วสวมเสื้อแขนยาวผ่าหน้าทับอีกชั้นหนึ่ง ด้านหลังเสื้อปักลวดลายสวยงาม นิยมนุ่งกระโปรงสั้นขอบกระโปรงต่ำกว่าสะดือ พันขาด้วยสนับแข้ง ผู้ชายโกนหัวไว้เปีย สวมเสื้อคอกลมแขนยาว กางเกงสีดำ บ้านยกใต้ถุนสูง มักตั้งหมู่บ้านอยู่สูงกว่า ๔,๐๐๐ ฟุตขึ้นไป หน้าหมู่บ้านมีประตูเรียกว่า ลกค่อมีเสาชิงช้า และลานสาวกอด นับถือผี ประเพณีสำคัญได้แก่ งานฉลองปีใหม่ และพิธีโล้ชิงช้า

             มูเซอ  เรียกตนเองว่า ลาฮู สืบเชื้อสายมาจากพวกโล - โล รูปร่างสันทัด ผิวสีน้ำตาลอ่อนคล้ำกว่า ม้ง หรือเย้า ผู้หญิงชอบกินหมาก มีภาษาพูดเฉพาะตัว แต่ไม่มีตัวอักษรใช้ แบ่งออกเป็นกลุ่มย่อย ๆ หลายกลุ่มตามลักษณะการแต่งกายของฝ่ายหญิง และมีภาษาพูดแตกต่างกันเล็กน้อย ผู้หญิงไว้ผมยาว เกล้าผมแล้วโพกผ้าสีดำ สวมเสื้อตัวสั้นแขนยาวสีดำประดับด้วยผ้าแดง นุ่งผ้าซิ่นสีดำสลับแดง ผู้หญิงมูเซอดำใส่เสื้อแขนยาวถึงครึ่งน่อง กางเกง และสนับแข้งสีดำ สำหรับผู้ชายโดยทั่วไปสวมเสื้อผ่าอกและนุ่งกางเกงจีนสีดำ บ้ายยกพื้นสูง มีประเพณีสำคัญคือ งานฉลองปีใหม่ และงานกินข้าวใหม่

             เย้า  เรียกตนเองว่า เมี่ยน เป็นชนชาติเชื้อสายตระกูลจีน - ทิเบต รูปร่างและผิวพรรณคล้ายคนจีนมาก ความสูงเฉลี่ยเท่ากับคนไทยทั่วไป ผู้หญิงรูปร่างหน้าตาดี นิสัยขยันขันแข็ง อดทน รักสงบ ชอบต้อนรับผู้มาเยือน มีภาษาพูดเฉพาะของตน มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับภาษาม้ง และได้รับอิทธิพลจากภาษาจีนเช่นเดียวกัน ไม่มีตัวอักษรใช้ ต้องยืมตัวอักษรจีนมาใช้เขียนภาษาเย้า และออกเสียงอ่านแบบเย้า การแต่งกายผู้หญิงจะทาผมด้วยขี้ผึ้ง และโพกศีรษะด้วยผ้าที่ปักลายสวยงาม สวมเสื้อแขนยาวสีดำ หรือน้ำเงินเข้ม ผ่าด้านหน้ายาวถึงข้อเท้า ชายเสื้อด้านหน้าเป็นแฉกใช้พันรอบเอว คอเสื้อประดับไหมพรมสีแดง นุ่งกางเกงขายาว ปักลวดลายด้านหน้างดงาม ผู้ชายใส่เสื้อสีดำอกไขว้แบบเสื้อคนจีนตัวยาวคลุมลงมาถึงเอว นุ่งกางเกงขายาวสีดำ ปลายขลิบแดง ตั้งหมู่บ้านอยู่บนไหล่เขา มีประเพณีสำคัญคืองานปีใหม่

             กะเหรี่ยง  จัดอยู่ในตระกูลทิเบต - พม่า รูปร่างสันทัด สูงปานกลาง แข็งแรง ช่วงขาสั้นและใหญ่ แต่ได้สัดส่วนกับร่างกาย ผู้หญิงมีรูปร่างสมบูรณ์ ผิวจะแตกต่างกันตั้งแต่ผิวเหลืองไปจนถึงผิวน้ำตาลคล้ำ รูปหน้ากลมแบน แบ่งย่อยออกเป็นหลายเผ่า ใช้ภาษาใกล้เคียงกัน การแต่งกายของกะเหรี่ยงสะกอ ผู้ชายนิยมใส่เสื้อสีแดง ศีรษะโพกผ้าสีต่าง ๆ ผู้หญิงที่ยังไม่แต่งงานจะสวมเสื้อยาวสีขาว ส่วนพวกที่แต่งงานแล้ว จะสวมเสื้อสีน้ำเงินเข้ม นุ่งกระโปรงสีแดงลายตัดโพกผ้าสีแดง กะเหรี่ยงโปว ผู้ชายแต่งกายเหมือนชาวนาไทย ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วใส่เสื้อแดงแบบกะเหรี่ยงสะกอ แต่มีลำตัวยาวกว่า สวมกระโปรงสีดำหรือน้ำเงินเข้ม ผู้หญิงที่ยังไม่แต่งงาน จะใส่เสื้อคลุมยาว เย็บปักด้วยลวดลาย และลูกปัดสวยงาม กะเหรี่ยงบเว ผู้ชายนุ่งกางเกงขาสั้นสีแดง โพกศีรษะ นิยมสักรูปต่าง ๆ บนแผ่นหลัง ผู้หญิงนุ่งกระโปรงสั้นมาก สวมกำไลข้อเท้า บ้านกะเหรี่ยงยกใต้ถุนสูงสร้างด้วยไม้ และไม้ไผ่ ตั้งหมู่บ้านอยู่ถาวร พวกที่อาศัยอยู่ตามเชิงเขาจะทำนาขั้นบันได พวกที่อาศัยบนภูเขาจะปลูกข้าวไร่ ชาวกะเหรี่ยงนับถือผี มีบางกลุ่มหันมานับถือ พุทธศาสนา และคริสตศาสนา

             ลีซอ  สืบเชื้อสายมาจากพวกทิเบต - พม่า ลีซอมีผิวขาวกว่ามูเซอ ผู้หญิงจะขาวมาก และมีรูปร่างหน้าตาดี ผู้ชายมีรูปร่างบึกบึน ล่ำสัน มือและเท้าใหญ่ หนา หน้ากว้างและกลม ภาษาจัดอยู่ในพวกทิเบต - พม่า ไม่มีตัวอักษรของตนเอง ผู้ชายใส่เสื้ออกไขว้สีขาวหรือสีดำ นุ่งกางเกงสีขาว ดำหรือน้ำเงิน ยาวต่ำกว่าหัวเข่าลงมาเล็กน้อย พันสนับแข้ง บางคนสวมหมวกหรือโพกศีรษะ ผู้หญิงปกติจะเกล้ามวยไว้ท้ายทอยสวมเสื้อแขนยาว อกไขว้ยาวลงมาถึงหัวเข่า ตัวเสื้อติดผ้าขลิบสีเป็นชั้น ๆ ทับกางเกงขายาวสีดำ แล้วคาดเอวด้วยผ้าสีดำ เวลามีงานพิธีสำคัญจะโพกหัว สวมห่วงที่คอทำด้วยเงินและเครื่องประดับอื่น ๆ ส่วนใหญ่ตั้งหมู่บ้านอยู่สูงกว่าอีก้อ และมูเซอ ประเพณีสำคัญได้แก่งานฉลองปีใหม่
             แม้ว  เรียกตัวเองว่า ม้ง เป็นเชื้อสายตระกูลจีน - ทิเบต เช่นเดียวกับเย้า รูปร่าง ผิวพรรณ ท่าทาง และภาษาพูดจาคล้ายจีน แต่ผิวคล้ำกว่าเล็กน้อย ผู้ชายรูปร่างค่อนข้างสูง ผู้หญิงรูปร่างได้สัดส่วน ไม่มีภาษาที่แน่นอน ส่วนใหญ่ยืมภาษาอื่นมาใช้ ภาษาของตนองมีไม่มากนัก แม้วแต่ละเผ่ามีภาษาต่างกันออกไป
             การแต่งกายผู้ชายแม้วใส่เสื้อรัดรูปอกไขว้ เปิดให้เห็นหน้าท้องสีดำ สวมกางเกงจีนขายาวเป้ายาวสีดำ คาดเอวด้วยผ้าสีแดงผืนใหญ่ทิ้งชายด้านหน้ามีเข็มขัดเงินคาดทับ สวมหมวกครึ่งทรงกลมยอดเป็นภู่สีแดง ผู้หญิงใส่เสื้อแขนยาวผ่าด้านหน้าสีดำ ด้านหลังปักผ้าลายเหลี่ยม เวลาทำงานอยู่กับบ้านจะนุ่งกางเกงขายาวสีดำ ส่วนกระโปรงจีบรอบเอว สั้นเสมอหัวเข่านั้นจะใส่เฉพาะเวลามีงาน แม้วตั้งหมู่บ้านอยู่สูงเกิน ๕,๐๐๐ ฟุตขึ้นไป ประเพณีสำคัญได้แก่การเกิด การแต่งงาน การตาย
    จีนฮ่อ


             จีนฮ่อเป็นกลุ่มชนที่ในอดีตเคยเป็นทหารจีนคณะชาติ หนีการปราบปรามของฝ่ายจีนคอมมิวนิสต์เข้ามาทางประเทศพม่า แล้วอพยพเข้ามาในประเทศไทยในระหว่าง ปี พ.ศ.๒๔๙๓ - ๒๔๙๙ อาศัยอยู่ทางภาคเหนือของไทยในเขตจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน การออกนอกเขตจังหวัดที่อยู่ต้องขออนุญาตจากจังหวัด กระทรวงมหาดไทยได้แบ่งชาวจีนฮ่อในประเทศไทย ออกเป็น ๓ กลุ่มคือ
             อดีตทหารจีนคณะชาติ  ได้แก่บุคคลตามบัญชีรายชื่อที่ทางทหารได้สำรวจและรวบรวมเสนอคณะรัฐมนตรี และได้รับอนุมัติให้แปลงสัญชาติ และให้ฐานะเป็นคนต่างด้าว รวม ๕ รุ่น จำนวน ๑๓,๗๒๘ คน ปัจจุบันทางราชการได้ผ่อนผันให้อดีตทหารจีนคณะชาติ และครอบครัวอาศัยอยู่ในเขตจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน รวม ๘ อำเภอกับ ๑ กิ่งอำเภอ
             จีนฮ่ออพยพ  ได้แก่คนจีนที่เป็นครอบครัวของอดีตทหารจีนคณะชาติ เข้ามาอยู่ในประเทศไทย ระหว่างปี พ.ศ.๒๔๙๗ - ๒๕๐๔ โดยอาศัยอยู่ในเขตจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน การออกนอกเขตจังหวัดต้องขออนุญาตจากจังหวัด
             จีนฮ่ออิสระ  ได้แก่ชาวจีนที่อ้างว่าเป็นญาติพี่น้องของอดีตทหารจีนคณะชาติ และจีนฮ่ออพยพ พลเรือนหลบหนีเข้าประเทศไทย ตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๕๐๕ - ๒๕๓๒ อาศัยอยู่ในเขตจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน การออกนอกเขตจังหวัดต้องขออนุญาตจากจังหวัด
             ชาวจีนฮ่อมีวัฒนธรรมดั้งเดิมในกลุ่มของตนเอง เพราะมีเชื้อสายจีน ภาษาที่ใช้คือ ภาษาจีนกวางตุ้ง และภาษาจีนกลาง  การตั้งถิ่นฐานจะกระจายอยู่ในเขตพื้นที่ภูเขา หรือพื้นที่สูงทางภาคเหนือตอนบน
    ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า
             หมายถึง บุคคลหลายสัญชาติที่อพยพมาจากพม่าเข้าอยู่ในประเทศไทยก่อนวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๑๙ การออกนอกเขตจังหวัดที่อยู่อาศัยต้องขออนุญาตจากปลัดกระทรวงมหาดไทย
    ชาวลาวอพยพ
             หมายถึง คนลาวที่อาศัยอยู่กับญาติพี่น้องตามแนวชายแดนของประเทศไทย เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองของลาวในปี พ.ศ.๒๕๑๗ ขณะนี้ทางการของไทยยังไม่อนุญาตให้เดินทางออกนอกเขตจังหวัดที่อยู่อาศัย

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |